บทที่ 2
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ดังที่ได้ทำการนำเสนอไปแล้วในบทที่ 1 แต่จากการศึกษากฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้นพบว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มิได้มีการกำหนดรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน จะมีก็แต่เพียงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่กำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 จึงมีการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2539 ขึ้น ระเบียบฉบับนี้นับได้ว่าเป็นระเบียบฉบับแรกที่ได้กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ระเบียบฉบับนี้ได้นำแนวความคิดในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น มากำหนดไว้ นั่นก็คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ (Public hearing) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรูปแบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยอย่างกว้างขวางและแพร่หลายในเวลาต่อมา จนถือได้ว่าเป็นรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนไว้อีกด้วย ส่งผลให้มีการนำเอาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงขอนำเสนอกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ในบทนี้
2.1 ความเป็นมาของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
การจัดทำประชาพิจารณ์ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนชุมชนบ้านครัว อันเนื่องมาจากโครงการทางด่วนแยกอุรุพงษ์ - ราชดำริ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยชาวชุมชนบ้านครัวได้ร่วมกับชุมชนเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวมานานกว่า 4 ปี นักวิชาการ 2 คน คือ คุณแก้วสรร-คุณขวัญสรวง อติโพธิ เห็นว่า ควรจะหาเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งมาระงับความขัดแย้งดังกล่าวก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น จึงเสนอให้มีการนำแนวคิด วิธีการและรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของต่างประเทศที่เรียกว่า "Public Hearing" มาใช้ระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว โดยชุมชนบ้านครัวตกลงที่จะใช้กลไกตามที่นักวิชาการทั้ง 2 ท่านเสนอมา จึงเสนอต่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อพิจารณาถึงความสมประโยชน์และความจำเป็นของโครงการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2536 โดยเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยประกาศชี้แจงแผนงาน เอกสารข้อเท็จจริง พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการไต่ถามและเสนอพยานหลักฐานและข้อมูลโต้แย้ง ตลอดจนให้การดำเนินการดังกล่าวกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และเสนอผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐบาลตัดสินชี้ขาดอีกครั้ง โดยไม่ผูกพันตามความคิดเห็นของฝ่ายใด แต่ให้ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจนและครบถ้วน หลังจากนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 243/2536 ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประโยชน์ของถนนรวมและกระจายการจราจรต่อระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย27
(1) ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ
(2) ดร.อัมมาร์ สยามวาลา กรรมการ
(3) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
(ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือผู้แทน) กรรมการ
(4) นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย
หรือผู้แทน กรรมการ
(5) ดร.ครรชิต ผิวนวล กรรมการ
(6) ผศ.ดร.นิพันธ์ วิเชียรน้อย กรรมการ
(7) ผศ.พรพจน์ สุขเกษม กรรมการ
(8) ผู้อำนวยการกองการข่าว กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 2 เดือน
มีการประชุมทั้งสิ้น 9 ครั้ง แบ่งเป็นการรับฟังข้อมูลและความเห็นเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชน โดยเปิดเผยต่อสาธารณชนจำนวน 6 ครั้ง และประชุมเฉพาะคณะกรรมการเพื่อหาข้อสรุป และยกร่างรายงาน 3 ครั้ง ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สรุปผลส่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536 โดยคณะกรรมการมีมติชี้ขาดว่า โครงการดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์กับการจราจร และไม่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนบ้านครัว โดยภาระที่เกิดจะตกแก่ชุมชนบ้านครัวมากจนไม่เป็นธรรม แต่เงื่อนไขของโครงการนี้คือ หากรัฐบาลตัดสินใจไม่สร้างจะต้องเจรจาขอแก้ไขสัญญากับบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BECL) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รัฐทำสัญญาด้วยเสียก่อน จึงทำให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจใด ๆ ออกมา ในขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับความเห็นของคณะกรรมการ โดยอ้างว่าข้อมูลที่คณะกรรมการนำมาพิจารณาเป็นข้อมูลเก่า จากข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวได้ ทำให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิม แต่ประธานคณะกรรมการได้ลาออก ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทน ในการรับฟังความคิดเห็นในรอบที่ 2 นี้ คณะกรรมการได้ยืนยันในมติเดิมว่าควรยกเลิกโครงการ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยเลี่ยงลงไปในคลองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด28 แม้ว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลจะมีมติแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการก็ตาม แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ก็เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถลดความขัดแย้งโดยสันติวิธีระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้ ส่งผลให้กระบวนการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน หากพิจารณาถึงการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้แล้ว จะพบว่าเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีโดยที่มิได้มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ รองรับเลย การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ตามโครงการนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวิธีประชาพิจารณ์มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการดำเนินการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ ระเบียบฉบับนี้มีที่มาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ในข้อ 1.8.2 ดังนี้
