ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกากับการจัดทำคำวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญ (หน้าที่1) |
|
|
|
คุณวรรณา สุพรรณธะริดา
เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 6 ว
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มีเขตอำนาจพิจารณาคดีที่สำคัญ คือ พิทักษ์ข้อตกลงในเรื่องรูปแบบการปกครองประเทศ รักษาระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและมลรัฐต่าง ๆ และการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือการกระทำของรัฐว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาหรือไม่ จึงมีผู้เห็นว่า ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) นั่นเอง มีผู้กล่าวว่าศาลต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นในโลกมีน้อยประเทศที่ศาลจะมีอำนาจหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ และไม่มีศาลใดที่จะทรงอิทธิพลเท่ากับศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาได้รักษาเจตนารมณ์ของชาวอเมริกัน
ที่ต้องการปกครองประเทศโดยใช้หลัก rule of Law โดยเป็นรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อย่างเหมาะสม บทบาทและหน้าที่ของผู้พิพากษา
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกามีหลายประการ เช่น การพิจารณาคำร้อง คดีต่าง ๆ กฎหมายที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ การเข้าร่วมการประชุมของผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อพิจารณารับคำร้องหรือวินิจฉัยคดี การลงมติรับคำร้องและคำพิพากษาคดี เขียนหรือปรับปรุงคำพิพากษาศาล จัดจ้างและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ศาล
(Law Clerks) แบ่งงานเกี่ยวกับการค้นข้อกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ นั่งฟังการพิจารณาคดี ตรวจคำร้องกรณีฉุกเฉิน คำขอ ต่าง ๆ จากศาลอุทธรณ์สหรัฐตามเขตศาลที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น ในส่วนรูปแบบการเขียนคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกานั้น ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด
ที่เป็นเสียงข้างมากในคดีใดเป็นผู้กำหนดตัวผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่เขียนคำวินิจฉัยในคดีนั้น การทำงานของ
ผู้พิพากษาแต่ละท่านมีเจ้าหน้าที่ศาลที่เรียกว่า Law Clerks คอยช่วยเหลือสนับสนุนงานในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การตรวจรับคำร้อง การค้นคว้าข้อมูลทางกฎหมาย การยกร่างคำวินิจฉัย เพื่อเป็นการบรรเทาภาระงานของผู้พิพากษาส่วนหนึ่ง ในส่วนการเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลก็มีหลายรูปแบบ เช่น คำวินิจฉัยบนบัลลังก์ (bench opinion) คำวินิจฉัยแบบ เอกสารเผยแพร่ (Slip Form) คำวินิจฉัย ฉบับพิมพ์เบื้องต้น (Preliminary prints) และฉบับเย็บเล่ม (bound volumes) ของรายงานประจำปีของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Reports) ซึ่งคำวินิจฉัยฉบับบนบัลลังก์ที่อ่านแล้วมีข้อผิดพลาดประการใด
ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ จนกว่าจะถึงคำวินิจฉัยฉบับสุดท้าย
ทั้งนี้ การจัดตั้งศาลสูงสุดแห่งสหรัฐและขั้นตอนการทำงานของศาลมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจที่จะขอนำเสนอดังต่อไปนี้
1. บรรยากาศบ้านเมืองก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา[1]
ก่อนการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1788 นั้น บรรยากาศบ้านเมืองมีพัฒนาการมาตามลำดับ ย้อนไปตั้งแต่ปีค.ศ. 1607 ที่ได้เริ่มมีการส่งคนที่ไม่มีงานทำในสหราชอาณาจักรมาตั้งอาณานิคมใหม่ในทวีปอเมริกา เพื่อขยายอำนาจออกไปยังดินแดนโพ้นทะเล เสริมสร้างอำนาจของประเทศให้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ขึ้น และเพื่อให้คนว่างงานได้ไปค้นหาทองคำ
ทำการเกษตรเพื่อส่งกำไรกลับไปยังประเทศ และต่อมาในช่วง ค.ศ. 1620 เริ่มมีกลุ่มที่อพยพมาเพื่อแสวงหาเสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น อาณานิคมของสหราชอาณาจักร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ กลุ่มที่ขึ้นอยู่กับบรรดาขุนนาง และกลุ่มที่ปกครองตนเอง โดยหลักการอำนาจในการปกครองจะมาจากการอนุญาตของพระมหากษัตริย์ และต่อมาชาวอาณานิคมก็ได้พัฒนาทางการเมืองของตนเป็นลำดับ มีการตั้งสภาผู้แทนราษฎร บางรัฐจัดทำรัฐธรรมนูญของตนเอง บางกลุ่มชนมีการทำสัตย์ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ การปกครองบ้านเมืองในช่วงนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น
ภายหลังจาก ปี ค.ศ. 1763 สงครามระหว่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสสิ้นสุดลง ผลทำให้ฝรั่งเศสต้องเสียดินแดนทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือให้กับสหราชอาณาจักร และรัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มเข้าควบคุมอำนาจการปกครองอาณานิคมให้มั่นคงยิ่งขึ้น มีการเรียกเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมเพื่อมาแก้ไขปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งก็เริ่มมีการตอบโต้จากชาวอาณานิคมในการเรียกเก็บภาษีเป็นลำดับ ประกอบกับในขณะนั้น แนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย และเรื่องการมีตัวแทนในรัฐสภาเริ่มแพร่หลาย ค.ศ. 1774
ชาวอาณานิคมได้มีการเรียกประชุมสภาคอนติเนนตัล สมัยที่ 1 (The First Continental Congress) อาณานิคมทุกแห่ง ยกเว้น มลรัฐจอร์เจีย ส่งตัวแทนของตนไปร่วมประชุมดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับสหราชอาณาจักร สงครามระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาณานิคมได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1775[2]
วันที่ 7 มิถุนายน 1776 ริชาร์ด เฮนรี ลี จากเวอร์จิเนีย ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ประการ ต่อสภาคอนติเนนตัล (Continental Congress) ในนามของผู้แทนจากเวอร์จิเนีย ให้ประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ และในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอีกหนึ่งชุด เพื่อเตรียมรูปแบบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญเป็นแบบ สมาพันธรัฐหรือสหพันธอาณานิคม (United Colonies) ภายใต้ระบบสภาคองเกรสของอาณานิคม (The Continental Congress) โดยยังไม่มีหน่วยงานกลางรับผิดชอบการบริหาร ภายใต้บทบัญญัติของสมาพันธ์ (The Articles of Confederation) ซึ่งรูปแบบการปกครองดังกล่าวได้ใช้เพียง 8 ปี (1781 - 1789) ก็พบว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการรวมอำนาจไว้มากเกินไปที่สภาคองเกรสทำหน้าที่ทั้งนิติบัญญัติและบริหาร และไม่กล่าวถึงอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐที่มารวมตัวกันให้ชัดเจน ทั้งการจัดสรรเรื่องประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทน และงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับสภาคองเกรส และการกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจกว้างขวางเหนือดินแดนและอาณานิคมทางตะวันตก ทำให้รัฐบางรัฐไม่พอใจเนื่องจากตนเคยมีสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าว
โดยในช่วงนั้นสภาพของรูปแบบของรัฐธรรมนูญแต่ละรัฐในขณะนั้นก็มีปัญหามากเช่นกัน เนื่องจากเป็นรัฐอิสระที่เกิดใหม่ มีความหวาดระแวงฝ่ายบริหารอันเนื่องมาจากประสบการณ์เมื่อสมัยเป็นอาณานิคม จึงได้หันไปให้อำนาจสภานิติบัญญัติของตนอย่างเต็มที่ และจำกัดอำนาจฝ่ายบริหารลงอย่างมาก
ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ถูกจำกัดอำนาจใด ๆ ยกเว้น กรณีสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่กล่าวไว้อย่างชัดเจน
สภานิติบัญญัติมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานของรัฐ แก้รัฐธรรมนูญโดยออกกฎหมายธรรมดา ๆ ไม่ยอมให้
