หน้าแรก บทความสาระ
นิติรัฐกับประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล
6 มกราคม 2548 21:43 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

       
บทนำ

       
                   
       นิติรัฐกับประชาสังคมเป็นหัวข้อที่นักกฎหมายมหาชนพยายามมองบทบาท
       ของประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ของตนภายใต้นิติรัฐว่าควรมีกรอบ
       ในการพิจารณาอย่างไร กล่าวคือ นิติรัฐแต่ละรัฐนั้นไม่ได้อยู่บนระบบการเมือง สังคม
       และกฎหมายของตนเพียงลำพัง หากยังอยู่ภายใต้กรอบของวัฒนธรรมและกติกาโลก
       และภูมิภาคด้วย2 ดังนั้น ดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นนิติรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่า ประชาสังคมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Civil Society หรือ Civil Society Group นั้น ควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)

                   
       ในที่นี้ จะไม่กล่าวถึงความเป็นมาหรือแนวคิดโดยละเอียดเกี่ยวกับนิติรัฐ
       เพราะเข้าใจว่านักกฎหมายและผู้ที่สนใจโดยทั่วไปเข้าใจความหมายดังกล่าวในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น จะขอสรุปว่า นิติรัฐ หรือ Legal State เป็นถ้อยคำที่ใช้กันในประเทศที่ใช้ระบบ
       ประมวลกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยมีประเทศฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ
       ความหมายก็คือในการบริหารจัดการ (ปกครอง) ประเทศหรือสังคมนั้นถือกฎหมายเป็นใหญ่
       เป็น "การปกครอง" โดยกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ "ผู้ปกครอง"
       ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึงหลัก "นิติธรรม" หรือ Rule of Law ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ ถือกฎหมาย
       เป็นใหญ่ในการบริหารจัดการรัฐ

                   
       ด้วยเหตุนี้ รัฐใดจะเป็นนิติรัฐหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาจากระบอบ
       การปกครองก่อนเป็นเบื้องต้นว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ กล่าวคือ อำนาจอธิปไตย
       ต้องมีการกำหนดให้เป็นของประชาชน และประชาชนมีวิถีทาง บทบาท และส่วนร่วมในการใช้อำนาจดังกล่าว รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดถึงลักษณะของอำนาจ องค์กรต่าง ๆ
       ที่ใช้อำนาจใน ๓ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ และที่สำคัญจะกำหนดรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขององค์กร
       ที่ใช้อำนาจในลักษณะทางบริหาร รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจทางตุลาการ
       เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยให้หลักประกันในความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

                   
       เราจะเห็นว่า ในประเทศที่เป็นระบบศาลเดี่ยวและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ บทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายของ
       การกระทำทางปกครองจะอยู่ที่ศาลยุติธรรม ในประเทศที่ใช้ระบบศาลมากกว่าหนึ่งระบบ
       และมีศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายจะเป็นหน้าที่
       ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง
       จะเป็นหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบความชอบด้วย
       รัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น โดยศาลปกครองจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎ คำสั่ง และการกระทำอื่นของฝ่ายปกครองซึ่งรวมไปถึงความชอบด้วย
       รัฐธรรมนูญด้วย

                   
       สำหรับความหมายของประชาสังคมนั้น ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้ค่อนข้าง
       หลากหลาย แต่โดยรวมแล้วคือ การรวมกลุ่มของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัจเจกชน องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรทางสังคม ฯลฯ เพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของกลุ่ม ซึ่งโดยทั่วไป
       เรามักจะเห็นองค์กรเอกชน (NGO) เป็นผู้ประสานและดำเนินงาน ในรัฐสมัยใหม่ การรวมกลุ่มของภาคประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองในสิทธิประโยชน์ของกลุ่มจากรัฐก็ดี การต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ กับภาครัฐก็ดี การตรวจสอบความโปร่งใสของ
       การใช้อำนาจรัฐก็ดี การแสดงจุดยืนที่แตกต่างกับรัฐในนโยบายต่างประเทศ หรือในเวทีการค้าโลกหรือภูมิภาคก็ดี ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นเป็นปกติในแทบทุกประเทศ อันจะแตกต่างกับในช่วง ๕๐ - ๖๐ ปีก่อน ที่ประชาสังคมนั้นมีความอ่อนแอมากในประเทศส่วนใหญ่ และ
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่เป็นนิติรัฐหรืออ่อนแอทางนิติรัฐ เมื่อผนวกกับความอ่อนแอ
       ทางด้านประชาสังคม ก็มักนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมในหลากหลายรูปแบบ

                   
       ดังนั้น รัฐใดรัฐหนึ่งจะเป็นนิติรัฐที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ได้นั้น ประการแรก
       จะต้องมีระบอบการเมืองที่ดี ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ ประการที่สอง จะต้องมีการบริหาร
       จัดการที่ดี ประการที่สาม จะต้องมีระบบถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ดี และ
       ประการสุดท้าย จะต้องมีภาคประชาชนหรือประชาสังคมที่เข้มแข็งอย่างมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง


       ๑. นิติรัฐและประชาสังคมภายใต้กรอบของโลกและรัฐ

                   
       โลกปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ
       และการเมือง จึงทำให้เกิดการรวมตัวเป็นองค์กรระดับโลกหรือภูมิภาคเพื่อระงับความขัดแย้งร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ ภายใต้กติกาหรือกรอบข้อตกลงร่วมกัน
       เมื่อประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จึงต้องปฏิบัติตามกติกาหรือข้อตกลงขององค์กร
       ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกและย่อมได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ จากการรวมตัวดังกล่าว


                   
       ๑.๑ กรอบหรือกติกาขององค์กรระดับโลกที่สำคัญ3

                   
       ปัจจุบัน การรวมตัวกันระหว่างประเทศต่าง ๆ กระทำในหลากหลายรูปแบบ
       ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความเป็นมา โดยมีองค์กรที่สำคัญ ดังนี้


                   
       ๑.๑.๑ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations)

                   
       องค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากที่กฎบัตรได้รับการให้สัตยาบัน โดยประเทศจีน ฝรั่งเศส
       สหพันธรัฐโซเวียต สหราชอาณาจักรอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และโดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ลงนาม มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การส่งเสริม
       สิทธิมนุษยชน การเคารพในหลักความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริม
       ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรโลก เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือระดับโลกในการแก้ไขปัญหามนุษยชาติ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ โดยมีองค์กรที่ทำงานร่วมมือในการช่วยเหลือเป็นจำนวนมากกว่า ๓๐ แห่ง องค์กรหลักของ UN มี ๖ องค์กร คือ สมัชชา (General Assembly) คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
       คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)
       และสำนักเลขาธิการ (Secretariat)

                   
       ปัจจุบัน UN มีสมาชิกรวม ๑๘๙ ประเทศ ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๕๕ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้มีการประชุม ณ นครนิวยอร์คของผู้นำ ๑๔๗ ประเทศ เพื่อกำหนดวาระนานาชาติสำหรับการเริ่มต้นศตวรรษใหม่ ด้วยการประกาศเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ๗ ด้าน ได้แก่ (๑) สันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และการลดอาวุธ (๒) การพัฒนา และการขจัดความยากจน (๓) การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
       (๔) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล (๕) การคุ้มครองผู้อ่อนแอ
       ด้อยโอกาส (๖) การตอบสนองความต้องการพิเศษของแอฟริกา (๗) การทำให้องค์การ
       สหประชาชาติเข้มแข็งขึ้น

                   
       ผลงานที่ผ่านมาขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ การส่งเสริม
       การเคารพสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับโรคร้ายและการขจัดความยากจน
       การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยการเดินทางทางอากาศ ยกระดับระบบโทรคมนาคม
       และการคุ้มครองผู้บริโภค นำการรณรงค์ระดับนานาชาติในการต่อต้านการค้ายาเสพติดและ
       การก่อการร้าย การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย จัดตั้งโครงการขจัดกับระเบิด ช่วยขยายการผลิตอาหาร และนำการต่อต้านโรค AIDS


                   
       ๑.๑.๒ องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization)

