1.2.1.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 18 ว่า หลังจากการรับฟังการแถลงคำคัดค้านแล้ว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะนำคำแถลงคัดค้านของผู้คัดค้านมาประกอบการพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวหรือไม่ แล้วทำคำวินิจฉัย โดยปิดสำเนาคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และส่งสำเนาคำวินิจฉัยไปให้ผู้คัดค้านทราบ โดยมาตรา 19 ของกฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศสำเนาคำวินิจฉัย ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง มาตรา 276 ถึงมาตรา 280 และได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 496 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเสนอคดีศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้
1.2.2 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 25177
พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีการดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคโดยทั่วถึง และเพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ดินของตนเองสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของเกษตรกรให้มั่นคงขึ้น8 กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 27 คือ หากในจังหวัดใดยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน
1.2.2.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชา
ชน
พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยการสอบถามความสมัครใจ ไว้ในมาตรา 27 ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดินในจังหวัดใด หากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นว่าจะให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินหรือไม่ และให้จัดทำบันทึกการยินยอมหรือไม่ยินยอมของเจ้าของที่ดินทุกรายไว้เป็นหลักฐาน
1.2.2.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ภายหลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่ที่ได้กำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว กฎหมายฉบับนี้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นไว้ในมาตรา 28 ว่า หากเจ้าของที่ดินยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเกินกึ่งหนึ่งของบรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน
1.2.3 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 25189
พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ถูกตราขึ้นเนื่องจากกฎหมายเดิมคือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและผังชนบทได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับได้มีการพัฒนาทั้งในด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม และจำนวนประชากรในท้องที่ต่าง ๆ ได้ทวีความหนาแน่นยิ่งขึ้น มาตรการและโครงการที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมจึงไม่เหมาะสมกับสภาวะในขณะนั้น จึงมีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของวิชาผังเมือง และสภาพท้องที่10 กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นกฎหมายที่นำกลไกของกฎหมายปกครองมาบัญญัติไว้ เช่น สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์11 แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2518 ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในหมวด 8 มาตรา 212 โดยมีสาระสำคัญว่า "ศาลปกครองจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ" และในขณะนั้นยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำบทบัญญัติมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับได้ เนื่องจาก มาตรา 70 วรรคสาม ตอนท้าย กำหนดว่า "ในกรณีที่ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ มิให้นำความในวรรคนี้มาใช้บังคับ" แต่ในปัจจุบันประชาชนสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ เนื่องจากได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองไว้อีกด้วย เช่น การกำหนดให้มีคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมเพื่อให้คำปรึกษาและความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่สำนักผังเมือง หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นวางและจัดทำขึ้น12 เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างชัดเจนมากกว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านมา โดยได้บัญญัติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ 2 กรณี คือ การรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวม ตามมาตรา 19 วรรคสอง13 และการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองเฉพาะตามมาตรา 3314 บทบัญญัติทั้ง 2 มาตราข้างต้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อสำนักผังเมืองจะวางหรือจัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะของท้องที่ใด แล้วสำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องจัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ และจัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและ
จัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น จึงมีการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 19 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) 15 และมาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) 16
1.2.3.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชา
ชน
หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 2 ฉบับข้างต้น ซึ่งเมื่อพิจารณากฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะว่า ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) มาใช้บังคับแก่การโฆษณา การประชุมและการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองเฉพาะด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการจัดการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ จึงมีวิธีการดำเนินการเหมือนกัน ซึ่งสามารถสรุปวิธีการในการดำเนินการรับฟังข้อคิดเห็นได้ 2 ขั้นตอน คือ
(ก) การดำเนินการก่อนการรับฟังข้อคิดเห็น
ก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ใด
กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
(ก.1) จัดให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงที่สามารถรับฟังได้ในท้องที่นั้น และทางหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันที่มีจำหน่ายในท้องที่นั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการที่จะวางและจัดทำผังเมือง โดยการโฆษณาดังกล่าวจะต้องระบุชื่อท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง วัน เวลา และสถานที่ที่จะปิดประกาศแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองไว้17
