|
|
นิติรัฐกับประชาสังคม 6 มกราคม 2548 21:43 น.
|
บทนำ
นิติรัฐกับประชาสังคมเป็นหัวข้อที่นักกฎหมายมหาชนพยายามมองบทบาท
ของประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ของตนภายใต้นิติรัฐว่าควรมีกรอบ
ในการพิจารณาอย่างไร กล่าวคือ นิติรัฐแต่ละรัฐนั้นไม่ได้อยู่บนระบบการเมือง สังคม
และกฎหมายของตนเพียงลำพัง หากยังอยู่ภายใต้กรอบของวัฒนธรรมและกติกาโลก
และภูมิภาคด้วย2 ดังนั้น ดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นนิติรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่า ประชาสังคมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Civil Society หรือ Civil Society Group นั้น ควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)
ในที่นี้ จะไม่กล่าวถึงความเป็นมาหรือแนวคิดโดยละเอียดเกี่ยวกับนิติรัฐ
เพราะเข้าใจว่านักกฎหมายและผู้ที่สนใจโดยทั่วไปเข้าใจความหมายดังกล่าวในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น จะขอสรุปว่า นิติรัฐ หรือ Legal State เป็นถ้อยคำที่ใช้กันในประเทศที่ใช้ระบบ
ประมวลกฎหมาย ซึ่งถือกำเนิดในยุโรปภาคพื้นทวีป โดยมีประเทศฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ
ความหมายก็คือในการบริหารจัดการ (ปกครอง) ประเทศหรือสังคมนั้นถือกฎหมายเป็นใหญ่
เป็น "การปกครอง" โดยกฎหมาย มิใช่แล้วแต่อำเภอใจของผู้ใช้อำนาจหรือ "ผู้ปกครอง"
ส่วนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบนั้นจะอ้างถึงหลัก "นิติธรรม" หรือ Rule of Law ซึ่งโดยสรุปก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ ถือกฎหมาย
เป็นใหญ่ในการบริหารจัดการรัฐ
ด้วยเหตุนี้ รัฐใดจะเป็นนิติรัฐหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาจากระบอบ
การปกครองก่อนเป็นเบื้องต้นว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ กล่าวคือ อำนาจอธิปไตย
ต้องมีการกำหนดให้เป็นของประชาชน และประชาชนมีวิถีทาง บทบาท และส่วนร่วมในการใช้อำนาจดังกล่าว รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดถึงลักษณะของอำนาจ องค์กรต่าง ๆ
ที่ใช้อำนาจใน ๓ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ และที่สำคัญจะกำหนดรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขององค์กร
ที่ใช้อำนาจในลักษณะทางบริหาร รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้องค์กรที่ใช้อำนาจทางตุลาการ
เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยให้หลักประกันในความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ
เราจะเห็นว่า ในประเทศที่เป็นระบบศาลเดี่ยวและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ บทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายของ
การกระทำทางปกครองจะอยู่ที่ศาลยุติธรรม ในประเทศที่ใช้ระบบศาลมากกว่าหนึ่งระบบ
และมีศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายจะเป็นหน้าที่
ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง
จะเป็นหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบความชอบด้วย
รัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น โดยศาลปกครองจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎ คำสั่ง และการกระทำอื่นของฝ่ายปกครองซึ่งรวมไปถึงความชอบด้วย
รัฐธรรมนูญด้วย
สำหรับความหมายของประชาสังคมนั้น ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้ค่อนข้าง
หลากหลาย แต่โดยรวมแล้วคือ การรวมกลุ่มของภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัจเจกชน องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรทางสังคม ฯลฯ เพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของกลุ่ม ซึ่งโดยทั่วไป
เรามักจะเห็นองค์กรเอกชน (NGO) เป็นผู้ประสานและดำเนินงาน ในรัฐสมัยใหม่ การรวมกลุ่มของภาคประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองในสิทธิประโยชน์ของกลุ่มจากรัฐก็ดี การต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ กับภาครัฐก็ดี การตรวจสอบความโปร่งใสของ
การใช้อำนาจรัฐก็ดี การแสดงจุดยืนที่แตกต่างกับรัฐในนโยบายต่างประเทศ หรือในเวทีการค้าโลกหรือภูมิภาคก็ดี ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นเป็นปกติในแทบทุกประเทศ อันจะแตกต่างกับในช่วง ๕๐ - ๖๐ ปีก่อน ที่ประชาสังคมนั้นมีความอ่อนแอมากในประเทศส่วนใหญ่ และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่เป็นนิติรัฐหรืออ่อนแอทางนิติรัฐ เมื่อผนวกกับความอ่อนแอ
ทางด้านประชาสังคม ก็มักนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมในหลากหลายรูปแบบ
ดังนั้น รัฐใดรัฐหนึ่งจะเป็นนิติรัฐที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ได้นั้น ประการแรก
จะต้องมีระบอบการเมืองที่ดี ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ ประการที่สอง จะต้องมีการบริหาร
จัดการที่ดี ประการที่สาม จะต้องมีระบบถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ดี และ
ประการสุดท้าย จะต้องมีภาคประชาชนหรือประชาสังคมที่เข้มแข็งอย่างมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง
๑. นิติรัฐและประชาสังคมภายใต้กรอบของโลกและรัฐ
โลกปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ
และการเมือง จึงทำให้เกิดการรวมตัวเป็นองค์กรระดับโลกหรือภูมิภาคเพื่อระงับความขัดแย้งร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ ภายใต้กติกาหรือกรอบข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก จึงต้องปฏิบัติตามกติกาหรือข้อตกลงขององค์กร
ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกและย่อมได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ จากการรวมตัวดังกล่าว
๑.๑ กรอบหรือกติกาขององค์กรระดับโลกที่สำคัญ3
ปัจจุบัน การรวมตัวกันระหว่างประเทศต่าง ๆ กระทำในหลากหลายรูปแบบ
ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความเป็นมา โดยมีองค์กรที่สำคัญ ดังนี้
๑.๑.๑ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations)
องค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากที่กฎบัตรได้รับการให้สัตยาบัน โดยประเทศจีน ฝรั่งเศส
สหพันธรัฐโซเวียต สหราชอาณาจักรอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และโดยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ลงนาม มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การส่งเสริม
สิทธิมนุษยชน การเคารพในหลักความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริม
ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรโลก เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือระดับโลกในการแก้ไขปัญหามนุษยชาติ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ โดยมีองค์กรที่ทำงานร่วมมือในการช่วยเหลือเป็นจำนวนมากกว่า ๓๐ แห่ง องค์กรหลักของ UN มี ๖ องค์กร คือ สมัชชา (General Assembly) คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)
และสำนักเลขาธิการ (Secretariat)
ปัจจุบัน UN มีสมาชิกรวม ๑๘๙ ประเทศ ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๕๕ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้มีการประชุม ณ นครนิวยอร์คของผู้นำ ๑๔๗ ประเทศ เพื่อกำหนดวาระนานาชาติสำหรับการเริ่มต้นศตวรรษใหม่ ด้วยการประกาศเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ๗ ด้าน ได้แก่ (๑) สันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และการลดอาวุธ (๒) การพัฒนา และการขจัดความยากจน (๓) การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
(๔) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล (๕) การคุ้มครองผู้อ่อนแอ
ด้อยโอกาส (๖) การตอบสนองความต้องการพิเศษของแอฟริกา (๗) การทำให้องค์การ
สหประชาชาติเข้มแข็งขึ้น
ผลงานที่ผ่านมาขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ การส่งเสริม
การเคารพสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับโรคร้ายและการขจัดความยากจน
การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยการเดินทางทางอากาศ ยกระดับระบบโทรคมนาคม
และการคุ้มครองผู้บริโภค นำการรณรงค์ระดับนานาชาติในการต่อต้านการค้ายาเสพติดและ
การก่อการร้าย การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย จัดตั้งโครงการขจัดกับระเบิด ช่วยขยายการผลิตอาหาร และนำการต่อต้านโรค AIDS
๑.๑.๒ องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization)
WTO จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๘ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยอิสระ มีสมาชิก ๑๔๖ ประเทศ
