รัฐธรรมนูญ : ทำไมต้องตีความ

9 มกราคม 2548 01:50 น.

                   
        ในบทความนี้ได้แบ่งการนำเสนอเนื้อหาสำคัญไว้เป็น 5 ส่วน คือ (1) การตีความ รัฐธรรมนูญกับพัฒนาการการตีความอำนาจของผู้ปกครอง (2) การตีความรัฐธรรมนูญกับที่มาแห่ง เหตุปัจจัยให้ต้องตีความ (3) การตีความรัฐธรรมนูญกับเงื่อนปมแห่งสถานะเฉพาะของความเป็น รัฐธรรมนูญ (4) การตีความรัฐธรรมนูญกับเหตุผลและความจำเป็น และ (5) การตีความรัฐธรรมนูญกับทฤษฎีและหลักการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
       
       1. การตีความรัฐธรรมนูญกับพัฒนาการการตีความอำนาจของผู้ปกครอง
                   
        รัฐ (state) ในฐานะที่เป็นประชาคมการเมือง (political community) ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่มีรัฐธรรมนูญ (constitution) หรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตามย่อมจะต้องมีระบอบการเมืองการ ปกครอง (political regime) และมีผู้ใช้อำนาจการปกครองหรือรัฐบาล (government) เป็นองค์ประกอบร่วมอยู่เสมอ และในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองของผู้ปกครองนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามแบบแผนของบรรทัดฐานอ้างอิงที่กำหนดไว้โดยระบอบการเมืองการปกครองด้วยเช่นกัน
                   
        สำหรับรัฐสมัยโบราณที่ยังไม่มีการใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนกับรัฐสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน ระบอบการเมืองการปกครองมักจะถูกกำหนดโดยหลักความเชื่อของผู้มีอิทธิพลสูงสุดของสังคมในขณะนั้น ซึ่งมีทั้งผู้มีอิทธิพลในฝ่ายศาสนจักร และผู้มีอิทธิพลในฝ่ายอาณาจักร โดยที่บรรทัดฐานหลักในการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองหรือรัฐบาล นั้น มักจะอ้างอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรม (legitimacy) เป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันนั้น ระบอบการเมืองการปกครองกลับถูกกำหนดโดยบทบัญญัติและธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร (written constitution) และรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณี (unwritten constitution) โดยที่บรรทัดฐานหลักในการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองหรือรัฐบาลนั้นมักจะอ้างอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความชอบด้วยกฎหมาย (legality) และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) เป็นสำคัญ
                   
        ความแตกต่างของบรรทัดฐานการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองระหว่างรัฐสมัยโบราณที่ตั้งอยู่บนฐานของการอ้างอิงความชอบธรรม กับรัฐสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของการ อ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้วสาระสำคัญของปัจจัยกำหนดความแตกต่างอยู่ที่เงื่อนไขในการให้การยอมรับอำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ หากจะกล่าวโดยเปรียบเทียบก็คือ ในรัฐสมัยโบราณซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยคน (rule of men) นั้น ให้การยอมรับอำนาจที่เกิดจากตัวของผู้ปกครองโดยตรง อำนาจของผู้ปกครองจึงถือเสมือนกับรัฐธรรมนูญได้ในตัวของมันเอง และในขณะเดียวกันในรัฐสมัยใหม่ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) รัฐธรรมนูญ กลับถือเสมือนอำนาจของผู้ปกครองเพราะรัฐสมัยใหม่ให้การยอมรับอำนาจที่เกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ใช่ เกิดจากตัวผู้ปกครองเอง
                   
        กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยโบราณนั้น อำนาจของ ผู้ปกครองก็ถือเสมือนบ่อเกิดของรัฐธรรมนูญ โดยที่ยึดหลักความชอบธรรมเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครอง ส่วนระบอบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่นั้น รัฐธรรมนูญก็ถือเสมือนบ่อเกิดอำนาจของผู้ปกครอง โดยที่ยึดหลักความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครอง
                   
        กรณีที่รัฐสมัยโบราณถือปฏิบัติในการยอมรับอำนาจของผู้ปกครองและการรักษาหลักความชอบธรรมในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น ก็คือหลักความเชื่อตามคติของผู้มีอิทธิพลสูงสุดในสังคม เช่น หากเป็นหลักความเชื่อตามคติของผู้มีอิทธิพลฝ่ายศาสนจักร หลักธรรมทางศาสนาก็จะเป็นแหล่งกำหนดเงื่อนไขการยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งก็คือ การแต่งตั้งผู้ปกครองโดยผู้นำสูงสุดฝ่ายศาสนจักรเป็นผู้กำหนดขึ้น หรือทำพิธีให้ซึ่งอาจปรากฏในรูปของการสวมมงกุฎเพื่อรับรองการขึ้นสู่อำนาจของผู้ปกครอง ส่วนบรรทัดฐานอ้างอิงความชอบธรรมของผู้ปกครอง อาจกำหนดขึ้นมาจาก หลักธรรมทางศาสนาโดยประยุกต์ให้เข้ากับเงื่อนไขทางการเมืองในรูปของธรรมะของผู้ปกครอง หรือ ที่เรียกว่า ธรรมราชา (King of Righteousness) ดังนั้น การมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองจะมีความชอบธรรมเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ปกครองสามารถยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมและประยุกต์หลักธรรมทางศาสนานั้นให้สอดคล้องกับปัญหาทางการเมืองและความต้องการของสังคมได้มากน้อยเพียงใดนั่นเอง
                   
        การตีความอำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งถือเสมือนการตีความรัฐธรรมนูญว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการประเมินความพึงพอใจของประชาชน และความพึงพอใจของผู้นำสูงสุดฝ่ายศาสนจักร โดยประชาชนจะตีความจากความสามารถของผู้ปกครองในการนำหลักธรรมมาใช้ประยุกต์เป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ส่วนผู้นำฝ่าย ศาสนจักรก็จะตีความจากการยึดมั่น หลักธรรมของผู้ปกครองในการใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง
                   
        นอกจากนี้ หากเป็นหลักความเชื่อตามคติแบบเทวราชา (The Devine Rights of the King) อำนาจของผู้ปกครองก็ถือว่ามาจากสรวงสวรรค์เป็นผู้ให้มา ซึ่งกำหนดโดยเทวดา หรือ พระเจ้า (God) ตามคติแบบเหนือมนุษย์เหนือธรรมชาติ (metaphysics) ความสามารถของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการรับใช้โองการของสวรรค์ เพื่อทำให้บ้านเมืองมีความผาสุขร่มเย็น ไม่มีโจรผู้ร้าย ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน ดังนั้นการตีความอำนาจของ ผู้ปกครองว่า มีความชอบธรรมหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับภาวะธรรมชาติของดินฟ้าอากาศในขณะนั้นซึ่งถ้าหากมีเหตุเพทภัยให้เกิดภาวะวิปริตของดินฟ้าอากาศจนเป็นเหตุให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีได้ ก็หมายถึงว่าผู้ปกครองอาจขัดกับโองการของสวรรค์หรือไม่สามารถสนองโองการของสวรรค์ได้ จึงตกอยู่ในภาวะที่ขาดความชอบธรรมในการมีและใช้อำนาจตามไปด้วย
                   
        สำหรับกรณีของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้รัฐธรรมนูญกันอย่างแพร่หลายแล้วนั้น อาศัยบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ และอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตประเพณีของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องมือในการยอมรับการมีและการใช้อำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ส่วนในการตีความอำนาจของผู้ปกครองก็เช่นเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญว่าการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้นมีความชอบตามกฎหมายและมีความชอบตาม รัฐธรรมนูญหรือไม่ แทนที่จะอาศัยหลักความเชื่อตามคติแบบต่าง ๆ และการอ้างอิงบรรทัดฐานด้านความชอบธรรมตามคติความเชื่อนั้น ๆ เหมือนกับวิธีปฏิบัติของรัฐในสมัยโบราณ
                   
        อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีการใช้รัฐธรรมนูญและต้องมีการตีความ รัฐธรรมนูญ (interpretation of the constitution) ด้วยนั้น ย่อมต้องกำหนดระเบียบวิธี (method) ในการตีความที่แตกต่างไปจากกรณีของรัฐสมัยโบราณด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความต้องการของแต่ละประเทศ สำหรับรูปแบบการตีความรัฐธรรมนูญที่มีการใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ นั้น มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน 1 คือ (1) การอาศัยรูปแบบของศาลสูงสุด (Supreme Court) (2) การอาศัย รูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Constitutional Tribunal) และ (3) การอาศัยรูปแบบของศาล รัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)
       
