หน้าแรก บทความสาระ
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550
คุณปฐมพงษ์ พิพัฒนธนากิจ นักวิชาการอิสระ
19 มิถุนายน 2554 20:38 น.
 
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่  3  กรกฎาคม  พ.ศ.  2554[1]  เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนในการเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนทางกฎหมายที่กำหนดไว้  แม้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเข้าดำรงตำแหน่งแล้วก็ตาม  แต่ก็มีเหตุที่ทำให้สมาชิกภาพของความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงได้  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  (ฉบับปัจจุบัน)  กำหนดเหตุที่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไว้ตามมาตรา  106  (1)  ถึง  (11)  การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลงก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระตามกำหนดหรือก่อนยุบสภา  ย่อมทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นต้องเสียโอกาสอันดีที่จะได้ทำหน้าที่ตามที่ตนเองคาดหวังไว้  และที่สำคัญทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลงซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณของประเทศไปจัดเลือกตั้งอีกครั้ง
       กรณีการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น  หากมีปัญหาว่าสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา  106  (3)  (4)  (5)  (6)  (7)  (8)  (10)  หรือ  (11)  หรือไม่  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหานี้ได้  ตามคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งไปตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ร้องขอ  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลงไว้หลายคดีและทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพไปแล้วหลายคน
       อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงด้วยเหตุที่มีลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุเดียวกับที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ  เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  มาตรา  182  บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา  174  ซึ่งในอนุมาตรา  4  ของมาตรา  174  บัญญัติให้ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102  (1)  (2)  (3)  (4)  (6)  (7)  (8)  (9) (11) (12) (13) หรือ (14)  ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลงด้วย  คำวินิจฉัยกรณีของรัฐมนตรีนั้นย่อมสามารถนำมาเทียบเคียงกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นเดียวกัน
       ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
       กรณีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่  12-13/2551  ลงวันที่  9  กันยายน  2551  ไว้ว่า  พยานหลักฐานทั้งหมดรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องทำหน้าพิธีกรในรายการโทรทัศน์หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว  โดยผู้ถูกร้องยังคงได้รับค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินจากบริษัท  จึงเป็นการรับจ้างทำการงานตามความหมายของคำว่าลูกจ้างตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ  มาตรา  267  ถือได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นลูกจ้างของบริษัทเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา  267  มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา  182  วรรคหนึ่ง  (7)  และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา  182  จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา  180  วรรคหนึ่ง  (1)  แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว  ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา  181 
       กรณีการถือหุ้นของรัฐมนตรี  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่  9/2551  ลงวันที่  9  กรกฎาคม  2551  ไว้ว่า  ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองและคู่สมรสต่อคณะกรรมการ  ป.ป.ช. แต่ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้ประธานกรรมการ  ป.ป.ช.  ทราบว่าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการที่คู่สมรสของผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัทเกินกว่าร้อยละ  5  ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ในบริษัท  ภายใน  30  นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี  ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา  182  วรรคหนึ่ง  (7)  ประกอบมาตรา  269  ตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 
       กรณีลาออก  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่  19/2552  ลงวันที่  2  ธันวาคม  2552  ไว้ว่า  รัฐธรรมนูญ  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  มาตรา  106  (3)  ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการลาออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะต้องกระทำในลักษณะอย่างไร  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ  มอบหมายหรือความครอบงำใด  ๆ  ตามมาตรา  122  ดังนั้น  การลาออกจึงอาจแสดงเจตนาลาออกได้ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจา  โดยผู้รับการแสดงเจตนาอาจเป็นสภาผู้แทนราษฎรหรือสาธารณชนก็ได้  เมื่อผู้ถูกร้องแถลงข่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่  7  กันยายน  2552  มีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา  106  (3)  ตั้งแต่วันที่แสดงเจตนา
       กรณีถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่  12-14/2553  ลงวันที่  3  พฤศจิกายน  2553  ไว้ในประเด็นว่าถือหุ้นมาก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นการต้องห้ามหรือไม่  วินิจฉัยว่า  การกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  265  วรรคหนึ่ง  (2)  (4)  และวรรคสาม  ประกอบมาตรา  48  ไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีมาก่อนวันเลือกตั้ง  เมื่อการถือหุ้นของผู้ถูกร้องทั้งหกหรือคู่สมรสเป็นการถือหุ้นภายหลังจากที่ผู้ถูกร้องทั้งหกได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วจึงเป็นอันต้องห้าม  ส่วนผู้ถูกร้องหรือคู่สมรสรายอื่นถือหุ้นมาก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่เป็นอันต้องห้าม
       ประเด็นว่าบริษัทที่ผู้ถูกร้องหรือคู่สมรสถือหุ้นเป็นบริษัทต้องห้ามหรือไม่  วินิจฉัยว่า  บริษัท ก. ประกอบกิจการค้าขายเชื้อเพลิง  ซึ่งแม้จะมิใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนก็ตาม แต่บริษัท ก.  เป็นบริษัทผู้ลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) เช่น ถือหุ้นในบริษัท  ข.  หรือบริษัท  ค.  ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ  จึงเป็นบริษัทอันมีลักษะต้องห้ามตามมาตรา  265  วรรคหนึ่ง  (2)  การถือหุ้นในบริษัท  ก.  จึงเป็นการถือหุ้นในบริษัทอันมีลักษณะต้องห้ามโดยทางอ้อม  ส่วนบริษัท  ข.  และบริษัท  ค.  เป็นบริษัทอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา  265  วรรคหนึ่ง  (2)  และบริษัท  ท.  ประกอบกิจการโทรศัพท์ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ  และยังเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม  จึงเป็นบริษัทอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา  265  วรรคหนึ่ง  (4)  ประกอบมาตรา  48
