หน้าแรก บทความสาระ
ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกากับการจัดทำคำวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญ (หน้าที่ 2)
คุณวรรณา สุพรรณธะริดา เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 6 ว
7 เมษายน 2556 22:15 น.
 
5.  กระบวนการการดำเนินการทั่วไปของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา[1]
       5.1  สมัยการทำงานของศาล  (Court  Session)
       ข้อกำหนดศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา  ข้อ  3  กำหนดให้ศาลเปิดสมัยการทำงานศาลในแต่ละปีให้เริ่มวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม  และให้ศาลมีอำนาจประกาศวันเปิดทำการศาลวันต่อ ๆ ไป  การทำงานของศาลจะมีงานแบ่งเป็นสองส่วน  คือ  (1)  ส่วนที่เกี่ยวกับการนั่งพิจารณาคดี  (sitting)  ในช่วงนี้ศาลจะนั่งพิจารณาคดีเพื่อฟังการอภิปรายคดีของคู่ความ  (Oral Argument)  และการออกอ่านคำพิพากษา  (2)  ส่วนที่ปิดสมัยการพิจารณาคดีของศาล  (recesses)  ในช่วงเวลานี้ศาลจะจัดประชุมภายในเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดี  (conference)  ที่มีการฟังการแถลงด้วยวาจาไปแล้วและเขียนคำพิพากษา 
       ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนศาลจะออกนั่งเพื่ออ่านคำสั่งและคำพิพากษา  และปิดสมัยการพิจารณาคดีของศาลช่วงปลายเดือนมิถุนายน  โดยในระหว่างช่วงปิดสมัยการพิจารณาคดีศาลจะเริ่มวิเคราะห์คำร้องที่เข้ามาใหม่เพื่อพิจารณาคำขอต่าง ๆ  และเตรียมคดีเพื่อจะเปิดให้มีการอภิปรายในสมัยต่อไป  ปริมาณคดีของศาลในแต่ละสมัยจะมีถึง  10,000  คดี  และศาลสามารถรับคดีไว้พิจารณาและเปิดฟังการอภิปรายประมาณ  100  คดี  ต่อสมัยการเปิดพิจารณาคดีของศาล  และมีคำพิพากษาต้องเขียนประมาณ  80  -  90  คดี  รวมประมาณคำพิพากษาของคดีทั้งสิ้นประมาณ  5,000  หน้า  ต่อสมัยการเปิดพิจารณาคดีของศาลซึ่งปรากฏในรายงานประจำปีของศาล (U.S. Report) ต่อสมัยการเปิดพิจารณาคดีของศาล[2]  และมีคดีประมาณ  50 - 60  คดี  ที่เสร็จสิ้นไปโดยไม่มีการพิจารณาคดีแบบเปิดการอภิปราย (summarily decided cases) เป็นลักษณะคดีที่เป็นการพิจารณาโดยรวบรัด  โดยย่อ   อาจเป็นประเด็นที่ไม่มีความซับซ้อนหรือไม่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาล  หรือไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยของศาลที่เคยวางหลักไว้แล้ว  เป็นต้น 
       5.2  ประเภทคำร้อง
       ประเภทคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณาคดี  มี  4  ลักษณะ  ได้แก่
       (1)  คำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกคดีมาพิจารณา  (petition for certiorari)  เป็นคดีเกี่ยวกับการขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลสูงสุดของมลรัฐหรือสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง  คำร้องประเภทนี้เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่  คำร้องประเภทนี้ส่วนใหญ่ศาลก็จะไม่รับไว้พิจารณานอกจากเป็นคดีที่มีความสำคัญมากจริง ๆ  สมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลสูงสุด 
       (2)  คำขออุทธรณ์  (appellate)  คดีประเภทนี้เกิดจากบรรดากฎหมายสหรัฐที่ให้อำนาจในการอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงสุดได้  โดยคำร้องประเภทนี้เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่  ซึ่งส่วนใหญ่ศาลก็จะไม่รับไว้พิจารณาเช่นกัน 
       (3)  ในคดีที่ศาลสูงสุดมีอำนาจรับพิจารณาคดีโดยตรง (original jurisdiction)  เรียกคำร้องประเภทนี้ว่า “initial pleading” ซึ่งเป็นคดีตามมาตรา  3  อนุมาตรา  2  ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา  ที่เกี่ยวข้องกับทูตานุทูต  กงสุล  หรือคดีที่มลรัฐเป็นคู่ความ  ในคดีระหว่างมลรัฐมักเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน  ทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งคดีประเภทนี้หากศาลรับไว้พิจารณาจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษ Special Master เพื่อไปรวบรวมหลักฐานแห่งคดีมารายงานศาลต่อไป 
       คดีประเภทนี้บางครั้งกินเวลาใช้เวลาหลายปีในการไต่สวนเพื่อวินิจฉัยคดีของศาลสูงสุด  เพราะมีประเด็นค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน  เช่น  กรณีปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  ในเรื่องแม่น้ำหลายสาย
       ที่ไหลผ่านมลรัฐต่าง ๆ  และมีปัญหาพิพาทในเรื่องสิทธิการใช้น้ำว่ามลรัฐใดมีสิทธิใช้น้ำมากน้อยเพียงใด  เช่น  ในปี  ค.ศ.  2008  ศาลพิจารณาสิทธิการใช้น้ำในแม่น้ำ Catawaba River ระหว่างมลรัฐเซาท์คาโรไลนาและมลรัฐนอร์ทคาโรไลนา  เป็นต้น  คดีประเภทนี้ศาลจะใช้เจ้าหน้าที่พิเศษ  (Special Master) ของศาลทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงในคดีอีกครั้งหนึ่ง
       (4)  คำร้องโดยตรงประเภทขอให้ศาลออกหมายพิเศษต่าง  ๆ 
       คำร้องประเภทนี้เป็นการขอให้ศาลออกหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เรียกว่า extraordinary writ เช่น  ขอให้ออกหมายเรียกผู้ถูกคุมขังมาให้ศาลพิจารณา  (Habeas Corpus)  ให้อำนาจศาลสูงสุดในการทบทวนคดีของ
       ผู้ต้องคุมขัง  ที่อ้างว่าสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิดและถูกควบคุมตัวไว้โดยไม่ชอบ  หรือ  อำนาจในการออกหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการ  (mandamus writ)  หมายให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐละเว้นกระทำการ  (prohibition writ)
       5.3  การตรวจรับคำร้อง 
       ในชั้นตรวจรับคำร้องเจ้าหน้าที่ศาล  (Clerk)  มีหน้าที่ตรวจความถูกต้องของคำร้องและรับคำร้องเป็นสำนวนคดีของศาล  ตามข้อกำหนดของศาล  เช่น  ข้อ  1,  5,  14,  15,  16  เป็นต้น
       5.4  การส่งบันทึกชี้แจงคดี  (Submission of Brief)
       เมื่อมีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรับคดีไว้พิจารณามาตามข้อกำหนดแล้ว  ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องแจ้งให้
       ผู้ถูกร้องทราบ  และผู้ถูกร้องมีหน้าที่ต้องทำบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงของคดีมายังศาล  โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลสูงสุด  เช่น  ข้อ  15  ที่กำหนดระยะเวลาในการส่งคำชี้แจงของคู่ความ  (Brief)  เพื่อสนับสนุนการทำความเห็นของศาล  คำชี้แจงตอบคำร้องในชั้นนี้เรียกว่า Brief in Opposition, Reply Briefs, Supplement Briefs โดยต้องส่งบันทึกดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ศาล  ภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่คำร้องได้รับการบรรจุเป็นสำนวนคดีในศาลสูงสุด  และเมื่อเจ้าหน้าที่ศาลได้รับบันทึกของสองฝ่ายเรียบร้อยแล้วก็จะส่งให้ศาลพิจารณาว่าสมควรจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
       5.5  การเลือกรับคดีไว้พิจารณา (cert pool)
       ในปีหนึ่ง ๆ  หากคิดโดยเฉลี่ยตามสมัยการทำงานของศาลแล้ว  ศาลสูงสุดจะพิจารณาคดีและ
