เสรีภาพทางกายภาพตามแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส

5 มกราคม 2548 13:02 น.

       ความนำ
                   
       การรับรองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ดั้งเดิมที่สุดที่มีในลำดับต้นๆก็คือการรับรองสิทธิเสรีภาพในทางกายภาพของมนุษย์(les libertés physiques) การรับรองดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกคนนั้นต่างก็มีสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายของตนเองและในขณะเดียว
       กันทุกคนต้องไม่ทำการเป็นการกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติ การศึกษาถึงเสรีภาพทางกายภาพสามารถจัดกลุ่มศึกษาได้ดังต่อไปนี้ กลุ่มที่หนึ่ง เสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย(la liberté corporelle) กลุ่มที่สอง เสรีภาพในการเดินทาง(la liberté du déplacement)กลุ่มที่สาม เสรีภาพชีวิตส่วนบุคคล(la liberté de la vie privé)และกลุ่มสุดท้าย ความมั่นคงแห่งชีวิต(la sûreté de la vie)
       
       1.เสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย
                   
       การแทรกแซงที่ปราศจากความยินยอมของบุคคลเจ้าของร่างกายนั้นถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย การแทรกแซงดังกล่าวมีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกเป็นเรื่องของความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกาย เช่น ทำร้ายจนบาดเจ็บ ข่มขืน และร้ายแรงที่สุดก็คือฆาตกรรม รูปแบบที่สอง คือพันธะหรือข้อห้ามต่างๆที่ถูกบังคับโดยอำนาจ การปกป้องเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกายจากการทำร้ายอย่างรุนแรงนั้นตามกฎหมายภายในของรัฐแล้วก็คือกฎหมายอาญาซึ่งทำให้ตระหนักถึงการรับรองสิทธิของบุคคลที่มีเหนือเนื้อตัวร่างกายของเขา อย่างไรก็ตามก็ไม่ตัดการแทรกแซงอย่างจำกัดในส่วนของรัฐในกรณีที่รัฐอ้างถึง เพื่อความสงบเรียบร้อบของบ้านเมือง เพื่อทางศีลธรรม และเพื่อการสาธารณสุข ในปัจจุบันปัญหาในเรื่องเสรีภาพในร่างกายนั้นไปไกลกว่าในอดีตมากเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทางชีวกายภาพ การทดลองในมนุษย์โดยนักวิจัย นักค้นคว้าและนักวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทุกคนมีความหวังในชีวิตที่ดีกว่าการมีชีวิตที่ยืนยาวแต่อย่างไรก็ตามทุกชีวิตก็มีความเสี่ยงอยู่ในตัวเอง เช่นในกรณีที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะของบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งหรือการที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้และใช้วิธีการทางแพทย์ช่วยให้สามารถตั้งครรภ์ได้ ในเรื้องดังกล่าวเป็นปัญหาทางการแพทย์และก่อให้เกิดปัญหาชีวิตในสังคมตามมาและก่อให้เกิดการพัฒนาการของจิตใจและของชีวิตในสังคมนั้นซึ่งคู่ขนานกันไป เช่นในเรื่องการทำแท้ง สิทธิในการตาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันทั้งทางด้านกฎหมายและทางด้านศีลธรรมจรรยาซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ การทีสังคมเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังคงนิ่งอยู่ในปัญหาดังกล่าวแม้จะเห็นว่ามีผลกระทบโดยตรงและค่อนข้างรุนแรงต่อเสรีภาพในร่างกาย พัฒนาการทางวิทยาการใหม่ในบางครั้งก็ทำให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นหมันไปทันทีที่มีผลบังคับใช้ อำนาจรัฐก็มีความพึงพอใจที่จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อการไตร่ตรองทางจริยธรรมที่กระทำอย่างทันทีทันใดโดยคณะกรรมการเวชกรรมโดยการก่อตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติว่าด้วยจริยธรรมทางเวชกรรมศสคร์แห่งชีวิตและความตาย แต่การคุกคามที่ขาดซึ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกกฎเกณฑ์ที่สร้างปัญหาให้แก่ทางร่างกายและเสรีภาพของบุคคลได้สิ้นสุดลงโดยความจำเป็นที่จะต้องมีการแทรกแซงของฝ่ายนิติบัญญัติ ปรากฎว่ามีรัฐบัญญัติสองฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994 รัฐบัญญัติฉบับแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพในร่างกายมนุษย์ อีกฉบับเป็นเรื่องของการบริจาคและการใช้ประโยชน์จากส่วนประกอบหรือผลผลิตของร่างกายมนุษย์ด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ในการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างมากต่อประมวลกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดังนั้นจึงต้องถือเป็นงานทางนิติบัญญัติที่จะต้องให้ความหมายของสถานะปัจจุบันของการป้องกันเสรีภาพในร่างกายมนุษย์
                   
       ก่อนอื่นจะต้องศึกษาหลักการพื้นฐานของการปกป้องเสรีภาพดังกล่าวก่อนตามมาด้วยดูข้อจำกัดทางจารีตประเพณีที่บังคบต่อเสรีภาพดังกล่าวต่อความสงบสุขของสังคม นอกจากนี้ต้องศึกษาถึงระบบของวิธีการที่ถูกใช้โดยวิธีการทางชีวภาพ การบริจาคอวัยวะและการทดลองในมนุษย์ สุดท้ายก็ต้องดูถึงสถานะของชีวิตมนุษย์ คือ การเกิดและการตายตามลำดับ
                   
       ก.หลักการพื้นฐาน การปกป้องในชีวิตร่างกายต่อการกระทำที่อันตรายที่คุกคามต่อแนวคิดของศักดิ์ศรีของร่างกายมนุษย์ รัฐบัญญัติฉบับแรกลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994ที่ให้ความสำคัญทางกฎหมายแก่ปัญหาดังกล่าว รัฐบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มเติมลงไปในหมวดแรกของประมวลกฎหมายแพ่งซึ่งมีชื่อว่า "การเคารพต่อร่างกายมนุษย์" มาตรา16ของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งได้วางหลักการไว้และมาตราต่างๆที่ตามมาก็ประกอบไปด้วยผลของหลักการทางปฏิบัติ ทุกบทบัญญัติเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อยของสังคม มาตรา 16 บัญญัติว่า"กฎหมายให้หลักประกันความเป็นเอกของร่างกายของบุคคลและห้ามการกระทำร้ายต่อศักดิ์ศรีของร่างกายของบุคคลและให้ประกันแก่การเคารพของมนุษย์ตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต" ตามบทบัญญัติดังกล่าวตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตัดสินว่ามีค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญในคำพิพากษาลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1994
                   
       ผลของหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ตั้งแต่มาตรา 16จนถึงมาตรา16-9ซึ่งมีดังต่อไปนี้
                   
       -สิทธิของแต่ละคนที่ต้องเคารพและต้องไม่ละเมิดต่อร่างกายยกเว้นแต่ความจำเป็นทางการรักษาและต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียถ้าบุคคลนั้นอยู่ในสภาพที่เขาจะสามารถให้ได้
                   
       -การเคารพในความสมบูรณ์ที่ไม่ใช่เพียงแต่แต่ละบุคคลเท่านั้นแต่ต้องเคารพในมนุษยชาติ
       การเคารพในกรณีดังกล่าวใช้กับการลงโทษในทุกการปฏิบัติที่เกี่ยวกับปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มนุษย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลหรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสายพันธุ์เฉพาะต่อมนุษย์แต่ละคน
                   
       -ร่างกายของบุคคลไม่ใช่วัตถุ ผลก็คือค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่ให้แก่บุคคลที่ยินยอมให้มีการทดลองในร่างกายตนเองหรือเนื่องจากบุคคลได้ให้อวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย การให้บุคคลอื่นตั้งครรภ์แทน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการต้องห้าม
                   
       -การปิดบังชื่อของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยการให้อวัยวะของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับก็ตาม
                   
       -เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะบอกกล่าวตักเตือนหรือยับยั้งการกระทำที่ไม่เคารพต่อหลักการดังกล่าว
                   
       ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกรณีทั่วไปที่กิจกรรมโดยรวมทั้งหมดของทั้งภาคเอกชนและของภาครัฐจะต้องให้การเคารพ
                   
       ข.เสรีภาพในร่างกายกับความสงบเรียบร้อย ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้นเป็นเรื่องที่มอบหมายให้กับตำรวจทางปกครอง(police administrative)เป็นผู้มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการใช้อำนาจควบคุมการใช้เสรีภาพของปัจจเจกชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นและในทางกลับกันความมั่นคงความปลอดภัยของปัจเจกบุคคลก็ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตำรวจทางยุติธรรม(police judiciaire)ด้วยเช่นกันเมื่อเสรีภาพของปัจจเจกบุคคลไดรับการแทรกแซงจากภายนอกโดยเป็นการใช้อำนาจสอบสวนและปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ดังนั้นทั้งตำรวจทางปกครองและตำรวจทางยุติธรรมต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม ตำรวจทางปกครองสามารถใช้กำลังสลายความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ส่วนตำรวจทางยุติธรรมก็สามารถใช้กำลังได้เช่นเดียวกันเมื่อปรากฏว่ามีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ลักษณะทางกฎหมายของตำรวจทางปกครองมีดังต่อไปนี้
                   
       ประการแรก ตำรวจทางปกครองต่างจากตำรวจทางยุติธรรมตรงวัตถุประสงค์และกฎหมายที่ใช้บังคับกับศาลที่พิจารณาคดี กล่าวคือตำรวจทางปกครองเป็นเรื่องการใช้อำนาจฝ่ายปกครองป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบขึ้น ส่วนตำรวจทางยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจสอบสวนปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นแล้ว กิจกรรมแรกเป็นกิจกรรมป้องกันล่วงหน้าโดยการออกกฎ คำสั่งต้องใช้กฎหมายมหาชนบังคับและขึ้นศาลปกครอง ส่วนกิจกรรมหลังเป็นการปราบปรามความผิดอาญาที่เกิดขึ้นแล้วต้องใช้กฎหมายอาญาบังคับและขึ้นศาลยุติธรรม
                   
       ประการที่สอง วัตถุประสงค์ของตำรวจทางปกครองคือการป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องของการใช้อำนาจล่วงหน้าในการก่อให้เกิด เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิหน้าที่ฝ่ายเดียวขึ้นกับเอกชนโดยเอกชนไม่ต้องสมัครใจเลยที่เรียกว่า นิติกรรมทางปกครอง
                   
       ประการที่สาม ความสงบเรียบร้อยที่ตำรวจทางปกครองป้องกันนั้นมีสามลักษณะ คือ ความสงบในถนน ในที่สาธารณะ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และความสะอาด
                   
       ผลทางกฎหมายของตำรวจทางปกครองคือการมีระบบกฎหมายมหาชนบังคับกิจกรรมดังกล่าวและขึ้นศาลปกครองซึ่งมีหลักกฎหมายพิเศษดังนี้2
                   
       ประการแรก เมื่อการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองเป็นการควบคุมล่วงหน้าในรูปนิติกรรมทางปกครองจึงต้องนำหลักกฎหมายปกครองมาใช้บังคับ ปัจเจกชนที่เห็นว่าการใช้อำนาจฝ่ายเดียวนั้นไม่ชอบย่อมนำคดีมาสู่ศาลปกครองได้โดยศาลปกครองจะให้ความสำคัญกับมาตรการที่ใช้ว่าเกินความจำเป็นที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าใช้อำนาจเกินความจำเป็น ศาลปกครองจะเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองนั้นและถ้าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนรุนแรงโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้(voie de fait)ศาลปกครองก็จะลงโทษฝ่ายปกครองโดยไม่รับคดีไว้พิจารณาแต่ให้ไปขึ้นศาลยุติธรรมและใช้กฎหมายเอกชนบังคับดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
                   
       ประการที่สอง บางเรื่องที่เป็นนโยบายควบคุมเรื่องสำคัญ(haute police) เช่น การเนรเทศ ศาลจะควบคุมน้อยมากเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น อนึ่งความรับผิดของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตำรวจทางปกครองนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความผิดร้ายแรง(faute loudre)เท่านั้น กล่าวคือต้องจงใจก่อให้เกิดความเสียหายโดยผิดกฎหมายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจริงๆถ้าไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อธรรมดา รัฐก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
                   
       ประการที่สาม ในสถานการณ์ปกติ การใช้อำนาจตำรวจทางปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจตำรวจทางปกครองก็จะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมระหว่างมาตรการที่ใช้กับสถานการณ์ ยิ่งถ้าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยิ่งแล้ว เช่นเกิดจราจลขึ้น ถือเป็นหลักกฎหมายมหาชนเลยว่า แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดให้อำนาจไว้โดยตรง ฝ่ายปกครองก็ต้องดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
                   
       ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของตำรวจไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตามไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวที่จะทำร้ายต่อเสรีภาพทางร่างกายอย่างเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงในขอบข่ายของการปราบปรามทางอาญาด้วย(la répression pénale)โดยการแทรกแซงของผู้มีอำนาจเข้าไปในเรื่องเสรีภาพทางร่างกาย เช่นในเรื่องกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ตำรวจทางหลวงในการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ดื่มของมึนเมามากเกินขีดที่กำหนด ดังนั้นตำรวจจึงสามารถใช้อำนาจบังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ ถ้าบุคคลนั้นปฏิเสธที่ปฏิบัติตามก็จะมีการส่งไปตรวจสอบทางแพทย์ที่จำเป็น หรือเช่นกรณีที่ศาลสามารถบังคับโดยบอกกล่าวล่วงหน้าผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชสำหรับการใช้มาตรการความรับผิดชอบ หรือในกรณีที่ศาลแพ่งสั่งให้หากลุ่มเลือดเดียวกัน
       สำหรับการวิจัยในเรื่องการตั้งครรภ์เพื่อให้บุตรที่เกิดมามีสายเลือดเดียวกันกับบิดามารดาที่แท้จริง รูปแบบต่างๆของการควบคุมเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ความพยายามบางอันนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดความกังวลในการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นการขัดขวางความอื้อฉาวในการทำร้ายต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาภายนอก เช่นในเรื่องการแต่งกาย เรื่องผม เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานที่ปฏิเสธที่จะตัดผมให้สั้น ศาลตัดสินว่าเป็นการละเมิด
                   
