หน้าแรก บทความสาระ
ข้อความคิดเกี่ยวกับมาตรการควบคุมผู้ต้องขังกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดย วนิดา ไชยชเนตรตี
วนิดา ไชยชเนตรตี
9 มกราคม 2548 01:07 น.
 

       
ความนำ

       


                   
        การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นมิติใหม่แห่งการคุ้มครองที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นอกเหนือจากการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่รัฐให้การรับรองคุ้มครองโดยทั่วไป มาตรการคุ้มครองของรัฐจึงอยู่ในลักษณะของการตรากฎหมายมาใช้บังคับซึ่งต้องอยู่ภายใต้กรอบของความชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อคุ้มครองบุคคลคุ้มครองสังคมและเพื่อใช้สำหรับกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย ซึ่งบทความนี้มีความมุ่งหมายสำหรับกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำความผิดอาญา


       
       ๑. แนวคิดในการลงโทษผู้กระทำผิด
       

                   
        คดีอาญาที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จะต้องนำตัวผู้ถูกลงโทษไปไว้ในเรือนจำ1 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หากผู้ถูกลงโทษถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา2 ซึ่งการ นำตัวผู้ถูกลงโทษจำคุกไปไว้ในเรือนจำนั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยที่จุดมุ่งหมายของการลงโทษจำคุกเพื่อเป็นการลงโทษต่อผู้กระทำผิดโดยตรง เป็นการจำกัดเสรีภาพทำให้เกิดความลำบาก สูญเสียอิสรภาพและเกียรติยศชื่อเสียงรวมถึงความสุขสบายต่างๆ ต้องพลัดพรากจาก สิ่งที่เคยมีเคยอยู่หรือคนที่รักห่วงใยทั้งหลาย เป็นการสูญเสียฐานะทางสังคม เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดำเนินการลงโทษจะเป็นผู้อบรมแก้ไขให้ผู้ถูกลงโทษได้มีโอกาสสำนึกผิดในการกระทำผิดของตน รวมถึงเป็นการป้องกันสังคมส่วนรวมให้ปลอดภัยจากการกระทำผิดของบุคคลนั้นตลอดชั่วระยะเวลาหนึ่งที่บุคคลเหล่านั้นถูกจำคุกอยู่ และเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้แก้ตัว3 เมื่อผู้ถูก ลงโทษจำคุกหรือผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกถูกนำตัวมายังเรือนจำจะเรียกบุคคลเหล่านั้นว่า “นักโทษเด็ดขาด” 4

                   
        การลงโทษผู้กระทำความผิด เป็นเรื่องที่กระทำต่อตัวผู้กระทำผิดโดยตรง ซึ่งในยุคปัจจุบันรัฐมีความชอบธรรมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดภายใต้หลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของการลงโทษ กล่าวคือ โทษที่จะลงต้องเป็นโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ การลงโทษต้องเป็นไปด้วยความเสมอภาค การกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งต้องได้รับโทษในอัตราโทษเดียวกัน โดยไม่มีความแตกต่างในเรื่องฐานะ สภาพแวดล้อม หรือปัจจัย แต่โทษที่จะลงนั้นอาจไม่เท่ากันซึ่งเป็นไปตามพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดที่ศาลนำมาประกอบเป็นดุลพินิจในการลงโทษ และการลงโทษเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด การลงโทษจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กับผู้กระทำผิดโดยมีแนวคิดที่แตกต่างกัน จึงขอกล่าวถึงทฤษฎีในการลงโทษเป็นสังเขป ดังนี้ 5

                   
        ๑. ทฤษฎีทดแทน (Retributive Theory)

                   
        การลงโทษตามทฤษฎีนี้มีแนวความคิดมาจากการแก้แค้น (revenge) หรือชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย การลงโทษตามทฤษฎีนี้เป็นไปเพื่อทดแทนความเสียหาย (vindication) หรือแก้แค้นให้แก่ผู้เสียหายจากการที่ผู้กระทำผิดทำให้เกิดความเสียหาย การ ลงโทษต้องกระทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม (fairness) เป็นการต่างตอบแทน (reciprocity) เมื่อผู้กระทำผิดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายก็จะต้องได้รับโทษจากการฝ่าฝืนนั้น การลงโทษ ผู้กระทำผิดตามทฤษฎีนี้ต้องได้สัดส่วนกับความผิด (proportionality of punishment) โดย หลักแล้ว จำนวนโทษที่ผู้กระทำผิดควรได้รับจะต้องเท่ากับความเสียหายที่เขาได้กระทำลง