       ประเด็นเรื่องจำนวนหุ้นที่รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม วินิจฉัยว่า  รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า  จะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใดและไม่ได้ระบุว่า  จะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่  ฉะนั้น  การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว  ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว  แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม  การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน  ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา  มีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง  ดังนั้น  แม้การซื้อหุ้นของผู้ถูกร้องทั้งหกหรือคู่สมรสจะซื้อในตลาดหลักทรัพย์  และเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือเพื่อเก็งกำไร  ก็เป็นอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  265  วรรคหนึ่ง   (2)  (4)  และวรรคสาม  ประกอบมาตรา  48  เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา  106  (6)  นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 
       กรณีพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่  25/2554  และคำวินิจฉัยที่  26/2554  ลงวันที่  27  เมษายน  2554  ไว้ว่า  การที่พรรคการเมืองมีมติให้ผู้ร้องซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  ผู้ร้องได้อุทธรณ์มติของพรรคการเมืองดังกล่าวว่าขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  แต่เหตุที่พรรคการเมืองมีมติดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ร้องเองที่เป็นเรื่องส่วนตัว  โดยการแสดงตัวเสมือนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น  กรณีมิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  มติดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่มีลักษณะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด  ให้ถือว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ร้องสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
       อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่จะประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  ประเทศไทยได้กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2492  ฉบับปี  พ.ศ.  2511  ฉบับปี  พ.ศ.  2517  ฉบับปี  พ.ศ.  2521  ฉบับปี  พ.ศ.  2534  และฉบับปี  พ.ศ.  2540  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วหลายกรณี  แต่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในบางกรณีแล้ว  ดังเช่นในช่วงที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2540  ยังคงใช้บังคับอยู่  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ  หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้ง[2]  แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  ไม่ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวแล้ว[3]  ผู้เขียนจึงไม่ขอกล่าวถึงกรณีดังกล่าว  ณ  ที่นี้  ส่วนกรณีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  ยังคงบัญญัติให้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังเช่นคำวินิจฉัยในกรณีดังต่อไปนี้
       กรณีเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันน้อยกว่าเก้าสิบวัน  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า  90  วัน  นับถึงวันเลือกตั้ง  ย่อมขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา  101  (3)  เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา  106  (4)  กรณีนี้เทียบเคียงได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2540  คือ  คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่  2/2549  ลงวันที่  26  มกราคม  2549  ผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพียงวันเดียว  ผู้ถูกร้องจึงขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2540  มาตรา  107  (4)  ที่บัญญัติให้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน  อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยจึงสิ้นสุดลง  ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา  118  วรรคหนึ่ง  (4)  นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 
       กรณีเป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  มาตรา  100  (2)  บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษาย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  และเป็นเหตุให้ผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา  102  (3)  ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดตามมาตรา  106  (5)   
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2521  เคยมีคำวินิจฉัยคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่  1/2529  ลงวันที่  10  ตุลาคม  2529[4]  ไว้ว่า  ศาลแขวงมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องเป็นเวลา  5  ปี  และได้อ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน 2528  จึงมีผลในวันนั้น  ไม่ใช่วันที่  23  กรกฎาคม  2522  อันเป็นวันที่กระทำความผิด  และแม้ผู้ถูกร้องได้ยื่นฎีกาคำพิพากษานั้นอยู่  แต่เหตุเป็นบุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษานั้น  เป็นคำพิพากษาของศาลใดก็ได้  เมื่อผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งในวันที่  9  มิถุนายน  2529  และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2521  มาตรา  96  (3)  ประกอบมาตรา  93  (5)  เพราะอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา  เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา  103  (5)
       คำวินิจฉัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่สำคัญทั้งต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  ที่อยู่ภายใต้เหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าว  รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบางประการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป.
        
                                                                      
       

       
       

       

       [1]พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร  พ.ศ.  2554  ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  128  ตอนที่  33  ก  วันที่  10  พฤษภาคม  2554  หน้า  19-20.
       

       

       [2]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2540  มาตรา  295. 
       

       

       [3]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปี  พ.ศ.  2550  มาตรา  263  บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้วินิจฉัย.
       

       

       [4]ราชกิจจานุเบกษา  ฉบับพิเศษ  เล่ม  103  ตอนที่  177  วันที่  13  ตุลาคม  2529  หน้า  11-25.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544