หน้าแรก บทความสาระ
กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย [ตอนที่ 1]
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 21:44 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

       
ความนำ

       


                   
       ในช่วงปี พ.ศ. 2539 ประเทศไทยประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหลายประการ กล่าวคือ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากการส่งออกชะลอตัว ปัญหาหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ปัญหาสถาบันการเงินที่มีการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีปริมาณมากเกินความพอดี รวมทั้งปัญหาสำคัญอีกประการ คือ การเก็งกำไรค่าเงินบาทซึ่งเริ่มขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ทำให้ทางการสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในการปกป้องค่าเงินบาทไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจากระบบตะกร้าเงิน (basket currency) มาเป็นระบบลอยตัวภายใต้การ จัดการ (managed float) จึงเป็นผลที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อ ค่าเงินบาทในภูมิภาค จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจขอความช่วยเหลือ ทางการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF)

                   
       ในการขอถอนเงินกู้จาก IMF ประเทศไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามโดยประเด็น
       เรื่องรัฐวิสาหกิจนับได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินนโยบายตามข้อตกลง กล่าวคือ มีการกำหนดให้มีการทบทวนโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและตัดรายจ่ายที่มีความสำคัญในระดับต่ำลงเพื่อรักษาฐานะทางการเงินของภาครัฐวิสาหกิจให้สมดุล ตลอดจนปรับปรุงอัตราค่าบริการของรัฐวิสาหกิจให้สะท้อนกับทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ยกเว้นค่ารถโดยสารประจำทางและรถไฟชั้นธรรมดา เพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจโดย
       เน้นที่ภาคสาธารณูปโภค พลังงาน การสื่อสารและขนส่ง เนื่องจากนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       ที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องและชัดเจน ดำเนินการมาแล้วเป็นสิบปีก็ยังไม่สำเร็จ นอกจากนั้น
       รัฐยังมีการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก เท่ากับว่ารัฐขาดการส่งเสริม
       ให้เอกชนเข้ามาลงทุนแทนซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด มีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดเป็นอันดับแรกคือบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลง

                   
       สืบเนื่องจากข้อผูกพันดังกล่าว ประเทศไทยจึงเข้าสู่ยุคการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานต่างก็รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน (และพนักงานรัฐวิสาหกิจ) ถึง "ข้อดี" ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทางสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็ยังมีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เป็น "ประตู" ไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       คำว่า "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" หรือ privatisation นั้น มีความหมายว่า หมายถึงการเปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของ (ownership) รัฐวิสาหกิจจากรัฐไปเป็นของเอกชน โดยในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทย "ไม่เคยมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ตามความหมายดังกล่าว จะมีก็แต่เพียง "การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ" รูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำสัญญาจ้างเอกชนบริหารงาน การให้สัมปทานแก่เอกชน หรือการร่วมลงทุนกับเอกชน เป็นต้น

                   
       นอกจากนี้แล้ว ในประเทศไทยเรายังไม่มี "กฎหมาย" ที่เกี่ยวข้องและใช้เป็นกระบวนการเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แม้ในอดีตคือประมาณช่วงปี พ.ศ. 2530-2533 กระทรวงการคลังจะได้เคยยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็มิได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

                   
       ในปัจจุบัน ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 "สภาพบังคับ" ทำให้ประเทศ
       ไทยเข้าสู่ยุคของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำได้ด้วยการเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจนั้นให้แก่เอกชน หากเอกชนมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของมากกว่าร้อยละ ห้าสิบ ก็ถือได้ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นถูกแปรสภาพไปเป็นของเอกชนแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจจากรัฐไปเป็นของเอกชนเกิดขึ้นได้ ก็ต้องทำการ "ขายหุ้น" รัฐวิสาหกิจนั้นให้แก่ประชาชน ดังเช่นกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม มีรัฐวิสาหกิจจำนวนมากที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติและ
       พระราชกฤษฎีกาหรือตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี รัฐวิสาหกิจเหล่านี้มิได้มีทุนเป็นหุ้นดังเช่นของ
       บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งขึ้นโดยใช้กฎหมายเอกชนเช่นเดียวกับกิจการของเอกชน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นให้แก่ เอกชน จึงต้องมีกระบวนการที่ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถแปลงทุนเป็นหุ้นได้ดังเช่นรูปแบบ ของบริษัท กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจจึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม ที่มีกฎหมายจัดตั้งให้เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นให้เป็นหุ้นของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมด และให้บริษัทใหม่ที่ ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่มีอำนาจตามเดิม รวมทั้งให้พนักงานมีฐานะเป็นเช่นเดียวกับที่เคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบให้กระทำได้โดยสะดวก ต่อมาเมื่อได้มีการเตรียมการในรายละเอียดเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ให้แก่ภาคเอกชนต่อไป

