[1] น.บ.(จุฬาฯ) น.ม.(จุฬาฯ) นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระ ทนายความที่ปรึกษา และอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชียฯลฯ
[2] ผู้เขียนตั้งใจให้หมายถึงสาธารณชนที่ตื่นตัวและใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วไปหรืออาจพอกล่าวได้ว่าเป็นสาธารณชนที่มีแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยม(Environmentalism)นั่นเอง
[3] โปรดดูความหมายและสาระสำคัญในเชิงอรรถที่ 14
[4] มาตรา 67 สิทธิ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้ง ได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง
[5] มาตรา 11 บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินหรือมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ
บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและแหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
[6] มาตรา 66 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง
[7] การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียและการให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการ(โปรดดูเชิงอรรถที่ 3 ข้างต้น)
[8] การพิจารณาความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในเรื่องนี้จำต้องพิจารณาก่อนว่าโครงการพิพาทแต่ละโครงการเป็นโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ หรือไม่? และหากเป็นโครงการที่อาจก่อผลดังกล่าวแล้วจึงจะไปพิจารณาว่าได้มีการดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนตามมาตรา 67 วรรคสองหรือไม่?ต่อไป การที่ศาลสรุปว่าคำสั่งทางปกครองที่ทำขึ้นเกี่ยวกับทั้ง 76 โครงการพิพาทเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ได้อธิบายสาเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นรายกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้พิจารณาก่อนว่าโครงการเหล่านี้เป็นโครงการรุนแรงหรือไม่? เพราะเหตุใด? นอกเหนือจากสรุปรวมว่าไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการตามมาตรา 67 วรรคสองเป็นสำคัญดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาที่ยากแก่ความเข้าใจและการยอมรับในการให้เหตุผลดังจะได้วิเคราะห์ต่อไป
[9] โดยหลักกฎหมายปกครองแล้ว คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจไม่ถูกเพิกถอนก็ได้หากศาลชั่งน้ำหนักเห็นว่าความเชื่อถือไว้วางใจของผู้รับคำสั่งทางปกครอง(ในกรณีนี้คือเจ้าของโครงการพิพาททั้ง 76 โครงการ)ในความมั่นคงของคำสั่งทางปกครองมีความสำคัญกว่าประโยชน์สาธารณะ(โปรดดูพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 50-52) อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลในการทำวินิจฉัยในส่วนนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอในรายละเอียดต่อไป
[10] เป็นเวลาล่วงหน้าก่อนมีคำพิพากษา 2 วัน และมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งงดรับพยานเอกสารตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553
[11] ซึ่งกล่าวกันแพร่หลายในทางสื่อมวลชนและฝ่ายผู้ฟ้องคดีว่าจะมีโครงการที่อยู่ในข่ายอาจก่อผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนฯ ที่ต้องถูกเพิกถอนจำนวน 2 โครงการในขณะที่จำนวน 74 โครงการไม่ต้องถูกเพิกถอน
[12] น่าสังเกตว่า นอกจากตุลาการฝ่ายข้างน้อยในศาลปกครองสูงสุดจะเห็นว่าศาลปกครองกลางควรใช้แนวการพิจารณาเป็นรายโครงการดังกล่าวแล้ว แนวทางดังกล่าวนี้ ยังเป็นเป็นแนวทางที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวด้วย ซึ่งน่าคิดว่า หากศาลปกครองกลางเลือกใช้แนวทางการพิจารณาวินิจฉัยตามที่ฝ่ายนี้ต่อสู้แล้ว ผลของคดีจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ถูกฟ้องมากเท่ากับที่ศาลใช้แนวทางการพิจารณาวินิจฉัยแบบเป็นพวงตามที่ปรากฏในคำพิพากษานี้หรือไม่
[13] มาตรา 55 วรรคสอง ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลปกครองอาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ในการนี้ ศาลปกครองจะรับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควร
[14] ผู้เขียนเห็นว่า การพิจารณาว่าโครงการใดจะเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ ไม่ควรที่จะถือว่าลำพังการเป็นโครงการในประเภทที่ถูกกำหนดในบัญชีประเภทโครงการที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ เป็นสิ่งที่เพียงพอหรือถือว่าบัญชีฯ ดังกล่าวเป็นหลักอ้างอิงที่เป็นที่ยุติเสมอไป เพราะอาจเป็นไปได้ว่ามีบางโครงการที่อาจก่อผลกระทบฯ ระดับดังกล่าวต่อชุมชนเมื่อนำไปดำเนินการในบางพื้นที่ บางชุมชนหรือเมื่อโครงการนั้นๆ มีรายละเอียดบางอย่างที่อาจก่อผลกระทบที่รุนแรงต่อชุมชนฯ ได้แม้ไม่ได้เป็นโครงการในประเภทที่บัญชีดังกล่าวกำหนดไว้ บัญชีฯ ดังกล่าวจึงน่าจะถูกใช้เป็นสิ่งอ้างอิงอย่างหนึ่งใน ฐานะมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับการพิจารณาเท่านั้นซึ่งควรต้องใช้ประกอบกับการพิจารณาใน มิติอื่นๆ ดังผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไปในหัวข้อที่ 1.2 (หมายความว่าหากโครงการที่ถูกพิจารณาไม่อยู่ในบัญชีฯ และไม่มีแง่มุมอื่นใดที่ทำให้โครงการนั้นกลายเป็นโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ ขึ้นมาก็ย่อมถือยุติตามการบ่งชี้ของบัญชีฯ ว่าไม่ใช่โครงการที่อาจก่อผลดังกล่าว)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อกรณีที่ศาลชี้ช่องทางการปฏิบัติราชการในสถานการณ์การไม่มีกฎหมายกำหนดบัญชีประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ มาใช้บังคับโดยตรงด้วยการนำประกาศฯ กำหนดประเภทโครงการที่ต้องทำรายงาน EIA หรือแม้แต่ประกาศฯ กำหนดประเภทโรงงานที่อาจก่อผลกระทบต่ออย่างรุนแรงฯ (ซึ่งกำหนดไว้ 8 ประเภทโรงงาน) ดังกล่าวมาอุดช่องการไม่มีประกาศกำหนดประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ นั้น อาจสร้างปัญหาการไม่สนองหรือไม่สมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองขึ้นได้มากกว่ากรณีที่กล่าวถึงข้างต้น เนื่องจากระดับความเข้มข้นของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามประกาศที่จะนำมาอุดช่องว่างอาจต่ำกว่าระดับที่รัฐธรรมนูญฯ ต้องการ( โครงการที่ต้องทำรายงาน EIA อาจไม่ใช่โครงการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ) การอุดช่องว่างด้วยกฎหมายกำหนดประเภทบัญชีโครงการที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าเช่นนี้จึงยิ่งต้องพิจารณา มิติอื่นๆอย่างเข้มข้นขึ้นอย่างเป็นพิเศษ
อนึ่ง อาจมีข้อทักท้วงว่า การให้พิจารณามิติอื่นๆ โดยให้กฎหมายกำหนดบัญชีประเภทโครงการที่อาจก่อผลกระทบต่ออย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าวจะสร้างปัญหาความยุ่งยากและความไม่มีมาตรฐานของการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขึ้น ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ที่ว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่เหล่านี้ปกติจะคุ้นชินอยู่เฉพาะกับกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่คุ้นชินกับการใช้ดุลยพินิจที่ซับซ้อนและต้องอิงอยู่กับกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นนามธรรมสูง แต่ผู้เขียนเห็นว่า โดยสภาพของเรื่องและความจำเป็นต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ แล้ว แนวทางดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานฯ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการและเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางการลดปัญหาความแตกต่างของความเห็นหรือมาตรฐานดังกล่าวซึ่งมีอยู่หลายแนวทาง เช่น การกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติหรือแนวทางการใช้ดุลยพินิจให้ถือปฏิบัติ การอบรมพัฒนาความเข้าใจ เป็นต้น
[15] แต่ในทางปฏิบัติของการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาในคดีนี้ศาลไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ดังที่ชี้แนะไว้นี้
[16] แนวคิดเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมีจุดริเริ่มที่สหรัฐอเมริกาเมื่อต้นทศวรรษที่ 80 แล้วขยายไปสู่ยุโรปและที่อื่นๆ แต่แม้จะแพร่แหลายมาราว 3 ทศวรรษแล้ว คำนิยามของคำๆ นี้ก็ยังไม่เป็นที่ลงตัวนัก แต่ก็มีแกนของความคิดร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่พยายามนำเสนอความหมายและแนวคิดเรื่องนี้อยู่ว่า แนวความคิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมพยายามเข้าถึงความยุติธรรมฯ อย่างน้อยใน 2 แง่มุมคือ
