|
 |
ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ โดยดร.เชาวนะ ไตรมาศ 9 มกราคม 2548 01:28 น.
|
ในบทความนี้ได้แบ่งการนำเสนอเนื้อหาสำคัญไว้เป็น ๗ ส่วน คือ (๑) นิติรัฐ (๒) การปกครองโดยกฎหมาย (๓) ประชาธิปไตย (๔) รัฐธรรมนูญ (๕) ศาลรัฐธรรมนูญ (๖) ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ และ (๗) สรุปและเสนอแนะ ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. นิติรัฐ (Legal State)
นิติรัฐเป็นแบบของการจัดตั้งประชาคมการเมือง (political community) ในรูปของระบบรัฐ ที่แยกกำลังบังคับที่อยู่ภายใต้อำเภอใจออกจากตัวบุคคลที่เป็นผู้ปกครอง (coercion of men) ไปเป็นอำนาจทางการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้กฎหมายของสถาบันทางการเมืองการปกครองของรัฐ (government of state) แทน โดยที่การได้มาและการดำรงอยู่ของอำนาจทางการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้กฎหมายนั้น อิงอยู่บนฐานรากของหลักยึดพื้นฐาน ๕ ประการ คือ (๑) กฎเกณฑ์ (law) (๒) ระเบียบแบบแผน (order) (๓) ความเชื่อถือศรัทธา (trust) (๔) สันติวิธี (peace) และ (๕) ความยุติธรรม (justice) ทั้งนี้ เพื่อให้หลักยึดพื้นฐานดังกล่าวร่วมกันทำหน้าที่เฉพาะทางของตน ในอันที่จะนำประชาคมการเมืองไปสู่การบรรลุเป้าหมายของรัฐในที่สุด ซึ่งในการทำหน้าที่ของหลักยึดพื้นฐานดังกล่าว แม้จะดำเนินไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางเฉพาะทางของตน แต่เมื่อประกอบกันเป็นผลรวมในบั้นปลายแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายรวมของรัฐ (ultimate goal) ได้ในที่สุด กล่าวคือ
๑) กฎเกณฑ์ (law) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น ความเห็นพ้องร่วมกัน (general consensus) ของคนหรือสมาชิกในประชาคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความเห็นพ้องร่วมกันระหว่างคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้ปกครอง (ruler) กับคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้รับการปกครองหรือประชาชน (ruled) ทั้งนี้ โดยการดัดแปลงตัวแทนของข้ออ้างอิงใหม่ที่ต่างไปจากกฎธรรมชาติ (natural law) ที่เคยบังคับใช้ได้เฉพาะตัวกับแต่ละคน (personal enforcement) เท่านั้น ไปเป็นกฎหมายของรัฐ (law of state) ที่บังคับใช้ได้เป็นการทั่วไป (public enforcement) กับทุกคนภายในรัฐ หรือภายใต้ประชาคมการเมืองเดียวกัน
๒) ระเบียบแบบแผน (order) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น แบบแผนมาตรฐานของพฤติกรรมร่วม (mutual practice) ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นกรอบกำกับในการบังคับควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำกับควบคุมพฤติกรรมและการกระทำที่กระทบต่ออำนาจของผู้ปกครองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้รับการปกครอง ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญของรัฐใน ๓ ด้าน ด้วยกันคือ (๑) การออกกฎหมาย (legislative practice) (๒) การบังคับใช้กฎหมาย (executive practice) และ (๓) การตีความกฎหมายและพิพากษาคดี (judicial practice)
๓) ความเชื่อถือศรัทธา (trust) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น หลักประกันเสถียรภาพของการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักประกันเสถียรภาพระหว่างอำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครอง กับสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชนผู้รับการปกครอง ทั้งนี้ โดยมีการกำหนดกรอบในการจำกัดควบคุมอำนาจของผู้ปกครองไว้ให้เป็นไปที่แน่นอนชัดเจน เช่นเดียวกันกับการกำหนดกรอบในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า ทั้งผู้ปกครองและประชาชนต่างมีเสถียรภาพในการอยู่ร่วมกัน โดยที่อำนาจของผู้ปกครองนั้น มิได้ใช้เพื่อการกดขี่ข่มเหงประชาชน หากแต่ใช้เพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนเป็นด้านหลัก
๔) สันติวิธี (peace) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น ความแตกต่างที่สร้างสรรค์และมิตรภาพที่ถาวร เพื่อจัดสภาพแวดล้อมของรัฐให้เกิดสันติสุขในการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างความแตกต่างของมนุษย์โดยไม่ก่อความขัดแย้งแตกแยก ระหว่างฝ่ายข้างมากกับฝ่ายข้างน้อยโดยไม่มีการกดขี่ข่มเหงคุกคามซึ่งกัน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนใหญ่กับผลประโยชน์ส่วนย่อย และระหว่างความถูกต้องของฉันทามติชั่วคราว ฝ่ายข้างมากที่ได้รับการยอมรับก่อนกับฝ่ายข้างน้อยที่ยังต้องรอการยอมรับในภายหลัง ซึ่งเป็นการดัดแปลงสภาวะธรรมชาติของสังคมมนุษย์ ให้เปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยพละกำลังโดยใช้ความรุนแรงหรือขจัดทำลายล้างขั้นแตกหัก เป็นการแข่งขันกันด้วยกติกาที่สันติวิธีสามารถประนอมประโยชน์และหาทางออกที่เป็นสายกลางโดยไร้ความสูญเสียของทุกฝ่ายได้
