2. เสรีภาพในการเดินทาง
เสรีภาพในการเดินทางนั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในชีวิตร่างกาย(la surete)และเสรีภาพในชีวิตร่างกาย(la liberté individuelle) เสรีภาพในการเดินทางนั้นถือว่าเป็นเสรีภาพดั้งเดิมที่มีมานานแล้วดังปรากฏในมาตรา 4 ของ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ที่บัญญัติรับรองเกี่ยวกับเสรีภาพไว้และในรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1791 มาตราแรกบัญญัติว่า"ทุกคนมีเสรีภาพที่จะไป ที่จะหยุดพักและที่จะเดินทาง"และในปัจจุบันได้รับการยอมรับโดยคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่กฎหมายสาธารณรัฐยึดมั่นและถือเป็นหนึ่งในเสรีภาพอื่นๆที่ได้รับการปกป้องอย่างดียิ่ง ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงระบบทั่วไปของเสรีภาพในการเดินทางและตามด้วยระบบเสรีภาพพิเศษของเสรีภาพในการเดินทางไปยังต่างประเทศ
ระบบทั่วไปของเสรีภาพในการเดินทาง ในเรื่องดังกล่าวต้องกล่าวถึงหลักเสรีภาพพื้นฐานในเรื่องดังกล่าวก่อน ดังที่ได้ทราบข้างต้นแล้วว่าในประเทศฝรั่งเศสถือว่าเสรีภาพในการเดินทางได้รับการพิจารณาเป็นเสรีภาพพื้นฐาน ตั้งแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789เสรีภาพดังกล่าวได้รับการวิเคราะห์ว่าเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของเสรีภาพในชีวิตร่างกายซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นสามารถใช้เสรีภาพของเขาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อนล่วงหน้าซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลก็ได้วินิจฉัยลงโทษการกระทำใดๆโดยฝ่ายปกครองที่พยายามขัดขวางการใช้เสรีภาพดังกล่าว เมื่อมองดูการใช้เสรีภาพดังกล่าวของประชาชนในรัฐแล้วก็สามารกจำแนกหัวข้อที่นำเสนอได้ดังต่อไปนี้
ก.เสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐ หลักการ เสรีภาพดังกล่าวถือว่าเป็นเสรีภาพแบบเด็ดขาด แต่ละคนสามารถเดินทางภายในดินแดนของรัฐโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายปกครองทุกรูปแบบ ถ้ามองเสรีภาพดังกล่าวในรัฐย่อมทำให้เห็นได้ว่าบุคคลในรัฐนั้นย่อมมีสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการเคลื่อนไหวในอย่างอิสระภายในรัฐของตนเอง การเลือกที่อยู่อาศัยก็สามารถทำได้โดยอิสระ สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในรัฐที่ตนเองเป็นพลเมืองอยู่ กล่าวโดยนัยง่ายๆก็คือ ทุกคนมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (la liberté de mouvement)ดังปรากฎในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1950 และพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่รับรองว่าคนทุกคนมีอิสระที่จะออกจากประเทศใดประเทศหนึ่งและรวมถึงประเทศของบุคคลนั้นด้วย ศาลฎีกาของฝรั่งเศสได้ตัดสินในคดีหนึ่งและสรุปว่า"เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการเดินทางนั้นไม่สามารถถูกจำกัดทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย"แนวคำวินิจฉัยดังกล่าวได้รับการยอมรับโดยศาลคดีขัดกัน ศาลปกครอง และคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการเคลื่อนไหวนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เช่นไม่สามารถเข้าไปในที่ต้องห้ามในเขตทหาร เขตทดลองทางทหาร ทางวิทยาศาสตร์
เสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐนั้นไม่ใช่ใช้เฉพาะกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหวหรือการเดินทางชั่วคราวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการย้ายถิ่นที่ที่อยู่แบบถาวรอีกด้วยซึ่งแต่ละคนมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ของตนเองโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายปกครอง
ข้อยกเว้นของเสรีภาพในการเดินทางภายในรัฐ ถึงแม้จะมีการรับรองเสรีภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็มีข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพดังกล่าวเช่นกันซึ่งได้แก่กรณีการลงโทษโดยศาล การโยกย้ายอันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพ และสุดท้ายคือระบบของผู้ที่ไม่ที่อยู่เป็นมีหลักแหล่ง
ในกรณีแรกนั้นเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลนั้นได้รับการจำกัดและถูกควบคุมโดยคำพิพากษาของศาล เช่นถูกลงโทษจำคุก กักขัง หรือการถูกกำหนดให้อยู่แต่ในเขตหวงห้าม ถูกกักกันในบริเวณที่กำหนด
ในกรณีที่สองนั้นเป็นกรณีของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่รถบรรทุก ขับรถประจำทาง ขับรถส่งผู้โดยสารทุกรูปแบบซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้ทางสาธารณะต้องอยู่ภายใต้แบบฟอร์มที่ฝ่ายปกครองได้กำหนดขึ้นดังนั้นกิจกรรมของกลุ่มอาชีพเหล่านี้ได้รับการพิจารณาเหมือนเป็นภารกิจบริการสาธารณะ ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่มีเสรีภาพในการเดินทางจนกว่าจะได้ทำตามรูปแบบ ขั้นตอนที่ฝ่ายปกครองกำหนดและจะต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองก่อน
ในกรณีที่สาม ระบบของผู้ที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาจเป็นบุคคลที่มีอาชีพไม่เป็นหลักแหล่งขึ้นอยู่กับการงาน ตารางเวลางานและรวมไปถึงบุคคลที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่มีที่อยู่แน่นอน ร่อนเร่พเนจร ในเรื่องดังกล่าวฝรั่งเศสมีมีรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 3 มกราคม ค.ส.1969 ที่บัญญัติมีใจความว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องเดินทางอยู่บ่อยๆขึ้นอยู่กับเนื้องานนั้น เป็นผู้ซึ่งที่มีที่อยู่แน่นอนนั้นต้องอยู่ภายใต้รูปแบบของการประกาศให้ทางการรู้ล่วงหน้าก่อน ส่วนบุคคลที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่มีที่อยู่แน่นอนร่อนเร่พเนจรจะต้องมีสมุดอนุญาตการเดินทาง ระบบดังกล่าวถือว่าเป็นระบบตรวจสอบและสอดส่องดูแลบุคคลกลุ่มดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ
ข.เสรีภาพในการเดินทางออกนอกรัฐ หลักการ ทุกๆคนมีเสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศ การเดินทางออกนอกประเทศนั้นอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการแสดงเอกสารสำคัญต่างๆและข้อจำกัดต่างๆที่รัฐสร้างขึ้น ดังนั้นการเดินทางออกจากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่งนั้น ผู้เดินทางจึงต้องมีเอกสารในการเดินทางผ่านเข้าและออกแดนอย่างครบถ้วน มิเช่นนั้นแล้วบุคคลนั้นก็จะไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเดินทางดังกล่าวจึงถูกจำกัดได้ด้วยข้อกำหนดของรัฐ เช่น หนังสือเดินทาง (passport) การอนุญาตให้เข้าประเทศ (visa) เป็นต้น หนังสือเดินทางเป็นเอกสารที่ออกโดยทางราชการโดยมีกำหนดระยะเวลาซึ่งโดยปกติแล้วทางการไม่ปฏิเสธการที่จะออกหนังสือเดินทางได้ การปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้นั้นถือเป็นกรณีที่เป็นข้อยกเว้นมากๆและหนังสือเดินทางในบางกรณีก็ไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศปลายทางที่จะไปนั้นไม่ต้องการดังนั้นในกรณีดังกล่าวก็มีเพียงแต่บัตรประจำตัวประชาชนก็เพียงพอแล้ว ในทางตรงกันข้ามประเทศส่วนใหญ่นั้นยังต้องการหนังสือเดินทางเวลาเดินทางเข้าประเทศนั้นเพราะหนังสือเดินทางแสดงถึงการอนุญาตให้เข้าประเทศนั้นประทับอยู่ในหนังสือเดินทาง
ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศในยุโรปที่เข้าลงนามในสนธิสัญญา Schengen ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้การเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรีในประเทศต่างๆที่เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1995 วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาดังกล่าวเพื่อขจัดการควบคุมพรมแดนให้หมดไปเป็นการยืนยันแก่ประชาชนทุกคนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสัญชาติใดๆก็ตามจะอยู่ภายใต้การยกเลิกควบคุม ณ.เขตแดนภายในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยทำให้การตรากฎหมายของรัฐสมาชิกมีความเท่าเทียมกันเพื่อที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนที่มาจากประเทศที่สามที่อาศัยในรัฐสมาชิกโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะเดินทางไปยังรัฐสมาชิกอื่นๆสำหรับช่วงระยะเวลาสั้นๆ พลเมืองของรัฐที่ลงนามในสนธิสัญญาจะสามารถเดินทางไปยังรัฐสมาชิกอื่นได้โดยปราศจากขั้นตอนทางพิธีการต่างๆเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว การซื้อขายและการบริการระหว่างชายแดนและการเอาใจใส่ในวัฒนธรรมทางยุโรป6
อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายที่กล่าวถึงเสรีภาพในการเดินทางของพวกใช้แรงงานและมีบทบัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพในการเดินทางแก่ประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงการให้เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่หรือก่อสร้างบ้านเรือนแก่บรรดาพวกใช้แรงงานที่เดินทางเข้าไปประกอบการงานในรัฐของกลุ่มสมาชิกดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับการช่วยเหลือในการข้ามแดนจากประเทศภาคีหนึ่งไปยังอีกประเทศภาคีหนึ่ง การที่มีบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นมีประโยชน์ต่อการค้าร่วมกันของกลุ่มสมาชิดสหภาพยุโรป การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อนโยบายแห่งรัฐ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสุขอนามัยแห่งชาติเท่านั้น
ในบางครั้งมีหลายประเทศที่จำกัดเสรีภาพในการเดินทางออกนอกประเทศหรือห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนในรัฐเดินทางออกนอกรัฐและรวมไปถึงห้ามบุคคลของรัฐเดินทางกลับเข้ามาในรัฐด้วย ถ้าหากเห็นว่าการเดินทางกลับเข้ามาจะเป็นการก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวายหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อคนส่วนใหญ่ ผลก็คือเป็นการเนรเทศบุคคลนั้น
ค.รูปแบบและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทาง การเลือกรูปแบบของการเดินทางนั้นถือว่าเป็นการเลือกที่เป็นอิสระของผู้เดินทางและเมื่อมีการเลือกรูปแบบของการเดินทางแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐซึ่งก็คือกฎจราจร ในระบบของของการจราจรนั้น ในทางกฎหมายนั้นมีอยู่สองทฤษฎีที่เกี่ยวข้องคือ ทฤษฎีของการใช้ทางสาธารณะและทฤษฎีของตำรวจทางปกครอง
ถนนทางสาธารณะเป็นสิ่งที่สำคัญและเอื้ออำนวยต่อการใช้หลักเสรีภาพด้วยกันถึงสามหลักคือ 1.ปัจเจกชนทุกคนสามารถใช้ทางสาธารณะสำหรับการเดินทาง 2.หลักแห่งความเสมอภาคสำหรับผู้ใช่ทางสาธารณะดังกล่าวและ 3.การใช้ทางสาธารณะโดยหลักเป็นการบริการโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือค่าอัตราการใช้ทาง
แต่ขณะเดียวกันการใช้เสรีภาพในการเดินทางนั้นก็ถูกกำหนดข้อบังคับโดยอำนาจของตำรวจทางปกครองเพราะเห็นว่าตราบใดที่ยังมีการใช้ทางสาธารณะอยู่นั้น ในบางทีการใช้เสรีภาพดังกล่าวอาจไปก่อให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นในสังคมก็ได้ การใช้เสรีภาพในการเดินทางในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะโดยทางรถยนต์ซึ่งก่อให้เกิดผลตามมาคือประการแรก การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประการที่สอง การรบกวนความสงบของผู้คนในยามค่ำคืนอันเนื่องมาจากเสียงอันดังของเครื่องยนต์ และประการที่สามความต้องด้วยสุขวิทยาในเรื่องของมลพิษอันเกิดจากเตรื่องยนต์กลไกของรถยนต์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทางโดยรถยนต์นั้นการใช้เสรีภาพของตนเองในเรื่องดังกล่าวนั้นอาจจะไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นก็ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องมีการกำหนดขอบเขตแห่งกฎหมายในเรื่องนี้และในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบต่อหลักการเสรีนิยมด้วยซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของอำนาจตำรวจทางปกครองที่จะต้องเข้ามาดูแล
-ระบบของเสรีภาพในการเดินทางบนทางสาธารณะ ในเรื่องดังกล่าวนี้คงต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีทั่วไปของสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองกับเสรีภาพในการเดินทางบนทางสาธารณะ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะร่วมกัน กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ตระหนักถึงการยืดขยายกระบวนการต่างๆของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การยืดขยายดังกล่าวปรากฏก่อนอื่นในความหลากหลายและการเพิ่มขึ้นของวัตถุที่กฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านั้นที่อ้างถึง กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวการสัญจรการเดินทางโดยรถยนต์นั้นมักเกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ ยานพาหนะ ลักษณะความประพฤติในการขับขี่ การจอดรับรถยนต์เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ ตามกฎหมายจราจรแล้วผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ซึ่งจะต้องผ่านการสอบการขับขี่เสียก่อนและในปี การมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์นั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการอนุญาตเบื้องต้นซึ่งออกโดยรัฐตามความเห็นของผู้คุมการสอบใบขับขี่อนุญาตและความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี ค.ศ.1989 ได้เปลี่ยนสภาพใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มาเป็นใบอนุญาตที่มีการกำกับคะแนนซึ่งประกอบไปด้วย 12 คะแนน ถ้ามีการกระทำผิดในการขับขี่รถยนต์ก็จะถูกตัดคะแนนลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีคะแนนเหลืออยู่ก็จะถูกริบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ดังกล่าว เช่นขับรถขณะมึนเมาถูกตัด 6 คะแนนเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายออกมาบังคับผู้ขับขี่รถยนต์นั้นต้องทำประกันภัยรถยนต์และประกันอุบัติภัยบุคคลที่สามด้วย ส่วนในทางสภาวะทางกายภาพบางประการ เช่น ต้องไม่มึนเมาในขณะขับขี่นั้นกฎหมายให้อำนาจแก่ตำรวจที่จะทำการตรวจผู้ขับขี่รถยนต์ว่าดื่มสุรามาหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้ขับขี่รถยนต์ปฏิเสธที่จะให้ตำรวจตรวจดังกล่าวก็โดนปรับหรือไม่ก็ทั้งปรับและจำคุกตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องมีเข็มขัดนิรภัยและขยายผลไปถึงผู้โดยสารอีกด้วย เช่น ต้องคาดเข็มขัดในขณะโดยสารรถยนต์ นอกจากนี้ผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์ก็ต้องสวมหมวกนิรภัยด้วย
ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับยานพาหนะนั้นมีไม่มากมายเท่ากับในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขับขี่รถยนต์ เช่นบังคับว่ายานพาหนะนั้นต้องมีหน้าปัดบอกเลขไมล์ชัดเจน ต้องมีใบอนุญาตที่เรียกว่า carte grise ต้องมีเครื่องอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะ ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนด กฎเกณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างเข้มงวดกับยานพาหนะที่ทำการรับส่งผู้โดยสาร
ในส่วนที่เกี่ยวกับความประพฤติในการขับขี่ยานพาหนะ ต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์จราจรต่างๆอย่างเข้มงวด เช่นสัญญาณไปจราจร สัญลักษณ์จราจรตามถนนหนทาง การจำกัดความเร็วในการขับขี่ เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับการจอดรถก็ต้องดูว่าที่ใดที่ห้ามจอดหรือจอดได้ในเวลาใดบ้าง หรือต้องหยอดเหรียญเสียค่าจอดตามริมทางที่ทางการนำมาตั้งไว้ มิเช่นนั้นแล้วก็จะต้องเสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่งจากเจ้าหน้าที่
สุดท้ายคือการพัฒนาการของระบบการเดินทางโดยรถยนต์ดังกล่าวก็จะมีผลสะท้อนกลับมายังประชาชนผู้เดินเท้านั่นเองกล่าวคือ เป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับประชาชน จะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์ทางจราจรที่สร้างขึ้นมานั้นพยายามขยายและให้ความสำคัญกับเสรีภาพของผู้เดินเท้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญเท่าๆกับเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้วย
-การขยายอำนาจของตำรวจทางปกครอง กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ คนขับพาหนะนั้นก็ได้สร้างอำนาจให้แก่ตำรวจทางปกครองในเรื่องดังกล่าวซึ่งแสดงออกให้เห็นในสามเรื่องดังนี้คือ อำนาจของตำรวจ วัตถุประสงค์ในการติดตามและวิธีการในการปฏิบัติ
ในเรื่องแรกนั้นการเดินทางทุกประเภทนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมและการกำกับดูแลภายใต้ระบบตำรวจโดยทั้งการที่มีกฎเกณฑ์ในการกำหนดเรื่อดังกล่าวแล้วก็เรื่องในการป้องกันและปราบปรามกรณีมีการละเมิดฝ่าฝืนทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือความปลอดภัย
ในเรื่องที่สอง วัตถุประสงค์ของการติดตาม เป็นวัตถุประสงค์ที่คลาสสิคของตำรวจทางปกครองซึ่งได้แก่ ความสงบ ความปลอดภัยและสุขอนามัย
ส่วนวิธีการในการปฏิบัติติดตามเป็นเรื่องของการป้องกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสอบใบขับขี่หรือการที่ต้องมีใบทะเบียนรถ
เมื่อมีการไม่เคารพต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการขับขี่แล้ว ก็อาจจะได้รับโทษทางอาญา โทษปรับ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่รถยนต์เป็นต้น
3. เสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคล
แนวความคิดเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าทุกๆคนมีขอบเขตกิจกรรมส่วนเฉพาะตัวและมีอำนาจที่จะห้ามบุคคลอื่นเข้ามาล่วงล้ำขอบเขตกิจกรรมส่วนตัวดังกล่าว เสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคลนั้นได้รับการปกป้องโดยมาตรา 8 ของ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1950และมาตรา 17 ของกติกาโอนีเซียง ค.ศ.1966 ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพลเมืองและการเมือง ส่วนในประเทศฝรั่งเศสนั้นได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตส่วนบุคคลโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1970และปรากฏต่อมาในมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ในส่วนของเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นประกอบไป 6 เสรีภาพที่สำคัญๆ ดังนี้ 1.เสรีภาพในที่อาศัย (la liberte du domocile) 2.สิทธิในความลับ(le droit au secret) 3.สิทธิในการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสาร(le droit a l'invioliabilite des correspondances) 4.สิทธิในการปกป้องข้อมูล(le droit a la protection des informations nominatives) 5.สิทธิในชีวิตครอบครัวที่เป็นปกติสุข(le droit a la vie familiale normale) 6. สิทธิในชีวิตเรื่องเพศ(le droit a la vie sexuelle)เสรีภาพในเรื่องเพศได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในส่วนของเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก ตามศาลประชาคมยุโรปถือว่า สิทธิในชีวิตเรื่องเพศนั้นนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคลด้วย7
ก.เสรีภาพในที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยนั้นมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายที่คงมีอยู่ระหว่างบุคคลกับที่อาศัยของบุคคลอันเนื่องมาจากความสำคัญในเรื่องกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่มีอยู่เหนือตัวทรัพย์นั้น ดังนั้นที่อยู่อาศัยของบุคคลซึ่งเป็นที่อยู่ของครอบครัวนั้นจึงต้องได้รับการป้องกันแต่อย่างไรก็ตามในบางสมัยบางเวลาก็ไม่ได้มีการเคารพต่อเสรีภาพในที่อยู่อาศัยดังกล่าวอันเนื่องมาจากสถานการณ์สงคราม การยึดครองประเทศ การยึดทรัพย์ การบุกรุกการโจมตี การปล้นสดมภ์ การทำลายล้าง เป็นต้น การเคารพเสรีภาพในที่อยู่อาศัยนั้นประกอบไปด้วยสองแนวความคิดคือ แนวความคิดในการเลือกอย่างอิสระและแนวความคิดการละเมิดมิได้ในที่อยู่อาศัย
-แนวความคิดในการเลือกอย่างอิสระ ที่อยู่อาศัยนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแต่สถานที่หลักของบุคคลที่อาศัยอยู่เท่านั้นและได้ประโยชน์จากการที่กฎหมายปกป้องคุ้มครองเท่านั้นแต่แม้เป็นสถานที่อาศัยอยู่ชั่วคราวก็ย่อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้นบุคคลที่อยู่อาศัยในที่อยู่นั้นๆต่างก็มีเสรีภาพ มีอิสระที่จะเลือกและอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีอิสระที่จะใช้ที่อยู่อาศัยของเขาเองอย่างไรก็ได้ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่าต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ต้องไม่สร้างอันตรายและไม่สร้างความไม่ถูกสุขลักษณะให้เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเคหสถานของตนเอง ดังนั้นการใช้อิสระของตนในเคหสถานนั้นต้องเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางบ้านเมือง มิเช่นนั้นตำรวจทางปกครองก็จะเข้ามาแทรกแซงการใช้เสรีภาพในเคหสถานดังกล่าวได้เพราะเป็นถือว่าเป็นสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านรอบข้างได้ เช่น เปิดวิทยุโทรทัศน์เสียงดังมากในเคหสถานของตนจนทำให้เพื่อนบ้านไม่สามารพักผ่อนในยามค่ำคืนได้ หรือการเดินรวดไฟฟ้ารอบบ้านของตนพร้อมทั้งปล่อยกระแสไฟฟ้าจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เป็นต้น