       ค.เสรีภาพในร่างกายกับศีลธรรมจรรยา ในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย เช่นเสรีภาพในบุคลิกลักษณะของบุคคลที่เป็นบุคคลรักร่วมเพศได้รับการพิจารณาว่าเป็นการเบี่ยงเบนโดยจริยธรรมที่ครอบงำอยู่ในช่วงนั้นๆ การเป็นรักร่วมเพศในฝรั่งเศสนั้นไม่เคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นความผิดซึ่งตรงกันข้ามกับอังกฤษในช่วงหนึ่งที่เคยถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความผิด และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาของบุคคลที่ทำการค้าขายกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เช่น โสเภณีหญิงและชายที่เกิดขึ้นมากในสังคมปัจจุบันว่าเขาเหล่านั้นมีสิทธิและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของเขาเองหรือไม่ในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็พบว่ายังมีข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพในร่างกายอยู่เช่นกันที่ไปเกี่ยวเนื่องกับทางศีลธรรมจรรยากับเรื่องเพศ
                   
       สิทธิที่จะรับรองความสัมพันธ์ทางเพศไม่ได้รับประกันอย่างแจ้งชัดโดยบทบัญญัติกฎหมายใดๆเลยแต่การดำรงอยู่ในเรื่องดังกล่าวนั้นไม่สามารถเป็นที่ปฏิเสธได้ในมาตรการต่างๆที่คำวินิจฉัยของศาลไม่ลังเลที่จะยอมรับโดยวิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมากกว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลรักร่วมเพศหรือบุคคลรักต่างเพศและโดยวิธีการที่แจ้งชัดก็ได้ใช้สิทธิในเรื่องการเร่ร่อนขายเนื้อตัวร่างกาย ในฝรั่งเศสนั้นการที่ประพฤติตนเป็นโสเภณีไม่ว่าชายหรือหญิงนั้นไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่ปราบปรามเฉพาะการชักชวนเร่ขายตัวตามท้องถนนกล่าวคือมีการประกาศโฆษณาบนทางสาธารณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดความเสพเลและการเป็นเอเย่นต์จัดหาโสเภณีให้ผู้อื่น สิทธิในการที่จะเป็นโสเภณีได้รับการยอมรับโดยคำวินิจฉัยของศาลและระบบการเก็บภาษีของแผ่นดิน กล่าวคือรัฐพิจารณาว่าการเป็นโสเภณีนั้นถือว่าเป็นอาชีพดังนั้นรายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพดังกล่าวนั้นต้องประกาศหรือแจ้งให้ทางการทราบด้วยในเรื่องของรายได้ที่ไม่ใช่มาจากทางการค้าและต้องเสียภาษี เรื่องดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นเรื่องเดียวเท่านั้นจากหลักที่ว่าห้ามทำการค้าขายในร่างกายของมนุษย์
                   
       สิทธิที่จะรับรองความสัมพันธ์ทางเพศนั้นถึงกระนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่สามประการด้วยกัน ข้อจำกัดประการแรกนั้นเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ห้ามบุคคลที่บรรลุนิติภาวะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีแม้ว่าจะได้รับความยินยอมจากเด็กแล้วก็ตาม ข้อจำกัดประการที่สองเป็นผลจากแนวความคิดฝรั่งเศสในเรื่องบุคคลที่ต้องโทษจำคุกที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ถูกจำคุกนั้นมีสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาหรือคู่รัก และจากการปฏิเสธสิทธิดังกล่าวนั้นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ต้องโทษจำคุกนั้นมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันในคุก จึงมีการเสนอว่าควรมีการเคารพสิทธิดังกล่าวโดยจัดสร้างห้องพักสำหรับผู้ที่ต้องโทษจำคุกสามารถพบปะเพื่อมีเพศสัมพันธ์ได้ซึ่งได้ปรากฏในหลายๆประเทศแล้วเพื่อที่เป็นการอนุญาตแก่บุคคลที่ได้สูญเสียเสรีภาพโดยการถูกจองจำนั้นไม่สูยเสียเสรีภาพทางปฏิบัติการทางเพศของเขาเหล่านั้นไปด้วย ข้อจำกัดประการที่สามก็คือ อันเนื่องมาจากผลโดยตรงของโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คือ โรคเอดส์ ศาลอาญาได้ลงโทษบุคคลที่ทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองเป็นสื่อหรือพาหะในโรคดังกล่าวได้แล้วยังไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นจนทำให้บุคคลนั้นติดโรคไปด้วย ในคำพิพากษาที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ได้ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นพาหะโรคดังกล่าวแต่บังคับว่าถ้าจะมีเพศสัม-สัมพันธ์แล้วก็ต้องรู้จักป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย กรณีดังกล่าวเป็นทางออกที่ต้องการป้องกันสุขภาพของประชาชนโดยต้องมีการเคารพต่อเสรีภาพและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล3 ส่วนในเรื่องของสถานะการแต่งงานนั้น มาตรา 146 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสบัญญัติว่าการแต่งงานนั้นจะต้องมีความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเสรีภาพของคู่สมรสจึงเป็นเรื่องของต่างตอบแทน การละเมิดความยินยอมถือว่าเป็นการโมฆะ เสรีภาพในการสมรสได้รับการบัญญัติเพิ่มขึ้นอีกโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1975 ว่าคู่สมรสนั้นจะต้องมีความจงรักและภักดีซึ่งกันและกันซึ่งเปรียบเสมือนเป็นข้อจำกัดตนเองทางกฎหมายที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น การบัญญัติโดยรัฐบัญญัติดังกล่าวทำให้สูญเสียการลงโทษทางอาญาที่เกี่ยวกับความผิดที่มีการล่วงประเวณี
                   
       ง.เสรีภาพในร่างกายกับการสาธารณสุข จากเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายนั้นทำให้ตระหนักไปถึงสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาตามที่เหมาะสมกับเขาและแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม แต่อย่างไรก็มีข้อจำกัดที่ใช้บังคับกับเสรีภาพของแต่ละบุคคลโดยมีพันธะที่จะต้องไม่กระทบหรือรบกวนต่อผู้อื่นด้วยตามที่ประกาศยืนยันในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 การที่สุขภาพของบุคคลคนหนึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมแล้ว เสรีภาพของบุคคลนั้นจะต้องถูกหยุดยั้งลง ในกรณีดังกล่าวสุขภาพของปัจจเจกชนต้องถูกหยิบยกไปยังสุขภาพของมวลชนทั้งหมดและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องป้องกัน เสรีภาพที่จะได้รับการรักษาหรือการปราศจากการรักษายังคงมีอยู่และกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองไม่ได้รับจัดเป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้รับการบัญญัติในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1946ที่ว่า ชาติย่อมให้ประกันแก่ทุกคน…ในอันที่จะคุ้มครองสุขภาพ…ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าพันธะที่จะต้องป้องกันสุขภาพของประชาชนโดยตนเอง พันธะดังกล่าวนั้นได้เพิ่มมากขึ้นๆทุกวันขณะเดียวกันการจำกัดการใช้เสรีภาพของตนที่อาจจะกระทบต่อสาธารณชนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวทุกวันๆ เช่น เสรีภาพของผู้สูบบุหรี่ จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว บนเครื่องบินก็ยังมีการแบ่งที่นั่งสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่แยกออกจากที่นั่งผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ในปัจจุบันนี้ทุกสายการบินไม่มีการแบ่งที่นั่งสำหรับผู้สูบบุหรี่เลย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กระแสสังคมที่เรียกร้องและการรังเกียจการสูบบุหรี่ในที่ชุมชนนั้นกอปรกับประเด็นหลักก็คือทำลายสุขภาพของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วยทำให้รัฐต่างๆให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงออกกฎเกณฑ์ห้ามมีการสูบบุหรี่ในที่ชุมนุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร เครื่องบิน เป็นต้น การห้ามดังกล่าวเท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้สูบบุหรี่แต่อย่างไรก็ตามรัฐก็สามารถห้ามได้โดยคำนึงถึงสุขภาพของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ
                   
       พันธะต่างๆที่เพิ่มขึ้นในการป้องกันสุขภาพของประชาชนนั้นพอจำแนกได้ดังต่อไปนี้
                   
       1.การบังคับให้ต้องตรวจสอบสุขภาพ เช่นในกรณีที่คู่สามีภริยาในอนาคตถูกบังคับให้มีการตรวจสอบสุขภาพร่างกายก่อนการแต่งงานโดยมีการออกใบประกาศรับรองให้ หรือการบังคับให้ผู้สอบแข่งขันในตำแหน่งราชการหรือบางตำแหน่งของเอกชนต้องตรวจสุขภาพก่อน เป็นต้น
                   
       2.การบังคับที่ต้องให้มีการป้องกันอย่างยิ่ง เช่น ในกรณีฉีดวัคซีนป้องกันบางโรคที่ระบาดอยู่ในสังคม
                   
       3.ในบางกรณีที่เป็นพิเศษ ก็มีการบังคับไม่ใช่เพื่อการป้องกันแล้วแต่เป็นเพื่อการรักษา เช่น การบำบัดผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ที่ติดเหล้า
                   
       จ.เสรีภาพในร่างกายกับการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การเสี่ยงต่อการทำร้ายของเสรีภาพทางร่างกายที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นสามารถเกิดจากวิธีการของการวิจัยหรือไม่ก็เกิดจากผลของการวิจัย เช่น ในการทดลองในมนุษย์ การรักษาโดยการใช้อวัยวะของบุคคลคนหนึ่งกับบุคคลอีกคนหนึ่ง ในยุคแรกนั้นๆมีคำวินิจฉัยของศาลที่พอเทียบเคียงกับเรื่องดังกล่าวได้คือ การที่นายแพทย์จะทำการผ่าตัดร่างกายของคนไข้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้นั้นเสียก่อนยกเว้นแต่กรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น
                   
       การทดลองในมนุษย์นั้นได้รับการปฏิบัติมานานโดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝ่ายนาซีได้ทำการทดลองในร่างกายมนุษย์เพื่อค้นหาวิธีการต่างๆในการสังหารซึ่งไก้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้คนเป็นอย่างมากและด้วยเหตุผลดังกล่าวในปีค.ศ.1966 จึงมีกติกาโอนีเซียงค.ศ.1966ที่เกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้บัญญัติในมาตรา7ดังนี้ "ห้ามการทดลองในมนุษย์ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์โดยปราศจากความยินยอมโดยอิสระของบุคคลนั้น" แต่มีข้อน่าสังเกตว่าอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1950เป็นการตกลงโดยรัฐสมาชิกดั้งเดิมของสภายุโรปและมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1953นั้นไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่เลย ในยุคปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญขึ้นมากมาย โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆได้เกิดขึ้นเป็นอันมาก พวกนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งหลายต่างก็ทำการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการรักษาโรคใหม่ๆที่เกิดขึ้น ในบางครั้งก็ต้องมีการใช้ร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งทดลอง การทดลองในมนุษย์ดังกล่าวบางครั้งก็นำมาซึ่งปัญหาทางด้านศีลธรรมจรรยาซึ่งฝืนต่อความรู้สึกของวิญญูชนทั้งหลายและนำมาซึ่งปัญหาทางด้านกฎหมายตามมาว่าการทดลองในมนุษย์นั้นเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายของมนุษย์หรือไม่อย่างไร
                   
       ฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศฝรั่งเศสได้ลังเลใจต่อปัญหาดังกล่าวมานานจนกระทั่งในปี ค.ศ.1988ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1988ขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ประนีประนอมความจำเป็นที่จะต้องทดลองวิจัยในมนุษย์กับการต้องเคารพเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ รัฐบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการปกป้องบุคคลที่พร้อมที่จะเข้ารับการทดลองทางชีวภาพที่นำไปสู่การทดลองในมนุษย์ในกรอบของกฎหมายอันเป็นข้อบกพร่องอย่างมาก รัฐบัญญัติดังกล่าวอนุญาตให้มีการทดลองในมนุษย์อยู่สองรูปแบบคือสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรง(finalité thérapeutique directe)กับกรณีไม่อยู่ในสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรง(sans finalité thérapeutique directe) 4
                   
       สถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรงคือเป็นการทดลองในมนุษย์ที่กระทำกับผู้ป่วยที่มีวัตถุประสงค์ต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีทันใดโดยต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งและอิสระเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ป่วยแต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นอยู่สามกรณีคือ 1.สถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความยินยอมได้ด้วยตนเองและผู้ใกล้ชิดได้ให้ความยินยอมแทน 2.กรณีผู้ปกครองให้ความยินยอมแทนผู้เยาว์ 3.กรณีนี้เป็นกรณีที่อนุญาตจัดให้มีความยินยอมอย่างไม่ชัดแจ้งต่อกรณีที่เป็นข้อยกเว้นเฉพาะเมื่อการพิเคราะห์โรคนั้นไม่สามารถเปิดเผยให้แก่ผู้ป่วยได้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วย แพทย์ที่ทำการรักษาสามารถที่จะสงวนไม่เปิดเผยข้อมูลการรักษาแก่ผู้ป่วยได้ ในกรณีนี้เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ผู้ทำการทดลองในมนุษย์นั้นอ้างได้ที่จะไม่บอกวิธีการรักษาให้แก่ผู้ป่วย การกระทำดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมากในโชคชะตาและความไม่แน่นอนในการรักษา ความยินยอมของผู้ป่วยที่ให้ทำการรักษาและทดลองในตัวผู้ป่วยนั้นเป็นกระบวนการที่ตรงกันข้ามในการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งเป็นช่องทางในการหลอกลวงผู้ป่วยได้เป็นการแสวหาประโยชน์จากร่างกายของมนุษย์
                   