"1.8 การมีส่วนร่วมของประชาชน
ฯลฯ ฯลฯ
1.8.2 ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มี
ข้อโต้เถียงหลายฝ่ายโดยวิธีประชาพิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงาน"
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง" โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานกรรมการ มีนายโภคิน พลกุล เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ นายลิขิต ธีรเวคิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ
(1) จัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการ
ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งเสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองต่อคณะรัฐมนตรี
(2) พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211
(3) ตรวจสอบ รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่ไม่สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แล้วดำเนินการยกร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ให้สนองตอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้การดำเนินงานตาม (3) เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง" โดยมีนายโภคิน พลกุล เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (public hearing) แล้วจึงจัดทำ "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ. .
" ขึ้น โดยได้นำเสนอ "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง" เพื่อพิจารณาซึ่งคณะกรรมปฏิรูปการเมืองพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการเสนอมา จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและอนุมัติหลักการร่างระเบียบดังกล่าว และมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาในรายละเอียด ทั้งสองท่านได้พิจารณาร่างระเบียบและได้ปรับปรุงชื่อเสียใหม่เป็น "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.
." หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 253929 ระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังการแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สำหรับเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐในการดำเนินงานอันมีผลกระทบต่อประชาชน30
ภายหลังการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 แล้ว ได้มีการดำเนินการเพื่อรองรับระเบียบดังกล่าวในเรื่องที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะทำงานเพื่อยกร่างหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติงานตามระเบียบ ตามที่ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 4 ให้มี "คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์" ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกำหนดให้กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่น อีก 4 คน นั้น นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้มีคำสั่งที่ 83/2539 ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2539 แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(1) นายลิขิต ธีรเวคิน
(2) นายประณต นันทิยกุล
(3) นายเสรี วงษ์มณฑา
(4) คุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช
หลังจากได้รับแต่งตั้งแล้วคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ได้มีคำสั่งที่ 1/2539 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2539 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีนายสุธี สุทธิสมบูรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) กับคุณหญิงชดช้อย โสภณพานิช เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน เพื่อพิจารณา
ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ
รับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เพื่อเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์พิจารณา และคณะทำงานดังกล่าวได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และหัวข้อการจัดทำคู่มือการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2539 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษา ฯ ได้พิจารณาแล้ว ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ และหัวข้อการจัดทำคู่มือ ฯ ไปให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องพิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อนำมาประมวลข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงให้สมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น31 จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ และเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว
2.2 การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 253932
การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มีสาระสำคัญดังนี้
2.2.1 เหตุที่จะจัดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
เรื่องที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์นั้น กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 7 ว่า การดำเนินงานตามโครงการของรัฐ33 เรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ขอโต้เถียงหลายฝ่าย อาจจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ได้