                   
       WTO จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๘ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยอิสระ มีสมาชิก ๑๔๖ ประเทศ
       โดยประเทศสมาชิกของ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) จะเป็นสมาชิกของ WTO ไปในตัว WTO มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ๖ ประการคือ ประการแรก บริหารความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบของ GATT และ WTO รวม ๒๘ ฉบับ
       โดยผ่านคณะมนตรีและคณะกรรมการ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
       ประการที่สอง เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิกทั้งในรูปของมาตรการภาษีศุลกากรและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ประการที่สาม เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ ประการที่สี่ ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศและจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรี ประการที่ห้า ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูล ข้อแนะนำเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ ๆ และประการสุดท้าย ประสานงานกับ IMF และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้นสิ่งที่ WTO ทำมาแล้ว คือ การปรับปรุงและกำหนดระเบียบการค้าที่สำคัญ เช่น ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (อนุญาตให้ประเทศสมาชิกกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าแต่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการกระทำตามใจชอบ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้า) ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด และความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การอุดหนุน เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ WTO กำลังจะทำต่อไปซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ของ GATT กำกับมาก่อนหรือหากมีก็น้อยมาก คือ การค้าบริการ โดยการกำหนดความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ซึ่งมีหลักการทำนองเดียวกับ GATT เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส การเปิดเสรี เป็นต้น และมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการกำหนดหลักการสำคัญ คือ ทุกประเทศต้องยกเลิกมาตรการลงทุนที่มีผลเป็นการกีดกันการนำเข้า

                   
       การเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิและมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่าง ๆ ของ WTO กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ WTO นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจ
       ให้แก่ผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและผู้ส่งออก สามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้

                   
       WTO เป็นองค์กรทางด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO ด้วยกัน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ ๙๐ ของการค้าโลก และการขยายตัวของสมาชิกจะทำให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ


                   
       ๑.๑.๓ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund)

                   
       จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน อำนวยความสะดวก
       เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่มั่นคงและเป็นระเบียบ ขจัดข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และช่วยเหลือประเทศสมาชิกโดยการจัดหาทรัพยากรด้านการเงินเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านดุลการชำระเงิน


                   
       ๑.๒ กรอบหรือกติกาในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย

                   
       ๑.๒.๑ องค์การร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organization of Economic Cooporation and Development)

                   
       เริ่มต้นจากการจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป
       หรือ OEEC (Organization of European Economic Cooperation) ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่
       ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ จุดประสงค์สำคัญที่สุดก็คือ ต้องการให้ทวีปยุโรปมีภาวะเศรษฐกิจกลับคืนใหม่อย่างมั่นคง ต่อมา ได้มีการจัดตั้งองค์การขึ้นใหม่แทนเรียกว่าองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจหรือ OECD เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ มีจุดประสงค์สำคัญ
       ๓ ประการ คือ ประการแรก เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ มีแรงงานอาชีพและมาตรฐานการครองชีพสูงมากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้เพื่อเป็นการเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ประการที่สอง ให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง โดยรวมถึงประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกด้วย และประการที่สาม มีส่วนเกื้อกูลต่อการขยายตัวทางการค้าในรูปพหุภาคี และปราศจากการกีดกันแต่อย่างใด


                   
       ๑.๒.๒ สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union)

                   
       สหภาพยุโรปได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ นับแต่การก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า (European Coal and Steal Community) ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๗ ได้มีการจัดทำสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) และประชาคมพลังงานปรมาณู (Euratom) ในช่วงเวลานั้นจึงเรียกชื่อกันว่าประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ต่อมาได้มีการรวม ๓ ประชาคม
       เข้าด้วยกันและได้มีกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ เพื่อให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นตลาดร่วมและตลาดเดียวที่สมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อเป็นประชาคมยุโรป (European Community : EC)
       ตั้งแต่นั้น ต่อมา เมื่อสนธิสัญญามาสทริชท์ (Maastricht Treaty) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่
       ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยได้กำหนดเป้าหมายและขั้นตอนให้ประชาคมยุโรปพัฒนา
       ไปสู่การเป็นสหภาพยุโรป จึงได้เปลี่ยนมาเรียกชื่อในทางปฏิบัติว่า สหภาพยุโรป (European Union : EU) การรวมตัวของ EU ตามสนธิสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ซึ่งถือเป็นเสาหลัก
       ๓ ประการ คือ ประการแรก การรวมตัวด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุโรปตลาดเดียว การมีนโยบายร่วมด้านต่าง ๆ และสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) โดย EU ได้เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของ EMU เมื่อ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ โดยมีเงินสกุลเดียวคือ เงินยูโร (Euro) และมีธนาคารกลางของสหภาพ ประการที่สอง นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และประการที่สาม นโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมและกิจการภายใน รวมทั้งการตรวจคนเข้าเมือง การปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด การจัดตั้งตำรวจร่วม (Europol) และการดำเนินการร่วมด้านความมั่นคงภายใน ฯลฯ

