หน้าแรก บทความสาระ
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
นายปกรณ์ นิลประพันธ์
3 มกราคม 2548 17:27 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

       
ส่วนที่ ๑

       ความเป็นมาของกฎหมาย


       
       ๑. ข้อความคิดเดิมเกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ


       
       [๑]            แนวความคิดของนักกฎหมายไทยเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เดิมนั้น
       เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้แตกต่างจากการกระทำของประชาชนทั่วไป หากเจ้าหน้าที่
       ของรัฐกระทำละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลอื่นหรือแม้แต่แก่หน่วยงานของรัฐเอง
       เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดนั้นก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
       หรือรัฐ แล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นได้กระทำในฐานะส่วนตัว หากกการละเมิดนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน ไม่ว่าจะเป็นกรณี
       เจ้าหน้าที่แต่ละคนร่วมกันกระทำละเมิดขึ้นหรือในกรณีเจ้าหน้าที่แต่ละคนมิได้ร่วมกันกระทำละเมิด
       แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการละเมิดขึ้น เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายหรือแก่รัฐ แล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความ
       เสียหาย ถ้าไม่สามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งหรือหลายคนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ คนที่เหลือ
       ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนเต็มจำนวนอยู่นั่นเอง ซึ่งข้อความคิดในการกำหนดความรับผิด
       ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดเช่นว่านี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย
       ละเมิด


       
       [๒]            อย่างไรก็ดี แม้ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ดังกล่าวจะทำให้รัฐสามารถเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่รัฐต้องจ่ายให้แก่ผู้เสียหายไปก่อนหรือสามารถ
       ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐเองได้จนเต็มจำนวน แต่ในทางตรงกันข้าม หลักเกณฑ์ดังกล่าว
       กลับกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ด้วยเกรงว่าการกระทำของตน
       อาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นและตนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่การกระทำของ
       เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่เป็นการกระทำแทนรัฐ และเจ้าหน้าที่ก็ได้รับค่าตอบแทนต่ำอยู่แล้ว
       หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ สภาพการไม่กล้าที่จะตัดสินใจกระทำการตามอำนาจ
       หน้าที่นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐในอดีต
       ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งผลเสียก็จะตกแก่ประชาชนในท้ายที่สุด


       
       [๓]            สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ติดตามสภาพปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลานาน
       และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
       ของเจ้าหน้าที่เสียใหม่ เพื่อความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำ
       บริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ
       ยกร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ขึ้น เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ
       ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมโดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ และ
       ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ขึ้น โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
       ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าว


       
       ๒. ข้อความคิดใหม่เกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ


       
       [๔]            หากพิเคราะห์การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยละเอียดแล้ว จะเห็นว่าการกระทำ
       ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกเป็นการกระทำในการปฏิบัติ
       หน้าที่ ซึ่งได้แก่การกระทำการตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตามคำสั่ง
       ของผู้บังคับบัญชา เพื่อประโยชน์ของทางราชการ เช่น การอนุมัติ การอนุญาต การเดินทางไปราชการ
       เป็นต้น ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นการกระทำที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่หรือการกระทำที่เป็นไปเพื่อประโยชน์
       หรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัว


       
       [๕]            ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ก็ย่อมต้องถือว่าการ
       กระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอง หากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิด
       ความเสียหายแก่บุคคลภายนอกหรือแก่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็จะต้องรับผิดชอบในการกระทำ
       นั้นเป็นการส่วนตัว ไม่มีเหตุผลใดที่หน่วยงานของรัฐจะต้องร่วมรับผิดชอบในการกระทำของเจ้าหน้าที่
       ดังกล่าว เช่น ระหว่างเดินทางจากบ้านพักมาปฏิบัติราชการ ณ ที่ทำงาน เจ้าหน้าที่ขับรถยนต์ส่วนตัวชน
       นาย ก.ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เป็นต้น


       
       [๖]            แต่กรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยที่หน่วยงานของรัฐ
       มีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่มีตัวตนและไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ด้วยตนเอง
       การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐจึงต้องกระทำโดยผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำ
       ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่จึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว แต่เป็นการกระทำ
       "แทนหน่วยงานของรัฐ" ดังนั้น หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น
       แก่บุคคลภายนอกหรือแก่หน่วยงานของรัฐเอง หน่วยงานของรัฐก็ชอบที่จะต้องรับภาระในความเสียหาย
       ที่เกิดขึ้นก่อน แต่เมื่อหน่วยงานของรัฐรับภาระในความเสียหายนั้นไว้แล้วจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่รัฐได้หรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใดนั้น หน่วยงานของรัฐก็พึงควรที่จะคำนึงด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดนั้นมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่มากน้อยเพียงใด


