หน้าแรก บทความสาระ
เสรีภาพทางกายภาพตามแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
5 มกราคม 2548 13:02 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

       
       
ความนำ

                   
       การรับรองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ดั้งเดิมที่สุดที่มีในลำดับต้นๆก็คือการรับรองสิทธิเสรีภาพในทางกายภาพของมนุษย์(les libertés physiques) การรับรองดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกคนนั้นต่างก็มีสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายของตนเองและในขณะเดียว
       กันทุกคนต้องไม่ทำการเป็นการกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติ การศึกษาถึงเสรีภาพทางกายภาพสามารถจัดกลุ่มศึกษาได้ดังต่อไปนี้ กลุ่มที่หนึ่ง เสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย(la liberté corporelle) กลุ่มที่สอง เสรีภาพในการเดินทาง(la liberté du déplacement)กลุ่มที่สาม เสรีภาพชีวิตส่วนบุคคล(la liberté de la vie privé)และกลุ่มสุดท้าย ความมั่นคงแห่งชีวิต(la sûreté de la vie)


       
       1.เสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย

                   
       การแทรกแซงที่ปราศจากความยินยอมของบุคคลเจ้าของร่างกายนั้นถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย การแทรกแซงดังกล่าวมีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกเป็นเรื่องของความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกาย เช่น ทำร้ายจนบาดเจ็บ ข่มขืน และร้ายแรงที่สุดก็คือฆาตกรรม รูปแบบที่สอง คือพันธะหรือข้อห้ามต่างๆที่ถูกบังคับโดยอำนาจ การปกป้องเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกายจากการทำร้ายอย่างรุนแรงนั้นตามกฎหมายภายในของรัฐแล้วก็คือกฎหมายอาญาซึ่งทำให้ตระหนักถึงการรับรองสิทธิของบุคคลที่มีเหนือเนื้อตัวร่างกายของเขา อย่างไรก็ตามก็ไม่ตัดการแทรกแซงอย่างจำกัดในส่วนของรัฐในกรณีที่รัฐอ้างถึง เพื่อความสงบเรียบร้อบของบ้านเมือง เพื่อทางศีลธรรม และเพื่อการสาธารณสุข ในปัจจุบันปัญหาในเรื่องเสรีภาพในร่างกายนั้นไปไกลกว่าในอดีตมากเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทางชีวกายภาพ การทดลองในมนุษย์โดยนักวิจัย นักค้นคว้าและนักวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทุกคนมีความหวังในชีวิตที่ดีกว่าการมีชีวิตที่ยืนยาวแต่อย่างไรก็ตามทุกชีวิตก็มีความเสี่ยงอยู่ในตัวเอง เช่นในกรณีที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะของบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งหรือการที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้และใช้วิธีการทางแพทย์ช่วยให้สามารถตั้งครรภ์ได้ ในเรื้องดังกล่าวเป็นปัญหาทางการแพทย์และก่อให้เกิดปัญหาชีวิตในสังคมตามมาและก่อให้เกิดการพัฒนาการของจิตใจและของชีวิตในสังคมนั้นซึ่งคู่ขนานกันไป เช่นในเรื่องการทำแท้ง สิทธิในการตาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันทั้งทางด้านกฎหมายและทางด้านศีลธรรมจรรยาซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ การทีสังคมเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังคงนิ่งอยู่ในปัญหาดังกล่าวแม้จะเห็นว่ามีผลกระทบโดยตรงและค่อนข้างรุนแรงต่อเสรีภาพในร่างกาย พัฒนาการทางวิทยาการใหม่ในบางครั้งก็ทำให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นหมันไปทันทีที่มีผลบังคับใช้ อำนาจรัฐก็มีความพึงพอใจที่จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อการไตร่ตรองทางจริยธรรมที่กระทำอย่างทันทีทันใดโดยคณะกรรมการเวชกรรมโดยการก่อตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมทางเวชกรรมศสคร์แห่งชีวิตและความตาย แต่การคุกคามที่ขาดซึ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกกฎเกณฑ์ที่สร้างปัญหาให้แก่ทางร่างกายและเสรีภาพของบุคคลได้สิ้นสุดลงโดยความจำเป็นที่จะต้องมีการแทรกแซงของฝ่ายนิติบัญญัติ ปรากฎว่ามีรัฐบัญญัติสองฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994 รัฐบัญญัติฉบับแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพในร่างกายมนุษย์ อีกฉบับเป็นเรื่องของการบริจาคและการใช้ประโยชน์จากส่วนประกอบหรือผลผลิตของร่างกายมนุษย์ด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ในการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างมากต่อประมวลกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดังนั้นจึงต้องถือเป็นงานทางนิติบัญญัติที่จะต้องให้ความหมายของสถานะปัจจุบันของการป้องกันเสรีภาพในร่างกายมนุษย์

                   
       ก่อนอื่นจะต้องศึกษาหลักการพื้นฐานของการปกป้องเสรีภาพดังกล่าวก่อนตามมาด้วยดูข้อจำกัดทางจารีตประเพณีที่บังคบต่อเสรีภาพดังกล่าวต่อความสงบสุขของสังคม นอกจากนี้ต้องศึกษาถึงระบบของวิธีการที่ถูกใช้โดยวิธีการทางชีวภาพ การบริจาคอวัยวะและการทดลองในมนุษย์ สุดท้ายก็ต้องดูถึงสถานะของชีวิตมนุษย์ คือ การเกิดและการตายตามลำดับ


                   
       ก.หลักการพื้นฐาน การปกป้องในชีวิตร่างกายต่อการกระทำที่อันตรายที่คุกคามต่อแนวคิดของศักดิ์ศรีของร่างกายมนุษย์ รัฐบัญญัติฉบับแรกลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994ที่ให้ความสำคัญทางกฎหมายแก่ปัญหาดังกล่าว รัฐบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มเติมลงไปในหมวดแรกของประมวลกฎหมายแพ่งซึ่งมีชื่อว่า "การเคารพต่อร่างกายมนุษย์" มาตรา16ของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งได้วางหลักการไว้และมาตราต่างๆที่ตามมาก็ประกอบไปด้วยผลของหลักการทางปฏิบัติ ทุกบทบัญญัติเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อยของสังคม มาตรา 16 บัญญัติว่า"กฎหมายให้หลักประกันความเป็นเอกของร่างกายของบุคคลและห้ามการกระทำร้ายต่อศักดิ์ศรีของร่างกายของบุคคลและให้ประกันแก่การเคารพของมนุษย์ตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต" ตามบทบัญญัติดังกล่าวตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตัดสินว่ามีค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญในคำพิพากษาลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1994