                   
       รัฐบาลชุดปัจจุบันคือรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ดังนี้ คือ
       

       


                       
           
  • พัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจ


  •                    
           
  • สร้างรายได้ให้กับประเทศโดยรวมรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อม
           เข้าด้วยกัน


  •                    
           
  • จัดให้มีโครงสร้างการบริหารองค์กรที่เป็นมืออาชีพ มีการบริหารจัดการที่มี
           ประสิทธิภาพ


  •                    
           
  • ปลอดจากการเมืองแทรกแซงในการบริหาร


  •                    
           
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสลงทุนในกิจการของรัฐวิสาหกิจ


  •                    
           
  • สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
           ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

       

                   
       เพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายดังกล่าว รัฐบาลปัจจุบันได้เล็งเห็นความจำเป็นของการดูแลจัดการหุ้นและหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย จึงได้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาเพื่อรับ โอนหลักทรัพย์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐมาจัดการในเชิงธุรกิจและทำการจำหน่ายหรือกระจายการถือครองหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชน ดังนั้น ในอนาคตหากร่าง
       กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติประกาศ
       ใช้บังคับเป็นกฎหมาย กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายสองฉบับนี้ คือ กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่มีผลเป็นการแปลงทุนของ รัฐวิสาหกิจให้เป็นหุ้น และกฎหมายฉบับที่สอง คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบาย
       รัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่มีผลเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการจำหน่าย
       หรือกระจายหุ้นดังกล่าวให้แก่สาธารณชน


       

ส่วนที่ 1

       พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542


                   
       กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจเป็นกฎหมายที่จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทองค์การของรัฐบาล ให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรูปแบบเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทุนดังกล่าวจะทำให้ทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นก้อน กลายเป็นทุนที่มีลักษณะเป็นหุ้นของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังทำให้สามารถระดมทุนจากตลาดทุนเพื่อเข้ามาซื้อหุ้นได้อย่างสะดวก ซึ่งก็หมายความว่าทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการแปลงทุนเป็นหุ้นนั้นเป็นไปอย่างสะดวก

                   
       เมื่อรัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจต่อรัฐสภาในปี พ.ศ. 2540
       ก็ได้รับการคัดค้านจากบุคคลหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอันได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ไม่ต้องการที่จะให้รัฐวิสาหกิจที่ตนทำงานอยู่ได้รับการแปรรูปไปเป็นของเอกชนเนื่องจากห่วงใยและวิตกถึงสถานภาพของตนเองในอนาคต หรือฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจจะเป็นการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีที่ผิดซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการ "ขาย (สมบัติของ) ชาติ" อย่างไม่เป็นธรรมขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของรัฐสภาซึ่งประกอบ
       ด้วยผู้ที่มีพลังทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จึงน่าจับตาดูกฎหมายดังกล่าวต่อไปว่าจะสามารถ
       ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติหรือเกิดผลประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่ากัน


       
       ก. สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
       


                   
       กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยสาระสำคัญ 6 ประการด้วยกัน คือ

                   
       1. การเปลี่ยนสภาพของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ

                   
       มาตรา 3 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจได้ให้คำนิยามของบริษัทในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจไว้ว่า หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ดังนั้น รัฐวิสาหกิจ ที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจก็จะต้องเปลี่ยนสภาพ จากรัฐวิสาหกิจในรูปแบบเดิมมาเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
       