       2. การตีความรัฐธรรมนูญกับที่มาแห่งเหตุปัจจัยให้ต้องตีความ
                   
        รัฐธรรมนูญถือเป็นศูนย์รวมของบรรดาสิ่งที่เรียกว่ามีความสูงสุดในทุก ๆ เรื่องของรัฐไว้และมีบทบาทในการสร้างผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของรัฐในวงกว้าง และในขณะเดียวกัน ผลกระทบเหล่านั้น ก็ได้ขยายวงครอบคลุมไปถึงการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของรัฐด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐธรรมนูญ
       จึงถูกจัดวางให้มีตำแหน่งแห่งที่อันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งเมื่อเทียบกับบรรดาสถาบันทางการเมืองการ ปกครองทั้งหลายของประเทศ
                   
        ในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญให้มีฐานะอันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งนั้น นอกเหนือจากการวางหลักการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ (The Rule of Law) ของรัฐต่าง ๆ แล้ว ก็ยังสามารถพบเห็นได้จากกรณีอื่นที่มีการยกฐานะความสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้ให้มีความสูงเด่นเป็นพิเศษในหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ (1) การเป็นกฎหมายสูงสุด หรือเป็นกฎหมายที่กฎหมายอื่นขัดหรือแย้งไม่ได้ (supreme law) (2) การเป็นกฎหมายสร้างอธิปไตยสูงสุด (ultimate of sovereignty) (3) ความสูงสุดของการเป็นกฎหมายหรือเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่ากฎหมายอื่น (supremacy of law) (4) การเป็นกฎหมายกำหนดรากฐานทางการเมืองการปกครองของประเทศ (fundamental law) (5) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ (constitutionalism) ซึ่งครอบคลุมทั้งการจำกัดควบคุมอำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (6) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุอุดมการณ์สูงสุดทางการเมืองการปกครองของสังคมคอมมิวนิสต์ (constitution - program) ซึ่งครอบคลุมถึงการกำกับแผนงานโครงการของรัฐให้สนองเป้าหมายนโยบายที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดไว้ และ (7) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมและการเมืองของระบอบสังคมนิยม (constitution - politics and societies) ซึ่งครอบคลุมถึงการกำกับควบคุมกลไกการเมืองการปกครองให้สามารถรับใช้หรือสนองตอบต่อเป้าหมายสูงสุดของสังคมตามกรอบนโยบายแบบสังคมนิยม
                   
        ด้วยการจัดวางตำแหน่งแห่งที่อันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้เกิดเงื่อนไขอันเป็นเหตุปัจจัยกำหนดที่มาของการตีความรัฐธรรมนูญใน 4 เหตุปัจจัยด้วยกัน คือ
                   
        (1) เหตุปัจจัยจากภายในรัฐธรรมนูญ
                   
        (2) เหตุปัจจัยจากภายนอกรัฐธรรมนูญ
                   
        (3) เหตุปัจจัยในการใช้รัฐธรรมนูญผลักดันอิทธิพล
                   
        (4) เหตุปัจจัยในการใช้อิทธิพลผลักดันรัฐธรรมนูญ
       
                   
        1. เหตุปัจจัยจากภายในรัฐธรรมนูญ คือ เหตุปัจจัยที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ นั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของแนวคิดแบบลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญสามารถสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองได้ ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้เกิดผลทางปฏิบัติเป็นเบื้องต้นด้วย
                   
        ความเชื่อมั่นในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดผลตามรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างหลักประกันไว้รองรับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในกระบวนการนำรัฐธรรมนูญไปใช้นั้น จะนำไปสู่การเกิดผลตามรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง และหลักประกันดังกล่าวก็คือ หลักปฏิบัติที่เรียกว่า ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) นั่นเอง
                   
        แนวปฏิบัติที่นำไปใช้เพื่อควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อไม่ให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญไม่ว่าการละเมิดโดยวิธีการใช้รัฐธรรมนูญ (means) หรือการละเมิดโดยผลของการใช้รัฐธรรมนูญ (ends) ก็ตาม
                   
        มาตรการที่ใช้ในการปกป้องคุ้มครองการละเมิดรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งในการควบคุมผู้ใช้รัฐธรรมนูญนั้นสามารถกระทำได้ใน 2 มาตรการด้วยกันคือ (1) การควบคุมฐานะทางอำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และ (2) การควบคุมการใช้อำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ
                   
        ในการควบคุมฐานะทางอำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิด รัฐธรรมนูญโดยวิธีการใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือต้นทางของการป้องกันรัฐธรรมนูญมิให้ ถูกละเมิดในลำดับต้น กล่าวคือ เป็นการป้องกันมิให้ผู้ไม่มีฐานะอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น สถาบันนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมายแต่กลับเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายเสียเอง หรือในทางกลับกัน สถาบันตุลาการซึ่งมีหน้าที่ตีความกฎหมายแต่กลับออกกฎหมายเสียเอง เป็นต้น
                   
        ส่วนในการควบคุมการใช้อำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิด รัฐธรรมนูญ โดยผลของการใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นจุดปลายทางของการทบทวนผลจากการใช้ รัฐธรรมนูญ หรือเป็นการป้องกันควบคุมที่ปลายทางของการใช้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นการป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจใช้รัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้นั้นก่อผลเสียต่อรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น สถาบันนิติบัญญัติซึ่งมีอำนาจออกกฎหมาย แต่กฎหมายที่สถาบันนิติบัญญัติออกมาใช้นั้นเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับสถาบันบริหารและสถาบันตุลาการที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายตามลำดับ แต่การใช้อำนาจนั้นเป็นการใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมาย และ ตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
                   
        2. เหตุปัจจัยจากภายนอกรัฐธรรมนูญ คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้องหรือเกิดขึ้นตามมาพร้อมกับการใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้ในการวางกรอบเค้าโครงการใช้อำนาจของสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นกติกาสูงสุดในการปกครอง ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญถูกใช้เพื่อวางกติกาหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีผลให้สถาบันทางการเมืองการปกครองทั้งหลายในระบบการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องมีการจำกัดควบคุมอำนาจให้เป็นไปตามกรอบกำหนดของ รัฐธรรมนูญด้วย เช่นเดียวกันกับการปกครองในระบอบสังคมนิยม และระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐธรรมนูญ จะต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุจุดมุ่งหมายทางสังคมและการเมืองตามเป้าหมายอุดมการณ์ทางการเมืองของระบบการเมืองนั้น
                   
        การที่ระบบการเมืองต้องอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองทั้งหลาย และในขณะเดียวกันระบบการเมือง โดยเฉพาะระบบทางการเมืองที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบที่จำเป็นต้องจำกัดควบคุมอำนาจด้วยนั้น ย่อมส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อไปถึงความจำเป็นในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อกำกับควบคุมการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองในทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วย
                   
        ในการจำกัดควบคุมอำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครอง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมนั้น เป้าหมายหลักมิได้เป็นมาตรการเชิงรับเพื่อการปกป้องคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเองโดยตรง แต่เป็นมาตรการเชิงรุกที่จะใช้รัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองสถาบันทาง การเมืองการปกครองด้วยกันเองและปกป้องคุ้มครองประชาชนจากสถาบันทางการเมืองการปกครองเป็นเป้าหมายสำคัญ
                   
        มาตรการดังกล่าวจึงมุ่งไปที่การกำหนดขอบเขตอำนาจที่แน่นอนของสถาบันทางการเมืองการปกครองไว้ และการกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองการปกครองเหล่านั้นไว้ให้มีทิศทางที่ชัดเจนด้วย เหมือนกับการออกแบบรถยนต์ไว้ให้มีพิกัดความเร็วสูงสุด ที่แน่นอนไว้ ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเส้นทางที่รถยนต์สามารถใช้วิ่งได้ให้มีความชัดเจนพร้อมกันไปด้วย
                   
        ผลจากการจำกัดควบคุมอำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองดังกล่าว อาจเทียบได้กับการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนหรือประชาชนไม่ให้ถูกรถชน หรือ คุ้มครองไม่ให้รถชนกันเองด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นคนละเป้าหมายกันกับการปกป้องคุ้มครองกฎจราจรหรือการปกป้องคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเอง
                   
