4. ความเป็นกลไกกำหนดเป้าหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนธงนำหรือเข็มมุ่งในการชี้นำเป้าหมายปลายทางของรัฐและระบบการเมืองซึ่งในบทบาทดังกล่าวรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดเป้าหมายอันพึงประสงค์ของรัฐและระบบการเมือง เพื่อสร้างความยึดเหนี่ยวผูกพันของคนในชาติ (coherence) ให้มีความยึดมั่นในเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองร่วมกันและ ในขณะเดียวกันยังต้องสร้างแรงกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาเป้าหมายเดิมหรือเป้าหมายอันพึงประสงค์ทางการเมืองการปกครอง (goal attainment) ไว้ให้มีความสืบเนื่องอยู่ได้อย่างคงเส้นคงวา จนบรรลุถึงความคาดหวังสูงสุดได้ในที่สุดอีกด้วย
การเป็นกลไกกำหนดเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีจุดเชื่อโยงที่ เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดชี้แนะถึงแนวทางต่าง ๆ (steering) เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เช่น (1) การกำหนดชี้แนะวิธีการดำเนินงาน (method) ของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่เหมาะสมสอดคล้องและนำไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้ (2) การกำหนดชี้แนะพันธะหน้าที่และภาระสำคัญ (mission) ของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่สนับสนุนต่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุด ของรัฐธรรมนูญได้ (3) การกำหนดชี้แนะแนวทางและทิศทาง (direction) ที่ถูกต้องของสถาบันทาง การเมืองการปกครองในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้
5. ความเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วม รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนจุดบรรจบของ สายน้ำหลาย ๆ สายมารวมอยู่ในแอ่งเดียวกัน โดยเฉพาะเป็นศูนย์รวมของการประสานจุดร่วมทั้งในมิติที่เป็นความแตกต่างหลากหลาย (pluralist) และมิติที่เป็นความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ซึ่ง ในความเป็นจุดร่วมดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่รวมของการประสานผลประโยชน์ที่กว้างใหญ่ที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (The greatest interests for the greatest numbers) พร้อมกันไปด้วย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเป็นที่รวมของความต้องการร่วมที่ครอบคลุมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งเป็นความต้องการที่มีความแตกต่างและหลากหลายในภาพที่กว้างแต่รวมศูนย์มากกว่าเมื่อเทียบกับความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศซึ่งเป็นความต้องการที่มีความแตกต่าง หลากหลายแต่กระจายตัวตามลักษณะของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างอำนาจทางการเมือง
ในการเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วมของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญ มีสภาพเหมือนรวงรังของผึ้งที่ต้องมีการแบ่งซอยแยกย่อยส่วนต่าง ๆ ของรังผึ้งเพื่อบูรณาการ (integrates) ความหลากหลายให้เป็นองค์รวมเดียวกัน (holistic) โดยมีทั้งส่วนที่เก็บน้ำหวานไว้เป็นอาหาร ส่วนที่เก็บไข่ไว้ฟักเลี้ยงอนุบาลตัวอ่อนและส่วนที่เป็นที่พักอาศัยรวมอยู่ในรังเดียวกัน เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการบูรณาการทั้งความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ ความต้องการของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจในส่วนต่าง ๆ หลายส่วนเข้าเป็นจุดร่วมไว้ในเป้าหมายเดียวกันโดยที่ไม่ให้ขัดแย้งหรือแตกแยกกันไปคนละทาง
จุดเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ในส่วนนี้ก็คือการตระหนักถึงความจำเป็นในการบูรณาการส่วนย่อยภายในของรัฐธรรมนูญให้ประกอบกันเป็นองค์รวมเดียวกัน เพื่อรักษาความเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วมของรัฐธรรมนูญไว้ให้ดำรงคงอยู่และป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้เฉพาะเพียงบางเสี้ยวบางส่วนหรือถูกใช้แบบแยกส่วน (fragementation) เช่น (1) การกำหนดสัดส่วนของความต้องการ (2) การจัดประเภทของความต้องการ (3) การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของความต้องการ (4) การจำแนกส่วนย่อยของความต้องการ และ (5) การเชื่อมประสานข้อต่อความเชื่อมโยงระหว่างส่วนย่อยกับส่วนย่อยด้วยกันเองและระหว่างส่วนย่อยกับส่วนใหญ่ของความต้องการ ทั้งนี้เพื่อจรรโลงรักษาความสมานฉันท์ในการสนองความต้องการร่วมของทุกภาคส่วนให้ดำรงคงอยู่ได้ โดยไม่ล่มสลายหรือแตกแยกออกเป็นเสี่ยง