                   
        ๒. ทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utilitarian Theories)

                   
        แนวคิดการลงโทษของทฤษฎีนี้ มีแนวคิดที่ถือว่าการลงโทษเป็นการ ป้องกันสังคมมิให้กระทำความผิดขึ้นมาใหม่ เป็นการป้องกันการผิดพลาดในอนาคต เป็นการ ลงโทษเพื่อให้ทราบถึงผลของการฝ่าฝืนกฎหมายเป็นการข่มขู่หรือยับยั้ง รวมถึงการให้ผู้กระทำผิดได้รับการเยียวยาแก้ไขฟื้นฟูจิตใจ ให้ผู้กระทำความผิดกลับตนเป็นคนดี และเพื่อเป็นการตัดโอกาสมิให้ผู้นั้นกระทำความผิด สังคมจึงปลอดภัยจากการกระทำผิดที่เกิดจากผู้ต้องโทษนั้น


       
       ๒. การควบคุมผู้ต้องขังภายในเรือนจำ
       

                   
        ปัจจุบันการควบคุมผู้ต้องขัง6ภายในเรือนจำ จะใช้วิธีการราชทัณฑ์ผสมผสานกับการควบคุมผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังให้สามารถเข้ากับสังคมได้ เมื่อพ้นโทษไปแล้ว มีการฝึกวิชาชีพ ให้การศึกษาอบรมแก่ผู้ต้องขัง มีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง7 ดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินการตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ตามหลักทั่วไปการควบคุม ผู้ต้องขังจะไม่ใช้เครื่องพันธนาการ8 เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยต่อการควบคุมจึงอาจใช้เครื่องพันธนาการได้9 ซึ่งการใช้เครื่องพันธนาการมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการหลบหนี ป้องกันมิให้ผู้ต้องขังทำอันตรายต่อคนเองหรือผู้อื่น

                   
        สำหรับการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างสอบสวนหรือไต่สวนมูลฟ้อง หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล หากศาลออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ต้องนำตัวบุคคลดังกล่าวไปขังในเรือนจำ บุคคลที่ถูกขังตามหมายขังเหล่านี้เรียกว่า “คนต้องขัง” ส่วนบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกและคดีถึงที่สุดโดยมิได้มีการอุทธรณ์ฎีกา ศาลจะออกหมายจำคุกจำเลยก็จะเป็นนักโทษเด็ดขาดนำตัวไปจำคุกในเรือนจำ10ตามกำหนดโทษที่ได้รับ

                   
        การควบคุมผู้ต้องขัง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการควบคุม “คนต้องขัง” เท่านั้น โดยทั่วไป การควบคุมคนต้องขังจะไม่ใช้เครื่องพันธนาการ เว้นแต่จะมีเหตุน่าเชื่อว่า ผู้ต้องขังจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายผู้อื่น และเห็นว่าไม่มีทางอื่นที่จะป้องกันได้ดีกว่าให้ใช้กุญแจมือหรือโซ่ล่ามเพิ่มขึ้นนอกจากตรวนหรือกุญแจเท้าได้11 ในกรณีการใช้โซ่ล่ามและตรวนสำหรับคนต้องขังที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้ส่งคำร้องของจำเลยในคดีอาญา (นายฮายาชิ หรือโยชิมิ คาสิโนมิ หรือคะสิโนริ หรือทะนะกะ) ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยจำเลยยื่นคำร้องว่าคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดชลบุรี และจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางชลบุรี ถูกตีโซ่ตรวนที่เท้า ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๓ ดังนั้น เมื่อคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการตีโซ่ตรวนแก่จำเลย ซึ่งคำร้องของจำเลยอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๔ (๒) มาตรา ๑๔ (๑) ถึง (๕) และกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้อ ๒๕ ถึงข้อ ๒๘ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ12 การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าวขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” จึงมีข้อน่าพิจารณาว่าอย่างไรจึงจะถือได้ว่าเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


       
       ๓. การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       

                   
        การพิจารณาถึงความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับการใช้โซ่ตรวนซึ่งเป็นมาตรการควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำมีข้อน่าพิจารณาว่าแค่ไหน เพียงใด ที่จะเป็นการละเมิด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงต้องพิจารณาควบคู่กับความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยส่วนรวมและวัตถุประสงค์ของการควบคุมแล้วจึงกำหนดทิศทางค่าความเป็นกลางที่เป็นเครื่องชี้วัดมาตรฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