        3. เหตุปัจจัยในการใช้รัฐธรรมนูญผลักดันอิทธิพล คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากผู้ใช้ รัฐธรรมนูญมุ่งหวังผลลัพธ์และผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ จึงต้องการแปลงรัฐธรรมนูญให้เกิดผลเชิงนโยบาย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเองมีสถานะที่มีความเป็นนามธรรม (abstract) และ มีความสถิตย์อยู่คงที่ (static) แต่เมื่อรัฐธรรมนูญถูกใช้เมื่อใดสถานะของรัฐธรรมนูญก็จะเปลี่ยนจากภาวะนามธรรมไปเป็นรูปธรรม (concrete) และเปลี่ยนจากความสถิตย์อยู่คงที่ไปเป็นภาวะพลวัต (dynamic) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญจะถูกผันแปรสภาพไปตามสภาพการใช้ (implementation) นั่นเอง ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขพื้นฐานของความต้องเป็นไปเช่นนั้น (suchness) ที่ว่า รัฐธรรมนูญจะถูกใช้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะถูกตีความว่าอย่างไร
                   
        ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเองจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ความหมายของรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญนั้นถูกเอาไปใช้และตีความ ดังนั้น หากผู้ใช้มุ่งหวังผลเชิงนโยบายให้เกิดเป้าหมายเช่นไรหรือมุ่งหวังให้มีผลลัพธ์และผลกระทบเช่นไร ผู้ใช้รัฐธรรมนูญก็จะตีความรัฐธรรมนูญและใช้รัฐธรรมนูญไปตามทิศทางของเงื่อนไขนั้น ซึ่งโดยรวมถือว่าเป็นการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อผลักดันให้เกิดอิทธิพลอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้นั่นเอง
                   
        แนวทางในการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญจากเหตุปัจจัยดังกล่าวจึงมุ่งเป้าไปที่การ ควบคุมการใช้ดุลพินิจการตีความรัฐธรรมนูญของผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้นมาตรการในการรองรับแนวทางดังกล่าว จงต้องเปิดโอกาสให้ผู้รับผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ โดยตรง และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องให้มีการทบทวนหรือตีความใหม่เพื่อแก้ไขใหม่ได้ด้วยหากการโต้แย้งนั้นได้รับการพิสูจน์และยืนยันผลจนเป็นที่ยุติจากองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการตีความชั้นสุดท้ายแล้วอย่างเช่นองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
                   
        4. เหตุปัจจัยในการใช้อิทธิพลผลักดันรัฐธรรมนูญ คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากผู้อื่นที่มีส่วนได้เสียจากการใช้รัฐธรรมนูญ แต่มิได้เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญเองโดยตรง มีเป้าหมายเชิงนโยบายต่อผู้ใช้รัฐธรรมนูญและมีความประสงค์ที่จะสร้างอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญเองโดยตรงก็ตาม เพื่อหวังผลลัพธ์หรือผลกระทบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น ให้มีการงดการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือทำให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกใช้ให้มีผลทางปฏิบัติได้ หรือให้ใช้รัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับตนหรือเป็นโทษกับคนอื่น หรือแม้แต่การเรียกร้องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญไปในที่สุด
                   
        จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการถูกทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของรัฐธรรมนูญและทำให้รัฐธรรมนูญไร้ผลได้ในที่สุด กล่าวอีกนัยก็คือ การทำให้รัฐธรรมนูญตกอยู่ในสภาพที่ชำรุด เสียหาย หรือใช้การไม่ได้ (defunct) นั่นเอง เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญถูกแทรกแซงและถูกกำกับครอบงำจากอิทธิพลภายนอกซึ่งส่งผลต่อการทำลายตัวรัฐธรรมนูญโดยตรง
                   
        กรณีเช่นนี้ต้องมีมาตรการในการรักษาความเที่ยงตรงในหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้ (principle maintenance) โดยการควบคุมสภาพการบังคับใช้ หรือการใช้บังคับได้ของรัฐธรรมนูญ (enforcement control) ให้มีความต่อเนื่อง (continuity) และไม่มีช่องว่างหรือช่องโหว่ ในการใช้ รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องสร้างกลไกและช่องทางให้มีการป้องกันตัวเอง (self defense) ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างกลไกในการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญในฝ่ายที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ จากรัฐธรรมนูญและมีความชำนาญพิเศษ ทั้งนี้เพื่อช่วยรองรับความต่อเนื่องของการใช้ รัฐธรรมนูญไว้ได้ ในรูปของการสร้างบรรทัดฐานในการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ หรือในรูปของการวางแนวธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ (constitutional conventions)
                   
        ในการพื้นฟูความชำรุดเสียหายของรัฐธรรมนูญที่เกิดจากอิทธิพลที่มุ่งผลต่อการทำร้ายรัฐธรรมนูญให้มีความเบี่ยงเบนชะงักงันหรือไม่ให้มีผลใช้บังคับในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น หากจะให้รัฐธรรมนูญกลับฟื้นคืนสภาพและสามารถมีผลบังคับใช้ได้ต่อไปแล้ว คงไม่สามารถบำบัดแก้ไขได้โดยอาศัยการขจัดอิทธิพลที่เข้ามากระทบต่อรัฐธรรมนูญให้หมดไปได้โดยตรง เพราะอิทธิพลดังกล่าวเป็นสภาพการณ์ปกติทางสังคม - การเมือง (socio - politics) ทั่วไปที่ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถสร้างความเห็นพ้องร่วม (consensus) ในรัฐธรรมนูญได้อย่างเบ็ดเสร็จ (absolute) หรือสามารถประสานประโยชน์ร่วม (common interests) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือแม้แต่การปรับแก้ (correct) สภาพพลวัตที่กระทบต่ออำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องเข้ากันได้กับรัฐธรรมนูญอยู่อย่างคงเส้นคงวาตลอดไปได้
                   
        ดังนั้นการรักษาหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ การควบคุมสภาพการบังคับใช้ของ รัฐธรรมนูญ การสร้างความสืบเนื่องของรัฐธรรมนูญ การอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ การสร้างบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญ และการวางธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการฟื้นฟูรัฐธรรมนูญให้คงสภาพของการบังคับใช้ให้มีความสืบเนื่องต่อไปได้ ซึ่งในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ย่อมจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกป้องกันรัฐธรรมนูญในรูปของการตีความรัฐธรรมนูญ เป็นมาตรการหลัก
       
       3. การตีความรัฐธรรมนูญกับเงื่อนปมแห่งสถานะเฉพาะของความเป็นรัฐธรรมนูญ
                   
        รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารพิเศษที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงสถานะและสภาวะการณ์เกี่ยวกับรัฐด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งเรื่องวิถีชีวิตของพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น (1) การบ่งบอกถึงสภาพวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง (2) การบ่งบอกถึงเอกราชอธิปไตยของประเทศในประชาคมการเมืองระหว่างประเทศ (3) การบ่งบอกถึงลัทธิและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศ และ (4) การบ่งบอกถึงสภาพปัญหา แนวทางการแก้ปัญหาและจุดมุ่งหมายของประเทศ ฯลฯ เป็นต้น
                   
        ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญมีความสำคัญเป็นพิเศษดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเฉพาะหลายประการที่กำหนดสถานะของความเป็นรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากเอกสารหรือกฎหมายอื่นของรัฐ ซึ่งสามารถประมวลได้ใน 6 ลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
                   
        (1) ความเป็นศูนย์รวมความหลากหลายซับซ้อน
                   
        (2) ความเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์
                   
        (3) ความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน
                   
        (4) ความเป็นกลไกกำหนดเป้าหมาย
                   
        (5) ความเป็นเบ้าหลอมความต้องการ
                   
        (6) ความเป็นกฎหมาย
                   
        1. ความเป็นศูนย์รวมความหลากหลายซับซ้อน รัฐธรรมนูญเป็นที่รวมของความหลากหลายซับซ้อนที่รวมเอาความแตกต่าง 3 อย่างมาไว้ในที่เดียวกัน คือ (1) ส่วนของเนื้อหา (content) (2) ส่วนของการปฏิบัติ (implementation) และ (3) ส่วนของนโยบาย (policy)
                   