ผู้ว่าการรัฐยับยั้งกฎหมายอย่างเด็ดขาด สภานิติบัญญัติยกเลิกศาลที่มีมาอยู่เดิม เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ หรือจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลได้ และคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา
ซึ่งปัญหาใหม่ที่ตามมาจากรูปแบบการปกครองที่ให้อำนาจอย่างมากนี้แก่สภานิติบัญญัติของรัฐต่าง ๆ นำไปสู่ทรราชย์แบบใหม่ที่ชาวอเมริกันไม่เคยคิดฝันมาก่อน คือ ทรราชย์ที่ไม่ใช่ผู้ปกครองแต่เป็นทรราชย์ของประชาชน มิใช่เรื่องของการไม่มีกฎหมายหรืออนาธิปไตย แต่เป็นอำนาจของกฎหมายที่ริบทรัพย์สินของผู้อื่น การเก็งกำไรโดยการออกธนบัตรของรัฐมาใช้อย่างถูกกฎหมาย การออกกฎหมายย้อนหลัง และมาตรการการชำระหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้โดยพลิกแพลงอื่น ๆ ผลเสียหายที่ตามมา คือ ระบบการเงินของรัฐ
ยุ่งเหยิง เนื่องจากออกเงินตราของตนมาใช้โดยไม่มีหลักประกันรับรองมูลค่าที่แน่นอน พรรคการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เองในรัฐเฟื่องฟูและประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ผลที่ตามมาคือ
การผ่านกฎหมายเป็นจำนวนมากให้ระงับการปฏิบัติเกี่ยวกับหนี้สิน ที่ให้อำนาจลูกหนี้เลือกที่จะชำระค่าหนี้เป็นสิ่งของหรือที่ดิน และยังมีการข่มขู่เจ้าหนี้และเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ อีกด้วย ระบบการแทน (Representation) กลายเป็นเรื่องจำกัดบทบาทของสภานิติบัญญัติ ให้เป็นเพียงปากเสียงหรือผู้รับทำตามคำสั่งของกลุ่มผลประโยชน์ หรือของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงใช้อำนาจของสภานิติบัญญัติในทางที่ผิด แต่พยายามรวมอำนาจทั้งปวงเข้าไว้ในมือตนด้วย เช่น ยกเลิกระเบียบศาล ยกเลิกคำสั่งลงโทษ รื้อฟื้นคดีใหม่ อนุญาตให้คดีบางคดีอุทธรณ์ได้ใหม่ กำหนดข้อยกเว้นกฎหมายที่บัญญัติอยู่เดิม เข้าไปพิจารณาข้อพิพาทเสียเองบ้าง ประชาชนที่ไม่พอใจที่สภานิติบัญญัติที่ไม่ยอมทำตาม
ข้อเรียกร้องของตน เช่น ให้ออกกฎหมายปลดหนี้ ก็ใช้อาวุธเข้าโจมตีที่ตั้งของศาล เพื่อมิให้ศาลพิจารณาคดีเกี่ยวกับหนี้สินของตน เพื่อถ่วงเวลาให้มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติชุดใหม่
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่าง ๆ นั้นก็เป็นไปด้วยความยุ่งยาก เพราะตัวสมาพันธ์เป็นแค่องค์กรทางนิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจรัฐบาลกลางที่รับหน้าที่ไปปฏิบัติตามข้อตกลง รัฐต่าง ๆ ต่างเจรจาติดต่อกับต่างประเทศเอง มีกองทัพของตนเอง มีการเงินเหรียญกษาปณ์ของตนเอง แก่งแย่งผลประโยชน์กัน
ทำสงครามตั้งกำแพงภาษีกัน แก่งแย่งสิทธิเข้าควบคุมลำน้ำทางเดินเรือ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเห็นว่า สภาพการณ์ภายในอเมริกาไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงต่างก็ไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่มีต่อกัน หรือไม่ก็กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวอเมริกันโดยตรง
ค.ศ. 1786 รัฐเวอร์จิเนียในฐานะรัฐหนึ่งในสมาพันธรัฐแห่งอเมริกาได้ออกคำเชิญรัฐอื่น ๆ ให้มาร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในเรื่องการค้าและการพาณิชย์ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการประชุมนั้น เมื่อชั้นเริ่มต้น ต้องการเพียงปรับปรุงข้อตกลง The Articles of Confederation ที่ใช้อยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้ล้มเหลว แต่ก็ทำให้ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ปัญหาการค้า จะทำได้ก็ต้องทำไปพร้อมกับโครงสร้างทางการเมืองใหม่ ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1787 จึงได้มีความพยายามเริ่มการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
อันเป็นผลงานของรัฐบุรุษและนักคิดที่สำคัญ เช่น เจมส์ เมดิสัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน, เจมส์ วิลสัน, จอร์ช เมสัน ฯลฯ โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามอธิบายว่า นำแนวความคิดของมองเตสกิเออ (1689 - 1755) เกี่ยวกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยในการปกครอง คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ให้คานอำนาจกันหรือถ่วงดุลกัน (Balance of Power) ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในขณะนั้นมาใช้
ผู้เข้าประชุมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เห็นตรงกันว่า ลักษณะประชาธิปไตยที่เกินเลยไปในหลายรัฐต้องได้รับการแก้ไข รัฐบาลใหม่ต้องเกิดขึ้นในกรอบของการปกครองระบอบมหาชนรัฐ โดยมีข้อสังเกตว่า การบริหารกิจการสาธารณะเป็นเรื่องที่ต้องการความสามารถพิเศษซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่มี และรัฐบาลประชาธิปไตยมักไร้เสถียรภาพในด้านการนิติบัญญัติ ขาดพลังและความหนักแน่นในการบริหาร เนื่องจากระบอบนี้ควรจะรับฟังความเห็นชอบของมหาชน แต่ความยืดหยุ่นของมติมหาชนมักก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของกฎหมาย โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและสอดคล้องกับหลักการเรื่องมหาชนรัฐอยู่[3]
2. เอกสารของฝ่ายนิยมระบอบการปกครองแบบสหรัฐ (Federalist Paper) : ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฝ่ายตุลาการ
ในชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ (The Federal Constitution) แนวความคิดในการจัดตั้งประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สนับสนุนการปกครองประเทศแบบที่มีรัฐบาลกลางเข้มแข็ง ที่เรียกว่า Federalist กลุ่มที่ 2 สนับสนุนการปกครองแบบมลรัฐเข้มแข็ง (Anti - Federalist) กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลกลางเข้มแข็งประกอบด้วย อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เจมส์ เมดิสัน และจอห์น เจย์ ได้เขียนเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า เอกสารของฝ่ายนิยมระบอบการปกครองแบบสหรัฐ (Federalist Paper)เพื่อโน้มน้าวให้บุคคลในสังคมขณะนั้น สนับสนุนการปกครองแบบรัฐบาลกลางเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถควบคุมรัฐบาลโดยทั่ว ๆ ไปให้มากขึ้น ป้องกันการกดขี่โดยองค์กรกลาง และพิทักษ์รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อวัตถุประสงค์ของท้องถิ่นด้วย
ผู้เขียนเอกสารสนับสนุนการปกครองที่มีรัฐบาลกลางเข้มแข็งเห็นว่า ในระบบรัฐเดี่ยวเมื่อ
ผู้ได้รับมอบอำนาจกลายเป็นผู้กดขี่ขึ้นมา ประชาชนผู้ต่อต้านจะไม่มีทางออก ไม่มีแหล่งช่วยเหลือ แต่ในระบบที่มีหลายรัฐบาลแข่งกัน ประชาชนก็อาจมีรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้กับผู้กดขี่เหล่านั้น ซึ่งเอกสารของฝ่ายนิยมระบอบการปกครองแบบสหรัฐ ได้ชี้ว่า ศาสตร์การเมืองที่ปรับปรุงใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นเรื่องที่ปรัชญาเมธีโบราณไม่รู้หรือรู้อย่างไม่สมบูรณ์ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ในการคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและขจัดข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย (เอกสารหมายเลข 9) โดยระบุว่า
... การแบ่งแยกอำนาจอย่างปรกติให้เป็นส่วนต่าง ๆ ที่แยกจากกันชัดเจน การนำระบบตรวจสอบและถ่วงดุลทางนิติบัญญัติเข้ามาใช้ สถาบันตุลาการซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่อยู่ในตำแหน่งตราบเท่าที่มีความประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม การแทนตัวประชาชนในสภานิติบัญญัติโดยตัวแทนที่พวกเขาเลือกตั้งมาเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ค้นพบใหม่ทั้งหมด หรือมิเช่นนั้นก็ได้มีความก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์อย่างสำคัญในสมัยนี้ สิ่งเหล่านี้ คือ เครื่องมือและเป็นเครื่องมืออันทรงอานุภาพที่จะคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเลิศต่าง ๆ ของรัฐบาลมหาชนไว้ และลดหรือหลีกเลี่ยงความไม่สมบูรณ์ต่าง ๆ ลง ...