       ส่วนกรณีไม่อยู่ในสถานะวาระสุดท้ายการรักษาทางตรงนั้น ในกรณีนี้เป็นกรณีที่อันตรายที่สุดเพราะว่าเป็นการทดลองในมนุษย์ที่ไม่ใช่เป็นผู้เจ็บป่วยอย่างในกรณีแรก เป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง รัฐบัญญัติในปี ค.ศ.1988 ได้อนุญาตให้มีการทดลองดังกล่าวได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ต่อจากนั้นมีการห้ามอย่างค่อนข้างเข้มงวดที่จะทำการทดลองดังกล่าวแม้จะได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกพรากไปซึ่งสิทธิโดยคำสั่งของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองหรือเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของการประกันสังคม นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามการทดลองในสตรีมีครรภ์ ผู้เยาว์ คนป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล หรือคนป่วยที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่การห้ามดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่เด็ดขาดเหมือนเมื่อก่อนเพราะว่าถ้าเห็นว่าการทดลองนั้นไม่เสี่ยงอย่างรุนแรงอย่างที่จะเห็นได้ต่อสุขภาพ ในที่สุดเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายทุกกรณีต่อหลักการปกป้องเสรีภาพในร่างกายของมนุษย์ กฎหมายจึงบัญญัติว่าการทดลองเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆทั้งสิ้น
                   
       ดังนั้นถ้ามีการทดลองในมนุษย์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีการใช้การลงโทษทางอาญากับการทดลองในมนุษย์ดังกล่าวโดยจะมีคณะกรรมทำความเห็นในการทดลองดังกล่าว ทุกความเห็นที่คณะกรรมไม่เห็นด้วยนั้นจะถูกนำส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและจะทำให้การทดลองในมนุษย์ดังกล่าวถูกแขวนลอยไว้สองเดือน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งห้ามการทดลองดังกล่าวเมื่อเห็นว่าการทดลองดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงต่อการสาธารณสุขหรือไม่เคารพต่อหลักกฎหมายในเรื่องการทดลองในมนุษย์ จะเห็นได้ว่ารัฐบัญญัติ ค.ศ.1988ในเรื่องการทดลองในมนุษย์นั้นเน้นในเรื่องให้มีการทดลองในมนุษย์มากกว่าที่จะเคารพต่อปัจเจกชนที่สังคมฝรั่งเศสนั้นต่างให้คุณค่าและให้การยอมรับและให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนมากกว่า
                   
       ส่วนการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะจากบุคคลหนึ่งไปให้กับอีกบุคคลหนึ่ง ในกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสห้ามทำการค้าขายกับร่างกายของมนุษย์โดยเห็นว่าร่างกายของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ค้ำจุนของบุคคลไม่ใช่เป็นสิ่งของที่ซื้อขายหรือให้ยืมกันได้ แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ต่อต้านระบบสสารนิยมของร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตกทอกมาจากศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิคที่กล่าวว่าร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบเป็นบุคคล ร่างกายนั้นเป็นของความเป็นบุคคลไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ แต่หลักการดังกล่าวก็ไม่ได้ห้ามการบริจาคอวัยวะของมนุษย์หรือการบริจาคผลผลิตจากร่างกายมนุษย์
                   
       การบริจาคอวัยวะมนุษย์นั้นเป็นที่ยอมรับเพราะว่าเป็นการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ของผู้อื่น การบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้นก็มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดกฎเกณฑ์โดยแบ่งเป็นสองกรณีคือ การนำอวัยวะของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ไปปลูกถ่ายให้กับบุคคลอื่นเพื่อการรักษาชีวิต อีกกรณีเป็นเรื่องที่นำอวัยวะของผู้ที่เสียชีวิตไปปลูกถ่ายให้กับบุคคลอื่นเพื่อรักษาชีวิตของบุคคลนั้นเช่นกัน
                   
       ในกรณีแรกมีรัฐบัญญัติลงวันที่29กรกฎาคม ค.ศ.1994ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานสองประการดังต่อไปนี้
                   
       สมมติฐานแรก เป็นเรื่องการบริจาคอวัยวะของผู้บรรลุนิติภาวะซึ่งการบริจาคอวัยวะของบุคคลดังกล่าวนั้นจะให้ได้ก็แต่เฉพาะให้แก่บุพการี พี่น้องของผู้บริจาคเท่านั้นแต่ก็มีข้อยกเว้นถ้าเป็นการบริจาคไขกระดูกซึ่งไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว โดยทุกกรณีแล้วผู้บริจาคจะต้องได้รับการแจ้งผลของการบริจาคอวัยวะของตนว่าจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรหลังจากได้มีการบริจาคอวัยวะนั้นไปแล้ว การบริจาคดังกล่าวนั้นผู้บริจาคต้องแสดงความยินยอมต่อศาลและถ้าในกรณีฉุกเฉินโดยทุกกรณีแล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของอัยการ
                   
       สมมติฐานที่สอง เป็นกรณีผู้บริจาคอวัยวะเป็นผู้เยาว์ ผู้เยาว์สามารถบริจาคเฉพาะไขกระดูกแก่พี่น้องของตนเท่านั้นโดยความยินยอมของผู้เยาว์เอง ถ้าเป็นการบริจาคในกรณีอื่นแล้ว ความยินยอมเพียงอย่างเดียวหาเป็นการเพียงพอไม่ สถานะทางกฎหมายของผู้เยาว์นั้นทำให้ต้องมีการแจ้งผลของการเอาอวัยวะส่วนหนึ่งของผู้เยาว์ออกไปจากร่างกายและต้องแสดงความยินยอมต่อศาลอย่างอิสระและแจ้งชัด อย่างไรก็ตามก็อาจเปลี่ยนแปลงไม่ยินยอมก็ได้ นอกจากนี้การเอาอวัยวะออกจากร่างกายของผู้เยาว์นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการด้วย
                   
       ในกรณีที่สองที่นำอวัยวะของผู้เสียชีวิตมาปลูกถ่ายให้บุคคลผู้อื่น มีแนวคิดว่าร่างกายของมนุษย์ที่ตายแล้วเปรียบเสมือนเป็นร่างกายที่มีคุณค่าที่ได้รับการสนับสนุนโดยจารีตประเพณี ความเสียใจและการลืมเลือน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการที่จะนำอวัยวะของผู้ตายออกจากร่างกายของผู้ตายนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องได้รับการยอมรับโดยผู้ตายขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ในกรณีที่ไม่ปรากฏญาติของผู้เสียชีวิต รัฐบัญญัติลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1994 อนุญาตให้เอาอวัยวะของผู้ตายที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะทันทีที่บุคคลดังกล่าวไม่สามารถตระหนักถึงการมีชีวิตของเขาหรือการที่จะปฏิเสธการนำอวัยวะออกจากร่างกายของตนไป จากคติบทที่ว่าผู้ตายเป็นผู้ซึ่งที่ไม่สามารถพูดคำว่ายินยอมได้อีก จากหลักดังกล่าวก่อให้เกิดสมมติฐานของการยินยอมแก่แพทย์ที่จะเอาอวัยวะของทุกๆคนที่ไม่ความรู้สึกในการรับรู้ไม่สามารถแสดงออกซึ่งความยินยอมเต็มใจได้อีก ดังนั้นรัฐบัญญัติ ค.ศ.1994 ดังกล่าวจึงบัญญัติ ถ้าแพทย์ไม่สามารถทราบโดยตรงได้ของความต้องการความเต็มใจของผู้ตาย แพทย์ต้องพยายามหาบุคคลในครอบครัวของผู้ตายมาเป็นพยาน
                   
       ส่วนการบริจาคผลผลิตจากร่างกายมนุษย์ มีผลผลิตจากร่างกายมนุษย์อยู่สามชนิดคือ วัตถุดิบทางพันธุกรรม สิ่งปฏิกูลธรรมชาติและเลือด วัตถุดิบทางพันธุกรรมก็ได้แก่ สเปิร์ม รังไข่ การจะบริจาคสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดชีวิตขึ้นมาใหม่ ส่วนสิ่งปฏิกูลตามธรรมชาตินั้น อาจได้แก่ เส้นผม เล็บ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาทางจริยธรรมสักเท่าไหร่ เพราะเป็นการง่ายที่จะให้บริจาคเพราะการบริจาคดังกล่าวเหมือนกับเป็นการบริจาคทิ้ง ส่วนเลือดนั้นถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งชีวิตที่ค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะถือว่าเป็นส่วนประกอบในเนื้อตัวร่างกายมนุษย์ซึ่งถ้ามีการนำเลือดออกจากร่างกายไปแล้วก็ถือว่าเป็นการทำร้ายหรือทำละเมิดต่อเนื้อตัวร่างกายมนุษย์ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวกฎหมายฝรั่งเศสจึงถือว่าเลือดเป็นสสารของร่างกายมนุษย์ ในประมวลกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขของฝรั่งเศสถือว่าการจะบริจาคเลือดได้นั้นมีอยู่สี่หลักการคือ มีความเต็มใจ เป็นการให้เปล่าเพื่อการเยียวยารักษาโรคและก็เป็นการบริจาคแบบนิรนาม
                   
       ฉ.เสรีภาพในร่างกายกับการเกิด ในประเทศฝรั่งเศสทุกคนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการก่อกำเนิดแก่ชีวิตใหม่และมีสิทธิที่จะก่อให้เกิดชีวิตใหม่เช่นกัน สิทธิในการตั้งครรภ์โดยการมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ได้สร้างปัญหามากสักเท่าไหร่แต่ที่ได้สร้างปัญหาก็คือ สิทธิที่ปฏิเสธในการก่อให้เกิดชีวิตใหม่ตามธรรมชาติกับสิทธิในการก่อให้เกิดชีวิตใหม่โดยการช่วยเหลือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
                   
       สิทธิที่จะปฏิเสธการก่อให้เกิดชีวิตขึ้นใหม่ตามธรรมชาติมีอยู่สองวิธีการคือ1.การคุมกำเนิด และการทำหมัน 2.การทำแท้ง ทั้งสองกรณีได้ก่อให้เกิดปัญหาในการโต้เถียง ความขัดแย้งทั้งทางศีลธรรมจรรยา ทางกฎหมาย และทางจริยธรรมตามมาและแต่ละประเทศต่างก็มีแนวความความคิดในเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันไป
                   
       สิทธิในการคุมกำเนิดได้เป็นที่ยอมรับและจัดการเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1967 กฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการอนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์การคุมกำเนิดอย่างเสรีในร้านขายยาแต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะซื้อได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาของแพทย์เท่านั้น ต่อมามีรัฐบัญญัติลงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1974 ที่อนุญาตให้ผู้เยาว์มีสิทธิในการคุมกำเนิดได้โดยมีการแจกฟรีผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดโดยไม่ต้องมีการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตามสิทธิในการคุมกำเนิดได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยศาสนจักรแคทอลิคที่วิจารณ์ว่าการคุมกำเนิดนั้นเหมือนเป็นวิธีการที่จะนำเรื่องเพศมาเอาชนะเรื่องความรักซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวและเป็นความปรารถนาความต้องการที่อยู่เหนือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์โดยเป็นการทำละเมิดต่ออำนาจที่เป็นของพระเจ้าในการให้กำเนิดแก่ชีวิตเท่านั้น การถกเถียงกันระหว่างฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายศาสนจักรนั้นเป็นการเผชิญกันระหว่างสองแนวความคิดอันหนึ่งถือว่าเป็นเสรีภาพของบุคคลที่จะตัดสินใจและกำหนดโดยตนเอง อีกอันหนึ่งถือว่าเป็นเป็นความสามารถที่พระเจ้าเป็นผู้กำหนดและเป็นผู้เลือก
                   
       ส่วนสิทธิในการทำหมันนั้นไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในประเทศฝรั่งเศสโดยมีคำวินิจฉัยในปี ค.ศ.1937สั่งลงโทษนายแพทย์ที่ทำหมันให้กับคนไข้ของตนเองแม้ว่าคนไข้นั้นยินยอมก็ตาม การปฏิเสธสิทธิในการทำหมันนั้นเป็นเหตุผลทางจริยธรรม แต่ในปัจจุบันนี้การทำหมันนั้นมีความเป็นไปได้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานตามที่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวกำหนดว่าต้องเป็นกรณีที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดโดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะทำหมันยกเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ อีกปัญหาก็คือถ้าเป็นผู้มีความบกพร่องทางประสาทแล้วในบางประเทศก็ต้องบังคับให้มีการทำหมันแต่ในประเทศฝรั่งเศสไม่ยอมรับในกรณีดังกล่าวซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
                   