        ส่วนของเนื้อหา (content) นั้น รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาแฝงอยู่หลายนัย ทั้งนัยที่เป็นความหมายตามตัวหนังสือ (letter meaning) และนัยที่เป็นเจตนารมณ์ (spirit) และแม้แต่ในส่วนของความหมายเองก็ยังมีความหมายที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นทั้งในส่วนที่เป็นความหมายเชิงข้อเท็จจริง (fact) ความหมายเชิงปรัชญา (philosophy) ความหมายเชิงแนวความคิด (concept) ความหมายเชิงเทคนิค (terms) ความหมายเชิงเชื่อมโยง (relationship) และความหมายเชิงพาดพิง (side impact) หรือ แม้แต่ในส่วนของเจตนารมณ์ก็เช่นกันจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งเจตนารมณ์หลักหรือเจตนารมณ์ทั่วไป (major spirit) และเจตนารมณ์รองหรือเจตนารมณ์เฉพาะ (minor spirit) ด้วย
                   
        ส่วนของการปฏิบัติ (implementation) นั้น รัฐธรรมนูญมีการนำไปใช้และใช้อย่างผ่านกระบวนการ (processing) ที่มีความซับซ้อน (complication) ด้วย ซึ่งในการนำไปใช้โดยผ่านกระบวนการนั้นต้องประกอบด้วยการนำไปใช้ได้ (practicability) และใช้ให้ได้ผลตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องหรือด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) ด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการก่อผลลัพธ์ (output) เช่นการรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกละเมิด รวมทั้งขยายผลไปสู่การแสวงหาผลได้ (ultimate outcome) เช่นการแก้ไขหรือยุติปัญหาที่เป็นกรณีพิพาทจากการใช้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เสร็จสิ้นลงไป และการควบคุมผลกระทบที่พึงประสงค์ (impact control) จากการใช้รัฐธรรมนูญอีกด้วยเช่นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำกรณีเดิม หรือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอื่นเพิ่มขึ้นมาใหม่ หรือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร หรือการกระตุ้นให้เกิดผลพวงต่อการปฏิรูปการเมืองต่อไปในอนาคตระยะยาว ฯลฯ เป็นต้น
                   
        ส่วนของนโยบาย (policy) นั้น รัฐธรรมนูญถูกจัดทำขึ้นและถูกนำไปใช้ภายใต้กรอบกำหนดเชิงนโยบายจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย (stakeholders) ซึ่งครอบคลุมทั้งฝ่ายผู้จัดทำหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายสถาบันนิติบัญญัติผู้พิจารณาและรับรองรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารและองค์กรหลักผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ฝ่ายตุลาการผู้ตีความรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่มีส่วนได้เสียหรือรับ ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ภาคีที่หลากหลายเหล่านี้เข้ามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อ รัฐธรรมนูญอย่างแตกต่างหลากหลายและมีความสลับซับซ้อนตามไปด้วย
                   
        2. ความเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกระจกสะท้อน ภาพลักษณ์ด้านต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเมืองการปกครอง ว่ามีสภาพวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองเช่นไร มีพัฒนาการในระดับใด โดยเฉพาะการบ่งบอกถึงสถานภาพทางการเมืองการปกครองในเชิงเปรียบเทียบทั้งเป็นการเปรียบเทียบภายในประเทศ และเปรียบเทียบระหว่างประเทศ
                   
        ความสำคัญของการเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์ดังกล่าว นอกจากเป็นการบ่งบอกสภาวะการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศแล้วยังเป็นจุดเชื่อมโยงกับเงื่อนไขของวิธีการและ เป้าหมายในการใช้รัฐธรรมนูญ หรือในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในทางปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขในการกำกับควบคุมแนวทาง (conduct) วิธีการใช้รัฐธรรมนูญให้มีความสืบเนื่องตามลำดับ ขั้นตอนของสภาพการณ์ทางการเมืองในช่วงชั้น หรือลำดับขั้นตอนต่าง ๆ (sequence) อย่างมี ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขของลำดับขั้นการวิวัฒนาการ ระดับ ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยนำทาง (guide) ในการปรับตัวของกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญให้ดำเนินไปในรูปแบบและทิศทางร่วมกัน ไม่เกิดความแตกต่างและขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรง (moderation) รวมทั้งการช่วยสร้างสมานฉันท์ทางการเมือง (political consensus) ร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มีความเป็นเอกภาพและมีความปึกแผ่นมั่นคงได้ ที่สำคัญคือ การรักษาความต่อเนื่องในการใช้รัฐธรรมนูญและการรักษารัฐธรรมนูญให้มีเสถียรภาพได้ด้วย
                   
        3. ความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน รัฐธรรมนูญเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญในแนวทางที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง (political reform) หรือเป็นกรอบกำหนดเค้าโครงในการออกแบบการเมือง (political framework) ด้วยนั้น ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็น จักรกลหลักที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาการใหม่ ๆ ทางการเมือง (political innovation) ให้มีความก้าวหน้า (advancement) ไปได้
                   
        รัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศยุโรป อย่างเช่นฝรั่งเศส เยอรมัน และอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ระบอบสังคมนิยม (Socialism) หรือแม้แต่ระบอบคอมมิวนิสต์ (Communism) ก็ตาม ล้วนมีแนวทางในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญทางการเมืองการ ปกครอง (correction) พร้อม ๆ กันไปกับการผลักดันการพัฒนาทางการเมือง (development) ใน เป้าหมายต่าง ๆ ด้วยเสมอ เช่นเดียวกับกรณีของไทยในปัจจุบันที่มุ่งใช้รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป การเมือง โดยมีเป้าหมายร่วมกันทั้งการแก้ไขปัญหา การดัดแปลงและการปรับปรุงเพื่อพัฒนาการเมืองการปกครอง
                   
        การใช้รัฐธรรมนูญตามแนวทางดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อลักษณะทางการเมืองการปกครองของประเทศ โดยเฉพาะการก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือที่เรียกว่าการสร้างพลวัตทางการเมือง (political dynamic) ทำให้สภาพการเมืองการปกครองของประเทศตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งจะตกอยู่ในห้วงของการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในระยะต่าง ๆ และการใช้ความพยายามในการปรับตัวอย่างเข้มงวดและมีความถี่สูงระหว่างสถาบันทางการเมืองฝ่ายต่าง ๆ
                   
        จุดที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อนของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็คือการใช้รัฐธรรมนูญอย่างมีพลวัต ซึ่งต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญใน 3 ประการด้วยกันคือ (1) การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political change) (2) การแก้ไขปัญหาทางการเมือง (political correction) และ (3) การสร้างพัฒนาการใหม่ทางการเมือง (political advancement) ซึ่งข้อคำนึงดังกล่าวเป็นการให้น้ำหนักหรือจุดเน้นในการใช้รัฐธรรมนูญในเงื่อนไขที่มีพลวัตคือต้องตระหนักในการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้มีความ ก้าวหน้ามากกว่าการใช้รัฐธรรมนูญแบบหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถอยหลังเข้าคลอง หรือใช้ในเชิงอนุรักษ์นิยม (conservative) เพราะแนวทางดังกล่าวจะโน้มเอียงไปในทิศทางของการต่อต้านรัฐธรรมนูญมากกว่าสนับสนุนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       * ข้อคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมิจำต้องผูกพันและเห็นพ้องด้วย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       1. โปรดดูเพิ่มเติมใน วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530) หน้า 684-703
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

       
       
       


                   
        4. ความเป็นกลไกกำหนดเป้าหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนธงนำหรือเข็มมุ่งในการชี้นำเป้าหมายปลายทางของรัฐและระบบการเมืองซึ่งในบทบาทดังกล่าวรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดเป้าหมายอันพึงประสงค์ของรัฐและระบบการเมือง เพื่อสร้างความยึดเหนี่ยวผูกพันของคนในชาติ (coherence) ให้มีความยึดมั่นในเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองร่วมกันและ ในขณะเดียวกันยังต้องสร้างแรงกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาเป้าหมายเดิมหรือเป้าหมายอันพึงประสงค์ทางการเมืองการปกครอง (goal attainment) ไว้ให้มีความสืบเนื่องอยู่ได้อย่างคงเส้นคงวา จนบรรลุถึงความคาดหวังสูงสุดได้ในที่สุดอีกด้วย
                   