       
       ๔. ความหมายและสถานะทางกฎหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       


                   
        ๔.๑ ความหมายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

                   
        สำหรับการศึกษาถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเป็นทิศทางแห่งการกระทำว่า แค่ไหน เพียงใด ที่จะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในลำดับแรกจึงควรต้องศึกษา ถึงความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่ามีความหมายอย่างไร การกำหนดความหมายของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในบริบททางความคิดเชิงปรัชญานั้น มีการให้ความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามทัศนะการแปลความหมายของแต่ละฝ่ายในแง่มุมต่างๆ เช่น

                   
        ฝ่ายสังคมนิยม ถือสารัตถะของชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีทางวัตถุขั้นต่ำ แต่มิได้ถือเอาการมีสมบัติเป็นองค์ประกอบเดียวของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจเจกชนจะมีศักดิ์ศรีต่อเมื่อเขาเป็นผู้กำหนดความเป็นตัวเขาเอง (self – determining) และมีชีวิตที่ปรารถนาการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์13

                   
        ฝ่ายเสรีนิยม ถือสารัตถะแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ที่โลกภายใน มีอิสระเสรีภาพในความคิดเห็น สิทธิของความเสมอภาคเท่าเทียมกับสิทธิแห่งเสรีภาพ14 ดังกล่าวเป็นการให้ความหมายในเชิงสารัตถะทางด้านปรัชญา ส่วนการให้ความหมายในเชิงกฎหมายนั้นในคราวที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมีผู้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่รับรองคุ้มครองให้แก่บุคคล มิให้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่สมกับความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้น โดยพิจารณาเชิงภาวะวิสัยว่า การกระทำใดที่เห็นกันทั่วไปว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมิใช่การพิจารณาในลักษณะอัตตวิสัยตามความคิดเห็นของแต่ละบุคคล บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการพัฒนาการแห่งการรับรองคุ้มครองสิทธิบุคคล และเป็นที่ ยอมรับในต่างประเทศ ดังปรากฏตามรัฐธรรมนูญอาฟริกาใต้ รัฐธรรมนูญเยอรมัน ส่วนการใช้สิทธิทางศาลนั้น บุคคลที่ถูกกระทำละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สามารถนำคดีมาฟ้องได้ ตามลักษณะการกระทำละเมิดว่าเป็นประการใด เช่น ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนก็ฟ้องศาลยุติธรรม ฝ่ายปกครองกับเอกชนก็ฟ้องศาลปกครอง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินคดีในชั้นศาลจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานต่อไปว่า การกระทำใดเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์15

                   
        ส่วนทางด้าน Klaus Stern ได้ให้ความหมายไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หมายถึง คุณค่าอันมีลักษณะเฉพาะและเป็นคุณค่าที่มีความผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์ ซึ่งบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์ทุกคนได้รับคุณค่าดังกล่าว โดยไม่ว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัยหรือคุณสมบัติอื่นๆ ของบุคคลนั้น16 และโดยที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็น ส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน (Human Right) หรือกล่าวอีกนัยว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นรากฐานแห่งสิทธิมนุษยชน จึงต้องมีการให้ความหมายของสิทธิมนุษยชนว่าให้หมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม17 อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังไม่มีความหมายชัดเจน รองศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของความจนความรวย ไม่ใช่เรื่องสภาพของสังคม แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่มีอยู่ติดตัวมนุษย์ทุกคน18 ในส่วนของรัฐธรรมนูญต่างประเทศได้บัญญัติเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไว้เช่นกัน เช่น รัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน มาตรา ๑ ความว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่มาของสิทธิและเสรีภาพ” ดังนั้น จึงอาจสรุปความหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าหมายถึง สิทธิอย่างหนึ่ง ที่เป็นสารัตถะแห่งความเป็นมนุษย์และทรงความเป็นคุณค่าของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกๆ คน


                   
        ๔.๒ สถานะทางกฎหมายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

                   
        เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เป็นเจตนารมณ์ที่ล้ำลึกที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชน การยอมรับศักดิ์ศรีและสิทธิที่เสมอกัน และไม่อาจโอนแก่กันได้ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์ คือรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพในพิภพ19 ด้วยกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงอาจถือได้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายมหาชน และเนื่องจากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นกฎหมายมหาชนเช่นกัน และยังมีสถานะในทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมุ่งให้ความคุ้มครองอีกด้วย