       ทำคำพิพากษาได้เฉลี่ยสมัยไม่เกิน  150  คดี  ต่อจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุด  9  ท่าน  และระยะเวลาในการทำงานในปีหนึ่ง ๆ  ดังนั้น  การเลือกรับคดีไว้พิจารณาจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก  รัฐสภาได้ตรากฎหมาย  The Judiciary Act 0f 1925, The Judicial Improvements And Access to Justice Act of 1988 กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลในการเลือกรับคดีไว้พิจารณา  โดยศาลจะเลือกพิจารณาเฉพาะคดีที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเท่านั้น  เพื่อทำให้การบริหารจัดการคดีที่มีอยู่ในศาลได้ดียิ่งขึ้น[3]  คำร้องขอให้ศาลหมายเรียกคดีมาพิจารณาส่วนใหญ่จึงเสร็จสิ้นในชั้นนี้  โดยศาลอาจมีคำสั่งไม่รับคำร้องให้หมายเรียกคดีมาให้ศาลสูงสุดพิจารณา  มติรับคำร้องไว้พิจารณาต้องอาศัยเสียงของผู้พิพากษา  4  เสียง  เรียกว่า  Rule of Four ประธานศาลสูงสุดเป็นผู้ออกเสียงเป็นคนแรกและเรียงตามความอาวุโสสูงสุดเป็นลำดับไป   ซึ่งหลักดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้อย่างเคร่งครัดนัก  โดยในปัจจุบัน  ผู้พิพากษาส่วนใหญ่จะพิจารณาบันทึกเจ้าหน้าที่ศาล  (law clerks’ cert. memos) เป็นสำคัญมากกว่าว่าควรจะรับคำร้องใดไว้พิจารณาหรือไม่ประการใด  เนื่องจากในแต่ละปี
       มีคำร้องยื่นต่อศาลสูงสุดเป็นจำนวนมาก  ผู้พิพากษาไม่สามารถลงไปศึกษาแต่ละคดีโดยละเอียดได้ 
                  ผู้พิพากษาอาจจะหรืออาจจะไม่ปฏิเสธคดี[4]  หากเห็นว่าคดีนั้น 
                  (1)  ไม่มีประเด็นพิพาท  (adverseness)  คือ  ประเภทคดีที่ศาลจะรับพิจารณาคือต้องเกิดขึ้นจริงและเกิดข้อพิพาทที่ต้องการการวินิจฉัย  ประเด็นปัญหาที่นำเสนอมาเป็นเพียงข้อสมมุติ (hypothetical  issue) ยังไม่เกิดขึ้นจริง  และมีการพิพาทกันอย่างแท้จริงศาลจะไม่รับพิจารณากรณีที่คู่ความไม่มีผลประโยชน์อะไรในผลของคำพิพากษา (friendly suits) และศาลจะไม่ให้เพียงความเห็นในเชิงคำแนะนำ (advisory  opinions) เช่น  ขอให้ศาลสูงสุดช่วยตีความสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ  เป็นต้น  ซึ่งศาลเห็นว่าหน้าที่ดังกล่าวควรให้ฝ่ายบริหารคณะรัฐมนตรีพิจารณา
                  (2)  คดีถูกนำมาสู่ศาลโดยคู่ความที่มีอำนาจฟ้อง (Standing to sue) หรือไม่  โดยบุคคลต้องแสดงความเสียหายที่กฎหมายได้คุ้มครองประโยชน์หรือสิทธิ  และแสดงให้เห็นว่าได้กระทำการป้องกันในสิทธินั้นได้กระทำจนถึงที่สุดแล้ว  เช่น  การฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลชั้นล่าง  และความเสียหายนั้นต้องเกิดเฉพาะส่วนบุคคลนั้นด้วย  ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง  เช่น  มีการแสดงให้เห็นถึงความเสียหายต่อตัวบุคคลหรือทรัพย์สิน  เป็นต้น 
                  (3)  มีประเด็นปัญหา  “ที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณา” (not ripe) ผู้ร้องและผู้อุทธรณ์คดีอาจ
       ยกประเด็นว่า  ศาลยังไม่ควรมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเพราะฟ้องคดีเร็วเกินไป  เช่น  ยังไม่มีการระบุเรื่องความเสียหาย  หรือยังไม่ได้ดำเนินการอุทธรณ์ในช่องทางอื่นให้ครบถ้วน  หรือเพราะว่าประเด็นแห่งคดี
       ไม่จำต้องได้รับการวินิจฉัยอีกแล้ว
(moot)  เพราะนำมาฟ้องร้องช้าเกินไป  เช่น  กฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ไม่มีประเด็นข้อพิพาท  ซึ่งการที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยคดีก็จะไม่สามารถหาบทสรุปหรือเป็นที่สุดได้  ซึ่งมีคดีสำคัญ ๆ หลายคดีศาลไม่ได้วินิจฉัยเพราะข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป  เช่น  คดีที่ผู้ร้องที่เป็นชาวผิวขาว[5]  เห็นว่า  การที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธรับเข้ามหาวิทยาลัยของตนทั้งที่ได้คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกฎหมายที่เรียกว่า LSAT สูงกว่าคนผิวดำนั้น  ตามโครงการที่สนับสนุนคนกลุ่มน้อย (affirmative action) นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้รับเด็กชาวผิวขาวคนนั้นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  และเมื่อคดีมาถึงศาลสูงสุด  เด็กชาวผิวขาวก็ได้เรียนจบปีสุดท้ายแล้ว  ซึ่งเสียงข้างมากเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกต่อไป (moot) หรือคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิในการทำแท้งของสตรี[6]  นั้นปรากฏว่า  โจทก์ได้คลอดลูกแล้วเมื่อคดีมาถึงศาลสูงสุด  แต่ศาลก็ยังรับพิจารณาคดีดังกล่าวให้ (non moot) เพราะศาลเห็นว่าระยะเวลาที่คนตั้งครรภ์นั้นไม่นานเมื่อเทียบกับเวลาที่คดีเดินทางมาสู่ศาล  มิฉะนั้นศาลจะไม่สามารถพิจารณาคดีในเรื่องดังกล่าวได้เลยเพราะจะไม่ทันเวลา  และเห็นว่าการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครรภ์กับสตรีคนหนึ่ง ๆ และสำหรับประชากรทั่ว ๆ  ไป  ศาลสูงสุดจึงรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาได้
                  (4)  เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางการเมือง (Political Questions) หรือไม่  ศาลสูงสุดจะไม่รับพิจารณาคดีที่เป็นประเด็นทางการเมือง  ซึ่งควรได้รับการแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายอื่น ๆ มากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ  หรือในเรื่องที่เป็นนโยบายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                  (5)  เป็นประเด็นที่ศาลเคยพิจารณาวางหลักไว้ในคดีก่อนหน้าแล้ว  ที่เรียกว่า Stare decisis ศาลจะไม่รับพิจารณาคดีที่เป็นประเด็นที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้แล้ว  และศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวยังใช้ได้ 
                  (6)  แนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดของศาล (Formal Rules and Practices) ศาลสูงสุดอาจจะไม่รับพิจารณาคดีหากเห็นว่า  คำร้องขอให้พิจารณาคดียื่นมาไม่ถูกต้องตามกำหนดระยะเวลาหรือรูปแบบของคำร้อง  เช่น  ข้อจำกัดในเรื่องคำและสีปกของคำร้องต่าง ๆ  ซึ่งข้อกำหนดศาลสูงสุดกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาลในการตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องที่ยื่นต่อศาล  และมีสิทธิในการปฏิเสธไม่รับคำร้องที่ยื่นมาโดยไม่ถูกต้องได้ 
                 5.6  การรับคำร้องไว้พิจารณาและคู่ความส่งบันทึกชี้แจงคดี (Brief on the merits)
