ฐานะและบทบาทของ สิทธิพลเมือง (Civil Rights) และ อำนาจอธิปไตยของชาติ (Sovereignty of State) นั้นมีบทบาทที่สำคัญและเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อการกำหนดทิศทาง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองให้ตอบสนองต่อความยั่งยืน (sustainable) ในเป้าหมาย หลากหลายมิติ ทั้งนี้เพราะ ฐานะบทบาทและความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ของประเด็นทั้งสองนี้ จะเป็นตัวชี้วัด และ ส่งผลต่อ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบ เครื่องมือและกระบวนการตัดสินใจของประเทศ ให้ตอบสนองต่อความยั่งยืนที่ว่านี้ได้ โดยนัยการเข้าถึง สิทธิพลเมืองของประชาชนในทาง เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมผ่านกระบวนการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริงนั้น จะส่งผลสะท้อนต่อทิศทางการใช้ อำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่หลอมรวมเอาผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม(ปวงชน) ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างเกื้อกูลต่อกันได้ ในทางตรงกันข้ามหากสิทธิพลเมืองถูกจำกัดตัดทอนหรือมีอยู่ในระดับต่ำ หรือเต็มไปด้วยเงื่อนไข ผลที่จะมีต่อการตัดสินใจในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐก็จะลดน้อยตามไปด้วย ดังตัวอย่างสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในด้านการเมือง ที่ประชาชนพึงได้รับข้อมูลข่าวสาร และ ร่วมแสดงออกในความคิดเห็น ต่อนโยบายสาธารณะ หากประชาชนในฐานะ บุคคล ขาดไปซึ่งสิทธิเสรีภาพในด้านนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิในฐานะปัจเจกบุคคล ก็เป็นเรื่องยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลจากการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคล จะสามารถขยายไปสู่สิทธิของปวงชนที่กว้างขวางออกไปจนสามารถ พัฒนาขยายเป็นการแสดงออกถึงซึ่งสิทธิที่กว้างขวางใหญ่กว่านั้นในฐานะ อธิปไตยของปวงชน ซึ่งมีรากแก้วมาจากอำนาจของปวงชนได้ ด้วยเหตุนี้ฐานะและบทบาทของ สิทธิพลเมือง จึงหาได้มีความหมายจำกัดคับแคบวนเวียนอยู่แต่เพียงเฉพาะประโยชน์ส่วนบุคคล ในแต่ละด้านตามที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครองไว้ หากแต่ในระดับคุณค่าหรือเป้าหมายปลายที่สูงกว่านั้นยังสามารถแสดงถึง ฐานะ และ บทบาทของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ความสัมพันธ์ในข้อนี้สามารถพิจารณาต่อไปได้อีกว่า ฐานะและบทบาทในเชิง คุณค่า ของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ หาใช่เพียงแค่การมีองค์กรทางการเมือง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาดไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญให้ลึกซึ้งเห็นถึงฐานะแก่นสารของบทบาทที่แท้ของ สิทธิพลเมือง ว่าได้วางอยู่และสามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้จริงในบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบใด เป็นต้นว่า ได้จัดตั้งวางอยู่บนฐานแห่งวัฒนธรรมเชิงอำนาจ (authoritarian) ที่ขึ้นอยู่กับผู้นำ หรือ ประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory Democracy) ที่การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน สะท้อนและมีจุดยึดโยงอยู่กับสิทธิเสรีภาพของปวงชนในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อให้กระบวนการตัดสินใจของประเทศบนฐานความรู้ (Knowledge base) สามารถทำงานได้จริงผ่านโครงสร้าง และ กลไก การใช้อำนาจรัฐ ในหลากหลายระดับ และ รูปแบบ (forms) ที่การริเริ่มหรือดำเนินการ ในนโยบายสาธารณะ (Public Service Policy) นั้นมาจากเสียงสะท้อนแสดงความต้องการของสังคมโดยรวมจริง ๆ