       
       [๗]            ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบมาก อีกทั้งการ
       บริหารงานภาครัฐนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มาก และต้องใช้การตัดสินใจที่ละเอียดอ่อน
       ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากความบกพร่องในการ
       ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นความบกพร่องที่ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ รัฐก็ไม่พึงควร
       เรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่รัฐได้จ่ายแก่ผู้เสียหายไปแล้ว
       เพราะในการดำเนินการใด ๆ ก็ตามนั้นเป็นธรรมดาอยู่เองที่อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้แม้จะได้ใช้
       ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
แต่หากการกระทำละเมิดนั้นเกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปฏิบัติ
       หน้าที่อย่างมากหรืออย่างร้ายแรงแล้ว ก็สมควรที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำ
       ละเมิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐรัฐได้ชดใช้แก่ผู้เสียหายไปแล้วหรือแก่ความ
       เสียหายที่เกิดขึ้นแก่หน่วยงานรัฐ เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมากหรืออย่าง
       ร้ายแรงดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมิได้ใช้ความรอบคอบหรือความระมัด
       ระวังในการปฏิบัติหน้าที่เลย


       
       [๘]            สำหรับกรณีเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน หน่วยงานของรัฐ
       ก็ควรที่จะต้องพิจารณากำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นราย ๆ ไป เพราะแม้เจ้าหน้าที่
       ทุกคนจะบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น แต่ในทางข้อเท็จจริงแล้ว
       เจ้าหน้าที่แต่ละคนนั้นมีความรับผิดชอบและความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในระดับที่แตกต่างกันการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เช่นที่ธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ในการ
       ปฏิบัติหน้าที่ ต้องรับผิดเท่ากับเจ้าหน้าที่ซึ่งบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมากหรืออย่างร้ายแรง
       ย่อมไม่เป็นธรรม


       
       ๓. ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙


       
       [๙]            พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้นำข้อความคิด
       ใหม่เกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดความ
       รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐขึ้นใหม่ ดังนี้


       
       [๑๐]            (๑) แยกการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐออกเป็น ๒ ประเภท คือ กรณีเจ้าหน้าที่
       ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก และกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ

                   
        (๒) กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก


       
       [๑๑]             ๒.๑ แยกความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ออกจากการ
       กระทำละเมิดที่มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยหากเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การปฏิบัติ
       หน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว แต่หากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติ
       หน้าที่ กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับภาระชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่
       ผู้ได้รับความเสียหายไปก่อน


       
       [๑๒]             ๒.๒ กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่
       ชดใช้เงินคืนแก่หน่วยงานของรัฐภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้รับภาระชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายไปก่อนแล้วขึ้นใหม่ โดยหน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ย
       โดยเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนแก่หน่วยงานของรัฐได้เฉพาะ
       กรณีความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้น
       กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนว่าหน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ย
       ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยหน่วยงานของรัฐไม่จำต้องได้รับ
       ชดใช้จนเต็มจำนวนความเสียหาย


       
       [๑๓]             ๒.๓ กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยกรณีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น
       จากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคนว่า เจ้าหน้าที่แต่ละคนไม่ต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
       แต่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีไปว่าแต่ละคนสมควรต้องร่วมรับผิดมากน้อยเพียงใด โดยหน่วยงาน
       ของรัฐไม่จำต้องได้รับชดใช้จนเต็มจำนวนความเสียหาย


                   
        (๓) กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ


       
       [๑๔]             กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด
       ต่อหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ว่าหน่วยงานของรัฐจะเรียกให้
       เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้เฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่
       ผู้นั้นกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนว่าหน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ย
       ได้มากน้อยเพียงใดนั้นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยหน่วยงานของรัฐไม่จำต้องได้รับ
       ชดใช้จนเต็มจำนวนความเสียหาย ส่วนกรณีการกระทำละเมิดเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
       หลายคนว่า เจ้าหน้าที่แต่ละคนไม่ต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป
       ว่าแต่ละคนสมควรต้องร่วมรับผิดมากน้อยเพียงใด โดยหน่วยงานของรัฐไม่จำต้องได้รับชดใช้จนเต็ม
       จำนวนความเสียหาย