                   
       นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวที่กล่าวว่า ในกรณีที่ รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็น หุ้นในรูปแบบของบริษัทก็สามารถทำได้แล้ว จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ ประการแรกนั้น กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมิได้บังคับให้ทุก รัฐวิสาหกิจต้องเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัท แต่เป็นช่องทางที่จะให้รัฐวิสาหกิจที่มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์กรของรัฐบาลไปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับดังกล่าว ส่วนประการที่สองนั้น การนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นสามารถทำทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐวิสาหกิจหนึ่งที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นสามารถจัดตั้งเป็นบริษัทหลายบริษัทก็ได้


                   
       2. องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น
       

                   
       กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจได้กำหนดให้องค์กร 3 องค์กรมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น องค์กรเหล่านั้น ได้แก่ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท
       

                   
       2.1 คณะรัฐมนตรี มาตรา 16 ของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดให้คณะ
       รัฐมนตรีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติให้มีการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น กล่าวคือ เมื่อรัฐวิสาหกิจใดต้องการที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของตนมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้น ในรูปแบบของบริษัท ก็จะต้องทำเรื่องเสนอไปที่กระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อขอความเห็นชอบก่อน
       จากนั้นก็จะต้องเสนอเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจดังจะได้กล่าวถึงในหัวข้อ
       ต่อไป เมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทาง ให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นใน รูปแบบของบริษัท เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วจึงค่อยดำเนินการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจต่อไป

                   
       คณะรัฐมนตรีจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจ
       เป็นหุ้นอีกครั้งหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการและแนวทางให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของ รัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็จะมีการตั้ง"คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท" ขึ้นมาเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น เมื่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทปฏิบัติภารกิจเสร็จแล้ว ก็จะต้องเสนอรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทต่อคณะกรรมการนโยบายทุน รัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา เมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้นและจัดตั้งบริษัทต่อไป
       

                   
       2.2 คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
       กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                   
       องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 5
       แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ คือ นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธาน รัฐมนตรีที่นายก- รัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 15 คน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการ กฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 6 คน เป็นกรรมการ 1 โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

                   
       อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา
       13 ดังต่อไปนี้ คือ
       

                   
       (1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนว
       ทางให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท

                   
       (2) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนทุน
       เป็นหุ้น และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตามที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสนอตามมาตรา 21

                   
       (3) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดรัฐมนตรีที่จะกำกับ
       ดูแลในด้านนโยบายของบริษัทที่จะจดทะเบียนจัดตั้งตาม (2)

                   
       (4) เสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26
       ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจประเภทนั้น

                   
       (5) กำกับดูแลให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กำหนดไว้ใน
       มาตรา 19

                   
       (6) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การจัดทำระเบียบว่าด้วยการ
       รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

                   
       (7) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       

                   
       นอกจากนี้ ในมาตรา 12 ของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ยังได้กำหนด
       "ข้อจำกัด" ของผู้เป็นกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจไว้ว่า ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่พ้นจากตำแหน่งกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาการเงิน หรือที่ปรึกษาการจัดการจำหน่ายหุ้น หรือผู้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายหุ้น หรือได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นพิเศษนอกเหนือจากธุรกิจหรือการงานตามปกติของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีของข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายจากทาง ราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง
       

                   
       2.3 คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนับได้ว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตาม หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยจะทำหน้าที่ประเมินราคาทรัพย์สิน ประเมินราคาหุ้น จำนวนหุ้น กำหนดชื่อบริษัทและโครงสร้างของบริษัท พร้อมนี้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทก็มีอำนาจที่จะชี้ว่าทรัพย์สินของรัฐที่อยู่ในความครอบครองของรัฐวิสาหกิจควรจะติดไปกับบริษัทหรือส่งกลับคืนกระทรวงการคลัง

                   
       องค์ประกอบของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา
       16 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ คือ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงหรือทบวงที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงหรือทบวงนั้นเป็นผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า
       ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ อันได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่ง
       ผู้ว่าการหรือผู้อำนวยการ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับตำแหน่งดังกล่าว ผู้แทนพนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้น 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ

                   
       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนพนักงานของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวมาแล้วแต่งตั้ง
       โดยประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทและกรรมการโดยตำแหน่ง โดยกรรมการผู้ทรง
       คุณวุฒินั้นจะต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและการบัญชี และในกิจการหรือการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างน้อย 1 คน ส่วนผู้แทนพนักงานนั้นจะต้องแต่งตั้งจากนายกสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานที่คณะกรรมการของ รัฐวิสาหกิจนั้นเสนอในกรณีที่รัฐวิสาหกิจนั้นไม่มีสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจ

                   
       อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้นบัญญัติไว้ในมาตรา
       19 ของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ คือ มีหน้าที่เสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทที่จะ จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทนั้นตามหลักการและแนวทางที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

                   
       (1) กำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจส่วนที่
       จะโอนให้แก่บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และส่วนที่จะให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง

                   
       (2) กำหนดพนักงานที่จะให้เป็นลูกจ้างของบริษัท

                   
       (3) กำหนดทุนเรือนหุ้นหรือทุนจดทะเบียนสำหรับการจดทะเบียนจัดตั้ง
       บริษัท จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้น ตลอดจนรายการต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น

                   
       (4) กำหนดชื่อของบริษัท

                   
        (5) กำหนดโครงสร้างการบริหารงานบริษัท รายชื่อกรรมการบริษัท และผู้สอบ
       บัญชีในวาระเริ่มแรก

                   
        (6) จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท

                   
        (7) จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26

                   
        (8) จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกรัฐวิสาหกิจ ในกรณี
       มีการโอนกิจการของรัฐวิสาหกิจไปทั้งหมด

                   
        (9) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบที่คณะกรรมการ
       นโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องตาม (1)(2)(3) และ (8)

                   
        (10) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการนโยบายทุน
       รัฐวิสาหกิจมอบหมาย

                   
       กล่าวโดยสรุป บทบาทขององค์กรทั้ง 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทุนของ
       รัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น เป็นดังนี้ คือ เมื่อรัฐวิสาหกิจใดต้องการที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของตน
       มาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทก็สามารถทำได้โดยการเสนอเรื่องไปยังกระทรวง เจ้าสังกัดเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วก็ต้องเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าสมควรที่จะให้มีการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้นหรือไม่ จากนั้นคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจก็จะเสนอความเห็นของตนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทางให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทแล้ว ก็จะต้องมีการ จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทตามหลักการและแนวทางที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทกลับไปยังคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา จากนั้นก็จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้นและจัดตั้งบริษัทต่อไป


                   
       3. ขั้นตอนในการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัท
       

                   
       กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจได้บัญญัติขั้นตอนในการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทไว้ดังนี้ คือ
       

                   
       3.1 เมื่อรัฐวิสาหกิจใดมีความประสงค์ที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของตนมา
       เปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท ให้ทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบ
       ก่อน จากนั้นจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเป็นผู้พิจารณานโยบายนั้น
       ในเบื้องต้น 2 ว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้นหรือไม่ หากคณะกรรมการ
       นโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเห็นชอบด้วยก็จะต้องนำเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทางให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13
       

                   
       3.2 เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแล้ว มาตรา 19 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุน
       รัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดให้ส่งรายละเอียดทั้งหมดไปยังคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท 3
       เพื่อ

                   
       ก. กำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ
       ส่วนที่จะโอนให้แก่บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และส่วนที่จะให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง

                   
       ข. กำหนดพนักงานที่จะให้เป็นลูกจ้างของบริษัท

                   
       ค. กำหนดทุนเรือนหุ้นหรือทุนจดทะเบียนสำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
       จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้น ตลอดจนรายการต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น

                   
       ง. กำหนดชื่อของบริษัท

                   
       จ. กำหนดโครงสร้างการบริหารงานบริษัท รายชื่อกรรมการบริษัท และผู้สอบ
       บัญชีในวาระเริ่มแรก
       