เจมส์ เมดิสัน ในบทความหมายเลข 10 ได้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะการปกครองที่ผิด ๆ ย่อมมีอยู่ควบคู่กันไปกับทุกรูปแบบของการปกครอง สำหรับการปกครองของมหาชนซึ่งอำนาจอยู่ในมือเสียงข้างมากของประชาชน ปัญหาไม่ใช่เกิดจากการกดขี่ข่มเหงประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้บริหารหรือกลุ่มชนชั้นสูง แต่ข้อบกพร่องสำคัญของการปกครองระบอบนี้ คือ เสียงข้างมากอาจข่มเหงเสียงข้างน้อยโดยใช้อำนาจอธิปไตยไปในทางที่ผิด โดยอธิบายลักษณะเสียงข้างมาก (Majority Faction) นี้ว่า หมายถึง
พลเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือส่วนข้างน้อยของส่วน
ทั้งหมดก็ตามที่รวมตัวกัน และถูกเร้าโดยแรงกระตุ้นแห่งกิเลสหรือผลประโยชน์
ร่วมกันที่ขัดกับสิทธิของพลเมืองอื่น ๆ หรือขัดกับผลประโยชน์ที่ถาวรและ
เป็นส่วนร่วมของชุมชนนั้น
ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าว ได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสมาพันธรัฐ
สำหรับกลไกในส่วนฝ่ายตุลาการตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ผู้เขียนเอกสารดังกล่าวเห็นว่า
เป็นกลไกใหม่ในการขจัดปัญหาการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของฝ่ายตุลาการไว้ในเอกสารดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญที่เป็นประเด็นโต้แย้งในสังคมขณะนั้น[4] เช่น
(1) การจัดให้มีศาลสูงสุดแห่งเดียวเพื่อพิจารณาคดีเป็นที่สุด เพื่อทำให้กฎหมายและสนธิสัญญาต่าง ๆ มีผลในทางปฏิบัติได้จริง ในฐานะเป็นกฎหมายของแผ่นดิน ทำให้เกิดเอกภาพในการตัดสินทางศาล โดยหากปล่อยให้แต่ละมลรัฐมีศาลสูงสุดเป็นของตนเอกเทศ ก็จะเป็นไปได้ที่คำตัดสินของแต่ละศาลจะขัดแย้งกัน จึงเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งศาลหนึ่งอยู่เหนือศาลอื่นทั้งหมด และเพื่อป้องกันมิให้กฎหมายของส่วนกลางถูกส่วนย่อยขัดขวาง และป้องกันการเกิดอคติของความเห็นและความลำเอียงระดับท้องถิ่น[5]
(2) การกำหนดให้ประธานาธิบดีและวุฒิสภาแต่งตั้งผู้พิพากษา ซึ่งข้อดีของการมอบอำนาจการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษา ให้ฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีและวุฒิสภาเป็นผู้ให้ความยินยอมนั้น คือ เป็นการแต่งตั้งโดยเปิดเผย เมื่อเกิดข้อตำหนิในการเสนอชื่อที่เลวนั้น ย่อมจะตกอยู่แก่ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียวโดยเด็ดขาด คำตำหนิเกี่ยวกับการปฏิเสธการเสนอชื่อที่ดีนั้นตกอยู่กับวุฒิสภา และอาจถูกซ้ำเติมได้อีกหากวุฒิสภาได้ขัดขวางความตั้งใจดีของฝ่ายบริหารอีกด้วย และหากเกิดการแต่งตั้งที่ไม่ดีขึ้น ฝ่ายบริหารในฐานะผู้เสนอชื่อและวุฒิสภาในฐานะที่เห็นชอบ ก็จะต้องมีส่วนได้รับคำประณามและในความเสื่อมเสียร่วมกัน แม้จะในระดับที่ต่างกัน[6]
(3) อำนาจศาลสูงสุดที่สูงกว่าอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ กำหนดให้อำนาจศาลสูงสุดที่สูงกว่าอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ โดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจทบทวนหรือปรับปรุงแก้ไขคำตัดสินของศาลสูงสุดได้
ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในขณะนั้น ในประเทศอังกฤษอำนาจตุลาการในฐานที่พึ่งสุดท้าย อยู่กับสภาขุนนางซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาของอังกฤษและฝ่ายนิติบัญญัติของหลายรัฐ อาจแก้ไขคำตัดสินที่โต้แย้งได้ของศาลต่าง ๆ เมื่อใดก็ได้ ผู้สนับสนุนรัฐบาลกลางเข้มแข็งเห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถมาเป็นผู้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ควรมุ่งหมายให้ผู้แทนของประชาชน มีอำนาจที่จะทดแทนเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพวกตนด้วยเจตนารมณ์ของพวกเขาเอง เป็นการชอบด้วยเหตุผลยิ่งกว่ากันมาก ที่จะกำหนดให้ศาลเป็นตัวแทนระหว่างประชาชนและผู้แทน
โดยผู้พิพากษาจะต้องถือว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายพื้นฐาน ดังนั้น เป็นอำนาจของผู้พิพากษาที่จะศึกษาให้ทราบความหมายของรัฐธรรมนูญและความหมายของกฎหมายฉบับใด ๆ ก็ตามที่มาจากสภา
นิติบัญญัติ หากเกิดความไม่ลงรอยกันที่ไม่อาจประนีประนอมได้ ฝ่ายที่มีข้อผูกพันและความสมบูรณ์เหนือกว่าควรจะได้รับการเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าอำนาจฝ่ายตุลาการเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ เพียงแต่แสดงว่าอำนาจประชาชนเหนือกว่าตามที่แถลงไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐเป็นรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่มีขอบเขตจำกัดนั้น หมายถึง รัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อยกเว้นจำนวนหนึ่งที่ระบุไว้สำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อรักษาข้อจำกัดนั้น จำต้องให้ศาลเป็นผู้มีหน้าที่ประกาศให้กฎหมายทั้งหลาย ที่ขัดแย้งกับแนวโน้มอันแจ่มชัดของรัฐธรรมนูญนั้นต้องตกไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติฉบับใดที่ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญแล้ว จะสามารถเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ไปได้ คือ ผู้แทนของประชาชนไม่อาจยิ่งใหญ่กว่าประชาชนเสียเองได้
(4) ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งในระหว่างที่ยังมีความประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งได้ยาวนาน ตลอดเวลาที่มีความประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปรับปรุงที่มีคุณค่าสูงสุดประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อป้องกันการก้าวก่ายและกดขี่ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกันการดำเนินการตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เที่ยงธรรมและไม่ลำเอียง ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ได้โดยการมอบหมายชั่วคราว การแต่งตั้งเป็นระยะ ๆ นั้น ไม่ว่าจะกำหนดอย่างไร หรือใครเป็นผู้แต่งตั้ง ก็เป็นมหันตภัยในความเป็นอิสระของศาลอันเป็นอำนาจที่จำเป็น ถ้ามอบอำนาจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แต่งตั้งก็จะเกิดความลำเอียงเข้าฝ่ายนั้น หากมอบอำนาจให้แก่ประชาชนหรือแก่บุคคลที่ประชาชนเลือกมาก็มีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงความนิยมของปวงชนมากกว่าที่จะยืนยันความถูกต้องของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น
ประกอบกับเพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ที่ต้องอาศัยการศึกษาอย่างอุตสาหะและยาวนานเพื่อให้เกิดความช่ำชองเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้น ดังนั้น ในสังคมจึงมีเพียงไม่กี่คนที่มีความชำนาญเพียงพอในทางกฎหมาย ที่จะทำให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้พิพากษา ทำให้รัฐไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างบุคคลผู้มีคุณลักษณะเหมาะสมและการให้ดำรงตำแหน่งชั่วคราว ซึ่งจะขัดขวางบุคคลเหล่านั้นให้ทิ้งการประกอบอาชีพที่ร่ำรวยมาเป็นผู้พิพากษา ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะทิ้งขวางการบริหารความยุติธรรม
ให้อยู่ในมือของผู้ที่มีความสามารถน้อยกว่าและคุณสมบัติด้อยกว่า การดำรงตำแหน่งได้ยาวนานทำให้
ผู้พิพากษาเป็นอิสระในการถูกกดดันจากฝ่ายต่าง ๆ ในการบรรเทาความรุนแรง และในการจำกัดการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการช่วยผ่อนคลายผลร้ายของกฎหมายซึ่งอาจถูกตราออกมาบังคับใช้ และเป็นเครื่องถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติมิให้ตรากฎหมายที่มีผลร้ายเช่นว่านั้น
(5) การขาดมาตรการที่จะปลดผู้พิพากษาด้วยสาเหตุไร้สมรรถภาพ การกำหนดมาตรการการปลดผู้พิพากษาที่ไร้สมรรถภาพนั้นคงจะไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือหากนำไปปฏิบัติก็น่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบมากกว่า เนื่องจากการวัดสมรรถภาพทางจิตใจนั้นไม่อยู่ในสารบบแห่งความรู้ทั้งหลาย การกำหนดลงไปตายตัวระหว่างความมีสมรรถภาพและความไร้สมรรถภาพจะเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความพอใจเป็นส่วนตัว หรือพวกพ้องหรือความเป็นปฏิปักษ์มากกว่า ที่จะช่วยจรรโลงผลประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือคุณประโยชน์แห่งส่วนร่วม ยกเว้น กรณีการวิกลจริต