(ก.2) จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของ
ประชาชน เพื่อให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมีข้อมูลประกอบการแสดงความคิดเห็น นอกจากการโฆษณาตามข้อ (ก.1) แล้ว กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องปิดประกาศแสดงรายการดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(ก.2.1) วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมือง
(ก.2.2) แผนที่แสดงเขตท้องที่ที่จะวางและ
จัดทำผังเมือง
(ก.2.3) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังอื่นตามที่เห็นสมควร พร้อมทั้งข้อกำหนดประกอบแผนผังนั้นด้วย ซึ่งแผนผังดังกล่าวอาจทำเป็นฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้
(ก.2.4) รายการประกอบแผนผัง
(ก.2.5) นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนิน
การเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ในการวางและจัดทำผังเมือง
(ก.2.6) ข้อความเกี่ยวกับ วัน เวลา และ
สถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง รวมทั้งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมาแสดงข้อคิดเห็นในการประชุมที่จะจัดให้มีขึ้นด้วย
(ก.2.7) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชน18
การประกาศข้างต้น จะต้องปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้ ส่วนสถานที่ปิดประกาศนั้น ในกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศ ณ กรมการผังเมือง ที่ว่าการเขตหรือที่ทำการแขวงของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ปิดประกาศ ณ สำนักงานผังเมืองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และ
สาธารณสถานอื่น ๆ ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง19
(ข) การดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
การจัดการรับฟังข้อคิดเห็นนั้น ผู้ดำเนินการจัดการประชุมคือ กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศตามข้อ (ก.2) และจะต้องจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ หากจะจัดให้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อ ๆ ไป ให้ประธานในที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป และให้กรมการผังเมืองหรือเจ้าหน้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ดำเนินการปิดประกาศแสดงรายการตามข้อ (ก.2) ที่ได้จัดทำขึ้นภายหลังการประชุมครั้งแรก โดยให้นำวิธีการปิดประกาศ และการจัดประชุมครั้งแรกมาใช้บังคับกับการประชุมครั้งต่อไปด้วย20
(ข.1) ผู้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
ในการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม หากเป็นการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่คาบเกี่ยวกันตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้ประธานคณะที่ปรึกษาผังเมืองที่คณะกรรมการผังเมืองแต่งตั้งเป็นประธานที่ประชุม21
(ข.2) ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและแสดงข้อคิดเห็น ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ คือ
(ข.2.1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารดังกล่าว
(ข.2.2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาตำบล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการสุขาภิบาล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น แห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง22
(ข.2.3) คณะที่ปรึกษาผังเมืองแห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง23
(ข.2.4) บุคคลซึ่งกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มีหนังสือเชิญ ซึ่งอาจจะเป็นผู้แทนสมาคม องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และบุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น24
(ข.3) วิธีการแสดงข้อคิดเห็น การแสดงข้อคิดเห็นสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
(ข.3.1) การแสดงข้อคิดเห็นด้วยวาจา การแสดงข้อคิดเห็นวิธีนี้สามารถกระทำได้ในวันประชุมเท่านั้น
(ข.3.2) การแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ
เป็นการแสดงข้อคิดเห็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งก่อนการประชุม ระหว่างการประชุม และภายหลังการประชุม แต่มีข้อจำกัดว่าหากจะแสดงข้อคิดเห็นภายหลังการประชุม จะต้องกระทำก่อนที่กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เสนอผังเมืองที่จะวางและจัดทำนั้นต่อคณะกรรมการผังเมือง25 นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ (ข.2.1) ประสงค์จะแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ หนังสือแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้ คือ
(ข.3.2.1) ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ และลายมือชื่อของผู้แสดงข้อคิดเห็น ในกรณีที่เป็นการแสดงข้อคิดเห็นแทนผู้อื่น จะต้องแนบใบมอบฉันทะที่ให้แสดงข้อคิดเห็นแทนด้วย
(ข.3.2.2) ระบุหลักฐานแสดงฐานะการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง
(ข.3.3.3) ระบุเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของตนเองหรือประโยชน์ของส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากการจะวางและจัดทำ
ผังเมืองพร้อมทั้งเหตุผล26
1.2.3.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง ข้อ 12 ได้กำหนดถึงผลของการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ว่า ให้ผู้ดำเนินการจัดประชุม ซึ่งก็คือกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี นำข้อคิดเห็นของผู้มีสิทธิแสดงข้อคิดเห็นและของคณะที่ปรึกษาผังเมืองไปประกอบการพิจารณาวางและจัดทำผังเมืองหรือทบทวนผังเมืองที่ได้วางและจัดทำขึ้นไว้แล้วก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา
แม้กฎหมาย 3 ฉบับข้างต้น คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 จะนำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาบัญญัติไว้ และก่อให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม แต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเท่าใดนัก ประกอบกับในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองดำเนินการจัดให้มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสำคัญเหล่านั้น ในปี พ.ศ. 2539
รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ เพื่อกำหนดรูปแบบ วิธีการ และหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้น ในเวลาต่อมาระเบียบฉบับนี้จึงได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เป็นระเบียบฉบับแรกของประเทศไทยที่บัญญัติรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ดังจะได้ทำการนำเสนอในบทต่อไป
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546
|