                   
       ผลของหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ตั้งแต่มาตรา 16จนถึงมาตรา16-9ซึ่งมีดังต่อไปนี้

                   
       -สิทธิของแต่ละคนที่ต้องเคารพและต้องไม่ละเมิดต่อร่างกายยกเว้นแต่ความจำเป็นทางการรักษาและต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียถ้าบุคคลนั้นอยู่ในสภาพที่เขาจะสามารถให้ได้

                   
       -การเคารพในความสมบูรณ์ที่ไม่ใช่เพียงแต่แต่ละบุคคลเท่านั้นแต่ต้องเคารพในมนุษยชาติ
       การเคารพในกรณีดังกล่าวใช้กับการลงโทษในทุกการปฏิบัติที่เกี่ยวกับปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มนุษย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลหรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสายพันธุ์เฉพาะต่อมนุษย์แต่ละคน

                   
       -ร่างกายของบุคคลไม่ใช่วัตถุ ผลก็คือค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่ให้แก่บุคคลที่ยินยอมให้มีการทดลองในร่างกายตนเองหรือเนื่องจากบุคคลได้ให้อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย การให้บุคคลอื่นตั้งครรภ์แทน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการต้องห้าม

                   
       -การปิดบังชื่อของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยการให้อวัยวะของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับก็ตาม

                   
       -เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะบอกกล่าวตักเตือนหรือยับยั้งการกระทำที่ไม่เคารพต่อหลักการดังกล่าว

                   
       ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกรณีทั่วไปที่กิจกรรมโดยรวมทั้งหมดของทั้งภาคเอกชนและของภาครัฐจะต้องให้การเคารพ


                   
       ข.เสรีภาพในร่างกายกับความสงบเรียบร้อย ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้นเป็นเรื่องที่มอบหมายให้กับตำรวจทางปกครอง(police administrative)เป็นผู้มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการใช้อำนาจควบคุมการใช้เสรีภาพของปัจจเจกชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นและในทางกลับกันความมั่นคงความปลอดภัยของปัจเจกบุคคลก็ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตำรวจทางยุติธรรม(police judiciaire)ด้วยเช่นกันเมื่อเสรีภาพของปัจจเจกบุคคลไดรับการแทรกแซงจากภายนอกโดยเป็นการใช้อำนาจสอบสวนและปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ดังนั้นทั้งตำรวจทางปกครองและตำรวจทางยุติธรรมต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม ตำรวจทางปกครองสามารถใช้กำลังสลายความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ส่วนตำรวจทางยุติธรรมก็สามารถใช้กำลังได้เช่นเดียวกันเมื่อปรากฏว่ามีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ลักษณะทางกฎหมายของตำรวจทางปกครองมีดังต่อไปนี้

                   
       ประการแรก ตำรวจทางปกครองต่างจากตำรวจทางยุติธรรมตรงวัตถุประสงค์และกฎหมายที่ใช้บังคับกับศาลที่พิจารณาคดี กล่าวคือตำรวจทางปกครองเป็นเรื่องการใช้อำนาจฝ่ายปกครองป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบขึ้น ส่วนตำรวจทางยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจสอบสวนปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นแล้ว กิจกรรมแรกเป็นกิจกรรมป้องกันล่วงหน้าโดยการออกกฎ คำสั่งต้องใช้กฎหมายมหาชนบังคับและขึ้นศาลปกครอง ส่วนกิจกรรมหลังเป็นการปราบปรามความผิดอาญาที่เกิดขึ้นแล้วต้องใช้กฎหมายอาญาบังคับและขึ้นศาลยุติธรรม

                   
       ประการที่สอง วัตถุประสงค์ของตำรวจทางปกครองคือการป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องของการใช้อำนาจล่วงหน้าในการก่อให้เกิด เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิหน้าที่ฝ่ายเดียวขึ้นกับเอกชนโดยเอกชนไม่ต้องสมัครใจเลยที่เรียกว่า นิติกรรมทางปกครอง

                   
       ประการที่สาม ความสงบเรียบร้อยที่ตำรวจทางปกครองป้องกันนั้นมีสามลักษณะ คือ ความสงบในถนน ในที่สาธารณะ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และความสะอาด

                   
       ผลทางกฎหมายของตำรวจทางปกครองคือการมีระบบกฎหมายมหาชนบังคับกิจกรรมดังกล่าวและขึ้นศาลปกครองซึ่งมีหลักกฎหมายพิเศษดังนี้2

                   
       ประการแรก เมื่อการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองเป็นการควบคุมล่วงหน้าในรูปนิติกรรมทางปกครองจึงต้องนำหลักกฎหมายปกครองมาใช้บังคับ ปัจเจกชนที่เห็นว่าการใช้อำนาจฝ่ายเดียวนั้นไม่ชอบย่อมนำคดีมาสู่ศาลปกครองได้โดยศาลปกครองจะให้ความสำคัญกับมาตรการที่ใช้ว่าเกินความจำเป็นที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าใช้อำนาจเกินความจำเป็น ศาลปกครองจะเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองนั้นและถ้าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนรุนแรงโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้(voie de fait)ศาลปกครองก็จะลงโทษฝ่ายปกครองโดยไม่รับคดีไว้พิจารณาแต่ให้ไปขึ้นศาลยุติธรรมและใช้กฎหมายเอกชนบังคับดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

                   
       ประการที่สอง บางเรื่องที่เป็นนโยบายควบคุมเรื่องสำคัญ(haute police) เช่น การเนรเทศ ศาลจะควบคุมน้อยมากเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น อนึ่งความรับผิดของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความผิดร้ายแรง(faute loudre)เท่านั้น กล่าวคือต้องจงใจก่อให้เกิดความเสียหายโดยผิดกฎหมายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจริงๆถ้าไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อธรรมดา รัฐก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

                   
       ประการที่สาม ในสถานการณ์ปกติ การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจตำรวจทางปกครองก็จะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมระหว่างมาตรการที่ใช้กับสถานการณ์ ยิ่งถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยิ่งแล้ว เช่นเกิดจราจลขึ้น ถือเป็นหลักกฎหมายมหาชนเลยว่า แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดให้อำนาจไว้โดยตรง ฝ่ายปกครองก็ต้องดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