        การเป็นกลไกกำหนดเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีจุดเชื่อโยงที่ เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดชี้แนะถึงแนวทางต่าง ๆ (steering) เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เช่น (1) การกำหนดชี้แนะวิธีการดำเนินงาน (method) ของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่เหมาะสมสอดคล้องและนำไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้ (2) การกำหนดชี้แนะพันธะหน้าที่และภาระสำคัญ (mission) ของสถาบันทางการเมืองการปกครองที่สนับสนุนต่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุด ของรัฐธรรมนูญได้ (3) การกำหนดชี้แนะแนวทางและทิศทาง (direction) ที่ถูกต้องของสถาบันทาง การเมืองการปกครองในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้
                   
        5. ความเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วม รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนจุดบรรจบของ สายน้ำหลาย ๆ สายมารวมอยู่ในแอ่งเดียวกัน โดยเฉพาะเป็นศูนย์รวมของการประสานจุดร่วมทั้งในมิติที่เป็นความแตกต่างหลากหลาย (pluralist) และมิติที่เป็นความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ซึ่ง ในความเป็นจุดร่วมดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่รวมของการประสานผลประโยชน์ที่กว้างใหญ่ที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด (The greatest interests for the greatest numbers) พร้อมกันไปด้วย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเป็นที่รวมของความต้องการร่วมที่ครอบคลุมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งเป็นความต้องการที่มีความแตกต่างและหลากหลายในภาพที่กว้างแต่รวมศูนย์มากกว่าเมื่อเทียบกับความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศซึ่งเป็นความต้องการที่มีความแตกต่าง หลากหลายแต่กระจายตัวตามลักษณะของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างอำนาจทางการเมือง
                   
        ในการเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วมของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญ มีสภาพเหมือนรวงรังของผึ้งที่ต้องมีการแบ่งซอยแยกย่อยส่วนต่าง ๆ ของรังผึ้งเพื่อบูรณาการ (integrates) ความหลากหลายให้เป็นองค์รวมเดียวกัน (holistic) โดยมีทั้งส่วนที่เก็บน้ำหวานไว้เป็นอาหาร ส่วนที่เก็บไข่ไว้ฟักเลี้ยงอนุบาลตัวอ่อนและส่วนที่เป็นที่พักอาศัยรวมอยู่ในรังเดียวกัน เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการบูรณาการทั้งความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ ความต้องการของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจในส่วนต่าง ๆ หลายส่วนเข้าเป็นจุดร่วมไว้ในเป้าหมายเดียวกันโดยที่ไม่ให้ขัดแย้งหรือแตกแยกกันไปคนละทาง
                   
        จุดเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ในส่วนนี้ก็คือการตระหนักถึงความจำเป็นในการบูรณาการส่วนย่อยภายในของรัฐธรรมนูญให้ประกอบกันเป็นองค์รวมเดียวกัน เพื่อรักษาความเป็นเบ้าหลอมความต้องการร่วมของรัฐธรรมนูญไว้ให้ดำรงคงอยู่และป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้เฉพาะเพียงบางเสี้ยวบางส่วนหรือถูกใช้แบบแยกส่วน (fragementation) เช่น (1) การกำหนดสัดส่วนของความต้องการ (2) การจัดประเภทของความต้องการ (3) การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของความต้องการ (4) การจำแนกส่วนย่อยของความต้องการ และ (5) การเชื่อมประสานข้อต่อความเชื่อมโยงระหว่างส่วนย่อยกับส่วนย่อยด้วยกันเองและระหว่างส่วนย่อยกับส่วนใหญ่ของความต้องการ ทั้งนี้เพื่อจรรโลงรักษาความสมานฉันท์ในการสนองความต้องการร่วมของทุกภาคส่วนให้ดำรงคงอยู่ได้ โดยไม่ล่มสลายหรือแตกแยกออกเป็นเสี่ยง
                   
        6. ความเป็นกฎหมาย สิ่งสำคัญสูงสุดของสิ่งที่มีฐานะเป็นกฎ หรือ กฎหมาย ก็คือการไม่สามารถละเมิดได้ ยิ่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ใหญ่ที่สุดและสูงสุดของประเทศยิ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดไม่ได้ถูกละเมิด และขณะเดียวกันในการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญนั้น กลับยิ่งก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบที่เป็นผลร้ายอย่างกว้างขวางและรุนแรงตามไปด้วย
                   
        ดังนั้นรัฐธรรมนูญในฐานะที่มีความเป็นกฎหมายนั้นมีความจำเป็นอย่างสูงที่จะต้องดำเนินการเป็นพิเศษในการควบคุมการถูกละเมิดเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายของรัฐธรรมนูญไว้โดยการสร้างมาตรการรองรับในหลายมาตรการด้วยกัน ได้แก่ (1) การทำให้รัฐธรรมนูญมีผลหรือการบังคับใช้ให้เป็นผล ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกทำให้ไร้ผลไปเพราะรัฐธรรมนูญหากไม่ได้ใช้บังคับให้เป็นผลก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีรัฐธรรมนูญและไม่สามารถสร้างพัฒนาการทางการเมืองได้แต่อย่างใด (2) การรักษา รัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดไม่ให้มีกฎหมายอื่นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (3) การรักษา เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกบิดเบือน (4) การรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไม่ให้ รัฐธรรมนูญถูกท้าทายหรือบ่อนทำลายจากอำนาจอิทธิพล (5) การอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศในการใช้รัฐธรรมนูญ (6) การสร้างบรรทัดฐานและธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ รัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกสะกัดกั้นให้เกิดความชะงักงันขาดความสืบเนื่องหรือถูกยกเลิกแก้ไขใหม่อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็น (7) การกำหนดนโยบายในการใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้โดยไร้ประโยชน์และไร้ทิศทาง (8) การกำหนดแนวทางและกระบวนการเฉพาะในการใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้อย่างขาดความศักดิ์สิทธิ์และไร้แบบแผนที่เหมาะสม และ (9) การเสริมสร้างสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐธรรมนูญสูญเสียความเด็ดขาดและสูญเสียความเป็นกลไกหลักในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะของรัฐ
       
       4. การตีความรัฐธรรมนูญกับเหตุผลและความจำเป็น
                   
        ความจำเป็นในการตีความรัฐธรรมนูญ อาจประมวลได้จากเหตุผลสำคัญด้านต่าง ๆ ใน 6 ประการ คือ
                   
        (1) การรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ
                   
        (2) การปรับแก้ปัญหาในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้
                   
        (3) การสร้างหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
                   
        (4) การรักษาความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการ
                   
        (5) การรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ
                   
        (6) การสร้างพัฒนาการทางการเมือง
                   
        1. การรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ การดำรงอยู่ของรัฐจำเป็นต้องมีประชาคมการเมือง (political community) มีระบอบการปกครอง (government regime) และมีอำนาจรัฐบาล (government authority) มารองรับ โดยประชาคมการเมืองนั้นช่วยประสานความเป็นปึกแผ่นของคนในรัฐให้เกิดความร่วมมือและการตกลงใจร่วมกัน (common determination) ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ ส่วนระบอบการปกครองนั้นช่วยกำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้แก่สถาบันทางการเมืองการ ปกครองต่าง ๆ ขณะที่อำนาจรัฐบาลนั้นช่วยสร้างความยอมรับในการจัดสรรประโยชน์สาธารณะให้แก่คนที่อยู่ร่วมกันในประชาคมการเมืองได้
                   
        การดำรงอยู่ของรัฐบนฐานการค้ำจุนของประชาคมการเมือง ระบอบการปกครอง และอำนาจรัฐบาลนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยการกำกับควบคุมฐานค้ำจุนดังกล่าวให้มีบูรณภาพร่วมกัน (integration) ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์พื้นฐานของรัฐ ใน 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ (1) การรักษาระบอบการปกครองให้อยู่ในครรลองของอุดมการณ์หลักทางการเมืองการปกครองของประเทศ (political ideology) โดยการกำกับควบคุมสถาบันทางการเมืองการปกครองให้ดำรงอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์กติกาของการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) (2) การเสริมสร้างประสิทธิภาพของประชาคมการเมือง โดยการช่วยระงับยับยั้งและคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งทางการเมือง และความ ขัดแย้งในผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าปัญหาที่เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างสถาบันทางการเมืองหรือบุคคล หรือปัญหาที่เกิดจากการแข่งขันทางอำนาจ การใช้อำนาจและการเปลี่ยนแปลงอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือปรองดองและขจัดความแตกแยกภายในประเทศ (3) การเสริมสร้างความสามารถทางการปกครองของรัฐบาล โดยการช่วยอำนวยการปกครองให้เกิดดุลยภาพในการจัดระเบียบอำนาจทั้งในการใช้อำนาจและการจัดกรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจในระหว่างองค์กรอำนาจของรัฐบาลด้วยกันเองให้มีความราบรื่น (4) การเสริมสร้างศักยภาพในการประสานประโยชน์สาธารณะของรัฐบาล โดยการช่วยเชื่อมประสานช่องว่างที่เกิดจากความแตกต่างกันในเป้าหมาย ผลประโยชน์และความต้องการระหว่างรัฐกับประชาชนหรือระหว่างส่วนใหญ่กับส่วนย่อย
                   