       ในขั้นตอนนี้  หากศาลมีคำวินิจฉัยรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว  เจ้าหน้าที่ศาลจะแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ  และผู้เกี่ยวข้องจะส่งบันทึกชี้แจงคดี (Brief on the merits) ให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีต่อไป  โดยในช่วงเวลานี้บุคคลที่ไม่ใช่คู่ความแห่งคดีที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาล  อาจขอส่งคำขอเพื่อเข้าชี้แจงหรือส่งคำชี้แจงคดีต่อศาลได้  ที่เรียกว่า Amicus Curie (“friend of the court”)  (ซึ่งบันทึกชี้แจงจากเพื่อนของศาลอาจยื่นในชั้นที่ศาลตรวจพิจารณารับคำร้องด้วยก็ได้)  คำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาส่วนใหญ่จะเป็นประโยคเดียวไม่มีเหตุผลประกอบ  สำหรับคดีที่มีเขตอำนาจศาลเฉพาะของศาลสูงสุด (Court’s original jurisdiction) โดยหลักจะส่งให้เจ้าหน้าที่ของศาล (Special Master) ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นเสนอต่อศาลและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งหมดในศาล
       5.7  การอภิปรายหรือแถลงด้วยวาจา (Oral Argument)
       หลังจากศาลได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับคดีทั้งหมดแล้วจะใช้ระยะเวลาหนึ่ง  เพื่อการศึกษาเอกสารในคดีและเมื่อศาลเห็นว่าคดีใด  ควรรับฟังคำแถลงด้วยวาจา  ศาลอาจให้มีการกำหนดวันอภิปรายด้วยวาจาในแต่ละคดี  โดยศาลจะกำหนดให้คู่ความจัดทำสรุปคดีเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนและอาจเปิดฟังการอภิปรายในคดีได้  โดยกำหนดให้แต่ละฝ่ายมีเวลาครึ่งชั่วโมงในการอภิปรายด้วยวาจา  ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการเปิดศาลศาลจะรับฟังคดีถึง  24  คดี  ต่อครั้ง  เนื่องจากจำนวนคดีในศาลสูงสุดมีมาก  เฉพาะในกรณีพิเศษเท่านั้น  ศาลจึงสั่งขยายเวลาการอภิปรายด้วยวาจาให้  ผู้ที่จะเข้าอภิปรายคดีต้องเป็นทนายความที่ได้รับอนุญาตให้เข้าว่าความในศาลสูงสุดเท่านั้น  ซึ่งประโยชน์ของการอภิปรายด้วยวาจา  คือ  ศาลสามารถซักถามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ที่เกี่ยวข้องกับคดีได้โดยตรงจากคู่ความ  โดยศาลอาจซักถามทนายความในขั้นตอนการอภิปรายด้วยวาจานี้ได้ 
       แต่เดิมศาลไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการอภิปรายด้วยวาจาไว้  ทำให้บางคดียืดเยื้อมาก  ต่อมากำหนดเป็นฝ่ายละหนึ่งชั่วโมงและลดเหลือฝ่ายละครึ่งชั่วโมงแทน   และในบางโอกาสศาลอาจมีคำสั่งให้เปิดอภิปรายในคดีใดคดีหนึ่งซ้ำอีกครั้ง (reargument) หากศาลเห็นว่าความสำคัญของประเด็นข้อกฎหมายยังไม่ได้รับการอภิปรายเพียงพอหรือประเด็นอื่น ๆ สมควรมีการอภิปรายอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะ  เช่น  กรณีการยกเลิกการแบ่งแยกระหว่างสีผิว (desegregation)
       การจัดแบ่งพื้นที่เลือกตั้ง (reapportionment) หรือเกี่ยวกับสิทธิในการทำแท้ง (abortion)[7]  ข้อกำหนด
       ศาลสูงสุด  ข้อ  28  กำหนดหลักเกณฑ์การแถลงด้วยวาจาไว้ว่า  ให้เป็นการเน้นและทำให้กระจ่างจากบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้ต่อศาลแล้ว  และให้คำนึงว่าผู้พิพากษาทุกนายได้อ่านบันทึกนั้นโดยละเอียดแล้ว  จึงไม่ควรอ่านจากบันทึกดังกล่าว  และให้แต่ละฝ่ายใช้ทนายความเพียงหนึ่งนายเท่านั้นในการแถลงด้วยวาจาต่อศาล  ฝ่ายที่จะแถลงด้วยวาจาต้องส่งบันทึก (Brief) ต่อศาลก่อนการได้รับอนุญาตให้แถลงด้วยวาจา
       5.8  การประชุมพิจารณาคดี (Conference on the Merits/Conference Deliberation)
       ภายหลังจากที่ได้มีการอภิปรายเรียบร้อยแล้ว  คดีจะถูกเสนอให้ที่ประชุมผู้พิพากษาพิจารณา  (submitted) และเริ่มมีการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น (tentative or preliminary vote) เพื่อที่จะสามารถกำหนดตัวผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่เขียนคำพิพากษา  ซึ่งกระบวนการประชุมและลงมติเป็นขั้นตอนที่กระทำภายในเฉพาะผู้พิพากษา  โดยปกติจะประชุมวันพุธ  ตอนบ่าย  เพื่อพิจารณาคดีที่เปิดฟังการอภิปรายไปในวันจันทร์ที่ผ่านมา  และในวันศุกร์จะอภิปรายคดีที่ยื่นมาใหม่และคดีที่ได้มีฟังการอภิปรายด้วยวาจาไปเมื่อวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา  ไม่ค่อยมีผู้ใดล่วงรู้เหตุการณ์ที่เกิดในห้องประชุม  ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน  ในช่วงเวลาที่ศาลไม่ได้เปิดให้มีการอภิปรายด้วยวาจา  การพิจารณาคดีจะจัดขึ้นในวันอังคาร  และอาจจัดให้มีการประชุมนัดพิเศษในกรณีที่มีคดีเร่งด่วนในช่วงฤดูร้อนได้
       โดยจารีตประเพณีประธานศาลสูงสุดจะเป็นผู้แสดงความคิดเห็นของคดีเป็นบุคคลแรกและเรียงตามลำดับความอาวุโสและจึงลงมติ  แต่ในปัจจุบันได้ร่วมเป็นกระบวนการเดียวคือ  ประธานศาลสูงสุดแสดงความเห็นของคดีและลงมติไปในคราวเดียวกัน[8]  สภาพปัจจุบัน  เนื่องจากจำนวนคดีมากมาย  ศาลไม่มีเวลาพิจารณาแต่ละคดีไปตามขั้นตอนและวิธีดำเนินการที่ควรจะเป็น  กล่าวคือ  มีการอภิปรายคดีโดยละเอียด  แสดงความคิดเห็นในประเด็นแห่งคดีเป็นลำดับไป  ซึ่งส่วนใหญ่ของการพิจารณาก็เป็นเพียงการไปลงมติของ
       ผู้พิพากษาในแต่ละคดีมากกว่า  เหตุผลประการสำคัญประการหนึ่ง  คือ  เนื่องจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดแต่ละท่านดำรงตำแหน่งกันเป็นระยะเวลายาวนาน  คดีหลายคดีมีลักษณะและประเด็นแห่งคดีที่ผู้พิพากษาแต่ละท่านเคยมีความเห็นไปแล้ว  ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็จะยืนยันตามความเห็นเดิมของตนเท่านั้น  จึงทำให้ขั้นตอนนี้สามารถรวบรัดลงได้
       5.9  ขั้นตอนการจัดทำคำพิพากษาและการเวียนร่างคำพิพากษาให้ผู้พิพากษาแต่ละท่านพิจารณา  (Opinion Drafting and Circulating/Postconference writing and Circulation of  opinions)
       เมื่อมีการลงคะแนนเสียงมติของคดีแล้ว  ผู้พิพากษาอาวุโสสูงสุดในความเห็นเสียงข้างมากร่วมถึงประธานศาลสูงสุดด้วย  เป็นผู้กำหนดผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เขียนคำพิพากษา  โดยจะกำหนดจาก
       ผู้พิพากษาที่เป็นเสียงข้างมากคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เขียนคำพิพากษา  ซึ่งอาจกำหนดให้ตนเองเป็นผู้เขียน
       คำพิพากษาก็ได้  ซึ่งปรากฏว่าประธานศาลสูงสุดบางท่านก็จัดหน้าที่การเขียนคำพิพากษาให้หมุนเวียนเฉลี่ยกันไป  เพื่อให้ผู้พิพากษาแต่ละท่านไม่มีภาระงานที่หนักและแตกต่างกันมาก  ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษามีหน้าที่ส่งร่างคำพิพากษาให้แก่ผู้พิพากษาท่านอื่นพิจารณา  ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลจะมีส่วนช่วยในขั้นตอนนี้โดยการช่วยยกร่าง  ซึ่งผู้พิพากษาท่านอื่นอาจเสนอการแก้ไขร่างคำพิพากษาได้  บางครั้งผู้พิพากษาท่านอื่นอาจเลือกที่จะเขียนความเห็นของตนต่อท้ายแทนได้   ถ้าไม่เห็นด้วยกับแนวเหตุผลของคำพิพากษา  ที่เรียกว่า  ความเห็นพ้อง (concurring opinion)
       การลงคะแนนเสียงเบื้องต้นของผู้พิพากษาอาจเปลี่ยนแปลงได้  หลังจากอ่านร่างคำพิพากษา  เนื่องจากเห็นว่าเหตุผลไม่โน้มน้าวพอ  ผู้พิพากษาที่เคยเห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่  อาจเปลี่ยนเป็น
       ไม่เห็นด้วยก็ได้หลังจากอ่านร่างคำพิพากษา  เช่น  ผู้พิพากษาเคนเนดีเป็นที่รับรู้กันในศาลว่ามักจะเปลี่ยนความเห็นหลังจากออกจากที่ประชุมแล้ว  และผู้พิพากษาโทมัสมักจะตกเป็นเสียงข้างน้อย  เป็นต้น 
       ซึ่งผู้พิพากษาสามารถเปลี่ยนความเห็นของตนได้ตลอดเวลาจนกว่าจะอ่านคำพิพากษา[9]