       
       

ส่วนที่ ๒

       ความรับผิดของหน่วยงานของรัฐกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น


       
       


       
       ๑. หลักเกณฑ์ความรับผิด


       
       [๑๕]            มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
       บัญญัติหลักเกณฑ์ความรับผิดของหน่วยงานของรัฐกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นไว้ดังนี้


       
       


       

                   มาตรา ๕ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
       

                   ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งมิได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่า
       กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง


       


       
       [๑๖]            ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่
       บุคคลภายนอกและการกระทำละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ
       ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ก่อขึ้น


       
       ๒. องค์ประกอบของความรับผิด


       
       [๑๗]            องค์ประกอบของความรับผิดเพื่อละเมิดของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๕ ดังกล่าว
       ข้างต้น มีอยู่ ๓ ประการ

                   
        ประการที่หนึ่ง ต้องมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น

                   
        ประการที่สอง การกระทำละเมิดดังกล่าวนั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ

                   
        ประการที่สาม การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่


       
       [๑๘]            องค์ประกอบของความรับผิดดังกล่าวนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาความสับสนในทางปฏิบัติ
       ได้ว่าการกระทำละเมิดคืออะไร เจ้าหน้าที่ของรัฐคือใคร และการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
       เป็นอย่างไร ดังนั้น ก่อนที่จะกล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับความรับผิดของหน่วยงานของรัฐในกรณี
       เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นในรายละเอียด ผู้เขียนจะได้อธิบายเสียก่อนว่าการกระทำละเมิด
       คืออะไร เจ้าหน้าที่ของรัฐคือใคร และการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างไร


                   
        ๒.๑ การกระทำละเมิดคืออะไร?


       
       [๑๙]            พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯมิได้นิยามคำว่า "ละเมิด"
       ว่าหมายถึงอะไร การพิจารณาความหมายของคำว่า "ละเมิด" จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง
       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ซึ่งมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
       พาณิชย์บัญญัติไว้ดังนี้


       


       
            มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นกระทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
       


       
       [๒๐]            ดังนั้น การกระทำใดจะเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่จึงมีข้อพิจารณาดังนี้


       
                   
        (๑) ต้องมีการกระทำ


       
       [๒๑]            "การกระทำ" หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกในการเคลื่อนไหว และอยู่ใน
       บังคับของจิตใจผู้กระทำ และรวมถึงการงดเว้นที่จะกระทำการอันมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย ไม่ว่าจะเป็น
       หน้าที่ตามกฎหมาย ตามระเบียบปฏิบัติงาน ตามสัญญา ตามวิชาชีพ แต่ไม่รวมถึงหน้าที่ตามศีลธรรม


       
       [๒๒]            ตัวอย่างที่ ๑ เทศบาลดำเนินการขยายถนน ทำให้บ่อน้ำซึ่งขอบเป็นคอนกรีตเข้ามาอยู่ใน
       ตัวถนน เมื่อเปิดถนนที่ขยายให้รถสัญจรไปมาได้ ก็ไม่ถมบ่อทำให้เรียบเป็นพื้นถนนธรรมดาและไม่ได้
       ทำเครื่องหมายหรือสัญญาณบอกไว้ โจทก์ขับรถยนต์มาชนบ่อน้ำเข้าโดยมิได้ประมาท รถยนต์เสียหาย
       ต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของเทศบาล2


       
       [๒๓]            ตัวอย่างที่ ๒ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินของสุขาภิบาลกำหนดให้
       ต้องมีกรรมการควบคุมการไปรับเงินที่ธนาคาร หากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาล
       ตั้งกรรมการไปรับเงินร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามระเบียบ กรรมการก็อาจควบคุมมิให้จำเลยที่ ๑ ปลอม
       ใบขอถอนเงินและรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบดังกล่าวของ
       จำเลยที่ ๒ จึงเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้สุขาภิบาลโจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิด3


                   
        (๒) ต้องเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ


       
       [๒๔]            การกระทำโดย "จงใจ" นั้นในทางกฎหมายหมายถึงการกระทำโดยผู้กระทำรู้สึกนึก
       ถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตน
กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ส่วนว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นไม่สำคัญ