ฐานะและบทบาทของทั้ง สิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตยของปวงชนในลักษณะที่เป็น สารัตถะ (substantial) นี้ นับได้ว่ามีนัยสำคัญมากต่อความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน เพื่อออกแบบกลไก การตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศเสียใหม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ ประเทศกำลังเผชิญกับกระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่ของโลก(New World Order) ในเวลานี้ โดยที่ระบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ที่เป็นผลพลวงของสำนักคิดเศรษฐศาสตร์จาก Chicago School ที่แนวความคิดนี้ถูกนำมาปลูก (Transplant) และใช้กันทั่วโลกแม้กระทั่งในประเทศไทย ที่รู้จักกันในนาม การเปิดเสรีทางการค้า (Trade Liberalization) ที่ได้สร้างทางขึ้นให้รับกับการแผ่อิทธิพลของอำนาจทุนและเทคโนโลยี บวกกับอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนด เปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะของประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้าน การศึกษา บริการการสาธารณะ พลังงาน ฐานทรัพยากรของประเทศ การค้าและบริการ (Trade and Services) ฯลฯ ทั้งนี้โดยพยายาม ขยายแนวคิด ปรับเปลี่ยนกลไกทางนโยบายของรัฐชาติให้มาตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะ ภาคการค้าและบริการ และ พยายามเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public goods) ให้เป็น สินค้า(Commodity) แล้วถ่ายโอนไปเป็นของภาคเอกชน (Private Sector) ภายใต้ธงของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(Privatization) หรือ การลงทุนเป็นจุดหมายปลายทาง
กระบวนการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีในช่วงเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อการพลิกโฉมหน้าใหม่ของการจัดบริการสาธารณะ (Public Services) และการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในเรื่องใหม่ ๆ แม้กระทั่งโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ ฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมืองและอธิปไตยของปวงชนภายในรัฐโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็น กระบวนการตัดสินใจของรัฐในการริเริ่ม ดำเนินการจัดทำนโยบายสาธารณะ หรือ นโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (Trade liberalization and Investment) ที่ผลการดำเนินการ จะไปบดบังเปลี่ยนแปลงแก่นสารในบทบาทหน้าที่ของรัฐชาติที่จะต้องนำการจัดบริการสาธารณะให้ตอบสนองต่อ สภาพปัญหา ความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาของประเทศ หรือ ความเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ sui generis ของประเทศไทย ไปเป็นการมุ่งเน้น เกื้อหนุน ตอบสนองและอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ เพื่อการแสวงหากำไร (Marginalization) มากขึ้น เป็นจุดหมายปลายทาง ทั้ง ๆ ที่บทบาทหน้าที่ๆ ควรจะเป็นของรัฐแทนที่จะเป็นตัวสะท้อนความต้องการของประชาชน หรือ ผลประโยชน์สาธารณะ ที่ได้จากกระบวนการตัดสินใจ ผ่านกระบวนการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้แสดงความต้องการและสามารถยกระดับขยายไปจนถึง การแสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ในการก่อตั้งหรือ ดำเนินการในนโยบายสาธารณะในด้านต่าง ๆ
ตัวอย่างการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ... ของรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบยกร่างกฎหมายนี้ ก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณาของสถาบันนิติบัญญัติต่อไปนั้น เป็นภาพสะท้อนที่ดีแสดงถึงฐานะและบทบาทของทั้งสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตยของประเทศ ในอนาคตว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด หากมองจากแง่มุมของสิทธิเสรีภาพของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทย
บทความนี้จะพิจารณาพิเคราะห์ถึงสารัตถะแก่นสาร ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ก่อตั้งขึ้น ในประเด็นสำคัญที่ว่า ร่างกฎหมายนี้สามารถสะท้อนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้ในระดับใด และ ผลดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในสภาวะการของอิทธิพลจากพลังอำนาจของ ทุน เทคโนโลยี และ เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินการหรือการเกิดขึ้นของการบริการสาธารณะตลอดทั้งนโยบายในด้านต่าง ๆ ได้ในระดับใด และ อย่างไร สุดท้าย ร่างกฎหมายควรมีกรอบและแนวคิดหลักการอย่างไร ที่จะสอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทปัญหาของสังคมเศรษฐกิจไทยในทัศนะของผู้เขียน
สิทธิพลเมืองภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. การรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ...