                   
       ปัจจุบัน EU มีสมาชิก ๑๕ ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก สวีเดน
       ไอร์แลนด์ กรีซ ฟินแลนด์ และออสเตรีย และได้มีความตกลงกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนัยเป็นการเตรียมการเข้าไปเป็นสมาชิกของ EU (Candidate Countries) ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์
       เช็ก สโลวัก บัลแกเรีย โรมาเนีย สโลวาเนีย แลตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย มอลตา และไซปรัส นอกจากนี้ตุรกีก็ได้สถานะเป็นประเทศที่สมัครเป็นสมาชิก EU ด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการขยายสมาชิกอีกครั้งประมาณ ค.ศ. ๒๐๐๕ ซึ่งการที่จะรับประเทศใดเป็นสมาชิกนั้น ได้กำหนดเงื่อนไข ๓ ประการ หรือที่เรียกว่า Copenhagen Criteria นั่นคือ เงื่อนไขด้านการเมือง เศรษฐกิจและความสามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขทางด้านการเมือง นิติบัญญัติ และสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของยุโรป ขณะนี้ EU กำลังพยายามพัฒนา European Identity ในระบบความมั่นคงของภูมิภาคยุโรป โดยการพัฒนานโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงและการปรับทิศทางองค์กรด้านความมั่นคงอื่น ๆ ในยุโรป รวมทั้งขยายความร่วมมือและ
       บทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลาง และสำหรับเอเซียก็ได้พิจารณา
       เข้าร่วมใน KEDO (Korean Energy Development Organization) ด้วย นอกจากนั้น EU กำลังดำเนินการและเจรจาขยายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคยุโรป
       อย่างมาก โดยใช้กลยุทธ์สำคัญในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน EU มีความตกลงการค้าเสรีกับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และกำลังเจรจาเพื่อมีความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน ละตินอเมริกา และอาฟริกาหลายประเทศ


                   
       ๑.๒.๓ ความตกลงต่าง ๆ เกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และการค้า หรือ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade)

                   
       มีจุดประสงค์ให้ประเทศทั้งหลายตัดทอนข้อกีดขวางทางการค้าระหว่างกันให้น้อยลง การเจรจาทำความตกลงเหล่านี้กระทำผ่านทาง WTO


                   
       ๑.๒.๔ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย - แปซิฟิก หรือ APEC (Asia Pacific Economic Cooperation)

                   
       ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๙ โดยมีเป้าหมายในการเปิดการค้าเสรีและการลงทุนภายใน ค.ศ. ๒๐๑๐ สำหรับประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และ ค.ศ. ๒๐๒๐ สำหรับประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา สมาชิก APEC ประกอบด้วยประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้ง ออสเตรเลีย
       บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย แม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เปรู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน ไทเป สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม APEC เป็นกลุ่มความร่วมมือ
       ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ (interdependence) ที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นความเจริญเติบโตและ
       การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกและภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ
       ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะ EU ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจ
       ที่ปิดกั้นการค้าจากภายนอก เพราะ APEC สนับสนุนอุดมการณ์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิด (Open regionalism) และส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ การให้สิทธิประโยชน์
       ที่สมาชิกจะให้แก่กันนั้น จะมีผลต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย ในขณะที่โดยปกติกลุ่มความร่วมมือ
       ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะใช้หลักการต่างตอบแทน (reciprocity) กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
       ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดเสรีและกระตุ้นให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนด้านหลักการที่สำคัญของ APEC อีกประการหนึ่งก็คือ การไม่มีการเจรจา
       เนื่องจาก APEC เป็นเวทีเพื่อความร่วมมือ ซึ่งการดำเนินความร่วมมือใด ๆ จะกระทำบนพื้นฐาน
       ของฉันทามติ (Consensus) และความสมัครใจ (Voluntarism) ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก APEC ให้เป็นเจ้าภาพในเวทีความร่วมมือของสมาชิกในช่วงระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ และได้มีการแถลงว่าระยะเวลาเปิดการค้าเสรีและการลงทุนจะสั้นกว่าเป้าหมาย
       ที่ได้กำหนดไว้


                   
       ๑.๒.๕ สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียหรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN (Association of South-East Asian Nations)