        2. การปรับแก้ปัญหาในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ มีข้อกำหนดการบ่งใช้ที่เข้มงวดอยู่ 2 ประการ คือ (1) การปฏิบัติได้ (practicability) และ (2) การปฏิบัติให้ถูก (constitutionality) กล่าวคือ ในส่วนของการปฏิบัติได้ นั้นเป็นเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีพันธะผูกพันกับผลของการปฏิบัติ หากรัฐธรรมนูญไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลหรือปฏิบัติไม่ได้ก็มีผลไม่ต่างกับการไม่มีรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในส่วนของการปฏิบัติให้ถูกนั้นเป็นเรื่องของการใช้รัฐธรรมนูญที่ต้องมีพันธะผูกพันกับกรรมวิธีของการปฏิบัติ กล่าวโดยรวมก็คือ ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้นั้นต้องมีการกำกับควบคุมตั้งแต่ในชั้นของวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติด้วยนั่นเอง
                   
        ปัญหาสำคัญที่มักจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการใช้รัฐธรรมนูญก็คือปัญหาที่เกิดจากการเอารัฐธรรมนูญไปปฏิบัติให้เกิดผลไม่ได้ และปัญหาที่เกิดจากการเอารัฐธรรมนูญไปปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งในปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวอาจปรากฏเงื่อนปมในรูปของข้อติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น (1) รัฐธรรมนูญคลุมเครือไม่ชัดเจนแปลความได้หลายอย่าง (2) รัฐธรรมนูญมีช่องว่างใช้ได้ไม่ครอบคลุมกับทุกกรณีปัญหา (3) รัฐธรรมนูญมีข้อติดขัดถึงจุดตีบตันใช้ต่อไปไม่ได้ (4) รัฐธรรมนูญไม่ให้วิธีปฏิบัติในการใช้ที่แน่นอนเฉพาะเจาะจง (5) รัฐธรรมนูญไม่กำหนดผลลัพธ์เป้าหมายให้มีขอบเขตที่แน่นอน (6) รัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติไว้กว้างเกิน-แคบเกิน (7) รัฐธรรมนูญไม่ให้แนวทางแก้ไขในการใช้ (8) รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่ขัดกัน (9) รัฐธรรมนูญไม่มีเงื่อนไขบังคับ (10) รัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ (11) รัฐธรรมนูญล้าสมัยไม่ทันสถานการณ์ใหม่ ๆ ในปัจจุบัน (12) รัฐสภาออกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ (13) รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ (14) ศาลตีความกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
                   
        ข้อติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนไปรวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาในการทำให้รัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ และปฏิบัติไม่ถูกทั้งสิ้น ดังนั้น ในการรักษารัฐธรรมนูญไว้ให้ปฏิบัติได้ และปฏิบัติให้ถูกก็ต้องคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้คลี่คลายไปได้ในทุก ๆ เงื่อนปม ให้ลุล่วงไปให้ได้ตลอดเวลา และสามารถมีข้อยุติได้ในทุกเงื่อนปมด้วย กล่าวอีกนัยก็คือ บรรดาปัญหาใด ๆ ที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีการแก้ไขให้ได้ใน 2 เงื่อนไขด้วยกัน คือ (1) ต้องแก้ไขให้ได้ในทุกกรณี และ (2) ต้องแก้ไขให้ได้ในทุกเวลา
                   
        ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญต้องใช้ได้ทุกกรณี และใช้ได้ตลอดไปตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ก็จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องมีวิธีการจัดการ ซึ่ง (1) หากรัฐธรรมนูญคลุมเครือก็ต้องตีความให้ชัดเจน (2) หากรัฐธรรมนูญมีช่องโหว่ก็ต้องตีความให้อุดช่องโหว่เสีย (3) หากรัฐธรรมนูญมีข้อติดขัดตีบตันก็ต้องตีความให้มีทางออก (4) หากรัฐธรรมนูญไม่กำหนดผลลัพธ์เป้าหมายไว้ให้แน่นอนก็ต้องตีความ รัฐธรรมนูญให้มีการวางขอบเขตเป้าหมายเสีย (6) หากรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติไว้กว้างเกินหรือแคบเกินก็ต้องตีความให้มีกรอบกำหนดขอบเขตไว้ (7) หากรัฐธรรมนูญไม่ให้แนวทางแก้ไขในการใช้ไว้ก็ต้องตีความให้มีทางแก้ขึ้นมา (8) หากรัฐธรรมนูญมีบัญญัติที่ขัดกันก็ต้องตีความให้มีความสอดคล้องเกื้อกูลกัน (9) หากรัฐธรรมนูญไม่มีเงื่อนไขบังคับก็ต้องตีความให้สามารถบังคับได้ (10) หากรัฐธรรมนูญปฏิบัติไม่ได้ก็ต้องตีความให้ปฏิบัติได้ (11) หากรัฐธรรมนูญล้าสมัยก็ต้องตีความให้ทันสมัย (12) หากรัฐสภาออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความลบล้างกฎหมายนั้น (13) หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องตีความให้ลบล้างการใช้กฎหมายนั้น และ (14) หากศาลตีความกฎหมายที่ขัด รัฐธรรมนูญก็ต้องตีความให้ลบล้างการใช้กฎหมายนั้นเสีย ฯลฯ เป็นต้น
                   
        ในการแก้ปมปัญหาดังกล่าว ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญต้องใช้ปฏิบัติได้อยู่เสมอ ซึ่งในทางปฏิบัติของการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปมปัญหาเหล่านั้น ก็ย่อมจะต้องมีความเชื่อ พื้นฐานในการยอมรับผลดีของการตีความรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน เช่น (1) การยอมรับว่าผลของการตีความนั้นเป็นการทบทวนทางตุลาการ (judicial review) เพื่อถ่วงรั้งให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกนำไปใช้นอกขอบเขตและผิดพลาดจากวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ (2) การยอมรับว่าผลของการตีความเป็นการสร้างความยืดหยุ่น (flexibility) และเพิ่มความสมบูรณ์ (adjustment) ให้แก่รัฐธรรมนูญได้มากขึ้น และ (3) การยอมรับว่าผลของการตีความนั้นเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ (utility maximization) ในการใช้รัฐธรรมนูญให้สูงขึ้นได้
                   
        พื้นฐานการยอมรับดังกล่าวย่อมเปิดกว้างให้การตีความรัฐธรรมนูญนั้นสามารถ ตกแต่งรัฐธรรมนูญ (make up) ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น (1) การก่อผลทางกฎหมาย (law making) จากการตีความรัฐธรรมนูญ (2) การก่อผลทางบรรทัดฐาน (precedent making) จากการ ตีความรัฐธรรมนูญ และ (3) การก่อผลทางธรรมเนียมปฏิบัติ (convention making) จากการตีความรัฐธรรมนูญ
                   
        3. การสร้างหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดตามหลักการของกฎหมายมหาชน จำเป็นต้องสร้างมาตรการปกป้อง คุ้มครองความสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น (1) มาตรการป้องกันกฎหมายอื่นไม่ให้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ (2) มาตรการป้องกันไม่ให้องค์กรอำนาจที่ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐได้อำนาจและใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
                   
        ในการปกป้องคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงยอมรับให้มีสิทธิอำนาจพิเศษขึ้นเพื่อใช้มาตรการดังกล่าวให้บรรลุผลในรูปของการตีความรัฐธรรมนูญ โดยในการใช้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณาอยู่ 4 เกณฑ์ คือ
                   
        1) รูปแบบของอำนาจ ได้แก่ การกระจายอำนาจ (decentralization) และการรวมศูนย์อำนาจ (centralization) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยการกระจายอำนาจในรูปขององค์กรศาลทั่วไป และรวมศูนย์อำนาจในรูปของศาลเฉพาะ
                   