                   
        การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมต้องมีการคุ้มครองภายในขอบเขต หากมีการล้ำขอบเขตแห่งการคุ้มครองจึงจะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงอ้างได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น20 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งย่อมมีขอบเขตอยู่ที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเป็นการวางแนวทางว่าการกระทำใดที่นอกขอบเขตแห่งการคุ้มครองเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


                   
        ๔.๓ หลักเกณฑ์การพิจารณาการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

                   
        หลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมาตรการที่เป็นแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์แห่งการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ควรกำหนดที่หลักแห่งสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่มาของสิทธิและเสรีภาพ หากการกระทำใดๆ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพแล้ว การกระทำนั้นๆ ย่อมเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย หลักดังกล่าวได้แก่

                   
        (๑) หลักความเสมอภาค

                   
        มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกัน แนวคิดหลักแห่งความเสมอภาคได้มีการบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายของนานาประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๑๙๕๘ มาตรา ๑ “ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่แบ่งแยกมิได้ ... สาธารณรัฐรับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชนโดยไม่แบ่งแยกกำเนิดเชื้อชาติหรือศาสนา ...” ดังนั้น หลักความเสมอภาคจึงเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญยิ่ง

                   
        หลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักแห่งสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น หลักความเสมอภาคคือหลักที่ว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนกันจะต้องปฏิบัติด้วยหลักเกณฑ์เดียวกัน21 ความเสมอภาคย่อมต้องมีทั้งทางกฎหมายและสิทธิและหน้าที่ อีกทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์ของมหาชนมากกว่าประโยชน์ของปัจเจกชน ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปอีกด้วย

                   
        (๒) หลักพอสมควรแก่เหตุ

                   
        การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะกระทำมิได้เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งข้อยกเว้นให้กระทำได้นี้ต้องกระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว สังคมจะเกิดการไร้เสรีภาพ นั่นก็คือกลายเป็นสังคมที่มีเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขต จึงจำเป็นที่ รัฐต้องตรากฎหมายเพื่อมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการตรากฎหมายของรัฐต้องกระทำภายใต้ขอบเขตแห่งความชอบด้วยกฎหมาย

                   
        การใช้หลักพอสมควรแก่เหตุจึงเป็นหลักการเพื่อจำกัดมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ และเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญทั่วไปที่มีค่าบังคับเท่ากันกับบทบัญญัติอื่นแห่ง รัฐธรรมนูญ โดยการบัญญัติกฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมและ จำเป็น และที่สำคัญต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือหากกระทบกระเทือนก็จะต้องกระทบกระเทือนอย่างน้อยที่สุด ตามความจำเป็น22ที่ต้องกระทำ

                   
        (๓) หลักแห่งความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

                   
        โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ มีสาระสำคัญในเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนมาตรา ๒๙ สาระสำคัญเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสาระสำคัญของทั้งสองประการนี้ รัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายให้การคุ้มครองที่แตกต่างกัน โดยมาตรา ๒๖ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทุกประเภท แต่มาตรา ๒๙ ให้ความคุ้มครองเฉพาะสิทธิเสรีภาพแต่ละเรื่องเท่านั้น

                   
        กฎเกณฑ์แห่งการบัญญัติกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือกฎเกณฑ์แห่งการวางค่าความเป็นกลางแห่งการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ใดนั้น พึงพิเคราะห์ได้จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือมีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐมุ่งให้ความคุ้มครองหรือไม่เพียงใด และต้องพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ในการตีความการบังคับใช้รัฐธรรมนูญว่าควรตีความการบังคับใช้อย่างแคบหรือตีความอย่างกว้าง ซึ่งในกรณีนี้ควรจะตีความอย่างแคบ หากกฎหมายใดได้ตราก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับ การจำกัดการใช้บังคับว่ากฎหมายใดจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ นั้น จึงน่าจะใช้บังคับเฉพาะกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว หากกฎหมายที่ตราขึ้นก่อน ตราขึ้นโดยไม่อาจทราบได้ว่าภายหลังการตรากฎหมายนั้นจะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ก็จะมีผลให้กฎหมายที่ตราขึ้นก่อนนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การตีความการบังคับใช้ในเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพจึงต้องจำกัดการตีความ