       ส่วนในเรื่องของการทำแท้งนั้นเป็นปัญหาที่กระทบต่อจริยธรรมและศีลธรรมอย่างมาก สิทธิในการทำแท้งนั้นได้รับการรับรู้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นการทำแท้งถือว่าเป็นอาชญากรรมจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1923และหลังจากนั้นมาก็ถือว่าการกระทำความผิด ปรากฏในความเป็นจริงในสังคมฝรั่งเศสในปีช่วง ค.ศ.1970 ว่ามีการทำแท้งเถื่อนถึงประมาณสามแสนคน ดังนั้นในปี ค.ศ.1975 จึงมีการตรารัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องดังกล่าวขึ้นเกี่ยวกับการทำให้หยุดตั้งครรภ์และต่อมารู้จักกันว่าเป็นสิทธิในการทำแท้งในช่วงการทดลองก่อนเป็นเวลา 5 ปี ต่อมาก็มีรัฐบัญญัติลงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1979ว่าการทำแท้งนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาและต่อมาศาลปกครอง และตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับถึงสิทธิดังกล่าว ปัญหาสิทธิในการทำแท้งนั้นได้สร้างปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสองหลักการที่กล่าวมาข้างต้นในประเทศฝรั่งเศสเพราะยอมรับทั้งสองหลักการดังกล่าวแต่ในบางประเทศปฏิเสธสิทธิในการทำแท้งโดยเคารพสิทธิในการมีชีวิตของเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เช่นประเทศไอร์แลนด์ แต่บางประเทศก็ยอมรับสิทธิของสตรีในการเป็นเจ้าของร่างกายของเขาเองดังนั้นจึงยอมรับสิทธิในการทำแท้งในหกเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่นประเทศอังกฤษ ในสหภาพยุโรปต่างก็ยอมรับสิทธิในการทำแท้งในข้อมติลงวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1990
                   
       ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ความเห็นของสาธารณชนหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบัญญัติ Veil พยายามที่จะประสานระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะมีชีวิตกับสิทธิของสตรีที่เป็นเจ้าของร่างกายของเขา โดยบัญญัติในมาตราแรกให้การรับประกันในการเคารพต่อมนุษย์ทุกผู้คนตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต ดังนั้นสิทธิในการมีชีวิตก็รวมอยู่ในนัยดังกล่าวด้วยและมีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอีกด้วยแต่รัฐบัญญัติดังกล่าวก็ก็มีการยกเว้นอยู่สองกรณีคือ การทำแท้งเพื่อการรักษาและ การทำให้หยุดการตั้งครรภ์ ซึ่งในกรณีกล่าวจะเห็นได้ว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ที่เป็นเจ้าของร่างกายนั้นมีอยู่เหนือกว่าสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์มารดา ดังนั้นในทางทฤษฎีจะเห็นได้ว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวให้ความสำคัญแก่สิทธิในการมีชีวิตน้อยกว่าสิทธิที่มีอยู่เหนือเนื้อตัวร่างกาย ทางศาสนจักรประณามว่าการทำแท้งและการฆ่าเด็กในครรภ์นั้นเป็นอาชญากรรมที่น่าสยดสยอง
                   
       ในความเป็นจริงแล้วการทำแท้งเพื่อการรักษานั้นมีมาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1975 แต่กฎหมายบ้านเมืองเพิ่งจะตระหนักถึงและนำมาบัญญัติในภายหลังนี้เอง โดยให้เหตุผลของการทำแท้งในกรณีดังกล่าวมีสองเหตุคือ 1.เมื่อเห็นว่าถ้าให้มีการตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพสตรีผู้ตั้งครรภ์2.ถ้าให้มีการคลอดทารกออกมาแล้ว ทารกนั้นติดโรคออกมาที่ไม่สามารถรักษาได้ ในแต่ละครั้งถ้าจะมีการทำแท้งในกรณีดังกล่าวแล้วจะมีนายแพทย์สองนายที่ให้การรับรองแต่อย่างไรก็ตามสตรีผู้ตั้งครรภ์นั้นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจที่จะทำแท้งเอง
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำให้หยุดตั้งครรภ์นั้นสามารถกระทำได้ในสิบอาทิตย์แรกของการตั้งครรภ์ ผู้หญิงทุกคนที่ตั้งครรภ์จะถูกถามในเรื่องการทำให้หยุดตั้งครรภ์ดังกล่าวเพราะเหตุที่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำดังกล่าว ถ้าเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะที่ตั้งครรภ์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองแต่ถ้ายังไม่บรรลุนิติภาวะจะเป็นผู้ปกครองที่เป็นผู้ตัดสินใจ การทำให้หยุดการตั้งครรภ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้หญิงทำการร้องขอต่อแพทย์ซึ่งจะเป็นผู้บอกว่าความเสี่ยงมีมากน้อยขนาดไหนและจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ต่อจากนั้นยังต้องไปปรึกษากับกลุ่มหรือสถานประกอบการของการให้คำแนะนำทางครอบครัวอีกด้วยและท้ายสุดจะต้องมีคำยืนยันไปให้นายแพทย์เป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ร้องขอเองด้วย ระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมดไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์แต่อย่างไรก็ตามนายแพทย์ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธคำขอดังกล่าวได้
                   
       ปัญหาการทำแท้งหรือการกระทำโดยวิธีการใดก็ตามที่จะทำให้ทารกในครรภ์นั้นไม่ได้คลอดออกมาอย่างมีชีวิตนั้นยังเป็นข้อถกเถียงในนานาประเทศในเรื่องทางศีลธรรมจรรยา จริยธรรม มโนสำนึก และกฎหมายอยู่ร่ำไป เป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างความละเอียดอ่อนของจิตใจด้วยกันเองกับกฎหมายของบ้านเมืองที่ต้องแปรเปลี่ยนไปตามสังคมและจิตใจของมนุษย์ซึ่งนับวันนั้นค่อนข้างอยู่ในระดับที่ต่ำลงไปทุกทีๆ ในที่สุดคงไม่ใช่ตัวกฎหมายที่เป็นสาเหตุของการเปิดช่องโอกาสดังกล่าวแต่กฎหมายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในสังคมนั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดหรือความหยาบกระด้างของจิตใจมนุษย์ในสังคมนั้นเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เองจะต้องรับผิดชอบและช่วยกันแก้ไขในเชิงสร้างสรรมิใช่เป็นการแก้ไขในเชิงทำลายมนุษยชาติด้วยกันเอง
                   
       ช.เสรีภาพในร่างกายกับการตาย การตายเป็นการที่บุคคลนั้นสิ้นสภาพความเป็นบุคคล เมื่อสภาพความเป็นบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิเสรีภาพของบุคคลก็สิ้นตามไปด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าเมื่อบุคคลคนนั้นยังไม่ตายแต่เขาต้องการหยุดการมีชีวิตของเขาโดยการฆ่าตัวตายหรือร้องขอให้บุคคลอื่นกระทำให้เขาสิ้นชีวิต ณ.จุดนี้มีปัญหาเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นมีเสรีภาพในร่างกายที่จำทำลายร่างกายของเขาได้หรือไม่ เป็นปัญหาทางทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรม ในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองนั้นเห็นกันว่าการยุยงส่งเสริมให้บุคคลกระทำการฆ่าตัวตายนั้นถือว่าเป็นความผิด เช่นในรัฐบัญญัติลงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1987 ของฝรั่งเศส แต่การพยายามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายนั้นไม่ถือว่ามีความผิด แต่ในทางตรงกันข้ามแล้วห้ามบุคคลทำลายชีวิตของบุคคลอื่นไม่ว่าบุคคลนั้นมีความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และเฉกเช่นเดียวกันในกรณีที่บุคคลถูกข้อร้องจากอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานยอย่างมากร้องขอให้ทำลายชีวิตของเขานั้น ทั้งสองกรณีก็ถือว่าเป็นความทางอาญาของฝรั่งเศส
                   
       การที่ละเว้นการช่วยเหลือแก่บุคคลที่กำลังตกอยู่ในอันตรายหรือการปฎิเสธการรักษานั้นตามมาตรา 63 ของประมวลกฎหมายกฎหมายอาญาฝรั่งเศสถือว่าบุคคลที่ละเว้นหรือปฎิเสธดังกล่าวนั้นต้องมีคสามรับผิดชอบเกิดขึ้น แต่ในกรณีที่นายแพทย์รักษาผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นจนผู้ป่วยนั้นเสียชีวิต ศาลกล่าวว่าไม่มีความรับผิดในการกระทำดังกล่าวเว้นแต่ว่าเป็นพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการรักษา5 ในเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นมีความพร้อมและเต็มใจที่จะตาย ในเรื่องของเสรีภาพนั้น บุคคลที่ป่วยนั้นมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ผู้ป่วยเห็นว่าเป็นการมากจนเกินไปและเป็นการไร้ประโยชน์ การปฏิเสธการรักษาเพราะมีความเชื่อมั้นในพระเจ้าและศาสนา บุคคลมีสิทธิที่จะตายในบ้านของเขาเองและล้อมรอบไปด้วยคนในครอบครัวมากกว่าที่จะตายในโรงพยาบาลและล้อมรอบไปด้วยคนอื่น อย่างไรก็ตามก็มีการโต้แย้งการใช้เสรีภาพดังกล่าวของบุคคลที่มีความปรารถนาข้างต้น เช่นอาจโต้แย้งว่าเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องปกป้องชีวิตมนุษย์ การรักษาเป็นหน้าที่แพทย์ที่จะต้องรักษาผู้ป่วยและนอกจากนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการศึกษาต่อไปก็ได้
                   
       อีกกรณีก็คือ การที่ผู้ป่วยนั้นร้องขอให้แพทย์จบชีวิตของผู้ป่วยเองเพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหวที่เรียกกันว่า การุณพิฆาตหรือMercy killing ถูกเปรียบเสมือนว่าเป็นอำนาจที่จะได้รับการช่วยเหลือให้สิ้นชีวิต ในประเทศฝรั่งเศสนั้นไม่ปรากฎมีการรับรองสิทธิของผู้ป่วยในเรื่องดังกล่าวไว้ ถ้ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมซึ่งประมวลกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมทางการแพทย์ได้ห้ามแพทย์ที่จะกระทำการกระทำดังกล่าว ในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นแพทย์ก็ไม่ได้เคารพต่อกฎเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าในกรณีดังกล่าวนั้นมีช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างกฎหมายกับทางปฏิบัติซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความลังเลใจของความเห็นสาธารณะ ในทางศาสนานั้นยังยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาปอย่างแท้จริง ในขณะที่สมาคมเพื่อสิทธิในการตายนั้นเห็นว่าสิทธิดังกล่าวเป็นเสมือนเป็นองค์ประกอบสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงควรที่จะหาจุดประนีประนอมระหว่างสองแนวความคิดดังกล่าว เช่นอาจจะต้องมีการยอมรับในสิทธิดังกล่าวโดยสร้างเงื่อนไขที่เข้มงวด เช่นกำหนดว่าบุคคลนั้นอยู่ใกล้ขั้นตรีฑูต และบุคคลนั้นได้ร้องขอด้วยความเต็มใจและมีอิสระและพิสูจน์ได้ว่าได้รับการทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจนไม่สามารถทนทายาดต่อไปได้อีกและความเจ็บปวดดังกล่าวมีทีท่าว่าจะยาวนานไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป การพิจารณาดังกล่าวต้องได้รับความเห็นจากนายแพทย์สองนายเป็นอย่างน้อย
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. นบ.(จุฬา)นม.(จุฬา),DEA( droit public) Docteur de l’Université (Nouveau régime) mention très honorable (Strasbourg III) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพ,นิติธรรม,หน้า303-304
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. Gilles Lebreton,Liberté s publiques et droits de l’homme,Paris,Armand Colin,1996,pp.230-231
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. Supra,p.250
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       5. Françoise Thibaut,Libertés Publiques,Les Cours de droit,1991,p.104
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2547

       
       
       


       2. เสรีภาพในการเดินทาง
                   
       เสรีภาพในการเดินทางนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในชีวิตร่างกาย(la surete)และเสรีภาพในชีวิตร่างกาย(la liberté individuelle) เสรีภาพในการเดินทางนั้นถือว่าเป็นเสรีภาพดั้งเดิมที่มีมานานแล้วดังปรากฏในมาตรา 4 ของ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ที่บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเสรีภาพไว้และในรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1791 มาตราแรกบัญญัติว่า"ทุกคนมีเสรีภาพที่จะไป ที่จะหยุดพักและที่จะเดินทาง"และในปัจจุบันได้รับการยอมรับโดยคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่กฎหมายสาธารณรัฐยึดมั่นและถือเป็นหนึ่งในเสรีภาพอื่นๆที่ได้รับการปกป้องอย่างดียิ่ง ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงระบบทั่วไปของเสรีภาพในการเดินทางและตามด้วยระบบเสรีภาพพิเศษของเสรีภาพในการเดินทางไปยังต่างประเทศ
                   
       ระบบทั่วไปของเสรีภาพในการเดินทาง ในเรื่องดังกล่าวต้องกล่าวถึงหลักเสรีภาพพื้นฐานในเรื่องดังกล่าวก่อน ดังที่ได้ทราบข้างต้นแล้วว่าในประเทศฝรั่งเศสถือว่าเสรีภาพในการเดินทางได้รับการพิจารณาเป็นเสรีภาพพื้นฐาน ตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789เสรีภาพดังกล่าวได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของเสรีภาพในชีวิตร่างกายซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นสามารถใช้เสรีภาพของเขาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อนล่วงหน้าซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลก็ได้วินิจฉัยลงโทษการกระทำใดๆโดยฝ่ายปกครองที่พยายามขัดขวางการใช้เสรีภาพดังกล่าว เมื่อมองดูการใช้เสรีภาพดังกล่าวของประชาชนในรัฐแล้วก็สามารกจำแนกหัวข้อที่นำเสนอได้ดังต่อไปนี้
                   
