คำอธิบายประกอบการศึกษาเอกสาร
เรื่อง "ปฏิรูปการเมืองไทย ฤาจะไปไม่ถึงจุดหมาย?"
เอกสารชุดนี้ เป็นเอกสารประกอบการอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปการเมืองไทย ฤาจะไปไม่ถึงจุดหมาย ?" โดยศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ การบรรยายหัวข้อดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการจากไปของ ผศ. ดร.พนม เอี่ยมประยูร
การอภิปรายดังกล่าวมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับให้ความสนใจและ "ตัดตอน" คำอภิปรายไปลงเผยแพร่กันหลายฉบับซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจและเห็นด้วยกับความเห็นของท่านอาจารย์อมรฯ pub-law.net เห็นว่า เพื่อให้การเผยแพร่ "ความรู้" และเพื่อเป็นการส่งเสริม "ความคิด" ในเรื่องการปฏิรูปการเมืองด้วย "กระบวนการและวิธีการ" จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามแนวความคิดของท่านอาจารย์อมรฯ แพร่ขยายออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ pub-law.net จึงขออนุญาตท่านอาจารย์อมรฯ นำเอกสารประกอบการอภิปรายที่ได้แจกในวันอภิปรายมาเผยแพร่ใน pub-law.net ครับ
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนว่า เอกสารทั้งหมดมิใช่ "เป็นคำบรรยาย" หรือเป็น "บทความ" ที่จะสามารถอ่าน "ผ่านตา" และเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสาร "ประกอบ" คำบรรยายที่ผู้บรรยายทำขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังได้ "คิดตาม" สิ่งที่ผู้บรรยายชี้ช่องทางไว้ การ "คิดตาม" จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับ "มุมมอง" "มาตรฐานทางความคิด" และ "มาตรฐานทางวิชาการ" ของแต่ละคนครับ
สองประเด็นสำคัญที่ท่านอาจารย์อมรฯ พยายามชี้ให้เห็นถึง "ข้อบกพร่อง" ของระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองกับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้อีก สองประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า "เผด็จการทางรัฐสภา" เพราะเมื่อใดก็ตามที่นายกรัฐมนตรีสามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ นายกรัฐมนตรีก็สามารถดำเนิน "กิจกรรม" ต่างๆได้อย่างเสรีโดยมิต้องพะวงถึงกระบวนการตรวจสอบใดๆทั้งสิ้น กฎหมายและมาตรการต่างๆที่เกิดขึ้นมาจึงอาจมีผลให้เป็นการสร้าง "คะแนนนิยม" ในตัวนายกรัฐมนตรีได้อย่างง่ายดายซึ่งก็ส่งผลทำให้นายก รัฐมนตรีสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้ต่อไปอย่างไม่รู้จบ
เอกสารทั้งหมดมีอยู่ 3 ชุด ในเอกสารหมายเลข 1 นั้น มีเอกสาร 3 เรื่องคือ เอกสารแนบ 1 ถึงเอกสารแนบ 3
ในเอกสารแนบ 1 นั้น ท่านอาจารย์อมรฯ ได้นำเสนอตัวบทบางมาตราของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ฉบับปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ซึ่งใช้บังคับมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายบริหารต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี พ.ศ. 2517 ที่เขียนขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ฉบับปี ค.ศ. 1948 ใช้บังคับ ก็ได้มีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ จริงอยู่ที่แม้การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในประเทศที่มีการ ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ได้สร้างบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมา รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี พ.ศ. 2517 ก็ได้นำเอากระบวนการดังกล่าวมาใช้ด้วยเช่นกัน
ในเอกสารแนบ 1 หน้าถัดมาคือหน้า 1/2 ท่านอาจารย์อมรฯ ได้นำเสนอตัวบทบางมาตราของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ฉบับต่อมาคือฉบับปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) อันเป็นฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน บทบัญญัติหลายๆอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกเพราะระยะเวลา 40 ปีที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางประการที่สร้างปัญหาให้กับประเทศและระบบการเมืองอย่างมาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงแก้ไขปัญหาทางการเมืองหลายๆประการที่เกิดขึ้นและได้ "ยกเลิก" การบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองพร้อมทั้งกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตใจ (conscience) ซึ่งก็หมายความถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ ความเห็นของตน โดยบริสุทธิ์ใจเป็นหลัก มิใช่ให้มติพรรคมาควบคุมการตัดสินใจของตนเอง และนอกจากนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ฉบับใหม่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ มีการนำเอาระบบ semi - presidential system แบบประเทศฝรั่งเศสมาใช้ แต่ปรับปรุงให้ "ไกล" กว่าระบบของฝรั่งเศส คือ กำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวคือ 5 ปี แต่สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว การกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวทำให้ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการต่างๆได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้อีก ซึ่งก็จะส่งผลทำให้การทำงานของประธานาธิบดีเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติมากกว่าเพื่อรักษาคะแนนนิยมของตนเอาไว้ ประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวของประธานาธิบดีนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการฝรั่งเศสได้พยายามเสนอเมื่อครั้งที่มีการลดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 7 ปีลงมาเหลือ 5 ปีด้วย แต่แนวความคิดดังกล่าวก็ไม่ได้รับการขานรับในรับประเทศฝรั่งเศสเท่าที่ควร
ในเอกสารแนบ 2 หน้า 2/1 ท่านอาจารย์อมรฯ ได้ชี้ให้เห็นถึง "แนวความคิด" ทางวิชาการของนักวิชาการไทยที่มิได้ "มอง" ไปข้างหน้า หรือ "ศึกษา" จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ เพราะรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่อๆมาจากฉบับปี พ.ศ. 2517 ยังคงยึดติดอยู่กับการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง รวมไปถึงในเวลาต่อมาก็ได้เพิ่มบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยในเอกสารแนบ 2 นี้เอง ท่านอาจารย์อมรฯ ได้นำเสนอตัวบทรัฐธรรมนูญไทยที่เกี่ยวกับสถานภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆนั้นได้กำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ แต่ในช่วงหลังๆภายหลังที่มีการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคแล้ว รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งท่านอาจารย์อมรฯ เห็นว่าขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนไปด้วยเหตุแห่งการบังคับให้สังกัดพรรคการเมืองนั่นเอง
เอกสารหมายเลข 2 คือ เราจะปฏิรูปการเมือง II ได้อย่างไร นั้น เป็นเอกสารที่นำมาจากส่วนท้ายของเอกสารเรื่อง "การปฏิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่" ที่จัดพิมพ์โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เอกสารนี้เป็นการนำเสนอ "รูปแบบ" ที่ควรจะเป็นสำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่จะต้องมีขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์และเกิดผลดี ซึ่งท่านอาจารย์อมรฯ ก็ได้นำมาสรุปเอาไว้ในเอกสารหมายเลข 3 คือ โครงสร้างของ "องค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" ว่าการปฏิรูปการเมืองที่ดีและสมบูรณ์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้จากผู้ที่เป็น "รัฐบุรุษ" (statesman) เท่านั้น ส่วนผู้ใดจะเป็น statesman ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยและนักวิชาการทั้งหลายที่จะต้อง "คิดให้ออก" ต่อไปครับว่าควรจะเป็นผู้ใด
รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546
|