       
       [๒๕]            การกระทำโดยจงใจนั้นมีความหมายกว้างกว่ากระทำโดย "เจตนา" ตามประมวล
       กฎหมายอาญา เพราะการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา ๕๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา4
       ผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นด้วย เช่น นาย ก. ทะเลาะ
       กับนาย ข. จึงใช้มือผลักอกนาย ข. นาย ข. ลื่นล้มลงหัวฟาดถนนถึงแก่ความตาย เช่นนี้ นาย ก. จะมี
       ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ แต่ถือว่า นาย ก.กระทำ
       ละเมิดต่อนาย ข. โดยจงใจ เพราะนาย ก.ย่อมรู้ว่าการกระทำของตนจะทำให้นาย ข. เสียหาย เพียงแต่
       ไม่ทราบว่านาย ข. จะเสียหายมากน้อยเพียงใดเท่านั้น


       
       [๒๖]            ส่วนการกระทำโดย "ประมาทเลินเล่อ" นั้นมีความหมายเช่นเดียวกับการกระทำโดย
       ประมาทในทางอาญาตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติว่า "การกระทำโดย
       ประมาทได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะ
       เช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หากได้ใช้
       ให้เพียงพอไม่"


       
       [๒๗]            "วิสัย" หมายถึง สภาพเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ เช่น อายุ เพราะเด็กและผู้ใหญ่จะมีความ
       ระมัดระวังในเรื่องเดียวกันต่างกัน เนื่องจากมีประสบการณ์แตกต่างกัน เพศชายและหญิงต่างมีความ
       ระมัดระวังในแต่ละเรื่องต่างกัน ผู้ประกอบวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
       หรือผู้ปฏิบัติงานใดงานหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความระมัดระวังในวิชาชีพหรือเรื่องที่ตน
       เชี่ยวชาญหรือชำนาญงานมากกว่าคนทั่วไป เป็นต้น
       [๒๘]            "พฤติการณ์" หมายถึง ปัจจัยแวดล้อมผู้กระทำ เช่น เหตุเกิดกลางวันหรือกลางคืน
       มีฝนตกถนนลื่นหรือไม่ มีเวลาที่จะคิดคำนวณไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะกระทำการใดการหนึ่งลงไป
       หรือไม่ เป็นต้น เพราะพฤติการณ์แวดล้อมเหล่านี้จะมีผลต่อระดับความระมัดระวังในการกระทำที่เกิดขึ้น
       ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น เช่น ถ้าฝนตกถนนลื่นผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไปย่อมต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น
       กว่าการขับรถยนต์ในภาวะปกติ เป็นต้น


       
       [๒๙]            ดังนั้น การวินิจฉัยว่าประมาทเลินเล่อหรือไม่ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป


       
       [๓๐]            ตัวอย่างที่ ๑ ตำรวจจับและยึดเรือจับปลาทูสดที่โจทก์บรรทุกเข้ามาในราชอาณาจักรโดยอ้างว่ายังไม่เสียภาษีโดยไม่ตรวจสอบว่ากฎหมายยกเว้นภาษีปลาทูสด การกระทำของตำรวจดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่5


       
       [๓๑]            ตัวอย่างที่ ๒ ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์มาตามถนนตามปกติ แต่มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากซอยด้านซ้ายมือตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดมาก ลูกจ้างของจำเลยจึงหักหลบโดยไม่มีโอกาสได้ทันคิดหรือตัดสินใจว่าควรจะหักหลบไปทางใดได้โดยปลอดภัย เมื่อการหักหลบดังกล่าวไปชนรถยนต์ของโจทก์ที่สวนทางมา จึงไม่ใช่ความประมาทของลูกจ้างของจำเลย6


       
       [๓๒]            ตัวอย่างที่ ๓ เป็นตัวอย่างที่ผู้เขียนเห็นว่าแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อได้ชัดเจนได้แก่คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๙/๒๕๑๐ โดยจำเลยขับรถในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล ซึ่งการขับรถยนต์โดยใช้สัญญาณดังกล่าวมิได้หมายความว่าผู้ขับขี่จะขับเร็วเท่าใดก็ได้ แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น
       ในการนี้ จำเลยขับรถยนต์ดังกล่าวมาด้วยความเร็ว ๘๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานได้ลด
       ความเร็วลงเหลือ ๕๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมี
       เด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกในระยะกระชั้นชิด จำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทันทีจึงต้องหักหลบ
       แล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วเกินสมควรเมื่อ
       พิจารณาจากเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่น ๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่เด็ก
       วิ่งตัดท้ายรถบรรทุกข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญอันมิอาจคาดหมายได้
       และเกิดขึ้นโดยฉับพลัน จึงเป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้จึงถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
       อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นนั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย


                   
        (๓) ต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย


       
       [๓๓]            การกระทำโดยผิดกฎหมาย หมายความว่ากระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือ
       โดยไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะกระทำการนั้นได้
นอกจากนี้ โดยที่มาตรา ๔๒๑ แห่ง
       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า "การใช้สิทธิซึ่งมีแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น
       ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย" ดังนั้น การกระทำโดยผิดกฎหมายอันจะเป็นการกระทำละเมิด
       จึงหมายความรวมไปถึงการใช้สิทธิที่ผู้กระทำมีอยู่ตามกฎหมายทำให้บุคคลอื่นเสียหายด้วย


       
       [๓๔]            การใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น จะต้องเป็นการแกล้ง
       โดยผู้กระทำมุ่งต่อผลคือความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว7 เช่น นาย ก. ขอรังวัดที่ดิน นาย ข. คัดค้าน
       การรังวัดโดยอ้างว่านาย ก.นำรังวัดล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของตนและขอวัดสอบเขตก่อน แต่ก็ไม่
       ดำเนินการใด ๆ เมื่อนาย ก.จัดให้มีการรังวัดใหม่ นาย ข. ก็ยังคัดค้านแต่ก็ไม่ดำเนินการขอวัดสอบเขต
       เหมือนเช่นเดิม ดังนี้ เป็นการกระทำซึ่งมีแต่จะเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา ๔๒๑8 ส่วนการฟ้องคดี
       ต่อศาลมิใช่การใช้สิทธิโดยแกล้งเนื่องจากเป็นการใช้สิทธิทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต เว้นแต่
       โจทก์จะไม่สุจริตคือไม่หวังผลธรรมดาจากการใช้สิทธิทางศาลหรือจงใจให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายโดย
       ใช้ศาลเป็นเครื่องกำบัง9


                   
        (๔) การกระทำนั้นต้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น


       
       [๓๕]            ความรับผิดทางละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่
       บุคคลอื่น หากบุคคลอื่นยังไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำ ย่อมไม่เป็นละเมิด
โดยความเสียหายนั้นจะเป็นความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอน กล่าวคือ ความเสียหายให้เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต และความเสียหายจะต้องเกิดจากผลโดยตรงของผู้กระทำด้วย และผู้ที่ได้รับ
       ความเสียหายต้องเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้กระทำโดยตรงหรือมีส่วนร่วมในการกระทำนั้น


                   
        ๒.๒ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่คือผู้ใด


       
       [๓๖]            ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ หน่วยงานของรัฐ
       จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมาตรา ๔ แห่งกฎหมายดังกล่าว
       นิยามคำว่า "เจ้าหน้าที่" ว่าหมายถึง "ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่า
       จะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการ หรือฐานะอื่นใด" และนิยามคำว่า "หน่วยงานของรัฐ"
       ว่าหมายถึง "กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วน
       ภูมิภาคราชการ ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ
       ให้หมายรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้หน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติ
       นี้ด้วย" ดังนั้น บุคคลทุกประเภทที่ทำงานให้แก่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว
       กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ เช่น บุคคลที่ต้อง
       ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐภายใต้บังคับแห่ง
       กฎหมายนี้ทั้งสิ้น


       
       [๓๗]            คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เคยให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า กรณี
       ลูกจ้างเป็นครั้งคราวเฉพาะงานนั้น ต้องพิจารณาว่าลูกจ้างนั้นมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานอย่างไร ถ้ามีความสัมพันธ์ในลักษณะการใช้อำนาจบังคับบัญชาก็ถือเป็นลูกจ้างตามนัยมาตรา ๔ แห่งกฎหมายนี้ แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างนั้นก็มิใช่ลูกจ้างตามกฎหมายนี้10 อย่างไรก็ดี หากหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งกฎหมายนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ พนักงาน ฯลฯ ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายนี้ด้วย สำหรับกรณีหน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเอกชนทำหน้าที่บางอย่างแทนหน่วยงาน
       ของรัฐ เช่น กรณี กฟภ. ทำสัญญาตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือประชาชนเพื่อทำหน้าที่เก็บ
       ค่าไฟฟ้าแทน กฟภ. นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่าเป็นการจ้างทำของตามประมวล
       กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อบต. และประชาชนผู้ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่เจ้าหน้าที่ตาม
       มาตรา ๔ แห่งกฎหมายนี้11