       ก.เสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐ หลักการ เสรีภาพดังกล่าวถือว่าเป็นเสรีภาพแบบเด็ดขาด แต่ละคนสามารถเดินทางภายในดินแดนของรัฐโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายปกครองทุกรูปแบบ ถ้ามองเสรีภาพดังกล่าวในรัฐย่อมทำให้เห็นได้ว่าบุคคลในรัฐนั้นย่อมมีสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการเคลื่อนไหวในอย่างอิสระภายในรัฐของตนเอง การเลือกที่อยู่อาศัยก็สามารถทำได้โดยอิสระ สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในรัฐที่ตนเองเป็นพลเมืองอยู่ กล่าวโดยนัยง่ายๆก็คือ ทุกคนมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (la liberté de mouvement)ดังปรากฎในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1950 และพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่รับรองว่าคนทุกคนมีอิสระที่จะออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งและรวมถึงประเทศของบุคคลนั้นด้วย ศาลฎีกาของฝรั่งเศสได้ตัดสินในคดีหนึ่งและสรุปว่า"เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการเดินทางนั้นไม่สามารถถูกจำกัดทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย"แนวคำวินิจฉัยดังกล่าวได้รับการยอมรับโดยศาลคดีขัดกัน ศาลปกครอง และคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการเคลื่อนไหวนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่นไม่สามารถเข้าไปในที่ต้องห้ามในเขตทหาร เขตทดลองทางทหาร ทางวิทยาศาสตร์
                   
       เสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐนั้นไม่ใช่ใช้เฉพาะกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหวหรือการเดินทางชั่วคราวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการย้ายถิ่นที่ที่อยู่แบบถาวรอีกด้วยซึ่งแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ของตนเองโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายปกครอง
                   
       ข้อยกเว้นของเสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐ ถึงแม้จะมีการรับรองเสรีภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็มีข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพดังกล่าวเช่นกันซึ่งได้แก่กรณีการลงโทษโดยศาล การโยกย้ายอันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพ และสุดท้ายคือระบบของผู้ที่ไม่ที่อยู่เป็นมีหลักแหล่ง
                   
       ในกรณีแรกนั้นเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลนั้นได้รับการจำกัดและถูกควบคุมโดยคำพิพากษาของศาล เช่นถูกลงโทษจำคุก กักขัง หรือการถูกกำหนดให้อยู่แต่ในเขตหวงห้าม ถูกกักกันในบริเวณที่กำหนด
                   
       ในกรณีที่สองนั้นเป็นกรณีของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถบรรทุก ขับรถประจำทาง ขับรถส่งผู้โดยสารทุกรูปแบบซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้ทางสาธารณะต้องอยู่ภายใต้แบบฟอร์มที่ฝ่ายปกครองได้กำหนดขึ้นดังนั้นกิจกรรมของกลุ่มอาชีพเหล่านี้ได้รับการพิจารณาเหมือนเป็นภารกิจบริการสาธารณะ ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่มีเสรีภาพในการเดินทางจนกว่าจะได้ทำตามรูปแบบ ขั้นตอนที่ฝ่ายปกครองกำหนดและจะต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองก่อน
                   
       ในกรณีที่สาม ระบบของผู้ที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาจเป็นบุคคลที่มีอาชีพไม่เป็นหลักแหล่งขึ้นอยู่กับการงาน ตารางเวลางานและรวมไปถึงบุคคลที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่มีที่อยู่แน่นอน ร่อนเร่พเนจร ในเรื่องดังกล่าวฝรั่งเศสมีมีรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 3 มกราคม ค.ส.1969 ที่บัญญัติมีใจความว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องเดินทางอยู่บ่อยๆขึ้นอยู่กับเนื้องานนั้น เป็นผู้ซึ่งที่มีที่อยู่แน่นอนนั้นต้องอยู่ภายใต้รูปแบบของการประกาศให้ทางการรู้ล่วงหน้าก่อน ส่วนบุคคลที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่มีที่อยู่แน่นอนร่อนเร่พเนจรจะต้องมีสมุดอนุญาตการเดินทาง ระบบดังกล่าวถือว่าเป็นระบบตรวจสอบและสอดส่องดูแลบุคคลกลุ่มดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ
                   
       ข.เสรีภาพในการเดินทางออกนอกรัฐ หลักการ ทุกๆคนมีเสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศ การเดินทางออกนอกประเทศนั้นอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการแสดงเอกสารสำคัญต่างๆและข้อจำกัดต่างๆที่รัฐสร้างขึ้น ดังนั้นการเดินทางออกจากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่งนั้น ผู้เดินทางจึงต้องมีเอกสารในการเดินทางผ่านเข้าและออกแดนอย่างครบถ้วน มิเช่นนั้นแล้วบุคคลนั้นก็จะไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเดินทางดังกล่าวจึงถูกจำกัดได้ด้วยข้อกำหนดของรัฐ เช่น หนังสือเดินทาง (passport) การอนุญาตให้เข้าประเทศ (visa) เป็นต้น หนังสือเดินทางเป็นเอกสารที่ออกโดยทางราชการโดยมีกำหนดระยะเวลาซึ่งโดยปกติแล้วทางการไม่ปฏิเสธการที่จะออกหนังสือเดินทางได้ การปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้นั้นถือเป็นกรณีที่เป็นข้อยกเว้นมากๆและหนังสือเดินทางในบางกรณีก็ไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศปลายทางที่จะไปนั้นไม่ต้องการดังนั้นในกรณีดังกล่าวก็มีเพียงแต่บัตรประจำตัวประชาชนก็เพียงพอแล้ว ในทางตรงกันข้ามประเทศส่วนใหญ่นั้นยังต้องการหนังสือเดินทางเวลาเดินทางเข้าประเทศนั้นเพราะหนังสือเดินทางแสดงถึงการอนุญาตให้เข้าประเทศนั้นประทับอยู่ในหนังสือเดินทาง
                   
       ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศในยุโรปที่เข้าลงนามในสนธิสัญญา Schengen ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้การเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรีในประเทศต่างๆที่เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1995 วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อขจัดการควบคุมพรมแดนให้หมดไปเป็นการยืนยันแก่ประชาชนทุกคนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสัญชาติใดๆก็ตามจะอยู่ภายใต้การยกเลิกควบคุม ณ.เขตแดนภายในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้การตรากฎหมายของรัฐสมาชิกมีความเท่าเทียมกันเพื่อที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนที่มาจากประเทศที่สามที่อาศัยในรัฐสมาชิกโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะเดินทางไปยังรัฐสมาชิกอื่นๆสำหรับช่วงระยะเวลาสั้นๆ พลเมืองของรัฐที่ลงนามในสนธิสัญญาจะสามารถเดินทางไปยังรัฐสมาชิกอื่นได้โดยปราศจากขั้นตอนทางพิธีการต่างๆเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การซื้อขายและการบริการระหว่างชายแดนและการเอาใจใส่ในวัฒนธรรมทางยุโรป6
                   
       อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายที่กล่าวถึงเสรีภาพในการเดินทางของพวกใช้แรงงานและมีบทบัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพในการเดินทางแก่ประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงการให้เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่หรือก่อสร้างบ้านเรือนแก่บรรดาพวกใช้แรงงานที่เดินทางเข้าไปประกอบการงานในรัฐของกลุ่มสมาชิกดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับการช่วยเหลือในการข้ามแดนจากประเทศภาคีหนึ่งไปยังอีกประเทศภาคีหนึ่ง การที่มีบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีประโยชน์ต่อการค้าร่วมกันของกลุ่มสมาชิดสหภาพยุโรป การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อนโยบายแห่งรัฐ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสุขอนามัยแห่งชาติเท่านั้น
                   
       ในบางครั้งมีหลายประเทศที่จำกัดเสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศหรือห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนในรัฐเดินทางออกนอกรัฐและรวมไปถึงห้ามบุคคลของรัฐเดินทางกลับเข้ามาในรัฐด้วย ถ้าหากเห็นว่าการเดินทางกลับเข้ามาจะเป็นการก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวายหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อคนส่วนใหญ่ ผลก็คือเป็นการเนรเทศบุคคลนั้น
                   
       ค.รูปแบบและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทาง การเลือกรูปแบบของการเดินทางนั้นถือว่าเป็นการเลือกที่เป็นอิสระของผู้เดินทางและเมื่อมีการเลือกรูปแบบของการเดินทางแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐซึ่งก็คือกฎจราจร ในระบบของของการจราจรนั้น ในทางกฎหมายนั้นมีอยู่สองทฤษฎีที่เกี่ยวข้องคือ ทฤษฎีของการใช้ทางสาธารณะและทฤษฎีของตำรวจทางปกครอง
                   
       ถนนทางสาธารณะเป็นสิ่งที่สำคัญและเอื้ออำนวยต่อการใช้หลักเสรีภาพด้วยกันถึงสามหลักคือ 1.ปัจเจกชนทุกคนสามารถใช้ทางสาธารณะสำหรับการเดินทาง 2.หลักแห่งความเสมอภาคสำหรับผู้ใช่ทางสาธารณะดังกล่าวและ 3.การใช้ทางสาธารณะโดยหลักเป็นการบริการโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือค่าอัตราการใช้ทาง
                   
       แต่ขณะเดียวกันการใช้เสรีภาพในการเดินทางนั้นก็ถูกกำหนดข้อบังคับโดยอำนาจของตำรวจทางปกครองเพราะเห็นว่าตราบใดที่ยังมีการใช้ทางสาธารณะอยู่นั้น ในบางทีการใช้เสรีภาพดังกล่าวอาจไปก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นในสังคมก็ได้ การใช้เสรีภาพในการเดินทางในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะโดยทางรถยนต์ซึ่งก่อให้เกิดผลตามมาคือประการแรก การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประการที่สอง การรบกวนความสงบของผู้คนในยามค่ำคืนอันเนื่องมาจากเสียงอันดังของเครื่องยนต์ และประการที่สามความต้องด้วยสุขวิทยาในเรื่องของมลพิษอันเกิดจากเตรื่องยนต์กลไกของรถยนต์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทางโดยรถยนต์นั้นการใช้เสรีภาพของตนเองในเรื่องดังกล่าวนั้นอาจจะไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นก็ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องมีการกำหนดขอบเขตแห่งกฎหมายในเรื่องนี้และในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบต่อหลักการเสรีนิยมด้วยซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของอำนาจตำรวจทางปกครองที่จะต้องเข้ามาดูแล
                   
       -ระบบของเสรีภาพในการเดินทางบนทางสาธารณะ ในเรื่องดังกล่าวนี้คงต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีทั่วไปของสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองกับเสรีภาพในการเดินทางบนทางสาธารณะ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะร่วมกัน กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ตระหนักถึงการยืดขยายกระบวนการต่างๆของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การยืดขยายดังกล่าวปรากฏก่อนอื่นในความหลากหลายและการเพิ่มขึ้นของวัตถุที่กฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านั้นที่อ้างถึง กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวการสัญจรการเดินทางโดยรถยนต์นั้นมักเกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ ยานพาหนะ ลักษณะความประพฤติในการขับขี่ การจอดรับรถยนต์เป็นต้น
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ ตามกฎหมายจราจรแล้วผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ซึ่งจะต้องผ่านการสอบการขับขี่เสียก่อนและในปี การมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์นั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการอนุญาตเบื้องต้นซึ่งออกโดยรัฐตามความเห็นของผู้คุมการสอบใบขับขี่อนุญาตและความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี ค.ศ.1989 ได้เปลี่ยนสภาพใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มาเป็นใบอนุญาตที่มีการกำกับคะแนนซึ่งประกอบไปด้วย 12 คะแนน ถ้ามีการกระทำผิดในการขับขี่รถยนต์ก็จะถูกตัดคะแนนลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีคะแนนเหลืออยู่ก็จะถูกริบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ดังกล่าว เช่นขับรถขณะมึนเมาถูกตัด 6 คะแนนเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายออกมาบังคับผู้ขับขี่รถยนต์นั้นต้องทำประกันภัยรถยนต์และประกันอุบัติภัยบุคคลที่สามด้วย ส่วนในทางสภาวะทางกายภาพบางประการ เช่น ต้องไม่มึนเมาในขณะขับขี่นั้นกฎหมายให้อำนาจแก่ตำรวจที่จะทำการตรวจผู้ขับขี่รถยนต์ว่าดื่มสุรามาหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้ขับขี่รถยนต์ปฏิเสธที่จะให้ตำรวจตรวจดังกล่าวก็โดนปรับหรือไม่ก็ทั้งปรับและจำคุกตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องมีเข็มขัดนิรภัยและขยายผลไปถึงผู้โดยสารอีกด้วย เช่น ต้องคาดเข็มขัดในขณะโดยสารรถยนต์ นอกจากนี้ผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์ก็ต้องสวมหมวกนิรภัยด้วย
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับยานพาหนะนั้นมีไม่มากมายเท่ากับในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ เช่นบังคับว่ายานพาหนะนั้นต้องมีหน้าปัดบอกเลขไมล์ชัดเจน ต้องมีใบอนุญาตที่เรียกว่า carte grise ต้องมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะ ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนด กฎเกณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างเข้มงวดกับยานพาหนะที่ทำการรับส่งผู้โดยสาร
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับความประพฤติในการขับขี่ยานพาหนะ ต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์จราจรต่างๆอย่างเข้มงวด เช่นสัญญาณไปจราจร สัญลักษณ์จราจรตามถนนหนทาง การจำกัดความเร็วในการขับขี่ เป็นต้น
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการจอดรถก็ต้องดูว่าที่ใดที่ห้ามจอดหรือจอดได้ในเวลาใดบ้าง หรือต้องหยอดเหรียญเสียค่าจอดตามริมทางที่ทางการนำมาตั้งไว้ มิเช่นนั้นแล้วก็จะต้องเสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่งจากเจ้าหน้าที่
                   
       สุดท้ายคือการพัฒนาการของระบบการเดินทางโดยรถยนต์ดังกล่าวก็จะมีผลสะท้อนกลับมายังประชาชนผู้เดินเท้านั่นเองกล่าวคือ เป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับประชาชน จะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์ทางจราจรที่สร้างขึ้นมานั้นพยายามขยายและให้ความสำคัญกับเสรีภาพของผู้เดินเท้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญเท่าๆกับเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้วย
                   