นอกจากนี้กฎหมายแพ่งฝรั่งเศสยังให้สิทธิแก่เจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าบ้านออกจากบ้านเช่าได้ ถ้าพบว่าผู้เช่าบ้านนั้นใช้บ้านผิดวัตถุประสงค์ของการเช่า เช่น ใช้บ้านให้เป็นสถานที่ทำการค้าประเวณี เป็นต้น
-แนวความคิดการละเมิดมิได้ในที่อยู่อาศัย กฎหมายของบ้านเมืองได้สร้างหลักในเรื่องดังกล่าวไว้เลยว่า ห้ามบุคคลทุกคนที่จะเข้าไปในเคหสถานของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของผู้ที่เป็นเจ้าของเคหสถานหรือผู้ที่ครอบครองเคหสถานนั้นอยู่ ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้าไปในเคหสถานของคนอื่นนั้นรวมถึงผู้ที่ให้เช่าบ้านของตนแก่ผู้เช่าด้วย ส่วนในส่วนที่เกี่ยวกับผู้แทนจากทางการแล้วก็มีขอยกเว้นในเรื่องดังกล่าวคือ ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบหาหลักฐานในบ้านของผู้ที่ต้องสงสัยในคดีหนึ่งและหรือมีหมายค้นมาด้วย โดยหลักการแล้วการละเมิดมิได้ในเคหสถานนั้น ในช่วงเวลากลางคืนนั้นถือว่าเป็นการห้าม ยกเว้นแต่ในกรณีเพื่อความมั่นคงของรัฐ ในภาวะวิกฤตของรัฐ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นในเวลากลางวันแล้วก็สามารถทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญา
ข.สิทธิในความลับหรือความลับในวิชาชีพ สิทธิในความลับหรือความลับในวิชาชีพนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการเคารพในชีวิตส่วนบุคคล บุคคลบางประเภทอาจจะเป็นเพราะความเต็มใจของผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจโดยอำนาจแห่งกฎหมายนำบุคคลนั้นไปสู่การรับรู้สถานะที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตส่วนบุคคลของคนอื่นๆโดยวิชาชีพของบุคคลนั้นเอง เช่น นายแพทย์ ทนายความ เป็นต้น ในส่วนของนายแพทย์นั้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นผู้ที่รู้ประวัติการรักษาและความเจ็บป่วยของคนไข้เป็นอย่างดี ทนายความก็เช่นกันก็จะรู้ถึงข้อมูลส่วนตัวทางด้านทรัพย์สินและทางด้านครอบครัวของลูกความของตนเองเป็นอย่างดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐที่เก็บข้อมูลของประชาชนส่วนบุคคลไว้ในหลายหน่วยงานที่แตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องสุขภาพก็ได้แก่ ฝ่ายงานบริหารของโรงพยาบาล ในเรื่องสินทรัพย์ก็ได้แก่ ฝ่ายงานด้านภาษีของรัฐ และนอกจากนี้กระบวนการทางศาลและทางตำรวจก็เช่นกันที่สอบสวนบางเรื่องไปถึงขอบเขตของชีวิตส่วนบุคคล แต่อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้ามก็ยังมีหลักประกันในการคุ้มครองชีวิตส่วนบุคคลอยู่ก็คือการเคารพต่อความลับในวิชาชีพซึ่งปรากฏในมาตรา 378 ของประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส การที่กฎหมายบังคับต้องเก็บข้อมูลของคนอื่นเป็นความลับโดยวิชาชีพนั้นยังรวมไปถึงการละเมิดเปิดเผยข้อมูลอีกด้วย รัฐบัญญัติลงวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1978รับรองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงเอกสารทางราชการแต่ไม่รวมถึงเอกสารที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพราะเห็นว่าถ้าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นการทำร้ายต่อชีวิตส่วนบุคคลนั้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงระมัดระวังเป็นอย่างมากในกรณีดังกล่าว ในปี ค.ศ.1995 ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1995 ในการป้องกันความลับของบุคคลต่อกล้องวิดีทัศน์ที่คอยติดตามเฝ้าดูอยู่ การที่จะใช้กล้องวิดีโอติดตั้งที่ใดเพื่อจับภาพเคลื่อนไหวของบุคคลนั้นถือว่าเป็นการละเมิดต่อชีวิตส่วนบุคคลนั้น ดังนั้นการกระทำดังกล่าวไม่สามารถทำได้ยกเว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากที่ว่าการจังหวัดอย่างแจ้งชัดภายหลังจากที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการภาค นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเขตที่จะติดตั้งกล้องวิดีโอสอดส่อง เช่น ในสถานที่ทางเข้าของอาคาร สถานที่สาธารณะหรือในสถานที่ที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสถานที่ที่เสี่ยงในการที่จะเกิดอาชญากรรม การที่กฎหมายกำหนดกรอบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าค่อนข้างกว้างมากและก่อให้เกิดการกังวลใจในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดต่อไปว่าการติดตั้งกล้องนั้นจะสอดส่องเฝ้าดูได้แต่ภายนอกเท่านั้นไม่สามารถติดตั้งสอดส่องเข้าไปถึงภายในด้วยและยังห้ามต่อไปว่าภาพที่อัดหรือถ่ายเก็บไว้ได้นั้นสามารถเก็บรักษาไม่เกินกว่า 1 เดือน ยกเว้นแต่ในกรณีมีการดำเนินคดีทางศาลและนอกจากนี้ให้สิทธิแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อในการรับรู้ถึงการบันทึกภาพโดยวิดีโอดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบหรือการทำลาย ดังนั้นสิทธิในความลับดังกล่าวจึงได้รับการปกป้องเพราะว่าศาลไม่เพียงแต่เยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิดังกล่าวเท่านั้นแต่ยังขัดขวางหรือหยุดการกระทำดังกล่าวได้อีกด้วย ปัจเจกชนแต่ละคนสามารถบอกเลิกที่จะเก็บรักษาความลับบางอันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนบุคคลนั้นได้ในกรณีที่การเปิดเผยดังกล่าวไม่เกิดการกระทบกระ
เทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ในอดีตนั้นความลับในครอบครัว ความลับในฐานะทางการเงินนั้นถือว่าเป็นความลับส่วนบุคคลที่ได้รับการปกป้อง ถ้ามีการเปิดเผยในเรื่องดังกล่าวผู้เปิดเผยก็จะได้รับการลงโทษ แต่ต่อมาภายหลังในช่วงปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมานั้น ศาลฝรั่งเศสได้ยอมรับในการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวนั้นภายใต้เงื่อนไขที่ว่า 1. บทความนั้นเขียนโดยนักหนังสือพิมพ์โดยอาชีพ 2.มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ 3.ข้อความดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย 4.การพิมพ์เผยแพร่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความฉาวโฉ่ขึ้น อย่างไรก็ตามตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสประกาศอย่างแจ้งชัดในการปฏิเสธว่าสิทธิดังกล่าวมีคุณค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญโดยเห็นว่ามีคุณค่าเทียบเท่ากับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ลักษณะดังกล่าวเป็นการนำแนวความคิดของพวกอเมริกันเข้ามาในสังคมฝรั่งเศสซึ่งเป็นการที่ไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้