การวัดสมรรถภาพโดยใช้อายุก็เป็นมาตรการที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะยอมรับซึ่งคงไม่มีตำแหน่งใดที่เรื่องอายุจะมีส่วนสัมพันธ์อย่างเหมาะสมน้อยกว่าตำแหน่งผู้พิพากษา โดยทั่วไปนั้นความสามารถในการไตร่ตรองและเปรียบเทียบยังคงมีกำลังวังชาอีกมากแม้อายุจะเลยระดับ การปลดบุคคลออกจากตำแหน่งที่เขาได้รับใช้ชาติมานานอย่างมีประโยชน์ จากตำแหน่งที่เขาอาศัยดำรงชีวิตอยู่และเป็นเวลาสายเกินกว่าที่จะหันไปยังอาชีพอื่นเพื่อการดำรงชีพ ไม่มีเหตุผลแก้ตัวที่ดีกว่านี้แล้วสำหรับมนุษยชาติ ยิ่งกว่าข้อจินตนาการถึงอันตรายจากการมีคณะผู้พิพากษาชรา ๆ เท่านั้น
(6) ฝ่ายตุลาการเป็นฝ่ายที่มีอันตรายน้อยที่สุด (the least dangerous branch) ในบรรดาอำนาจรัฐฝ่ายต่าง ๆ ต่อสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าฝ่ายบริหารสามารถให้เกียรติยศชื่อเสียง มีอำนาจทหาร ฝ่ายนิติบัญญัติควบคุมการเงิน กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะนำไปบังคับกับประชาชน
ซึ่งฝ่ายตุลาการไม่มีทั้งกำลังและเจตจำนง จะมีก็เพียงคำวินิจฉัย และในที่สุดแล้วจะต้องอาศัยความช่วยเหลือมือไม้จากฝ่ายบริหาร แม้แต่การทำให้คำตัดสินมีประสิทธิภาพ ซึ่งฝ่ายตุลาการไม่อาจโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในอีกสองฝ่ายได้เลย จึงกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถปกป้องตนเองได้ โดยกำหนดให้ฝ่ายตุลาการมีความมั่นคงและเป็นอิสระ เพื่อให้ฝ่ายตุลาการแยกตัวออกจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง ไม่หวังพึ่งพิงฝ่ายดังกล่าว เนื่องจากความอ่อนแอโดยธรรมชาติของฝ่ายตุลาการย่อมถูกอำนาจข้างเคียงใช้กำลังเอาชนะหรือใช้อิทธิพลโน้มน้าว ความเป็นอิสระอันสมบูรณ์ของศาลสถิตยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญที่มีขอบเขตจำกัด
3. รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา : ในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายตุลาการ
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1789 มีบทบัญญัติ
ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการ บัญญัติไว้ใน มาตรา 1 มาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 6 และรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขที่ 11 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) มาตรา 1 ประธานศาลสูงสุดเป็นประธานในการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดี และ รัฐสภามีอำนาจจัดตั้งศาลยุติธรรมอื่น
มาตรา 1 อนุมาตรา 3 วรรคหก บัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจพิจารณาคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้แต่ผู้เดียว ... กรณีประธานาธิบดีแห่งสหรัฐถูกพิจารณาถอดถอน ให้ประธานศาลสูงสุดเป็นประธานในการพิจารณาถอดถอน ...
มาตรา 1 อนุมาตรา 8 วรรคเก้า บัญญัติให้ ... รัฐสภามีอำนาจจัดตั้งศาลยุติธรรมชั้นรองจากศาลสูงสุด
(2) มาตรา 2 ประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดโดยคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา และรัฐสภาอาจมอบให้ศาลสูงสุดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ลำดับรอง
มาตรา 2 อนุมาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติให้ ... ประธานาธิบดีมีอำนาจโดยคำแนะนำและด้วยความยินยอมของวุฒิสภา เสนอชื่อและแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ทั้งหมดของสหรัฐที่รัฐธรรมนูญนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และที่จะได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย แต่รัฐสภาอาจตรากฎหมายมอบอำนาจการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นรอง ๆ ให้แก่ ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หรือแก่ศาลยุติธรรม หรือแก่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐได้ตามที่เห็นสมควร
(3) มาตรา 3 การจัดตั้งศาลสูงสุดและกำหนดเขตอำนาจพิจารณาคดี
มาตรา 3 อนุมาตรา 1 บัญญัติให้อำนาจตุลาการของสหรัฐให้เป็นของศาลสูงสุดศาลหนึ่งกับ
ศาลชั้นรองลงมาตามที่รัฐสภาได้ตรากฎหมายกำหนดและสถาปนาขึ้นไว้เป็นคราว ๆ และให้ผู้พิพากษาทั้งศาลสูงสุดและศาลชั้นรอง อยู่ในตำแหน่งตราบเท่าที่ยังเป็นผู้มีความประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม และให้ได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในเวลาหนึ่ง ๆ โดยจะถูกตัดทอนลดลงในระหว่างดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ได้
การกำหนดจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุด
รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลสูงสุดและกำหนดเขตอำนาจหน้าที่
โดย มาตรา 3 อนุมาตรา 1 บัญญัติให้อำนาจตุลาการของสหรัฐเป็นของศาลสูงสุดกับศาลชั้นรองลงมาตามที่รัฐสภาได้ตรากฎหมายกำหนดและสถาปนาขึ้นไว้เป็นคราว ๆ ในส่วนจำนวนของผู้พิพากษาศาลสูงสุด
ที่ผ่านมามีจำนวนไม่แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่แน่นอนไว้ แต่บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดจำนวนผู้พิพากษา
ศาลสูงสุดและจัดตั้งศาลอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1789 รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการ (Judiciary Act of 1789) กำหนดให้มีผู้พิพากษาศาลสูงสุดจำนวน 6 นาย ต่อมาโดยเหตุผลว่าเขตประเทศและศาลที่แบ่งตามเขตพื้นที่ต่าง ๆ (Judicial Circuits) ภายในประเทศเพิ่มขึ้น
ในปี ค.ศ. 1807 รัฐสภาจึงเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดเป็น 7 นาย ในปี ค.ศ. 1837 เป็น 9 นาย และในปี ค.ศ. 1863 เป็น 10 นาย ในปี ค.ศ. 1866 กำหนดให้หากผู้พิพากษา 3 นาย เกษียณอายุไม่ต้องมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาแทนที่เพิ่มอีก แต่อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1869 กฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการ (The Judiciary Act of 1869) กำหนดจำนวนองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดกลับมาเป็นจำนวน 9 นาย
อีกครั้ง และยังคงจำนวนดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน องค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดปัจจุบันประกอบด้วย
ผู้พิพากษาจำนวน 9 นาย ประกอบด้วยประธานศาลสูงสุด (Chief Justice) 1 นาย และผู้พิพากษาอื่น ๆ (Associate Justices) อีก 8 นาย
ความมั่นคงในการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาศาลสหรัฐ
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มาตรา 2 อนุมาตรา 2 วรรคสอง นอกจากกำหนดให้ประธานาธิบดีโดยคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภาสหรัฐแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสหรัฐและศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว มาตรา 3 อนุมาตรา 1 วรรคหนึ่ง ยังกำหนดให้ผู้พิพากษาศาลสหรัฐแต่ละนาย
มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต (life tenure) ตราบเท่าที่มีความประพฤติดี (Good Behavior) ดังนั้น การดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาสหรัฐจึงสิ้นสุดลงเมื่อตายหรือลาออกหรือเกษียณอายุโดยสมัครใจ หรือถูกถอดถอน (impeachment) ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ให้เป็นไปโดยอิสระและยุติธรรม เกิดความมั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเกณฑ์อายุเกษียณของผู้พิพากษาไว้แต่ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ จึงพบว่าผู้พิพากษาที่ขอเกษียณอายุโดยสมัครใจ อาทิ Oliver Wendell Holmes เกษียณเมื่ออายุ 90 ปี (1932) John Paul Steven เกษียณเมื่ออายุ 90 ปี (ค.ศ. 2010) Sandra OConnor ซึ่งผู้พิพากษาสตรีคนแรกได้รับแต่งตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1981 เกษียณเมื่ออายุ 80 ปี (ค.ศ. 2006) David Souter เกษียณเมื่ออายุ 71 ปี (ค.ศ. 2009) การที่
ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาเกษียณอายุไว้ให้เหมาะสม เป็นข้อวิจารณ์ศาลสูงสุดที่สำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากผู้พิพากษาบางท่านทำงานจนอายุมากถึง 90 ปี และบางท่านทำงานยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบความคิดของศาลสูงสุดหรือแนวคำพิพากษาศาลสูงสุด ประกอบกับบางท่านก็มีสุขภาพไม่ดีแล้ว เป็นต้น ซึ่งก็มีความพยายามหามาตรการจูงใจให้ผู้พิพากษาที่มีอายุมากเกษียณ เช่น Rule of 80 สำหรับเกณฑ์กำหนดผู้พิพากษาอาวุโส ตามประมวลกฎหมาย 28 U.S.C. 371 (c) ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาสหรัฐเริ่มเกษียณอายุตั้งแต่ 65 ปี หรือปฏิบัติหน้าที่ต่ออีก 15 ปี ในตำแหน่ง
ผู้พิพากษาอาวุโส โดยภาระการปฏิบัติหน้าที่จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือการกำหนดให้ผู้พิพากษาที่อายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ และดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 10 ปี สามารถเกษียณอายุได้โดยยังคงได้รับเงินเดือนบำนาญเท่าอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในครั้งสุดท้ายต่อไป เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้พิพากษาที่อายุมากเกษียณอายุ โดยมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป ไม่ใช่การใช้มาตรการบังคับปลดออก
ค่าตอบแทนของผู้พิพากษาศาลสหรัฐ
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มาตรา 3 อนุมาตรา 1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้พิพากษาสหรัฐได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในเวลาหนึ่ง ๆ โดยจะถูกตัดทอนลดลงในระหว่างดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ได้ โดยที่ผ่านมาฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่เสนอค่าตอบแทนปรับปรุงใหม่สำหรับฝ่ายตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติค่าตอบแทนของผู้พิพากษาศาลสหรัฐเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของสหรัฐ (225 The Federal Salary Act 1967 : 2 U.S.C. 351-361) ซึ่งเป็นการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนแบบราย 4 ปี พร้อมกัน ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยคณะกรรมพิจารณาเสนอปรับเงินเดือนสำหรับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการทุก ๆ 4 ปี ชุดหนึ่ง
ที่เรียกว่า Quadrennial Commission on Executive, Legislative, and Judicial Salaries เป็นผู้พิจารณาเสนอปรับเงินเดือน และการปรับขึ้นต้องพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปจริยธรรม (The Ethics Reform Act of 1989) ประกอบด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดอัตราอ้างอิงในการปรับขึ้นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสหรัฐ รวมทั้ง อัตราเงินเดือนของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ เช่น ให้ใช้เกณฑ์อ้างอิงอัตราเงินเดือนและค่าจ้างของภาคเอกชน (Employment Cost Index (ECI)) จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติการจ้างงาน (Bureau of Labor Statistics) หรือใช้อัตราเพิ่มทั่วไป (General Schedule (GS)) ที่กำหนดให้การเพิ่มขึ้นค่าตอบแทนของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ต้องไม่เกินอัตราที่ปรับขึ้นทั่วไปทั้งประเทศ การเพิ่มเงินเดือนของฝ่ายตุลาการต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ภายใต้กฎหมาย Section 140 Public Law 97 - 92 ในกรณีการปรับขึ้นเงินเดือนแบบประจำปี
4. ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา[7] (Supreme Court of the United States)
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นศาลสุดท้ายในระบบศาลทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มาตรา 3 เรียกอีกชื่อว่า ศาลสูง High Court หรือที่เรียกโดยย่อว่า SCOTUS รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มาตรา 3 อนุมาตรา 2 กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีของศาลสูงสุด ในปัจจุบัน รัฐสภากำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลสูงสุดที่จะเลือกรับพิจารณาคดีที่มีการอุทธรณ์จากศาลมลรัฐ (State Court) และศาลระดับสหรัฐเอง (Federal Court) ในบางประเภทคดีและคดีที่มีกฎหมายกำหนดเฉพาะให้อยู่ในเขตอำนาจศาลสูง (original jurisdiction) หรือการออกหมายพิเศษต่าง ๆ เช่น หมายขัง หมายสั่งให้ดำเนินการและห้ามการดำเนินการใด ๆ เป็นต้น คำพิพากษาของศาลสูงสุดเป็นที่สุดไม่อาจอุทธรณ์ต่อไปได้ คำพิพากษาศาลสูงสุดจะผูกพันเฉพาะเป็นรายคดี ไม่ผูกพันในคดีอื่น ๆ โดยทันที แม้ข้อเท็จจริงแห่งคดีจะมีความคล้ายคลึงกันมาก ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1789
บทบาทของศาลสูงสุดและผู้พิพากษาศาลสูงสุด[8] เช่น ประธานศาลสูงสุด เป็นประธานฝ่ายตุลาการของสหรัฐ เป็นประธานที่ประชุมฝ่ายตุลาการของสหรัฐ แต่งตั้งผู้พิพากษาสหรัฐไปพิจารณาคดีในศาลชำนาญพิเศษ ที่เรียกว่า U.S. Foreign Intelligence Court (50 U.S.C มาตรา 1803) แต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษา
ในกรณีคดีเกี่ยวพันกับหลายเขตอำนาจศาล (Multi-District Litigation) เป็นประธานคณะกรรมการและกรรมการหลายคณะ เช่น เป็นประธานโดยตำแหน่ง (ex officio) ในพิพิธภัณฑ์สำคัญของประเทศ ได้แก่ Chancellor of the Smithsonian Institution, National Gallery of Art and Hirshorn Museum เป็นคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดรัฐสภา แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานธุรการของศาลสหรัฐและเป็นประธานของสำนักงาน ฯ ดังกล่าว เป็นเสมือนโฆษกของฝ่ายตุลาการ เขียนรายงานประจำปีเสนอรัฐสภาถึงสถานะของระบบศาลสหรัฐ เป็นประธานในวุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 อนุมาตรา 3 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเคยมีประธานศาลสูงสุด 2 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการถอดถอนประธานาธิบดี ได้แก่ ในปี ค.ศ. 1868 ประธานศาลสูงสุด Salmon Chase ทำหน้าที่พิจารณาการถอดถอนประธานาธิบดี Andrew Johnson และในปี ค.ศ. 1999 ประธานศาลสูงสุด William Rehnquist ทำหน้าที่พิจารณาการถอดถอนประธานาธิบดี Bill Clinton) จัดวาระการประชุมของศาลสูงสุด รับฟังการปฏิญาณตนของประธานาธิบดี (โดยจารีตประเพณีไม่ใช่กฎหมาย) มอบหมายผู้พิพากษาศาลสูงสุดทำหน้าที่เขียนคำพิพากษาในคดีใดคดีหนึ่ง หากเป็นเสียงข้างมาก ตรวจคำร้องกรณีฉุกเฉิน คำขอ ต่าง ๆ สำหรับศาลอุทธรณ์สหรัฐตามเขตศาลที่ได้รับมอบหมาย
ในส่วนของการพิจารณาคดีของศาลสูงสุด ประธานศาลสูงสุดเป็นประธานในที่ประชุมของผู้พิพากษาศาลสูงสุด ในทางปฏิบัติประธานศาลสูงสุดเป็นผู้พูดคนแรกในที่ประชุมพิจารณาคดี ดังนั้น จึงเป็นผู้มีอิทธิพลในการวางกรอบและประเด็นในการพิจารณาคดีแต่ละคดี ประธานศาลสูงสุดมีเสียงหนึ่งเสียงเท่ากับผู้พิพากษาท่านอื่นในการลงมติในการทำคำพิพากษาของศาล โดยหลักการผู้พิพากษาที่เป็นเสียงข้างมากในการวินิจฉัยคดีใด ให้ผู้พิพากษาที่อาวุโสสูงสุดในเสียงข้างมากเป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่เป็นผู้เขียน
คำพิพากษาในคดีนั้นแทนองค์คณะทั้งหมด ในกรณีที่ประธานศาลสูงสุดเป็นเสียงข้างมาก (majority) ประธานศาลสูงสุดในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยตำแหน่งจึงเป็นผู้มีสิทธิเลือกให้ผู้พิพากษานายหนึ่งนายใดเป็นผู้เขียนคำพิพากษาแทนองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่มีเสียงข้างมากในแต่ละคดี ซึ่งประธานศาลสูงสุดอาจกำหนดให้ตนเองเป็นผู้เขียนคำพิพากษาหรืออาจเลือกผู้พิพากษาท่านใดเป็นผู้ทำหน้าที่เขียนคำพิพากษาก็ได้ อำนาจในการกำหนดผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษานี้เองทำให้ประธานศาลสูงสุดสามารถกำหนดทิศทางและเหตุผลของคำพิพากษาได้ว่าจะให้ไปในทิศทางใด ผู้พิพากษาที่เป็นเสียงข้างมากเหมือนกันแต่อาจเขียน
คำพิพากษาออกมาแตกต่างกันในส่วนของเหตุผลในการวินิจฉัยคดีได้ ประธานศาลสูงสุดที่รู้จักผู้พิพากษาดีอาจใช้สิทธิในการเลือกผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาในแต่ละคดีเป็นตัวกำหนดทิศทางของคำพิพากษาได้
ซึ่งร่วมถึงการที่ประธานศาลสูงสุดเป็นเสียงข้างมากในคดีเองก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวกำหนดให้ตนเองเป็นผู้เขียนคำพิพากษาเองได้ แนวความเห็นและเหตุผลของผู้เขียนคำพิพากษามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย เพราะคำพิพากษาศาลสูงสุดถือเป็นแหล่งที่มาของกฎหมาย เหตุผลและหลักกฎหมายที่ศาลวางไว้ในแต่ละคดีจะถูกใช้เป็นหลักต่อ ๆ ไป จนกว่าจะมีการกลับคำพิพากษา หากผู้พิพากษาเขียน