(1)
ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ยึดถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นแง่มุมที่ถือหลักว่าการแบ่งสันปันส่วนประโยชน์และภาระจากสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค(ซึ่งแสดงออกด้วยถ้อยคำทำนองว่า สมดุล เป็นธรรม เป็นต้น) ระหว่างสมาชิกฝ่ายต่างๆ ของสังคม(Distributive Justice) ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้ยืนอยู่บนรากฐานแนวคิดของอริสโตเติล(Aristotle) การจะบรรลุความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วนนี้ได้จะต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น (ก) การยอมให้มีการแบ่งสันปันส่วนที่มากที่สุดให้แก่คนที่อ่อนแอหรือเสียเปรียบที่สุดในสังคมเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีพอ อันเป็นการแบ่งสันฯ อย่างไม่เสมอภาคในเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคในที่สุดตามทฤษฎีความยุติธรรมของรอวลส์(John Rawls)(Rawls, 1999: 266-7 (ข) การพิจารณาแก้ไขปัญหาความบกพร่องของความยุติธรรมเชิงกระบวนการหรือเชิงการมีส่วนร่วม(Procedural/Participatory Justice)(โปรดคิดถึงปัญหาของมาตรา 67 วรรคสอง) ความยุติธรรมจากการยอมรับ รับรองหรือให้ความเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรีของบุคคล ชุมชนฯลฯ( Justice of Recognition) การคำนึงถึงยอมรับเสรีภาพในการเลือกที่จะมี จะทำ หรือจะเป็นในสิ่งที่บุคคลหรือชุมชนเห็นว่าดีที่สุดสำหรับตนเอง(Capabilities) อันเป็นทัศนะของเซน(Amartya Sen) เป็นต้น(Schlosburg, 2007: 126-128) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิในการกำหนดตนเองหรือมีเจตจำนงของตนเอง (Right to self-determination) ซึ่งเป็นสิทธิอันเป็นแก่นแกนอย่างหนึ่งของสิทธิชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการยอมรับในทัศนะที่ว่าความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในการแบ่งสันปันส่วนนี้แบ่งออกเป็นความยุติธรรมฯระหว่างคนรุ่นเดียวกัน(intra-generation) และความยุติธรรมระหว่างคนรุ่นต่างรุ่น(Inter-generation)คือระหว่างคนปัจจุบันและคนรุ่นหน้าโดยมีสาระว่าคนรุ่นหน้าควรได้รับการส่งมอบสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีปริมาณและคุณภาพไม่ด้อยกว่าคนรุ่นปัจจุบัน(Schlosburg, 2007: 126-128, ปรีชา, 2542:42)
(2) ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ขยายตัวไปรวมเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นศูนย์กลางด้วย แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนามากขึ้นตามการขยายตัวของจริยศาสตร์สิ่งแวดล้อมและแนวคิดนิเวศนิยมที่เห็นว่าธรรมชาติมีคุณค่าภายใน(intrinsic value)โดยไม่ขึ้นอยู่กับมนุษย์และมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติเช่นสัตว์หรือพืชจึงควรเป็นประธาน(subject)ผู้ทรงสิทธิไม่น้อยกว่ามนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงกรรม(object)ที่มีอยู่เพื่อตอบสนองประโยชน์มนุษย์เท่านั้น แนวคิดความยุติธรรมฯ ในแง่นี้จึงมักปรากฏด้วยถ้อยคำทำนองว่า ความยั่งยืนหรือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็ยังคงได้รับการวิจารณ์ว่า แท้จริงแล้วก็เป็นการรักษาความยั่งยืนเพื่อประโยชน์มนุษย์หรือมนุษย์ยังคงเป็นศูนย์กลางอยู่นั่นเอง (Schlosburg, 2007: 104-139)
[17] ผู้เขียนเห็นว่ามาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักประกันสิทธิชุมชนที่ได้รับการรับรองไว้โดยมาตรา 66 การปฏิบัติและการบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรา 67 อย่างมีประสิทธิภาพย่อมหมายถึงความเป็นไปได้ในการบรรลุเจตนารมณ์ที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 66
[18] การมีชีวิตที่ดี(well-being) ที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังบทบัญญัติเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน ในมาตรา 67 วรรคแรกน่าจะถือว่าเป็นเป้าหมายอีกทอดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการมีความสมดุลของการจัดการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์และภาระทางสิ่งแวดล้อมและการมีความยั่งยืนดังกล่าวได้ด้วย
