หน้าแรก บทความสาระ
คำถามต่อการที่องคมนตรีเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐ
ผศ.อานนท์ มาเม้า 
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27 พฤษภาคม 2561 16:52 น.
 
Q: การที่องคมนตรีเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐ จะเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
        
       A: องคมนตรีเป็นตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๐[๑] วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
        
       โดยการเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ถือว่าเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามมาตรา ๑๑[๒] วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ
        
       และองคมนตรียังมีสถานะเป็นข้าราชการในประเภทข้าราชการในพระองค์ตามมาตรา ๑๐[๓] วรรคหนึ่ง ของพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วย
        
       ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่า สถานะขององคมนตรีเป็นตำแหน่งที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด
        
       ด้วยสถานะข้างต้น รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๒[๔] จึงบัญญัติห้ามมิให้องคมนตรีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ
        
       ทั้งนี้ เพื่อให้องคมนตรีเป็นตำแหน่งที่ปลอดจากการเมือง และเพื่อมิต้องมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งใด ๆ ของรัฐ อันทำให้ต้องเกี่ยวข้องการปกครองประเทศหรือการจัดทำบริการสาธารณะ
       เว้นแต่สนองงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะองคมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์แต่เพียงอย่างเดียว
        
       จากลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒ ของรัฐธรรมนูญฯ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีจะเป็นมิได้ หรือไม่
        
       ต่อประเด็นข้างต้น เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญฯ จะมิได้นิยามความหมายคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่คำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถพิจารณาในระบบกฎหมายทั้งระบบได้ โดยพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่กำหนดนิยามคำดังกล่าวไว้
        
       กฎหมายสำคัญที่กำหนดนิยามคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสามารถใช้ตีความคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๒ เช่น  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
        
       เมื่อพิจารณานิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕[๕] แล้ว จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นตำแหน่งของบุคคลซึ่งใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ดังนั้น ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
        
       และเมื่อพิจารณานิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓[๖] แล้ว จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยคือตำแหน่งของบุคคลที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยมีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เพราะฉะนั้น นายกสภามหาวิทยาลัยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
        
       ที่สำคัญ เคยปรากฏคำสั่งศาลปกครองซึ่งวินิจฉัยว่า นายกสภามหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.๑๖/๒๕๕๘ (ศาลตัดสินว่านายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
        
       เมื่อตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการพิจารณาในระบบกฎหมาย ดังนั้น องคมนตรีจึงต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๒  การที่องคมนตรีดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยของรัฐจึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       

       
       

       

       [๑] มาตรา ๑๐  พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
       คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       

       

       [๒] มาตรา ๑๑  การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
       ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
       ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
        
       

       

       [๓] มาตรา ๑๐  ข้าราชการในพระองค์ ได้แก่ข้าราชการดังต่อไปนี้
       (๑) องคมนตรี
       (๒) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน
       (๓) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร
       (๔) ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตำรวจ
       ฯลฯ                                                       ฯลฯ                                           ฯลฯ      
       

       

       [๔] มาตรา ๑๒  องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ
       

       

       [๕] มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
       “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
       ฯลฯ                                                       ฯลฯ                                           ฯลฯ
       

       

       [๖] มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
       “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
       “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า
       (๑) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง
       (๒) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ
       (๓) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าของรัฐตาม (๑) หรือ (๒)
       ฯลฯ                                                       ฯลฯ                                           ฯลฯ
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544