โดยประเทศสมาชิกของ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) จะเป็นสมาชิกของ WTO ไปในตัว WTO มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ๖ ประการคือ ประการแรก บริหารความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบของ GATT และ WTO รวม ๒๘ ฉบับ
โดยผ่านคณะมนตรีและคณะกรรมการ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี
ประการที่สอง เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสมาชิกทั้งในรูปของมาตรการภาษีศุลกากรและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ประการที่สาม เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก และหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ ประการที่สี่ ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศและจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรี ประการที่ห้า ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูล ข้อแนะนำเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ ๆ และประการสุดท้าย ประสานงานกับ IMF และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้นสิ่งที่ WTO ทำมาแล้ว คือ การปรับปรุงและกำหนดระเบียบการค้าที่สำคัญ เช่น ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (อนุญาตให้ประเทศสมาชิกกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าแต่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการกระทำตามใจชอบ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้า) ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด และความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การอุดหนุน เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ WTO กำลังจะทำต่อไปซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ของ GATT กำกับมาก่อนหรือหากมีก็น้อยมาก คือ การค้าบริการ โดยการกำหนดความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ซึ่งมีหลักการทำนองเดียวกับ GATT เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส การเปิดเสรี เป็นต้น และมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการกำหนดหลักการสำคัญ คือ ทุกประเทศต้องยกเลิกมาตรการลงทุนที่มีผลเป็นการกีดกันการนำเข้า
การเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิและมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่าง ๆ ของ WTO กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ WTO นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจ
ให้แก่ผู้ค้าและผู้ลงทุน ผู้ผลิตและผู้ส่งออก สามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้
WTO เป็นองค์กรทางด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO ด้วยกัน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ ๙๐ ของการค้าโลก และการขยายตัวของสมาชิกจะทำให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
๑.๑.๓ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund)
จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน อำนวยความสะดวก
เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราที่มั่นคงและเป็นระเบียบ ขจัดข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และช่วยเหลือประเทศสมาชิกโดยการจัดหาทรัพยากรด้านการเงินเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านดุลการชำระเงิน
๑.๒ กรอบหรือกติกาในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
๑.๒.๑ องค์การร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organization of Economic Cooporation and Development)
เริ่มต้นจากการจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป
หรือ OEEC (Organization of European Economic Cooperation) ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่
๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ จุดประสงค์สำคัญที่สุดก็คือ ต้องการให้ทวีปยุโรปมีภาวะเศรษฐกิจกลับคืนใหม่อย่างมั่นคง ต่อมา ได้มีการจัดตั้งองค์การขึ้นใหม่แทนเรียกว่าองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจหรือ OECD เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ มีจุดประสงค์สำคัญ
๓ ประการ คือ ประการแรก เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ มีแรงงานอาชีพและมาตรฐานการครองชีพสูงมากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้เพื่อเป็นการเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ประการที่สอง ให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง โดยรวมถึงประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกด้วย และประการที่สาม มีส่วนเกื้อกูลต่อการขยายตัวทางการค้าในรูปพหุภาคี และปราศจากการกีดกันแต่อย่างใด
๑.๒.๒ สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union)
สหภาพยุโรปได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ นับแต่การก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า (European Coal and Steal Community) ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๗ ได้มีการจัดทำสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) และประชาคมพลังงานปรมาณู (Euratom) ในช่วงเวลานั้นจึงเรียกชื่อกันว่าประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ต่อมาได้มีการรวม ๓ ประชาคม
เข้าด้วยกันและได้มีกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ เพื่อให้ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นตลาดร่วมและตลาดเดียวที่สมบูรณ์ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อเป็นประชาคมยุโรป (European Community : EC)
ตั้งแต่นั้น ต่อมา เมื่อสนธิสัญญามาสทริชท์ (Maastricht Treaty) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่
๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยได้กำหนดเป้าหมายและขั้นตอนให้ประชาคมยุโรปพัฒนา
ไปสู่การเป็นสหภาพยุโรป จึงได้เปลี่ยนมาเรียกชื่อในทางปฏิบัติว่า สหภาพยุโรป (European Union : EU) การรวมตัวของ EU ตามสนธิสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ซึ่งถือเป็นเสาหลัก
๓ ประการ คือ ประการแรก การรวมตัวด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุโรปตลาดเดียว การมีนโยบายร่วมด้านต่าง ๆ และสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) โดย EU ได้เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของ EMU เมื่อ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ โดยมีเงินสกุลเดียวคือ เงินยูโร (Euro) และมีธนาคารกลางของสหภาพ ประการที่สอง นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และประการที่สาม นโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมและกิจการภายใน รวมทั้งการตรวจคนเข้าเมือง การปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด การจัดตั้งตำรวจร่วม (Europol) และการดำเนินการร่วมด้านความมั่นคงภายใน ฯลฯ
ปัจจุบัน EU มีสมาชิก ๑๕ ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก เดนมาร์ก สวีเดน
ไอร์แลนด์ กรีซ ฟินแลนด์ และออสเตรีย และได้มีความตกลงกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนัยเป็นการเตรียมการเข้าไปเป็นสมาชิกของ EU (Candidate Countries) ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์
เช็ก สโลวัก บัลแกเรีย โรมาเนีย สโลวาเนีย แลตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย มอลตา และไซปรัส นอกจากนี้ตุรกีก็ได้สถานะเป็นประเทศที่สมัครเป็นสมาชิก EU ด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการขยายสมาชิกอีกครั้งประมาณ ค.ศ. ๒๐๐๕ ซึ่งการที่จะรับประเทศใดเป็นสมาชิกนั้น ได้กำหนดเงื่อนไข ๓ ประการ หรือที่เรียกว่า Copenhagen Criteria นั่นคือ เงื่อนไขด้านการเมือง เศรษฐกิจและความสามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขทางด้านการเมือง นิติบัญญัติ และสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของยุโรป ขณะนี้ EU กำลังพยายามพัฒนา European Identity ในระบบความมั่นคงของภูมิภาคยุโรป โดยการพัฒนานโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงและการปรับทิศทางองค์กรด้านความมั่นคงอื่น ๆ ในยุโรป รวมทั้งขยายความร่วมมือและ
บทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลาง และสำหรับเอเซียก็ได้พิจารณา
เข้าร่วมใน KEDO (Korean Energy Development Organization) ด้วย นอกจากนั้น EU กำลังดำเนินการและเจรจาขยายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคยุโรป
อย่างมาก โดยใช้กลยุทธ์สำคัญในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน EU มีความตกลงการค้าเสรีกับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และกำลังเจรจาเพื่อมีความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน ละตินอเมริกา และอาฟริกาหลายประเทศ
