หน้าแรก บทความสาระ
นโยบายของ “พรรคทางเลือกที่สาม” โดย ศาสตราจารย์ อมร จันทรสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ ดรอมร จันทรสมบูรณ์
20 มกราคม 2548 17:26 น.
 
คำปรารภ
       
        “พรรคทางเลือกที่สาม” ยึดมั่นในระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยอันมี
       พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
        “พรรคทางเลือกที่สาม” มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศให้มีความมั่นคงในเอกราช มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและมีการพัฒนาทางสังคม และพรรคจะมุ่งสร้างทัศนคติให้ประชาชนมีความรักชาติ รู้จักสิทธิ หน้าที่ และมีความรับผิดชอบ ตลอดจนมีความสำนึกในประโยชน์ส่วนรวมอันเป็นกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม
        “พรรคทางเลือกที่สาม” ตระหนักถึงความสำคัญของจารีตประเพณี การดำเนินชีวิตประจำวันและสภาพสังคมของคนไทย และตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ให้หลักประกันแก่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน และเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดกรอบกติกาในการใช้อำนาจรัฐของสถาบันการเมือง อันประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
       
        ฉะนั้น “พรรคทางเลือกที่สาม” จึงกำหนดแนวนโยบาย ดังต่อไปนี้
       
       (๑) นโยบายหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย
        ๑.๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
        ๑.๒ ประเทศไทยมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในทุกศาสนา
        ๑.๓ จะเทอดทูนองค์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้
        ๑.๔ จะเคารพและเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญ และจะดำเนินการการเมืองตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด
       (พลิก)
       (๒) นโยบายเพื่อการดำเนินกิจการทางการเมือง
        (๒.๑) การปฏิรูปการเมือง
        พรรคจะเสนอและดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุง (rationalization) “ระบบสถาบันการเมือง” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๐) ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และมีการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มิให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐไว้กับกลุ่มการเมืองเดียวกัน โดยสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม (conscience) ของตน ทั้งนี้โดยจะยังคงเป็นและอยู่ภายใต้ระบบรัฐสภา - parliamentary system อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
        พรรคจะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมีหลักการในสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
        ๑) ยืนยันในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทาน
       คำแนะนำ(advice)ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการตามจารีตประเพณีอันยาวนานใน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
        ๒) จัดให้มีการคัดสรรและจัดตั้ง “คณะบุคคล” ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งโดย
       หลักการ จะประกอบด้วยอดีตนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมือง กับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง คณะบุคคลนี้จะเป็นองค์กรผู้รับผิดชอบในการยกร่างและเสนอร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยจัดทำเอกสารอธิบายหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและเหตุผลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
        ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดให้มีวิธีการทบทวนและตรวจสอบข้อคิดเห็นของสถาบันการเมือง รัฐสภา กลุ่มผลประโยชน์ และประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึง
        ๓) การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาใช้บังคับ จะกระทำโดยการออกเสียงประชามติ (referendum) ทั้งประเทศ
        ๔) จะมีบทบัญญัติกำหนดให้การปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ ๒ ปีนับแต่วันจัดตั้งคณะบุคคลดังกล่าวตาม (๒) และจะยุบเลิกพรรคในทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบโดยการออกเสียงประชามติ
       
        (๒.๒) การปฏิรูประบบบริหาร
        ในระหว่างการดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปการเมือง พรรคจะพยายามขจัดหรือทำให้ลดน้อยลงซึ่งการทุจริตคอรัปชั่นและการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ (abuse of powers) เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ โดยพรรคจะเสนอให้มีการกำหนดให้การใช้อำนาจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (นักการเมือง และข้าราชการประจำ) เป็นไปอย่างโปร่งใสภายในกรอบของหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดไว้ ด้วยการตราเป็นกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) อย่างเหมาะสม โดยมิให้ขึ้นอยู่กับความอำเภอใจของนักการเมืองโดยอาศัยมติของฝ่ายบริหารที่ไร้ขอบเขต
        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารใน ๔ ประการดังต่อไปนี้
        ๑) จะทบทวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภค และการแปร
       สัญญาสัมปทานที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด โดยจะแก้ไข“พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ”ให้มีขั้นตอนที่โปร่งใสที่กำหนดไว้เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) และการแปรรูปดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบ โดยรัฐสภาและ/หรือการทำประชามติ มิใช่กระทำโดยมติคณะรัฐมนตรี
        ๒) จะปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการตรากฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมและการปราบปรามการทุจริต ให้มีการทำงานที่เป็น “ระบบงานประจำ” โดยมีความรับผิดชอบตามหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในบทกฎหมายตามรูปแบบสากล โดยมิให้เจ้าหน้าที่ในองค์การเหล่านั้นอยู่ภายใต้การสั่งการของนักการเมืองโดยไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการใช้อำนาจ(ของนักการเมือง) เพื่อความมุ่งหมายและประโยชน์ส่วนตัวที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังและไม่เป็นกลาง
        ๓) จะทบทวนนโยบาย populist ที่มีลักษณะเป็นการเอาใจและเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่มที่(นักการเมือง)อาจมีความมุ่งหมายในการแสวงหาความนิยม (popularity)ระยะสั้นเพื่อการดำรงตำแหน่งต่อไปของนักการเมืองเอง แต่จะเป็นผลเสียแก่“ประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม - public interest” ในระยะยาว
        โดยจะแก้ปัญหาของประชาชน ด้วยการตราเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย (พระราชบัญญัติ) ที่มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจนและโปร่งใส (transparency) มิให้ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของนักการเมืองโดยทำเป็นมติคณะรัฐมนตรีหรือเป็นการสั่งการของรัฐมนตรี เพราะวิธีการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรั่วไหลในเงินของแผ่นดินและมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ(คอรัปชั่น) ที่องค์กรตรวจสอบของรัฐในปัจจุบัน(ที่พิกลพิการ) ทำการตรวจสอบไปไม่ถึงหรือยากที่จะทำการตรวจสอบได้
        ๔) จะทบทวน “นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค” โดยมีหลักการว่า “คนมีเงินต้องจ่ายเงิน และคนไม่มีเงินไม่ต้องจ่าย”
       
        (๒.๓) นโยบายการจัดตั้งรัฐบาล
        พรรคไม่มีความมุ่งหมายในการจัดตั้งหรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นในการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะมุ่งมั่นสูงสุดในการปฏิรูปการเมือง


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544