       5.10 การอ่านคำพิพากษา (Opinion Days and Communicating Decisions, Announcement of Decisions)
       คำพิพากษาแต่ละสมัยมักถูกอ่านโดยทันทีเมื่อผู้พิพากษาตัดสินคดีเสร็จสิ้นหรืออาจอ่านในช่วงเดือนสุดท้ายของสมัยการพิจารณาคดีของศาลแต่ละสมัย  พร้อมคำพิพากษาหลายเรื่องที่ศาลตัดสินแล้ว  แต่เดิมศาลมักอ่านคำพิพากษาแบบเต็มฉบับ  แต่ในปัจจุบันศาลจะแจกผลคำพิพากษาให้ผู้สื่อข่าวพร้อมการอ่าน
       คำพิพากษา  ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาเป็นผู้อ่านคำพิพากษา  โดยเริ่มต้นจากผู้พิพากษาที่อ่อนอาวุโสกว่า  ผู้พิพากษาที่ทำความเห็นพ้องหรือความเห็นแย้งก็อาจให้ความเห็นของตนบนบัลลังก์ด้วยได้  โดยจารีตประเพณี  ศาลจะไม่ประกาศล่วงหน้าว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีใดเมื่อใด 
       โดยปกติการอ่านคำพิพากษาฉบับหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ  2  -  4  นาที  การอ่านคำพิพากษาอาจอ่านทั้งหมดหรือบางส่วนของคำพิพากษาก็ได้  หรือจะอ่านเฉพาะในส่วนเหตุผลในการวินิจฉัยคดี
       ก็ได้  ในคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคมผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยต่อผลคำพิพากษา  อาจชี้แจงความเห็นของตนต่อผู้มาฟังคำพิพากษาได้ (Bench speech)[10]  คำพิพากษาเมื่ออ่านแล้วจะถูกพิมพ์ในรูปแบบเอกสาร  “เผยแพร่” (slip opinion) แบบเย็บเล่มที่ยังไม่เป็นทางการ  เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องและใช้อ้างอิงเบื้องต้นได้ในวันนั้น  ก่อนที่จะรวบรวมเพื่อพิมพ์ในรายงานคำพิพากษาประจำปีของศาล (U.S. Reporter) ต่อไป 
       ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษามักเป็นผู้ลงนามในคำพิพากษาฉบับนั้น 
       5.11  การเผยแพร่คำพิพากษา (Release of Decisions)
       ข้อกำหนดศาลสูงสุด  ข้อ  41  กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศาล (Clerk) มีหน้าที่เผยแพร่คำพิพากษาศาลทันทีหลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาบนบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว  หรือตามที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  เจ้าหน้าที่ศาลจะเผยแพร่คำพิพากษาศาลในรูป  “เอกสารเผยแพร่” (Slip Form) ซึ่งอาจยังไม่มีเลขหน้าของคำพิพากษาที่จะปรากฏในรายงานของศาล (U.S Report) และการอ้างอิงเลขคดีในความเห็นของศาลดังกล่าวยังมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์  และด้านหน้าของเอกสารจะระบุไว้ชัดเจนว่า “slip opinion”
       ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ประกาศคำพิพากษา (Reporter of Decisions) จะมีหน้าที่เตรียมคำพิพากษา  2  ขั้นตอน  คือ 
       (1)  คำพิพากษาเพื่อการพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบที่เรียกว่า  Preliminary prints  คือ  คำพิพากษาที่มีลักษณะถูกต้องครบถ้วน  อาจประกอบด้วยเลขเล่มที่จะเย็บรวมคำพิพากษาในปีที่อ่านคำพิพากษา  พร้อมกับหมายเลขหน้า  เพื่อใช้ในการอ้างอิง  โดยอาจทยอยออกมาเมื่อมีการอ่านคำพิพากษาในแต่ละเรื่อง  เล่มหนึ่ง  ๆ  อาจประกอบด้วยคำพิพากษาหลายเรื่องได้  เป็นการทยอยพิมพ์คำพิพากษาที่ได้พิจารณาและอ่านแล้วเป็นคราว ๆ ไป  โดยจะไปรอรวมเล่มอีกครั้งหนึ่ง  และ 
       (2)  ในรูปแบบ Bound volumes คือ  เป็นเอกสารทางการที่เย็บรวมคำพิพากษาในแต่ละปี  ที่ได้ทยอยออกในรูป Preliminary prints จะรอออกเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาในแต่ละปีนั้นครั้งเดียว   โดยเป็นเอกสารรายงานประจำปีของศาล  ที่เรียกว่า U.S. Reporter ในรายงานประจำปีจะมีการรายงานสถานการณ์ประจำปีที่สำคัญต่าง ๆ  เช่น  ในรายงานประจำปี  เล่มที่  546  ปรากฏว่ามีพิธีต้อนรับผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่หนึ่งท่าน  คือ Samuel A. Alito, Jr.  ในรายงานประจำปีเล่มที่  547  ของปี  ค.ศ.  2005  ในปีนั้นเนื่องจากมีผู้พิพากษา Sandra Day O’Connor ขอเกษียณอายุ  และประธานศาลสูงสุด  William Rehnquist เสียชีวิต  ในรายงานประจำปีจึงปรากฏจดหมายสำคัญเกี่ยวกับการขอบคุณและรำลึกถึงผู้พิพากษาที่เกษียณอายุ  โดยเป็นจดหมายทางการจากคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด  และมีจดหมายจากบุคคลสำคัญ  ที่ส่งมาเพื่อรำลึกถึงประธานศาลสูงสุดที่เสียชีวิต  และรายงานเรื่องการทำงานและชีวิตส่วนตัวของประธานศาลสูงสุดด้วย  รายงานประจำปีในส่วนของคดีที่ศาลพิจารณาจะแบ่งเป็นสองส่วนโดยประมาณ  คือ  ส่วนของความเห็นแบบย่อของศาลที่เรียกว่า per curiam และคำพิพากษาหรือความเห็นของศาลแบบปกติ
       5.12  บุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาลสูงสุด
       (1)  เจ้าหน้าที่ศาลต่าง  ๆ  มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศาลสูงสุดหลายตำแหน่ง  เพื่อช่วยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลสูงสุด  เช่น  เจ้าหน้าที่ศาล (Law Clerks) ผู้จัดทำรายงานคำวินิจฉัยของศาล  (Reporter of Decisions) เจ้าหน้าที่หอสมุด (Librarian) เจ้าพนักงานศาล (Marshal to service)  เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์  (Public Information Officer)  เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ (Curator) เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล  (Director of Data System) และที่ปรึกษาของผู้พิพากษา  (Court counsel)  เป็นต้น 
       ผู้พิพากษาแต่ละท่านแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศาล  4  คน  ช่วยในงานคดีของผู้พิพากษาแต่ละท่านที่เรียกว่า  Clerk  มีหน้าที่สำคัญ  เช่น  การตรวจคำร้อง  คำขอต่าง ๆ  ตามข้อกำหนดศาลสูงสุดและมีอำนาจในการปฏิเสธคำร้องที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำคำร้อง  คำขอ  ต่าง ๆ  กลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง  เช่น  ตามข้อกำหนดศาลสูงสุด ฯ  ข้อ  1  และข้อ  44  หน้าที่ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา  โดยไม่ต้องแจ้งศาลทราบหากเข้าเงื่อนไขตามที่  ข้อ  46  กำหนด  เช่น  คู่ความทั้งสองฝ่ายขอถอนคำร้อง  หรือมีหน้าที่ในการจัดทำปฏิทินของศาลเพื่อกำหนดวันพิจารณาคดี  วันออกนั่งฟังการแถลงด้วยวาจาของศาล  (ข้อกำหนดศาลสูงสุด  ข้อ  27)