                   
       ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของตำรวจไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตามไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวที่จะทำร้ายต่อเสรีภาพทางร่างกายอย่างเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงในขอบข่ายของการปราบปรามทางอาญาด้วย(la répression pénale)โดยการแทรกแซงของผู้มีอำนาจเข้าไปในเรื่องเสรีภาพทางร่างกาย เช่นในเรื่องกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ตำรวจทางหลวงในการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ดื่มของมึนเมามากเกินขีดที่กำหนด ดังนั้นตำรวจจึงสามารถใช้อำนาจบังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ ถ้าบุคคลนั้นปฏิเสธที่ปฏิบัติตามก็จะมีการส่งไปตรวจสอบทางแพทย์ที่จำเป็น หรือเช่นกรณีที่ศาลสามารถบังคับโดยบอกกล่าวล่วงหน้าผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชสำหรับการใช้มาตรการความรับผิดชอบ หรือในกรณีที่ศาลแพ่งสั่งให้หากลุ่มเลือดเดียวกัน
       สำหรับการวิจัยในเรื่องการตั้งครรภ์เพื่อให้บุตรที่เกิดมามีสายเลือดเดียวกันกับบิดามารดาที่แท้จริง รูปแบบต่างๆของการควบคุมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ความพยายามบางอันนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดความกังวลในการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นการขัดขวางความอื้อฉาวในการทำร้ายต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาภายนอก เช่นในเรื่องการแต่งกาย เรื่องผม เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานที่ปฏิเสธที่จะตัดผมให้สั้น ศาลตัดสินว่าเป็นการละเมิด


                   
       ค.เสรีภาพในร่างกายกับศีลธรรมจรรยา ในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย เช่นเสรีภาพในบุคลิกลักษณะของบุคคลที่เป็นบุคคลรักร่วมเพศได้รับการพิจารณาว่าเป็นการเบี่ยงเบนโดยจริยธรรมที่ครอบงำอยู่ในช่วงนั้นๆ การเป็นรักร่วมเพศในฝรั่งเศสนั้นไม่เคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นความผิดซึ่งตรงกันข้ามกับอังกฤษในช่วงหนึ่งที่เคยถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความผิด และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาของบุคคลที่ทำการค้าขายกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เช่น โสเภณีหญิงและชายที่เกิดขึ้นมากในสังคมปัจจุบันว่าเขาเหล่านั้นมีสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของเขาเองหรือไม่ในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็พบว่ายังมีข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพในร่างกายอยู่เช่นกันที่ไปเกี่ยวเนื่องกับทางศีลธรรมจรรยากับเรื่องเพศ

                   
       สิทธิที่จะรับรองความสัมพันธ์ทางเพศไม่ได้รับประกันอย่างแจ้งชัดโดยบทบัญญัติกฎหมายใดๆเลยแต่การดำรงอยู่ในเรื่องดังกล่าวนั้นไม่สามารถเป็นที่ปฏิเสธได้ในมาตรการต่างๆที่คำวินิจฉัยของศาลไม่ลังเลที่จะยอมรับโดยวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมากกว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลรักร่วมเพศหรือบุคคลรักต่างเพศและโดยวิธีการที่แจ้งชัดก็ได้ใช้สิทธิในเรื่องการเร่ร่อนขายเนื้อตัวร่างกาย ในฝรั่งเศสนั้นการที่ประพฤติตนเป็นโสเภณีไม่ว่าชายหรือหญิงนั้นไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่ปราบปรามเฉพาะการชักชวนเร่ขายตัวตามท้องถนนกล่าวคือมีการประกาศโฆษณาบนทางสาธารณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความเสพเลและการเป็นเอเย่นต์จัดหาโสเภณีให้ผู้อื่น สิทธิในการที่จะเป็นโสเภณีได้รับการยอมรับโดยคำวินิจฉัยของศาลและระบบการเก็บภาษีของแผ่นดิน กล่าวคือรัฐพิจารณาว่าการเป็นโสเภณีนั้นถือว่าเป็นอาชีพดังนั้นรายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพดังกล่าวนั้นต้องประกาศหรือแจ้งให้ทางการทราบด้วยในเรื่องของรายได้ที่ไม่ใช่มาจากทางการค้าและต้องเสียภาษี เรื่องดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นเรื่องเดียวเท่านั้นจากหลักที่ว่าห้ามทำการค้าขายในร่างกายของมนุษย์

                   
       สิทธิที่จะรับรองความสัมพันธ์ทางเพศนั้นถึงกระนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่สามประการด้วยกัน ข้อจำกัดประการแรกนั้นเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ห้ามบุคคลที่บรรลุนิติภาวะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีแม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากเด็กแล้วก็ตาม ข้อจำกัดประการที่สองเป็นผลจากแนวความคิดฝรั่งเศสในเรื่องบุคคลที่ต้องโทษจำคุกที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ถูกจำคุกนั้นมีสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาหรือคู่รัก และจากการปฏิเสธสิทธิดังกล่าวนั้นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ต้องโทษจำคุกนั้นมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันในคุก จึงมีการเสนอว่าควรมีการเคารพสิทธิดังกล่าวโดยจัดสร้างห้องพักสำหรับผู้ที่ต้องโทษจำคุกสามารถพบปะเพื่อมีเพศสัมพันธ์ได้ซึ่งได้ปรากฏในหลายๆประเทศแล้วเพื่อที่เป็นการอนุญาตแก่บุคคลที่ได้สูญเสียเสรีภาพโดยการถูกจองจำนั้นไม่สูยเสียเสรีภาพทางปฏิบัติการทางเพศของเขาเหล่านั้นไปด้วย ข้อจำกัดประการที่สามก็คือ อันเนื่องมาจากผลโดยตรงของโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คือ โรคเอดส์ ศาลอาญาได้ลงโทษบุคคลที่ทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองเป็นสื่อหรือพาหะในโรคดังกล่าวได้แล้วยังไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นจนทำให้บุคคลนั้นติดโรคไปด้วย ในคำพิพากษาที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ได้ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นพาหะโรคดังกล่าวแต่บังคับว่าถ้าจะมีเพศสัม-สัมพันธ์แล้วก็ต้องรู้จักป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย กรณีดังกล่าวเป็นทางออกที่ต้องการป้องกันสุขภาพของประชาชนโดยต้องมีการเคารพต่อเสรีภาพและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล3 ส่วนในเรื่องของสถานะการแต่งงานนั้น มาตรา 146 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสบัญญัติว่าการแต่งงานนั้นจะต้องมีความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเสรีภาพของคู่สมรสจึงเป็นเรื่องของต่างตอบแทน การละเมิดความยินยอมถือว่าเป็นการโมฆะ เสรีภาพในการสมรสได้รับการบัญญัติเพิ่มขึ้นอีกโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1975 ว่าคู่สมรสนั้นจะต้องมีความจงรักและภักดีซึ่งกันและกันซึ่งเปรียบเสมือนเป็นข้อจำกัดตนเองทางกฎหมายที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น การบัญญัติโดยรัฐบัญญัติดังกล่าวทำให้สูญเสียการลงโทษทางอาญาที่เกี่ยวกับความผิดที่มีการล่วงประเวณี