คำพิพากษาไม่ชัดเจนตามเจตจำนงเสียงส่วนใหญ่แล้วก็อาจทำให้ผู้พิพากษาท่านอื่นที่เป็นเสียงข้างมากในคดีต้องเขียนความเห็นพ้อง (Concurring) ของตนขึ้นอีกได้ ซึ่งจะทำให้น้ำหนักเหตุผลในคำพิพากษาเรื่องนั้น ๆ ลดทอนคุณค่าลงไป ประกอบกับในคำพิพากษาอาจมีคำสั่งความเห็นเกี่ยวกับคดีในประเด็นอื่น ๆ ได้อีก และคำพิพากษาศาลสูงสุดยังเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่จะถูกศึกษาและใช้อ้างอิงในหลายวงการ ไม่ใช่แต่เฉพาะนักกฎหมายเท่านั้น ยังใช้ในวงการประวัติศาสตร์ศึกษาและรัฐศาสตร์ด้วย ทั้งถูกใช้อ้างอิงจากภายในและภายนอกประเทศสหรัฐด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในการกำหนดตัวผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เขียนคำพิพากษาในทางปฏิบัติที่ผ่านมา มีผู้กล่าวว่าประธานศาลสูงสุดบางท่านอาจใช้อำนาจดังกล่าวโดยไม่ชอบ (abuse of power) โดยจะเปลี่ยนเสียงลงมติของตนหรือไม่ยอมออกเสียงลงมติก่อนเพื่อที่จะรอเป็นเสียงข้างมากจะได้กำหนดผู้พิพากษาที่จะเขียนคำพิพากษาเอง และมักกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ตนชอบมีหน้าที่เขียน
คำพิพากษาในเรื่องที่ดีที่สำคัญและกำหนดให้คำพิพากษาในเรื่องที่น่าเบื่อแก่ผู้พิพากษานายอื่น การจัดระบบ
ผู้พิพากษาที่มีหน้าที่เขียนคำพิพากษาไม่ชัดเจน และเมื่อคดีบางเรื่องมติออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตนก็จะทำให้ขั้นตอนการออกคำพิพากษาเรื่องนั้น ๆ ล่าช้าได้ เช่น การกำหนดให้มีการพิจารณาคดีใหม่บ้าง การไม่กำหนดผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เขียนคำพิพากษาบ้าง ซึ่งการกระทำลักษณะดังกล่าวทำให้บางคดีล่าช้าไป 20 เดือน โดยไม่จำเป็น แต่ประธานศาลสูงสุดบางท่านก็ได้รับการยกย่องจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดด้วยกันว่ามีความเป็นธรรมและระมัดระวังการใช้อำนาจในการกำหนดผู้เขียนคำพิพากษาโดยความเหมาะสม โดยมีการแบ่งหน้าที่ให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาให้หมุนเวียนกันไปจนกว่าจะครบทุกท่านเป็นลำดับไป มากกว่าการเลือกผู้พิพากษานายใดให้มีหน้าที่เขียนคำพิพากษาแบบเจาะจง
ในส่วนบทบาททั่วไปของผู้พิพากษาศาลสูงนายอื่น เช่น พิจารณาคำร้อง คดีต่าง ๆ กฎหมาย สำหรับคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ เข้าร่วมการประชุมของผู้พิพากษาศาลสูงสุดเพื่อพิจารณารับคำร้อง หรือวินิจฉัยคดี ลงมติรับคำร้องและคำพิพากษาคดี เขียนหรือปรับปรุงคำพิพากษาศาล จัดจ้างและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ศาล (Law Clerks) แบ่งงานเกี่ยวกับการค้นข้อกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ
นั่งฟังการพิจารณาคดี ตรวจคำร้องกรณีฉุกเฉิน คำขอ ต่าง ๆ สำหรับศาลอุทธรณ์สหรัฐตามเขตศาลที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น
ยุคสมัยของศาลสูงสุด (Era of the Supreme Court)
ยุคสมัยของศาลสูงสุดเป็นสิ่งสำคัญ ในการแสดงพัฒนาการของศาลและคำพิพากษาของศาล
การวินิจฉัยคดีและคำพิพากษาของศาลนั้น นอกจากต้องอาศัยหลักวิชาความรู้ทางนิติศาสตร์แล้ว ประสบการณ์และทัศนคติของผู้พิพากษาแต่ละนายก็มีส่วนสำคัญยิ่งในการพิพากษาคดีของศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของประธานศาลสูงสุดที่สามารถวางกรอบและโน้มน้าวกำหนดแนวทางการลงมติของผู้พิพากษาศาลสูงสุด ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมตามความรู้และทัศนะคติของตนเองได้ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศาลสูงสุดจึงถูกกล่าวถึงหรือบันทึกไว้ โดยอิงสมัยของประธานศาลสูงสุดเป็นสำคัญ ซึ่งบางครั้งอาจกล่าวถึงอ้างอิงสัมพันธ์ไปกับสมัยของประธานาธิบดี และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประเทศสหรัฐ เช่น ยุคปฏิวัติอเมริกา ยุคสงครามกลางเมือง
ยุคอุตสาหกรรม ยุคสงครามโลก เป็นต้น
ยุคสมัยของศาลตามประธานศาลสูงสุด 17 นาย สามารถนำมาจัดพัฒนาการได้ 4 ยุค[9] ได้แก่
ยุคสมัยที่หนึ่ง (ค.ศ. 1793 - 1876) กำหนดกรอบการปกครองของรัฐ (Defining American Government) ในยุคสมัยที่หนึ่ง มีประธานศาลสูงสุดทั้งสิ้นประมาณ 7 ท่าน ได้แก่ John Jay (1789 - 1795), John Rutledge (1795), Oliver Ellsworth (1796 - 1800), John Marshall (1801 - 1835), Roger B. Taney (1836 - 1864), Salmon P. Chase (1864 - 1873), Morrison Waite (1874 - 1888) ซึ่งประธานศาลสูงสุด Morrison Waite อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคที่หนึ่งและยุคที่สอง ยุคที่หนึ่งเป็นยุคที่เพิ่งมีการก่อตั้งประเทศ ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ และจัดตั้งการปกครองระบอบสหรัฐ การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลสูงสุดส่วนใหญ่จึงเป็นการวินิจฉัยคดีในเรื่องกรอบอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐว่ามีอำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ต่อกันในรูปแบบใดและมากน้อยเพียงใด เพราะรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกายังไม่ได้กำหนดกรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ชัดเจน
เป็นยุคแห่งการแสวงหาดุลอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ โดยนักการเมืองและผู้ก่อตั้งประเทศในสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่หนึ่ง สนับสนุนมลรัฐเข้มแข็ง กลุ่มที่สอง สนับสนุนรัฐบาลกลางเข้มแข็ง ซึ่งในคำพิพากษาศาลช่วงแรกเขียนโดยประธาน
ศาลสูงสุดคนที่ 4 John Marshall นั้น เน้นให้อำนาจรัฐบาลกลางเข้มแข็ง โดยเฉพาะในเรื่องการค้าระหว่าง
มลรัฐที่ให้อำนาจรัฐบาลกลางในการออกกฎเกณฑ์ได้และกำหนดให้ฝ่ายตุลากการมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเอกชนในเรื่องทรัพย์สินจากการละเมิดของรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐได้ แต่ในช่วงปลายยุคที่หนึ่ง
สมัยประธานศาล Roger Brooke Taney ได้สนับสนุนให้มลรัฐมีอำนาจได้เต็มที่เสมือนช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมีการปฏิวัติอเมริกา โดยศาลวินิจฉัยว่าคำประกาศสิทธิ (Bill of Right) ใช้เฉพาะการจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลาง ไม่บังคับใช้กับมลรัฐ คดีสำคัญในยุค Taney คือ คดี Dred Scott v. Standford (1857) ที่ศาลสูงสุดได้พิพากษาว่าทาสไม่ใช่พลเมืองสหรัฐ คดีดังกล่าวนี้เอง นำไปสู่เหตุการณ์ที่สำคัญของประเทศเป็นจุดแตกหัก คือ สงครามกลางเมือง (1865) ระหว่างรัฐฝ่ายเหนือที่สนับสนุนการเลิกระบบทาส และรัฐฝ่ายใต้สนับสนุนการมีทาส และเมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมืองแล้ว ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 13 (1865), ฉบับที่ 14 (1868), และฉบับที่ 15 (1870) เพื่อยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับระบบทาส
ยุคสมัยที่สอง (ค.ศ. 1877 - 1940) การปกครองและเศรษฐกิจ (Government and Economy) ยุคสมัยที่สองเป็นยุคที่มีประธานศาลสูงสุดทั้งสิ้น 5 ท่าน ประกอบด้วย Morrison Waite (1874 - 1888), Melville Fuller (1888 - 1910), Edward Douglass White (1910 - 1921), William Howard Taft (1921 - 1930), Charles Evans Hughes (1930 - 1941) โดยประธานศาลสูงสุด Morrison Waite มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งคาบเกี่ยวระหว่างยุคที่หนึ่งและยุคที่สอง ยุคสมัยที่สองเป็นยุคที่ศาลได้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ศาลมีบทบาทสำคัญในการตีความบทบัญญัติของกฎหมายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐที่เกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ โดยในช่วงต้นของยุคนี้ ศาลจะวางหลักรับรองเสรีภาพในการทำสัญญาระหว่างเอกชน และเห็นว่ารัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 โดยศาลถือตามความเห็นของ James Madison
