หน้าแรก บทความสาระ
รายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องการให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 6) โดย ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 20:58 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

       
3.2 ข้อจำกัดของศาลรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

                   
       แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) จะได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้หลายประการก็ตาม แต่ในการทำหน้าที่ตามบทบาทที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านั้น ได้แก่ ข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่างๆ และข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ดังมีรายละเอียดดังนี้

                   
       3.2.1 ข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบกฎหมายต่างๆ

                   
        ในการตรวจสอบกฎหมายนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยไว้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) บัญญัติไว้ แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นยังคงมีช่องว่างที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเข้าไปตรวจสอบกฎหมายต่างๆ ได้บางประการ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจเข้าไปตรวจสอบพระราชกำหนดว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

                   
        แม้ว่าก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ประธานสภาส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วย “เนื้อหา” ของพระราชกำหนดได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนั้นมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จะมีผลให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้นก็ตาม แต่การไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้นเช่นว่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อกิจการใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในระหว่างที่ใช้บังคับพระราชกำหนดนั้น ดังนั้น จึงเกิดช่องว่างขึ้นในช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่ตราขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะทำให้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนผู้ต้องเกี่ยวข้องกับการใดๆ ที่กระทำขึ้นในช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่ตราขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการรับรองคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ดี โดยที่พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันพึงจะต้องมีการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับเพราะหากรอให้มีการตรากฎหมายตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติแล้วอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ ดังนั้น โดยเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นว่าข้อจำกัดในเรื่องนี้ไม่อาจแก้ไขได้โดยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบพระราชกำหนดก่อนประกาศใช้บังคับได้ แต่อาจกำหนดระยะเวลาให้การเสนอความเห็นต่อประธานสภาเพื่อให้ประธานสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดให้มีกำหนดเวลาสั้นเพื่อเป็นการลดช่วงเวลาอันเป็นช่องว่างดังกล่าว


                   
       3.2.2 ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

                   
        โดยที่สิทธิในการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้องค์กรบางองค์กรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยองค์กรเหล่านั้นได้แก่

                   
        ก. ศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ) ในกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 264)

                   
        ข. ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา

                   
        (ข.1) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 262)

                   
        (ข.2) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เห็นว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภา
       ผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศใน
       ราชกิจจานุเบกษามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 263)

                   
        (ข.3) กรณีที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอใหม่ มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องยับยั้ง (มาตรา 177)

                   
        (ข.4) กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพราะเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดสิ้นสุดลง (มาตรา 216 วรรคสอง) หรือสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง (มาตรา 96)

                   
        (ข.5) กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดว่าพระราชกำหนดไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ (มาตรา ๒๑๙)

                   
        (ค) ประธานรัฐสภา

                   
        (ค.1) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (มาตรา 262)

                   
        (ค.2) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนเห็นว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ได้ให้ความเห็นชอบแล้วแต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 263)

                   
        (ค.3) ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพราะเห็นว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 137 หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 139 (มาตรา 142)

                   
        (ค.4) ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)

                   
        (ง) นายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 262)

                   
        (จ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 266)

                   
        (ฉ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง

                   
        (ฉ.1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเห็นว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำใด ๆ มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย (มาตรา 180)

                   
        (ฉ.2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่ามติดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญหรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการ
       ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 118 (8))

                   
        (ฉ.3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง ในกรณีที่เห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
       ทรงเป็นประมุข(มาตรา 47 วรรคสาม)

                   
        (ช) อัยการสูงสุด

                   
        (ช.1) ในกรณียื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองซึ่งใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้เลิกการกระทำดังกล่าว (มาตรา 63)

                   
        (ช.2) เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุดว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 โดย (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ (3) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ (4) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือมาตรา 5378 และอัยการสูงสุดเห็นสมควรให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง

                   
        (ซ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ (มาตรา 295)

                   
        (ฌ) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

                   
        ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

                   
        (ญ) ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง

                   
        (ญ.1) เมื่อปรากฎว่า หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง กระทำการใดๆฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือข้อบังคับพรรคการเมืองอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนายทะเบียนมีคำสั่งเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะ หรือบางคนออกจากตำแหน่งได้ (มาตรา 27 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541)

                   
        (ญ.2) เมื่อพรรคการเมืองมีเหตุต้องเลิกหรือยุบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 มาตรา 72 มาตรา 73 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

                   
        (ฎ) ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง (มาตรา 17 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541)

                   
        จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในลักษณะเป็นการ “ร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ” โดยตรงได้ การดำเนินการต่างๆของประชาชนที่จะส่งปัญหาของตนเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องกระทำผ่านช่องทางขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นในกรณีของผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวที่สามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจในการฟ้องคดีโดยตรงดังกล่าวนั้นก็เป็นอำนาจที่จำกัดเฉพาะเรื่องและเป็นลักษณะของการ “อุทธรณ์คำสั่ง” ของคณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่การร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

                   
        นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติให้การเสนอเรื่องของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่าน
       องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ นั้น เป็นเพียงการเสนอโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในอันที่จะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสมควรนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ อีกด้วย หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องที่ประชาชนเสนอความเห็นหรือยกขึ้นโต้แย้งว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะนำเสนอความเห็นหรือข้อโต้แย้งนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความเห็นหรือข้อโต้แย้งของประชาชนดังกล่าวก็ไม่อาจนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้

                   
        อย่างไรก็ดี แนวความคิดในการให้ประชาชนเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาได้โดยตรงนี้ เคยมีปรากฎทั้งในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และในการร่างข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้