                   
        ๒.๓ เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่


       
       [๓๘]            การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
       มีอำนาจหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง และการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่
       บุคคลอื่นหรือแก่รัฐขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เช่น ขณะที่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าไปจับกุม
       ผู้ต้มเหล้าเถื่อนบริเวณชายป่าละเมาะท้ายหมู่บ้าน ผู้กระทำความผิดวิ่งหนีเข้าไปหลบอยู่ในบ้านของ
       ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากเจ้าหน้าที่สรรพสามิตตามเข้าไปในบ้านดังกล่าวเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด
       แต่ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านเหล่านั้น ก็เท่ากับเจ้าหน้าที่สรรพสามิตกระทำ
       ละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรมสรรพสามิตก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำขึ้น


       
       [๓๙]            นอกจากอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
       ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หน้าที่ดังกล่าวยังอาจเกิดจากระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วย
       กฎหมายด้วยการกระทำหรือละเว้นการกระทำในหน้าที่ดังกล่าวหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
       หรือแก่รัฐก็เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน เช่น กรณีหัวหน้าส่วนราชการมีคำสั่ง
       ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างต้องมาปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของหน่วยงาน
       ในเวลากลางคืน นาย ก. ซึ่งได้รับมอบหมายให้อยู่เวรด้วยไม่มาเข้าเวร หรือมาลงชื่อรับเวรแล้ว
       แต่ออกไปเที่ยวเตร่ไม่ได้อยู่รักษาเวร ก็ต้องถือว่า นาย ก. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว เป็นต้น


       
       [๔๐]            การวินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น
       ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป ตัวอย่างเช่น นายอำเภอขับรถของทางราชการเพื่อไป
       ตรวจราชการในพื้นที่ ระหว่างเดินทางไปราชการเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับ
       ความเสียหาย ก็ถือได้ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ หรือกรณีเจ้าหน้าที่
       ซึ่งผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินของทางราชการไม่ดูแลให้มีการล็อคห้องพัสดุ
       ให้เรียบร้อย เป็นเหตุให้มีคนร้ายลักเอาทรัพย์สินในห้องพัสดุไป ก็ถือเป็นการกระทำละเมิดในการ
       ปฏิบัติหน้าที่ หรือผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของ
       ทางราชการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบฯ เป็นเหตุให้
       ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตยักยอกเงินของหน่วยงาน ก็เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน


       
       [๔๑]            มีข้อควรระวังในการวินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำในการปฏิบัติ
       หน้าที่หรือไม่ ๒ ประการ


       
       [๔๒]            ประการที่หนึ่ง การกระทำละเมิดในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือในระหว่าง
       เวลาราชการ มิใช่สิ่งบ่งชี้ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น
       กรณีนายอำเภอขับรถยนต์ของทางราชการเพื่อไปตรวจราชการในพื้นที่ ระหว่างเดินทางกลับจากการ
       ตรวจราชการเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย แม้เหตุละเมิดดังกล่าวจะ
       เกิดขึ้นหลังจากเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา ก็ถือได้ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่
       เนื่องจากการไปตรวจราชการเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอและเป็นการดำเนินการ
       เพื่อประโยชน์ของทางราชการ อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นลง


       
       [๔๓]            แต่กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจผู้กระทำผิดกฎจราจร ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
       เจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดบันดาลโทสะ ทำร้ายร่างกายผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎจราจร ดังนี้ แม้การกระทำ
       ละเมิดจะเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หากแต่เป็นไป
       เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีหน้าที่ในการทำร้าย
       ร่างกายประชาชน จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่


       
       [๔๔]            ประการที่สอง กรณีเจ้าหน้าที่ทุจริตยักยอกเงินของทางราชการไปใช้เป็นประโยชน์
       ส่วนตัวนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เคยให้ความเห็นไว้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดย
       ส่วนตัวตามกฎหมายอาญาฐานยักยอกทรัพย์สิน มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย
       ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว แต่ผู้บังคับบัญชา
       ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องรับผิดทางละเมิดตามกฎหมายนี้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาพฤติการณ์
       ของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตยักยอกเงินของทางราชการนั้นด้วยว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
       ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดมีการทุจริตยักยอกเงินนั้นหรือไม่ แต่ถ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทำ
       ทุจริตก็เป็นการกระทำโดยส่วนตัวตามกฎหมายอาญา มิใช่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ตาม
       กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่12