                   
       จัดตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ เพื่อความร่วมมือและส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญ
       ทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์และการบริหาร
       ในภูมิภาค โดยมีสมาชิกเริ่มแรก ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์
       และไทย ต่อมาบรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ ๖ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๔ เวียดนามเป็นสมาชิกประเทศที่ ๗ ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันใน ค.ศ. ๑๙๙๗ และกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกลำดับสุดท้ายหรือประเทศที่ ๑๐ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๙ ผลงานที่สำคัญ คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน4 หรือ AFTA (ASEAN Freetrade Area) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพรมแดนของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นด้านการเมือง ต่อมา ได้หันมาให้ความสนใจทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น จนกระทั่งมีการประชุม
       สุดยอดเอเซีย ครั้งที่ ๔ จึงได้มีการลงนามในความตกลง ๒ ฉบับ เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน คือ ข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Coorperation) และข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common BS Sective Preserention Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area : CEPT for AFTA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนเป็นไปโดยอิสระ มีอัตราต่ำสุด
       และปราศจากข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสู่ภูมิภาคอาเซียนและเพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่มีแนวโน้มจะเสรียิ่งขึ้น

                   
       จากที่กล่าวมา เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต การรวมตัวของรัฐรวม
       ในทางกฎหมายมี ๒ วิธี คือ สนธิสัญญา และรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาที่สร้างรัฐรวมในอดีตนั้น
       จะมุ่งไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงภายนอก (การป้องกันประเทศ) เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการรวมรัฐโดยสนธิสัญญาหรือข้อตกลงในรูปแบบต่าง ๆ เกือบทั้งหมดได้มุ่งไปในด้านเศรษฐกิจ โดยมีการจัดการและจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ สหภาพยุโรป หรือ EU ถือเป็นตัวอย่างการรวมตัว
       ของรัฐรวมสมัยใหม่ที่ใช้รูปแบบสนธิสัญญาที่พัฒนาทีละขั้นตอน ไม่ใช่รูปแบบของรัฐธรรมนูญ
       ดังเช่นสหรัฐอเมริกาและเยอรมันนี การรวมตัวเป็นรัฐรวมขึ้นใหม่ของ EU เริ่มจากความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ของสมาชิกและค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การใช้นโยบายและองค์กรบริหารจัดการร่วมกัน
       ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินและความมั่นคง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น EU จึงเป็นตัวอย่างของรัฐรวมสมัยใหม่ที่กำลังมีบทบาทสูงในสังคมโลก ซึ่งอาจจะมีรัฐรวมสมัยใหม่ในรูปแบบสนธิสัญญา
       อย่างอื่นอีกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง
       เขตเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นการถ่วงดุลการรวมตัวของ EU

                   
       ผลจากการรวมตัวเป็นองค์กรระดับโลกและภูมิภาคดังกล่าวข้างต้น
       ทำให้เกิดข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ (Sanction) ตามมา เพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
       ตามกรอบและกติกาที่กำหนดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการในการจูงใจให้เกิดการร่วมมือหรือ
       การปฏิบัติตาม เช่น การให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือการทหาร หรือการใช้มาตรการตอบโต้
       ในกรณีจำเป็น เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือการใช้กำลังทางทหาร เป็นต้น ข้อผูกพันของประเทศสมาชิกก็คือ การยอมรับและปฏิบัติตามกรอบ
       และกติกา ส่วนประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
       ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

                   
       ด้วยเหตุนี้ กรอบและกติกาโลกในปัจจุบันจึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก
       ดังนั้น การจัดการหรือการบริหารเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรต่าง ๆ จึงต้องอยู่ภายใต้กรอบและกติกาที่กำหนดขึ้นและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม นอกจากนี้
       จะต้องคำนึงถึงหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศสมาชิกด้วย การใช้อำนาจขององค์กรหรือของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าในกรอบระดับโลก ภูมิภาค หรือรัฐ จึงต้อง
       ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองโดยสนธิสัญญา ข้อตกลง รัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศสมาชิก


                   
       ๑.๓ กรอบระดับรัฐ

                   
       ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปโดยอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สังคมโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นและเกิดองค์กรระดับโลกและภูมิภาคเป็นจำนวนมาก กรอบที่กำหนดโดยองค์กรต่าง ๆ จึงมีความหลากหลาย บางองค์กรมุ่งคุ้มครองประโยชน์
       ของสมาชิกเป็นสำคัญ บางองค์กรมุ่งความร่วมมือในภาพรวม ทำให้มีการปรับตัวและพัฒนา
       องค์กรใหม่ ๆ ขึ้น บางกรณีก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอื่นด้วย เช่น กรณีของ APEC กับ EU เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรระดับโลกและระดับภูมิภาค
       จึงต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