                   
        3.2.2.1. แนวความคิดในชั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ

                   
        ในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญชั้นคณะกรรมาธิการยกร่างนั้น มีข้อเสนอในการให้ประชาชนสามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมห้าหมื่นชื่อมีสิทธิที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายใด ๆ ได้ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ร้อยตรี สมนึก ชูวิเชียร) ได้เสนอให้ประชาชนสามารถ “ร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ” ได้ในกรณีที่ปรากฏความผิดเกิดขึ้นไม่ว่าโดยฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งในประเด็นนี้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญท่านอื่นๆ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วย โดยศาสตราจารย์คณิต ณ นคร เห็นว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีของการอภิปรายในสภา ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีการดำเนินการอย่างใดเกิดขึ้น นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้อภิปรายว่าข้อเสนอดังกล่าวกินความกว้างขวางมากและอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าอำนาจฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการเสียอีก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศก็ไม่มีอำนาจในการทำการดังกล่าว79

                   
        นอกจากนี้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (นายเสรี สุวรรณภานนท์) ยังได้เสนอให้ประชาชนสามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ โดยให้เหตุผลเพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง80 ซึ่งในประเด็นนี้ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมาธิการยกร่าง ได้อภิปรายชี้แจงไว้ว่า การบัญญัติให้ประชาชนสามารถร้องเรียนทางรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงนั้นจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีงานมากจนกระทั่งใครเห็นว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็วิ่งมาหาศาลรัฐธรรมนูญตลอดทุกเรื่องไป ประเทศซึ่งใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยอย่างประเทศเยอรมันซึ่งมีการสิทธิมากที่สุดก็ยังจำกัดไว้ว่าเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง และมีกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันกำหนดว่าจะต้องวางเงินเป็นจำนวน 50,000 ดอยซ์มาร์คเพื่อนำคดีสู่ศาลอีกด้วย เพราะฉะนั้นการเข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงควรยึดหลักที่ใช้กันในประเทศส่วนใหญ่ว่าจะต้องมีการผ่านองค์กรในรัฐธรรมนูญนั้นเอง ถ้าเป็นการร่างกฎหมายก็ต้องผ่านมาตรา 262 คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกรัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแล้วก็มี 2 ทาง ทางที่ 1 คือไปสู่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งให้วินิจฉัยได้ว่าพระราชบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทางที่ 2 ไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาลเป็นคดีในศาลเสียก่อนแล้วคู่ความนั้นเองอาจจะเห็นโดยเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยก็ได้ แล้วยกปัญหาเรื่องกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญขึ้น

                   
        ในที่สุดคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น ในกระบวนการตรากฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือการร้องทุกข์ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น เป็นช่องทางที่เปิดกว้างเพียงพอแล้วต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกประการหนึ่ง การเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือมีผู้ฟ้องร้องหรือร้องทุกข์องค์กรของรัฐอื่นๆ (ทั้งนี้รวมถึงองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้แก่ศาลอื่นๆด้วย) ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสภาพเป็นเหมือนศาลสูงสุดที่สามารถพิจารณาวินิจฉัยและรับอุทธรณ์การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรและศาลอื่นๆได้ทั้งหมด นอกจากนี้ การให้ประชาชนสามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง จะเป็นภาระยิ่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงสมควรดำเนินการผ่านองค์กรที่มีอำนาจในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ


                   
        3.2.2.2 แนวความคิดในชั้นการร่างข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

                   
        หลังจากที่รัฐธรรมนูญได้บังคับใช้แล้วและมีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยกำหนดเป็นข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

                   
        เมื่อมีการยกร่างข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาได้เสนอร่างข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 254181 โดยกำหนดให้แยกการพิจารณาในคดีต่างๆออกเป็นหมวดๆ รวมทั้งสิ้น 19 หมวดด้วยกัน โดยกำหนดเรื่องการพิจารณาวินิจฉัยรับรองหรือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองหรือคุ้มครองไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) (มาตรา 27) ไว้ในหมวดที่ 2 และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องจากประชาชนโดยตรงได้โดยกำหนดไว้ในข้อ 12 ว่า

                   
        “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองหรือคุ้มครองไว้ในหมวด 3 และหมวดอื่น อาจยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยทำเป็นคำร้องพร้อมสำเนายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามแบบพิมพ์ที่กำหนด...”

                   
        อย่างไรก็ดี ในที่สุดข้อกำหนดดังกล่าวก็มิได้นำมาใช้บังคับแต่อย่างใด
       


                   
        อนึ่ง ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ประชาชนมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2541 วันที่ 4 สิงหาคม 2541 เรื่อง ขอคำวินิจฉัยตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 241 วรรคสี่ และมาตรา 264 ประกอบมาตรา 6 โดยผู้ร้อง คือนางอุบล บุญญชโลธร ยื่นคำร้องลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 241 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสั่งคดี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยอำนาจของผู้ร้องในประเด็นนี้ว่า “…การที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” ซึ่งหมายความว่า ให้ศาลเท่านั้นเป็นผู้ส่งความเห็นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย มิได้ให้สิทธิผู้ร้องหรือคู่กรณีเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องคดีนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 241 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ อาศัยเหตุดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณา”

                   
        เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและแนว
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) มิได้กำหนดให้สิทธิประชาชนในการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาได้โดยตรง ดังนั้น หากประชาชนจะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ก็จะต้องดำเนินการโดยผ่านกระบวนการศาล คือ เมื่อเกิดกรณีพิพาทที่จะใช้กฎหมายที่มีปัญหาว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นใช้บังคับแก่คดี หรือร้องทุกข์ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้องค์กรดังกล่าวนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น


       
       

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนต่อไป)


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       78. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)

                   
       “มาตรา 268 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       79. โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       80. รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 24 มิถุนายน 2540, หน้า 32-33.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       81. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 23 วันที่ 21 กรกฎาคม 2540, หน้า 198-201.
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       82. ปรีชา เฉลิมวณิชย์, ร่างข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541, เอกสารไม่เผยแพร่.
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       

       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544