1. กรอบคิดในการวิเคราะห์
ร่างพระราชบัญญัติรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดเตรียมขึ้นนี้ มีเจตนาที่ จำกัดขอบเขตสิทธิของพลเมืองในการได้รับข้อมูล คำชี้แจงในการดำเนินโครงการ หรือ การกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น ให้อยู่เฉพาะภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๕๙ ที่รับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากทางราชการ ในการดำเนินโครงการในขอบเขตที่ว่านี้ โดยบัญญัติไว้ความว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาต
หรือดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่ง
แวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด
ที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตน
ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ตามกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน
ที่กฎหมายบัญญัติ
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ ผู้เสนอและจัดทำร่างกฎหมายนี้ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยึดเอากรอบแนวคิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ เป็นกรอบและเงื่อนไขสำคัญในการ ไปกำหนดหลักการ กลไก เงื่อนไข และกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีหลักการสำคัญที่ว่า บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใด ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ ทั้งยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในการดำเนินโครงการดังกล่าวตามมา
สาระสำคัญใน มาตรา ๕๙ แห่งรัฐธรรมนูญฯ จึงได้บัญญัติก่อตั้งหลักการที่ว่านี้ไว้โดยสามารถแยกแยะได้โดยสรุปคือ
- การได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากทางราชการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมอื่นใดที่อาจกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตน หรือ ชุมชนท้องถิ่น นั้นถือ เป็นสิทธิ (rights) ซึ่งจะไปสร้าง หน้าที่ ต่อรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ในอันที่จะให้ข้อมูล และมีความผูกพันต่อองค์กรของรัฐที่จะต้องปฎิบัติและทำให้เกิดผลตามเนื้อหาแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยนัยมาตรา ๒๗ แห่งรัฐธรรมนูญ
- เมื่อได้รับข้อมูลคำชี้แจงดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญ ฯ ยังได้ให้การรับรองต่อไปถึง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น จะในลักษณะใด ๆ เช่นเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะอื่นใด จากการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมดังกล่าว
- สิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การใช้สิทธิทั้งสองประการนี้ จำกัดอยู่ในประเด็นเรื่องโครงการหรือกิจการที่อาจจะมีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดที่เกี่ยวกับตน หรือ ชุมชนท้องถิ่น
- สิทธิที่รัฐธรรมนูญ ฯ ก่อตั้งโดยนัยมาตราที่ ๕๙ นี้จะรองรับต่อ บุคคลสองฐานะคือ ในฐานะที่เกี่ยวกับตนเอง และ/หรือ ในฐานะชุมชนท้องถิ่น ที่แม้ไม่เกี่ยวกับตนเองแต่หากจะเกิดผลต่อชุมชนท้องถิ่น การใช้สิทธิโดยอาศัยฐานสิทธิตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๕๙ นี้ย่อมสามารถทำได้ แต่ยังจำกัดเงื่อนไขความสัมพันธ์ของผู้ใช้สิทธิและโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย หาได้มีผลเป็นการทั่วไปที่ใคร ๆ ก็จะสามารถมาใช้สิทธินี้ได้ แต่กระนั้นก็ตามก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ของโครงการหรือกิจกรรม ด้วยว่ามีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด ซึ่งหากเป็นโครงการที่กว้างขวางกระทบต่อส่วนได้เสียของคนโดยทั่วไป สิทธิของบุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ นี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ได้ถือเอาส่วนได้เสียเป็นเงื่อนไขสำคัญด้วยประการหนึ่ง ที่บุคคลจะสามารถอ้างสิทธิในการเข้าถึง สิทธิที่รัฐธรรมนูญ ฯ รับรองคุ้มครองตามมาตรา ๕๙ นี้ได้
- รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ หาได้บัญญัติรายละเอียดถึงฐานะความผูกพัน ว่าส่วนราชการจะใช้ข้อมูล ข้อคิดเห็นของประชาชน ไปในทิศทางใดโดยกรณีอาจจะมีฐานะเป็นเพียง ข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน ประกอบความเห็นการตัดสินใจ หรือ กรณีที่มีความเข้มข้นผูกพันลึกไปมากกว่านั้นถึง การออกคำสั่ง หรือ นิติกรรมทางปกครอง หรือไม่อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่ทิ้งไว้ให้เป็นหลักการที่จะต้องกำหนดรายละเอียดในกฎหมายลูก ที่มีฐานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดขึ้นมาภายหลัง คือ ร่างพระราชบัญญัตรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ....ที่พิจารณาอยู่นี้
