ความคืบหน้ากรณีการขอตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร |
|
|
|
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม
กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|
|
26 กุมภาพันธ์ 2555 20:58 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1. ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ซึ่งต่อไปเรียกว่า ศาลโลก ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 และพร้อมกันนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเร่งด่วนขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งกล่าวหาว่าไทยเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นในบริเวณปราสาทพระวิหารและในบริเวณอื่นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และประชาชนจำนวนมากต้องอพยพหนีภัย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากส่วนของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารในทันทีและไม่มีเงื่อนไข ห้ามไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารใดๆ ในบริเวณดังกล่าว และให้ไทยงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบสิทธิของกัมพูชา หรือเพิ่มความขัดแย้ง
องค์คณะผู้พิพากษาในครั้งนี้มีผู้พิพากษาทั้งหมด 16 คน โดยมี Mr. Hisashi Owada เป็นประธาน และมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc) จำนวน 2 คน ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ใช้สิทธิเลือกฝ่ายละหนึ่งคน โดยไทยได้เลือก Mr. Jean-Pierre Cot ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ส่วนกัมพูชาได้เลือก Mr. Gilbert Guillaume ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเช่นกัน และเคยเป็นประธานศาลโลก (ช่วง ค.ศ. 2000-2003) อันทำให้องค์คณะนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน โดยผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสอีกหนึ่งคนคือ Mr. Ronny Abraham
ในวันที่ 30-31 พ.ค. 2554 ศาลโลกได้รับฟังการให้ถ้อยคำของทั้งไทยและกัมพูชากรณีคำร้องขอของกัมพูชาให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยกัมพูชาสรุปขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวรวม 3 ข้อตามที่กล่าวมาแล้ว ในขณะที่ไทยสรุปขอให้ศาลจำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาออกจากสารบบความ ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. 2554 ศาลโลกได้มีคำสั่งยกคำขอของไทยดังกล่าวข้างต้นด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ และด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 5 (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Owada, Al-Khasawneh, Xue, Donoghue, Cot) สั่งให้ทั้งไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว (Provisional Demilitarized Zone: PDZ) ตามที่ศาลได้กำหนด
รวมทั้งด้วยคะแนนเสียง 15 ต่อ 1 (ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย: Donoghue) ให้ไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร ให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินความร่วมมือกันต่อไปตามในกรอบอาเซียนรวมทั้งต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้าไปยัง PDZ และให้ทั้งสองฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทนั้นเกิดมากขึ้น ตลอดจนให้แต่ละฝ่ายต้องแจ้งต่อศาลถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
สำหรับการสู้คดีนี้ ไทยได้ตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ได้แก่ (1) คณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย มีองค์ประกอบ 15 คน นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ทำหน้าที่เป็น ผู้แทน (Agent) ฝ่ายไทย และมีที่ปรึกษากฎหมาย (Counsel) ชาวต่างชาติ 3 คน โดยมีชาวฝรั่งเศสหนึ่งคน คือ Mr. Alian Pellet รวมทั้งมีที่ปรึกษา อาทิ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รมว. กระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และเจ้ากรมแผนที่ทหาร (2) คณะทำงานของ กต. เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี ซึ่งมีปลัด กต. เป็นประธาน และมีคณะทำงานย่อยในด้านต่างๆ อีก 5 ชุด (3) คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ ซึ่งมี รมว. กต. เป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 34 คน ทำหน้าที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านนโยบายและความเห็นทางกฎหมายให้กับคณะดำเนินคดีฯ