       (2) เจ้าหน้าที่พิเศษของศาล หรือ Special Master โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่พิเศษของศาล  หรือ  Special Master  เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยศาลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแทนศาล  ในการดำเนินการบางอย่างในกระบวนการพิจารณาคดีที่มีความยุ่งยากและต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ  บางครั้งเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจกึ่งตุลาการ (Quasi - Judicial) ส่วนใหญ่จะได้รับการแต่งตั้งในคดีแพ่ง  เพื่อการรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานและการสอบพยานหลักฐานในคดีเบื้องต้น  ซึ่งหากไม่มีการคัดค้าน  การรับฟังพยานของ Special Master จะเป็นที่สุด  อีกทั้ง  เจ้าหน้าที่พิเศษยังมีหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลต่าง ๆ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่พิเศษของศาลอาจได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร  เพื่อดำเนินการบางอย่างในการดำเนินคดีที่รัฐบาลถูกฟ้อง  หรือดำเนินการแทนฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ในกรณีเหตุการณ์  11  กันยายน  2011  รัฐสภาได้จัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว  ก็มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษเพื่อพิจารณาคำร้องต่าง ๆ ของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์  โดยอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษจากอัยการได้ 
       ในส่วนของศาลแห่งสหรัฐ  (Federal Court) มีข้อกำหนด  ข้อ  53  เกี่ยวกับวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งแห่งสหรัฐ  (The Federal Rules of Civil Procedure : FRCP) กำหนดให้อำนาจศาลแห่งสหรัฐในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษได้  สำหรับในศาลสูงสุดในคดีที่มีเขตอำนาจศาลเฉพาะของศาลสูงสุด (Court’s original jurisdiction) โดยหลักจะส่งให้เจ้าหน้าที่พิเศษของศาล(Special Master) ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน  และทำความเห็นเสนอต่อศาล  และการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งหมดในศาลเพื่อเป็นการบรรเทาภาระของศาลในการรวบรวมข้อมูลเอกสารเบื้องต้น  เช่น  กรณีการพิพาทระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น  แม่น้ำที่ไหลผ่านมลรัฐต่าง ๆ อาจมีขอพิพาทในสิทธิในการใช้น้ำ  เจ้าหน้าที่พิเศษนี้จะได้รับมอบหมายจากศาลเป็นกรณี ๆ ไป  ให้ไปดำเนินการรวบรวมและจัดระบบข้อเท็จจริงในคดีให้ศาล  เรียกบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลพิเศษนี้ว่า Report of Special Master. 
       (3)  ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย (Attorneys and Counselors)
       ข้อกำหนดศาลสูง ส่วนที่  2  ทนายความและที่ปรึกษา  ข้อ  5  กำหนดให้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตให้ว่าความในศาลสูงสุดเท่านั้น  จึงเป็นผู้มีสิทธิว่าความในศาลสูงสุด  โดยทนายความที่มีสิทธิว่าความในศาลสูงสุดต้องเป็นทนายความที่ได้รับอนุญาตให้ว่าความในศาลสูงสุดของมลรัฐ  เครือรัฐ  ดินแดนในอารักขา  หรือในเขตพื้นที่การปกครองโคลัมเบีย  อย่างน้อย  3  ปี  และไม่เคยถูกลงโทษวินัยร้ายแรงในระหว่าง  3  ปี  และต้องปรากฏต่อศาลว่าเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี  (good  moral)  และมีลักษณะเป็นผู้มีวิชาชีพ  (professional  character)  บุคคลที่ขาดคุณสมบัติในการยื่นเพื่อเป็นทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายในศาลสูงสุดอาจขออนุญาตว่าความเฉพาะคดีได้  เรียกว่า  ว่าความเป็นกรณีพิเศษ  (pro hac vice)  (ข้อกำหนดศาลสูงสุด  ข้อ 6)  หรือกรณีที่เป็นทนายความจากต่างประเทศ  ก็อาจใช้ข้อกำหนดนี้เพื่อขออนุญาตว่าความอภิปรายคดีบางคดีในศาลสูงสุดได้
       (4)  ผู้เชี่ยวชาญในคดี  หรือ  “เพื่อนของศาล” (Amicus Curiae, Friends of the Court) 
       Amicus Curiae หมายถึง  บุคคลหรือองค์กรที่ไม่ใช่คู่ความในคดี  แต่สมัครใจในการให้ข้อมูลแก่ศาล  เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยคดีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดี  ข้อมูลที่ให้เป็นลักษณะข้อความเห็นทางกฎหมายโดยส่งให้ศาลในรูปลักษณะบันทึก (Amicus Brief) โดยถ้อยคำดังกล่าวมาจากภาษาลาตินที่มีความหมายว่า  เพื่อนของศาล (Friend of the court) ข้อกำหนดของศาลสูงสุดข้อ  37.1  กำหนดว่าบันทึก Amicus Curiae ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับคดีที่คู่ความยังไม่ได้ยกขึ้นนั้นศาลถือว่าเป็นประโยชน์  ซึ่งหากเป็นบันทึกในลักษณะอื่นศาลเห็นว่าเป็นภาระของศาล  ศาลไม่ปรารถนา 
       ข้อกำหนดศาลสูงสุดกำหนดระยะเวลาในการส่งบันทึกต่อศาลด้วย  เช่น  บันทึกเพื่อสนับสนุนผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องให้ยื่นภายใน  30  วัน  นับแต่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา  (ข้อ  37.2)  บันทึกต้องระบุด้วยว่าสนับสนุนให้ศาลวินิจฉัยในทางใด  และกำหนดให้ผู้ส่งบันทึกที่ไม่ใช่องค์กรรัฐระบุด้วยว่า  ใครเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินในการยื่นบันทึกดังกล่าว  (ข้อ  37.6)
       (5)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  และทนายความแห่งรัฐ (Attorney General และSolicitor General)
       ข้อกำหนดศาลสูงสุด  ข้อ  29  และข้อ  37  กำหนดให้เมื่อมีคดีเกี่ยวกับการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย  และคดีนั้นไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐ  หรือทนายความแห่งสหรัฐเข้าเป็นคู่ความ  ให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องให้บุคคลดังกล่าวด้วย  โดยปกติ  ทนายความแห่งสหรัฐ (Solicitor General) จะยื่นบันทึกเพื่อนของศาลในชั้นภายหลังจากที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว  ในคดีที่รัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ความแห่งคดี  เพื่อเสนอประเด็นที่อาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของ
       สำหรับทนายความแห่งสหรัฐ (United States Solicitor General) คือ  บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อเป็นผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐในการดำเนินคดีที่รัฐบาลสหรัฐเป็นคู่ความในศาลสูงสุด  โดยมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ  ยื่นบันทึกเพื่อนของศาลต่อศาลสูงสุดที่รัฐบาลสหรัฐมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในประเด็นข้อกฎหมาย  และมีหน้าที่ให้คำรับรองในคดีที่สหรัฐแพ้คดีในศาลชั้นต้นและต้องการอุทธรณ์คำพิพากษาของ
       ศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์  และเป็นทนายความในทุกคดีที่รัฐบาลสหรัฐเป็นคู่ความ  สำนักงานของทนายความแห่งรัฐตั้งอยู่ในอาคารของศาลสูงสุดด้วย  ทนายความแห่งรัฐ  ได้ถูกเรียกว่า  “ผู้พิพากษาคนที่ 10” (tenth justice)  เนื่องจากบทบาทและความสำคัญในศาลสูงสุด  และการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในศาลสูงสุดจำนวนหลายคดี  จนเกิดความคุ้นเคยกับระบบการทำงานของศาลสูงสุดอย่างดี  และคดีส่วนใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากทนายความแห่งรัฐ  ให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกคดีมาพิจารณาอีกครั้ง (petition for certiorari) มักได้รับอนุญาตจากศาลสูงสุดด้วย  และทนายความแห่งรัฐได้รับการยอมรับจากสังคมนักกฎหมายว่า  เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายดีเยี่ยมรองจากผู้พิพากษา 
        