       -การขยายอำนาจของตำรวจทางปกครอง กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ คนขับพาหนะนั้นก็ได้สร้างอำนาจให้แก่ตำรวจทางปกครองในเรื่องดังกล่าวซึ่งแสดงออกให้เห็นในสามเรื่องดังนี้คือ อำนาจของตำรวจ วัตถุประสงค์ในการติดตามและวิธีการในการปฏิบัติ
                   
       ในเรื่องแรกนั้นการเดินทางทุกประเภทนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมและการกำกับดูแลภายใต้ระบบตำรวจโดยทั้งการที่มีกฎเกณฑ์ในการกำหนดเรื่อดังกล่าวแล้วก็เรื่องในการป้องกันและปราบปรามกรณีมีการละเมิดฝ่าฝืนทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือความปลอดภัย
                   
       ในเรื่องที่สอง วัตถุประสงค์ของการติดตาม เป็นวัตถุประสงค์ที่คลาสสิคของตำรวจทางปกครองซึ่งได้แก่ ความสงบ ความปลอดภัยและสุขอนามัย
                   
       ส่วนวิธีการในการปฏิบัติติดตามเป็นเรื่องของการป้องกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสอบใบขับขี่หรือการที่ต้องมีใบทะเบียนรถ
                   
       เมื่อมีการไม่เคารพต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการขับขี่แล้ว ก็อาจจะได้รับโทษทางอาญา โทษปรับ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่รถยนต์เป็นต้น
       
       3. เสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคล
                   
       แนวความคิดเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าทุกๆคนมีขอบเขตกิจกรรมส่วนเฉพาะตัวและมีอำนาจที่จะห้ามบุคคลอื่นเข้ามาล่วงล้ำขอบเขตกิจกรรมส่วนตัวดังกล่าว เสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคลนั้นได้รับการปกป้องโดยมาตรา 8 ของ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1950และมาตรา 17 ของกติกาโอนีเซียง ค.ศ.1966 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพลเมืองและการเมือง ส่วนในประเทศฝรั่งเศสนั้นได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคลโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1970และปรากฏต่อมาในมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ในส่วนของเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นประกอบไป 6 เสรีภาพที่สำคัญๆ ดังนี้ 1.เสรีภาพในที่อาศัย (la liberte du domocile) 2.สิทธิในความลับ(le droit au secret) 3.สิทธิในการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสาร(le droit a l'invioliabilite des correspondances) 4.สิทธิในการปกป้องข้อมูล(le droit a la protection des informations nominatives) 5.สิทธิในชีวิตครอบครัวที่เป็นปกติสุข(le droit a la vie familiale normale) 6. สิทธิในชีวิตเรื่องเพศ(le droit a la vie sexuelle)เสรีภาพในเรื่องเพศได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในส่วนของเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก ตามศาลประชาคมยุโรปถือว่า สิทธิในชีวิตเรื่องเพศนั้นนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคลด้วย7
                   
       ก.เสรีภาพในที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยนั้นมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายที่คงมีอยู่ระหว่างบุคคลกับที่อาศัยของบุคคลอันเนื่องมาจากความสำคัญในเรื่องกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่มีอยู่เหนือตัวทรัพย์นั้น ดังนั้นที่อยู่อาศัยของบุคคลซึ่งเป็นที่อยู่ของครอบครัวนั้นจึงต้องได้รับการป้องกันแต่อย่างไรก็ตามในบางสมัยบางเวลาก็ไม่ได้มีการเคารพต่อเสรีภาพในที่อยู่อาศัยดังกล่าวอันเนื่องมาจากสถานการณ์สงคราม การยึดครองประเทศ การยึดทรัพย์ การบุกรุกการโจมตี การปล้นสดมภ์ การทำลายล้าง เป็นต้น การเคารพเสรีภาพในที่อยู่อาศัยนั้นประกอบไปด้วยสองแนวความคิดคือ แนวความคิดในการเลือกอย่างอิสระและแนวความคิดการละเมิดมิได้ในที่อยู่อาศัย
                   
       -แนวความคิดในการเลือกอย่างอิสระ ที่อยู่อาศัยนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแต่สถานที่หลักของบุคคลที่อาศัยอยู่เท่านั้นและได้ประโยชน์จากการที่กฎหมายปกป้องคุ้มครองเท่านั้นแต่แม้เป็นสถานที่อาศัยอยู่ชั่วคราวก็ย่อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้นบุคคลที่อยู่อาศัยในที่อยู่นั้นๆต่างก็มีเสรีภาพ มีอิสระที่จะเลือกและอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีอิสระที่จะใช้ที่อยู่อาศัยของเขาเองอย่างไรก็ได้ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่าต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ต้องไม่สร้างอันตรายและไม่สร้างความไม่ถูกสุขลักษณะให้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเคหสถานของตนเอง ดังนั้นการใช้อิสระของตนในเคหสถานนั้นต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางบ้านเมือง มิเช่นนั้นตำรวจทางปกครองก็จะเข้ามาแทรกแซงการใช้เสรีภาพในเคหสถานดังกล่าวได้เพราะเป็นถือว่าเป็นสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านรอบข้างได้ เช่น เปิดวิทยุโทรทัศน์เสียงดังมากในเคหสถานของตนจนทำให้เพื่อนบ้านไม่สามารพักผ่อนในยามค่ำคืนได้ หรือการเดินรวดไฟฟ้ารอบบ้านของตนพร้อมทั้งปล่อยกระแสไฟฟ้าจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เป็นต้น
                   
       นอกจากนี้กฎหมายแพ่งฝรั่งเศสยังให้สิทธิแก่เจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าบ้านออกจากบ้านเช่าได้ ถ้าพบว่าผู้เช่าบ้านนั้นใช้บ้านผิดวัตถุประสงค์ของการเช่า เช่น ใช้บ้านให้เป็นสถานที่ทำการค้าประเวณี เป็นต้น
                   
       -แนวความคิดการละเมิดมิได้ในที่อยู่อาศัย กฎหมายของบ้านเมืองได้สร้างหลักในเรื่องดังกล่าวไว้เลยว่า ห้ามบุคคลทุกคนที่จะเข้าไปในเคหสถานของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของผู้ที่เป็นเจ้าของเคหสถานหรือผู้ที่ครอบครองเคหสถานนั้นอยู่ ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้าไปในเคหสถานของคนอื่นนั้นรวมถึงผู้ที่ให้เช่าบ้านของตนแก่ผู้เช่าด้วย ส่วนในส่วนที่เกี่ยวกับผู้แทนจากทางการแล้วก็มีขอยกเว้นในเรื่องดังกล่าวคือ ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบหาหลักฐานในบ้านของผู้ที่ต้องสงสัยในคดีหนึ่งและหรือมีหมายค้นมาด้วย โดยหลักการแล้วการละเมิดมิได้ในเคหสถานนั้น ในช่วงเวลากลางคืนนั้นถือว่าเป็นการห้าม ยกเว้นแต่ในกรณีเพื่อความมั่นคงของรัฐ ในภาวะวิกฤตของรัฐ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นในเวลากลางวันแล้วก็สามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญา
                   
       ข.สิทธิในความลับหรือความลับในวิชาชีพ สิทธิในความลับหรือความลับในวิชาชีพนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการเคารพในชีวิตส่วนบุคคล บุคคลบางประเภทอาจจะเป็นเพราะความเต็มใจของผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจโดยอำนาจแห่งกฎหมายนำบุคคลนั้นไปสู่การรับรู้สถานะที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตส่วนบุคคลของคนอื่นๆโดยวิชาชีพของบุคคลนั้นเอง เช่น นายแพทย์ ทนายความ เป็นต้น ในส่วนของนายแพทย์นั้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นผู้ที่รู้ประวัติการรักษาและความเจ็บป่วยของคนไข้เป็นอย่างดี ทนายความก็เช่นกันก็จะรู้ถึงข้อมูลส่วนตัวทางด้านทรัพย์สินและทางด้านครอบครัวของลูกความของตนเองเป็นอย่างดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐที่เก็บข้อมูลของประชาชนส่วนบุคคลไว้ในหลายหน่วยงานที่แตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องสุขภาพก็ได้แก่ ฝ่ายงานบริหารของโรงพยาบาล ในเรื่องสินทรัพย์ก็ได้แก่ ฝ่ายงานด้านภาษีของรัฐ และนอกจากนี้กระบวนการทางศาลและทางตำรวจก็เช่นกันที่สอบสวนบางเรื่องไปถึงขอบเขตของชีวิตส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้ามก็ยังมีหลักประกันในการคุ้มครองชีวิตส่วนบุคคลอยู่ก็คือการเคารพต่อความลับในวิชาชีพซึ่งปรากฏในมาตรา 378 ของประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส การที่กฎหมายบังคับต้องเก็บข้อมูลของคนอื่นเป็นความลับโดยวิชาชีพนั้นยังรวมไปถึงการละเมิดเปิดเผยข้อมูลอีกด้วย รัฐบัญญัติลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1978รับรองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงเอกสารทางราชการแต่ไม่รวมถึงเอกสารที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพราะเห็นว่าถ้าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการทำร้ายต่อชีวิตส่วนบุคคลนั้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงระมัดระวังเป็นอย่างมากในกรณีดังกล่าว ในปี ค.ศ.1995 ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1995 ในการป้องกันความลับของบุคคลต่อกล้องวิดีทัศน์ที่คอยติดตามเฝ้าดูอยู่ การที่จะใช้กล้องวิดีโอติดตั้งที่ใดเพื่อจับภาพเคลื่อนไหวของบุคคลนั้นถือว่าเป็นการละเมิดต่อชีวิตส่วนบุคคลนั้น ดังนั้นการกระทำดังกล่าวไม่สามารถทำได้ยกเว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากที่ว่าการจังหวัดอย่างแจ้งชัดภายหลังจากที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการภาค นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเขตที่จะติดตั้งกล้องวิดีโอสอดส่อง เช่น ในสถานที่ทางเข้าของอาคาร สถานที่สาธารณะหรือในสถานที่ที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสถานที่ที่เสี่ยงในการที่จะเกิดอาชญากรรม การที่กฎหมายกำหนดกรอบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าค่อนข้างกว้างมากและก่อให้เกิดการกังวลใจในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดต่อไปว่าการติดตั้งกล้องนั้นจะสอดส่องเฝ้าดูได้แต่ภายนอกเท่านั้นไม่สามารถติดตั้งสอดส่องเข้าไปถึงภายในด้วยและยังห้ามต่อไปว่าภาพที่อัดหรือถ่ายเก็บไว้ได้นั้นสามารถเก็บรักษาไม่เกินกว่า 1 เดือน ยกเว้นแต่ในกรณีมีการดำเนินคดีทางศาลและนอกจากนี้ให้สิทธิแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อในการรับรู้ถึงการบันทึกภาพโดยวิดีโอดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบหรือการทำลาย ดังนั้นสิทธิในความลับดังกล่าวจึงได้รับการปกป้องเพราะว่าศาลไม่เพียงแต่เยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิดังกล่าวเท่านั้นแต่ยังขัดขวางหรือหยุดการกระทำดังกล่าวได้อีกด้วย ปัจเจกชนแต่ละคนสามารถบอกเลิกที่จะเก็บรักษาความลับบางอันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนบุคคลนั้นได้ในกรณีที่การเปิดเผยดังกล่าวไม่เกิดการกระทบกระ
       เทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ในอดีตนั้นความลับในครอบครัว ความลับในฐานะทางการเงินนั้นถือว่าเป็นความลับส่วนบุคคลที่ได้รับการปกป้อง ถ้ามีการเปิดเผยในเรื่องดังกล่าวผู้เปิดเผยก็จะได้รับการลงโทษ แต่ต่อมาภายหลังในช่วงปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมานั้น ศาลฝรั่งเศสได้ยอมรับในการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวนั้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่า 1. บทความนั้นเขียนโดยนักหนังสือพิมพ์โดยอาชีพ 2.มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ 3.ข้อความดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย 4.การพิมพ์เผยแพร่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความฉาวโฉ่ขึ้น อย่างไรก็ตามตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสประกาศอย่างแจ้งชัดในการปฏิเสธว่าสิทธิดังกล่าวมีคุณค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญโดยเห็นว่ามีคุณค่าเทียบเท่ากับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ลักษณะดังกล่าวเป็นการนำแนวความคิดของพวกอเมริกันเข้ามาในสังคมฝรั่งเศสซึ่งเป็นการที่ไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้
                   
