หน้าแรก บทความสาระ
ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ โดยดร.เชาวนะ ไตรมาศ
ดร.เชาวนะ ไตรมาศ
9 มกราคม 2548 01:28 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2

       
๗. สรุปและเสนอแนะ


                   
       ๑) สรุป ความเป็นรัฐ ๒ มิติ ในองคาพยพของรัฐอย่างกรณีของรัฐไทย คือ (๑) รัฐทางอุดมการณ์ (idealism) และ (๒) รัฐทางปฏิบัติการ (pragmatism) โดยรัฐในทางอุดมการณ์เป็นการยึดมั่นในลัทธิการเมือง (political doctrine advocacy) ที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย (democracy) ส่วนรัฐในทางปฏิบัติการนั้นเป็นการยึดมั่นในระบบการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)

                   
       โดยที่รัฐมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตย และมีแนวทางปฏิบัติในระบบการปกครองโดยกฎหมายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบกฎหมายโดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทในการกำกับควบคุมรัฐทางปฏิบัติการ เพื่อให้รัฐสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุดทางอุดมการณ์คือประชาธิปไตยให้มีความสืบเนื่องอย่างคงทนถาวรเป็นปึกแผ่น

                   
       การปกครองโดยกฎหมายของรัฐทางปฏิบัติการกับการคุ้มครองประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ จึงเป็นปัจจัยที่เป็นอุปกรณ์ซึ่งกัน กล่าวคือ ยิ่งรัฐทางปฏิบัติการทำการปกครองโดยกฎหมายสัมฤทธิ์ผลดีเท่าใด ประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ก็จะยิ่งมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น เพราะรัฐประชาธิปไตยเป็นรัฐที่ถือว่าเป็นสถาบันของประชาชน (people state) เสมือนกับสนามที่ใช้ในการประลองสิทธิของประชาชนหรือรั้วที่ใช้ในการปิดล้อมอำนาจของผู้ปกครองเป็นรัฐที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ยิ่งประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์มากเท่าใด ประชาธิปไตยก็จะเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น เหมือนกับกังหันวิดน้ำยิ่งหมุนมากและเร็วเท่าใดก็จะยิ่งวิดน้ำได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะในมิติของรัฐทางอุดมการณ์ที่มีการยกย่องให้ประชาชนมีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจ (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) และเป็นผู้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจนั้นตามนัยของการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน และมิติของรัฐทางปฏิบัติการที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดควบคุมอำนาจของผู้ปกครอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เน้นการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง (strong participation) ของภาคประชาชน ตามเจตนารมณ์ เป้าหมายของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

                   
       ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เสมือนกับหมุดเชื่อม (linkig pin) ในการยึดโยงให้เกิดบูรณภาพ (integration) ในความสัมพันธ์ขององคาพยพของรัฐทั้ง ๒ มิติ ให้มีความสอดคล้องต้องกัน ทั้งมิติของรัฐทางอุดมการณ์ที่มีเข็มมุ่งในระบอบประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายสูงสุด (ends) และมิติของรัฐทางปฏิบัติการที่มีเข็มมุ่งในระบบการปกครองโดยกฎหมายเป็นเครื่องมือ (means) ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐ (legal state) ที่เอาวิธีการทางปฏิบัติเป็นเครื่องกำหนดเป้าหมาย (means justify the ends) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย มีสารัตถะเป็นประชาธิปไตย ด้วยวิธีการประชาธิปไตย เพื่อทำการค้ำจุนเป้าหมายแห่งประชาธิปไตยนั่นเอง
       

                   
       ๒) เสนอแนะ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นหมุดเชื่อมยึดโยงบูรณภาพองคาพยพของรัฐ ระหว่างเป้าหมายประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ กับวิธีการปกครองโดยกฎหมายของรัฐทางปฏิบัติการ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีภารกิจพื้นฐานที่ต้องรับผิดชอบใน ๓ ประการ คือ (๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ (๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ และ (๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

                   
       (๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่

                   
       ๑. การควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายก่อนและระหว่างการบังคับใช้

                   
       ๒. การควบคุมผู้ปกครองไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งการเข้าสู่อำนาจ การดำรงรักษาอำนาจ การใช้อำนาจและการพ้นจากอำนาจ