[19] เป็นหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปอันเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐซึ่งประกอบด้วยหลักย่อย 3 ประการคือ (ก) การพิจารณาว่าวิธีการหรือมาตรการที่รัฐใช้(ในกรณีนี้หมายถึงการอนุญาตดำเนินโครงการ)จะบรรลุวัตถุประสงค์หรือคุณค่าที่รัฐธรรมนูญฯ มุ่งคุ้มครองหรือไม่(หลักสัมฤทธิผล)(ข) วิธีการหรือมาตรการนั้นเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้จะได้รับผลกระทบเท่าที่จำเป็นหรือไม่(หลักจำเป็น) และ (3) วิธีการหรือมาตรการนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้หรือฝ่ายที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพอย่างเกินควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกินกว่าที่ระดับของประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้นหรือไม่(หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ)(บรรเจิด,2543: 199-211)
นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หลักความได้สัดส่วนหรือหลักพอสมควรแก่เหตุในเนื้อที่ไม่ซับซ้อนและเป็นที่คุ้นเคยอยู่แล้วในแวดวงกฎหมายไทยคือหลักการพิจารณาความเดือดร้อนหรือเสียหายเกินกว่าที่ควรคาดคิดจากการกระทำของบุคคลอื่นต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 ซึ่งหมายถึงความเดือดร้อนหรือเสียหายเกิดกว่าระดับที่ปกติธรรมดาย่อมคาดหมายว่าจะเกิดได้
[20] ที่จริงสิทธิชุมชนก็เป็นประโยชน์สาธารณะประเภทหนึ่ง(โปรดเทียบเคียงกับ ประโยชน์เฉพาะเรื่องในบรรเจิด, 2543: 156-7) และเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่าผู้ได้รับประโยชน์จากสิทธิชุมชนไม่ได้หมายถึงเฉพาะชาวชุมชนซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิชุมชนเท่านั้น หากแต่สาธารณชนทั้งในรัฐและโลกย่อมเป็นผู้ได้รับประโยชน์สาธารณะอันเกิดจากการที่ประโยชน์และภาระในสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการแบ่งสันปันส่วนอย่างยุติธรรม(สมดุลและยั่งยืน) ทั้งนี้ เนื่องจากสิทธิชุมชนถูกรัฐธรรมนูญฯ นำมาใช้เป็นกลไกในการจัดการสิ่งแวดล้อมฯ นั่นเอง ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมฯ มักเป็นปัญหาร่วมกันและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก สิทธิชุมชนจึงเป็นได้ทั้งประโยชน์สาธารณะเฉพาะสำหรับคนในชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์สาธารณะอันกว้างขวางเป็นประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติอยู่ในขณะเดียวกัน
[21] แน่นอนว่า การตีความรัฐธรรมนูญฯ ควรเป็นไปตามแนวทางที่สิทธิและเสรีภาพต่างๆ ควรมีผลบังคับไปด้วยกันไม่ให้สิทธิหรือเสรีภาพอย่างใดอย่างหนึ่งมีขอบเขตกว้างขวางจนบดบังสิทธิหรือเสรีภาพอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือในรัฐธรรมนูญฯ เองก็มีการบัญญัติจัดลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ไว้อยู่ในตัวจำนวนมากซึ่งปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกันในกรณีที่รัฐธรรมนูญฯ ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนยิ่งกว่าเสรีภาพในการประกอบการ ประกอบอาชีพหรือแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมดังจะเห็นได้จากมาตรา 67 วรรคสองได้จำกัดเสรีภาพในการประกอบอุตสาหกรรมไว้ระดับหนึ่งหากว่าเป็นการดำเนินโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ และมาตรา 43 วรรคสองเองก็บัญญัติว่าเสรีภาพดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะสำคัญบางประการ ซึ่งรวมถึง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของประชาชน
[22] มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน
[23] จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าหากใช้แนวทางพิจารณาเป็นรายโครงการแล้วแง่มุมเรื่องระดับความสามารถในการรองรับมลพิษของพื้นที่มาบตาพุดอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้มีโครงการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนฯ มากกว่า 2 โครงการซึ่งเกิดจากผลคำพิพากษาก็เป็นได้
[24] โปรดดูหลักกฎหมายนี้ในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 51-52