๕) ความยุติธรรม (justice) เป็นหลักพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น เจตจำนงร่วมอันชอบด้วยกติกา (legality of general will) ทั้งนี้ โดยอาศัยกติกาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนรัฐ เพื่อให้การใช้อำนาจและการทำหน้าที่ของรัฐนั้นดำเนินไปภายใต้ครรลองของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกระบวนการขับเคลื่อนรัฐที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของเหตุผลในฐานที่มา (source) ของการใช้อำนาจ กระบวนวิธีการ (means) ในการใช้อำนาจ และเป้าหมายปลายทาง (ends) ของการใช้อำนาจนั้น จะต้องประกอบกันบนฐานอันชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการในการขับเคลื่อนรัฐนั้น นำไปสู่ความเป็นรัฐแห่งกติกาที่เกื้อหนุนให้การใช้อำนาจของผู้ปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐไม่ใช่ตามอำเภอใจของตน ซึ่งมุ่งสนองเป้าหมายของรัฐไม่ใช่เป้าหมายหรือประโยชน์ของตน เพื่อให้การทำหน้าที่ของรัฐนั้นเป็นเสมือนเบ้าหลอมในการสร้างเจตจำนงร่วมอันชอบด้วยกติกาให้เกิดขึ้นในหมู่ของกลไกสำคัญฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐร่วมกันได้ทั้งฝ่ายการเมืองการปกครอง (government sector) และฝ่ายประชาชน (private sector)
๒. การปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)
การปกครองโดยกฎหมาย เป็นแบบของการจัดตั้งระบบการเมืองการปกครอง (political system) ที่อิงอยู่บนฐานรากของหลักยึดพื้นฐาน ๓ ประการคือ (๑) ความชอบด้วยระบบกฎหมาย (legal system) (๒) ความชอบด้วยกฎหมาย (legality) และ (๓) ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) ทั้งนี้ เพื่อให้หลักยึดพื้นฐานดังกล่าว ทำหน้าที่ในการจัดกรอบการสร้างระบบกฎหมายและระบอบการเมืองการปกครองของรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และการจัดกรอบการออกกฎหมายให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวคือ
๑) ความชอบด้วยระบบกฎหมาย (legal system) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น กติกาแห่งการปกครอง (rule of the rule) โดยการสร้างกติกาหลักทางการเมืองการปกครองในรูปของรัฐธรรมนูญ เพื่อวางหลักการปกครองและกฎหมายให้มีความสอดคล้องกัน ในรูปของการกำหนดเขตอำนาจ (scope of power) ที่ปรากฏอยู่ในองค์กรสถาบันทางการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ทางอำนาจ (relation of power) ระหว่างองค์กรสถาบันทางการเมืองการปกครอง
๒) ความชอบด้วยกฎหมาย (legality) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น ความผูกพันตามพันธะทางกฎหมายและความยุติธรรม ซึ่งเป็นการวางหลักปฏิบัติในการกำหนดกรอบของขอบเขตอำนาจ กระบวนการใช้อำนาจและเป้าหมายการใช้อำนาจในฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการให้เกิดความยุติธรรมตามกฎหมาย โดยอิงความผูกพันตามพันธะทางกฎหมายและความยุติธรรมที่ต้องยึดโยงกันทั้งกรอบบรรทัดฐานทั่วไปอันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย (the precedence of the law) และกรอบตัวบทของข้อบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรอันเป็นสารัตถะของกฎหมาย (the subjection to the law)
๓) ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น หลักประกันความเที่ยงตรงของกติกาหลักทางการปกครอง (legal certainty) ซึ่งเป็นการป้องกันการใช้อำนาจการเมืองการปกครองในฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ละเมิดต่อกติกาหลักทางการปกครอง พร้อมกันไปกับการแก้ไขการใช้อำนาจการเมืองการปกครองของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการที่มิชอบด้วยกติกาหลักทางการเมืองการปกครองอันเนื่องมาจากกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้อำนาจที่ละเมิดกติกาหลักทางการเมืองการปกครองของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ โดยการสร้างหลักประกันความเที่ยงตรงของกติกาหลักทางการเมืองการปกครอง ให้ครอบคลุมทั้งในขั้นก่อนออกกฎหมายมาบังคับใช้ และระหว่างที่กฎหมายกำลังบังคับใช้อยู่
๓. ประชาธิปไตย (Democracy)