2. ความคืบหน้า
ความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีการขอตีความคำพิพากษาของศาลโลกมีส่วนที่สำคัญตามลำดับดังนี้
วันที่ 18ก.ค. 2554 ภายหลังศาลโลกได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว นายกษิต ภิรมย์ รมว. กต. ในขณะนั้น ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ฝ่ายไทยเคารพคำสั่งของศาลและจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งนี้ไทยมีความพอใจต่อคำสั่งศาลโลกดังกล่าวเพราะมีผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม
วันที่ 25ก.ค. 2554 ได้มีการประชุมหารือระหว่าง กต. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของไทยกรณีศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว นายกษิต ภิรมย์ ในฐานะประธานในที่ประชุมดังกล่าวได้แถลงว่า จะได้นำข้อสรุปจากที่ประชุมเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาส่งมอบให้รัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
วันที่ 16 ส.ค. 2554 ครม. ของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554 ได้มีมติให้ กต. ไปพิจารณารายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับกรณีการที่กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารและคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ให้รอบคอบและรอบด้านก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
วันที่ 12 ต.ค. 2554 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่ กต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก
วันที่ 18 ต.ค. 2554 ครม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบตามที่ สมช. เสนอให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ตามพันธกรณีที่ไทยในฐานะรัฐสมาชิกที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ พร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งให้ความเห็นชอบท่าทีของไทยในการประสานกับกัมพูชาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกต่อไป
วันที่ 15 พ.ย. 2554 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีการเปิดการอภิปรายทั่วไปตามที่ ครม. เสนอ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ทั้งนี้เนื่องจากทางทหารในฐานะผู้ปฏิบัติมีความกังวลว่า การถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทอาจทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ประเทศเสียอธิปไตย และนำไปสู่การยื่นฟ้องดำเนินคดี สมช. จึงมีความเห็นมายัง ครม. ขอให้เปิดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าว ในการประชุมดังกล่าวได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ว่าเรื่องนี้ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ซึ่ง ค.ร.ม. เห็นว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่สมาชิกรัฐสภาหลายคนเห็นตรงข้าม แต่เนื่องจากเป็นการประชุมโดยไม่มีการลงมติ จึงไม่มีข้อสรุปใดๆ
วันที่ 16 พ.ย. 2554 พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว. กระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ไทยพร้อมเจรจาโดยจะนำกรอบการเจรจาที่ได้จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าวไปหารือกับกัมพูชาในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) ที่จะจัดให้มีขึ้น เพื่อให้ได้ข้อยุติใน 5 ข้อดังนี้ ข้อ 1 การปรับกำลัง ข้อ 2 การปฏิบัติต่อผู้สังเกตการณ์ ข้อ 3 การจัดจุดตรวจ ข้อ 4 การดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ยูเนสโก ข้อ 5 การดำเนินการต่อประชาชนที่วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
วันที่ 21 พ.ย. 2554 ไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ต่อนายทะเบียนศาลโลกเพื่อโต้แย้งคำขอของกัมพูชาให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลก โดยมีความยาว 300 หน้า และภาคผนวกอีก 600 หน้า
วันที่ 24 พ.ย. 2554 นายทะเบียนศาลโลกได้มีหนังสือแจ้งให้กัมพูชาและไทยส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Explanations) ภายในวันที่ 8 มี.ค. และ 21 มิ.ย. 2555 ตามลำดับ
วันที่ 13 ธ.ค. 2554 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงได้เสร็จสิ้นการเลือกตั้งผู้พิพากษาในศาลโลกครบ 5 คน (ผู้ที่ได้รับเลือก: Owada, Tomka, Xue, Gaja, Sebutinde) แทนผู้พิพากษาที่จะครบวาระในวันที่ 5 ก.พ. 2555 (Owada, Tomka, Xue, Koroma, Simma,) โดยมีผู้พิพากษาเก่า 3 คนได้รับเลือกเข้าไปใหม่