2.2.2 ช่วงเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดทำประชาพิจารณ์อาจมีขึ้นได้ในหลาย ๆ ช่วงระยะเวลา กล่าวคือ ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการของรัฐ การพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม การศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ หรือในระหว่างขั้นตอนใดก็ได้ก่อนที่รัฐจะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐ นอกจากนี้การจัดทำประชาพิจารณ์จะไม่กระทบกระเทือนต่อการที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการอื่นไปพลางเท่าที่จำเป็น แต่จะตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อนที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะรายงานและแจ้งผลให้รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ทราบมิได้ เว้นแต่จะเป็นการตัดสินใจโดยมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นกรณีที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือพันธะระหว่างประเทศ หรือหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประชาชน34
2.2.3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชาพิจารณ์
ระเบียบฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ และคณะกรรมการประชาพิจารณ์
2.2.3.1 คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์35 ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ประธานกรรมการ) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสี่คน และผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่หรือที่ปรึกษาพรรคการเมืองอีกสองคน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (กรรมการและเลขานุการ) โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้36 คือ
(ก) กำกับดูแลการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการทำประชาพิจารณ์
(ข) วินิจฉัยหรือตอบข้อหารือหรือตามที่กำหนดในระเบียบ
(ค) จัดทำรายงานประจำปีสรุปการทำประชาพิจารณ์ตามที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการประชาพิจารณ์ พร้อมข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะเสนอคณะรัฐมนตรีปีละครั้ง
2.2.3.2 คณะกรรมการประชาพิจารณ์ เมื่อมีการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการใด รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ของโครงการนั้นขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสามคน โดยประธานกรรมการและกรรมการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของรัฐในเรื่องนั้น กรรมการอย่างน้อยหนึ่งในสามให้ตั้งจากผู้ที่มิได้เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น37 ซึ่งคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดประชาพิจารณ์โครงการที่ได้รับแต่งตั้งจนแล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ คือ38
(ก) กำหนดสถานที่และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์
(ข) ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ
(ค) ประกาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ในกรณีจำเป็นให้แต่งตั้งที่ปรึกษาได้
(ง) นัดวันประชุมครั้งแรกโดยแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบ
(จ) นัดวันประชุมครั้งแรกเพื่อกำหนดประเด็นประชาพิจารณ์
และปิดประกาศประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งวัน เวลาที่จะประชุมครั้งต่อ ๆ ไปให้ประชาชนทราบ
(ฉ) ให้ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อน แล้วจึงให้ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง ต่อด้วยผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลงชี้แจงหรือซักถามก่อนหลังก็ได้และจะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วยก็ได้
(ช) ทำรายงานเสนอต่อผู้สั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
2.2.4 ผู้ริเริ่มให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดประชาพิจารณ์เกิดขึ้นได้จาก 3 กรณี คือ
2.2.4.1 ผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ เมื่อรัฐมนตรีสำหรับราชการบริหารส่วนกลาง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับราชการของกรุงเทพมหานคร เห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการของรัฐเรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนหรือสังคม และอาจนำไปสู่ข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สมควรรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐและบุคคลอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐ ผู้มีอำนาจดังกล่าวไปแล้วอาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ได้39
2.2.4.2 ผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้มีการจัดประชาพิจารณ์ การจัดประชาพิจารณ์ตามกรณีที่สองนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากที่ผู้มีส่วนได้เสียเห็นว่า โครงการของรัฐเรื่องใดหากดำเนินการไปแล้วอาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีแรก และประสงค์จะให้มีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องจัดทำหนังสือไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อสอบถามหรือขอคำชี้แจง หากหน่วยงานของรัฐมิได้ตอบหรือชี้แจงเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือหน่วยงานของรัฐตอบหรือชี้แจงแล้ว แต่ผู้มีส่วนได้เสียยังไม่พอใจและประสงค์จะโต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวบางส่วนหรือทั้งหมด ก็สามารถยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อขอให้มีประชาพิจารณ์ จากนั้นผู้มีอำนาจในหน่วยงานนั้น ๆ จะพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวสมควรที่จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์หรือไม่ หากกรณีที่เสนอมาเป็นกรณีที่อาจมีผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยมีประชาพิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวมาก่อน และการทำประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบเหตุผลและความจำเป็นหรือการแก้ปัญหาในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็อาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ได้40