ประชาธิปไตยเป็นแบบของการจัดตั้งระบอบการเมืองการปกครอง (political regime) ที่อิงอยู่บนฐานรากของหลักยึดพื้นฐาน ๓ ประการ คือ (๑) การปกครองของประชาชน (rule of people) (๒) การปกครองโดยประชาชน (rule by people) และ (๓) การปกครองเพื่อประชาชน (rule for people) ทั้งนี้ เพื่อให้หลักยึดพื้นฐานดังกล่าว ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายสูงสุดของระบบการเมืองในรูปของกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง (political ideology) กำหนดกระบวนการทางการเมืองการปกครองในรูปของการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนผู้รับการปกครอง (political process) และกำหนดองค์กรรัฐบาลในรูปแบบของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจหลักทางการเมืองการปกครอง (form of government) กล่าวคือ
๑) การปกครองของประชาชน (rule of people) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น เป้าหมายสูงสุดของการเมืองการปกครอง (goal of rule) ซึ่งเป็นนัยของการสร้างพันธะยึดเหนี่ยวที่เรียกว่า อุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ การกำหนดให้อำนาจสูงสุดในการเมืองการปกครองหรืออำนาจอธิปไตยให้เป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐบาล (popular sovereignty) นั่นเอง ดังเช่น การกำหนดให้ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วไป โดยการเปิดให้มีการใช้สิทธิออกเสียงเป็นการทั่วไปของประชาชน (general election by universal suffrage) การกำหนดให้การใช้อำนาจของผู้ปกครองต้องอยู่บนพื้นฐานความยินยอมของประชาชน (consent of people) และการกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดความตกลงใจในการปกครอง เปลี่ยนแปลงและยกเลิกสัญญาประชาคม (people determination) เป็นต้น
๒) การปกครองโดยประชาชน (rule by people) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น กระบวนวิถีทางการเมืองการปกครอง (mode of rule) ซึ่งเป็นนัยของการสร้างกระบวนการทางการเมืองการปกครองให้รองรับกับการกำกับควบคุมของประชาชน ในรูปของการสร้างวิถีทางในการใช้สิทธิเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (people participation) คู่ขนานกันไปกับวิถีทางในการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่จะต้องรับผิดชอบและตอบสนองต่อประชาชน (people responsibility & responsiveness) พร้อมกันไปด้วย ซึ่งเป็นวิถีทางของความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนผู้รับการปกครองนั่นเอง ดังเช่นการกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากในการปกครองโดยต้องเคารพเสียงข้างน้อย (majority rule and minority rights) ด้วย การยึดเจตนารมณ์ของฝ่ายประชาชนเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงพันธะผูกพันสัญญาประชาคมแก่ฝ่ายผู้ปกครอง และการเคารพความเป็นสูงสุดของสัญญาประชาคมที่ผู้ปกครองจะละเมิดมิได้ (supremacy of social contract)
๓) การปกครองเพื่อประชาชน (rule for people) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น ความชอบธรรมของรัฐบาลที่ยุติธรรม (legitimacy of justice government) ซึ่งเป็นนัยของการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจขององค์กรรัฐบาลให้สอดคล้องกับครรลองของระบอบการเมืองการปกครอง อันเป็นการสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อำนาจการปกครองที่ยุติธรรมของรัฐบาลและการได้รับความยินยอมจากประชาชนในความชอบธรรมของการใช้อำนาจการปกครองนั้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการไม่อาจบิดพลิ้วการใช้อำนาจการปกครองของรัฐบาล (abuse of power) ให้บิดเบือนไปจากกฎหมายอันเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ร่วมของสัญญาประชาคมได้ ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญในการเอื้อประโยชน์ให้เกิดความยุติธรรมในการปกครองได้ในที่สุด โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาและสนองตอบต่อเจตนารมณ์ตามสัญญาประชาคมของประชาชน ซึ่งถือว่ามีความสูงสุดโดยที่รัฐบาลจะละเมิดมิได้นั่นเอง ดังเช่นการกำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย (supremacy of legislation) โดยที่ฝ่ายบริหารนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของประชาชนในการทำหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชนนั้น การกำหนดให้รัฐบาลต้องสร้างและรักษาความชอบธรรมในการปกครอง (legitimization) โดยการสงวนสิทธิให้ประชาชนเป็นฝ่ายให้การยอมรับหรือปฏิเสธการมีอำนาจเหนือตนของรัฐบาลได้ รวมทั้งการกำหนดให้ถือเอาประเด็นประโยชน์ด้านความปลอดภัย ความมั่นคง สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นเครื่องมือของประชาชนในการทำและยกเลิกสัญญาประชาคมได้
๔. รัฐธรรมนูญ (Constitution)