                   
       ง.เสรีภาพในร่างกายกับการสาธารณสุข จากเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายนั้นทำให้ตระหนักไปถึงสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาตามที่เหมาะสมกับเขาและแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม แต่อย่างไรก็มีข้อจำกัดที่ใช้บังคับกับเสรีภาพของแต่ละบุคคลโดยมีพันธะที่จะต้องไม่กระทบหรือรบกวนต่อผู้อื่นด้วยตามที่ประกาศยืนยันในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 การที่สุขภาพของบุคคลคนหนึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมแล้ว เสรีภาพของบุคคลนั้นจะต้องถูกหยุดยั้งลง ในกรณีดังกล่าวสุขภาพของปัจจเจกชนต้องถูกหยิบยกไปยังสุขภาพของมวลชนทั้งหมดและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องป้องกัน เสรีภาพที่จะได้รับการรักษาหรือการปราศจากการรักษายังคงมีอยู่และกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองไม่ได้รับจัดเป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้รับการบัญญัติในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1946ที่ว่า ชาติย่อมให้ประกันแก่ทุกคน…ในอันที่จะคุ้มครองสุขภาพ…ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าพันธะที่จะต้องป้องกันสุขภาพของประชาชนโดยตนเอง พันธะดังกล่าวนั้นได้เพิ่มมากขึ้นๆทุกวันขณะเดียวกันการจำกัดการใช้เสรีภาพของตนที่อาจจะกระทบต่อสาธารณชนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวทุกวันๆ เช่น เสรีภาพของผู้สูบบุหรี่ จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บนเครื่องบินก็ยังมีการแบ่งที่นั่งสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่แยกออกจากที่นั่งผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ในปัจจุบันนี้ทุกสายการบินไม่มีการแบ่งที่นั่งสำหรับผู้สูบบุหรี่เลย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กระแสสังคมที่เรียกร้องและการรังเกียจการสูบบุหรี่ในที่ชุมชนนั้นกอปรกับประเด็นหลักก็คือทำลายสุขภาพของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วยทำให้รัฐต่างๆให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงออกกฎเกณฑ์ห้ามมีการสูบบุหรี่ในที่ชุมนุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร เครื่องบิน เป็นต้น การห้ามดังกล่าวเท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้สูบบุหรี่แต่อย่างไรก็ตามรัฐก็สามารถห้ามได้โดยคำนึงถึงสุขภาพของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ

                   
       พันธะต่างๆที่เพิ่มขึ้นในการป้องกันสุขภาพของประชาชนนั้นพอจำแนกได้ดังต่อไปนี้

                   
       1.การบังคับให้ต้องตรวจสอบสุขภาพ เช่นในกรณีที่คู่สามีภริยาในอนาคตถูกบังคับให้มีการตรวจสอบสุขภาพร่างกายก่อนการแต่งงานโดยมีการออกใบประกาศรับรองให้ หรือการบังคับให้ผู้สอบแข่งขันในตำแหน่งราชการหรือบางตำแหน่งของเอกชนต้องตรวจสุขภาพก่อน เป็นต้น

                   
       2.การบังคับที่ต้องให้มีการป้องกันอย่างยิ่ง เช่น ในกรณีฉีดวัคซีนป้องกันบางโรคที่ระบาดอยู่ในสังคม

                   
       3.ในบางกรณีที่เป็นพิเศษ ก็มีการบังคับไม่ใช่เพื่อการป้องกันแล้วแต่เป็นเพื่อการรักษา เช่น การบำบัดผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ที่ติดเหล้า


                   
       จ.เสรีภาพในร่างกายกับการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การเสี่ยงต่อการทำร้ายของเสรีภาพทางร่างกายที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นสามารถเกิดจากวิธีการของการวิจัยหรือไม่ก็เกิดจากผลของการวิจัย เช่น ในการทดลองในมนุษย์ การรักษาโดยการใช้อวัยวะของบุคคลคนหนึ่งกับบุคคลอีกคนหนึ่ง ในยุคแรกนั้นๆมีคำวินิจฉัยของศาลที่พอเทียบเคียงกับเรื่องดังกล่าวได้คือ การที่นายแพทย์จะทำการผ่าตัดร่างกายของคนไข้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้นั้นเสียก่อนยกเว้นแต่กรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น

                   
       การทดลองในมนุษย์นั้นได้รับการปฏิบัติมานานโดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝ่ายนาซีได้ทำการทดลองในร่างกายมนุษย์เพื่อค้นหาวิธีการต่างๆในการสังหารซึ่งไก้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้คนเป็นอย่างมากและด้วยเหตุผลดังกล่าวในปีค.ศ.1966 จึงมีกติกาโอนีเซียงค.ศ.1966ที่เกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้บัญญัติในมาตรา7ดังนี้ "ห้ามการทดลองในมนุษย์ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์โดยปราศจากความยินยอมโดยอิสระของบุคคลนั้น" แต่มีข้อน่าสังเกตว่าอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1950เป็นการตกลงโดยรัฐสมาชิกดั้งเดิมของสภายุโรปและมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1953นั้นไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่เลย ในยุคปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญขึ้นมากมาย โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆได้เกิดขึ้นเป็นอันมาก พวกนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหลายต่างก็ทำการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการรักษาโรคใหม่ๆที่เกิดขึ้น ในบางครั้งก็ต้องมีการใช้ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งทดลอง การทดลองในมนุษย์ดังกล่าวบางครั้งก็นำมาซึ่งปัญหาทางด้านศีลธรรมจรรยาซึ่งฝืนต่อความรู้สึกของวิญญูชนทั้งหลายและนำมาซึ่งปัญหาทางด้านกฎหมายตามมาว่าการทดลองในมนุษย์นั้นเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายของมนุษย์หรือไม่อย่างไร

                   
       ฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศฝรั่งเศสได้ลังเลใจต่อปัญหาดังกล่าวมานานจนกระทั่งในปี ค.ศ.1988ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1988ขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ประนีประนอมความจำเป็นที่จะต้องทดลองวิจัยในมนุษย์กับการต้องเคารพเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ รัฐบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการปกป้องบุคคลที่พร้อมที่จะเข้ารับการทดลองทางชีวภาพที่นำไปสู่การทดลองในมนุษย์ในกรอบของกฎหมายอันเป็นข้อบกพร่องอย่างมาก รัฐบัญญัติดังกล่าวอนุญาตให้มีการทดลองในมนุษย์อยู่สองรูปแบบคือสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรง(finalité thérapeutique directe)กับกรณีไม่อยู่ในสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรง(sans finalité thérapeutique directe) 4