2.2.4.3 หน่วยงานของรัฐ เห็นควรให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดให้มีประชาพิจารณ์จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ ก็สามารถเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจในหน่วยงาน ซึ่งก็คือรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อกลั่นกรองหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ในกรณีที่เห็นสมควรได้41
2.2.5 กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์
การจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์ ขั้นตอนในวันจัดทำประชาพิจารณ์ และขั้นตอนภายหลังการจัดทำประชาพิจารณ์
2.2.5.1 การดำเนินการก่อนวันจัดทำประชาพิจารณ์
เมื่อผู้มีอำนาจซึ่งก็คือ รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์แล้วก็จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการนั้น ๆ ขึ้น เพื่อที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์กำหนดสถานที่ และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยก่อนที่จะจัดทำประชาพิจารณ์นั้นคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐที่จะจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ และประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ประสงค์จะเสนอความเห็นและผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนผู้ชำนาญการมาลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน รวมทั้งนัดวันประชุมครั้งแรกให้บรรดาผู้ลงทะเบียนได้แล้วทราบ42
นอกจากนี้ตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ โดยมีสาระสำคัญคือ43 ในการประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์ดำเนินการเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลในเรื่องที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยการ
ปิดประกาศล่วงหน้าก่อนวันลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 30 วัน นอกจากจะต้องมีการประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในท้องที่ที่จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รวมทั้ง
โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันของท้องถิ่นก่อนการลงทะเบียนจัดทำประชาพิจารณ์อย่างน้อย 7 วัน เมื่อมีการลงทะเบียนแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะต้องแจ้งให้ผู้ลงทะเบียนทราบถึงประเด็นที่จะประชาพิจารณ์ การแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ และช่วงเวลาของการประชาพิจารณ์ของกลุ่มต่าง ๆ หลังจากที่มีการลงทะเบียนแล้วไม่เกิน 7 วัน จากนั้นให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแจ้งรายชื่อตัวแทนของกลุ่มต่อคณะกรรมการประชาพิจารณ์ภายใน 15 วัน นับจากวันลงทะเบียน รวมทั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องรวบรวมเอกสารโครงการที่จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์ และแจ้งนัดวันประชุมประชาพิจารณ์ให้ผู้ลงทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจากวันลงทะเบียน
2.2.5.2 การดำเนินการในวันจัดทำประชาพิจารณ์
ในการจัดทำประชาพิจารณ์ ให้ประธานกรรมการประชาพิจารณ์เป็นประธานที่ประชุมในการจัดทำประชาพิจารณ์ โดยมีอำนาจควบคุมการประชุมประชาพิจารณ์ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และตามประกาศของคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ ทั้งยังมีอำนาจขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบเรียบร้อยในการประชาพิจารณ์ หากประธานไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการประชาพิจารณ์ที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในการประชาพิจารณ์
ในส่วนของวิธีการประชาพิจารณ์นั้น ในวันจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประธานที่ประชุมประชาพิจารณ์ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมประชาพิจารณ์ตามลำดับดังนี้ คือ เริ่มจากให้ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริงและความเห็น เกี่ยวกับโครงการตามประเด็นที่กำหนดไว้ แล้วจึงให้ ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษาแถลง หลังจากนั้นจึงให้ ผู้มีส่วนได้เสียหรือตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียแถลง ตามประเด็นการประชาพิจารณ์ที่กำหนดไว้ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลง ชี้แจง หรือซักถามก่อนหลังก็ได้ และอาจจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยในการดำเนินการประชาพิจารณ์ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ต้องคำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่าง ๆ และให้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น สุจริต และเป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจของตนชัดเจนและถูกต้อง ตรงตามหลักวิธีการและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด หลังจากเสร็จสิ้นการประชาพิจารณ์แล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะจัดประชุมลงมติให้ประเด็นที่มีการประชาพิจารณ์44
2.2.5.3 การดำเนินการภายหลังการจัดประชาพิจารณ์
หลังจากที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์ได้รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเสร็จแล้ว จะต้องจัดทำรายงานประชาพิจารณ์ ภายใน 45 วัน นับแต่สิ้นสุดการประชุมประชาพิจารณ์ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ซึ่งก็คือ
รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี อาจขยายระยะเวลาการจัดทำรายงานการประชาพิจารณ์ได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้ คือ
(ก) รายชื่อกรรมการ ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ
ผู้ชำนาญการ ที่ปรึกษา
(ข) ข้อเท็จจริงโดยสรุปเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่และการ
ประชุมประชาพิจารณ์
(ค) ความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐ
(ง) ข้อโต้เถียงของทุกฝ่ายและประเด็นที่กำหนดให้ประชาพิจารณ์
(จ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้จากประชาพิจารณ์ในด้านความ
เหมาะสม ผลกระทบ ทางเลือกอื่น ถ้าหากมี และข้อสังเกตในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ45
เมื่อคณะกรรมการจัดทำรายงานประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และส่งรายงานให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้วย46 นอกจากนี้ให้เก็บรายงานประชาพิจารณ์ไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่จัดให้มีประชาพิจารณ์อย่างน้อย 1 ชุด47 ในส่วนของการเปิดเผยรายงานประชาพิจารณ์นั้น ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เห็นสมควรจะเปิดเผยรายงานที่ได้รับให้ประชาชนทราบก็ได้48
2.2.6 ค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชาพิจารณ์
ในการจัดทำประชาพิจารณ์นั้น หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการที่จัดให้มีการประชาพิจารณ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดจากการจัดประชาพิจารณ์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ การเตรียมเอกสาร เป็นต้น49
2.2.7 ผลของการจัดทำประชาพิจารณ์
หลังจากการจัดประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของ
โครงการจะต้องรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชาพิจารณ์มาใช้50เป็นเพียงแนวทางหรือข้อมูลประกอบการพิจารณาและตัดสินใจในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว แต่ ไม่มีผลผูกพันว่ารัฐต้องตัดสินใจตามผลที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจะตัดสินใจดำเนินการตามผลที่ได้จากการประชาพิจารณ์หรือไม่ก็ได้
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ขอนำเสนอแผนภูมิขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบฉบับดังกล่าวดังนี้
เชิงอรรถ
27. สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, ประชาพิจารณ์ : บน เวที หรือ ท้องถนน วารสารโลกสีเขียว, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม มิถุนายน 2543) : หน้า 35.
[กลับไปที่บทความ]
28. เรื่องเดียวกัน, หน้า 22.
[กลับไปที่บทความ]
29. โภคิน พลกุล, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทกราฟฟิคฟอร์แมท, 2540), หน้า 14-15.
[กลับไปที่บทความ]
30. คำขึ้นต้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539.
[กลับไปที่บทความ]
31. ชาญชัย แสวงศักดิ์, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ : การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2540), หน้า 30-31.
[กลับไปที่บทความ]
32. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 113 ตอนพิเศษ 2 ง (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539).
[กลับไปที่บทความ]
34. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 3 ได้ให้นิยามว่า โครงการของรัฐ หมายความว่า การดำเนินงานไม่ว่าในลักษณะใด ๆ ตามนโยบายหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการบริหารราชการ ในกิจการของรัฐ หรือโครงการที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ และตามประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 1 หมายความรวมถึง โครงการของภาคเอกชนที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐด้วย.
[กลับไปที่บทความ]
35. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ข้อ11.
[กลับไปที่บทความ]
36. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณา พ.ศ. 2539 ข้อ 4.
[กลับไปที่บทความ]
37. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 5.
[กลับไปที่บทความ]
38. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12.
[กลับไปที่บทความ]
39. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 13 - ข้อ 15.
[กลับไปที่บทความ]
40. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 7.
[กลับไปที่บทความ]
41. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 8.
[กลับไปที่บทความ]
42. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 9.
[กลับไปที่บทความ]
43. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 12-14.
[กลับไปที่บทความ]
44. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
[กลับไปที่บทความ]
45. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 14 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 3.
[กลับไปที่บทความ]
46. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 15 และประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
[กลับไปที่บทความ]
47. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
[กลับไปที่บทความ]
48. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 4.
[กลับไปที่บทความ]
49. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 16.
[กลับไปที่บทความ]
50. ประกาศคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยประชาพิจารณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ ข้อ 5.
[กลับไปที่บทความ]
51. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ข้อ 21.
[กลับไปที่บทความ]
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546
|