        2) ฐานะของอำนาจ ได้แก่ อำนาจสูงสุด (supremacy) และอำนาจผสมเพื่อคานดุลย์กัน (sharity) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยการยกให้สถาบันรัฐสภาซึ่งได้รับการยกย่องฐานะอำนาจให้มีความสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) มีฐานะอำนาจสูงสุดเพียงองค์กรเดียว และโดยการคานดุลย์อำนาจกันหลายฝ่ายทั้งฝ่าย รัฐสภา ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ
                   
        3) เหตุผลของอำนาจ ได้แก่ อำนาจที่เป็นอิสระ (dependency) อำนาจที่เป็นกลาง (non-partisan) และอำนาจที่มีความชำนัญพิเศษ (specialization) เช่น การให้สิทธิอำนาจพิเศษเพื่อการตีความรัฐธรรมนูญโดยอำนาจที่เป็นอิสระจากการผูกพันกับอำนาจการเมือง อำนาจที่เป็นกลางปลอดจากการเป็นฝักฝ่ายกับอิทธิพล พวกพ้องและผลประโยชน์ และอำนาจที่มีความชำนาญการเป็นกรณีพิเศษเฉพาะด้าน
                   
        4) ผลบังคับของอำนาจ ได้แก่ ผลบังคับเด็ดขาดและผลบังคับไม่เด็ดขาด เช่นการให้สิทธิอำนาจพิเศษในการตีความรัฐธรรมนูญโดย การให้มีผลบังคับสูงสุดเด็ดขาดโดยการตีความครั้งเดียว และการให้มีผลบังคับโดยการตีความมากกว่าหนึ่งครั้ง
                   
       4. การรักษาความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการ รัฐธรรมนูญถูกใช้ให้เป็นแกนร่วมของรัฐในหลายแขนงด้วยกัน ได้แก่ (1) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาการปกครองโดยกฎหมายตามกรอบของนิติรัฐ (Legal State) (2) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาความยุติธรรม ในการปกครองของรัฐตามกรอบของธรรมรัฐ (Good Governance) (3) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศตามกรอบของรัฐชาติ (Nation State) และ (4) เป็นแกนร่วมในแขนงของการรักษาสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายของประชาชนตามกรอบของประชารัฐ (Civil State)
                   
        ในฐานะที่รัฐธรรมนูญถูกใช้ให้เป็นแกนร่วมของรัฐในหลายแขนงดังกล่าว ได้กำหนดภาระผูกพันโดยอัตโนมัติให้การใช้รัฐธรรมนูญต้องสามารถสนองประโยชน์ต่อรัฐได้อย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกแขนงพร้อม ๆ กัน ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะด้านการปกครองโดยกฎหมายตามกรอบของนิติรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขยายผลให้ครอบคลุมทั้งด้านการรักษากฎหมาย การรักษาความยุติธรรม การรักษาประโยชน์แห่งชาติ และการรักษาสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายของประชาชนพร้อมกันไปด้วย
                   
        ในการใช้รัฐธรรมนูญให้สามารถสนองประโยชน์ในกรอบของเป้าหมายร่วมดังกล่าว จำเป็นต้องมีองค์กรควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลในรูปของการผลิตความยุติธรรมสาธารณะแบบบูรณาการ (Integration) เพื่อถ่วงดุลย์น้ำหนักและจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์เป้าหมายแบบองค์รวม (holistic) ไม่จำกัดเฉพาะส่วน (partial) เพียงแขนงใดแขนงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถสนองประโยชน์ที่แท้จริงในกรอบที่เป็นเป้าหมายรวมของรัฐได้
                   
        5. การรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญหากจะนำไปใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง และใช้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดผลต่อการสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองได้ สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงก็คือ (1) ต้องมีการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และ (2) ต้องมีการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญให้ได้นำไปใช้อย่างต่อเนื่อง
                   
        ในการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่องจนสามารถก่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองใหม่ ๆ ได้นั้น มีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการขึ้นมารองรับการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญ (1) ถูกใช้โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (2) ถูกใช้โดยติดขัดหยุดชะงักและถูกยกเว้น (3) ถูกใช้โดยต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เฉพาะส่วน และ (4) ถูกใช้โดยยกเลิกและทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ
                   
        การทำให้รัฐธรรมนูญมีเสถียรภาพต้องคำนึงถึงทั้งการรักษารัฐธรรมนูญให้นำไปใช้ให้ได้ผลตามรัฐธรรมนูญ และใช้ให้รัฐธรรมนูญมีความต่อเนื่องด้วย ดังนั้น มาตรการที่นำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องครอบคลุมในองค์ประกอบ 3 ประการ คือ (1) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านเจตนารมณ์ (2) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านเนื้อหา และ (3) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในด้านการดัดแปลงให้สามารถปรับใช้ได้กับ ทุกสถานการณ์และสามารถสนองตอบความต้องการใหม่ได้อยู่เสมอ
                   
        6. การสร้างพัฒนาการทางการเมือง ในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกลไกขับเคลื่อนวิวัฒนาการทางการเมืองตามแนวคิดของสำนักลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมนั้น จะต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักของการพัฒนาทางการเมืองใน 2 ส่วนพร้อมกัน คือ (1) ส่วนของวิธีการ (means) และ (2) ส่วนของเป้าหมาย (ends) ทั้งนี้ เพราะในการพัฒนาการเมืองตามแนวทางของการปฏิรูปซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องกำหนดกติกาในการพัฒนานั้น ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาทางการเมืองตั้งแต่ต้น
                   
        ดังนั้น ในการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาทางการเมืองดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับทั้งในส่วนของวิธีการและส่วนของเป้าหมายในการใช้รัฐธรรมนูญไป พร้อม ๆ กัน เช่น (1) มาตรการในการดำรงรักษาสถานะของรัฐธรรมนูญให้เป็นกติกาหลักของการ ปกครองและการปฏิรูปการเมือง (2) มาตรการในการขับเคลื่อนการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามครรลองของหลักการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ และ (3) มาตรการในการกำกับควบคุมทิศทางของเป้าหมาย ในการใช้รัฐธรรมนูญให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการเมือง กล่าวอีกนัยก็คือ การมีมาตรการ ในการกำกับควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามครรลองและเป้าหมายในการปฏิรูปการเมืองของ รัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งก็คือ นอกจากการกำกับควบคุมให้การใช้รัฐธรรมนูญถูกต้องตามครรลองของ วิธีการแล้ว ยังจำเป็นต้องกำกับควบคุมให้การใช้รัฐธรรมนูญนั้นบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญด้วย
                   
        การกำกับควบคุมการใช้รัฐธรรมนูญให้ได้ทั้งครรลองของวิธีการที่ถูกต้อง และได้ทั้งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวใน 3 ด้านด้วยกัน คือ (1) การตีความเพื่อแสวงหาจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ (2) การตีความเพื่อแสวงหากระบวนวิธีในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ และ (3) การตีความเพื่อแสวงหากลไกปฏิบัติในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ
                   
        กรณีของการตีความเพื่อแสวงหาจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) จุดมุ่งหมายในการสร้างความชอบธรรมของผู้ปกครอง (2) จุดมุ่งหมายในการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ (3) จุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและ เสถียรภาพของระบบการเมือง ฯลฯ เป็นต้น
                   
        กรณีของการตีความเพื่อแสวงหากระบวนวิธีในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) กระบวนวิธีในการบังคับใช้กฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (2) กระบวนวิธีในการกำกับควบคุมพฤติกรรมทางอำนาจของผู้ปกครองทั้งการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจและการพ้นจากอำนาจ และ (3) กระบวนวิธีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ฯลฯ เป็นต้น
                   
        กรณีของการตีความเพื่อแสวงหากลไกปฏิบัติในการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) กลไกในการใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง (2) กลไกในการใช้รัฐธรรมนูญโดยอ้อม (3) กลไกในการก่อผลกระทบและรับผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญ และ (4) การระงับข้อพิพาทระหว่างกลไกที่ใช้และตีความรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
       
       5. การตีความรัฐธรรมนูญกับทฤษฎีและหลักการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
                   
        องค์ความรู้เกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญ (interpretation of constitution) ได้มี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชนหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองศาสตราจารย์ ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ประมวลไว้ทั้งในรูปที่เป็นหลักการและทฤษฎี ซึ่งในที่นี้จะได้นำเสนอในหลักการและทฤษฎีที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและเป็นประสบการณ์ที่ได้มาจากการปฏิบัติดังต่อไปนี้
                   