                   
       สถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรงคือเป็นการทดลองในมนุษย์ที่กระทำกับผู้ป่วยที่มีวัตถุประสงค์ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีทันใดโดยต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งและอิสระเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ป่วยแต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นอยู่สามกรณีคือ 1.สถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความยินยอมได้ด้วยตนเองและผู้ใกล้ชิดได้ให้ความยินยอมแทน 2.กรณีผู้ปกครองให้ความยินยอมแทนผู้เยาว์ 3.กรณีนี้เป็นกรณีที่อนุญาตจัดให้มีความยินยอมอย่างไม่ชัดแจ้งต่อกรณีที่เป็นข้อยกเว้นเฉพาะเมื่อการพิเคราะห์โรคนั้นไม่สามารถเปิดเผยให้แก่ผู้ป่วยได้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย แพทย์ที่ทำการรักษาสามารถที่จะสงวนไม่เปิดเผยข้อมูลการรักษาแก่ผู้ป่วยได้ ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ผู้ทำการทดลองในมนุษย์นั้นอ้างได้ที่จะไม่บอกวิธีการรักษาให้แก่ผู้ป่วย การกระทำดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมากในโชคชะตาและความไม่แน่นอนในการรักษา ความยินยอมของผู้ป่วยที่ให้ทำการรักษาและทดลองในตัวผู้ป่วยนั้นเป็นกระบวนการที่ตรงกันข้ามในการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งเป็นช่องทางในการหลอกลวงผู้ป่วยได้เป็นการแสวหาประโยชน์จากร่างกายของมนุษย์

                   
       ส่วนกรณีไม่อยู่ในสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรงนั้น ในกรณีนี้เป็นกรณีที่อันตรายที่สุดเพราะว่าเป็นการทดลองในมนุษย์ที่ไม่ใช่เป็นผู้เจ็บป่วยอย่างในกรณีแรก เป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง รัฐบัญญัติในปี ค.ศ.1988 ได้อนุญาตให้มีการทดลองดังกล่าวได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ต่อจากนั้นมีการห้ามอย่างค่อนข้างเข้มงวดที่จะทำการทดลองดังกล่าวแม้จะได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกพรากไปซึ่งสิทธิโดยคำสั่งของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองหรือเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของการประกันสังคม นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามการทดลองในสตรีมีครรภ์ ผู้เยาว์ คนป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล หรือคนป่วยที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่การห้ามดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่เด็ดขาดเหมือนเมื่อก่อนเพราะว่าถ้าเห็นว่าการทดลองนั้นไม่เสี่ยงอย่างรุนแรงอย่างที่จะเห็นได้ต่อสุขภาพ ในที่สุดเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายทุกกรณีต่อหลักการปกป้องเสรีภาพในร่างกายของมนุษย์ กฎหมายจึงบัญญัติว่าการทดลองเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆทั้งสิ้น

                   
       ดังนั้นถ้ามีการทดลองในมนุษย์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีการใช้การลงโทษทางอาญากับการทดลองในมนุษย์ดังกล่าวโดยจะมีคณะกรรมทำความเห็นในการทดลองดังกล่าว ทุกความเห็นที่คณะกรรมไม่เห็นด้วยนั้นจะถูกนำส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและจะทำให้การทดลองในมนุษย์ดังกล่าวถูกแขวนลอยไว้สองเดือน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งห้ามการทดลองดังกล่าวเมื่อเห็นว่าการทดลองดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงต่อการสาธารณสุขหรือไม่เคารพต่อหลักกฎหมายในเรื่องการทดลองในมนุษย์ จะเห็นได้ว่ารัฐบัญญัติ ค.ศ.1988ในเรื่องการทดลองในมนุษย์นั้นเน้นในเรื่องให้มีการทดลองในมนุษย์มากกว่าที่จะเคารพต่อปัจเจกชนที่สังคมฝรั่งเศสนั้นต่างให้คุณค่าและให้การยอมรับและให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนมากกว่า

                   
       ส่วนการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะจากบุคคลหนึ่งไปให้กับอีกบุคคลหนึ่ง ในกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสห้ามทำการค้าขายกับร่างกายของมนุษย์โดยเห็นว่าร่างกายของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ค้ำจุนของบุคคลไม่ใช่เป็นสิ่งของที่ซื้อขายหรือให้ยืมกันได้ แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ต่อต้านระบบสสารนิยมของร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตกทอกมาจากศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิคที่กล่าวว่าร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบเป็นบุคคล ร่างกายนั้นเป็นของความเป็นบุคคลไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ แต่หลักการดังกล่าวก็ไม่ได้ห้ามการบริจาคอวัยวะของมนุษย์หรือการบริจาคผลผลิตจากร่างกายมนุษย์

                   
       การบริจาคอวัยวะมนุษย์นั้นเป็นที่ยอมรับเพราะว่าเป็นการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ของผู้อื่น การบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้นก็มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดกฎเกณฑ์โดยแบ่งเป็นสองกรณีคือ การนำอวัยวะของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ไปปลูกถ่ายให้กับบุคคลอื่นเพื่อการรักษาชีวิต อีกกรณีเป็นเรื่องที่นำอวัยวะของผู้ที่เสียชีวิตไปปลูกถ่ายให้กับบุคคลอื่นเพื่อรักษาชีวิตของบุคคลนั้นเช่นกัน

                   
       ในกรณีแรกมีรัฐบัญญัติลงวันที่29กรกฎาคม ค.ศ.1994ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานสองประการดังต่อไปนี้

                   
       สมมติฐานแรก เป็นเรื่องการบริจาคอวัยวะของผู้บรรลุนิติภาวะซึ่งการบริจาคอวัยวะของบุคคลดังกล่าวนั้นจะให้ได้ก็แต่เฉพาะให้แก่บุพการี พี่น้องของผู้บริจาคเท่านั้นแต่ก็มีข้อยกเว้นถ้าเป็นการบริจาคไขกระดูกซึ่งไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว โดยทุกกรณีแล้วผู้บริจาคจะต้องได้รับการแจ้งผลของการบริจาคอวัยวะของตนว่าจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรหลังจากได้มีการบริจาคอวัยวะนั้นไปแล้ว การบริจาคดังกล่าวนั้นผู้บริจาคต้องแสดงความยินยอมต่อศาลและถ้าในกรณีฉุกเฉินโดยทุกกรณีแล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของอัยการ

                   
       สมมติฐานที่สอง เป็นกรณีผู้บริจาคอวัยวะเป็นผู้เยาว์ ผู้เยาว์สามารถบริจาคเฉพาะไขกระดูกแก่พี่น้องของตนเท่านั้นโดยความยินยอมของผู้เยาว์เอง ถ้าเป็นการบริจาคในกรณีอื่นแล้ว ความยินยอมเพียงอย่างเดียวหาเป็นการเพียงพอไม่ สถานะทางกฎหมายของผู้เยาว์นั้นทำให้ต้องมีการแจ้งผลของการเอาอวัยวะส่วนหนึ่งของผู้เยาว์ออกไปจากร่างกายและต้องแสดงความยินยอมต่อศาลอย่างอิสระและแจ้งชัด อย่างไรก็ตามก็อาจเปลี่ยนแปลงไม่ยินยอมก็ได้ นอกจากนี้การเอาอวัยวะออกจากร่างกายของผู้เยาว์นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการด้วย

                   
       ในกรณีที่สองที่นำอวัยวะของผู้เสียชีวิตมาปลูกถ่ายให้บุคคลผู้อื่น มีแนวคิดว่าร่างกายของมนุษย์ที่ตายแล้วเปรียบเสมือนเป็นร่างกายที่มีคุณค่าที่ได้รับการสนับสนุนโดยจารีตประเพณี ความเสียใจและการลืมเลือน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการที่จะนำอวัยวะของผู้ตายออกจากร่างกายของผู้ตายนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องได้รับการยอมรับโดยผู้ตายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ในกรณีที่ไม่ปรากฏญาติของผู้เสียชีวิต รัฐบัญญัติลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994 อนุญาตให้เอาอวัยวะของผู้ตายที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะทันทีที่บุคคลดังกล่าวไม่สามารถตระหนักถึงการมีชีวิตของเขาหรือการที่จะปฏิเสธการนำอวัยวะออกจากร่างกายของตนไป จากคติบทที่ว่าผู้ตายเป็นผู้ซึ่งที่ไม่สามารถพูดคำว่ายินยอมได้อีก จากหลักดังกล่าวก่อให้เกิดสมมติฐานของการยินยอมแก่แพทย์ที่จะเอาอวัยวะของทุกๆคนที่ไม่ความรู้สึกในการรับรู้ไม่สามารถแสดงออกซึ่งความยินยอมเต็มใจได้อีก ดังนั้นรัฐบัญญัติ ค.ศ.1994 ดังกล่าวจึงบัญญัติ ถ้าแพทย์ไม่สามารถทราบโดยตรงได้ของความต้องการความเต็มใจของผู้ตาย แพทย์ต้องพยายามหาบุคคลในครอบครัวของผู้ตายมาเป็นพยาน

                   
       ส่วนการบริจาคผลผลิตจากร่างกายมนุษย์ มีผลผลิตจากร่างกายมนุษย์อยู่สามชนิดคือ วัตถุดิบทางพันธุกรรม สิ่งปฏิกูลธรรมชาติและเลือด วัตถุดิบทางพันธุกรรมก็ได้แก่ สเปิร์ม รังไข่ การจะบริจาคสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดชีวิตขึ้นมาใหม่ ส่วนสิ่งปฏิกูลตามธรรมชาตินั้น อาจได้แก่ เส้นผม เล็บ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาทางจริยธรรมสักเท่าไหร่ เพราะเป็นการง่ายที่จะให้บริจาคเพราะการบริจาคดังกล่าวเหมือนกับเป็นการบริจาคทิ้ง ส่วนเลือดนั้นถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งชีวิตที่ค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะถือว่าเป็นส่วนประกอบในเนื้อตัวร่างกายมนุษย์ซึ่งถ้ามีการนำเลือดออกจากร่างกายไปแล้วก็ถือว่าเป็นการทำร้ายหรือทำละเมิดต่อเนื้อตัวร่างกายมนุษย์ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวกฎหมายฝรั่งเศสจึงถือว่าเลือดเป็นสสารของร่างกายมนุษย์ ในประมวลกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขของฝรั่งเศสถือว่าการจะบริจาคเลือดได้นั้นมีอยู่สี่หลักการคือ มีความเต็มใจ เป็นการให้เปล่าเพื่อการเยียวยารักษาโรคและก็เป็นการบริจาคแบบนิรนาม


                   
       ฉ.เสรีภาพในร่างกายกับการเกิด ในประเทศฝรั่งเศสทุกคนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการก่อกำเนิดแก่ชีวิตใหม่และมีสิทธิที่จะก่อให้เกิดชีวิตใหม่เช่นกัน สิทธิในการตั้งครรภ์โดยการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ได้สร้างปัญหามากสักเท่าไหร่แต่ที่ได้สร้างปัญหาก็คือ สิทธิที่ปฏิเสธในการก่อให้เกิดชีวิตใหม่ตามธรรมชาติกับสิทธิในการก่อให้เกิดชีวิตใหม่โดยการช่วยเหลือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

                   
       สิทธิที่จะปฏิเสธการก่อให้เกิดชีวิตขึ้นใหม่ตามธรรมชาติมีอยู่สองวิธีการคือ1.การคุมกำเนิด และการทำหมัน 2.การทำแท้ง ทั้งสองกรณีได้ก่อให้เกิดปัญหาในการโต้เถียง ความขัดแย้งทั้งทางศีลธรรมจรรยา ทางกฎหมาย และทางจริยธรรมตามมาและแต่ละประเทศต่างก็มีแนวความความคิดในเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันไป

                   
       สิทธิในการคุมกำเนิดได้เป็นที่ยอมรับและจัดการเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1967 กฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการอนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์การคุมกำเนิดอย่างเสรีในร้านขายยาแต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะซื้อได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาของแพทย์เท่านั้น ต่อมามีรัฐบัญญัติลงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1974 ที่อนุญาตให้ผู้เยาว์มีสิทธิในการคุมกำเนิดได้โดยมีการแจกฟรีผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดโดยไม่ต้องมีการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตามสิทธิในการคุมกำเนิดได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยศาสนจักรแคทอลิคที่วิจารณ์ว่าการคุมกำเนิดนั้นเหมือนเป็นวิธีการที่จะนำเรื่องเพศมาเอาชนะเรื่องความรักซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวและเป็นความปรารถนาความต้องการที่อยู่เหนือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์โดยเป็นการทำละเมิดต่ออำนาจที่เป็นของพระเจ้าในการให้กำเนิดแก่ชีวิตเท่านั้น การถกเถียงกันระหว่างฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายศาสนจักรนั้นเป็นการเผชิญกันระหว่างสองแนวความคิดอันหนึ่งถือว่าเป็นเสรีภาพของบุคคลที่จะตัดสินใจและกำหนดโดยตนเอง อีกอันหนึ่งถือว่าเป็นเป็นความสามารถที่พระเจ้าเป็นผู้กำหนดและเป็นผู้เลือก