                   
       ๓. การควบคุมองค์กรอำนาจการเมืองการปกครองไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งการใช้อำนาจภายในองค์กร และความสัมพันธ์ทางอำนาจกับองค์กรอำนาจอื่น

                   
       (๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่

                   
       ๑. การรักษาสภาพบังคับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงและเที่ยงตรง

                   
       ๒. การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญให้ลุล่วงเสร็จสิ้นทั้งกระบวนปัญหา

                   
       ๓. การสร้างความก้าวหน้าของระบบการเมืองการปกครองให้เป็นไปตามเป้าหมายอุดมการณ์ของรัฐ

                   
       (๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่

                   
       ๑. การจัดระเบียบทิศทางการใช้อำนาจและรัฐธรรมนูญขององค์กรอำนาจหลักทางการเมืองการปกครองทั้ง ๓ ฝ่าย ให้อยู่ในกรอบของแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                   
       ๒. การกำกับกรอบครรลองที่ถูกต้องของระบอบการเมืองการปกครองโดยรวมทั้งระบบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


                   
       การปฏิบัติภารกิจพื้นฐานในความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดถือแนวทางการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่เน้นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในผลบั้นปลายของการใช้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้คดีรัฐธรรมนูญที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่งประโยชน์โดยตรงต่อการสร้างบูรณภาพของรัฐทางอุดมการณ์และรัฐทางปฏิบัติการไปพร้อม ๆ กัน ดังความเชื่อของหลักรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นใช้เป็นแบบ (frame) ในการสร้างระบบการเมืองการปกครองที่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น หากจะให้รัฐธรรมนูญเป็นอุปกรณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองการปกครองได้ ก็จำเป็นต้องมีการกำกับการใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงได้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่ดีก็ไม่อาจสร้างการเมืองการปกครองที่ดีได้ จนกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้นจะได้นำไปใช้ให้ได้ผลดีด้วยแล้ว และการที่รัฐธรรมนูญจะได้มีการนำไปใช้ให้ได้ผลดีหรือไม่ ก็โดยการสร้างแนวปฏิบัติการใช้รัฐธรรมนูญจากคดีรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง

                   
       แนวการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญโดยเน้นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในผลบั้นปลายของการใช้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เพียงแต่เป็นการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อเป็นที่ยุติคดี แต่ควรใช้ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของการเป็นกลไกในการผลิตทางเลือกที่พึงประสงค์ของความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการให้แก่กรณีปัญหาที่เกิดจากคดีนั้นด้วย เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่สามารถใช้เป็นแรงขับในการสร้างความก้าวหน้าแก่การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้งองค์รวม ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาแบบรวบยอดอย่างเต็มรูป (comprehension judge) คือ การพิจารณาครอบคลุมทั้งประเด็นปัญหาของคดีและประเด็นผลกระทบของคดีพร้อมกัน กล่าวคือ

                   
       (๑) ประเด็นปัญหาของคดี มีจุดเน้นในการพิจารณาเกี่ยวกับขอบเขตเฉพาะของกรณีปัญหาในคดีนั้นเป็นสำคัญ ได้แก่

                   
       ๑. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของรัฐธรรมนูญทั้งองค์รวม (constitution) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของตัวบทเฉพาะมาตรา (provision)

                   
       ๒. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของระบอบการเมืองการปกครองทั้งระบบ (political regime) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของตัวบุคคล (politician) เฉพาะตำแหน่ง เฉพาะภารกิจหรือเฉพาะองค์กร

                   
       ๓. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของประสิทธิภาพของการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ(implementation) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (substance)

                   
       ๔. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของประสิทธิผลของการนำคดีไปบังคับใช้ให้เกิดผลที่แม่นตรง (effectiveness) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของการจบสิ้นของคดี (terminate)

                   
       (๒) ประเด็นผลกระทบของคดี มีจุดเน้นในการพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างผลกระทบที่พึงประสงค์ของคดีเป็นสำคัญ ได้แก่

                   
       ๑. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการสร้างความสามารถในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (enforcement capability)

                   
       ๒. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายพื้นฐานทางการเมืองการปกครองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการบำรุงรักษาระบอบการเมืองการปกครองหลักไว้ให้ดำรงคงอยู่ (rule maintenance)

                   
       ๓. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจำกัดควบคุมอำนาจรัฐไว้ โดยที่ยังสามารถรักษาดุลยภาพร่วมกันระหว่างความสามารถทางการปกครองของรัฐบาล (competence of government) และความมีประสิทธิผลในการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชน (political efficacy) ไว้ได้