       6.  คำพิพากษาศาลสูงสุด
       คำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีลักษณะรายละเอียดในเรื่องการให้เหตุผลประกอบ
       คำพิพากษา  หลายเรื่องมีความยาวมาก  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาไปในทางการเปรียบเทียบเทียบเคียงคดีกับ
       คำพิพากษาที่ศาลเคยวินิจฉัยวางหลักไปแล้วว่า  มีความเหมือนหรือแตกต่างกันประการใดก่อนที่
       ศาลจะได้วินิจฉัยคดีที่ศาลกำลังจะทำการวินิจฉัยนี้  จึงอาจกล่าวได้ว่าคำพิพากษามีความชัดเจนใน
       ความเป็นมาเป็นไปของคำวินิจฉันค่อนข้างมาก  แม้เหตุผลในการวินิจฉัยบางเรื่องเมื่อมาถึงบทสรุป
       จะยังไม่ค่อยชัดเจนก็ตาม  คำพิพากษาศาลสูงสุดจะประกอบด้วยความเป็นมาหรือข้อเท็จจริงแห่งคดี  อำนาจในการฟ้องคดี  ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยสรุปที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย  การพิจารณาเทียบเคียงกับคดีที่ศาลต่าง  ๆ  เคยวินิจฉัยไว้  และคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด  และความเห็นพ้องและความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี  โดยในบทนี้จะกล่าวถึงแง่มุมสำคัญต่าง  ๆ  ของศาลสูงสุดดังนี้
                 6.1  ลักษณะทั่วไปของคำพิพากษาศาลสูงสุด  (Court Opinion)    ความเห็นของศาลในการวินิจฉัยคดี (Court Opinion) หมายถึง  ความเห็นของศาลในคดีที่พิจารณา  ประกอบไปด้วย  ข้อเท็จจริงของคดี (Fact) โดยย่อ  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Law) และข้อเท็จจริงในคดีที่สัมพันธ์กับข้อกฎหมาย (Analysis) การให้เหตุผลที่สนับสนุนการตัดสินคดี (Reasoning) และคำตัดสินคดีของศาล (Holding or Judgment) โดยส่วนใหญ่ปรากฏในรูปของหนังสือ  มีบางส่วนที่อาจเป็นวาจาได้  ซึ่งคำพิพากษามีทั้งแบบสั้นไม่กี่ประโยค  และแบบยาวเป็นหลายร้อยหน้า  มีทั้งที่เป็นเพียงความเห็นของผู้พิพากษาที่ไม่มีผลผูกพันเป็นคำตัดสินแห่งคดี  (Dicta, obiter dicta) ปะปนมากับคำพิพากษาของศาลฉบับหนึ่งกับคำตัดสินหรือความเห็นของศาลที่มีผลเป็นคำพิพากษาผูกพันคู่ความ (Holding) 
       คำพิพากษาประกอบด้วยความเห็นรวมของศาลในประเด็นแห่งคดีนั้น  ที่เขียนโดยผู้พิพากษานายหนึ่งแทนผู้พิพากษาทั้งหมด  คำพิพากษามีหลายลักษณะ  เช่น 
       (1)  คำพิพากษา“เสียงข้างมาก” (Majority) ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาที่ผู้พิพากษามีความเห็นร่วมกันทั้งในส่วนของการให้เหตุผล (Reasoning) และคำพิพากษา (Holding) ที่เรียกว่า “เสียงข้างมาก” (Majority) คำพิพากษาในลักษณะดังกล่าวทำให้คำพิพากษาเรื่องนั้น ๆ  ดูมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากเพราะความเห็นของผู้พิพากษาและเหตุผลไปในทางเดียวกันเป็นส่วนมาก  ในปัจจุบัน  คำพิพากษาศาลสูงสุดที่เป็นเสียงข้างมากต้องประกอบด้วยเสียงของผู้พิพากษา  5  เสียงขึ้นไป  เนื่องจากศาลสูงสุดมีผู้พิพากษาทั้งหมด 9 ท่าน
       (2)  คำพิพากษา  “เสียงส่วนมาก” (Plurality)  ซึ่งหมายถึง  ประเภทคำพิพากษาที่มีผลคำวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก  แต่เนื่องจากความเห็นที่นำมาสู่การวินิจฉัยคดียังมีความแตกต่างกันอยู่ในระหว่างผู้พิพากษาที่เป็นเสียงข้างมากนั้น  ซึ่งจะไม่ค่อยเกิดมากนัก  คำพิพากษาเสียงส่วนมากเนื่องจากผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นด้วยในคำพิพากษาของศาลแต่จะแตกต่างกันในเหตุผล  จึงทำให้คำพิพากษาในเรื่องนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อยลง  เพราะในหมู่ผู้พิพากษายังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปมาก  คำพิพากษาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวในอนาคตจึงมีโอกาสสูง  และเป็นที่ยุ่งยากในการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวเพราะมีความเห็นหลากหลายมากว่าควรจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนใดมากน้อยเพียงใด
       คำพิพากษาในลักษณะดังกล่าวมักจะเขียนโดยผู้พิพากษานายหนึ่ง  หรือที่เขียนโดยกลุ่มผู้พิพากษาที่มีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องดังกล่าว[11]  และมักมีความเห็นพ้อง (concurring opinion)  ซึ่งเป็นความเห็นที่เขียนโดยผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับแนวคำพิพากษาเสียงข้างมาก  อาจเขียนโดยผู้พิพากษานายหนึ่งหรือหลายนายก็ได้  เหตุผลที่ผู้พิพากษาต้องเขียนความเห็นของตนประกอบคำพิพากษาในแต่ละเรื่องเนื่องมาจากเหตุผลในการวินิจฉัยคดีแตกต่างกัน  หรืออาจมีความต้องการให้เหตุผลเพิ่มเติมในบางประเด็น  หรือกรณีที่ผู้พิพากษามีความเห็นแตกต่างจากในประเด็นแห่งคดีที่ตนเคยวินิจฉัยไว้แล้ว  จึงต้องการอธิบายเหตุผลที่ตนเองมีความเห็นแตกต่างกันในสองคดีนั้น  หรือผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาในคดีนั้น  อาจเขียนความเห็นส่วนตนเพิ่มเติมได้เพื่อมิให้มีผลผูกพันเป็นคำพิพากษา  ความเห็นพ้องนั้นอาจมีความเห็นพ้องกับ
       คำพิพากษาทั้งฉบับหรือบางส่วนก็ได้  ความเห็นพ้องไม่มีผลผูกผันไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาล  การที่
       ผู้พิพากษาเขียนความเห็นพ้องอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าคำพิพากษาเรื่องนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้  หากมีเหตุผลและข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงจากในคดีนี้  หรือผู้พิพากษานายนั้น ๆ พร้อมเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายในคดีดังกล่าวในอนาคต[12]  คำพิพากษาที่มีความเห็นพ้องมากเป็นอุปสรรคมากในการที่จะปฏิบัติตาม
       คำพิพากษาฉบับนั้น ๆ  เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใด  เป็นเหตุผลที่แท้จริงทั้งหมดของคำพิพากษา
       (3)  ความเห็นแย้ง (Dissenting Opinion) เป็นความเห็นที่เขียนโดยผู้พิพากษาที่มีความเห็นแตกต่างหรือเห็นแย้งจากความเห็นของผู้พิพากษาเสียงข้างมาก  อาจเห็นแย้งเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของ
       คำพิพากษาหรือเห็นแย้งคำพิพากษาทั้งฉบับก็ได้  โดยอาจเห็นแย้งในเรื่องการตีความแห่งคดี  การตีความข้อเท็จจริง  การตีความข้อกฎหมาย  โดยส่วนใหญ่การเขียนคำพิพากษาแย้งจะเขียนแย้งเป็นประเด็น ๆ
       ที่ปรากฏตามคำพิพากษาแห่งคดี  ๆ  นั้น  ความเห็นแย้งไม่มีผลผูกผันแต่อาจใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้คดีในครั้งต่อไปเพื่อขอให้มีการกลับคำพิพากษา  ความเห็นแย้งหลายเรื่องอาจกลายเป็นคำพิพากษาในคราวต่อไปได้[13] 
       6.2  ประเภทคำพิพากษา  ข้อกำหนดข้อ  41  กำหนดลักษณะความเห็นของศาลไว้  3  ลักษณะ  ได้แก่
                 (1)  คำพิพากษาฉบับเผยแพร่ก่อน (Slip Opinions)  คำพิพากษาฉบับย่อเป็นคำพิพากษาที่พิมพ์เผยแพร่โดยศาล  เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาด  6  นิ้ว  คูณ  9  นิ้ว  และเผยแพร่ทางสื่อคอมพิวเตอร์ด้วย 
       มีลักษณะคำพิพากษาประกอบด้วยความเห็นข้างมาก  ความเห็นพ้อง  ความเห็นแย้งของผู้พิพากษา  และ  สรุปย่อข้อเท็จจริงและคำพิพากษา (prefatory syllabus) และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจพบในคำพิพากษาฉบับบนบัลลังก์  เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและสื่อมวลชน  อีกวาระหนึ่ง
       ซึ่งคำพิพากษาฉบับบนบัลลังก์ (Bench Opinions)[14]  มีลักษณะเป็นคำพิพากษาที่ออกทันทีในวันที่ศาลมีคำพิพากษาในเรื่องนั้น ๆ  โดยคำพิพากษาประกอบด้วยความเห็นผู้พิพากษาที่เป็นเสียงเอกฉันท์  เสียงข้างมาก  ประกอบด้วยความเห็นพ้อง  ความเห็นแย้งของผู้พิพากษา  และสรุปย่อข้อเท็จจริงและ
       คำพิพากษา (prefatory syllabus) ที่จัดทำโดยสำนักงานเจ้าหน้าที่ศาล (Reporter’s Office) เป็นเอกสารการพิมพ์เผยแพร่โดยศาล  เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาด 5  นิ้วครึ่ง  คูณ  8  นิ้วครึ่ง  และเผยแพร่ทางสื่อคอมพิวเตอร์ด้วย  คำพิพากษาดังกล่าวออกโดยทันทีเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนนั้นเอง 
       ซึ่งลักษณะรูปเล่มจะเล็กกว่า  ฉบับที่เรียกว่า Slip Opinion  
       (2)  คำพิพากษาฉบับก่อนพิมพ์ (Preliminary Prints) เป็นคำพิพากษาที่เกิดก่อนการรวบรวมคำพิพากษาทั้งหมดในเทอมการพิจารณาคดีนั้น ๆ  ของศาล  เพื่อพิมพ์ในฉบับเย็บเล็มเป็นรายงานของศาล  (Bound Volumes : U.S. Report) นั้น  ศาลจะออกคำพิพากษาฉบับก่อนพิมพ์ขึ้น  ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียง 
       มีเอกสารประกอบครบถ้วนกับฉบับที่จะรวบรวมไว้ในรายงานของศาล  คำพิพากษาฉบับก่อนพิมพ์  2-3  เรื่อง  อาจรวบรวมได้เป็นหนึ่งฉบับ
       (3)  คำพิพากษาฉบับเย็บเล็ม (Bound Volumes) เป็นคำพิพากษาฉบับที่สี่หรือฉบับสุดท้ายเพื่อรวบรวมคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในแต่ละเทอม  เย็บรวบรวมเป็นเล็มในลักษณะรายงานประจำปีของศาล
        