ผู้ร่วมก่อตั้งประเทศที่เห็นว่ารัฐควรวางตัวเป็นกลางระหว่างการแข่งขันกันของกลุ่มเศรษฐกิจ ลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) เศรษฐกิจเสรีนิยม (laissez - faire) ซึ่งเน้นความเป็นเสรีของเอกชนในการดำรงเศรษฐกิจ รัฐหรือกฎหมายไม่ควรเข้าควบคุมเป็นลัทธิทุนนิยม เช่น ใน ปี ค.ศ. 1905 ศาลวินิจฉัยในคดี Lochner v. New York[10] ที่ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายมลรัฐนิวยอร์กกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเวลาทำงานและเงื่อนไขการทำงานอบขนมปัง เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 เนื่องจากขัดต่อเสรีภาพในการทำสัญญาของเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1908 ศาลวินิจฉัยในคดี Muller v. Oregon[11] ว่ากฎหมายโอเรกอนที่จำกัดเวลาการทำงานของสตรีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 เพราะเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐในการคุ้มครองสุขภาพของสตรี กรณี
คำวินิจฉัยคดีสำคัญเกี่ยวกับการแบ่งแยกสีผิวคดีหนึ่งในยุคนี้ คือ คดี Plessy v. Ferguson[12] (1896)
ซึ่งศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า การแบ่งแยกที่นั่งในรถไฟระหว่างโบกี้สำหรับคนผิวขาวและคนผิวดำสามารถทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นคดีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์สนับสนุนและคัดค้านอยู่มากหลังภายหลังจากคดี Dred Scott จากยุคสมัยที่หนึ่ง
ในช่วงปลายยุคสมัยที่สอง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและการปกครองตามรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 1937 ศาลเริ่มกลับแนวคำพิพากษาในเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยเห็นว่า เสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องกระบวนการที่ยุติธรรม (Due Process) กฎเกณฑ์ต้องสัมพันธ์กับประโยชน์ของสังคมด้วย ศาลเริ่มรับรองกฎหมายที่รัฐตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองลูกจ้างด้วย ในปลายศตวรรษที่ 19 ผู้พิพากษาศาลสูงสุดโอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ ได้เสนอความคิดที่ว่ากฎหมายขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กฎหมายเป็นผลสืบเนื่องมาจากสังคมและการประนีประนอมกันในทางการเมือง เขียนหนังสือชื่อว่า The Common Law เตือนศาลสหรัฐว่า กฎหมายจะต้องไม่ล้าสมัยจนเกินไป ซึ่งในขณะที่วงการศาลสหรัฐอเมริกายังเชื่อกันว่ากฎหมายเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และหน้าที่ของผู้พิพากษามีเพียงนำกฎหมายมาประยุกต์ให้เข้ากับรูปคดีที่จะตัดสิน โฮล์มได้รับการสนับสนุนจากผู้พิพากษาศาลสูงสุด คือ หลุยส์ เดมบริซ แบรนไดส์ (Louis Dembriz Brandeis) ในคดี Muller v. Oregon[13] ต่อต้านกฎหมายมลรัฐออริกอน
ที่ให้สตรีทำงานในโรงงานซักรีดถึงวันละ 10 ชั่วโมง โดยรวบรวมประจักษ์พยานหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบ เช่น รายงานแพทย์ผู้ตรวจโรงงาน เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจโรงงาน และนักสังคมสงเคราะห์ ข้อเสนอแนะของหนังสือพิมพ์และรายงานของนักสังเกตการณ์อื่น ๆ ปัญหาสุขภาพคนงาน ผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยคดีแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติว่าศาลจะต้องนำสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เชื่อถือได้มาประกอบในการพิจารณาคดีด้วย[14]
ในยุคสมัยนี้ปรากฏว่ามีปัญหาภายในระหว่างผู้พิพากษาศาลสูงสุดด้วยกันเองทั้งในส่วนที่เป็นความแตกต่างในหลักความคิด ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม หรือในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น ในช่วงปี ค.ศ. 1930 - 1953 ยุคสมัยประธานศาลสูงสุด 3 ท่าน ได้แก่ Hughes Charles Evans, Stone Harlan Fiske และ Vinson Fred Moore นั้น บรรยากาศของผู้พิพากษาแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ (1) กลุ่มอนุรักษ์นิยม 4 นาย ที่เรียกว่า The Four Horsemen (2) กลุ่มเสรีนิยม 3 นาย ที่เรียกว่า The Three Musketeers และ(3) กลุ่มฝ่ายประธานศาลสูงสุด Hughes Charles Evans และผู้พิพากษา Owen Robert ซึ่งกลุ่มที่ 3 นี้ มักเป็นผู้กำหนดทิศทางของการลงมติ (swing vote) ซึ่งผู้พิพากษาทั้งสองท่านมีแนวโน้มที่จะลงมติไปกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากกว่า การลงมติของศาลสูงสุดในยุคดังกล่าวจึงมักออกมาในลักษณะ 5 ต่อ 4 เสียง ซึ่งเป็นอุปสรรคมากในการผ่านกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt (ค.ศ. 1933 - 1945) กฎหมายตามโครงการข้อตกลงใหม่ (New Deal) ในยุคแรก ๆ มักไม่ผ่านการพิจารณาของศาลสูงสุดซึ่งศาลสูงสุดจะมีมติว่ากฎหมายในยุคนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้บ้านเมืองไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่ประชาชนเห็นชอบกับบรรดากฎหมายที่ถูกศาลสูงสุดยกเลิกไป สังคมทั่วไปรู้สึกว่าคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดมีทัศนะแคบไม่ทันกับสภาพบ้านเมืองและมีอคติกับรัฐบาล Roosevelt
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดี Roosevelt ไม่สามารถบริหารประเทศตามนโยบายของตนเองได้ จึงเสนอให้มีการตรากฎหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างศาลสูงสุดใหม่ ที่เรียกว่า The Judiciary Reorganization Bill หรือ หรือที่ฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวเรียกว่า the court - packing bill ซึ่งประธานาธิบดีหวังจะเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดจาก 9 คน เป็น 15 คน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อช่วยสะสางงานของศาลสูงสุดให้รวดเร็วขึ้น แต่เป็นที่รู้กันว่าต้องการเปลี่ยนทัศนะคติของศาล
โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่พวกหัวก้าวหน้าเพิ่มเข้าไปแทนการรอผู้พิพากษาที่มีอยู่เดิมเกษียณอายุ เพราะไม่มีบทบัญญัติให้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดเกษียณอายุ แต่ท้ายที่สุดกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านรัฐสภา และในเวลาเดียวกันผู้พิพากษาศาลสูงสุด Owen Robert ก็หันมาลงมติสนับสนุนผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมแทน และต่อมาผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มเกษียณอายุไปเกือบหมด ประธานาธิบดี Roosevelt จึงได้มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาเสรีนิยมเข้าไปแทนที่ ทิศทางของคำพิพากษาศาลสูงสุดได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น[15] แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีไปด้วยในความพยายามที่จะแทรกแซงฝ่าย
ตุลาการ
ยุคที่สาม (ค.ศ. 1941 - 1971) สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง (Civil Rights and Civil Liberties) ยุคที่สามเป็นยุคที่มีประธานศาลสูงสุดทั้งสิ้นประมาณ 3 นาย ได้แก่ Harlan F. Stone (1941 - 1946), Fred M. Vinson (1946 - 1953), Earl Warren (1953 - 1969) เป็นยุคที่ศาลหันเหการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในการออกหลักเกณฑ์ทางกับเศรษฐกิจมาสู่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง โดยยังคงใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 เป็นตัวขับเคลื่อนเช่นเดิม โดยมีคดีจำนวนมากเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิของบุคคลตามคำประกาศสิทธิ (Bill of right) เช่น การแบ่งแยกสีผิวอันเป็นการเลือกปฏิบัติ สิทธิของชนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้ไม่มีสิทธิการเลือกตั้ง คดีสำคัญ ๆ ที่ศาลสูงสุดมี
คำวินิจฉัยในยุคนี้ เช่น การยุติการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียน และเริ่มเห็นว่ารัฐบาลกลางเป็นวิธีทางของการแก้ปัญหาสังคม
ช่วงระยะเวลาในยุคสมัยประธานศาลสูงสุดวอร์เรนเป็นช่วงที่แนวคำพิพากษาของศาลสูงสุดก้าวหน้า และค่อนข้างเสรีนิยมมาก ศาลสูงสุดมีบทบาทในการวินิจฉัยคดีให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มีเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การปะทะกับอำนาจทางการเมืองหรือการกลับแนวคำพิพากษาที่มีผลสะเทือนในทางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มาก เช่น คดีการตีความเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่างโบสถ์และรัฐ (Separation of Church and State) ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1[16] โดยศาลสูงสุดได้วินิจฉัยให้ยกเลิกการสวดมนต์ในโรงเรียนของรัฐ