                   
       ฉ. จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท

                   
       ช. จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26

                   
       ซ. จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกรัฐวิสาหกิจในกรณี
       มีการโอนกิจการของรัฐวิสาหกิจไปทั้งหมด

                   
       ฌ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบที่คณะกรรมการ
       นโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องตาม (ก) (ข) (ช) และ (ซ)
       

                   
       3.3 ในการดำเนินการตามมาตรา 19 นี้ มาตรา 20 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุน
       รัฐวิสาหกิจเปิดโอกาสให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนก็ได้ เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทมีอยู่มากมายหลายประการ บางภารกิจจึงต้องอาศัยคณะอนุกรรมการซึ่งมีความคล่องตัวกว่าหรือบางภารกิจก็ต้องทำควบคู่กันไป คณะอนุกรรมการจึงมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น
       

                   
       3.4 เมื่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรา 19 เสร็จ
       เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องรายงานรายละเอียดต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา ในการนี้ มาตรา 21 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจอาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อเสนอของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้ตามที่เห็นสมควร หลังจากนั้น คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจต้องเสนอเรื่องดังกล่าวทั้งหมดต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้น เพื่อจัดตั้งบริษัท เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วก็ให้นำกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ บางส่วนหรือทั้งหมด แล้วแต่กรณี ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อไป
       

                   
       3.5 มาตรา 22 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้นายทะเบียนหุ้นส่วน
       บริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี จดทะเบียนบริษัทนั้นตามรายละเอียดที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใด ๆ อันเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท และมิให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดในส่วนที่ เกี่ยวกับสภาพและการจัดตั้งบริษัทมาใช้บังคับ พร้อมกับกำหนดให้หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วและให้กระทรวงการคลังถือหุ้นดังกล่าว ไว้ทั้งหมด และในระหว่างที่กระทรวงการคลังยังมิได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น มาตรา 23
       แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ก็ได้กำหนดไว้ว่า มิให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดในส่วนที่ว่าด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะพึงถือไว้ได้มาใช้บังคับ และให้ถือว่าความเห็นของกระทรวง การคลังอันเกี่ยวกับบริษัทนั้นเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

                   
       อนึ่ง ความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้แจ้งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือ
       นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดนั้น มาตรา 23 วรรคท้าย แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
       ได้กำหนดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเมื่อแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทแล้ว กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวทั้งหมด การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายเหล่านั้น โดยให้ถือว่าความเห็นของกระทรวงการคลังคือมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ มาตรา 23 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ยังได้กำหนดให้ความเห็นของกระทรวงการคลังที่แจ้งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนบริษัทมหาชน จำกัด เป็นมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่น บัญชีผู้ถือหุ้น รายงานประจำปี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงการดำเนินการของบริษัทนั้น ๆ
       

                   
       3.6 ในวันที่มีการจดทะเบียนบริษัทนั้น มาตรา 24 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
       กำหนดให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโอนไปเป็นของบริษัทหรือเป็นของกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี
       


       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจได้กำหนดคุณสมบัติสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้หลายประการในมาตรา 6 ถึงมาตรา 10 เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ห้ามเป็นหรือภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้น เป็นต้น
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. มาตรา 15 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายทุน รัฐวิสาหกิจมีอำนาจเชิญผู้แทนจากหน่วยงานหรือบุคคลใดทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นได้
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. มาตรา 19 วรรคสอง แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดรูปแบบการแปลงเป็นบริษัทว่าอาจทำได้หลายวิธี คือ

                   
        (ก) รัฐวิสาหกิจหนึ่งจะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นและจัดตั้งเป็นบริษัทเพียงบริษัทเดียวทั้งหมดก็ได้

                   
        (ข) รัฐวิสาหกิจหนึ่งจะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นและจัดตั้งเป็นบริษัทหลายบริษัทก็ได้ และจะกระทำในคราวเดียวกันหรือไม่ก็ได้

                   
        (ค) รวมกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนของหลายรัฐวิสาหกิจมาจัดตั้งเป็นบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทก็ได้
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2545


       



1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544