       
       ๕. บทสรุป

                   
       การพิจารณาว่าจะนำหลักเกณฑ์ใดมาเป็นเครื่องชี้วัดว่า การกระทำใดละเมิด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะกับการใช้มาตรการการควบคุมผู้ต้องขังที่เห็นว่าเป็นภัยต่อสังคม และน่าจะหลบหนีหรือก่อให้เกิดความไม่สงบนั้น อย่างไรที่การควบคุมผู้ต้องขังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงต้องนำองค์ประกอบหลายประการรวมถึงองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิด มูลเหตุจูงใจในการกระทำผิด และการกระทำผิดโดยความชั่วของผู้กระทำ และการปฏิบัติตามหลักแห่งความเสมอภาคที่หากกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ต้องขังแล้ว ก็ต้องกระทบกระเทือนอย่างน้อยที่สุด แต่ต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองประโยชน์สุขของสังคมโดย ส่วนรวมด้วย และผสมผสานกับหลักพอสมควรแก่เหตุ หลักแห่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประกอบกับหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา การควบคุมเพื่อมิให้หลบหนีเป็นการจำกัดเสรีภาพเนื่องจากความจำเป็นและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลอื่นและคุ้มครองสังคม ซึ่งการควบคุมโดยใช้โซ่ตรวนมิได้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคน แต่จะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายที่อยู่ในเกณฑ์ข้อยกเว้นของหลักการควบคุมตัวในเรือนจำที่เป็นหลักทั่วไป ซึ่งมีเหตุผลสมควรแก่การควบคุมและมีวัตถุประสงค์หลักเพียงเพื่อให้สังคมปลอดภัย ดังนั้น การคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามสถานะของผู้ต้องขัง จึงควรต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย


       
       



       "ความปลอดภัยของบ้านเมือง เป็นกฎหมายสูงสุด"

       (The Safety of the common wealth is the highest law.)

       


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       * นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       1. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ม.๔ (๑) “เรือนจำ” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้ควบคุมกักขังผู้ต้องขังกับสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และให้หมายความรวมตลอดถึงที่อื่นใดซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาวางอาณาเขตไว้โดยชัดเจน
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. วิสัย พฤกษะวัน , คำอธิบายพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพย์อักษร , ๒๕๔๔) , ๒ – ๓
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. หมายถึง บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และหมายความรวมถึงบุคคลที่ถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษด้วย
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. ณรงค์ ใจหาญ , กฎหมายอาญา ว่าด้วยโทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน , ๒๕๔๓) , ๒๐ - ๓๗
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๔ (๒) “ผู้ต้องขัง” หมายความรวมตลอดถึงนักโทษเด็ดขาด คนต้องขังและคนฝาก
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. หมายถึง การศึกษาและทำความรู้จักผู้ต้องขังเป็นรายกลุ่ม รายบุคคล เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เช่นการศึกษาประวัติผู้ต้องขังแต่ละคน การศึกษาพฤติกรรมของผู้ต้องขัง เพื่อนำมาประมวลวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เหมาะสม
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. เครื่องพันธนาการ มี ๔ ประเภท คือ ตรวน กุญแจมือ กุญแจเท้า โซ่ล่าม
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่

                   
       (๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น

                   
       (๒) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบ อันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น

                   
       (๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม

                   
        (๔) เมื่อถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ

                   
        (๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องแต่สภาพของเรือนจำ หรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น

                   
        ภายใต้บังคับอนุมาตรา (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ให้พัศดีเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังและที่จะ เพิกถอนคำสั่งนั้น
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. เรือนจำแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

                   
        (๑) เรือนจำกลาง

                   
        (๒) เรือนจำส่วนภูมิภาค

                   
        (๓) เรือนจำชั่วคราว

                   
       (๑) เรือนจำกลางแบ่งเป็น

                   
        (ก) เรือนจำกลางบางขวาง โดยปกติรับควบคุมกักขังผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป และกำหนดโทษประหารชีวิต

                   
        (ข) เรือนจำกลางประจำเขต โดยปกติรับควบคุมกักขังนักโทษเด็ดขาดที่มีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ปี