       7.  บทสรุป
                 จุดเด่นและขั้นตอนการจัดทำคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา 
                 7.1  คำพิพากษาเขียนแสดงเหตุผลในการวินิจฉัยคดีค่อนข้างชัดเจน  มีการยกแนวคำพิพากษาของศาลในประเด็นที่ศาลได้วางหลักไว้แล้ว (Stare Decisis) และแนวคำพิพากษาใกล้เคียงกันขึ้นมาอธิบายประกอบเปรียบเทียบ  แต่อย่างไรก็ตาม  หลายคนกลับเห็นว่าการเขียนคำพิพากษาในรูปแบบดังกล่าวยืดเยื้อเกินไป  ทำให้คำพิพากษายาวโดยไม่จำเป็น  
                 7.2  การเคารพหลักกฎหมายที่ศาลเคยวางไว้แล้วในคดีต่าง ๆ หากศาลต้องการกลับคำพิพากษาศาลจะต้องอธิบายว่าหลักการที่เคยวางไว้ในคำพิพากษาก่อนหน้ามีปัญหาประการใด  และสาเหตุที่ศาลต้องกลับหลักคำพิพากษาในคดีนี้  (art of overruling) เช่น  คดีดังกล่าวเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด  เป็นหลักการที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยอีกต่อไป  เป็นต้น  จะเห็นว่าศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกายอมรับความผิดพลาดของ
       คำพิพากษาของตนอย่างตรงไปตรงมา  และสามารถกลับคำพิพากษาของตนเองได้หากเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่ถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป  เช่น  ในคดี West Virginia State Board of Education v. Barnette (319 U.S. 624 (1943)) ซึ่งศาลสูงสุดได้กลับคำพิพากษาของตนเองภายในระยะเวลาเพียง  3  ปี  หลังจากได้พิพากษาในคดี  Minerville School District v. Gobitis (310 U.S. 586 (1940)) เนื่องจากภายหลัง
       คำพิพากษาออกแล้วเกิดผลกระทบที่สำคัญเป็นความวุ่นวายในสังคมตามมา  แต่มีข้อสังเกตว่าช่วงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงประธานศาลสูงสุดด้วย  ทำให้แนวคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปได้  หรือคดีที่ศาลพิพากษาต่างระยะเวลากันนานแล้ว  เมื่อข้อกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป  หรือสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปศาลก็อาจกลับแนวคำพิพากษาได้  เช่น  รัฐธรรมนูญ  ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่  14  ซึ่งศาลสูงสุดเคยวินิจฉัยวางแนวไว้ในสมัยแรก ๆ ว่า  รัฐธรรมนูญ  ฉบับที่  14  ดังกล่าว  ไม่ผูกพันมลรัฐ  แต่ต่อมาได้กลับคำพิพากษาศาลสูงสุด  โดยวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญ  ฉบับที่  14  มีผลผูกพันมลรัฐเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น  จนต่อมาได้กลับคำพิพากษาศาลสูงสุดอีกครั้งเป็นว่า  รัฐธรรมนูญ  ฉบับที่  14  ดังกล่าว  ผูกพันมลรัฐทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคำประกาศสิทธิ (Bill of Rights) เป็นต้น 
                 7.3  การวางขั้นตอนที่จะนำมาสู่การวินิจฉัยคดีที่ชัดเจน  การเขียนคำพิพากษาได้ดีนั้น  ข้อมูลตาม
       คำร้องและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีที่เรียบเรียงนำเสนอต่อศาลสูงสุดเพื่อพิจารณาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ  เช่น  การได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและกระชับ  ข้อกำหนดศาลสูงสุดได้กำหนดแนวทางการเขียนข้อเท็จจริงตามคำร้องไว้โดยมีข้อจำกัดในข้อเท็จจริงให้ไม่เกิน  9,000  คำ  เป็นต้น  เนื่องจากมีการฟ้องคดีมายังศาลสูงสุดต่อปีเป็นจำนวนมาก  หากไม่มีการกำหนดข้อจำกัดเรื่องคำแล้ว  คงเป็นภาระหนักต่อศาลและเจ้าหน้าที่ศาลในการตรวจคำร้องและจัดทำความเห็นเสนอต่อศาลได้  ประกอบกับการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะชี้แจงข้อโต้แย้ง  และข้อเท็จจริงในคดีอย่างละเอียดและต้องชี้ให้ศาลเห็นว่ามีข้อเสนอใดที่ผิดพลาดปรากฏ
       ในคำร้องและบันทึกสนับสนุนและบันทึกแย้งที่เกี่ยวข้อง  และให้เสนอว่าศาลควรมีคำวินิจฉัยประการใด 
       ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบในการเสนอข้อเท็จจริงและทางออกในแต่ละคดี  ไม่ใช่หน้าที่ของศาลแต่โดยลำพังในการเดินทางไปสู่การมีคำวินิจฉัยในแต่ละคดี 
                 7.4  การแก้ไขคำพิพากษา  ข้อกำหนดศาลสูงสุด  ข้อ  41  กำหนดขั้นตอนการจัดทำและเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาล  โดยคำพิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐ  จัดทำคำพิพากษาไว้หลายฉบับ  ตั้งแต่ฉบับที่อ่านบนบัลลังก์  ฉบับที่เผยแพร่เบื้องต้น  ฉบับที่เผยแพร่ในระยะต่อมา  และฉบับสุดท้าย  ซึ่งคำพิพากษาฉบับบนบัลลังก์ที่อ่านแล้วมีข้อผิดพลาดประการใด  ก็ยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ 
                 7.5  การลดปริมาณงานเขียนคำวินิจฉัย  เนื่องจากปริมาณงานคดีของศาลสูงสุดมีมากนับเป็นหลักหมื่นคดี  มีมาตรการหลายอย่างออกมาเพื่อลดงานของศาลสูงสุด  ผู้พิพากษาศาลสูงสุดนายหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า 
       ผู้พิพากษาศาลสูงสุด  9  ท่าน  มีความสามารถในการทำคดีอย่างดีที่ต้องมีการเขียนคำวินิจฉัยเต็มรูปแบบนั้น  ประมาณ  150  คดี  ต่อปีเท่านั้น  คดีที่มากกว่านั้น  หากไม่มีมาตรการที่เหมาะสมย่อมคั่งค้างอยู่ในศาล 
       ซึ่งที่ผ่านมารัฐสภาก็ได้เข้าแก้ปัญหาดังกล่าว  เช่น  ออกกฎหมายให้เป็นดุลพินิจของศาลสูงสุดในการเลือกรับพิจารณาคดี  การจำกัดถ้อยคำในคำร้อง  ให้ไม่ยืดยาวเกินจำเป็น  เป็นต้น  มาตรการดังกล่าวถือเป็นการลดปริมาณของเอกสารที่ไม่จำเป็นของศาลสูงสุดลงได้ 
                 7.6  การมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานที่เหมาะสม  ผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาแต่ละนายจะมีเจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนงาน  โดยศาลจะใช้บันทึกเจ้าหน้าที่ในการช่วยพิจารณาว่าจะรับ
       คำร้องเรื่องใดไว้พิจารณาหรือไม่  และเมื่อรับไว้พิจารณาแล้วก็จะมีความเห็นในประเด็นพิพาทแต่ละคดีอย่างไร  ซึ่งในบันทึกเจ้าหน้าที่ศาลอาจมีการเสนอแนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นแนวทางต่าง ๆ ต่อศาลได้โดยนำผลจากการศึกษาเทียบเคียงข้อกฎหมายและแนวคำวินิจฉันคดีของศาลในเรื่องต่าง ๆ  โดยเจ้าหน้าที่ศาลมีส่วนช่วยในการค้นคว้าและร่างคำวินิจฉัย  และผู้พิพากษาเป็นผู้ตรวจแก้ไขปรับปรุง  ทำให้การวินิจฉัยคดีและการทำ
       คำวินิจฉัยของศาลเร็วขึ้น  แทนการให้ผู้พิพากษาทำคำวินิจฉัยเองทั้งหมด  และเจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้ตรวจแก้
       คำวินิจฉัย 
       จึงเห็นว่า  แนวทางการวินิจฉัยคดีและการจัดทำคำวินิจฉัยคดีของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาการเป็นลำดับ  และยังคงต้องมีการพัฒนาการทำงานต่อไปอีก  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมและคดีความในแต่ละยุคสมัยของศาลเป็นสำคัญ 
       ------------------------------------
        