6. ความเป็นกฎหมาย สิ่งสำคัญสูงสุดของสิ่งที่มีฐานะเป็นกฎ หรือ กฎหมาย ก็คือการไม่สามารถละเมิดได้ ยิ่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ใหญ่ที่สุดและสูงสุดของประเทศยิ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดไม่ได้ถูกละเมิด และขณะเดียวกันในการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญนั้น กลับยิ่งก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่เป็นผลร้ายอย่างกว้างขวางและรุนแรงตามไปด้วย
ดังนั้นรัฐธรรมนูญในฐานะที่มีความเป็นกฎหมายนั้นมีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องดำเนินการเป็นพิเศษในการควบคุมการถูกละเมิดเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายของรัฐธรรมนูญไว้โดยการสร้างมาตรการรองรับในหลายมาตรการด้วยกัน ได้แก่ (1) การทำให้รัฐธรรมนูญมีผลหรือการบังคับใช้ให้เป็นผล ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกทำให้ไร้ผลไปเพราะรัฐธรรมนูญหากไม่ได้ใช้บังคับให้เป็นผลก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีรัฐธรรมนูญและไม่สามารถสร้างพัฒนาการทางการเมืองได้แต่อย่างใด (2) การรักษา รัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดไม่ให้มีกฎหมายอื่นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (3) การรักษา เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกบิดเบือน (4) การรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไม่ให้ รัฐธรรมนูญถูกท้าทายหรือบ่อนทำลายจากอำนาจอิทธิพล (5) การอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศในการใช้รัฐธรรมนูญ (6) การสร้างบรรทัดฐานและธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ รัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกสะกัดกั้นให้เกิดความชะงักงันขาดความสืบเนื่องหรือถูกยกเลิกแก้ไขใหม่อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็น (7) การกำหนดนโยบายในการใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้โดยไร้ประโยชน์และไร้ทิศทาง (8) การกำหนดแนวทางและกระบวนการเฉพาะในการใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้อย่างขาดความศักดิ์สิทธิ์และไร้แบบแผนที่เหมาะสม และ (9) การเสริมสร้างสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญสูญเสียความเด็ดขาดและสูญเสียความเป็นกลไกหลักในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะของรัฐ
4. การตีความรัฐธรรมนูญกับเหตุผลและความจำเป็น
ความจำเป็นในการตีความรัฐธรรมนูญ อาจประมวลได้จากเหตุผลสำคัญด้านต่าง ๆ ใน 6 ประการ คือ
(1) การรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ
(2) การปรับแก้ปัญหาในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้
(3) การสร้างหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
(4) การรักษาความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการ
(5) การรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ
(6) การสร้างพัฒนาการทางการเมือง
1. การรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ การดำรงอยู่ของรัฐจำเป็นต้องมีประชาคมการเมือง (political community) มีระบอบการปกครอง (government regime) และมีอำนาจรัฐบาล (government authority) มารองรับ โดยประชาคมการเมืองนั้นช่วยประสานความเป็นปึกแผ่นของคนในรัฐให้เกิดความร่วมมือและการตกลงใจร่วมกัน (common determination) ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ ส่วนระบอบการปกครองนั้นช่วยกำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้แก่สถาบันทางการเมืองการ ปกครองต่าง ๆ ขณะที่อำนาจรัฐบาลนั้นช่วยสร้างความยอมรับในการจัดสรรประโยชน์สาธารณะให้แก่คนที่อยู่ร่วมกันในประชาคมการเมืองได้