       
       

ส่วนที่ ๓

       ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


       


       
       [๔๕]            ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด
       ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ความรับผิดกรณีการกระทำละเมิดมิใช่การกระทำ
       ในการปฏิบัติหน้าที่ และความรับผิดกรณีการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่


       
       ๑. กรณีการกระทำละเมิดมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่


       
       [๔๖]            กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นหรือต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ใช่การกระทำ
       ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ทะเลาะวิวาทชกต่อยกับบุคคลอื่น เจตนาทุจริตยักยอกทรัพย์ของทางราชการ
       หรือเอารถของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ระหว่างนั้น เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้รถยนต์ของทาง
       ราชการเสียหาย หรือกระทำการใด ๆ ให้ทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐเสียหายอันไม่ได้เกิดจากการ
       ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดเป็นการส่วนตัวตามบทบัญญัติแห่งประมวล
       กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด


       
       ๒. กรณีการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่


                   
        (๑) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


       
       [๔๗]            หากเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเกิด
       ผลโดยตรงต่อบุคคลภายนอกและหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว
       หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐโดยตรง
       เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการละเมิดนั้นเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจ
       หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
หากเจ้าหน้าที่มิได้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
       อย่างร้ายแรงแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดในการละเมิดดังกล่าว หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ย
       หรือเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ประกอบกับ
       มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙


       


       

                    มาตรา ๘ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
       เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด
       ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้น
       ไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

                   
        ฯลฯ ฯลฯ


       
                    มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่า
       จะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
       การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗ มาใช้บังคับโดย
       อนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวล
       กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   
        ฯลฯ ฯลฯ
       


       [๔๘]            ส่วนปัญหาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
       หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป โดยมีข้อพิจารณาเบื้องต้นดังนี้

                   
       - การกระทำโดยจงใจอย่างร้ายแรงนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำจงใจและคาดเห็นได้อย่างแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าปกติ

                   
       - การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องเป็นกรณีที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้ หรือหากใช้ความระมัดระวังสักเพียงเล็กน้อย ก็คงคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้น


       
       [๔๙]            ตัวอย่างที่หนึ่ง โรงงานของจำเลย (กระทรวงการคลัง) เผาเศษปอทำให้มีควันดำ
       ปกคลุมถนนจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า เป็นเหตุให้มีคนขับรถยนต์มาชนท้ายรถยนต์ของโจทก์
       ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหาย เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ๒-๓ ครั้ง แต่จำเลยก็ปล่อยปละ
       ละเลยไม่เปลี่ยนวิธีเผาเศษปอเป็นวิธีอื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
       อย่างร้ายแรง13


       
       [๕๐]            ตัวอย่างที่สอง ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากคลื่นของเรืออื่นในลำแม่น้ำมาปะทะ
       กับเรือฉลอมของจำเลยที่บรรทุกสินค้าและจอดอยู่ที่ท่าเรือ เรือฉลอมกระแทกกับท่า ทำให้สินค้าที่
       บรรทุกบางส่วนเคลื่อนตกลงไปในแม่น้ำ เป็นผลพิบัติที่อาจป้องกันได้ถ้าได้จัดการระมัดระวังตาม
       สมควร ไม่ใช่เป็นเหตุที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลย
       บรรทุกสินค้าเกินกว่าเก๋งท้ายเรือหรือหลังคาอันเป็นการผิดระเบียบของกรมเจ้าท่า ถือได้ว่าเป็นความ
       ประมาทเลินเล่อของจำเลยแล้วและเนื่องจากจำเลยมีอาชีพรับขนส่ง ย่อมมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง
       เป็นพิเศษกว่าปกติสามัญชน แต่กลับละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในอาชีพอันควรต้องพึงปฏิบัติเสีย กล่าวคือ
       เมื่อบรรทุกสินค้าลงเรือเสร็จแล้ว ส.ผู้ควบคุมเรือของจำเลยกับลูกเรืออีก ๓ คนขึ้นไปบนท่าหมดไม่มี
       คนอยู่ในเรือที่จะคอยระมัดระวังป้องกันภัยอันตรายอันอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งโดยปกติต้อง
       มีคนงานคอยระวังอยู่เพราะอาจมีคลื่นแรงมา ซึ่งแล้วก็มีคลื่นแรงมาจริง ๆ และปะทะเรือฉลอมที่บรรทุก
       อยู่สูงตกลงไปในแม่น้ำเสียหาย ส.กับลูกเรือไม่สามารถจะเข้าไปช่วยประคองเรือเพื่อป้องกันความ
       เสียหายไว้ได้เพราะเกรงว่ากระสอบสินค้าที่เคลื่อนหล่นลงมาจะทับเอาตามพฤติการณ์ถือว่าเป็นความ
       ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยต้องรับผิด14