        
       

       
       

       

       [1]    The  Court  and  its  Procedures,  http;//www.supremecourt.gov/about/procedures.aspx      2/9/2554
       

       

       [2] The Justices’ Caseload, http://www.supremecourt.gov/about/justicecaseload.aspx (2/9/2554)
       

       

       [3]    David  M.  O’  Brien,  Constitutional  Law  and  Politics,  Volume  2,  Fourth  Edition,  1992,  P    165
       

       

       [4]  David  M.  O’  Brien,  Constitutional  Law  and  Politics,  Volume  2,  Fourth  Edition,  1992,  P    103.
       

       

       [5] Defunis v. Odegaard, 416 U.S. 312 (1974).
       

       

       [6] Roe v. Wade, 410 U.S. 113 (1973).
       

       

       [7]  James C. Foster  หน้า  27.
       

       

       [8]  James C. Foster  หน้า  28.
       

       
       

       [10] James C. Foster  หน้า  33.
       

       

       [11] Court opinion : West’s Encyclopedia of American Law (Full Article) From Answers.com  ข้อมูลจาก Http://www.answer.com/topic/court-opinion  11/8/2554
       

       

       [12] En.wikipedia.org/wiki/Concurring_opinion  14/9/2554
       

       

       [13] En.wikipedia.org/wiki/Dissenting_opinion  14/9/2554
       

       

       [14] http://www.supremecourt.gov/opinions/info_opinions.aspx  8/8/2554
        
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544