ที่จัดขึ้นโดยรัฐ เพราะถือเป็นการสถาปนาศาสนาขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1
คดีเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง (civil rights) เช่น การยกเลิกแบ่งแยกสีผิวของโรงเรียนของรัฐ (School Segregation)
และคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา อำนาจในการจับกุมของตำรวจ (police arrest procedure) และยุคสมัยของวอร์เรนได้รับการยอมรับว่าเป็นยุคที่มีการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการวางหลักเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง[17] โดยประธานศาลสูงสุดวอร์เรนได้รับการยกย่องว่า เป็นประธานศาลสูงสุด
ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา วอร์เรนไม่ได้มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะนักกฎหมาย การเขียนคำพิพากษาของวอร์เรนบางเรื่องไม่ชัดเจน และความคิดทางกฎหมายค่อนข้างสับสน เนื่องจาก
วอร์เรนไม่ได้มีประสบการณ์มากนักเกี่ยวกับกฎหมายและการพิจารณาคดี แต่วอร์เรนกลับเป็นที่ยอมรับในฐานะ
ผู้ที่มีบุคลิกแสดงออกถึงความจริงจัง ความสามารถในการเป็นผู้นำ การโน้มน้าวองค์คณะผู้พิพากษาให้ได้รับเสียงข้างมากในการวินิจฉัยคดี เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเสรีนิยมทั่วประเทศและเป็นผู้มีความเชื่อที่มั่นคงว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาให้การรับรองในสิทธิธรรมชาติ (natural rights) และศาลมีบทบาทพิเศษ
ที่จะคุ้มครองสิทธิดังกล่าว คำพิพากษาในยุคสมัยของวอร์เรนค่อนข้างเสรีนิยมมาก จึงมีทั้งผู้เห็นด้วยและ
ไม่เห็นด้วยมากเช่นกัน โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการแบ่งแยกสีผิว และคดีเกี่ยวกับการสถาปนาศาสนาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 ที่มีการยกเลิกการสวดมนต์ในโรงเรียนของรัฐ และการให้มีการเรียนการสอนในทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์ (Evolution Theory) ที่ขัดแย้งต่อความเชื่อทางศาสนาที่ว่ามนุษย์และสรรพสิ่งเกิดจากการสร้างโลกของพระเจ้าภายใน 7 วัน นั้นเองได้ทำให้พวกเคร่งศาสนาไม่พอใจแนวคำพิพากษาดังกล่าวอย่างยิ่ง มีการเชิญชวนให้ถอดถอนวอร์เรน (Impeachment)
ไปทั่วประเทศ หรือกรณีการยกเลิกการบังคับให้ปฏิญาณตนต่อธงชาติสหรัฐอเมริกา สำหรับกลุ่มผู้นับถือศาสนาที่เห็นว่าการทำความเคารพรูปเคารพซึ่งธงชาติถือเป็นรูปเคารพนั้น เป็นการขัดแย้งต่อความเชื่อทางศาสนาของตน ในยุคสมัยนี้ศาลได้เข้าคลี่คลายการกระทำของรัฐและกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญที่สำคัญหลายประการ ที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งและความวุ่นวายในบ้านเมืองมากมายตามมา
ยุคที่สี่ (ค.ศ. 1972 - ปัจจุบัน) ยุคอนุรักษ์นิยมแบบปฏิบัตินิยม Pragmatic Conservatism
ประธานศาลสูงสุดในยุคนี้ มี 3 ท่าน ได้แก่ Warren Burger, William Rehnquist, John G. Robert ประธานศาลสูงสุดส่วนใหญ่ในยุคนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีที่มาจากพรรคริพับลิกัน เช่น Richard Nixon, Ronald Reagan, George W. Bush โดยในระหว่าง ค.ศ. 1969 - 1991 ประธานาธิบดี
ทั้งสามท่าน ได้แต่งตั้งผู้พิพากษา ถึง 10 ท่าน เป็นยุคอนุรักษ์นิยม แต่ก็ไม่ได้กลับคำพิพากษาในยุค
วอร์เรนที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยในเรื่องการแบ่งแยกสีผิว แต่ก็เน้นการจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลาง และไม่แทรกแซงเรื่องการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการบริหารของฝ่ายบริหาร พยายามจำกัดกรอบการตีความของศาลสูงสุด
ข้อวิจารณ์สำคัญเกี่ยวกับศาลสูงสุด[18] เช่น การกระทำของศาลสูงสุดที่เป็นการเกินกรอบอำนาจหน้าที่ของศาลในการตีความข้อกฎหมาย (Judicial Activism) โดยใช้ความคิดเห็นส่วนตนมากเกินไป หรือตีความเกินตัวบทกฎหมาย เช่น คดีที่มีผู้วิจารณ์ว่าศาลอนุรักษ์นิยมเกินไป ในคดี Lochner v. New York (1905) ที่ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเวลาการทำงานและเงื่อนไขการทำงานอบขนมปังเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขัดต่อเสรีภาพในการทำสัญญา คดีที่มีผู้วิจารณ์ว่าเสรีนิยมเกินไปในคดี Roe v. Wade (1973) ที่รับรองสิทธิบุคคลในการทำแท้งว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือคดีที่มีผู้วิจารณ์ว่าก้าวหน้าเกินไปในคดี Brown v. Board of Education (1954) ที่ห้ามการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสีผิว
การตีความของศาลในลักษณะดังกล่าวทำให้ศาลเป็นเสมือนผู้ตรากฎหมายเสียเอง หรือกรณีที่ศาลขยายกรอบอำนาจของรัฐบาลสหรัฐมากเกินไปจนเป็นการแทรกแซงอำนาจของรัฐบาลมลรัฐ หรือกรณีการแทรกแซงของฝ่ายตุลาการในประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง เช่น กรณีพิจารณาการนับคะแนนเลือกตั้งในคดี Bush v. Gore ที่ศาลสั่งระงับให้มีการนับคะแนนใหม่ เป็นต้น สำหรับข้อวิจารณ์ในกรณีอื่น ๆ อาทิ ความล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของบุคคล (Individual rights) อำนาจศาลสูงสุดที่มีมากเกินไป ศาลไม่ตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหารเท่าที่ควร ไม่เลือกคดีขึ้นมาพิจารณาที่มากพอ มีกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เปิดเผย (secret proceeding) สร้างวัฒนธรรมให้คนเกรงกลัวกฎหมายมากเกินไป แทนที่จะเห็นกฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้องกัน และการไม่มีการเกษียณอายุของผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้โต้แย้งว่าการที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดไม่มีการเกษียณอายุนี้เอง ทำให้คำพิพากษาศาลสูงสุดทรงพลังยิ่งเพราะไม่อาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้
อ่านต่อ ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกากับการจัดทำคำวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญ (หน้าที่ 2)
[1] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารทางความคิดทางการเมืองอเมริกัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เจมส์ เมดิสัน จอห์น เจย์ เขียน, สมบัติ จันทรวงศ์ บรรณาธิการแปล, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530, หน้า 1 - 62.
[2] ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองอเมริกา, สำนักพิมพ์เสมาธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 11 มิถุนายน 2553, หน้า 3 - 11.
[3] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารทางความคิดทางการเมืองอเมริกัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เจมส์ เมดิสัน จอห์น เจย์ เขียน, สมบัติ จันทรวงศ์ บรรณาธิการแปล, สำนักพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530, บทนำ
[4] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารทางความคิดทางการเมืองอเมริกัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน เจมส์ เมดิสัน จอห์น เจย์ เขียน, สมบัติจันทรวงศ์ บรรณาธิการแปล, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530, บทความหมายเลข 78-83, หน้า 555-604.
[5] อ้างแล้ว เชิงอรรถก่อนหน้า, บทความหมายเลข 22, หน้า 198.
[6] อ้างแล้ว เชิงอรรถก่อนหน้า, บทความหมายเลข 76 - 77, หน้า 544 - 552
[9] James C. Foster, Susan M. Leeson, Constitutional Law : Cases in Context, Volume II Civil Rights and Civil Liberties, (1998) หน้า 6.
[11] 208 U.S. 412 (1908).
[12] 163 U.S. 537 (1896).
[13] 208 U.S. 412 (1908).
[14] สมร นิติทัณฑ์ประกาศ, ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา 1865-1940, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ. 2553 หน้า 130.
[16] United States Constitution, Amendment 1 (1791) Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof,
[17] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยและผลผูกผันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมัน, โดยรองศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, พฤษภาคม 2550, หน้า 38.
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|