       
       [๕๑]            ตัวอย่างที่สาม โจทก์ขับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงไป ๓/๔ คันแล้ว ถูกรถแท็กซี่
       ซึ่งได้ไฟเขียวขับมาทางซ้ายชนที่ประตู การขับรถของโจทก์เป็นการประมาทฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง
       อย่างธรรมดา ไม่ใช่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง15


       
       [๕๒]            ตัวอย่างที่สี่ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัดและผู้ช่วยศึกษาธิการ
       จังหวัดตามลำดับ ได้ลงชื่อในใบถอนเงินฝากของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่ฝากประจำไว้กับธนาคาร
       จำเลยที่ ๔ เพื่อโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีอยู่แล้วที่ธนาคารจำเลย
       ที่ ๔ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการโจทก์ที่ ๑ ว่าด้วยการจัดการกองทุนสงเคราะห์
       โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มอบฉันทะให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการครูช่วยปฏิบัติงานสำนักงานศึกษาธิการ
       จังหวัดเป็นผู้รับเงินแทนแต่ใบถอนเงินดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นการถอนเงินเพื่อโอนไปฝากในบัญชี
       กระแสรายวัน จึงเป็นใบถอนเงินเพื่อรับเงินสดไปจากธนาคาร แม้จำเลยที่ ๒ จะได้ทำหนังสือแจ้ง
       ธนาคารจำเลยที่ ๔ ขอถอนเงินกองทุนสงเคราะห์ฯในบัญชีเงินฝากประจำโอนเข้าบัญชีกระแสรายวัน
       มอบให้จำเลยที่ ๑ ไปก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ มิได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อธนาคาร เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้รับเงิน
       แล้วก็หลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะเป็นช่องทาง
       ให้จำเลยที่ ๑ ทุจริตเอาเงินที่ถอนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวได้โดยง่ายเนื่องจากธนาคารจำเลยที่ ๔
       ต้องจ่ายเงินสดให้จำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ การมอบฉันทะให้จำเลยที่ ๑ ไปถอนเงินเป็นจำนวนมากถึง
       หกแสนบาทเศษ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กลับมอบฉันทะให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว จึงเป็นความ
       ประมาทเลินเล่อยิ่งขึ้น แม้ตามระเบียบจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีหน้าที่มีหน้าที่ไปไถ่ถอนเงินด้วยตนเองเพราะ
       มีอำนาจลงนามผู้ถอนเงิน และอาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นทำการแทนได้ แต่จะต้องควบคุมดูแลและใช้
       วิธีการที่รัดกุม รอบคอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ แต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็มิได้ดำเนินการ
       ดังกล่าว จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง16


       
       


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๑/๒๕๐๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๐๔/๒๕๒๕
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. มาตรา ๕๙ ฯลฯ ฯลฯ

                    
       กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สึกสำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์
       ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
            
        ฯลฯ ฯลฯ
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๐๑๐/๒๕๒๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๖๘/๒๕๒๖
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๘/๒๕๑๒ และ ๒๖๙๓/๒๕๒๔
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๒/๒๔๙๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓/๒๕๑๖
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. เรื่องเสร็จที่ ๘๙๔/๒๕๔๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       11. เรื่องเสร็จที่ ๘๙๖/๒๕๔๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       12. เรื่องเสร็จที่ ๘๕๐/๒๕๔๒
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       13. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๙-๑๗๙๐/๒๕๑๘
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       14. คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔๓/๒๕๑๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       15. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๒/๒๕๒๓
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       16. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๙๓/๒๕๓๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2546


       



1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544