        1. หลักการตีความรัฐธรรมนูญ หลักการตีความรัฐธรรมนูญมีการประมวลไว้ในหลายหลักการด้วยกัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงไว้โดยย่อดังต่อไปนี้ คือ
                   
        1) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยการประยุกต์เทียบเคียง 2 ทั้งนี้โดยมี หลักการสำคัญ คือ (1) การประยุกต์กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยคำนึงถึงทั้งบทบัญญัติตามตัวอักษรและความมุ่งหมาย (spirit) ของบทบัญญัติ การค้นหากฎหมายตามลำดับก่อนหลังและการอุดช่องว่างของกฎหมาย (2) การประยุกต์กับหลักเกณฑ์ทางการเมือง และความมุ่งหมายพิเศษเฉพาะของรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองและคำปรารภของ รัฐธรรมนูญ (3) การประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์อนาคต โดยคำนึงถึงการสนองตอบต่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างทันสมัย (4) การประยุกต์กับแนวคิดทางรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงปรัชญาของการมีรัฐธรรมนูญ และ (5) การประยุกต์กับหลักนิติธรรม โดยคำนึงถึงความยุติธรรมตามธรรมชาติ
                   
        2) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยการสืบค้นเจตนารมณ์และหลักการ ตีความกฎหมายทั่วไป 3 ซึ่งมีทั้งเจตนารมณ์หลักและเจตนารมณ์สาขาของรัฐธรรมนูญ ดังเช่น กรณีของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) สามารถสืบค้นเจตนารมณ์ได้จากหลายแหล่งด้วยกัน คือ (1) เอกสาร “กรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” (2) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสภาร่างรัฐธรรมนูญ (3) รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสภาร่างรัฐธรรมนูญ (4) เอกสาร “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … พร้อมด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … สภาร่างรัฐธรรมนูญ (5) รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (6) รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (7) รายงานการสำรวจและรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งประชาพิจารณ์ของคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ (8) รายงานของสภาร่าง รัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภา และ (9) รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช … นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาด้วยวิธีการพิจารณาจากส่วนต่าง ๆ
       ของรัฐธรรมนูญเองด้วย เช่น (1) การค้นหาจากส่วนที่เป็นคำปรารภ หรือหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม และ (2) การค้นหาจากการเทียบเคียงบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ จากรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “หลักการ” ร่วมกันของบทบัญญัติต่าง ๆ ที่แยกกันอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ เช่น “หลักสุจริต” ฯลฯ เป็นต้น
                   
        สำหรับวิธีการนำหลักการตีความกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น 4 เป็นการให้ความสำคัญกับการตีความโดยอาศัยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 6 วิธีการ คือ (1) การตีความ ขยายโดยใช้การเทียบเคียงสิ่งที่เหมือนกัน (2) การตีความโดยใช้หลักยิ่งต้องเป็นไปเช่นนั้น (ตัวอย่างเช่น หากกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามเด็ดดอกไม้ ดังนั้นการตัดต้นไม้ก็ยิ่งต้องห้ามไปด้วย) (3) การตีความโดยใช้หลักตีความกลับกัน (4) การตีความโดยใช้หลักอุปนัย (5) การตีความโดยใช้หลักนิรนัย (6) การตีความโดยใช้หลักสุภาษิตกฎหมาย (ตัวอย่างเช่น การไม่ตีความกฎหมายให้มีข้อความคลุมเครือให้ไร้ผลบังคับหรือให้เกิดผลประหลาด หรือการตีความโดยเคร่งครัดในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นและจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือการไม่ใช้บทบัญญัติทั่วไปบังคับกับกรณีที่มีบทบัญญัติเฉพาะอยู่แล้ว หรือการยกเอาความจำเป็นอยู่เหนือกฎหมาย หรือกรณีกฎหมายที่ฐานะเท่ากัน กฎหมายที่ออกทีหลังย่อม ถูกยกเว้น หรือกฎหมายที่ฐานะสูงกว่าย่อมใช้ได้หากขัดกับกฎหมายที่ฐานะต่ำกว่า
                   
        3) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยหลักทั่วไปและหลักเฉพาะในการตีความรัฐธรรมนูญ 5 หลักทั่วไปมีอยู่ 5 วิธี คือ (1) การตีความตามลายลักษณ์อักษร หรือการตีความทางไวยากรณ์ (2) การตีความอย่างเป็นระบบโดยเทียบเคียงกับบทบัญญัติในมาตราอื่นไม่ให้ขัดแย้งกัน (3) การตีความทางประวัติศาสตร์ โดยเทียบเคียงกับคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมา (4) การตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ (5) การตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
                   
        ส่วนหลักเฉพาะมีอยู่ 4 หลัก คือ (1) หลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ โดยไม่กระทบถึงหลักอื่น ๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ (2) หลักการนำไปปฏิบัติได้และดีที่สุด (3) หลักความถูกต้องในหน้าที่ขององค์กรอำนาจด้านต่าง ๆ ทั้งนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ และ (4) หลักการบังคับได้ โดยให้มีผลบังคับมากที่สุด
                   
        2. ทฤษฎีการตีความรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีการตีความรัฐธรรมนูญ จะได้กล่าวถึง โดยย่อดังต่อไปนี้ คือ
                   
        1) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยทฤษฎีของ Louis Fisher 6 ตามทฤษฎีของ Louis Fisher มี 4 วิธี คือ (1) การตีความตามตัวอักษร (literalist approach) โดยเน้นการ ตีความตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด (2) การตีความตามกฎหมายธรรมชาติ (natural approach) โดยเน้นการใช้กฎหมายตามธรรมชาติเป็นบรรทัดฐานอ้างอิง (3) การตีความตามประวัติศาสตร์ (historical approach) โดยเน้นการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานประกอบการตีความ และ (4) การตีความโดยการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (electic approach) โดยเน้นการแสวงหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือดีที่สุดเป็นกรอบกำหนดทางเลือกในการตีความ
                   
        2) การตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยทฤษฎีของ William C. Louthan 7 ตามทฤษฎีของ William C. Louthan มี 4 วิธี คือ (1) การตีความตามทฤษฎีการพรรณนา (legalistic - descriptive) โดยเน้นการแสวงหาเหตุผลประกอบการตีความจากหลายแหล่งประกอบกัน เช่น เหตุผลจากเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย เหตุผลจากถ้อยคำของภาษา เหตุผลจากวิธีการทางตรรกวิทยา และเหตุผลจากเหตุการณ์แวดล้อม (2) การตีความตามทฤษฎีการบัญญัติหรือปรับเปลี่ยน (legalistic - prescriptive) โดยเน้นการขยายความและยืดหยุ่นผ่อนปรนในการใช้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับเหตุการณ์แต่ละกรณี (3) การตีความตามทฤษฎีการทำนาย (behavioral - predictive) โดยเน้นการใช้ฐานของประสบการณ์ดั้งเดิมเป็นตัวแปรกำหนดการใช้ดุลพินิจในการตีความ และ (4) การตีความตามทฤษฎีอธิบายพฤติกรรม (behavioral - expositive) โดยเน้นการยอมรับอิทธิพลจากภูมิหลังด้านต่าง ๆ ของผู้ตีความเองเป็นปัจจัยกำหนดแนวโน้มของผลลัพธ์ในการตีความรัฐธรรมนูญ
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       * ข้อคิดเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมิจำต้องผูกพันและเห็นพ้องด้วย
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. โปรดดูเพิ่มเติมใน วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530) หน้า 763-782
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. โปรดดูเพิ่มเติมใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของ คุรุสภา, 2545) หน้า 39-119
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. โปรดดูเพิ่มเติมใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า 100-109
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       5. กมลชัย รัตนสกาววงศ์, หลักการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ. (บทบรรยายโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2542)
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       6. โปรดดูเพิ่มเติมใน วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, “วิธีพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ (ปีที่ 2 เล่มที่ 5 พฤษภาคม - สิงหาคม 2543) หน้า 52-59
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       7. อ้างแล้ว, หน้า 42-51
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       เอกสารอ้างอิง
                   
       - กมลชัย รัตนสกาววงศ์, หลักการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ (บทบรรยายโครงการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2542)
                   
       - บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545)
                   
       - วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, “วิธีพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ (ปีที่ 2 เล่มที่ 5 พฤษภาคม - สิงหาคม 2543)
                   
       - วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530)
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

       
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=709
เวลา 21 เมษายน 2568 14:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)