       ค.สิทธิในการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสาร หลักการเคารพต่อสิทธิของบุคคลในการติดต่อสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักสากลเพราะการละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิของปัจเจกชนที่จะแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นความลับโดยทางติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น8ในเรื่องดังกล่าวมีอยู่สองกรณีคือ การคุ้มครองความลับของจดหมายและการคุ้มครองการสื่อสารทางโทรศัพท์ การละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสารดังกล่าวได้รับการรับรองครั้งแรกในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ในมาตรา 10 และ11ซึ่งมาตรา 10 บัญญัติดังนี้"บุคคลย่อมไม่ต้องหวั่นเกรงสิ่งใดในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นเรื่องทางศาสนาก็ตาม ถ้าการแสดงออกนั้นไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยที่กำหนดโดนกฎหมาย"ส่วนมาตรา 11 บัญญัติดังนี้ "การติดต่อสื่อสารกันทางความคิดและความเห็นเป็นสิทธิที่มีค่าที่สุดประการหนึ่งขงมนุษย์แต่ละคน พลเมืองแต่ละคนจึงอาจพูด เขียน พิมพ์โดยอิสระ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ" จากทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ร่างคำประกาศมีเจตนารมณ์ที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นอันเป็นรากฐานการตีความขยายต่อมาภายหลังไปถึงเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารทางจดหมายและทางโทรศัพท์ไปด้วย
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความลับของจดหมายนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้มีการยอมรับหลักการดังกล่าวในกฤษฎีกา ลงวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1789 ว่า"ความลับของจดหมายต้องได้รับการเคารพอย่างสม่ำเสมอ"และถัดมาในประมวลกฎหมายอาญา ค.ศ.1810 มาตรา 187 ก็ได้มีบทบัญญัติรับรองในเรื่องดังกล่าวและตามมาด้วยรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1922 ซึ่งขยายบทลงโทษไปถึงถึงเอกชนและมาตรา 41 ของประมวลกฎหมายPและTก็ได้มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ซึ่งใช้สำหรับข้ารัฐการ บทบัญญัติดังกล่าวได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลายครั้งแต่ได้รับการปฏิบัติและยอมรับอย่างจริงจังก็ตั้งแต่ในสมัยสาธารณรัฐที่สามเป็นต้นไป ปัจจุบันนี้บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวปรากฏในมาตรา 226-15และมาตรา432-9ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตรา 226-15 บัญญัติว่า"การกระทำที่กระทำโดยความไว้วางใจโดยทุจริตที่เปิด ยกเลิก ทำให้ล่าช้าหรือยักยอกการติดต่อสื่อสารทางจดหมายหรือกระทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางและส่งไปยังบุคคลอื่นหรือกระทำการโดยการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งจดหมาย บุคคลนั้นต้องโทษจำคุกหนึ่งปีและปรับเป็นเงินสามแสนฟรังส์"มาตราดังกล่าวใช้กับบุคคลทั่วไป แต่มาตรา 432-9 นั้นใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยบัญญัติว่า"การกระทำที่กระทำโดยผู้รับฝากซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่มีหน้าที่ในการบริการสาธารณะใช้อำนาจและหน้าที่ออกคำสั่ง กระทำการ หรืออำนวยความสะดวกนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดไว้โดยยักยอก ยกเลิกหรือเปิดจดหมายหรือเปิดเผยเนื้อหาของจดหมาย บุคคลดังกล่าวต้องโทษจำคุกสามปีและปรับเป็นเงินสามแสนฟรังส์"
                   
       ในบางครั้งก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่ามีการเปิดเผยเนื้อหาของจดหมายลับหรือไม่อย่างไร อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพราะเหตุที่ว่ามีการกระทำทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอ่านเนื้อหาของจดหมายได้โดยไม่มีการทำลายเปิดซองจดหมายแต่อย่างใด
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและมาตรการลงโทษการดักฟังทางโทรศัพท์ ในประเทศฝรั่งเศสได้เพิกเฉยการละเมิดในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานานอันเนื่องจากรัฐนั้นเองเป็นผู้กระทำการดังกล่าว จนกระทั่งในที่สุดฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติให้การยอมรับการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อ
       สารทางโทรศัพท์ในมาตรา 187 ของประมวลกฎหมายอาญาในค.ศ.1810 แต่ข้อยกเว้นดูเหมือนจะเป็นหลักมากกว่าซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรามในทางอาญาในเรื่องดังกล่าว ผลก็คือมีการปฏิบัติการดักฟังทางโทรศัพท์โดยถูกกฎหมายโดยอ้างถึงความจำเป็นในเรื่องของการสอบสวนและ
       แนวคำพิพากษาของศาลก็ได้ยอมรับหลักการดังกล่าวด้วยมาตรแม้นว่าจะไม่มีบทบัญญัติหรือกฎ-เกณฑ์ให้อำนาจในเรื่องดังกล่าวไว้เลยก็ตาม ฝ่ายรัฐได้ปฎิเสธตลอดเวลาว่ามีการละเมิดโดยการดักฟังทางโทรศัพท์ ต่อมาในปีค.ศ.1973ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวและในปี ค.ศ.1974รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำข้อผูกมัดกำหนดขอบเขตการดักฟังทางโทรศัพท์เฉพาะในเรื่องความจำเป็นการปรามทางอาญา ความมั่นคงภายในและภายนอกของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังปราศจากบทบัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าวทั้งในหลักการ ข้อยกเว้นและบทลงโทษซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะปัญหาการดักฟังโทรศัพท์
                   
       ในปีค.ศ.1982ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยประธานศาลสูงสุดเป็นประธานได้ทำการศึก-ษาถึงกรณีดังกล่าวโดยในรายงานการศึกษาได้เน้นถึงหลักการการห้ามดักฟังทางโทรศัพท์และข้อ-ยกเว้นโดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการดักฟังโทรศัพท์โดยศาลกับการดักฟังโทรศัพท์โดยฝ่ายปกครองซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายปกครองนั้นจะกระทำได้ก็แต่ในกรณีเพื่อความมั่นคงภายในและความมั่นคงภายนอกรัฐเท่านั้นโดยการยืนยันโดยนายกรัฐมนตรีและและภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการ แต่รายงานการศึกษาดังกล่าวก็เป็นเพียงรายงานการศึกษาต่อไปหามีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไม่ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1990 ศาลประชาคมยุโรปได้ตัดสินว่ากฎหมายของฝรั่งเศสละเมิดต่อบทบัญญัติ มาตรา 8 ของ Convention européenne des Droits de l'Hommeที่บัญญัติว่า"บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับความเคารพในสิทธิชีวิตส่วนบุคคล ชีวิตครอบครัว ในเคหสถานและในการติดต่อสื่อสาร" ศาลประชาคมยุโรปได้ตัดสินว่ากฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลฝรั่งเศสนั้นไม่ได้สนองตอบการดำรงอยู่ของความชอบด้วยกฎหมายของมาตรา 89 จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลประชาคมยุโรปทำให้ฝ่ายตุลาการของฝรั่งเศสได้ยอมรับแนวคำวินิจฉัยดังกล่าวถัดจากนั้นฝ่ายนิติบัญญัติของฝรั่งเศสต้องมาทบทวนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังโดยปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายของฝรั่งเศสนั้นไม่ขัดกับกฎหมายดังกล่าวของประชาคมโดยมีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1991โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามการดักฟังโทรศัพท์ของเอกชน สำหรับการดักฟังที่กระทำโดยหน่วยงานราชการนั้นได้แยกออกเป็นสองประเภทคือ ฝ่ายปกครองและฝ่ายศาล โดยฝ่ายปกครองจะดักฟังโทรศัพท์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการๆมีอำนาจเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ระงับการดักฟังโทรศัพท์ได้ การดักฟังโทรศัพท์สามารถทำได้ในเรื่องเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเป็นการป้องกันการก่อการร้าย
                   
       สำหรับการดักฟังโดยศาลนั้นสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีอาชญากรรมซึ่งขึ้นอยู่กับความหนักเบาของโทษ10
                   
       ง.สิทธิในการปกป้องข้อมูล แนวความคิดในการปกป้องข้อมูลข่าวสารในฝรั่งเศสได้มีการพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 70 การละเมิดต่อข้อมูลข่าวสารถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการปกป้องสิทธิในข้อมูลดังกล่าวแต่แนวคำวินิจฉัยของศาลก็ยอมรับถึงสิทธิในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามในที่สุดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและประชาคมยุโรปก็เริ่มแทรกแซงในเรื่องดังกล่าว โดยประชาคมยุโรปได้ยอมรับสิทธิดังกล่าวในConvention eupopéenne pour la protection des personnes à l'égard du traitement automatisé des données à caractére personnel ลงวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1981 ในอนุสัญญาดังกล่าวได้ยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนและมีสิทธิได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือมีสิทธิให้ลบทิ้งเมื่อพบว่ามีการละเมิดของกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นเพื่อให้ความคิดเห็นและจัดทำบทบัญญัติเพื่อให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายภายในนั้น ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1978 เกี่ยวกับข้อมูล บัตรดัชนี และเสรีภาพแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีมาก่อนอนุสัญญา ปี 1981 ก็ตาม รัฐบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ขัดหรือแย้งกับอนุสัญญา รัฐบัญญัติดังกล่าวบัญญัติรับรองว่าข้อมูลมีเพื่อขึ้นการรับใช้พลเมืองแต่ละคนและต้องไม่ละเมิดต่อลักษณะของบุคคล สิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของปัจเจกชนหรือมหาชน สำหรับอนุสัญญานั้นได้บัญญัติถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไว้สามประการคือ สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเอง สิทธิที่จะได้รับการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในกรณีที่มีการผิดพลาด สิทธิที่จะได้รับการยกเลิกในกรณีที่มีการละเมิดโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อชีวิตส่วนบุคคล
                   
       รัฐบัญญัติลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1978 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เน้นไปยังเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลและได้มีการก่อตั้ง คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติLa Cnil (Commission nationale de l'informatique et des liberté s)ขึ้นเป็น คณะกรรมการอิสระไม่อยู่ใต้อำนาจขององค์กรใด ประกอบไปด้วยกรรมการ 17 คนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีโดยมีกรรมการ 2 คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ 2 คน มาจากสมาชิกวุฒิสภา กรรมการ2 คนมาจากสภาเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ 2 คนมาจากศาลปกครองสูงสุด กรรมการ 2 คน มาจากศาลฎีกา กรรมการ 2 คนมาจากศาลการคลังและภาษี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน มาจากการแต่งตั้งโดยกฤษฎีกาจากการเสนอของประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรและกรรมการอีก 3 คนมาจากการแต่งตั้งโดยกฤษฎีกาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
                   
       คณะกรรมการCnil มีอำนาจหน้าที่หลักๆอยู่หลายประการด้วยกันดังนี้ ประการแรก รายงานการทำงานประจำปีต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐและต่อรัฐสภา ประการที่สอง ประการที่สองทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาคำแนะนำและความเห็นแก่บุคคลที่จัดการเอกสารข้อมูลโดยการเสนอให้มีการปฏิรูปทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ ประการที่สาม มีอำนาจในการตรากฎเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานที่ให้ความมั่นคงแก่ระบบในการจัดเก็บเอกสาร ประการที่สี่ มีอำนาจในการอนุญาตหรือปฏิเสธการจัดเก็บเอกสารที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ประการที่ห้าอำนาจทั่วไปในการควบคุม เป็นต้น
                   
       จ.สิทธิในชีวิตครอบครัวที่เป็นปกติสุข สิทธิดังกล่าวถือเป็นมิติที่สำคัญของสิทธิส่วนบุคคลเนื่องจากการก่อตั้งครอบครัวถือว่าเป็นการก่อตั้งสถาบันหลักของสังคม ทางประเทศตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากดังเห็นจาก Convention européenne de sauvegarde des droits de l'Homme มาตรา 8 บัญญัติว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพในชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตครอบครัว"และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ.1946ได้บัญญัติรับรองเรื่องดังกล่าวด้วยว่า"ชาติย่อมให้หลักประกันแก่ปัจเจกชนและครอบครัวของเขา ในอันที่จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาของเขาเหล่านั้น"นอกจากนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสยอมรับหลักการดังกล่าวว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยอมรับหลักการดังกล่าวว่ามีค่าเทียบเท่ารัฐ- ธรรมนูญ การรับรองสิทธิดังกล่าวมีอยู่สามประการดังต่อไปนี้
                   
       ประการแรก สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวซึ่งหมายถึงสิทธิในการแต่งงาน สิทธิดังกล่าวปรากฏอยู่ใน Convention européenne de sauvegarde des droits de l'Homme มาตรา 12 บัญญัติว่า"เมื่อถึงวัยแห่งการแต่งงาน ชายและหญิงต่างมีสิทธิที่จะแต่งงานและสร้างครอบครัวตามกฎหมายแห่งชาติที่ให้ใช้สิทธิดังกล่าว" ในประเทศฝรั่งเศสสิทธิในการแต่งงานนั้นปรากฏอยู่ในมาตรา144และมาตราอื่นๆของประมวลกฎหมายแพ่งโดยกำหนดให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะสามารถแต่งงานได้ ดังนั้นบุคคลที่เป็นผู้เยาว์นั้นจึงไม่มีสิทธิดังกล่าวแต่สตรีที่เป็นผู้เยาว์สามารถแต่งงานได้นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขสองประการต้องมีอายุ15ปีขึ้นไปและได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา นอกจากนี้มาตรา 147 ของประมวลกฎหมายแพ่งบัญญัติว่า"บุคคลไม่สามารถแต่งงานครั้งที่สองได้ถ้ายังไม่มีการยกเลิกการแต่งงานครั้งแรก" มาตรา 175-2 ของประมวลกฎหมายแพ่งได้อนุญาตให้อัยการคัดค้านการแต่งงานที่เกิดจากการหลอกลวงได้ คู่สมรสสามารถคัดค้านโดยฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ แต่อัยการก็สามารถกลับไปทบทวนโดยเลื่อนออกไปได้อย่างมากไม่เกิน 1 เดือน เป็นต้น
                   
       ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศ ศาลประชาคมยุโรปได้ลงโทษรัฐที่ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงฐานะบุคคลโดยถือว่าเป็นการละเมิดต่อมาตรา 8 ที่กล่าวมาข้างต้นเพราะถือว่าเป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงการแปลงเพศเป็นการขัดขวางบุคคลแปลงเพศที่จะดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างเป็นปกติสุขแต่จะปฏิเสธที่จะตัดสินว่าเป็นการละเมิดต่อมาตรา 12 เพราะมาตราดังกล่าวยอมรับการแต่งงานของชาย หญิงที่แท้จริงเท่านั้น
                   
       ในประเทศตะวันตก ศาลจะไม่ตีความคำว่า "ชาย"และ"หญิง"ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้ผ่าตัดแปลงเพศและถึงแม้กฎหมายจะใช้คำว่า"บุคคล"แทนคำว่า"ชาย"และ"หญิง"ก็ตาม ศาลยังตีความคำว่า"บุคคล"ให้หมายถึงแต่เฉพาะ"ชายจริง"และ"หญิงแท้"เท่านั้น11 ศาลสูงของฝรั่งเศสยังคงยึดหลักการดังกล่าวมาโดยตลอดในคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับบุคคลแปลงเพศ ดังนั้นในกรณีของบุคคลรักร่วมเพศที่จะแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้การยอมรับในกรณีดังกล่าว
                   
       อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลแปลงเพศหรือบุคคลรักร่วมเพศประสงค์จะแต่งงานตามกฎหมายนั้น มีผู้เห็นกันว่าน่าจะยอมรับให้มีการจดทะเบียนกันได้ตามกฎหมายที่มิใช่เป็นการแสดงถึงการจดทะเบียนสมรสแต่อาจเรียกว่าใบสำคัญแสดงฐานะการอยู่กินร่วมกันซึ่งควรมีรูปแบบการจดทะเบียนเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงความหมายของคำว่าสมรสที่กฎหมายบัญญัติสำหรับผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นเพราะเห็นว่าการอยู่ร่วมกันของบุคคลในกลุ่มดังกล่าวเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
                   
       สิทธิในการก่อตั้งสร้างครอบครัวน่าจะมีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นนอกจากการสมรสอีกด้วย เช่น การอยู่กินร่วมกัน และรวมไปถึงสถานะของการเป็นผู้ปกครองฝ่ายเดียว(single-parent)คือ
       ชายหม้ายหรือหญิงหม้ายเพียงฝ่ายเดียวที่เลี้ยงดูบุตร ศาลประชาคมยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ยืนยันถึงผลของมาตรา 8 ว่ามีผลบังคับรัฐสมาชิกที่จะต้องอนุญาตให้ปัจเจกชนไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ก็ตามสามารถดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างเป็นปกติสุขได้
                   
       ประเภทที่สอง สิทธิที่จะอาศัยอยู่กับครอบครัว สิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัย พวกอพยพถิ่นฐานเสียส่วนใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศทางตะวันตกเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้อพยพเข้าประเทศในแถบยุโรปตะวันตกมากมายโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส กฎหมายของฝรั่งเศสได้ยอมรับถึงสิทธิดังกล่าวเพราะเห็นว่าบุคคลมีสิทธิที่จะอยู่ร่วมกับครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นสถาบันของสังคมและในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มพวกต่อต้านคนต่างชาติที่อพยพเข้ามา กฎหมายของฝรั่งเศสถือว่าคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาสองปีขึ้นไปย่อมมีสิทธิที่จะนำคู่ชีวิตและบุตรผู้เยาว์เข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสได้เมื่อบุคคลนั้นมีที่อยู่ที่เหมาะสมและมีรายได้เพียงพอที่จะยัง ชีพได้ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เป็นต้นมา ชาวต่างชาติที่มีคู่ชีวิตหลายคนสามารถนำคู่ชีวิตของคนเข้ามาในฝรั่งเศสได้เพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีบทกฎหมายห้ามในเรื่องดังกล่าวไว้
                   
       ถ้ามีการหย่าเกิดขึ้น ตามมาตรา 287 ของประมวลกฎหมายแพ่ง ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้มอบหมายให้บุตรให้อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยส่วนใหญ่ของเวลาเลี้ยงดูแล้วจะตกได้แก่มารดา ส่วนเวลาที่เหลือสำหรับบิดาก็คือ ในช่วงพักร้อน หยุดเทอมและเวลาสุดสัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกรณีดังกล่าวสิทธิในการที่อาศัยอยู่กับครอบครัวนั้นได้แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา
                   
       ประเภทที่สาม สิทธิที่จะได้รับความเคารพในเรื่องความลับของครอบครัวเป็นสิทธิของบุคคลที่จะคัดค้านการสกัดกั้นหรือการเปิดเผยภาพลักษณ์หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว มาตรา 9 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฝรั่งเศสได้บัญญัติให้มีการแก้ไข ขัดขวางหรือหยุดการละเมิดสิทธิดังกล่าว
       
       4. ความมั่นคงแห่งชีวิต(la sureté)หรือเสรีภาพในชีวิตร่างกาย(la liberté individuelle) เสรีภาพดังกล่าวเป็นเสรีภาพพื้นฐานและจัดเป็นเหตุสำคัญที่สุดที่นักปรัชญาเห็นกันว่า เป็นเหตุให้มนุษย์เข้ามารวมตัวกันเป็นสังคม ดังนั้นการคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลต่อการไม่ให้ผู้อื่นรวมทั้งองค์กรของรัฐเข้ามารุกรานจึงต้องให้ความสำคัญและคุ้มครองมากที่สุดในเสรีภาพทุกชนิด เพราะเป็นพื้นฐานของเสรีภาพอื่นๆทั้งหมด12 วัตถุประสงค์การรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็คือต้องการก่อให้เกิดความมั่นคงทางกฎหมายแก่ปัจเจกชนที่เผชิญกับอำนาจรัฐ ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีมาตรการการป้องกันไว้ล่วงหน้าสำหรับสิทธิเสรีภาพนี้
                   
       แนวคิดของความมั่นคงแห่งชีวิตหรือเสรีภาพในร่างกายมีบทบาทที่สำคัญและค่อนข้างคลุมเคลือ อย่างไรก็ตามต้องแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความมั่นคงทางกฎหมาย ความมั่นคงในร่างกายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นระดับแห่งคุณภาพชีวิตของปัจเจกชน ถ้าปัจเจกชนมีความมั่นคงและปลอดภัยแล้วก็ถือได้ว่าระดับคุณภาพชีวิตตั้งอยู่บนฐานที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงทั้งสามรูปแบบดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้เสรีภาพ และทำให้ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องระวังในการกระทำของตนมิให้มีผลกระทบและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อทั้งสามรูปแบบ
                   
       ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการกล่าวถึงความมั่นคงแห่งชีวิตหรือเสรีภาพในชีวิตร่างกายครั้งแรกในมาตรา 2 ของคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789"วัตถุประสงค์ของสังคมการเมืองทุกสังคมย่อมเป็นไปเพื่อการคุ้มครองรักษาสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง" จะเห็นได้จากบทบัญญัติดังกล่าวได้ว่า ความมั่นคงปลอดภัยเป็นสิทธิที่ไม่มีอายุความซึ่งถือเป็นสิทธิตามธรรมชาติและมาหลังจาก เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์แต่มาก่อนการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง สังเกตได้ว่าการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการไม่เคารพต่อ เสรีภาพ กรรรมสิทธิ์ หรือ ความมั่นคงปลอดภัยแล้ว
                   
       คำจำกัดความของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตนั้นคือสภาวะของบุคคลที่มีอิสระโดยตนเอง ที่ไม่มีใครมากักขัง กักกันไว้ได้และมีเสรีภาพในการเดินทาง แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมของรัฐที่มีขึ้นเพื่อปกป้องเสรีภาพดังกล่าว ในคำประกาศรับรองฯ ปี1789 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7,8,9 ดังนี้
                   
       มาตรา 7 บุคคลไม่อาจถูกกล่าวหา จับกุม หรือคุมขังได้ เว้นแต่ในกรณีที่กำหนดโดยกฎหมายและตามรูปแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ บุคคลใดก็ตามที่บังอาจร้องขอ ถ่ายทอด บังคับการหรือทำให้มีการบังคับตามคำสั่งตามอำเภอใจย่อมต้องรับโทษ แต่พลเมืองทุกคนซึ่งได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามนั้น การขัดขืนหรือการฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษเช่นกัน
                   
       มาตรา 8 กฎหมายอาจกำหนดโทษทางอาญาได้ก็แต่เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยชัดแจ้งเท่านั้นและบุคคลหาอาจต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายที่ตราขึ้นและประกาศใช้ก่อนการกระทำความผิดและการใช้บังคับกฎหมายนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย
                   
       มาตรา 9 บุคคลย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการประกาศว่ามีความผิด ถ้ามีความผิด ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมผู้ใด การใช้กำลังโดยไม่จำเป็นเพี่อให้ได้ตัวบุคคลนั้นมา ย่อมมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
                   
       การให้หลักความมั่นคงในชีวิตร่างกายไม่ได้หมายความว่า รัฐจะไม่สามารถกระทำการใดๆเลยอันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพปัจเจกชนได้แต่หมายความว่ารัฐสามารถกระทำการระทบต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ดังนั้นหลักการดังกล่าวจึงทำหน้าที่เป็นผู้ป้องกันซึ่งมักจะพบเห็นได้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการป้องกันซึ่งเสริมความมั่นคงในชีวิตร่างกายที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้แก่
                   
       1.หลักความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการวิธีพิจารณา ต้องมีวิธีพิจารณาที่เปิดเผยโดยศาลและอยู่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย
                   
       2.หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ
                   
       3.หลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง
                   
       4.หลักสิทธิในการป้องกันตนเอง
                   
       5.หลักการป้องกันโดยกระบวนการทางยุติธรรม
                   
       ในส่วนของกฎหมายของสหภาพยุโรปนั้นหลักความมั่นคงในชีวิตร่างกายได้ปรากฏอยู่ใน Convention européenne de sauvegarde des droits de l'homme et des libertés fondamentales 4 novembre 1950 มาตรา 5 โดยมีหลักการดังนี้
                   
       ประการแรก หลักการดังกล่าวเป็นสิทธิของทุกคนที่ถูกจับมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองเพื่อให้ให้ได้กลับคืนมาซึ่งสิทธิเสรีภาพ สิทธิดังกล่าวรวมไปถึงสิทธิจะได้รับรู้สาเหตุของการจับกุม สิทธิที่จะฟ้องต่อศาล สิทธิที่จะได้รับการพิจาณาในระยะเวลาที่เหมาะสม สิทธิที่จะมีทนายแก้ต่างในคดี
                   
       ประการที่สอง หลักการดังกล่าวเป็นสิทธิของทุกคนที่จะไม่ถูกจับหรือกักขัง เว้นแต่ว่าในกรณีดังต่อไปนี้ การกักขังนั้นเป็นกรณีที่เป็นการลงโทษโดยศาลที่มีเขตอำนาจ การกักขังอันเนื่องมาจากการขัดคำสั่งของศาลหรือการกักขังเพื่อเป็นการประกันต่อพันธะหรือข้อผูกพันที่กำ-หนดโดยกฎหมาย การกักขังผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดหรือต้องการละเมิดโดยมีเหตุผลอันน่าเชื่อได้เพื่อที่จำนำตัวขึ้นสู่ศาลที่มีเขตอำนาจ การกักขังผู้เยาว์สำหรับการวางแผนการศึกษาภายใต้การสอดส่องดูแล การกักขังบุคคลที่น่าจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายโรคติดต่อ การกักขังคนต่างชาติเพื่อการส่งกลับประเทศหรือเพื่อให้ห่างไกลจากดินแดนของรัฐ
                   
       จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าสิทธิที่จะไม่ถูกจับหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นตั้ง-อยู่บนสมมุติฐานที่กำหนดไว้ว่าเป็นหัวใจของสิทธิความมั่นคงในชีวิต ในประเทศฝรั่งเศส ตุลาการถือเสมือนว่าเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพชีวิตร่างกายตามที่มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปัจจุบันกำหนดไว้
       สรุป
                   
       การรับรองสิทธิเสรีภาพทางกายภาพนั้นแยกศึกษาได้เป็นสี่กลุ่มและแสดงให้เห็นถึงแนวคิดและมาตรฐานการรับรองเสรีภาพทางกายภาพในภาพของตะวันตกเป็นหลัก อย่างไรก็ตามถ้าหันกลับมามองดูการรับรองเสรีภาพดังกล่าวในไทย การรับรองเสรีภาพดังกล่าวนี้ก็ได้เดินตามแนวทางของตะวันตกเพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าได้มีการรับรองและตระหนักถึงเช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นประเทศทางตะวันตกหรือประเทศทางตะวันออก ปัญหาที่เกิดขึ้นในการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่เสมอๆให้เห็น
                   
       เสรีภาพทางกายภาพนั้นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในบรรดาสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการละเมิดมากที่สุดจากอำนาจรัฐทั้งๆที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของรัฐก็ยอมรับและตระหนักถึง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัดตอนในคดีต่างๆ การสอบสวนโดยการทรมานเนื้อตัวร่างกายให้รับสารภาพ การจับตัวไปกักขังและหายสาบสูญไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพทางกายภาพทั้งสิ้น บทบัญญัติที่ตรารับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นเพียงแต่ลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจะเกิดผลใช้บังคับได้อย่างจริงจังขึ้นอยู่กับว่า คนในสังคมนั้นต่างตระหนักถึงมโนธรรมและการเชื่อในผลแห่งการกระทำนั้นหรือไม่และมีความเคารพต่อกติกา กฎเกณฑ์ของสังคมนั้นหรือไม่ อย่างไร กล่าวคือ มีมาตรฐานทางจิตใจและมีมาตรฐานทางกฎหมายหรือไม่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพทุกชนิดมากน้อยเพียงใด
       
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       6. Free Movement of Persons within the European Union,จาก http://www.Europa.EU.Int.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       7. เสรีภาพในเรื่องเพศได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในส่วนของเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก ตามศาลประชาคมยุโรปถือว่า สิทธิในชีวิตเรื่องเพศนั้นนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคลด้วย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       8. Gilles Libreton,op.cit.,p.260
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       9. Donna Gomien,Vade-mecum de la Convention européenne des Droits de l'Homme,Bruxelles,Collection Documents européens ;1997 ;p.65
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       10. Jean Rivero,Les libertés publiques Tome 2 Le régime des principales libertés,Paris,PUF,1997,p.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       11. ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์, สิทธิและเสรีภาพของรักร่วมเพศชายตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ:วิเคราะห์จากปัญหาของสังคมไทย,วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543,หน้า92
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       12. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพ,2538,หน้า349
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2547

       
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=670
เวลา 10 พฤษภาคม 2567 22:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)