                   
       ส่วนสิทธิในการทำหมันนั้นไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในประเทศฝรั่งเศสโดยมีคำวินิจฉัยในปี ค.ศ.1937สั่งลงโทษนายแพทย์ที่ทำหมันให้กับคนไข้ของตนเองแม้ว่าคนไข้นั้นยินยอมก็ตาม การปฏิเสธสิทธิในการทำหมันนั้นเป็นเหตุผลทางจริยธรรม แต่ในปัจจุบันนี้การทำหมันนั้นมีความเป็นไปได้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานตามที่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวกำหนดว่าต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดโดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะทำหมันยกเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ อีกปัญหาก็คือถ้าเป็นผู้มีความบกพร่องทางประสาทแล้วในบางประเทศก็ต้องบังคับให้มีการทำหมันแต่ในประเทศฝรั่งเศสไม่ยอมรับในกรณีดังกล่าวซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

                   
       ส่วนในเรื่องของการทำแท้งนั้นเป็นปัญหาที่กระทบต่อจริยธรรมและศีลธรรมอย่างมาก สิทธิในการทำแท้งนั้นได้รับการรับรู้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นการทำแท้งถือว่าเป็นอาชญากรรมจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1923และหลังจากนั้นมาก็ถือว่าการกระทำความผิด ปรากฏในความเป็นจริงในสังคมฝรั่งเศสในปีช่วง ค.ศ.1970 ว่ามีการทำแท้งเถื่อนถึงประมาณสามแสนคน ดังนั้นในปี ค.ศ.1975 จึงมีการตรารัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องดังกล่าวขึ้นเกี่ยวกับการทำให้หยุดตั้งครรภ์และต่อมารู้จักกันว่าเป็นสิทธิในการทำแท้งในช่วงการทดลองก่อนเป็นเวลา 5 ปี ต่อมาก็มีรัฐบัญญัติลงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1979ว่าการทำแท้งนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาและต่อมาศาลปกครอง และตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับถึงสิทธิดังกล่าว ปัญหาสิทธิในการทำแท้งนั้นได้สร้างปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสองหลักการที่กล่าวมาข้างต้นในประเทศฝรั่งเศสเพราะยอมรับทั้งสองหลักการดังกล่าวแต่ในบางประเทศปฏิเสธสิทธิในการทำแท้งโดยเคารพสิทธิในการมีชีวิตของเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เช่นประเทศไอร์แลนด์ แต่บางประเทศก็ยอมรับสิทธิของสตรีในการเป็นเจ้าของร่างกายของเขาเองดังนั้นจึงยอมรับสิทธิในการทำแท้งในหกเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่นประเทศอังกฤษ ในสหภาพยุโรปต่างก็ยอมรับสิทธิในการทำแท้งในข้อมติลงวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1990

                   
       ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ความเห็นของสาธารณชนหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบัญญัติ Veil พยายามที่จะประสานระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะมีชีวิตกับสิทธิของสตรีที่เป็นเจ้าของร่างกายของเขา โดยบัญญัติในมาตราแรกให้การรับประกันในการเคารพต่อมนุษย์ทุกผู้คนตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต ดังนั้นสิทธิในการมีชีวิตก็รวมอยู่ในนัยดังกล่าวด้วยและมีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอีกด้วยแต่รัฐบัญญัติดังกล่าวก็ก็มีการยกเว้นอยู่สองกรณีคือ การทำแท้งเพื่อการรักษาและ การทำให้หยุดการตั้งครรภ์ ซึ่งในกรณีกล่าวจะเห็นได้ว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ที่เป็นเจ้าของร่างกายนั้นมีอยู่เหนือกว่าสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์มารดา ดังนั้นในทางทฤษฎีจะเห็นได้ว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวให้ความสำคัญแก่สิทธิในการมีชีวิตน้อยกว่าสิทธิที่มีอยู่เหนือเนื้อตัวร่างกาย ทางศาสนจักรประณามว่าการทำแท้งและการฆ่าเด็กในครรภ์นั้นเป็นอาชญากรรมที่น่าสยดสยอง

                   
       ในความเป็นจริงแล้วการทำแท้งเพื่อการรักษานั้นมีมาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1975 แต่กฎหมายบ้านเมืองเพิ่งจะตระหนักถึงและนำมาบัญญัติในภายหลังนี้เอง โดยให้เหตุผลของการทำแท้งในกรณีดังกล่าวมีสองเหตุคือ 1.เมื่อเห็นว่าถ้าให้มีการตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพสตรีผู้ตั้งครรภ์2.ถ้าให้มีการคลอดทารกออกมาแล้ว ทารกนั้นติดโรคออกมาที่ไม่สามารถรักษาได้ ในแต่ละครั้งถ้าจะมีการทำแท้งในกรณีดังกล่าวแล้วจะมีนายแพทย์สองนายที่ให้การรับรองแต่อย่างไรก็ตามสตรีผู้ตั้งครรภ์นั้นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจที่จะทำแท้งเอง

                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำให้หยุดตั้งครรภ์นั้นสามารถกระทำได้ในสิบอาทิตย์แรกของการตั้งครรภ์ ผู้หญิงทุกคนที่ตั้งครรภ์จะถูกถามในเรื่องการทำให้หยุดตั้งครรภ์ดังกล่าวเพราะเหตุที่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำดังกล่าว ถ้าเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะที่ตั้งครรภ์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองแต่ถ้ายังไม่บรรลุนิติภาวะจะเป็นผู้ปกครองที่เป็นผู้ตัดสินใจ การทำให้หยุดการตั้งครรภ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้หญิงทำการร้องขอต่อแพทย์ซึ่งจะเป็นผู้บอกว่าความเสี่ยงมีมากน้อยขนาดไหนและจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ต่อจากนั้นยังต้องไปปรึกษากับกลุ่มหรือสถานประกอบการของการให้คำแนะนำทางครอบครัวอีกด้วยและท้ายสุดจะต้องมีคำยืนยันไปให้นายแพทย์เป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ร้องขอเองด้วย ระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมดไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์แต่อย่างไรก็ตามนายแพทย์ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธคำขอดังกล่าวได้