วันที่ 19 ธ.ค. 2554 กลุ่มกำลังแผ่นดินและเครือข่ายประชาชนชาวกันทรลักษ์พิทักษ์เขาพระวิหารได้ยื่นผลการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจำนวนประมาณ 5,000 คน ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ต่อ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 โดยมากกว่า 99% คัดค้านการถอนกำลังทหารตามคำสั่งศาลโลก เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัยและการปกป้องดินแดนบริเวณชายแดนหากไม่มีทหารประจำการอยู่
วันที่ 21 ธ.ค. 2554 หลังเสร็จสิ้นการประชุม GBC ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ร่วมโดยมีส่วนที่สำคัญพอสรุปได้ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก โดยต้องโปร่งใส เสมอภาค และชัดเจนแน่นอน ภายใต้การตรวจสอบของผู้สังเกตการณ์ร่วมสามฝ่าย ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อหารือรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกใน PDZ ที่ยังไม่ได้มีข้อยุติ
วันที่ 9 ม.ค. 2555 กลุ่มรวมพลังปกป้องดินแดนไทยจังหวัดอีสานใต้ประมาณ 100 คนได้ไปชุมนุมที่ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์เพื่อคัดค้านการถอนกำลังทหารตามคำสั่งของศาลโลก และได้มีประชาชนชาว จ.ศรีสะเกษ เดินทางมาสมทบกับกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 10 ม.ค. 2555 กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดินประมาณ 200 คนได้ไปชุมนุมหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน 15,312 คน ในการปฏิเสธอำนาจศาลโลกในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร
วันที่ 13 ม.ค. 2555 คณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทยได้มีการประชุมโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
หลังจากที่ศาลโลกได้พิจารณาคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ทั้งสองฝ่ายยื่นแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลโลกจะให้มีการรับฟังการให้ถ้อยคำ (Oral Hearings) ก่อนที่จะตัดสินคดี ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2555 เป็นอย่างเร็ว คณะดำเนินคดีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการที่ประชาชนควรจะได้รับข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใส โดยที่ผ่านมาเอกสารที่ยื่นต่อศาลทุกฉบับและข้อมูลการรับฟังการให้ถ้อยคำมีการเผยแพร่บนเว็บไซท์ของศาลโลกมาโดยตลอด ยกเว้นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรเพียงฉบับเดียว ซึ่งศาลยังไม่อนุญาตให้เปิดเผยเพื่อศาลจะได้พิจารณาโดยปราศจากการรบกวนจากภายนอก
ทั้งนี้ภายหลังการรับฟังการให้ถ้อยคำหลังการยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรของไทยแล้ว เอกสารทั้งหมดก็จะสามารถเปิดเผยได้โดยทันทีตามข้อ 53 ของข้อบังคับของศาลโลก นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้าร่วมประชุมตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้คณะดำเนินคดีฯ พยายามอย่างเต็มที่ในการรวบรวมข้อมูลและหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดี เนื่องจากการพิจารณาออกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาล แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังปี 2505 สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้
วันที่ 18 ม.ค. 2555 สื่อมวลชนรายงานข่าวว่า หลังจากทางการกัมพูชาได้ไล่ที่ชาวบ้านสวายจรุม ใน จ.พระวิหาร ซึ่งอยู่ห่างจากตัวปราสาทพระวิหารประมาณ 10 กม. เมื่อช่วงปลายปี 2554-ต้นปี 2555 เพื่อจัดทำเป็นเขตกันชน (Buffer Zone) ตามแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก พบว่าชาวบ้านสวายจรุมบางส่วนไม่ยอมย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านธรรมชาติสมเด็จเดโชที่ทางการกัมพูชาจัดให้ แต่ได้พากันขึ้นไปตั้งบ้านเรือนบริเวณรอบวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของทหารกัมพูชาที่ประจำการอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร
วันที่ 8 ก.พ. 2555 กัมพูชาได้ส่งหนังสือประท้วงต่อไทยกรณีไทยสร้างศาลาและอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนภูมะเขือซึ่งอยู่ในเขตปลอดทหารชั่วคราว พร้อมสำเนาถึงศาลโลกร้องเรียนว่าไทยละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก
วันที่ 9 ก.พ. 2555 กต. ได้แถลงเปิดตัวหนังสือ ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งจัดพิมพ์โดย กต. จำนวนประมาณ 20,000 เล่ม เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสองและสาม ทั้งนี้สามารถอ่านและดาว์นโหลดได้ที่ http://www.mfa.go.th/internet/news/42107.pdf อีกด้วย
3. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญมีดังนี้
3.1ผู้พิพากษาในศาลโลกทั้ง 5 คนที่ครบวาระในวันที่5 ก.พ. 2555 ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามธรรมนูญของศาลโลก มาตรา 13 วรรค 3 ในประเด็นนี้มีหลายคนเข้าใจผิดว่าผู้พิพากษาที่ครบวาระแล้ว หน้าที่ในการพิจารณาคำร้องดังกล่าวก็จะสิ้นสุดไปด้วย
3.2 ศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีคำร้องขอให้ตีความคำพิพากษาดังกล่าวได้ประมาณปลายปี 2555 เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากศาลโลกกำหนดให้ไทยส่งคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 21 มิ.ย. 2555 และมีความเป็นไปได้สูงที่ศาลโลกจะให้มีการรับฟังการให้ถ้อยคำของทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะมีคำพิพากษาดังที่คณะดำเนินคดีฯ ได้วิเคราะห์ไว้ ในประเด็นนี้มีหลายคนซึ่งรวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วย ที่คาดการณ์คลาดเคลื่อนว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษาภายในเดือน ก.พ. 2555 โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับการครบวาระในวันที่ 5 ก.พ. 2555 ของผู้พิพากษา 5 คนในศาลโลก
3.3 รัฐบาลต้องให้ข้อมูลการสู้คดีนี้ต่อประชาชนให้ครบถ้วน รวมทั้งมีการแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สามารถอ่านเข้าใจได้ เนื่องจากคดีนี้อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อประชาชนอย่างครบถ้วน รวมทั้งให้สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
การที่คณะดำเนินคดีฯ อ้างว่าได้ให้ข้อมูลประชาชนโดยที่ผ่านมาเอกสารที่ยื่นต่อศาลทุกฉบับและข้อมูลการรับฟังการให้ถ้อยคำมีการเผยแพร่บนเว็บไซท์ของศาลโลกมาโดยตลอดนั้น ไม่น่าจะเป็นการดำเนินการให้ข้อมูลกับประชาชนในเรื่องนี้ที่เหมาะสมและเพียงพอ อีกทั้งไม่มีการแปลเอกสารทั้งหมดที่เป็นภาษาต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สามารถอ่านเข้าใจได้ นอกจากนี้ยังอ้างว่าข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรที่ได้ยื่นไปแล้วนั้น ศาลโลกยังไม่อนุญาตให้เปิดเผย ข้ออ้างนี้ไม่น่าจะถูกต้องเนื่องจากไม่มีข้อบังคับใดของศาลโลกที่ห้ามรัฐคู่กรณีเปิดเผยเอกสารการสู้คดีให้ประชาชนของตนเองได้รับทราบ
3.4 เพื่อความไม่ประมาทในการต่อสู้คดีนี้ คณะดำเนินคดีฯ ต้องถือว่าฝรั่งเศสเป็นเสมือนคู่กรณีกับไทยด้วย เนื่องจากการสู้คดีครั้งนี้ ไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงการมีผลบังคับใช้หรือไม่ของแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำฝ่ายเดียวในการกำหนดเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา รวมทั้งการกระทำต่างๆ ในอดีตของฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อไทย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาดังกล่าวแล้ว ที่ปรึกษากฎหมายของไทย 1 คนและผู้พิพากษาอีก 3 คนซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสอาจไม่สามารถดำรงความเป็นกลางได้ โดยอาจเอนเอียงเพื่อรักษาเกียรติภูมิของชาติตนเอง การต่อสู้คดีของไทยจึงต้องระมัดระวังและพิจารณาแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวด้วยความไม่ประมาทไว้ด้วย
3.5 รัฐบาลต้องประท้วงต่อกัมพูชากรณีที่มีการตั้งบ้านเรือนชาวกัมพูชาเพิ่มขึ้นในพื้นที่พิพาท และร้องต่อศาลโลกว่ากัมพูชามีการดำเนินการที่ขัดต่อคำสั่งศาลในข้อที่ให้แต่ละฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทนั้นเกิดมากขึ้น หรือทำให้ยากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข ทั้งนี้ตามที่ปรากฏว่ามีชาวกัมพูชาไปตั้งบ้านเรือนเพิ่มบริเวณรอบวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราเมื่อช่วงปลายปี 2554-ต้นปี 2555 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
3.6 กรณีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก รัฐบาล และ GBC ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีรายละเอียดตามบทความพิเศษเรื่อง การดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของ ครม. และ GBC กรณีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1022 วันที่ 30 ธ.ค. 2554 หรือที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1682
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|