รัฐธรรมนูญเป็นกติกาหลักทางการเมืองการปกครอง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นเบ้าหลอมรวมของระบบกฎหมาย โดยเป็นแกนในการจัดระบบการสร้างกติกาและการบังคับใช้กติกาทั้งปวงของรัฐ จนมีการกล่าวกันว่า หากรัฐใดไม่มีซึ่งรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐนั้นก็ย่อมปราศจากระบบกฎหมายไปด้วย รัฐธรรมนูญจึงได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่พื้นฐานในการเป็นกติกาหลักทางการเมืองการปกครองใน ๒ ประการ คือ (๑) การเป็นกฎหมายสูงสุด (supreme law) และ (๒) การเป็นกฎหมายพื้นฐานในการปกครอง (fundamental law) ทั้งนี้ เพื่อให้หลักยึดพื้นฐานดังกล่าวทำหน้าที่รักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (constitutionality) โดยการควบคุมมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่รักษาความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจขององค์กรการเมืองการปกครอง (legality) โดยการควบคุมการใช้อำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจขององค์กรทางการเมืองการปกครองให้ดำเนินไปตามครรลองของระบอบการเมืองการปกครองที่รัฐธรรมนูญกำหนด กล่าวคือ
๑) การเป็นกฎหมายสูงสุด (supreme law) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็นแม่บทของกฎเกณฑ์ทั้งปวง (master of law) โดยการวางแนวปฏิบัติให้กระบวนวิธีในการตรากฎหมายและเนื้อหาสาระในบทบัญญัติของกฎหมายนั้นมีกรอบในการกำกับควบคุมที่มีความแน่นอน สามารถช่วยในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้กฎหมายอื่นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้กฎหมายใด ๆ ที่ขัดรัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้บังคับได้ไม่ว่าโดยองค์กรอำนาจใด
๒) การเป็นกฎหมายพื้นฐานในการปกครอง (fundamental law) เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็นความชอบธรรมในการปกครอง (legitimacy of government) โดยการกำหนดที่มาและขอบเขตอำนาจขององค์กรที่ทำหน้าที่หลักทางการเมืองการปกครองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ และการกำหนดระเบียบของระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างองค์กรดังกล่าวให้เป็นไปตามครรลองของระบอบการปกครองที่ยึดถือ โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary system) ทั้งนี้ เพื่อควบคุมให้การใช้อำนาจและการเชื่อมความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างองค์กรหลักแต่ละฝ่าย สามารถรักษาความชอบธรรมอยู่ได้บนรากฐานของความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และความชอบด้วยกฎหมาย
๕. ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทในทางตุลาการ ทำการพิพากษาคดีที่เกิดจากปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญหรือการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติโดยการตีความรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษารัฐธรรมนูญให้มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งระบบการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันรองรับความยุติธรรมในการปกครอง แทนการปกครองด้วยกฎหมาย (rule by law) ที่เป็นการอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายเป็นหลักประกันรองรับการสร้างความสะดวกในการใช้อำนาจการปกครองให้มีความชอบธรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักประกันความยุติธรรมที่อิงกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หรือการปกครองโดยคน (rule of men) ที่เป็นการใช้อำเภอใจของผู้ปกครอง เป็นบรรทัดฐานในการปกครองโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเห็นพ้องต้องกันของคนทั่วไป ทั้งนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องรักษาระบบการปกครองโดยกฎหมายให้ครอบคลุมในองค์ประกอบพื้นฐาน ๓ ประการ คือ (๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมทั้งความเป็นกฎหมายสูงสุด และการเป็นกฎหมายพื้นฐานในการปกครองของรัฐธรรมนูญ (๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมทั้งการรักษาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การแก้ไขปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญและการสร้างความก้าวหน้าทางการเมืองการปกครอง และ (๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญให้มีผลผูกพันองค์กรอำนาจหลักทางการเมืองการปกครองครอบคลุมทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น หลักประกันความชอบธรรมของการปกครองโดยกฎหมาย โดยการรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย หรือโดยการใช้อำนาจของผู้ปกครอง และองค์กรอำนาจหลักทางการเมืองการปกครองก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายทั้งในภาคส่วนของกฎหมาย ภาคส่วนของคนที่เป็นผู้ปกครอง และภาคส่วนขององค์กรที่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง
๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น หลักประกันความก้าวหน้าของการปกครองโดยกฎหมาย โดยการรักษาสภาพบังคับในความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (rule maintenance) การแก้ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ (rule correction) และการสร้างความก้าวหน้าของระบบการเมืองการปกครอง (rule advancement) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสามารถทางปฏิบัติจากการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในภาคปฏิบัติหรือการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติให้เกิดผลเกื้อกูลต่อการก่อพลวัต ทั้งต่อรัฐธรรมนูญเองและต่อระบบการเมืองการปกครองได้ โดยเฉพาะต่อผลในการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ
๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญ เป็นหลักยึดพื้นฐานในการแสวงหาสิ่งที่เป็น หลักประกันความสัมฤทธิ์ผลของการปกครองโดยกฎหมาย โดยการวางบรรทัดฐานและผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ครอบคลุมทั้งอำนาจนิติบัญญัติที่ใช้ในการออกกฎหมาย อำนาจบริหารที่ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจตุลาการที่ใช้ในการพิพากษาคดีและตีความกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างประสิทธิผลจากคดีรัฐธรรมนูญให้ก่อผลกระทบต่อการจัดระเบียบทิศทางการใช้รัฐธรรมนูญขององค์กรอำนาจหลักทางการเมืองการปกครองให้กลับเข้าไปอยู่ในกรอบครรลองที่ถูกต้องของระบอบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญ
๖. ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ
การพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นผลลัพธ์บั้นปลายจากการใช้ศาลรัฐธรรมนูญในการสร้างความก้าวหน้าของระบบการปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ทั้งในส่วนของการรักษาสภาพบังคับในความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (rule maintenance) การแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ (rule correction) และการสร้างความก้าวหน้าของระบบการเมืองการปกครอง (rule advancement)
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคุณูปการที่สำคัญ ทั้งในการรักษารัฐธรรมนูญ พัฒนาประชาธิปไตย และคุ้มครองประชาชน โดยเฉพาะการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การรักษาครรลองของระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ จึงเป็นสัมพันธภาพร่วมกันระหว่างองค์ประกอบพื้นฐาน ๕ ส่วน คือ (๑) นิติรัฐ (๒) รัฐธรรมนูญ (๓) ระบอบประชาธิปไตย (๔) การปกครองโดยกฎหมาย และ (๕) ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
๑) นิติรัฐ (Legal State) เป็นการสร้างระบบรัฐหรือประชาคมการเมืองให้มีสถาบันอำนาจทางการเมืองการปกครองที่มีกฎหมายเป็นฐานรากรองรับหลักประกันความยุติธรรม ทั้งในด้านการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และบรรทัดฐานในการทำหน้าที่พื้นฐานทางการเมืองการปกครองของรัฐ แทนการใช้กำลังบังคับและอำเภอใจของตัวบุคคลที่เป็นผู้ปกครอง
๒) รัฐธรรมนูญ (Constitution) เป็นการสร้างระบบกฎหมาย ระบอบการเมืองการปกครอง องค์กรอำนาจ และการกำกับการใช้อำนาจให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องเป็นองค์ประกอบที่เกื้อกูลกัน
๓) ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นการสร้างระบอบการเมืองการปกครองที่เน้นจำกัดอำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยประชาชนมีหลักประกันการเป็นเจ้าของอำนาจ มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ และได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรมจากอำนาจ
๔) การปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) เป็นการสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มีการขับเคลื่อนกลไกสถาบันทางการเมืองการปกครองให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดได้ด้วยกระบวนวิธีทางกฎหมาย
๕) ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) เป็นการสร้างหลักประกันการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเป้าหมายสูงสุดของนิติรัฐ คือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย บรรทัดฐาน วิธีการ และเป้าหมายของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ พิจารณาได้จากภาพแสดงศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ ดังต่อไปนี้
|
๗. สรุปและเสนอแนะ
