หน้าแรก บทความสาระ
อภิสิทธิ์ในการกระทำความผิดกับกระบวนการยุติธรรมไทย
รศ. วีระพงษ์ บุญโญภาส
6 มกราคม 2548 21:43 น.
 

       

       
            
       ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ข่าวที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ติดตามกันเพื่อเสนอข่าวในลักษณะวันต่อวัน คือ ข่าว ด.ต.
       สุวิชัย รอดวิมุต
(นายดาบยิ้ม) ถูกฆ่าตายในทเวนตี้คลับ ผับดังย่านถนนรัชดาภิเษก โดยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน ขณะปฏิบัติการตามหน้าที่คือ ว่าที่ ร.ต.ดวงเฉลิม อยู่บำรุง (ขณะนี้ได้ถูกกองทัพบกถอดยศไปแล้ว) กับพวก

                   
       เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนนับร้อย โดยผู้กระทำไม่หวั่นเกรงกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่วีรกรรมของทายาทนักการเมือง และผู้ทรงอิทธิพลได้ก่อเหตุเย้ยกฎหมายบ้านเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทายาทนักการเมืองผู้ครองพื้นที่ย่านเตาปูน ทายาทนักการเมืองผู้โด่งดังของจังหวัดสมุทรปราการ แต่ผลของคดีก็คือ ตำรวจไม่ดำเนินคดีเพราะตกลงกันได้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน

                   
       เหตุการณ์เหล่านี้ต่างทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความเอือมระอาและตั้งคำถามกันว่า กฎหมายของบ้านเมืองนี้ใช้บังคับได้เฉพาะบุคคลธรรมดาผู้ไม่มีบารมีเช่นนั้นหรือ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ว่า "บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน"

                   
       ขณะนี้หลายต่อหลายคนต่างมีความรู้สึกว่ากฎหมายและแนวทางปฏิบัติกำลังเดินคนละทาง ซึ่งถ้ายอมให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งประมวลกฎหมายอาญาที่นักกฎหมายทุกคนต้องเรียนก็จะเป็นเพียง "กระดาษที่เปื้อนหมึก" เท่านั้น ตัวอย่างของการท้าทายอำนาจกฎหมายบ้านเมืองอย่างชัดเจนก็คือ ตัวอย่างของทายาทนักการเมืองตระกูล "อยู่บำรุง" ซึ่งทั้งสามคนต่างก่อคดีขึ้นมาอย่างไม่เห็นกฎหมายบ้านเมืองอยู่ในสายตา ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้


                   
       (1) ร.ต.ต.อาจหาญ อยู่บำรุง

                   
       - คดีเกิดที่จังหวัดภูเก็ต สมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย ข้อหาฐานทำร้ายร่างกาย

                   
       ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า กระทำความผิด ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเห็นชอบ เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด

                   
       - คดีปลอมและใช้ ส.ด.43 ในการสมัครเข้ารับราชการตำรวจ


                   
       ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง (สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สนามหลวง) พล.ต.ท.ดรุณ โสตถิพันธุ์ ปรท. ผบ.ตร. เห็นชอบ เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด


                   
       (2) ร.ต.ต.วันเฉลิม อยู่บำรุง


                   
       - คดีฟิวเจอร์ผับ (โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค สถานที่เดียวกับทเวนตี้คลับที่เกิดคดีฆ่า ด.ต.
       สุวิชัย รอดวิมุต) คดีวิวาท ทำร้ายร่างกาย


                   
       ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง (สำนักงานคดีอาญา รัชดาภิเษก) ผบ.ตร.เห็นชอบ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด

                   
       - คดี ส.ด.43 เช่นเดียวกับ ร.ต.ต.อาจหาญ อยู่บำรุง


                   
       - คดีทำร้ายร่างกายสาหัส ที่สถานบันเทิงในท้องที่ สน.มักกะสัน


                   
       ผลของคดี อัยการสั่งฟ้อง แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เหตุผลเพราะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด

                   
       - คดีทำร้ายร่างกายเพื่อนสาว นักศึกษา ABAC ที่จังหวัดชลบุรี ในบริเวณสถานบริการประเภทผับของพัทยา


                   
       ผลของคดี อัยการสั่งฟ้อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดพัทยา


                   
       (3) ว่าที่ ร.ต.ดวงเฉลิม อยู่บำรุง (นายดวงเฉลิม อยู่บำรุง)


                   
       - คดีทำร้ายร่างกายนักศึกษา ABAC บริเวณผับในท้องที่ สน.ทองหล่อ


                   
       ผลของคดี อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงสั่งฟ้อง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุญาต
       ฟ้องต่ออัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นคดีแขวง ระยะเวลาสอบสวนเกินกว่า 30 วัน ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุด

                   
       - คดีฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ ณ ทเวนตี้คลับ (โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค)


                   
       ผลของคดียังไม่ประจักษ์แต่พึงคาดหมายได้

                   
       จากคดีต่างๆของทายาทตระกูลอยู่บำรุง ที่นำมาแสดงนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกันว่า
       อะไรเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงได้ยอมให้เกิดมีอภิสิทธิ์ในการกระทำความผิดเช่นนี้ขึ้นได้ และคดีที่กำลังกล่าวขานกันอยู่ในปัจจุบัน จะออกผลเหมือนกับคดีที่ผ่านมาแล้วหรือไม่


                   
       แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ใช่สิ่งแปลกของสังคมไทย เพราะคดีดังๆหลายต่อหลายคดีที่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะไม่สัมฤทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544


       


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544