ค.สิทธิในการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสาร หลักการเคารพต่อสิทธิของบุคคลในการติดต่อสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักสากลเพราะการละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิของปัจเจกชนที่จะแลกเปลี่ยนความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นความลับโดยทางติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น8ในเรื่องดังกล่าวมีอยู่สองกรณีคือ การคุ้มครองความลับของจดหมายและการคุ้มครองการสื่อสารทางโทรศัพท์ การละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อสารดังกล่าวได้รับการรับรองครั้งแรกในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ในมาตรา 10 และ11ซึ่งมาตรา 10 บัญญัติดังนี้"บุคคลย่อมไม่ต้องหวั่นเกรงสิ่งใดในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นเรื่องทางศาสนาก็ตาม ถ้าการแสดงออกนั้นไม่กระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยที่กำหนดโดนกฎหมาย"ส่วนมาตรา 11 บัญญัติดังนี้ "การติดต่อสื่อสารกันทางความคิดและความเห็นเป็นสิทธิที่มีค่าที่สุดประการหนึ่งขงมนุษย์แต่ละคน พลเมืองแต่ละคนจึงอาจพูด เขียน พิมพ์โดยอิสระ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ" จากทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ร่างคำประกาศมีเจตนารมณ์ที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นอันเป็นรากฐานการตีความขยายต่อมาภายหลังไปถึงเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารทางจดหมายและทางโทรศัพท์ไปด้วย
ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความลับของจดหมายนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้มีการยอมรับหลักการดังกล่าวในกฤษฎีกา ลงวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1789 ว่า"ความลับของจดหมายต้องได้รับการเคารพอย่างสม่ำเสมอ"และถัดมาในประมวลกฎหมายอาญา ค.ศ.1810 มาตรา 187 ก็ได้มีบทบัญญัติรับรองในเรื่องดังกล่าวและตามมาด้วยรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1922 ซึ่งขยายบทลงโทษไปถึงถึงเอกชนและมาตรา 41 ของประมวลกฎหมายPและTก็ได้มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ซึ่งใช้สำหรับข้ารัฐการ บทบัญญัติดังกล่าวได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลายครั้งแต่ได้รับการปฏิบัติและยอมรับอย่างจริงจังก็ตั้งแต่ในสมัยสาธารณรัฐที่สามเป็นต้นไป ปัจจุบันนี้บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวปรากฏในมาตรา 226-15และมาตรา432-9ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมาตรา 226-15 บัญญัติว่า"การกระทำที่กระทำโดยความไว้วางใจโดยทุจริตที่เปิด ยกเลิก ทำให้ล่าช้าหรือยักยอกการติดต่อสื่อสารทางจดหมายหรือกระทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางและส่งไปยังบุคคลอื่นหรือกระทำการโดยการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งจดหมาย บุคคลนั้นต้องโทษจำคุกหนึ่งปีและปรับเป็นเงินสามแสนฟรังส์"มาตราดังกล่าวใช้กับบุคคลทั่วไป แต่มาตรา 432-9 นั้นใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยบัญญัติว่า"การกระทำที่กระทำโดยผู้รับฝากซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่มีหน้าที่ในการบริการสาธารณะใช้อำนาจและหน้าที่ออกคำสั่ง กระทำการ หรืออำนวยความสะดวกนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดไว้โดยยักยอก ยกเลิกหรือเปิดจดหมายหรือเปิดเผยเนื้อหาของจดหมาย บุคคลดังกล่าวต้องโทษจำคุกสามปีและปรับเป็นเงินสามแสนฟรังส์"
ในบางครั้งก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่ามีการเปิดเผยเนื้อหาของจดหมายลับหรือไม่อย่างไร อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพราะเหตุที่ว่ามีการกระทำทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอ่านเนื้อหาของจดหมายได้โดยไม่มีการทำลายเปิดซองจดหมายแต่อย่างใด
ในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและมาตรการลงโทษการดักฟังทางโทรศัพท์ ในประเทศฝรั่งเศสได้เพิกเฉยการละเมิดในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลานานอันเนื่องจากรัฐนั้นเองเป็นผู้กระทำการดังกล่าว จนกระทั่งในที่สุดฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติให้การยอมรับการละเมิดไม่ได้ในการติดต่อสื่อ
สารทางโทรศัพท์ในมาตรา 187 ของประมวลกฎหมายอาญาในค.ศ.1810 แต่ข้อยกเว้นดูเหมือนจะเป็นหลักมากกว่าซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรามในทางอาญาในเรื่องดังกล่าว ผลก็คือมีการปฏิบัติการดักฟังทางโทรศัพท์โดยถูกกฎหมายโดยอ้างถึงความจำเป็นในเรื่องของการสอบสวนและ
แนวคำพิพากษาของศาลก็ได้ยอมรับหลักการดังกล่าวด้วยมาตรแม้นว่าจะไม่มีบทบัญญัติหรือกฎ-เกณฑ์ให้อำนาจในเรื่องดังกล่าวไว้เลยก็ตาม ฝ่ายรัฐได้ปฎิเสธตลอดเวลาว่ามีการละเมิดโดยการดักฟังทางโทรศัพท์ ต่อมาในปีค.ศ.1973ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวและในปี ค.ศ.1974รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำข้อผูกมัดกำหนดขอบเขตการดักฟังทางโทรศัพท์เฉพาะในเรื่องความจำเป็นการปรามทางอาญา ความมั่นคงภายในและภายนอกของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังปราศจากบทบัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าวทั้งในหลักการ ข้อยกเว้นและบทลงโทษซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะปัญหาการดักฟังโทรศัพท์
ในปีค.ศ.1982ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยประธานศาลสูงสุดเป็นประธานได้ทำการศึก-ษาถึงกรณีดังกล่าวโดยในรายงานการศึกษาได้เน้นถึงหลักการการห้ามดักฟังทางโทรศัพท์และข้อ-ยกเว้นโดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการดักฟังโทรศัพท์โดยศาลกับการดักฟังโทรศัพท์โดยฝ่ายปกครองซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายปกครองนั้นจะกระทำได้ก็แต่ในกรณีเพื่อความมั่นคงภายในและความมั่นคงภายนอกรัฐเท่านั้นโดยการยืนยันโดยนายกรัฐมนตรีและและภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการ แต่รายงานการศึกษาดังกล่าวก็เป็นเพียงรายงานการศึกษาต่อไปหามีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไม่ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1990 ศาลประชาคมยุโรปได้ตัดสินว่ากฎหมายของฝรั่งเศสละเมิดต่อบทบัญญัติ มาตรา 8 ของ Convention européenne des Droits de l'Hommeที่บัญญัติว่า"บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับความเคารพในสิทธิชีวิตส่วนบุคคล ชีวิตครอบครัว ในเคหสถานและในการติดต่อสื่อสาร" ศาลประชาคมยุโรปได้ตัดสินว่ากฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลฝรั่งเศสนั้นไม่ได้สนองตอบการดำรงอยู่ของความชอบด้วยกฎหมายของมาตรา 89 จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลประชาคมยุโรปทำให้ฝ่ายตุลาการของฝรั่งเศสได้ยอมรับแนวคำวินิจฉัยดังกล่าวถัดจากนั้นฝ่ายนิติบัญญัติของฝรั่งเศสต้องมาทบทวนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังโดยปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายของฝรั่งเศสนั้นไม่ขัดกับกฎหมายดังกล่าวของประชาคมโดยมีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1991โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามการดักฟังโทรศัพท์ของเอกชน สำหรับการดักฟังที่กระทำโดยหน่วยงานราชการนั้นได้แยกออกเป็นสองประเภทคือ ฝ่ายปกครองและฝ่ายศาล โดยฝ่ายปกครองจะดักฟังโทรศัพท์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการๆมีอำนาจเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ระงับการดักฟังโทรศัพท์ได้ การดักฟังโทรศัพท์สามารถทำได้ในเรื่องเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเป็นการป้องกันการก่อการร้าย
