หน้าแรก บทความสาระ
เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก
คุณวิปัสสนา ปัญญาญาณ นักวิชาการอิสระ
14 สิงหาคม 2554 18:20 น.
 
 
                 หลายวันที่ผ่านมา มีข่าวด่วนในสื่อมวลชนหลายแขนงว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายชัช ชลวร ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้นายชัชพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  แต่ยังคงให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนครบวาระ  การพ้นจากตำแหน่งมีผลทันทีนับแต่ที่แสดงเจตนารมณ์  แต่ในระหว่างนี้ คณะตุลาการฯได้มอบหมายให้นายชัชทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เพื่อให้การพิจารณาสำนวนคดีไม่เกิดปัญหา
                 ข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่ามากเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายว่า  ความเห็นและการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่  หากไม่สอดคล้อง จะมีผลกระทบต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อความรับผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ประการใด
        
       องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ
                 ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก ๘ คน  ทั้งสองตำแหน่งจะต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคล ๔ สายงาน คือ สายผู้พิพากษาในศาลฎีกา สายตุลาการศาลปกครองสูงสุด สายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์รวมทั้งสาขาอื่น
       ผู้ได้รับเลือกทั้ง ๙ คน จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐๔)
        
       วาระของการดำรงตำแหน่ง
                 ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
                 ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา ๒๐๘)
        
       การพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ
                 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระดังกล่าวแล้ว ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังพ้นจากตำแหน่งในกรณีอื่นอีกหลายกรณี เช่น ตาย มีอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์ และลาออก เป็นต้น (มาตรา ๒๐๙)
                 การลาออกสามารถกระทำได้ด้วยการประกาศการลาออกให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นหรือสาธารณชนทราบ และมีผลตามเงื่อนเวลาที่ประกาศไว้ หากไม่มีเงื่อนเวลา ก็มีผลทันที  คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการลาออก และไม่มีอำนาจมอบหมายให้บุคคลที่พ้นจากตำแหน่งแล้วทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญในระหว่างยังไม่ได้ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
        
       การดำเนินการเมื่อมีการพ้นจากตำแหน่ง
                 เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือก่อนครบวาระ จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
                 (๑) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมด จะต้องเริ่มดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคล ๔ สายงาน จำนวน ๙ คน ชุดใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะตุลาการชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง
                 (๒) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งนอกจากกรณีพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมดตามข้อ (๑) จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลตามสายงานต่าง ๆ มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คนเดิมพ้นจากตำแหน่ง
                 ในกรณีที่ผู้พ้นจากตำแหน่งตามข้อ (๑) และ (๒) เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับเลือกมาใหม่ ๙ คน หรือผู้ได้รับเลือกมาใหม่คนหนึ่งหรือหลายคนและตุลาการคนเดิมที่เหลืออยู่ จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๐ วรรคสี่)        การตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีผลทำให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย  ไม่ใช่พ้นเฉพาะตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
        
       ปัญหาอันเกิดจากการตีความของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
                 การตีความของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาต่อองค์กรศาลรัฐธรรมนูญและประเทศชาติหลายประการ ดังนี้
                 ๑) การตีความที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ( เข้าประชุมไม่ครบ ๙ คน เพราะมีตุลาการคนหนึ่งไปต่างประเทศ) ตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเฉพาะประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่พ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย 
       การตีความของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
       (๑) แม้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย  แต่อำนาจหน้าที่นั้นเกิดจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้นเอง  เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ย่อมไม่อาจมีอำนาจหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไปได้
       (๒) รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง บัญญัติถึงขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งในกรณีอื่นนอกจากกรณีพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันกันทั้งหมด เช่น ลาออก หากตีความตามความเห็นของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็พ้นจากตำแหน่งเฉพาะประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังไม่พ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยข้ามไปใช้บทบัญญัติในมาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ ซึ่งเป็นบัญญัติในการเลือกกันเองคนหนึ่งให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญทันที ไม่ ดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๑๐ วรรคสอง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก่อน ทั้งๆ ที่บทบัญญัติว่าด้วยการเลือกกันเองคนหนึ่งให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ น่าจะเป็นบทบัญญัติที่นำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ตามมาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว  การตีความของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
       (๓) ตำแหน่งทุกตำแหน่งของผู้พิพากษาตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  หากตีความว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่อีก  จะมีปัญหาว่าต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างหากจากการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญเดิมซึ่งบัดนี้ได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไปแล้วหรือไม่  หากต้องมี จะมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดมารองรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  หากไม่ต้องมี ก็คงไม่อาจตอบได้ว่าเหตุใดจึงไม่ต้องมี
       ทั้งการตีความว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญสามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็มีลักษณะคล้ายกับการโยกย้ายแต่งตั้งเหมือนระบบของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบมาให้ศาลรัฐธรรมนูญในการโยกย้ายแต่งตั้งตุลาการ  รวมทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลไปแล้ว
                   ๒) ความเสียหายและความรับผิด  หากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการเพื่อให้ได้ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่  แต่กลับประชุมกันเองและเลือกให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ผลสุดท้ายคงยากที่จะทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้น (หากไม่มีการทูลเกล้าฯ หรือทรงไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง)
                   หากในระหว่างนี้บุคคลซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วยังร่วมพิจารณาวินิจฉัยคดีอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ  การพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  และผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
       หากในระหว่างลาออกไป ผู้ลาออกได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นจากทางราชการไป ก็มีปัญหาในการคืนสิ่งที่ได้รับไปแล้วแก่ทางราชการ
       บุคคลที่ยังคงเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในปัจจุบันต้องสุ่มเสี่ยงต่อความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานแล้ว ก็มีปัญหาฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดอาญาดังกล่าว นอกจากนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องอาจมีปัญหาความรับผิดทางแพ่งหากการกระทำของตนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
        
       บทสรุป
                 ผู้เขียนเห็นว่า ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ลาออกต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และให้ผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ทั้งหมดและเลือกกันเองคนหนึ่งให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544