๑) สรุป ความเป็นรัฐ ๒ มิติ ในองคาพยพของรัฐอย่างกรณีของรัฐไทย คือ (๑) รัฐทางอุดมการณ์ (idealism) และ (๒) รัฐทางปฏิบัติการ (pragmatism) โดยรัฐในทางอุดมการณ์เป็นการยึดมั่นในลัทธิการเมือง (political doctrine advocacy) ที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย (democracy) ส่วนรัฐในทางปฏิบัติการนั้นเป็นการยึดมั่นในระบบการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)
โดยที่รัฐมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตย และมีแนวทางปฏิบัติในระบบการปกครองโดยกฎหมายดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบกฎหมายโดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทในการกำกับควบคุมรัฐทางปฏิบัติการ เพื่อให้รัฐสามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุดทางอุดมการณ์คือประชาธิปไตยให้มีความสืบเนื่องอย่างคงทนถาวรเป็นปึกแผ่น
การปกครองโดยกฎหมายของรัฐทางปฏิบัติการกับการคุ้มครองประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ จึงเป็นปัจจัยที่เป็นอุปกรณ์ซึ่งกัน กล่าวคือ ยิ่งรัฐทางปฏิบัติการทำการปกครองโดยกฎหมายสัมฤทธิ์ผลดีเท่าใด ประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ก็จะยิ่งมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น เพราะรัฐประชาธิปไตยเป็นรัฐที่ถือว่าเป็นสถาบันของประชาชน (people state) เสมือนกับสนามที่ใช้ในการประลองสิทธิของประชาชนหรือรั้วที่ใช้ในการปิดล้อมอำนาจของผู้ปกครองเป็นรัฐที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ยิ่งประชาชนได้เข้ามีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์มากเท่าใด ประชาธิปไตยก็จะเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น เหมือนกับกังหันวิดน้ำยิ่งหมุนมากและเร็วเท่าใดก็จะยิ่งวิดน้ำได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะในมิติของรัฐทางอุดมการณ์ที่มีการยกย่องให้ประชาชนมีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจการปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจ (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) และเป็นผู้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจนั้นตามนัยของการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน และมิติของรัฐทางปฏิบัติการที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดควบคุมอำนาจของผู้ปกครอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เน้นการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง (strong participation) ของภาคประชาชน ตามเจตนารมณ์ เป้าหมายของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่เสมือนกับหมุดเชื่อม (linkig pin) ในการยึดโยงให้เกิดบูรณภาพ (integration) ในความสัมพันธ์ขององคาพยพของรัฐทั้ง ๒ มิติ ให้มีความสอดคล้องต้องกัน ทั้งมิติของรัฐทางอุดมการณ์ที่มีเข็มมุ่งในระบอบประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายสูงสุด (ends) และมิติของรัฐทางปฏิบัติการที่มีเข็มมุ่งในระบบการปกครองโดยกฎหมายเป็นเครื่องมือ (means) ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐ (legal state) ที่เอาวิธีการทางปฏิบัติเป็นเครื่องกำหนดเป้าหมาย (means justify the ends) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย มีสารัตถะเป็นประชาธิปไตย ด้วยวิธีการประชาธิปไตย เพื่อทำการค้ำจุนเป้าหมายแห่งประชาธิปไตยนั่นเอง
๒) เสนอแนะ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการเป็นหมุดเชื่อมยึดโยงบูรณภาพองคาพยพของรัฐ ระหว่างเป้าหมายประชาธิปไตยของรัฐทางอุดมการณ์ กับวิธีการปกครองโดยกฎหมายของรัฐทางปฏิบัติการ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีภารกิจพื้นฐานที่ต้องรับผิดชอบใน ๓ ประการ คือ (๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ (๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ และ (๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
(๑) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่
๑. การควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายก่อนและระหว่างการบังคับใช้
๒. การควบคุมผู้ปกครองไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งการเข้าสู่อำนาจ การดำรงรักษาอำนาจ การใช้อำนาจและการพ้นจากอำนาจ
๓. การควบคุมองค์กรอำนาจการเมืองการปกครองไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งการใช้อำนาจภายในองค์กร และความสัมพันธ์ทางอำนาจกับองค์กรอำนาจอื่น
(๒) การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่
๑. การรักษาสภาพบังคับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงและเที่ยงตรง