สำหรับการดักฟังโดยศาลนั้นสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีอาชญากรรมซึ่งขึ้นอยู่กับความหนักเบาของโทษ10
ง.สิทธิในการปกป้องข้อมูล แนวความคิดในการปกป้องข้อมูลข่าวสารในฝรั่งเศสได้มีการพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 70 การละเมิดต่อข้อมูลข่าวสารถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการปกป้องสิทธิในข้อมูลดังกล่าวแต่แนวคำวินิจฉัยของศาลก็ยอมรับถึงสิทธิในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามในที่สุดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและประชาคมยุโรปก็เริ่มแทรกแซงในเรื่องดังกล่าว โดยประชาคมยุโรปได้ยอมรับสิทธิดังกล่าวในConvention eupopéenne pour la protection des personnes à l'égard du traitement automatisé des données à caractére personnel ลงวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1981 ในอนุสัญญาดังกล่าวได้ยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนและมีสิทธิได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือมีสิทธิให้ลบทิ้งเมื่อพบว่ามีการละเมิดของกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นเพื่อให้ความคิดเห็นและจัดทำบทบัญญัติเพื่อให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายภายในนั้น ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1978 เกี่ยวกับข้อมูล บัตรดัชนี และเสรีภาพแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีมาก่อนอนุสัญญา ปี 1981 ก็ตาม รัฐบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ขัดหรือแย้งกับอนุสัญญา รัฐบัญญัติดังกล่าวบัญญัติรับรองว่าข้อมูลมีเพื่อขึ้นการรับใช้พลเมืองแต่ละคนและต้องไม่ละเมิดต่อลักษณะของบุคคล สิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพของปัจเจกชนหรือมหาชน สำหรับอนุสัญญานั้นได้บัญญัติถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไว้สามประการคือ สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเอง สิทธิที่จะได้รับการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในกรณีที่มีการผิดพลาด สิทธิที่จะได้รับการยกเลิกในกรณีที่มีการละเมิดโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อชีวิตส่วนบุคคล
รัฐบัญญัติลงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1978 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เน้นไปยังเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลและได้มีการก่อตั้ง คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติLa Cnil (Commission nationale de l'informatique et des liberté s)ขึ้นเป็น คณะกรรมการอิสระไม่อยู่ใต้อำนาจขององค์กรใด ประกอบไปด้วยกรรมการ 17 คนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีโดยมีกรรมการ 2 คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ 2 คน มาจากสมาชิกวุฒิสภา กรรมการ2 คนมาจากสภาเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ 2 คนมาจากศาลปกครองสูงสุด กรรมการ 2 คน มาจากศาลฎีกา กรรมการ 2 คนมาจากศาลการคลังและภาษี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน มาจากการแต่งตั้งโดยกฤษฎีกาจากการเสนอของประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรและกรรมการอีก 3 คนมาจากการแต่งตั้งโดยกฤษฎีกาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
คณะกรรมการCnil มีอำนาจหน้าที่หลักๆอยู่หลายประการด้วยกันดังนี้ ประการแรก รายงานการทำงานประจำปีต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐและต่อรัฐสภา ประการที่สอง ประการที่สองทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาคำแนะนำและความเห็นแก่บุคคลที่จัดการเอกสารข้อมูลโดยการเสนอให้มีการปฏิรูปทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ ประการที่สาม มีอำนาจในการตรากฎเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานที่ให้ความมั่นคงแก่ระบบในการจัดเก็บเอกสาร ประการที่สี่ มีอำนาจในการอนุญาตหรือปฏิเสธการจัดเก็บเอกสารที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ประการที่ห้าอำนาจทั่วไปในการควบคุม เป็นต้น
จ.สิทธิในชีวิตครอบครัวที่เป็นปกติสุข สิทธิดังกล่าวถือเป็นมิติที่สำคัญของสิทธิส่วนบุคคลเนื่องจากการก่อตั้งครอบครัวถือว่าเป็นการก่อตั้งสถาบันหลักของสังคม ทางประเทศตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากดังเห็นจาก Convention européenne de sauvegarde des droits de l'Homme มาตรา 8 บัญญัติว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพในชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตครอบครัว"และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ.1946ได้บัญญัติรับรองเรื่องดังกล่าวด้วยว่า"ชาติย่อมให้หลักประกันแก่ปัจเจกชนและครอบครัวของเขา ในอันที่จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาของเขาเหล่านั้น"นอกจากนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสยอมรับหลักการดังกล่าวว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยอมรับหลักการดังกล่าวว่ามีค่าเทียบเท่ารัฐ- ธรรมนูญ การรับรองสิทธิดังกล่าวมีอยู่สามประการดังต่อไปนี้
ประการแรก สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวซึ่งหมายถึงสิทธิในการแต่งงาน สิทธิดังกล่าวปรากฏอยู่ใน Convention européenne de sauvegarde des droits de l'Homme มาตรา 12 บัญญัติว่า"เมื่อถึงวัยแห่งการแต่งงาน ชายและหญิงต่างมีสิทธิที่จะแต่งงานและสร้างครอบครัวตามกฎหมายแห่งชาติที่ให้ใช้สิทธิดังกล่าว" ในประเทศฝรั่งเศสสิทธิในการแต่งงานนั้นปรากฏอยู่ในมาตรา144และมาตราอื่นๆของประมวลกฎหมายแพ่งโดยกำหนดให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะสามารถแต่งงานได้ ดังนั้นบุคคลที่เป็นผู้เยาว์นั้นจึงไม่มีสิทธิดังกล่าวแต่สตรีที่เป็นผู้เยาว์สามารถแต่งงานได้นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขสองประการต้องมีอายุ15ปีขึ้นไปและได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา นอกจากนี้มาตรา 147 ของประมวลกฎหมายแพ่งบัญญัติว่า"บุคคลไม่สามารถแต่งงานครั้งที่สองได้ถ้ายังไม่มีการยกเลิกการแต่งงานครั้งแรก" มาตรา 175-2 ของประมวลกฎหมายแพ่งได้อนุญาตให้อัยการคัดค้านการแต่งงานที่เกิดจากการหลอกลวงได้ คู่สมรสสามารถคัดค้านโดยฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ แต่อัยการก็สามารถกลับไปทบทวนโดยเลื่อนออกไปได้อย่างมากไม่เกิน 1 เดือน เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศ ศาลประชาคมยุโรปได้ลงโทษรัฐที่ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงฐานะบุคคลโดยถือว่าเป็นการละเมิดต่อมาตรา 8 ที่กล่าวมาข้างต้นเพราะถือว่าเป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงการแปลงเพศเป็นการขัดขวางบุคคลแปลงเพศที่จะดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างเป็นปกติสุขแต่จะปฏิเสธที่จะตัดสินว่าเป็นการละเมิดต่อมาตรา 12 เพราะมาตราดังกล่าวยอมรับการแต่งงานของชาย หญิงที่แท้จริงเท่านั้น