                   
       ๔. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายปฏิรูปการเมืองการปกครองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง (rule advancement) ได้ด้วย


       
       



       “ประโยชน์สุขสูงสุดแห่งปวงชนหมู่มากเป็นกฎหมายใหญ่สุด”

       (The greatest happiness for the greatest people is the greatest law)

       


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       * ข้อเขียนในวรรณกรรมเป็นความเห็นของผู้เขียน ศาลรัฐธรรมนูญมิจำต้องเห็นพ้องหรือผูกพันด้วย
       
[กลับไปที่บทความ]


       



       
เอกสารประกอบ


                   
       กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , แนวคิดเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาค (หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๔๕

                   
       กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , รัฐธรรมนูญ (หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช , ๒๕๔๖

                   
       กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , ลักษณะและขอบข่ายของรัฐศาสตร์
       (หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๔๖

                   
       กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , วิวัฒนาของระบอบรัฐธรรมนูญไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน (สำนักพิมพ์บรรณกิจ : กรุงเทพฯ) , ๒๕๔๕

                   
       เชาวนะ ไตรมาศ , “ศาลรัฐธรรมนูญ : อรรถประโยชน์ต่อรัฐ ประชาชน และรัฐธรรมนูญ”
       จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ (มกราคม – กุมภาพันธ์ , ๒๕๔๒)

                   
       " , “รัฐสัญญาประชาคมกับการปลุกกระแสสำนึกใหม่ของการเมืองภาคประชาชน” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๖ (กันยายน – ธันวาคม , ๒๕๔๓)

                   
       " , ความขัดแย้งจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ : แนวโน้มพัฒนาการสถาบันรัฐธรรมนูญไทย , วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๒๗

                   
       " , “คุณค่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับนัยของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ” วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๓ เล่มที่ ๗ (มกราคม – เมษายน , ๒๕๔๔)

                   
       " , “ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสถานการณ์การปฏิรูปการเมือง” วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๓ เล่มที่ ๙ (กันยายน – ธันวาคม , ๒๕๔๔)

                   
       " , “รัฐธรรมนูญกับการออกแบบการเมืองใหม่” วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๒ (กันยายน – ธันวาคม , ๒๕๔๕)

                   
       " , “ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๕ (พฤษภาคม – สิงหาคม , ๒๕๔๓)

                   
       " , “รัฐธรรมนูญทำไมต้องตีความ” วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๓ (มกราคม – เมษายน , ๒๕๔๖)

                   
       " , ข้อมูลพื้นฐาน ๖๖ ปีประชาธิปไตยไทย(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๒)

                   
       " , “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย” จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔ (มีนาคม – เมษายน , ๒๕๔๖)

                   
       " , “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ : คนไทยใช้ประโยชน์ได้อย่างไร” วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๐ (มกราคม – เมษายน , ๒๕๔๕)

                   
       " , “รัฐธรรมนูญกับการสร้างฐานทุนประชาธิปไตยในการเมืองภาคประชาชน” จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒ เล่มที่ ๓๐ (พฤศจิกายน – ธันวาคม , ๒๕๔๖)

                   
       " , “สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” วารสารปฏิรูปการเมืองและกระจายอำนาจ สถาบันนโยบายศึกษา (ธันวาคม , ๒๕๔๔)

                   
       " , การใช้กลไกรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๕)

                   
       " , ขอดเกล็ดรัฐธรรมนูญไทย(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๐)

                   
       " , “รัฐธรรมนูญสำคัญที่ใช้ให้เป็น” วารสารสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (กรกฎาคม – กันยายน , ๒๕๔๐)

                   
       " , “การเมืองใหม่กับการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง” ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ ๔ (๒๕๔๖)

                   
       " , “แผนแม่บทยุทธศาสตร์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสร้างสำนักงาน ธรรมาภิบาล” รายการประจำปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ ศาลรัฐธรรมนูญ
       
       Chaowana Traimas , The Constitutional in Brief (Institue of Public Policy Study : Bangkok , 1999)

                   
       Karl – Peter Sommermann และ Siedentopt , The Principle of the Rule of Law
       , Article , Post Graduate School of Administrative Sciences Speyer , Germany .
       


       
       


       



       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544