๒. การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญให้ลุล่วงเสร็จสิ้นทั้งกระบวนปัญหา
๓. การสร้างความก้าวหน้าของระบบการเมืองการปกครองให้เป็นไปตามเป้าหมายอุดมการณ์ของรัฐ
(๓) การบังคับคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีภารกิจสำคัญ ได้แก่
๑. การจัดระเบียบทิศทางการใช้อำนาจและรัฐธรรมนูญขององค์กรอำนาจหลักทางการเมืองการปกครองทั้ง ๓ ฝ่าย ให้อยู่ในกรอบของแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๒. การกำกับกรอบครรลองที่ถูกต้องของระบอบการเมืองการปกครองโดยรวมทั้งระบบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
การปฏิบัติภารกิจพื้นฐานในความรับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดถือแนวทางการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่เน้นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในผลบั้นปลายของการใช้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้คดีรัฐธรรมนูญที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่งประโยชน์โดยตรงต่อการสร้างบูรณภาพของรัฐทางอุดมการณ์และรัฐทางปฏิบัติการไปพร้อม ๆ กัน ดังความเชื่อของหลักรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นใช้เป็นแบบ (frame) ในการสร้างระบบการเมืองการปกครองที่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น หากจะให้รัฐธรรมนูญเป็นอุปกรณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองการปกครองได้ ก็จำเป็นต้องมีการกำกับการใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงได้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่ดีก็ไม่อาจสร้างการเมืองการปกครองที่ดีได้ จนกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้นจะได้นำไปใช้ให้ได้ผลดีด้วยแล้ว และการที่รัฐธรรมนูญจะได้มีการนำไปใช้ให้ได้ผลดีหรือไม่ ก็โดยการสร้างแนวปฏิบัติการใช้รัฐธรรมนูญจากคดีรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง
แนวการพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญโดยเน้นการมุ่งผลสัมฤทธิ์ในผลบั้นปลายของการใช้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เพียงแต่เป็นการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อเป็นที่ยุติคดี แต่ควรใช้ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของการเป็นกลไกในการผลิตทางเลือกที่พึงประสงค์ของความยุติธรรมสาธารณะในเชิงบูรณาการให้แก่กรณีปัญหาที่เกิดจากคดีนั้นด้วย เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่สามารถใช้เป็นแรงขับในการสร้างความก้าวหน้าแก่การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้งองค์รวม ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาแบบรวบยอดอย่างเต็มรูป (comprehension judge) คือ การพิจารณาครอบคลุมทั้งประเด็นปัญหาของคดีและประเด็นผลกระทบของคดีพร้อมกัน กล่าวคือ
(๑) ประเด็นปัญหาของคดี มีจุดเน้นในการพิจารณาเกี่ยวกับขอบเขตเฉพาะของกรณีปัญหาในคดีนั้นเป็นสำคัญ ได้แก่
๑. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของรัฐธรรมนูญทั้งองค์รวม (constitution) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของตัวบทเฉพาะมาตรา (provision)
๒. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของระบอบการเมืองการปกครองทั้งระบบ (political regime) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของตัวบุคคล (politician) เฉพาะตำแหน่ง เฉพาะภารกิจหรือเฉพาะองค์กร
๓. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของประสิทธิภาพของการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ(implementation) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (substance)
๔. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติของประสิทธิผลของการนำคดีไปบังคับใช้ให้เกิดผลที่แม่นตรง (effectiveness) โดยที่ไม่จำกัดกรอบแต่เฉพาะมิติของการจบสิ้นของคดี (terminate)
(๒) ประเด็นผลกระทบของคดี มีจุดเน้นในการพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างผลกระทบที่พึงประสงค์ของคดีเป็นสำคัญ ได้แก่
๑. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการสร้างความสามารถในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (enforcement capability)
๒. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายพื้นฐานทางการเมืองการปกครองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการบำรุงรักษาระบอบการเมืองการปกครองหลักไว้ให้ดำรงคงอยู่ (rule maintenance)