ในประเทศตะวันตก ศาลจะไม่ตีความคำว่า "ชาย"และ"หญิง"ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้ผ่าตัดแปลงเพศและถึงแม้กฎหมายจะใช้คำว่า"บุคคล"แทนคำว่า"ชาย"และ"หญิง"ก็ตาม ศาลยังตีความคำว่า"บุคคล"ให้หมายถึงแต่เฉพาะ"ชายจริง"และ"หญิงแท้"เท่านั้น11 ศาลสูงของฝรั่งเศสยังคงยึดหลักการดังกล่าวมาโดยตลอดในคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับบุคคลแปลงเพศ ดังนั้นในกรณีของบุคคลรักร่วมเพศที่จะแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้การยอมรับในกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลแปลงเพศหรือบุคคลรักร่วมเพศประสงค์จะแต่งงานตามกฎหมายนั้น มีผู้เห็นกันว่าน่าจะยอมรับให้มีการจดทะเบียนกันได้ตามกฎหมายที่มิใช่เป็นการแสดงถึงการจดทะเบียนสมรสแต่อาจเรียกว่าใบสำคัญแสดงฐานะการอยู่กินร่วมกันซึ่งควรมีรูปแบบการจดทะเบียนเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงความหมายของคำว่าสมรสที่กฎหมายบัญญัติสำหรับผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นเพราะเห็นว่าการอยู่ร่วมกันของบุคคลในกลุ่มดังกล่าวเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
สิทธิในการก่อตั้งสร้างครอบครัวน่าจะมีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นนอกจากการสมรสอีกด้วย เช่น การอยู่กินร่วมกัน และรวมไปถึงสถานะของการเป็นผู้ปกครองฝ่ายเดียว(single-parent)คือ
ชายหม้ายหรือหญิงหม้ายเพียงฝ่ายเดียวที่เลี้ยงดูบุตร ศาลประชาคมยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ยืนยันถึงผลของมาตรา 8 ว่ามีผลบังคับรัฐสมาชิกที่จะต้องอนุญาตให้ปัจเจกชนไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ก็ตามสามารถดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างเป็นปกติสุขได้
ประเภทที่สอง สิทธิที่จะอาศัยอยู่กับครอบครัว สิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ลี้ภัย พวกอพยพถิ่นฐานเสียส่วนใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศทางตะวันตกเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้อพยพเข้าประเทศในแถบยุโรปตะวันตกมากมายโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส กฎหมายของฝรั่งเศสได้ยอมรับถึงสิทธิดังกล่าวเพราะเห็นว่าบุคคลมีสิทธิที่จะอยู่ร่วมกับครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นสถาบันของสังคมและในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มพวกต่อต้านคนต่างชาติที่อพยพเข้ามา กฎหมายของฝรั่งเศสถือว่าคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาสองปีขึ้นไปย่อมมีสิทธิที่จะนำคู่ชีวิตและบุตรผู้เยาว์เข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสได้เมื่อบุคคลนั้นมีที่อยู่ที่เหมาะสมและมีรายได้เพียงพอที่จะยัง ชีพได้ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เป็นต้นมา ชาวต่างชาติที่มีคู่ชีวิตหลายคนสามารถนำคู่ชีวิตของคนเข้ามาในฝรั่งเศสได้เพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีบทกฎหมายห้ามในเรื่องดังกล่าวไว้
ถ้ามีการหย่าเกิดขึ้น ตามมาตรา 287 ของประมวลกฎหมายแพ่ง ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้มอบหมายให้บุตรให้อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยส่วนใหญ่ของเวลาเลี้ยงดูแล้วจะตกได้แก่มารดา ส่วนเวลาที่เหลือสำหรับบิดาก็คือ ในช่วงพักร้อน หยุดเทอมและเวลาสุดสัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกรณีดังกล่าวสิทธิในการที่อาศัยอยู่กับครอบครัวนั้นได้แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา
ประเภทที่สาม สิทธิที่จะได้รับความเคารพในเรื่องความลับของครอบครัวเป็นสิทธิของบุคคลที่จะคัดค้านการสกัดกั้นหรือการเปิดเผยภาพลักษณ์หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว มาตรา 9 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฝรั่งเศสได้บัญญัติให้มีการแก้ไข ขัดขวางหรือหยุดการละเมิดสิทธิดังกล่าว
4. ความมั่นคงแห่งชีวิต(la sureté)หรือเสรีภาพในชีวิตร่างกาย(la liberté individuelle) เสรีภาพดังกล่าวเป็นเสรีภาพพื้นฐานและจัดเป็นเหตุสำคัญที่สุดที่นักปรัชญาเห็นกันว่า เป็นเหตุให้มนุษย์เข้ามารวมตัวกันเป็นสังคม ดังนั้นการคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลต่อการไม่ให้ผู้อื่นรวมทั้งองค์กรของรัฐเข้ามารุกรานจึงต้องให้ความสำคัญและคุ้มครองมากที่สุดในเสรีภาพทุกชนิด เพราะเป็นพื้นฐานของเสรีภาพอื่นๆทั้งหมด12 วัตถุประสงค์การรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็คือต้องการก่อให้เกิดความมั่นคงทางกฎหมายแก่ปัจเจกชนที่เผชิญกับอำนาจรัฐ ดังนั้นเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีมาตรการการป้องกันไว้ล่วงหน้าสำหรับสิทธิเสรีภาพนี้
แนวคิดของความมั่นคงแห่งชีวิตหรือเสรีภาพในร่างกายมีบทบาทที่สำคัญและค่อนข้างคลุมเคลือ อย่างไรก็ตามต้องแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความมั่นคงทางกฎหมาย ความมั่นคงในร่างกายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นระดับแห่งคุณภาพชีวิตของปัจเจกชน ถ้าปัจเจกชนมีความมั่นคงและปลอดภัยแล้วก็ถือได้ว่าระดับคุณภาพชีวิตตั้งอยู่บนฐานที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงทั้งสามรูปแบบดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้เสรีภาพ และทำให้ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องระวังในการกระทำของตนมิให้มีผลกระทบและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อทั้งสามรูปแบบ
ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการกล่าวถึงความมั่นคงแห่งชีวิตหรือเสรีภาพในชีวิตร่างกายครั้งแรกในมาตรา 2 ของคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789"วัตถุประสงค์ของสังคมการเมืองทุกสังคมย่อมเป็นไปเพื่อการคุ้มครองรักษาสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง" จะเห็นได้จากบทบัญญัติดังกล่าวได้ว่า ความมั่นคงปลอดภัยเป็นสิทธิที่ไม่มีอายุความซึ่งถือเป็นสิทธิตามธรรมชาติและมาหลังจาก เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์แต่มาก่อนการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง สังเกตได้ว่าการต่อต้านการกดขี่ข่มเหงนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการไม่เคารพต่อ เสรีภาพ กรรรมสิทธิ์ หรือ ความมั่นคงปลอดภัยแล้ว
คำจำกัดความของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตนั้นคือสภาวะของบุคคลที่มีอิสระโดยตนเอง ที่ไม่มีใครมากักขัง กักกันไว้ได้และมีเสรีภาพในการเดินทาง แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมของรัฐที่มีขึ้นเพื่อปกป้องเสรีภาพดังกล่าว ในคำประกาศรับรองฯ ปี1789 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 7,8,9 ดังนี้