การดำรงอยู่ของรัฐบนฐานการค้ำจุนของประชาคมการเมือง ระบอบการปกครอง และอำนาจรัฐบาลนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการกำกับควบคุมฐานค้ำจุนดังกล่าวให้มีบูรณภาพร่วมกัน (integration) ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ ใน 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ (1) การรักษาระบอบการปกครองให้อยู่ในครรลองของอุดมการณ์หลักทางการเมืองการปกครองของประเทศ (political ideology) โดยการกำกับควบคุมสถาบันทางการเมืองการปกครองให้ดำรงอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์กติกาของการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) (2) การเสริมสร้างประสิทธิภาพของประชาคมการเมือง โดยการช่วยระงับยับยั้งและคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งทางการเมือง และความ ขัดแย้งในผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าปัญหาที่เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างสถาบันทางการเมืองหรือบุคคล หรือปัญหาที่เกิดจากการแข่งขันทางอำนาจ การใช้อำนาจและการเปลี่ยนแปลงอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือปรองดองและขจัดความแตกแยกภายในประเทศ (3) การเสริมสร้างความสามารถทางการปกครองของรัฐบาล โดยการช่วยอำนวยการปกครองให้เกิดดุลยภาพในการจัดระเบียบอำนาจทั้งในการใช้อำนาจและการจัดกรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจในระหว่างองค์กรอำนาจของรัฐบาลด้วยกันเองให้มีความราบรื่น (4) การเสริมสร้างศักยภาพในการประสานประโยชน์สาธารณะของรัฐบาล โดยการช่วยเชื่อมประสานช่องว่างที่เกิดจากความแตกต่างกันในเป้าหมาย ผลประโยชน์และความต้องการระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างส่วนใหญ่กับส่วนย่อย
2. การปรับแก้ปัญหาในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ มีข้อกำหนดการบ่งใช้ที่เข้มงวดอยู่ 2 ประการ คือ (1) การปฏิบัติได้ (practicability) และ (2) การปฏิบัติให้ถูก (constitutionality) กล่าวคือ ในส่วนของการปฏิบัติได้ นั้นเป็นเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีพันธะผูกพันกับผลของการปฏิบัติ หากรัฐธรรมนูญไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลหรือปฏิบัติไม่ได้ก็มีผลไม่ต่างกับการไม่มีรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในส่วนของการปฏิบัติให้ถูกนั้นเป็นเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีพันธะผูกพันกับกรรมวิธีของการปฏิบัติ กล่าวโดยรวมก็คือ ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้นั้นต้องมีการกำกับควบคุมตั้งแต่ในชั้นของวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติด้วยนั่นเอง
ปัญหาสำคัญที่มักจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการใช้รัฐธรรมนูญก็คือปัญหาที่เกิดจากการเอารัฐธรรมนูญไปปฏิบัติให้เกิดผลไม่ได้ และปัญหาที่เกิดจากการเอารัฐธรรมนูญไปปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งในปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวอาจปรากฏเงื่อนปมในรูปของข้อติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น (1) รัฐธรรมนูญคลุมเครือไม่ชัดเจนแปลความได้หลายอย่าง (2) รัฐธรรมนูญมีช่องว่างใช้ได้ไม่ครอบคลุมกับทุกกรณีปัญหา (3) รัฐธรรมนูญมีข้อติดขัดถึงจุดตีบตันใช้ต่อไปไม่ได้ (4) รัฐธรรมนูญไม่ให้วิธีปฏิบัติในการใช้ที่แน่นอนเฉพาะเจาะจง (5) รัฐธรรมนูญไม่กำหนดผลลัพธ์เป้าหมายให้มีขอบเขตที่แน่นอน (6) รัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติไว้กว้างเกิน-แคบเกิน (7) รัฐธรรมนูญไม่ให้แนวทางแก้ไขในการใช้ (8) รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่ขัดกัน (9) รัฐธรรมนูญไม่มีเงื่อนไขบังคับ (10) รัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ (11) รัฐธรรมนูญล้าสมัยไม่ทันสถานการณ์ใหม่ ๆ ในปัจจุบัน (12) รัฐสภาออกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ (13) รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ (14) ศาลตีความกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
ข้อติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนไปรวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาในการทำให้รัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ และปฏิบัติไม่ถูกทั้งสิ้น ดังนั้น ในการรักษารัฐธรรมนูญไว้ให้ปฏิบัติได้ และปฏิบัติให้ถูกก็ต้องคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้คลี่คลายไปได้ในทุก ๆ เงื่อนปม ให้ลุล่วงไปให้ได้ตลอดเวลา และสามารถมีข้อยุติได้ในทุกเงื่อนปมด้วย กล่าวอีกนัยก็คือ บรรดาปัญหาใด ๆ ที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีการแก้ไขให้ได้ใน 2 เงื่อนไขด้วยกัน คือ (1) ต้องแก้ไขให้ได้ในทุกกรณี และ (2) ต้องแก้ไขให้ได้ในทุกเวลา
ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญต้องใช้ได้ทุกกรณี และใช้ได้ตลอดไปตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ก็จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องมีวิธีการจัดการ ซึ่ง (1) หากรัฐธรรมนูญคลุมเครือก็ต้องตีความให้ชัดเจน (2) หากรัฐธรรมนูญมีช่องโหว่ก็ต้องตีความให้อุดช่องโหว่เสีย (3) หากรัฐธรรมนูญมีข้อติดขัดตีบตันก็ต้องตีความให้มีทางออก (4) หากรัฐธรรมนูญไม่กำหนดผลลัพธ์เป้าหมายไว้ให้แน่นอนก็ต้องตีความ รัฐธรรมนูญให้มีการวางขอบเขตเป้าหมายเสีย (6) หากรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติไว้กว้างเกินหรือแคบเกินก็ต้องตีความให้มีกรอบกำหนดขอบเขตไว้ (7) หากรัฐธรรมนูญไม่ให้แนวทางแก้ไขในการใช้ไว้ก็ต้องตีความให้มีทางแก้ขึ้นมา (8) หากรัฐธรรมนูญมีบัญญัติที่ขัดกันก็ต้องตีความให้มีความสอดคล้องเกื้อกูลกัน (9) หากรัฐธรรมนูญไม่มีเงื่อนไขบังคับก็ต้องตีความให้สามารถบังคับได้ (10) หากรัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องตีความให้ปฏิบัติได้ (11) หากรัฐธรรมนูญล้าสมัยก็ต้องตีความให้ทันสมัย (12) หากรัฐสภาออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความลบล้างกฎหมายนั้น (13) หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความให้ลบล้างการใช้กฎหมายนั้น และ (14) หากศาลตีความกฎหมายที่ขัด รัฐธรรมนูญก็ต้องตีความให้ลบล้างการใช้กฎหมายนั้นเสีย ฯลฯ เป็นต้น
ในการแก้ปมปัญหาดังกล่าว ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญต้องใช้ปฏิบัติได้อยู่เสมอ ซึ่งในทางปฏิบัติของการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปมปัญหาเหล่านั้น ก็ย่อมจะต้องมีความเชื่อ พื้นฐานในการยอมรับผลดีของการตีความรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน เช่น (1) การยอมรับว่าผลของการตีความนั้นเป็นการทบทวนทางตุลาการ (judicial review) เพื่อถ่วงรั้งให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกนำไปใช้นอกขอบเขตและผิดพลาดจากวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ (2) การยอมรับว่าผลของการตีความเป็นการสร้างความยืดหยุ่น (flexibility) และเพิ่มความสมบูรณ์ (adjustment) ให้แก่รัฐธรรมนูญได้มากขึ้น และ (3) การยอมรับว่าผลของการตีความนั้นเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ (utility maximization) ในการใช้รัฐธรรมนูญให้สูงขึ้นได้
พื้นฐานการยอมรับดังกล่าวย่อมเปิดกว้างให้การตีความรัฐธรรมนูญนั้นสามารถ ตกแต่งรัฐธรรมนูญ (make up) ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น (1) การก่อผลทางกฎหมาย (law making) จากการตีความรัฐธรรมนูญ (2) การก่อผลทางบรรทัดฐาน (precedent making) จากการ ตีความรัฐธรรมนูญ และ (3) การก่อผลทางธรรมเนียมปฏิบัติ (convention making) จากการตีความรัฐธรรมนูญ
3. การสร้างหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดตามหลักการของกฎหมายมหาชน จำเป็นต้องสร้างมาตรการปกป้อง คุ้มครองความสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น (1) มาตรการป้องกันกฎหมายอื่นไม่ให้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ (2) มาตรการป้องกันไม่ให้องค์กรอำนาจที่ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐได้อำนาจและใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ในการปกป้องคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงยอมรับให้มีสิทธิอำนาจพิเศษขึ้นเพื่อใช้มาตรการดังกล่าวให้บรรลุผลในรูปของการตีความรัฐธรรมนูญ โดยในการใช้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณาอยู่ 4 เกณฑ์ คือ
1) รูปแบบของอำนาจ ได้แก่ การกระจายอำนาจ (decentralization) และการรวมศูนย์อำนาจ (centralization) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยการกระจายอำนาจในรูปขององค์กรศาลทั่วไป และรวมศูนย์อำนาจในรูปของศาลเฉพาะ
2) ฐานะของอำนาจ ได้แก่ อำนาจสูงสุด (supremacy) และอำนาจผสมเพื่อคานดุลย์กัน (sharity) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยการยกให้สถาบันรัฐสภาซึ่งได้รับการยกย่องฐานะอำนาจให้มีความสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) มีฐานะอำนาจสูงสุดเพียงองค์กรเดียว และโดยการคานดุลย์อำนาจกันหลายฝ่ายทั้งฝ่าย รัฐสภา ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ
3) เหตุผลของอำนาจ ได้แก่ อำนาจที่เป็นอิสระ (dependency) อำนาจที่เป็นกลาง (non-partisan) และอำนาจที่มีความชำนัญพิเศษ (specialization) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยอำนาจที่เป็นอิสระจากการผูกพันกับอำนาจการเมือง อำนาจที่เป็นกลางปลอดจากการเป็นฝักฝ่ายกับอิทธิพล พวกพ้องและผลประโยชน์ และอำนาจที่มีความชำนาญการเป็นกรณีพิเศษเฉพาะด้าน
4) ผลบังคับของอำนาจ ได้แก่ ผลบังคับเด็ดขาดและผลบังคับไม่เด็ดขาด เช่นการให้สิทธิอำนาจพิเศษในการตีความรัฐธรรมนูญโดย การให้มีผลบังคับสูงสุดเด็ดขาดโดยการตีความครั้งเดียว และการให้มีผลบังคับโดยการตีความมากกว่าหนึ่งครั้ง
4. การรักษาความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการ รัฐธรรมนูญถูกใช้ให้เป็นแกนร่วมของรัฐในหลายแขนงด้วยกัน ได้แก่ (1) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาการปกครองโดยกฎหมายตามกรอบของนิติรัฐ (Legal State) (2) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาความยุติธรรม ในการปกครองของรัฐตามกรอบของธรรมรัฐ (Good Governance) (3) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศตามกรอบของรัฐชาติ (Nation State) และ (4) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายของประชาชนตามกรอบของประชารัฐ (Civil State)
ในฐานะที่รัฐธรรมนูญถูกใช้ให้เป็นแกนร่วมของรัฐในหลายแขนงดังกล่าว ได้กำหนดภาระผูกพันโดยอัตโนมัติให้การใช้รัฐธรรมนูญต้องสามารถสนองประโยชน์ต่อรัฐได้อย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกแขนงพร้อม ๆ กัน ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะด้านการปกครองโดยกฎหมายตามกรอบของนิติรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขยายผลให้ครอบคลุมทั้งด้านการรักษากฎหมาย การรักษาความยุติธรรม การรักษาประโยชน์แห่งชาติ และการรักษาสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายของประชาชนพร้อมกันไปด้วย
ในการใช้รัฐธรรมนูญให้สามารถสนองประโยชน์ในกรอบของเป้าหมายร่วมดังกล่าว จำเป็นต้องมีองค์กรควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลในรูปของการผลิตความยุติธรรมสาธารณะแบบบูรณาการ (Integration) เพื่อถ่วงดุลย์น้ำหนักและจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์เป้าหมายแบบองค์รวม (holistic) ไม่จำกัดเฉพาะส่วน (partial) เพียงแขนงใดแขนงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถสนองประโยชน์ที่แท้จริงในกรอบที่เป็นเป้าหมายรวมของรัฐได้
5. การรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญหากจะนำไปใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง และใช้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดผลต่อการสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองได้ สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงก็คือ (1) ต้องมีการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และ (2) ต้องมีการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญให้ได้นำไปใช้อย่างต่อเนื่อง
ในการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่องจนสามารถก่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองใหม่ ๆ ได้นั้น มีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการขึ้นมารองรับการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญ (1) ถูกใช้โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (2) ถูกใช้โดยติดขัดหยุดชะงักและถูกยกเว้น (3) ถูกใช้โดยต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เฉพาะส่วน และ (4) ถูกใช้โดยยกเลิกและทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ
การทำให้รัฐธรรมนูญมีเสถียรภาพต้องคำนึงถึงทั้งการรักษารัฐธรรมนูญให้นำไปใช้ให้ได้ผลตามรัฐธรรมนูญ และใช้ให้รัฐธรรมนูญมีความต่อเนื่องด้วย ดังนั้น มาตรการที่นำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องครอบคลุมในองค์ประกอบ 3 ประการ คือ (1) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านเจตนารมณ์ (2) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านเนื้อหา และ (3) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านการดัดแปลงให้สามารถปรับใช้ได้กับ ทุกสถานการณ์และสามารถสนองตอบความต้องการใหม่ได้อยู่เสมอ
