หน้าแรก บทความสาระ
รายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องการให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 6) โดย ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 20:58 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

       

       บทที่ 3

       บทบาทและข้อจำกัดของศาลรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิ
       และเสรีภาพของประชาชน (ต่อ)
       


                   
       3.1.2 บทบาททางอ้อม

                   
        นอกเหนือจากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในด้านที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับตรวจสอบกฎหมายหลังการประกาศใช้บังคับ และการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นบทบาททางตรงที่รัฐธรรมนูญมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ยังมีบทบัญญัติอีกจำนวนหนึ่งที่มีผลเป็นการให้อำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญในทางอ้อมเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน บทบาทดังกล่าวได้แก่ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจพิจารณาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ หรือข้อบังคับของพรรคการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                   
        3.1.2.1 การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

                   
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 266 ว่า

                   
        ”มาตรา 266 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”

                   
        เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว พบว่าอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้เป็นไปเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ขัดแย้งกันเอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรตาม
       รัฐธรรมนูญนั้นไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขององค์กรหรือบุคคลอื่น เนื่องจากการดำเนินงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายนั้นล้วนแต่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยกัน
       ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รับวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตาม
       รัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นทำหน้าที่ของตนในการคุ้มครองสิทธิและสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องและเต็มที่ โดยในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา
       ดังกล่าวมีเงื่อนไขในการตรวจสอบและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

                   
        (ก) เงื่อนไขของการตรวจสอบ ในการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น มีเงื่อนไขดังนี้

                   
        (ก.1)เรื่องที่เสนอให้พิจารณาวินิจฉัยต้องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งความหมายของ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 266 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางบรรทัดฐานไว้ว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญหมายถึง องค์กรที่มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่องค์กรที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร เช่น กระทรวง ทบวง กรม72

                   
        (ก.2)ปัญหาที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็น “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นหากไม่มีกรณีปัญหาเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ได้ เช่นการให้ตีความอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเป็นข้อหารือเกี่ยวกับอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยยังไม่มีเรื่องหรือยังไม่มีกรณีปัญหาเกิดขึ้น เช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย73 โดยปัญหานี้จะเกิดจากการที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่ง74 หรือปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจกระทบกับสิทธิของบุคคลหรือองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ75 หรือปัญหาขององค์กรตาม
       รัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ได้76 อย่างน้อยจะต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่

                   
        (3) องค์กรนั้นเองหรือประธานรัฐสภาเป็นผู้ส่งกรณีปัญหาดังกล่าวมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

                   
        (ข) ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีที่เป็นปัญหานั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นมีหรืออำนาจหน้าที่หรือไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินเรื่องหรือดำเนินการตามที่มีปัญหานั้นๆ แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เหล่านั้นต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)77

                   
        3.1.2.2 การตรวจพิจารณาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง

                   
        โดยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือตัวแทนของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปกครองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในแนวทางหลัก กล่าวคือ ประชาชนจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติในการตรากฎหมายขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ได้ รวมทั้งเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันการเมืองที่เชื่อมโยงโดยตรงต่อประชาชนมากที่สุด และโดยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามมติหรือตามแนวปฏิบัติของข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของพรรคการเมืองย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการอันที่จะมี ส.ส. ซึ่งอาจมีบทบาทในทางนิติบัญญัติและบริหารประเทศที่มีแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญตามหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

                   
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) จึงได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจพิจารณามติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองสองกรณี ดังนี้คือ

                   
        (1) พิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า

                   
        “มาตรา 63 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

                   
        ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

                   
        ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้”


                   
        (2) พิจารณาวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไม่ ตามมาตรา 47 วรรคสามและวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า

                   
        “…สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

                   
        ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป”


                   
        เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 63 และมาตรา 47 วรรคสามและวรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ดังกล่าวพบว่าการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพิจารณาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง มีเงื่อนไขการตรวจสอบและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

                   
        (ก) เงื่อนไขของการตรวจสอบ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                   
        (ก.1)การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 63 จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้รู้เห็นการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำของพรรคการเมืองดังกล่าว

                   
        (ก.2)การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 47 จะกระทำได้ต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองในเรื่องนั้น

                   
        (ข) ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                   
        (ข.1)การพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำอันเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว ในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้อีกด้วย

                   
        (ข.2)การพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 47 ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวถูกยกเลิกไปได้


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       72. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)

                   
       “มาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       73. คำวินิจฉัยที่ 2/2541 เรื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       74. คำวินิจฉัยที่ 6/2542 คำวินิจฉัยที่ 7/2542 และคำวินิจฉัยที่ 8/2542เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่า เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเห็นของกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นแตกต่างกัน จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       75. คำวินิจฉัยที่ 54/2542 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีปัญหาการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เป็นปัญหาการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนายกรัฐมนตรีและวุฒิสภา.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       76. คำวินิจฉัยที่ 5/2543 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณี คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของ
       ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นปัญหาระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็น
       องค์กรตามรัฐธรรมนูญ กับบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       77. คำวินิจฉัยที่ 26/2543 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการออกพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุม รัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       

       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544