มาตรา 7 บุคคลไม่อาจถูกกล่าวหา จับกุม หรือคุมขังได้ เว้นแต่ในกรณีที่กำหนดโดยกฎหมายและตามรูปแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ บุคคลใดก็ตามที่บังอาจร้องขอ ถ่ายทอด บังคับการหรือทำให้มีการบังคับตามคำสั่งตามอำเภอใจย่อมต้องรับโทษ แต่พลเมืองทุกคนซึ่งได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามนั้น การขัดขืนหรือการฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษเช่นกัน
มาตรา 8 กฎหมายอาจกำหนดโทษทางอาญาได้ก็แต่เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยชัดแจ้งเท่านั้นและบุคคลหาอาจต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายที่ตราขึ้นและประกาศใช้ก่อนการกระทำความผิดและการใช้บังคับกฎหมายนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 9 บุคคลย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการประกาศว่ามีความผิด ถ้ามีความผิด ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมผู้ใด การใช้กำลังโดยไม่จำเป็นเพี่อให้ได้ตัวบุคคลนั้นมา ย่อมมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
การให้หลักความมั่นคงในชีวิตร่างกายไม่ได้หมายความว่า รัฐจะไม่สามารถกระทำการใดๆเลยอันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพปัจเจกชนได้แต่หมายความว่ารัฐสามารถกระทำการระทบต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ดังนั้นหลักการดังกล่าวจึงทำหน้าที่เป็นผู้ป้องกันซึ่งมักจะพบเห็นได้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักการป้องกันซึ่งเสริมความมั่นคงในชีวิตร่างกายที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้แก่
1.หลักความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการวิธีพิจารณา ต้องมีวิธีพิจารณาที่เปิดเผยโดยศาลและอยู่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย
2.หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ
3.หลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง
4.หลักสิทธิในการป้องกันตนเอง
5.หลักการป้องกันโดยกระบวนการทางยุติธรรม
ในส่วนของกฎหมายของสหภาพยุโรปนั้นหลักความมั่นคงในชีวิตร่างกายได้ปรากฏอยู่ใน Convention européenne de sauvegarde des droits de l'homme et des libertés fondamentales 4 novembre 1950 มาตรา 5 โดยมีหลักการดังนี้
ประการแรก หลักการดังกล่าวเป็นสิทธิของทุกคนที่ถูกจับมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองเพื่อให้ให้ได้กลับคืนมาซึ่งสิทธิเสรีภาพ สิทธิดังกล่าวรวมไปถึงสิทธิจะได้รับรู้สาเหตุของการจับกุม สิทธิที่จะฟ้องต่อศาล สิทธิที่จะได้รับการพิจาณาในระยะเวลาที่เหมาะสม สิทธิที่จะมีทนายแก้ต่างในคดี
ประการที่สอง หลักการดังกล่าวเป็นสิทธิของทุกคนที่จะไม่ถูกจับหรือกักขัง เว้นแต่ว่าในกรณีดังต่อไปนี้ การกักขังนั้นเป็นกรณีที่เป็นการลงโทษโดยศาลที่มีเขตอำนาจ การกักขังอันเนื่องมาจากการขัดคำสั่งของศาลหรือการกักขังเพื่อเป็นการประกันต่อพันธะหรือข้อผูกพันที่กำ-หนดโดยกฎหมาย การกักขังผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดหรือต้องการละเมิดโดยมีเหตุผลอันน่าเชื่อได้เพื่อที่จำนำตัวขึ้นสู่ศาลที่มีเขตอำนาจ การกักขังผู้เยาว์สำหรับการวางแผนการศึกษาภายใต้การสอดส่องดูแล การกักขังบุคคลที่น่าจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายโรคติดต่อ การกักขังคนต่างชาติเพื่อการส่งกลับประเทศหรือเพื่อให้ห่างไกลจากดินแดนของรัฐ
จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่าสิทธิที่จะไม่ถูกจับหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นตั้ง-อยู่บนสมมุติฐานที่กำหนดไว้ว่าเป็นหัวใจของสิทธิความมั่นคงในชีวิต ในประเทศฝรั่งเศส ตุลาการถือเสมือนว่าเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพชีวิตร่างกายตามที่มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปัจจุบันกำหนดไว้
สรุป
การรับรองสิทธิเสรีภาพทางกายภาพนั้นแยกศึกษาได้เป็นสี่กลุ่มและแสดงให้เห็นถึงแนวคิดและมาตรฐานการรับรองเสรีภาพทางกายภาพในภาพของตะวันตกเป็นหลัก อย่างไรก็ตามถ้าหันกลับมามองดูการรับรองเสรีภาพดังกล่าวในไทย การรับรองเสรีภาพดังกล่าวนี้ก็ได้เดินตามแนวทางของตะวันตกเพื่อแสดงให้เห็นถึงว่าได้มีการรับรองและตระหนักถึงเช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นประเทศทางตะวันตกหรือประเทศทางตะวันออก ปัญหาที่เกิดขึ้นในการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่เสมอๆให้เห็น
เสรีภาพทางกายภาพนั้นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในบรรดาสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการละเมิดมากที่สุดจากอำนาจรัฐทั้งๆที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของรัฐก็ยอมรับและตระหนักถึง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัดตอนในคดีต่างๆ การสอบสวนโดยการทรมานเนื้อตัวร่างกายให้รับสารภาพ การจับตัวไปกักขังและหายสาบสูญไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพทางกายภาพทั้งสิ้น บทบัญญัติที่ตรารับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวเป็นเพียงแต่ลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจะเกิดผลใช้บังคับได้อย่างจริงจังขึ้นอยู่กับว่า คนในสังคมนั้นต่างตระหนักถึงมโนธรรมและการเชื่อในผลแห่งการกระทำนั้นหรือไม่และมีความเคารพต่อกติกา กฎเกณฑ์ของสังคมนั้นหรือไม่ อย่างไร กล่าวคือ มีมาตรฐานทางจิตใจและมีมาตรฐานทางกฎหมายหรือไม่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพทุกชนิดมากน้อยเพียงใด
เชิงอรรถ
6. Free Movement of Persons within the European Union,จาก http://www.Europa.EU.Int.
[กลับไปที่บทความ]
7. เสรีภาพในเรื่องเพศได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในส่วนของเสรีภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก ตามศาลประชาคมยุโรปถือว่า สิทธิในชีวิตเรื่องเพศนั้นนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคลด้วย
[กลับไปที่บทความ]
8. Gilles Libreton,op.cit.,p.260
[กลับไปที่บทความ]
9. Donna Gomien,Vade-mecum de la Convention européenne des Droits de l'Homme,Bruxelles,Collection Documents européens ;1997 ;p.65
[กลับไปที่บทความ]
10. Jean Rivero,Les libertés publiques Tome 2 Le régime des principales libertés,Paris,PUF,1997,p.
[กลับไปที่บทความ]
11. ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์, สิทธิและเสรีภาพของรักร่วมเพศชายตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ:วิเคราะห์จากปัญหาของสังคมไทย,วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543,หน้า92
[กลับไปที่บทความ]
12. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพ,2538,หน้า349
[กลับไปที่บทความ]
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2547
|