๑.๒.๓ ความตกลงต่าง ๆ เกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และการค้า หรือ GATT (General Agreement on Tariffs and Trade)
มีจุดประสงค์ให้ประเทศทั้งหลายตัดทอนข้อกีดขวางทางการค้าระหว่างกันให้น้อยลง การเจรจาทำความตกลงเหล่านี้กระทำผ่านทาง WTO
๑.๒.๔ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย - แปซิฟิก หรือ APEC (Asia Pacific Economic Cooperation)
ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๙ โดยมีเป้าหมายในการเปิดการค้าเสรีและการลงทุนภายใน ค.ศ. ๒๐๑๐ สำหรับประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และ ค.ศ. ๒๐๒๐ สำหรับประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา สมาชิก APEC ประกอบด้วยประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้ง ออสเตรเลีย
บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย แม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เปรู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน ไทเป สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม APEC เป็นกลุ่มความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ (interdependence) ที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นความเจริญเติบโตและ
การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกและภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ
ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะ EU ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ที่ปิดกั้นการค้าจากภายนอก เพราะ APEC สนับสนุนอุดมการณ์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิด (Open regionalism) และส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ การให้สิทธิประโยชน์
ที่สมาชิกจะให้แก่กันนั้น จะมีผลต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย ในขณะที่โดยปกติกลุ่มความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะใช้หลักการต่างตอบแทน (reciprocity) กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดเสรีและกระตุ้นให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนด้านหลักการที่สำคัญของ APEC อีกประการหนึ่งก็คือ การไม่มีการเจรจา
เนื่องจาก APEC เป็นเวทีเพื่อความร่วมมือ ซึ่งการดำเนินความร่วมมือใด ๆ จะกระทำบนพื้นฐาน
ของฉันทามติ (Consensus) และความสมัครใจ (Voluntarism) ประเทศไทยได้รับเกียรติจาก APEC ให้เป็นเจ้าภาพในเวทีความร่วมมือของสมาชิกในช่วงระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ และได้มีการแถลงว่าระยะเวลาเปิดการค้าเสรีและการลงทุนจะสั้นกว่าเป้าหมาย
ที่ได้กำหนดไว้
๑.๒.๕ สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียหรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN (Association of South-East Asian Nations)
จัดตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ เพื่อความร่วมมือและส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญ
ทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์และการบริหาร
ในภูมิภาค โดยมีสมาชิกเริ่มแรก ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์
และไทย ต่อมาบรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ ๖ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๔ เวียดนามเป็นสมาชิกประเทศที่ ๗ ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ลาวและพม่าเข้าเป็นสมาชิกพร้อมกันใน ค.ศ. ๑๙๙๗ และกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกลำดับสุดท้ายหรือประเทศที่ ๑๐ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๙ ผลงานที่สำคัญ คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน4 หรือ AFTA (ASEAN Freetrade Area) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพรมแดนของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นด้านการเมือง ต่อมา ได้หันมาให้ความสนใจทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น จนกระทั่งมีการประชุม
สุดยอดเอเซีย ครั้งที่ ๔ จึงได้มีการลงนามในความตกลง ๒ ฉบับ เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน คือ ข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Coorperation) และข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (Agreement on the Common BS Sective Preserention Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area : CEPT for AFTA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าภายในอาเซียนเป็นไปโดยอิสระ มีอัตราต่ำสุด
และปราศจากข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสู่ภูมิภาคอาเซียนและเพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่มีแนวโน้มจะเสรียิ่งขึ้น
จากที่กล่าวมา เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต การรวมตัวของรัฐรวม
ในทางกฎหมายมี ๒ วิธี คือ สนธิสัญญา และรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาที่สร้างรัฐรวมในอดีตนั้น
จะมุ่งไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงภายนอก (การป้องกันประเทศ) เป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการรวมรัฐโดยสนธิสัญญาหรือข้อตกลงในรูปแบบต่าง ๆ เกือบทั้งหมดได้มุ่งไปในด้านเศรษฐกิจ โดยมีการจัดการและจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ สหภาพยุโรป หรือ EU ถือเป็นตัวอย่างการรวมตัว
ของรัฐรวมสมัยใหม่ที่ใช้รูปแบบสนธิสัญญาที่พัฒนาทีละขั้นตอน ไม่ใช่รูปแบบของรัฐธรรมนูญ
ดังเช่นสหรัฐอเมริกาและเยอรมันนี การรวมตัวเป็นรัฐรวมขึ้นใหม่ของ EU เริ่มจากความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ของสมาชิกและค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การใช้นโยบายและองค์กรบริหารจัดการร่วมกัน
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินและความมั่นคง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น EU จึงเป็นตัวอย่างของรัฐรวมสมัยใหม่ที่กำลังมีบทบาทสูงในสังคมโลก ซึ่งอาจจะมีรัฐรวมสมัยใหม่ในรูปแบบสนธิสัญญา
อย่างอื่นอีกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง
เขตเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นการถ่วงดุลการรวมตัวของ EU
ผลจากการรวมตัวเป็นองค์กรระดับโลกและภูมิภาคดังกล่าวข้างต้น
ทำให้เกิดข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ (Sanction) ตามมา เพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
ตามกรอบและกติกาที่กำหนดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการในการจูงใจให้เกิดการร่วมมือหรือ
การปฏิบัติตาม เช่น การให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือการทหาร หรือการใช้มาตรการตอบโต้
ในกรณีจำเป็น เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือการใช้กำลังทางทหาร เป็นต้น ข้อผูกพันของประเทศสมาชิกก็คือ การยอมรับและปฏิบัติตามกรอบ
และกติกา ส่วนประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ กรอบและกติกาโลกในปัจจุบันจึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก
ดังนั้น การจัดการหรือการบริหารเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรต่าง ๆ จึงต้องอยู่ภายใต้กรอบและกติกาที่กำหนดขึ้นและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม นอกจากนี้
จะต้องคำนึงถึงหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศสมาชิกด้วย การใช้อำนาจขององค์กรหรือของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าในกรอบระดับโลก ภูมิภาค หรือรัฐ จึงต้อง
ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองโดยสนธิสัญญา ข้อตกลง รัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศสมาชิก
๑.๓ กรอบระดับรัฐ
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปโดยอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สังคมโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นและเกิดองค์กรระดับโลกและภูมิภาคเป็นจำนวนมาก กรอบที่กำหนดโดยองค์กรต่าง ๆ จึงมีความหลากหลาย บางองค์กรมุ่งคุ้มครองประโยชน์
ของสมาชิกเป็นสำคัญ บางองค์กรมุ่งความร่วมมือในภาพรวม ทำให้มีการปรับตัวและพัฒนา
องค์กรใหม่ ๆ ขึ้น บางกรณีก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอื่นด้วย เช่น กรณีของ APEC กับ EU เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์กรระดับโลกและระดับภูมิภาค
จึงต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
๑.๓.๑ กรอบหรือกติกาของรัฐที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