6. การสร้างพัฒนาการทางการเมือง ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกลไกขับเคลื่อนวิวัฒนาการทางการเมืองตามแนวคิดของสำนักลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมนั้น จะต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักของการพัฒนาทางการเมืองใน 2 ส่วนพร้อมกัน คือ (1) ส่วนของวิธีการ (means) และ (2) ส่วนของเป้าหมาย (ends) ทั้งนี้ เพราะในการพัฒนาการเมืองตามแนวทางของการปฏิรูปซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องกำหนดกติกาในการพัฒนานั้น ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาทางการเมืองตั้งแต่ต้น
ดังนั้น ในการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาทางการเมืองดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับทั้งในส่วนของวิธีการและส่วนของเป้าหมายในการใช้รัฐธรรมนูญไป พร้อม ๆ กัน เช่น (1) มาตรการในการดำรงรักษาสถานะของรัฐธรรมนูญให้เป็นกติกาหลักของการ ปกครองและการปฏิรูปการเมือง (2) มาตรการในการขับเคลื่อนการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามครรลองของหลักการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ และ (3) มาตรการในการกำกับควบคุมทิศทางของเป้าหมาย ในการใช้รัฐธรรมนูญให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการเมือง กล่าวอีกนัยก็คือ การมีมาตรการ ในการกำกับควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามครรลองและเป้าหมายในการปฏิรูปการเมืองของ รัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งก็คือ นอกจากการกำกับควบคุมให้การใช้รัฐธรรมนูญถูกต้องตามครรลองของ วิธีการแล้ว ยังจำเป็นต้องกำกับควบคุมให้การใช้รัฐธรรมนูญนั้นบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญด้วย
การกำกับควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้ได้ทั้งครรลองของวิธีการที่ถูกต้อง และได้ทั้งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวใน 3 ด้านด้วยกัน คือ (1) การตีความเพื่อแสวงหาจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ (2) การตีความเพื่อแสวงหากระบวนวิธีในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ และ (3) การตีความเพื่อแสวงหากลไกปฏิบัติในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ
กรณีของการตีความเพื่อแสวงหาจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) จุดมุ่งหมายในการสร้างความชอบธรรมของผู้ปกครอง (2) จุดมุ่งหมายในการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ (3) จุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและ เสถียรภาพของระบบการเมือง ฯลฯ เป็นต้น
กรณีของการตีความเพื่อแสวงหากระบวนวิธีในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) กระบวนวิธีในการบังคับใช้กฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (2) กระบวนวิธีในการกำกับควบคุมพฤติกรรมทางอำนาจของผู้ปกครองทั้งการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจและการพ้นจากอำนาจ และ (3) กระบวนวิธีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ฯลฯ เป็นต้น
กรณีของการตีความเพื่อแสวงหากลไกปฏิบัติในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) กลไกในการใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง (2) กลไกในการใช้รัฐธรรมนูญโดยอ้อม (3) กลไกในการก่อผลกระทบและรับผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญ และ (4) การระงับข้อพิพาทระหว่างกลไกที่ใช้และตีความรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
5. การตีความรัฐธรรมนูญกับทฤษฎีและหลักการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
องค์ความรู้เกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญ (interpretation of constitution) ได้มี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชนหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองศาสตราจารย์ ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ประมวลไว้ทั้งในรูปที่เป็นหลักการและทฤษฎี ซึ่งในที่นี้จะได้นำเสนอในหลักการและทฤษฎีที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและเป็นประสบการณ์ที่ได้มาจากการปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. หลักการตีความรัฐธรรมนูญ หลักการตีความรัฐธรรมนูญมีการประมวลไว้ในหลายหลักการด้วยกัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงไว้โดยย่อดังต่อไปนี้ คือ
1) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยการประยุกต์เทียบเคียง 2 ทั้งนี้โดยมี หลักการสำคัญ คือ (1) การประยุกต์กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยคำนึงถึงทั้งบทบัญญัติตามตัวอักษรและความมุ่งหมาย (spirit) ของบทบัญญัติ การค้นหากฎหมายตามลำดับก่อนหลังและการอุดช่องว่างของกฎหมาย (2) การประยุกต์กับหลักเกณฑ์ทางการเมือง และความมุ่งหมายพิเศษเฉพาะของรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองและคำปรารภของ รัฐธรรมนูญ (3) การประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์อนาคต โดยคำนึงถึงการสนองตอบต่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างทันสมัย (4) การประยุกต์กับแนวคิดทางรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงปรัชญาของการมีรัฐธรรมนูญ และ (5) การประยุกต์กับหลักนิติธรรม โดยคำนึงถึงความยุติธรรมตามธรรมชาติ
2) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยการสืบค้นเจตนารมณ์และหลักการ ตีความกฎหมายทั่วไป 3 ซึ่งมีทั้งเจตนารมณ์หลักและเจตนารมณ์สาขาของรัฐธรรมนูญ ดังเช่น กรณีของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) สามารถสืบค้นเจตนารมณ์ได้จากหลายแหล่งด้วยกัน คือ (1) เอกสาร กรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสภาร่างรัฐธรรมนูญ (3) รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสภาร่างรัฐธรรมนูญ (4) เอกสาร ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
พร้อมด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
สภาร่างรัฐธรรมนูญ (5) รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (6) รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (7) รายงานการสำรวจและรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งประชาพิจารณ์ของคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ (8) รายงานของสภาร่าง รัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภา และ (9) รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาด้วยวิธีการพิจารณาจากส่วนต่าง ๆ
ของรัฐธรรมนูญเองด้วย เช่น (1) การค้นหาจากส่วนที่เป็นคำปรารภ หรือหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม และ (2) การค้นหาจากการเทียบเคียงบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ จากรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า หลักการ ร่วมกันของบทบัญญัติต่าง ๆ ที่แยกกันอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ เช่น หลักสุจริต ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับวิธีการนำหลักการตีความกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น 4 เป็นการให้ความสำคัญกับการตีความโดยอาศัยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 6 วิธีการ คือ (1) การตีความ ขยายโดยใช้การเทียบเคียงสิ่งที่เหมือนกัน (2) การตีความโดยใช้หลักยิ่งต้องเป็นไปเช่นนั้น (ตัวอย่างเช่น หากกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามเด็ดดอกไม้ ดังนั้นการตัดต้นไม้ก็ยิ่งต้องห้ามไปด้วย) (3) การตีความโดยใช้หลักตีความกลับกัน (4) การตีความโดยใช้หลักอุปนัย (5) การตีความโดยใช้หลักนิรนัย (6) การตีความโดยใช้หลักสุภาษิตกฎหมาย (ตัวอย่างเช่น การไม่ตีความกฎหมายให้มีข้อความคลุมเครือให้ไร้ผลบังคับหรือให้เกิดผลประหลาด หรือการตีความโดยเคร่งครัดในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นและจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการไม่ใช้บทบัญญัติทั่วไปบังคับกับกรณีที่มีบทบัญญัติเฉพาะอยู่แล้ว หรือการยกเอาความจำเป็นอยู่เหนือกฎหมาย หรือกรณีกฎหมายที่ฐานะเท่ากัน กฎหมายที่ออกทีหลังย่อม ถูกยกเว้น หรือกฎหมายที่ฐานะสูงกว่าย่อมใช้ได้หากขัดกับกฎหมายที่ฐานะต่ำกว่า
3) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยหลักทั่วไปและหลักเฉพาะในการตีความรัฐธรรมนูญ 5 หลักทั่วไปมีอยู่ 5 วิธี คือ (1) การตีความตามลายลักษณ์อักษร หรือการตีความทางไวยากรณ์ (2) การตีความอย่างเป็นระบบโดยเทียบเคียงกับบทบัญญัติในมาตราอื่นไม่ให้ขัดแย้งกัน (3) การตีความทางประวัติศาสตร์ โดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมา (4) การตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ (5) การตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ส่วนหลักเฉพาะมีอยู่ 4 หลัก คือ (1) หลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ โดยไม่กระทบถึงหลักอื่น ๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ (2) หลักการนำไปปฏิบัติได้และดีที่สุด (3) หลักความถูกต้องในหน้าที่ขององค์กรอำนาจด้านต่าง ๆ ทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ และ (4) หลักการบังคับได้ โดยให้มีผลบังคับมากที่สุด
2. ทฤษฎีการตีความรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีการตีความรัฐธรรมนูญ จะได้กล่าวถึง โดยย่อดังต่อไปนี้ คือ
1) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยทฤษฎีของ Louis Fisher 6 ตามทฤษฎีของ Louis Fisher มี 4 วิธี คือ (1) การตีความตามตัวอักษร (literalist approach) โดยเน้นการ ตีความตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด (2) การตีความตามกฎหมายธรรมชาติ (natural approach) โดยเน้นการใช้กฎหมายตามธรรมชาติเป็นบรรทัดฐานอ้างอิง (3) การตีความตามประวัติศาสตร์ (historical approach) โดยเน้นการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานประกอบการตีความ และ (4) การตีความโดยการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (electic approach) โดยเน้นการแสวงหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือดีที่สุดเป็นกรอบกำหนดทางเลือกในการตีความ
2) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยทฤษฎีของ William C. Louthan 7 ตามทฤษฎีของ William C. Louthan มี 4 วิธี คือ (1) การตีความตามทฤษฎีการพรรณนา (legalistic - descriptive) โดยเน้นการแสวงหาเหตุผลประกอบการตีความจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น เหตุผลจากเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย เหตุผลจากถ้อยคำของภาษา เหตุผลจากวิธีการทางตรรกวิทยา และเหตุผลจากเหตุการณ์แวดล้อม (2) การตีความตามทฤษฎีการบัญญัติหรือปรับเปลี่ยน (legalistic - prescriptive) โดยเน้นการขยายความและยืดหยุ่นผ่อนปรนในการใช้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับเหตุการณ์แต่ละกรณี (3) การตีความตามทฤษฎีการทำนาย (behavioral - predictive) โดยเน้นการใช้ฐานของประสบการณ์ดั้งเดิมเป็นตัวแปรกำหนดการใช้ดุลพินิจในการตีความ และ (4) การตีความตามทฤษฎีอธิบายพฤติกรรม (behavioral - expositive) โดยเน้นการยอมรับอิทธิพลจากภูมิหลังด้านต่าง ๆ ของผู้ตีความเองเป็นปัจจัยกำหนดแนวโน้มของผลลัพธ์ในการตีความรัฐธรรมนูญ
เชิงอรรถ
* ข้อคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมิจำต้องผูกพันและเห็นพ้องด้วย
[กลับไปที่บทความ]
2. โปรดดูเพิ่มเติมใน วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530) หน้า 763-782
[กลับไปที่บทความ]
3. โปรดดูเพิ่มเติมใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของ คุรุสภา, 2545) หน้า 39-119
[กลับไปที่บทความ]
4. โปรดดูเพิ่มเติมใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า 100-109
[กลับไปที่บทความ]
5. กมลชัย รัตนสกาววงศ์, หลักการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ. (บทบรรยายโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2542)
[กลับไปที่บทความ]
6. โปรดดูเพิ่มเติมใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, วิธีพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย วารสารศาลรัฐธรรมนูญ (ปีที่ 2 เล่มที่ 5 พฤษภาคม - สิงหาคม 2543) หน้า 52-59
[กลับไปที่บทความ]
7. อ้างแล้ว, หน้า 42-51
[กลับไปที่บทความ]
เอกสารอ้างอิง
- กมลชัย รัตนสกาววงศ์, หลักการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ (บทบรรยายโครงการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2542)
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545)
- วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, วิธีพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย วารสารศาลรัฐธรรมนูญ (ปีที่ 2 เล่มที่ 5 พฤษภาคม - สิงหาคม 2543)
- วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530)
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
|