                   
        (ค) เรือนจำพิเศษ โดยปกติรับควบคุมกักขังผู้ต้องขังเฉพาะแต่ละประเภท คือ หญิง เด็ก คนชรา หรือพิการทุพพลภาพ คนเป็นโรคเรื้อน คนเป็นวัณโรค คนเป็นโรคจิต หรือคนเป็นโรคติดต่ออันตรายต่างๆ

                   
       (๒) เรือนจำส่วนภูมิภาคแบ่งเป็น

                   
        (ก) เรือนจำจังหวัด

                   
        (ข) เรือนจำอำเภอ

                   
       เรือนจำส่วนภูมิภาคนี้ โดยปกติรับควบคุมกักขังผู้ต้องขังที่เป็นคนฝาก คนต้องขัง นักโทษเด็ดขาด จำแทนเงินค่าปรับ นักโทษเด็ดขาดที่มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี

                   
       (๓) เรือนจำชั่วคราว หมายถึง เรือนจำซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการระบายผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีออกไปรับการฝึกอบรมอาชีพนอกเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอบรมและฝึกอาชีพเกษตรกรรม เรือนจำประเภทนี้ตามหลักแล้วไม่เป็นเรือนจำถาวร เมื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้วก็ยุบเลิกไป หรืออาจประกาศตั้งเป็นเรือนจำถาวรต่อไปก็ได้
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       11. กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๒๘
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       12. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓ / ๒๕๔๔

                   
       สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓ / ๒๕๔๔ นี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า กรณีจำเลยต้องขังอยู่ในเรือนจำโดยกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ ในการควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีอาญา เป็นการควบคุมโดยศาลออกหมายขังระหว่างพิจารณา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาอย่างหนึ่ง และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ นี้ เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีอาญาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       13. จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ นิติธรรม, ๒๕๔๕) , ๑๒๖
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       14. Alan S. Rosenbaum (Ed), “The Philosophy of Human Rights International Perspective.” (London, Aldwych, Press, 1980 P.18) อ้างถึงใน จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชน ไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๕) , ๑๒๖ – ๑๒๗
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       15. มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ , เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน , ๒๕๔๒) , ๘๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       16. Klaus Sterm, Das. Staoat srecht der Bundesre publik Deutschland, Band III / 2, Allgemeine Lehren der Grundrechte, S 1113. อ้างถึงใน อุดม รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม มาตรา ๒๘ (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดนานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๔๔) , ๑๗๙ – ๑๘๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       17. พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       18. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๑๔ วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ หน้า ๑๓๘ - ๑๔๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       19. คำปรารภ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๘
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       21. Ren? CHAPUS. Drodit Administratif G?n?ral, T.1, 4 e ?dition, (paris : Montchrestien, 1988), P 35 อ้างถึงใน สมคิด เลิศไพฑูรย์ , “หลักความเสมอภาค” วารสารนิติศาสตร์ ๒ (มิถุนายน ๒๕๔๓) : ๑๖๕
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       22. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ . “เงื่อนไขการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน : มาตร ในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย .” วารสารนิติศาสตร์ ๒ (มิถุนายน ๒๕๔๓) : ๑๘๗ – ๑๘๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       



       
       
เอกสารอ้างอิง


                   
       คณิต ณ นคร . กฎหมายอาญาภาคความผิด . พิมพ์ครั้งที่ ๗ กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๓


                   
       จรัญ โฆษณานันท์ . สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๕


                   
       ณรงค์ ใจหาญ . กฎหมายอาญา ว่าด้วยโทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๓


                   
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ . กฎหมายมหาชน เล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๓๘


                   
       ประเทือง ธนิยผล . อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๕


                   
       มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ . เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๒


                   
       วิสัย พฤกษะวัน . คำอธิบายพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ . พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดทิพย์อักษร, ๒๕๔๔


                   
       อุดม รัฐอมฤต , นพนิธิ สุริยะ บรรเจิด สิงคเนติ . การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๒๘ . กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดนานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๔๔


                   
       เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ , “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ, เล่ม ๙ กันยายน – ธันวาคม ๒๕๔๔


                   
       วรเจตน์ ภาคีรัตน์ , “เงื่อนไขการตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน : “มาตร” ในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย” วารสารนิติศาสตร์ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓


                   
       สมคิด เลิศไพฑูรย์ , “หลักความเสมอภาค” วารสารนิติศาสตร์ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๓


       


       
       


       



       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544