การที่ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้บังคับ
แห่งกฎหมายที่รัฐตราขึ้นหรือเรียกว่านิติรัฐ กรอบหรือกติกาของรัฐ จึงได้ถูกกำหนดหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีลักษณะที่พิเศษกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ คือ มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ บรรยากาศในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไป
อย่างสมานฉันท์ เปิดโอกาสให้ประชาชนและคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ มีการเสนอและนำแนวคิดจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์กว่าฉบับก่อน ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการกำหนดกรอบในการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวและเพื่อให้เกิดดุลยภาพที่ดีที่สุดระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญได้จัดให้มีองค์กรต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและสัมพันธ์กัน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจและที่อยู่ในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเข้าใจกลไกเหล่านี้ให้ดี เนื่องจากเป็นการผสมผสานของเดิมกับระบบและองค์กรที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศเข้าด้วยกัน หากแต่ละฝ่าย
มุ่งแต่องค์กรของตน ก็อาจนำมาซึ่งความสับสนและสร้างปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือและการยอมรับต่อไป
๑.๓.๒ ความสัมพันธ์ระหว่างกรอบระดับโลกกับกรอบระดับรัฐ
กรอบระดับโลกที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น UN หรือ WTO ต่างก็มีผลให้เกิดพันธะทางกฎหมายที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม เช่น ปฏิญาสากล
ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สำหรับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดให้ UN ดำเนินการให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยปราศจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ส่วน WTO นั้น มุ่งเน้นการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปโดยเสรีและให้ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายอย่างสอดคล้องกัน แต่แนวโน้มที่ WTO กำลังจะดำเนินการตามกรอบที่กำหนดขึ้นใหม่ก็คือ การจัดทำข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ของ GATT มากำกับ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า การกำหนดขอบเขตและมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทที่สำคัญรวมทั้งมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยกำหนดให้ทุกประเทศต้องยกเลิกมาตรการลงทุนที่มีผลเป็นการกีดกันการนำเข้าให้หมดไปภายในเวลาที่กำหนด เป็นต้น
ในส่วนของกรอบระดับภูมิภาคที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจ
ของโลก คือ กรอบที่กำหนด โดย EU เช่น ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช เป็นต้น ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิก
และประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศสมาชิก EU ต้องปฏิบัติตาม
สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก UN และ WTO จึงต้องปฏิบัติตามกรอบและกติกาของ UN และ WTO หรือแม้แต่ของ EU ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้า
ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับกรอบระดับโลกและภูมิภาคเป็นอย่างมากตลอดมา
โดยเฉพาะในส่วนของ EU นั้น ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและให้การรับรองสถานะของ EU หลังจากที่มีการก่อตั้ง EU ได้เพียงปีเดียว คือ หลังจากที่ประเทศไทยและ EU ได้ลงนาม
ในคำแถลงร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการประชาคมยุโรป เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ เพื่อรับรองสภาพนิติบุคคลของ EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU และให้ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเท่ากับคณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทยแล้ว ได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ขึ้นใช้บังคับ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นมา กฎหมายฉบับนี้กำหนดคุ้มครองการดำเนินงานของ EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทยให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยยอมรับว่า EU และสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทยเป็นนิติบุคคล และถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
โดยคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการ EU ในประเทศไทย หัวหน้าคณะผู้แทน
และบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนชาติของรัฐภาคี EU ที่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำ
ในประเทศไทยและสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว จะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
เช่นเดียวที่ประเทศไทยได้ให้แก่บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตประจำประเทศไทย
๒. หลักประกันในดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ประเทศที่จะเป็นนิติรัฐโดยสมบูรณ์ได้นั้น นอกจากจะต้องมีหลักประกันที่ดีในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและ
ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเป็นเพียงนามธรรมหรือเป็นเพียงตัวหนังสือในกฎหมายเท่านั้น
๒.๑ หลักประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในประเทศไทย สิทธิและเสรีภาพหลัก ๆ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ดังกล่าวของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น การใช้สิทธิหรือเสรีภาพจึงต้องไม่กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งอยู่ในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น การมี
ส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครอง มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร และสิทธิในการฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ
ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้น การกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น5 เป็นต้น
รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้รับรองถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการที่สำคัญ เช่น การออกเสียงประชามติ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๔๑) การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๔๒) การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒) ตลอดจนโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
ที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งเพื่อการใช้สิทธิในทางการเมืองในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย6
รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนในการรวมเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชนหรือหมู่คณะอื่น7 ซึ่งจะเห็นได้
อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การจัดตั้งสหภาพต่าง ๆ การจัดตั้งสหพันธ์หรือองค์กรเอกชนขึ้น
ในชุมชนหรือในสังคม ซึ่งแต่ละองค์กรต่างก็มีกรอบหรือกติกาขององค์กรเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติ องค์กรของประชาชนจะแตกต่างจากองค์กรของรัฐในเรื่องผู้นำที่มีลักษณะเป็นผู้นำตามธรรมชาติ
เช่น ผู้ที่ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล หรือในชุมชนให้ความเคารพนับถือ หรือเป็นผู้ที่กล้า
แสดงออก หรือเป็นผู้ที่ประชาชนในชุมชนเห็นว่ามีความเสียสละ เป็นต้น การรวมกลุ่ม
ของประชาชนเป็นองค์กรต่าง ๆ จะเริ่มจากความสนใจร่วมกัน หรือมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
มารวมกันเพื่อกำหนดกรอบหรือแนวทางขององค์กร จุดที่องค์กรประชาชนอ่อนแอก็คือ
ทุนทรัพย์และวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงต้องการได้รับการสนับสนุน
จากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม องค์กรในภาคประชาชน แต่ละองค์กรก็จำต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ของกลุ่มหรือปัจเจกชน มิใช่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อ
ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังให้สิทธิประชาชนที่จะถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล8) และผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ9โดยเฉพาะในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลฎีกาจัดให้มีแผนกคดีอาญาสำหรับพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่และเป็นการกระทำความผิดทางอาญา โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีพิจารณา ตลอดจนการบังคับคดีไว้เป็นการเฉพาะ10 จะเห็นได้ว่า สิทธิและเสรีภาพตลอดจนบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยได้รับการรับรองไว้อย่างดีทั้งรัฐธรรมนูญและในกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เชิงอรรถ
1. บทความนี้ปรับปรุงจากคำอภิปรายของผู้เขียน เรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม จัดโดย สถาบันนโยบายศึกษา ร่วมกับ WWW.pub-law.net และสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพ (จัดทำเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖)
[กลับไปที่บทความ]
2. ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในการอภิปรายเรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม เรียกกรอบนี้ว่า "นิติโลก"
[กลับไปที่บทความ]
3. www.un.org , www.thaigov.go.th , www.mfa.go.th และ www.apec 2003.com
[กลับไปที่บทความ]
4. สุคน กาญจนาลัย "เขตการค้าเสรีอาเซียน" วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๖ หน้า ๖๐๐ - ๖๑๙
[กลับไปที่บทความ]
5. โปรดดูเพิ่มเติมจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๒ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
[กลับไปที่บทความ]
6. โปรดดูรายละเอียดจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
[กลับไปที่บทความ]
7. รัฐธรรมนูญ
มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ
[กลับไปที่บทความ]
8. พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
[กลับไปที่บทความ]
9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๘ กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญจำนวน ๑๗ ตำแหน่งต่อไปนี้อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากมีพฤติการณ์ร่ำรายผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย มีดังนี้ คือ (๑) นายกรัฐมนตรี (๒) รัฐมนตรี (๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๔) สมาชิกวุฒิสภา (๕) ประธานศาลฎีกา (๖) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (๗) ประธานศาลปกครองสูงสุด (๘) อัยการสูงสุด (๙) กรรมการการเลือกตั้ง (๑๐) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (๑๑) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (๑๒) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (๑๓) รอบประธานศาลฎีกา (๑๔) รองประธานศาลปกครองสูงสุด (๑๕) หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร (๑๖) รองอัยการสูงสุด และ (๑๗) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
[กลับไปที่บทความ]
10. เมื่อมีการยื่นฟ้องต่อศาล ประธานศาลฎีกาจะเป็นผู้เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว โดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน ๙ คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดีนั้น โดยดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๓)
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
|
๒.๒.๑ องค์กรที่ใช้อำนาจทางบริหาร
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่แยกฝ่ายบริหารออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกได้แก่ฝ่ายบริหารทั้งหมดที่อยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี และส่วนที่สอง
ได้แก่ ฝ่ายบริหารที่เป็นอิสระซึ่งเดิมนั้นอยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรีมาก่อน ได้แก่ คณะกรรมการ
การเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น องค์กรเหล่านี้
แม้จะใช้อำนาจในลักษณะทางบริหารแต่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เช่นเดียวกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๑) คณะกรรมการการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีก ๔ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ บัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองและเป็นผู้รักษาการกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ นอกจากนั้น ยังได้บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศกำหนดการ และสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ ประกาศผลการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ และดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑
ได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๒) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก ๘ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไต่สวนข้อเท็จจริงและทำความเห็นในกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับสูงออกจากตำแหน่งหรือดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไต่สวนวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับที่มา อำนาจหน้าที่และวิธีการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการโดยเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อประธาน
และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในส่วนของกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น จะเริ่มจาก
เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯเพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือเพื่อให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมแล้ว คณะกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป โดยต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่
ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงข้อกล่าวหา แสดงพยานหลักฐาน หรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลซึ่งผู้กล่าวหาไว้วางใจ
เข้าฟังในการชี้แจงหรือให้ปากคำของตนได้ เมื่อได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วต้องเสนอสำนวนการไต่สวนดังกล่าวต่อประธานกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป ถ้าคณะกรรมการฯวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ข้อกล่าวหานั้นจะตกไป ถ้าข้อกล่าวหา
มีมูลก็จะต้องส่งเรื่องไปยังศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อไป
(๓) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยประธานกรรมการ
และกรรมการอื่นอีก ๙ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของวุฒิสภา
โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยตรง
แต่มีอำนาจหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการเงินของแผ่นดินของหน่วยรับตรวจซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๒ บัญญัติให้การตรวจเงินแผ่นดินกระทำ
โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง โดยมีสำนักงาน
การตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ
การปฏิบัติงาน และการดำเนินการอื่น
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำแก่
ฝ่ายบริหารในการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมเงินของรัฐ
ตลอดจนออกระเบียบเพื่อกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเกี่ยวกับระบบและการควบคุม
การตรวจสอบการบริหารงบประมาณ ซึ่งเป็นมาตรการด้านการป้องกัน ในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยตรวจมีเจตนาหรือปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติการตามมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหาร
งบประมาณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯโดยไม่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการฯมีอำนาจเสนอข้อสังเกตและความเห็นพร้อมทั้ง
พฤติการณ์ของหน่วยรับตรวจนั้นต่อประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการของรัฐสภา
ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
(๔) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกินสามคน โดยมีวาระ
การดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสอบสวน
ข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของประชาชนในกรณีข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา หรือในกรณีที่
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยมีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(๕) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีก ๑๐ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือไม่ เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับ
สิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสม รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภาและ
คณะรัฐมนตรี ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่อื่นของคณะกรรมการฯ ตลอดจนคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม การสรรหา การเลือก การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ
เรื่องที่จะเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจริเริ่มมาจากคณะกรรมการฯเองหรือจากการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว
คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขต่อไป
๒.๒.๒ องค์กรตุลาการ
องค์กรตุลาการหรือศาลนั้นมีระบบที่รับรองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีไว้เป็นพิเศษ และเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธย เป็นการใช้อำนาจ
ทางตุลาการซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจทางบริหารหรือนิติบัญญัติ ปัจจุบันหน่วยธุรการ
ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรมไม่เป็นหน่วยงานที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เช่นกัน ยกเว้นการบังคับคดีของ
ศาลยุติธรรมที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น องค์กรศาลที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญมากในระบบนิติรัฐ เพราะคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
ที่ถึงที่สุดจะได้รับการยอมรับบังคับตามจากทุกฝ่าย
ปัจจุบันประเทศไทยมีศาล ๔ ระบบศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม
ศาลปกครอง และศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญกับศาลทหารเป็นศาลที่มีลักษณะพิเศษและมีอำนาจเฉพาะเรื่อง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจที่สำคัญที่สุด คือ การวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ
แห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอำนาจอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและประชาชนทั่วไปจะฟ้องคดียังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้
ศาลทหารมีอำนาจตัดสินคดีเฉพาะบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ส่วนศาลยุติธรรมกับศาลปกครองนั้นถือเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไป
กล่าวคือ ศาลยุติธรรมจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั่วไป เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา
คดีแรงงาน คดีภาษีอากร ส่วนศาลปกครองก็จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง
ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในที่นี้จะขอกล่าวโดยย่อ ๆ ถึงโครงสร้าง อำนาจและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง
(๑) ศาลรัฐธรรมนูญ
เดิมอำนาจการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย
เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมและองค์กรในรูปของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อีก ๑๔ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา คือ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า
ผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน ๕ คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธี
ลงคะแนนลับ จำนวน ๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน ๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ จำนวน ๓ คน
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่สรุปได้ ๑๖ ประการ11 ส่วนวิธีพิจารณานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้การนั่งพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยขององค์คณะ ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเก้าคน โดยคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญ
จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัย
ในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
และคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในขั้นตอนการพิจารณาโดยเฉพาะในการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือสืบพยานนั้น ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีการ
ทั้งในระบบไต่สวนและกล่าวหา ทั้งนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงระบบวิธีพิจารณาไว้ชัดเจนว่าควรเป็นลักษณะใด
(๒) ศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่
คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ
ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไป กล่าวโดยสรุปก็คือ
มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองบางประเภท เช่น คดีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน คดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากร คดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการ
ตุลาการ เป็นต้น รวมทั้งคดีอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลใด แต่ปัญหาที่เกิดจากการ
มีสองระบบศาล โดยเฉพาะระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองก็คือ มีคดีบางคดีที่ไม่แน่ชัดว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด รัฐธรรมนูญจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการกำหนดให้มีกลไกและองค์กร
เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลขึ้น ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อสร้างหลักเรื่องอำนาจศาลให้ชัดเจนขึ้น
ศาลยุติธรรมใช้วิธีพิจารณาในระบบกล่าวหาเป็นหลัก กล่าวคือ
โจทก์และจำเลยจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลจะทำหน้าที่กำกับควบคุมโดยมีทนายความเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีแทนโจทก์และจำเลย
ซึ่งแตกต่างไปจากศาลปกครองที่ใช้ระบบไต่สวนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมก็ได้วางหลักไว้เช่นเดียวกับศาลปกครองว่า กรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการแก้ไขเยียวยา
ความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรตามประมวลกฎหมายรัษฎากรจะต้องดำเนินการอุทธรณ์ก่อน หากไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดย่อมหมดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล
(๓) ศาลปกครอง
ศาลปกครองมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดตั้งสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
ของพระองค์ในด้านการร่างกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน และได้มีการยอมรับแนวคิดในการจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลอีกระบบหนึ่งคู่ขนานกับศาลยุติธรรมเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ระหว่างนั้นได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับปัจจุบัน) ซึ่งได้บัญญัติให้มีศาลปกครองในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๘) ต่อมาได้มีการตรากฎหมายจัดตั้งศาลปกครองขึ้นใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา
คดีปกครอง แบ่งออกเป็นสองชั้น คือ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด โดยมีสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยธุรการที่เป็นอิสระของศาลปกครอง ปัจจุบันศาลปกครองชั้นต้น
เปิดทำการแล้ว ๗ ศาล คือ ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา
ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองระยอง และศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ลักษณะคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ได้แก่ คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว อันได้แก่ การใช้อำนาจ
ที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนยินยอมเสียก่อน คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของฝ่ายปกครองและคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้น เป็นระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณา ดังจะเห็นได้จากการกำหนดระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริง การจัดทำคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี การสั่งให้
ฝ่ายปกครองส่วนพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ศาล หรือการซักถามคู่กรณีและพยาน เป็นต้น
โดยตุลาการเจ้าของสำนวน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง แต่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงนั้นต่อตุลาการอื่นที่ประกอบเป็นองค์คณะ และต่อตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่ตุลาการในองค์คณะนั้นได้พิจารณาด้วย สำหรับในส่วนของการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ตุลาการผู้แถลงคดีจะเสนอคำแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย อันเปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการคนเดียวว่า หากตนมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด ซึ่งแม้ว่าคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่การให้มีระบบการเสนอคำแถลงการณ์ ของตุลาการ
