|
 |
อภิสิทธิ์ในการกระทำความผิดกับกระบวนการยุติธรรมไทย 6 มกราคม 2548 21:43 น.
|
ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ข่าวที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ติดตามกันเพื่อเสนอข่าวในลักษณะวันต่อวัน คือ ข่าว ด.ต.
สุวิชัย รอดวิมุต (นายดาบยิ้ม) ถูกฆ่าตายในทเวนตี้คลับ ผับดังย่านถนนรัชดาภิเษก โดยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน ขณะปฏิบัติการตามหน้าที่คือ ว่าที่ ร.ต.ดวงเฉลิม อยู่บำรุง (ขณะนี้ได้ถูกกองทัพบกถอดยศไปแล้ว) กับพวก
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนนับร้อย โดยผู้กระทำไม่หวั่นเกรงกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่วีรกรรมของทายาทนักการเมือง และผู้ทรงอิทธิพลได้ก่อเหตุเย้ยกฎหมายบ้านเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทายาทนักการเมืองผู้ครองพื้นที่ย่านเตาปูน ทายาทนักการเมืองผู้โด่งดังของจังหวัดสมุทรปราการ แต่ผลของคดีก็คือ ตำรวจไม่ดำเนินคดีเพราะตกลงกันได้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน
เหตุการณ์เหล่านี้ต่างทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความเอือมระอาและตั้งคำถามกันว่า กฎหมายของบ้านเมืองนี้ใช้บังคับได้เฉพาะบุคคลธรรมดาผู้ไม่มีบารมีเช่นนั้นหรือ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ว่า "บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน"
ขณะนี้หลายต่อหลายคนต่างมีความรู้สึกว่ากฎหมายและแนวทางปฏิบัติกำลังเดินคนละทาง ซึ่งถ้ายอมให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งประมวลกฎหมายอาญาที่นักกฎหมายทุกคนต้องเรียนก็จะเป็นเพียง "กระดาษที่เปื้อนหมึก" เท่านั้น ตัวอย่างของการท้าทายอำนาจกฎหมายบ้านเมืองอย่างชัดเจนก็คือ ตัวอย่างของทายาทนักการเมืองตระกูล "อยู่บำรุง" ซึ่งทั้งสามคนต่างก่อคดีขึ้นมาอย่างไม่เห็นกฎหมายบ้านเมืองอยู่ในสายตา ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ร.ต.ต.อาจหาญ อยู่บำรุง
- คดีเกิดที่จังหวัดภูเก็ต สมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย ข้อหาฐานทำร้ายร่างกาย
ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า กระทำความผิด ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเห็นชอบ เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด
- คดีปลอมและใช้ ส.ด.43 ในการสมัครเข้ารับราชการตำรวจ
ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง (สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สนามหลวง) พล.ต.ท.ดรุณ โสตถิพันธุ์ ปรท. ผบ.ตร. เห็นชอบ เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด
(2) ร.ต.ต.วันเฉลิม อยู่บำรุง
- คดีฟิวเจอร์ผับ (โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค สถานที่เดียวกับทเวนตี้คลับที่เกิดคดีฆ่า ด.ต.
สุวิชัย รอดวิมุต) คดีวิวาท ทำร้ายร่างกาย
ผลของคดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง (สำนักงานคดีอาญา รัชดาภิเษก) ผบ.ตร.เห็นชอบ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด เท่ากับเป็นคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด
- คดี ส.ด.43 เช่นเดียวกับ ร.ต.ต.อาจหาญ อยู่บำรุง
- คดีทำร้ายร่างกายสาหัส ที่สถานบันเทิงในท้องที่ สน.มักกะสัน
ผลของคดี อัยการสั่งฟ้อง แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เหตุผลเพราะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด
- คดีทำร้ายร่างกายเพื่อนสาว นักศึกษา ABAC ที่จังหวัดชลบุรี ในบริเวณสถานบริการประเภทผับของพัทยา
ผลของคดี อัยการสั่งฟ้อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดพัทยา
(3) ว่าที่ ร.ต.ดวงเฉลิม อยู่บำรุง (นายดวงเฉลิม อยู่บำรุง)
- คดีทำร้ายร่างกายนักศึกษา ABAC บริเวณผับในท้องที่ สน.ทองหล่อ
ผลของคดี อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงสั่งฟ้อง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุญาต
ฟ้องต่ออัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นคดีแขวง ระยะเวลาสอบสวนเกินกว่า 30 วัน ต้องขออนุญาตอัยการสูงสุด
- คดีฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ ณ ทเวนตี้คลับ (โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค)
ผลของคดียังไม่ประจักษ์แต่พึงคาดหมายได้
จากคดีต่างๆของทายาทตระกูลอยู่บำรุง ที่นำมาแสดงนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกันว่า
อะไรเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงได้ยอมให้เกิดมีอภิสิทธิ์ในการกระทำความผิดเช่นนี้ขึ้นได้ และคดีที่กำลังกล่าวขานกันอยู่ในปัจจุบัน จะออกผลเหมือนกับคดีที่ผ่านมาแล้วหรือไม่
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ใช่สิ่งแปลกของสังคมไทย เพราะคดีดังๆหลายต่อหลายคดีที่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะไม่สัมฤทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=293
เวลา 21 เมษายน 2568 21:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|