๓. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจำกัดควบคุมอำนาจรัฐไว้ โดยที่ยังสามารถรักษาดุลยภาพร่วมกันระหว่างความสามารถทางการปกครองของรัฐบาล (competence of government) และความมีประสิทธิผลในการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชน (political efficacy) ไว้ได้
๔. ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกฎหมายปฏิรูปการเมืองการปกครองของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดหวังให้การใช้รัฐธรรมนูญมีผลต่อการสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง (rule advancement) ได้ด้วย
ประโยชน์สุขสูงสุดแห่งปวงชนหมู่มากเป็นกฎหมายใหญ่สุด
(The greatest happiness for the greatest people is the greatest law)
เชิงอรรถ
* ข้อเขียนในวรรณกรรมเป็นความเห็นของผู้เขียน ศาลรัฐธรรมนูญมิจำต้องเห็นพ้องหรือผูกพันด้วย
[กลับไปที่บทความ]
เอกสารประกอบ
กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , แนวคิดเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาค (หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๔๕
กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , รัฐธรรมนูญ (หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช , ๒๕๔๖
กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , ลักษณะและขอบข่ายของรัฐศาสตร์
(หน่วยที่ ๑) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๔๖
กระมล ทองธรรมชาติ และ เชาวนะ ไตรมาศ , วิวัฒนาของระบอบรัฐธรรมนูญไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน (สำนักพิมพ์บรรณกิจ : กรุงเทพฯ) , ๒๕๔๕
เชาวนะ ไตรมาศ , ศาลรัฐธรรมนูญ : อรรถประโยชน์ต่อรัฐ ประชาชน และรัฐธรรมนูญ
จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ (มกราคม กุมภาพันธ์ , ๒๕๔๒)
" , รัฐสัญญาประชาคมกับการปลุกกระแสสำนึกใหม่ของการเมืองภาคประชาชน วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๖ (กันยายน ธันวาคม , ๒๕๔๓)
" , ความขัดแย้งจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ : แนวโน้มพัฒนาการสถาบันรัฐธรรมนูญไทย , วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๒๗
" , คุณค่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับนัยของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๓ เล่มที่ ๗ (มกราคม เมษายน , ๒๕๔๔)
" , ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสถานการณ์การปฏิรูปการเมือง วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๓ เล่มที่ ๙ (กันยายน ธันวาคม , ๒๕๔๔)
" , รัฐธรรมนูญกับการออกแบบการเมืองใหม่ วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๒ (กันยายน ธันวาคม , ๒๕๔๕)
" , ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๕ (พฤษภาคม สิงหาคม , ๒๕๔๓)
" , รัฐธรรมนูญทำไมต้องตีความ วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๓ (มกราคม เมษายน , ๒๕๔๖)
" , ข้อมูลพื้นฐาน ๖๖ ปีประชาธิปไตยไทย(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๒)
" , ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔ (มีนาคม เมษายน , ๒๕๔๖)
" , องค์กรตามรัฐธรรมนูญ : คนไทยใช้ประโยชน์ได้อย่างไร วารสารศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๔ เล่มที่ ๑๐ (มกราคม เมษายน , ๒๕๔๕)
" , รัฐธรรมนูญกับการสร้างฐานทุนประชาธิปไตยในการเมืองภาคประชาชน จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒ เล่มที่ ๓๐ (พฤศจิกายน ธันวาคม , ๒๕๔๖)
" , สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ วารสารปฏิรูปการเมืองและกระจายอำนาจ สถาบันนโยบายศึกษา (ธันวาคม , ๒๕๔๔)
" , การใช้กลไกรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๕)
" , ขอดเกล็ดรัฐธรรมนูญไทย(สถาบันนโยบายศึกษา : กรุงเทพฯ , ๒๕๔๐)
" , รัฐธรรมนูญสำคัญที่ใช้ให้เป็น วารสารสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ (กรกฎาคม กันยายน , ๒๕๔๐)
" , การเมืองใหม่กับการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง ประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ครั้งที่ ๔ (๒๕๔๖)
" , แผนแม่บทยุทธศาสตร์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสร้างสำนักงาน ธรรมาภิบาล รายการประจำปี ๒๕๔๔ ๒๕๔๕ ศาลรัฐธรรมนูญ
Chaowana Traimas , The Constitutional in Brief (Institue of Public Policy Study : Bangkok , 1999)
Karl Peter Sommermann และ Siedentopt , The Principle of the Rule of Law
, Article , Post Graduate School of Administrative Sciences Speyer , Germany .
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=704
เวลา 21 เมษายน 2568 14:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|