                   
       ปัญหาการทำแท้งหรือการกระทำโดยวิธีการใดก็ตามที่จะทำให้ทารกในครรภ์นั้นไม่ได้คลอดออกมาอย่างมีชีวิตนั้นยังเป็นข้อถกเถียงในนานาประเทศในเรื่องทางศีลธรรมจรรยา จริยธรรม มโนสำนึก และกฎหมายอยู่ร่ำไป เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างความละเอียดอ่อนของจิตใจด้วยกันเองกับกฎหมายของบ้านเมืองที่ต้องแปรเปลี่ยนไปตามสังคมและจิตใจของมนุษย์ซึ่งนับวันนั้นค่อนข้างอยู่ในระดับที่ต่ำลงไปทุกทีๆ ในที่สุดคงไม่ใช่ตัวกฎหมายที่เป็นสาเหตุของการเปิดช่องโอกาสดังกล่าวแต่กฎหมายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในสังคมนั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดหรือความหยาบกระด้างของจิตใจมนุษย์ในสังคมนั้นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เองจะต้องรับผิดชอบและช่วยกันแก้ไขในเชิงสร้างสรรมิใช่เป็นการแก้ไขในเชิงทำลายมนุษยชาติด้วยกันเอง


                   
       ช.เสรีภาพในร่างกายกับการตาย การตายเป็นการที่บุคคลนั้นสิ้นสภาพความเป็นบุคคล เมื่อสภาพความเป็นบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิเสรีภาพของบุคคลก็สิ้นตามไปด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าเมื่อบุคคลคนนั้นยังไม่ตายแต่เขาต้องการหยุดการมีชีวิตของเขาโดยการฆ่าตัวตายหรือร้องขอให้บุคคลอื่นกระทำให้เขาสิ้นชีวิต ณ.จุดนี้มีปัญหาเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นมีเสรีภาพในร่างกายที่จำทำลายร่างกายของเขาได้หรือไม่ เป็นปัญหาทางทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรม ในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองนั้นเห็นกันว่าการยุยงส่งเสริมให้บุคคลกระทำการฆ่าตัวตายนั้นถือว่าเป็นความผิด เช่นในรัฐบัญญัติลงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1987 ของฝรั่งเศส แต่การพยายามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายนั้นไม่ถือว่ามีความผิด แต่ในทางตรงกันข้ามแล้วห้ามบุคคลทำลายชีวิตของบุคคลอื่นไม่ว่าบุคคลนั้นมีความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และเฉกเช่นเดียวกันในกรณีที่บุคคลถูกข้อร้องจากอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานยอย่างมากร้องขอให้ทำลายชีวิตของเขานั้น ทั้งสองกรณีก็ถือว่าเป็นความทางอาญาของฝรั่งเศส

                   
       การที่ละเว้นการช่วยเหลือแก่บุคคลที่กำลังตกอยู่ในอันตรายหรือการปฎิเสธการรักษานั้นตามมาตรา 63 ของประมวลกฎหมายกฎหมายอาญาฝรั่งเศสถือว่าบุคคลที่ละเว้นหรือปฎิเสธดังกล่าวนั้นต้องมีคสามรับผิดชอบเกิดขึ้น แต่ในกรณีที่นายแพทย์รักษาผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นจนผู้ป่วยนั้นเสียชีวิต ศาลกล่าวว่าไม่มีความรับผิดในการกระทำดังกล่าวเว้นแต่ว่าเป็นพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการรักษา5 ในเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นมีความพร้อมและเต็มใจที่จะตาย ในเรื่องของเสรีภาพนั้น บุคคลที่ป่วยนั้นมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ผู้ป่วยเห็นว่าเป็นการมากจนเกินไปและเป็นการไร้ประโยชน์ การปฏิเสธการรักษาเพราะมีความเชื่อมั้นในพระเจ้าและศาสนา บุคคลมีสิทธิที่จะตายในบ้านของเขาเองและล้อมรอบไปด้วยคนในครอบครัวมากกว่าที่จะตายในโรงพยาบาลและล้อมรอบไปด้วยคนอื่น อย่างไรก็ตามก็มีการโต้แย้งการใช้เสรีภาพดังกล่าวของบุคคลที่มีความปรารถนาข้างต้น เช่นอาจโต้แย้งว่าเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องปกป้องชีวิตมนุษย์ การรักษาเป็นหน้าที่แพทย์ที่จะต้องรักษาผู้ป่วยและนอกจากนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการศึกษาต่อไปก็ได้

                   
       อีกกรณีก็คือ การที่ผู้ป่วยนั้นร้องขอให้แพทย์จบชีวิตของผู้ป่วยเองเพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหวที่เรียกกันว่า การุณพิฆาตหรือMercy killing ถูกเปรียบเสมือนว่าเป็นอำนาจที่จะได้รับการช่วยเหลือให้สิ้นชีวิต ในประเทศฝรั่งเศสนั้นไม่ปรากฎมีการรับรองสิทธิของผู้ป่วยในเรื่องดังกล่าวไว้ ถ้ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมซึ่งประมวลกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมทางการแพทย์ได้ห้ามแพทย์ที่จะกระทำการกระทำดังกล่าว ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นแพทย์ก็ไม่ได้เคารพต่อกฎเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าในกรณีดังกล่าวนั้นมีช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างกฎหมายกับทางปฏิบัติซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลังเลใจของความเห็นสาธารณะ ในทางศาสนานั้นยังยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาปอย่างแท้จริง ในขณะที่สมาคมเพื่อสิทธิในการตายนั้นเห็นว่าสิทธิดังกล่าวเป็นเสมือนเป็นองค์ประกอบสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงควรที่จะหาจุดประนีประนอมระหว่างสองแนวความคิดดังกล่าว เช่นอาจจะต้องมีการยอมรับในสิทธิดังกล่าวโดยสร้างเงื่อนไขที่เข้มงวด เช่นกำหนดว่าบุคคลนั้นอยู่ใกล้ขั้นตรีฑูต และบุคคลนั้นได้ร้องขอด้วยความเต็มใจและมีอิสระและพิสูจน์ได้ว่าได้รับการทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจนไม่สามารถทนทายาดต่อไปได้อีกและความเจ็บปวดดังกล่าวมีทีท่าว่าจะยาวนานไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป การพิจารณาดังกล่าวต้องได้รับความเห็นจากนายแพทย์สองนายเป็นอย่างน้อย


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. นบ.(จุฬา)นม.(จุฬา),DEA( droit public) Docteur de l’Université (Nouveau régime) mention très honorable (Strasbourg III) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพ,นิติธรรม,หน้า303-304
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. Gilles Lebreton,Liberté s publiques et droits de l’homme,Paris,Armand Colin,1996,pp.230-231
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. Supra,p.250
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. Françoise Thibaut,Libertés Publiques,Les Cours de droit,1991,p.104
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2547


       



1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544