                   
       ๑.๓.๑ กรอบหรือกติกาของรัฐที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ

                   
       การที่ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้บังคับ
       แห่งกฎหมายที่รัฐตราขึ้นหรือเรียกว่านิติรัฐ กรอบหรือกติกาของรัฐ จึงได้ถูกกำหนดหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีลักษณะที่พิเศษกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ คือ มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ บรรยากาศในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไป
       อย่างสมานฉันท์ เปิดโอกาสให้ประชาชนและคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ มีการเสนอและนำแนวคิดจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์กว่าฉบับก่อน ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการกำหนดกรอบในการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวและเพื่อให้เกิดดุลยภาพที่ดีที่สุดระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญได้จัดให้มีองค์กรต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและสัมพันธ์กัน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจและที่อยู่ในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเข้าใจกลไกเหล่านี้ให้ดี เนื่องจากเป็นการผสมผสานของเดิมกับระบบและองค์กรที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศเข้าด้วยกัน หากแต่ละฝ่าย
       มุ่งแต่องค์กรของตน ก็อาจนำมาซึ่งความสับสนและสร้างปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือและการยอมรับต่อไป


                   
       ๑.๓.๒ ความสัมพันธ์ระหว่างกรอบระดับโลกกับกรอบระดับรัฐ

                   
       กรอบระดับโลกที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UN หรือ WTO ต่างก็มีผลให้เกิดพันธะทางกฎหมายที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม เช่น ปฏิญาสากล
       ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สำหรับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดให้ UN ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยปราศจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ส่วน WTO นั้น มุ่งเน้นการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปโดยเสรีและให้ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายอย่างสอดคล้องกัน แต่แนวโน้มที่ WTO กำลังจะดำเนินการตามกรอบที่กำหนดขึ้นใหม่ก็คือ การจัดทำข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ของ GATT มากำกับ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า การกำหนดขอบเขตและมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทที่สำคัญรวมทั้งมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยกำหนดให้ทุกประเทศต้องยกเลิกมาตรการลงทุนที่มีผลเป็นการกีดกันการนำเข้าให้หมดไปภายในเวลาที่กำหนด เป็นต้น

                   
       ในส่วนของกรอบระดับภูมิภาคที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจ
       ของโลก คือ กรอบที่กำหนด โดย EU เช่น ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช เป็นต้น ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิก
       และประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศสมาชิก EU ต้องปฏิบัติตาม

                   
       สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก UN และ WTO จึงต้องปฏิบัติตามกรอบและกติกาของ UN และ WTO หรือแม้แต่ของ EU ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้า
       ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับกรอบระดับโลกและภูมิภาคเป็นอย่างมากตลอดมา
       โดยเฉพาะในส่วนของ EU นั้น ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและให้การรับรองสถานะของ EU หลังจากที่มีการก่อตั้ง EU ได้เพียงปีเดียว คือ หลังจากที่ประเทศไทยและ EU ได้ลงนาม
       ในคำแถลงร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการประชาคมยุโรป เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ เพื่อรับรองสภาพนิติบุคคลของ EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU และให้ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเท่ากับคณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทยแล้ว ได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ขึ้นใช้บังคับ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นมา กฎหมายฉบับนี้กำหนดคุ้มครองการดำเนินงานของ EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทยให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยยอมรับว่า EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทยเป็นนิติบุคคล และถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
       โดยคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทย หัวหน้าคณะผู้แทน
       และบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนชาติของรัฐภาคี EU ที่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำ
       ในประเทศไทยและสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว จะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
       เช่นเดียวที่ประเทศไทยได้ให้แก่บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตประจำประเทศไทย


                   
       ๒. หลักประกันในดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

                   
       ประเทศที่จะเป็นนิติรัฐโดยสมบูรณ์ได้นั้น นอกจากจะต้องมีหลักประกันที่ดีในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและ
       ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเป็นเพียงนามธรรมหรือเป็นเพียงตัวหนังสือในกฎหมายเท่านั้น