ผู้แถลงคดีต่อองค์คณะเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจตัดสินคดีขององค์คณะมีความรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ หากองค์คณะไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ โดยหลักก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะจะมีการเปรียบเทียบข้อวินิจฉัยและเหตุผลของตุลาการผู้แถลงคดีและขององค์คณะได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีควบคู่กันเสมอ
๓. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่าย
การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนมีความสำคัญมาก เพราะไม่ว่า
จะมีระบบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดีเพียงใด แต่หากโอกาสที่จะใช้สิทธิทางศาลของ
ประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบากหรือต้องมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ก็เสมือนกับเป็นการปฏิเสธการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนนั่นเอง ปัจจุบันเราอาจแบ่งกระบวนการยุติธรรม
ออกได้เป็น กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และกระบวนการ
ยุติธรรมทางปกครอง โดยกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญานั้น ศาลยุติธรรมเป็นองค์กร
ที่ใช้อำนาจตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีระหว่างเอกชนต่อเอกชนเป็นหลัก
ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางปกครองนั้น ศาลปกครองเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชนและฝ่ายปกครองด้วยกันเป็นหลัก12
๓.๑ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอาจแยกได้เป็น ๔ ส่วน คือ ประชาชน รัฐบาล รัฐสภา และศาล
(๑) ประชาชน ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิและในฐานะเป็นผู้ใช้สิทธิ
มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมก็คือ ในฐานะผู้ฟ้องคดีด้วยการนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ วรรคสอง และ ๖๒ บัญญัติรับรองไว้ หรือในฐานะที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเนื่องจากใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินส่วนของตนเองจนไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
(๒) รัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหารและผู้เสนอกฎหมายต่อรัฐสภา
เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้การบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดี รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
(๓) รัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและตรากฎหมายเพื่อให้ระบบและการบริหารกระบวนการยุติธรรมมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
(๔) ศาล ในฐานะเป็นฝ่ายตุลาการ เป็นองค์กรที่มีอำนาจชี้ขาด
ข้อพิพาทต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และให้ความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่ประชาชน และแม้ว่าศาลจะมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร แต่ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับ
การเสนองบประมาณนั้น หน่วยธุรการของศาลต้องเสนองบประมาณผ่านคณะรัฐมนตรี
เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อรัฐสภา โดยไม่มีตัวแทนของตนเข้าไปมีส่วนร่วมการพิจารณา และที่สำคัญก็คือ การเสนอแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง จะต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปัญหาว่าหน่วยธุรการ
ที่เป็นอิสระของศาลหรือองค์กรอื่น ๆ จะไม่มีเจ้าภาพในการดำเนินการที่กล่าวมาดังเช่นกระทรวงต่าง ๆ
๓.๒ การฟ้องคดี
๓.๒.๑ ศาลยุติธรรม
เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนในทางแพ่ง ได้แก่
การโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้หรือการฟ้องเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น หรือมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิ
ทางศาล เช่น การขอเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์หรือจำเลยหรือผู้ยื่นคำขอซึ่งถือเป็นตัวความ
จะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือแต่งตั้งให้ทนายความกระทำการแทนได้ แต่เนื่องจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรมมีขั้นตอนซับซ้อน ในทางปฏิบัติจึงมักจะแต่งตั้งทนายความกระทำการแทน
๓.๒.๒ ศาลปกครอง
เนื่องจากข้อพิพาททางปกครองส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ขั้นตอนและวิธีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจึงกำหนดให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน คือ ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องได้
โดยตรงต่อศาลปกครองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นฟ้องแทน หรือหากไม่สะดวกก็สามารถ
ส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณา คู่กรณีอาจจะดำเนินการด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและมีความรู้ความสามารถดำเนินคดีแทนก็ได้ คำฟ้องไม่มีแบบพิมพ์กำหนดไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจึงใช้
วิธีเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและลงชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งชื่อผู้ถูกฟ้องคดี สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้ฟ้องคดีต้องบรรยายถึงพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลเข้าใจได้ โดยผู้ฟ้องคดีต้องระบุไว้ด้วยว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะให้ศาลแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีอย่างไร และถ้าหากพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดี
ต้องระบุไว้ในคำร้องด้วยเพื่อที่ศาลจะได้เรียกมาเป็นพยานหลักฐานในคดีต่อไป และเนื่องจาก
ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองที่ผู้ฟ้องคดี
มีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลปกครองชั้นต้นนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากการยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมที่กำหนดให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือ
ศาลที่มูลคดีเกิด
๓.๓ ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี
๓.๓.๑ ศาลยุติธรรม13
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งนั้น แยกได้เป็น
(๑) ค่าขึ้นศาลในคดีที่มีทุนทรัพย์ เช่น คดีที่มีคำขอเรียกร้องเงิน
หรือทรัพย์สินจากผู้อื่นซึ่งยังมิได้เป็นของตนมาเป็นของตน โดยจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์
ที่เรียกร้องนั้น ถือเป็นทุนทรัพย์จะต้องเสียในอัตราร้อยละสองจุดห้าศูนย์บาทของจำนวน
ทุนทรัพย์ แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และคดีไม่มีทุนทรัพย์ เช่น ขอให้บังคับจำเลยให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของโจทก์โดยโจทก์มิได้อ้างหรือเรียกร้องเป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สิน จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ ๒๐๐ บาท สำหรับคำฟ้องที่ขอให้
ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะคิดค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละหนึ่งบาท แต่ไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นการขอให้บังคับจำนองหรือบังคับเอาทรัพย์สินจำนองหลุดคิดค่าขึ้นศาลตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้องในอัตราร้อยละหนึ่งบาทแต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
(๒) ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น คำร้อง คำขอ และให้แต่งทนาย
(๓) ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าส่งหมาย ค่าทำแผนที่พิพาท ค่าป่วยการ
และค่ายานพาหนะ ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
กรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสีย
ค่าธรรมเนียมศาล โจทก์หรือจำเลยอาจยื่นคำร้องขออนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้
ซึ่งเรียกว่าการฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา โดยยื่นคำร้องขอได้ทุกระดับชั้นศาล หากศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาทั้งหมด ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล
๓.๓.๒ ศาลปกครอง
ค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีปกครองนั้น โดยหลักแล้วไม่ต้องเสีย
ค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับ
การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง14 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละสองจุดห้าแต่ไม่เกินสองแสนบาท เช่นเดียวกับการฟ้องคดีแพ่ง
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ กรณีที่ประชาชนประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนที่เกิดจากการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่มีฐานะยากจนและไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมศาล กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลปกครองพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งในชั้นยกร่างกฎหมายดังกล่าวจนผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น คดีปกครองทุกประเภทไม่ต้องเสีย
ค่าธรรมเนียมศาล แต่ในชั้นวุฒิสภาได้มีการแก้ไขให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในกรณีละเมิด
ความรับผิดอย่างอื่นและสัญญาทางปกครอง แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ศาลพิจารณายกเว้นหรือ
ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีฐานยากจนได้แต่อย่างใด ดังนั้น สำนักงานศาลปกครองจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมีสาระสำคัญ คือ แก้ไขให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจเพื่อยกเว้น
ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลได้
บทสรุป
แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้ทรงสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของสิทธิและหน้าที่ตามที่
รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากประชาชนเป็นปัจเจกชนจึงไม่มีพลังที่จะแก้ไขปัญหาให้กับตนเองหรือเพื่อเป็นพลังในการต่อรองกับรัฐ ในรัฐสมัยใหม่จึงเกิดการรวมตัวของประชาชนโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเป็นประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือ
เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเป็นสมัชชาหรือเป็นองค์กร
ความร่วมมือต่าง ๆ ประชาสังคมในยุคปัจจุบันจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยคุ้มครองสิทธิ
และเสรีภาพให้กับประชาชนและมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ
การรวมกลุ่มเป็นประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มหรือของสังคมถือเป็น
สิ่งดีที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ดังนั้น
การบริหารประชาสังคมที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญและเป็นหัวใจของประชาสังคมเช่นเดียวกับ
การบริหารกระบวนการยุติธรรม หากประชาสังคมใดมีกระบวนการบริหารจัดการที่ดี
ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีการระดมความเห็นในประชาสังคมโดยยึด
หลักประชาธิปไตยอย่างจริงจัง คือ รับฟังความเห็นของทุกคน และถือปฏิบัติตามความเห็นของ
เสียงส่วนใหญ่ ไม่ยึดถือประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งแล้ว ก็น่าจะถือว่าเป็นประชาสังคมที่สมบูรณ์
แต่ถ้ามีการรวมกลุ่มกันเพื่อมุ่งผลประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึง
ผลประโยชน์ของส่วนรวม มีการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือขัดต่อศีลธรรม
อันดีของประชาชน หรือมีการกระทำไปในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย
แต่มุ่งประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นให้กับสังคม อย่างไรก็ตาม
แม้ว่านิติรัฐจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยระบบกฎหมายสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม การแก้ไขปัญหานั้นก็อาจเกิดผลกระทบต่อสังคม และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
หากมีการขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างขึ้นโดยอาศัยเหตุจากความเชื่อที่แตกต่างกัน
หรือความแตกต่างจากพื้นฐานความรู้ อายุ และประสบการณ์ ก็อาจทำให้การแก้ไขปัญหา
โดยระบบกฎหมายนั้นทำได้ยากลำบาก จะเห็นได้ว่าในกรณีที่รัฐแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองด้วยวิธีการทางกฎหมาย ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน หรืออาจเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน คนอีกบางกลุ่มอาจรู้สึกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาโดยกฎหมายนั้นมีขั้นตอนและวิธีการที่ล่าช้าไม่ทันใจ
และอาจเห็นด้วยกับการใช้กำลัง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในวิถีทางกฎหมาย เกิดการตอบโต้และใช้อารมณ์ต่อกัน ซึ่งจะเป็นการทำลายความเข้มแข็งของระบบนิติรัฐ
ในทางตรงข้าม หากการรวมกลุ่มเป็นประชาสังคมทั้งหลายมีกระบวนการบริหารประชาสังคม
ที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเข้าแก้ไขปัญหา จะทำให้นิติรัฐ
มีความเข้มแข็งและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในรัฐอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน
เมื่อหลักประกันสิทธิและเสรีภาพที่รัฐมีให้แก่ประชาชน กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรของรัฐและศาลมีความเข้มแข็ง หากผนวกเข้ากับการบริหาร
ประชาสังคมที่ดีแล้ว ดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นนิติรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทย
เชิงอรรถ
11. อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยสรุป มี ๑๖ เรื่อง คือ
๑) พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัด หรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ (มาตรา ๔๗ วรรคสาม)
๒) พิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๖๓)
๓) พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๑๘ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) หรือ (๑๒) หรือมาตรา ๑๓๓ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๙) หรือ (๑๐) (มาตรา ๙๖)
๔) พิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกพรรคการเมืองที่ร้องขอให้วินิจฉัยเพราะเหตุว่าพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกนั้น มีมติให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ (มาตรา ๑๑๘ (๘))
๕) พิจารณาวินิจฉัยว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๗ หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๙ หรือไม่ (มาตรา ๑๔๒)
๖) พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอใหม่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ (มาตรา ๑๗๗)
๗) พิจารณาวินิจฉัยว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎรหรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ (มาตรา ๑๘๐)
๘) พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๙๗ (๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๑๙๘)
๙) พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๖ (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) หรือไม่ (มาตรา ๒๑๖ ประกอบมาตรา ๙๖)
๑๐) พิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ไม่เป็นไปตามมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่ (มาตรา ๒๑๙)
๑๑) พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธยมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๖๒)
๑๒) พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๒๖๓)
๑๓) พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งจะใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๒๖๔)
๑๔) พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๖๖)
๑๕) พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือไม่ (มาตรา ๒๙๕)
๑๖) อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น
อ้างใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ข้อควรรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ , ๒๕๔๓ หน้า ๗-๑๐
[กลับไปที่บทความ]
12. สำหรับในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหารนั้น เป็นศาลที่มีลักษณะเฉพาะทั้งในด้านอำนาจศาลและวิธีพิจารณา ในที่นี้ จึงมิได้จัดไว้ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมในบทความนี้
[กลับไปที่บทความ]
13. สำนักงานศาลยุติธรรม ความรู้และแนวปฏิบัติในการติดต่อราชการศาลยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖
[กลับไปที่บทความ]
14. โปรดดูพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) มาตรา ๔๕ วรรคสี่ และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓)
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=651
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 09:08 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|