หน้าแรก บทความสาระ
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง
คุณณัฐวุฒิ สุขแสวง นักบริหารงานท้องถิ่นระดับกลาง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล น.บ.,รป.ม.
8 กรกฎาคม 2561 20:10 น.
 
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 9 พ.ศ.2560) มาตรา  42 วรรคแรก กำหนดว่า  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
                การฟ้องคดีหน่วยงานทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง  กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง หรือจะใช้สิทธิทางศาลปกครองเพื่อฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐได้นั้น มิได้หมายความว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย กรณียื่นเรื่องร้องเรียนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเสมอไป ดังปรากฏใน คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 43/2559 ที่นำมาเป็นกรณีศึกษา ดังนี้
                คดีนี้ผู้ฟ้องยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ธ. กรณีผู้ฟ้องขอให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ.ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 3 โครงการ เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการจัดจ้างไม่โปร่งใสและส่อไปในทางทุจริต กล่าวคือ การกำหนดระยะเวลาในการขายเอกสารประกวดราคา ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐทุกแห่งใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560)[1] มีข้อสงสัยว่าไม่มีการขุดลอกคลองจริง รวมทั้งการจัดทำก็เป็นไปในลักษณะเร่งรีบจนผิดสังเกต โดยขอให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ.สอบสวนหาผู้กระทำผิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ. ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า ทั้ง 3 โครงการได้ปฏิบัติตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนมาก ที่ 0808.2/ว 1994 ลงวันที่ 30 กันยายน 2553 และประกาศกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเลคทรอนิคส์ (ฉบับที่ 2) ข้อ 5 และข้อ 10 ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามระเบียบทุกประการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ.ชี้แจงไม่ตรงประเด็น จึงมีหนังสือแจ้งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ. ตรวจสอบว่าโครงการขุดลอกคลองสาธารณะประโยชน์ทั้ง  2  โครงการ เป็นการดำเนินการซ้ำซ้อนกับโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ซึ่งการดำเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน และการประมาณราคาค่าก่อสร้างในโครงการจ้างเหมาขุดลอกสิ่งปฏิกูลท่อระบายน้ำ คสล. ไม่ถูกต้องเนื่องจากมีการเพิ่มค่า Factor F ให้กับผู้รับจ้างทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่งานก่อสร้างอาคาร งานทาง งานท่อเหลี่ยม หรืองานชลประทาน ต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ. ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (1) ให้วินิจฉัยว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ. ละเลยต่อหน้าที่หรือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล ธ.  และประชาชน (2) ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ธ. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวภายใน 30 วันและแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ
                ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
                ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมาตรา 42 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 [2]และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72[3] ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
                ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎรหมู่ที่ 3 ตำบล ธ. อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบการจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล ธ. จำนวน 3 โครงการ คือ (1) โครงการขุดลอกคลองสาธารณประโยชน์ หมู่ที่ 2 จากประตูน้ำบึงกุ่มถึงสุดเขตติดต่อตำบลถนนขาด (2) โครงการขุดลอกคลอกสาธารณประโยชน์ หมู่ที่ 2 จากบ้านนาย พ. ถึงประตูน้ำบึงกุ่ม และ (3) โครงการจ้างเหมาขุดลอกสิ่งปฏิกูลท่อระบายน้ำ คสล.พร้อมบ่อพัก คสล. หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 5 ตำบล ธ. เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่า การจัดจ้างไม่โปร่งใสและส่อไปในทางทุจริต โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกการประกวดราคาทั้งสามโครงการและดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีชี้แจงว่า ทั้งสามโครงการได้ปฏิบัติตามระเบียบทุกประการแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงไม่ตรงประเด็น จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบกรณีดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชี้แจงแต่อย่างใด ต่อมาผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอทราบความคืบหน้า ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล ธ.และประชาชน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวภายใน 30 วัน และแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ
                กรณีจึงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ยกเลิกการประกวดราคาจ้างขุดลอกคลองและขุดลอกสิ่งปฏิกูลท่อระบายน้ำตามที่ผู้ฟ้องคดีสงสัยว่าการดำเนินการส่อไปในทางทุจริต และไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรงหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรงหรืออย่างมีนัยสำคัญ การที่ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่เห็นว่า โครงการขุดลอกคลองและท่อระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีน่าจะไม่โปร่งใสและส่อไปในทางทุจริต จึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบและให้ยกเลกการประกวดราคา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้วว่าโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบถูกต้องแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดี จึงนำกรณีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาล
                จึงเห็นได้ว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าเป็นราษฎรที่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบล ธ. แต่ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงหรืออย่างมีนัยสำคัญในกรณีดังกล่าวที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ เนื่องจากหากโครงการดังกล่าวดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่โปร่งใสหรือมีการทุจริตจริง ผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงย่อมได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล ธ.ผู้เป็นเจ้าของเงินงบประมาณโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นเพียงประชาชนที่ประสงค์จะให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐที่ตนเห็นว่าอาจจะมีการทุจริต จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้หน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวให้ดำเนินการตรวจสอบได้เท่านั้น ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42[4] วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
                การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยเหตุผล
                จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
                จากแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 43/2559 ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะต้องเข้าลักษณะตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ยังต้องนำมาตรา 9 และมาตรา 72  มาพิจารณาประกอบกัน ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังคำวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุด ว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ..2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมาตรา 42 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 
       

       
       

       

       [1] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134  ตอนพิเศษ 230 ง ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2560
       

       

       [2] มาตรา ๙  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
       (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
       (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
       (๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
       เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
       (๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
       (๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
       (๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น
       

       

       [3] มาตรา ๗๒  ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
       (๒) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
       (๓) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       (๔) สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการฟ้อง ให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น
       (๕) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
       ในการมีคำบังคับตามวรรคหนึ่ง (๑) ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดว่าจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งได้ หรือจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้  ทั้งนี้ ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี
       ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ ให้มีการประกาศผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และให้การประกาศดังกล่าวมีผลเป็นการเพิกถอนกฎนั้น
       

       

       [4] มาตรา ๔๒  ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด
        
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544