                   
       ๒.๑ หลักประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน

                   
       ในประเทศไทย สิทธิและเสรีภาพหลัก ๆ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
       ดังกล่าวของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น การใช้สิทธิหรือเสรีภาพจึงต้องไม่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งอยู่ในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น การมี
       ส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครอง มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร และสิทธิในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ
       ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้น การกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น5 เป็นต้น

                   
       รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้รับรองถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการที่สำคัญ เช่น การออกเสียงประชามติ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
       ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๔๑) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๔๒) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (พระราชบัญญัติ
       ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒) ตลอดจนโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
       ที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งเพื่อการใช้สิทธิในทางการเมืองในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย6

                   
       รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนในการรวมเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชนหรือหมู่คณะอื่น7 ซึ่งจะเห็นได้
       อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การจัดตั้งสหภาพต่าง ๆ การจัดตั้งสหพันธ์หรือองค์กรเอกชนขึ้น
       ในชุมชนหรือในสังคม ซึ่งแต่ละองค์กรต่างก็มีกรอบหรือกติกาขององค์กรเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติ องค์กรของประชาชนจะแตกต่างจากองค์กรของรัฐในเรื่องผู้นำที่มีลักษณะเป็นผู้นำตามธรรมชาติ
       เช่น ผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล หรือในชุมชนให้ความเคารพนับถือ หรือเป็นผู้ที่กล้า
       แสดงออก หรือเป็นผู้ที่ประชาชนในชุมชนเห็นว่ามีความเสียสละ เป็นต้น การรวมกลุ่ม
       ของประชาชนเป็นองค์กรต่าง ๆ จะเริ่มจากความสนใจร่วมกัน หรือมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
       มารวมกันเพื่อกำหนดกรอบหรือแนวทางขององค์กร จุดที่องค์กรประชาชนอ่อนแอก็คือ
       ทุนทรัพย์และวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องการได้รับการสนับสนุน
       จากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม องค์กรในภาคประชาชน แต่ละองค์กรก็จำต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ของกลุ่มหรือปัจเจกชน มิใช่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อ
       ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

                   
       นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังให้สิทธิประชาชนที่จะถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล8) และผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ9โดยเฉพาะในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลฎีกาจัดให้มีแผนกคดีอาญาสำหรับพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่และเป็นการกระทำความผิดทางอาญา โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีพิจารณา ตลอดจนการบังคับคดีไว้เป็นการเฉพาะ10 จะเห็นได้ว่า สิทธิและเสรีภาพตลอดจนบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยได้รับการรับรองไว้อย่างดีทั้งรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. บทความนี้ปรับปรุงจากคำอภิปรายของผู้เขียน เรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม จัดโดย สถาบันนโยบายศึกษา ร่วมกับ WWW.pub-law.net และสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพ (จัดทำเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖)
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในการอภิปรายเรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม เรียกกรอบนี้ว่า "นิติโลก"
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3.
www.un.org , www.thaigov.go.th , www.mfa.go.th และ www.apec 2003.com
       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. สุคน กาญจนาลัย "เขตการค้าเสรีอาเซียน" วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๖ หน้า ๖๐๐ - ๖๑๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. โปรดดูเพิ่มเติมจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๒ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. โปรดดูรายละเอียดจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. รัฐธรรมนูญ

                   
       มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

                   
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๘ กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญจำนวน ๑๗ ตำแหน่งต่อไปนี้อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากมีพฤติการณ์ร่ำรายผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย มีดังนี้ คือ (๑) นายกรัฐมนตรี (๒) รัฐมนตรี (๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๔) สมาชิกวุฒิสภา (๕) ประธานศาลฎีกา (๖) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (๗) ประธานศาลปกครองสูงสุด (๘) อัยการสูงสุด (๙) กรรมการการเลือกตั้ง (๑๐) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (๑๑) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (๑๒) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (๑๓) รอบประธานศาลฎีกา (๑๔) รองประธานศาลปกครองสูงสุด (๑๕) หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร (๑๖) รองอัยการสูงสุด และ (๑๗) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. เมื่อมีการยื่นฟ้องต่อศาล ประธานศาลฎีกาจะเป็นผู้เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว โดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน ๙ คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดีนั้น โดยดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ
       ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๓)
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546


       



1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544