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดที่มาซึ่งเป็นเหตุผลเบื้องหลังของการมีร่างกฎหมายนี้อาศัยที่มาจาก เป้าหมายแนวทางในการกำหนดรายละเอียดสิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง จากราชการที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ให้การรับรองคุ้มครองไว้เท่านั้น รายละเอียดที่แสดงออกจากร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... จึงสะท้อนหลักการแนวคิดที่ว่านี้
ความสัมพันธ์ในการกำหนดขอบเขตของ สิทธิพลเมือง ของร่างกฎหมายนี้จึงอยู่ในลักษณะที่จำกัด หากพิจารณาในแง่ของเนื้อหาแห่งสิทธิแล้ว จะถือเอาลักษณะโครงการหรือกิจกรรมเป็นตัวตั้ง หากโครงการดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด หากไม่อยู่ในขอบเขตข้างต้นนี้อาจไม่เข้าข่ายที่จะอ้างสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองได้ ในประการสำคัญ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาสาระแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกัน รับรองคุ้มครองไว้ จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า สิทธิในการรับทราบข้อมูล และ การแสดงความคิดเห็นต่อโครงการหรือกิจการต่าง ๆ นั้น ผู้ใช้สิทธิจะสามารถเข้าถึง (Access to) ได้มากน้อย หรือ สะดวก ปราศจากเงื่อนไขข้อจำกัดหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์จากหลักการตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ นี้แล้ว พบว่าตัวรัฐธรรมนูญ ฯ เพียงแต่ให้การรับรองและประกันเฉพาะ สิทธิในการรับทราบข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็น เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดหลักการสำคัญ ๆ ว่า สิทธิที่ได้รับรองคุ้มครองประกันไว้นั้น จะเข้าถึงมันอย่างไร การเข้าถึงสิทธิที่ว่านี้จึงมีทางเดียวคือ จะต้องกระทำผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ทางราชการจะกำหนดจัดให้มีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียด หลักการ กลไก ตลอดจนวิธีการ ตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นภายหลังจะถูกออกแบบมาอย่างไร ดังตัวอย่างรูปธรรมที่แสดงออกตาม ร่าง พ.ร.บ. การรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่พิจารณานี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าโดยเนื้อหาและแก่นสารแล้วเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ นี้เป็นเพียงให้ประกันเพียง เนื้อหาแห่งสิทธิ เท่านั้น หาได้ประกันครอบคลุมไปจนถึง กระบวนการทางกฎหมาย (Legal Process ) ที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นเนื้อหนังของสิทธิซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กันเป็นเงาตามไปด้วย ที่จะเป็นตัวชีวัดถึงประสิทธิภาพของการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของคนไทยนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วหากประเด็นการพิจารณาของเราไม่จำกัดเพียงแค่ ตัวสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันรับรองคุ้มครองไว้เท่านั้น โดยมองให้ลึกจนถึงการเข้าถึงสิทธิเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว เฉพาะประเด็นการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของประชาชนยังจำต้องเข้าใจถึงบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย อาทิเช่น ความโปร่งใสในการก่อตั้ง หรือ ดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ตลอดทั้งการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีนัยความหมายที่สำคัญต่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิ ตลอดจนการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านเทคนิค ทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ซึ่งจำต้องมีการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากส่วนต่าง ๆ ของสังคมก่อนเพื่อสร้างระดับการเรียนรู้ในทุกแง่ทุกมุม ก็จะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น มีคุณภาพและมีความรอบด้านในเนื้อหาสาระ บนฐานของความรู้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นหลักประกันต่อมาสู่การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สนองประโยชน์ในระยะยาวของประเทศและสาธารณะได้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ฉะนั้น การทำความเข้าใจสิทธิพลเมือง ภายใต้ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ
จึงจำต้องมาจากรากฐานทางความคิดที่ข้ามพ้น (Over look) เพียงถ้อยวลีหรือถ้อยคำในทางกฎกมายที่ประกอบขึ้นเป็น สิทธิ(Rights) ที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจน ตัวร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นตามมา หากแต่จะต้องพิจารณาสำรวจถึงประเด็นสาระที่ไกลกว่านั้น โดยเฉพาะ การเข้าถึงสิทธิของพลเมืองที่อาจจะอยู่ในรูปของ การออกแบบมาตรการ กลไก และกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึง บริบทอื่นๆ เช่นการทำให้ข้อมูลภาครัฐมีการไหลเวียน ซึ่งจะส่งเสริมให้การเข้าถึงสิทธิที่ว่านั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
2. สิทธิพลเมือง และ การเข้าถึงสิทธิ
สิทธิของพลเมือง ในการได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ นี้นั้น เป็นสิทธิที่ถูกกำหนดอยู่ภายใต้หลักการและเงื่อนไข ในการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวนั้น โดยนัย ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ
ที่ได้กำหนดหลักการและวางเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิที่ว่านี้ไว้ใน ๓ ลักษณะคือ ๑.) การกำหนดวิธีการเข้าถึงสิทธิให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายการเมือง และ อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่น ๒.) การกำหนดขอบเขตบุคคลที่จะเข้าถึงสิทธิให้อยู่ในบทนิยาม ผู้ได้รับผลกระทบ และ ๓.) กำหนดขอบเขตเงื่อนไขการใช้สิทธิให้อิงอยู่กับโครงการหรือกิจกรรม ที่ยึดพื้นที่เป็นตัวกำหนดทั้งหมดนี้แสดงออกจากสาระสำคัญที่ปรากฎในร่างทางกฎหมาย กล่าวคือ
ก. หลักการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ
กำหนดหลักการทั่วไป ในการเข้าถึงสิทธิ ในมาตรา ๑๔ วรรคแรก โดยถือว่าเป็นมาตราหลักของการเข้าถึงสิทธิ โดยบัญญัติว่า
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใด ถ้าเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบ และต้องปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาต หรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น
มาตรา ๑๔ วรรคแรกของร่างกฎหมาย ได้รับรองสิทธิของพลเมือง ในการรับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล ในการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมใด ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มี สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ก่อนที่ทางราชการจะตัดสินใจพิจารณาอนุญาต หรือ ดำเนินโครงการหรือกิจกรรม นั้น ๆ การเข้าถึงสิทธิโดยนัย มาตรา ๑๔ วรรคแรกนี้ ได้แสดงและตอกย้ำถึง สิทธิในการรับข้อมูล คำชี้แจง และ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่ทางราชการจะตัดสินใจ อนุญาต หรือ ดำเนินการโครงการ หรือ กิจกรรม หลักการที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นนี้ ทำให้หน่วยงานของรัฐมีความผูกพันที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก่อนการตัดสินใจอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมจากหน่วยราชการเจ้าของเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ที่ผู้ร่างยึดถือจากหลักการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญ ฯ เป็นแนวทางนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามการรับรองสิทธิของพลเมืองในเนื้อหาสาระ สิทธิทั้งสองด้านข้างต้นนี้หาได้เป็นบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ในทุก ๆ กรณีแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะในร่างกฎหมายนี้เองได้ มีการบัญญัติเงื่อนไขของการเข้าถึงสิทธิไว้อีกอย่างน้อย ๓ ประการ ซึ่งยังผลให้สิทธิของพลเมืองที่ร่างกฎหมายนี้ให้การรับรองคุ้มครองไว้ใน มาตรา ๑๔ วรรคแรก นั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ร่างกฎหมายได้วางไว้ด้วย
ข. เงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิ
๒.๑ การกำหนดวิธีการเข้าถึงสิทธิให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายการเมือง และ อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่น ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ซึ่งกำหนดไว้ว่า..
การอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(๒) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(๓) กรณีอื่นที่มีผลกระทบตามลักษณะหรือขอบเขตที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐเห็นสมควรจัดให้มีการปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ในโครงการหรือกิจกรรมใด นอกเหนือจากที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ถ้าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่าการจะพิจารณาอนุญาตหรือการจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดของหน่วยงานของรัฐมีผลกระทบมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่งซึ่งทำให้ชุมชนของตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อาจเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อร้องขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547
|