หน้าแรก บทความสาระ
นิติรัฐกับประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล
6 มกราคม 2548 21:43 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2

       
            
       ๒.๒.๑ องค์กรที่ใช้อำนาจทางบริหาร

                   
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่แยกฝ่ายบริหารออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกได้แก่ฝ่ายบริหารทั้งหมดที่อยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรี และส่วนที่สอง
       ได้แก่ ฝ่ายบริหารที่เป็นอิสระซึ่งเดิมนั้นอยู่ภายใต้คณะรัฐมนตรีมาก่อน ได้แก่ คณะกรรมการ
       การเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น องค์กรเหล่านี้
       แม้จะใช้อำนาจในลักษณะทางบริหารแต่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี
       นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เช่นเดียวกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ


                   
       (๑) คณะกรรมการการเลือกตั้ง

                   
       คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีก ๔ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

                   
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ บัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองและเป็นผู้รักษาการกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ นอกจากนั้น ยังได้บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศกำหนดการ และสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ ประกาศผลการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ และดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑
       ได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง


                   
       (๒) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)

                   
       คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการ
       ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก ๘ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

                   
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไต่สวนข้อเท็จจริงและทำความเห็นในกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับสูงออกจากตำแหน่งหรือดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไต่สวนวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับที่มา อำนาจหน้าที่และวิธีการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
       การทุจริตแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการโดยเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อประธาน
       และคณะกรรมการ ป.ป.ช.

                   
       ในส่วนของกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น จะเริ่มจาก
       เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯเพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือเพื่อให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมแล้ว คณะกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป โดยต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่
       ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงข้อกล่าวหา แสดงพยานหลักฐาน หรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลซึ่งผู้กล่าวหาไว้วางใจ
       เข้าฟังในการชี้แจงหรือให้ปากคำของตนได้ เมื่อได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วต้องเสนอสำนวนการไต่สวนดังกล่าวต่อประธานกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป ถ้าคณะกรรมการฯวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ข้อกล่าวหานั้นจะตกไป ถ้าข้อกล่าวหา
       มีมูลก็จะต้องส่งเรื่องไปยังศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อไป


                   
       (๓) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

                   
       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยประธานกรรมการ
       และกรรมการอื่นอีก ๙ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของวุฒิสภา
       โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
       มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยตรง
       แต่มีอำนาจหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการเงินของแผ่นดินของหน่วยรับตรวจซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

                   
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๒ บัญญัติให้การตรวจเงินแผ่นดินกระทำ
       โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
       ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ
       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง โดยมีสำนักงาน
       การตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ
       การปฏิบัติงาน และการดำเนินการอื่น

                   
       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำแก่
       ฝ่ายบริหารในการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมเงินของรัฐ
       ตลอดจนออกระเบียบเพื่อกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเกี่ยวกับระบบและการควบคุม
       การตรวจสอบการบริหารงบประมาณ ซึ่งเป็นมาตรการด้านการป้องกัน ในกรณีที่ปรากฏว่าหน่วยตรวจมีเจตนาหรือปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติการตามมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหาร
       งบประมาณตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯโดยไม่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการฯมีอำนาจเสนอข้อสังเกตและความเห็นพร้อมทั้ง
       พฤติการณ์ของหน่วยรับตรวจนั้นต่อประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการของรัฐสภา
       ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป


                   
       (๔) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

                   
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกินสามคน โดยมีวาระ
       การดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
       ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้

                   
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสอบสวน
       ข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของประชาชนในกรณีข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา หรือในกรณีที่
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยมีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา


                   
       (๕) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                   
       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีก ๑๐ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

                   
       รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๙ และมาตรา ๒๐๐ บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเว้นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือไม่ เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับ
       สิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสม รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภาและ
       คณะรัฐมนตรี ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่อื่นของคณะกรรมการฯ ตลอดจนคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม การสรรหา การเลือก การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ

                   
       เรื่องที่จะเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจริเริ่มมาจากคณะกรรมการฯเองหรือจากการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว
       คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขต่อไป


                   
       ๒.๒.๒ องค์กรตุลาการ

                   
       องค์กรตุลาการหรือศาลนั้นมีระบบที่รับรองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีไว้เป็นพิเศษ และเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธย เป็นการใช้อำนาจ
       ทางตุลาการซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจทางบริหารหรือนิติบัญญัติ ปัจจุบันหน่วยธุรการ
       ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรมไม่เป็นหน่วยงานที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เช่นกัน ยกเว้นการบังคับคดีของ
       ศาลยุติธรรมที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น องค์กรศาลที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญมากในระบบนิติรัฐ เพราะคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
       ที่ถึงที่สุดจะได้รับการยอมรับบังคับตามจากทุกฝ่าย

                   
       ปัจจุบันประเทศไทยมีศาล ๔ ระบบศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม
       ศาลปกครอง และศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญกับศาลทหารเป็นศาลที่มีลักษณะพิเศษและมีอำนาจเฉพาะเรื่อง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจที่สำคัญที่สุด คือ การวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ
       แห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอำนาจอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและประชาชนทั่วไปจะฟ้องคดียังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้
       ศาลทหารมีอำนาจตัดสินคดีเฉพาะบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ส่วนศาลยุติธรรมกับศาลปกครองนั้นถือเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไป
       กล่าวคือ ศาลยุติธรรมจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั่วไป เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา
       คดีแรงงาน คดีภาษีอากร ส่วนศาลปกครองก็จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง
       ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่คดีที่เกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ในที่นี้จะขอกล่าวโดยย่อ ๆ ถึงโครงสร้าง อำนาจและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง


                   
       (๑) ศาลรัฐธรรมนูญ

                   
       เดิมอำนาจการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย
       เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมและองค์กรในรูปของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       อีก ๑๔ คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา คือ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า
       ผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน ๕ คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธี
       ลงคะแนนลับ จำนวน ๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน ๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ จำนวน ๓ คน

                   
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่สรุปได้ ๑๖ ประการ11 ส่วนวิธีพิจารณานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้การนั่งพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยขององค์คณะ ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเก้าคน โดยคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญ
       จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัย
       ในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
       และคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในขั้นตอนการพิจารณาโดยเฉพาะในการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือสืบพยานนั้น ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีการ
       ทั้งในระบบไต่สวนและกล่าวหา ทั้งนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงระบบวิธีพิจารณาไว้ชัดเจนว่าควรเป็นลักษณะใด


                   
       (๒) ศาลยุติธรรม

                   
       ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่
       คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ศาลยุติธรรมมีสามชั้น คือ
       ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไป กล่าวโดยสรุปก็คือ
       มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองบางประเภท เช่น คดีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน คดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากร คดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการ
       ตุลาการ เป็นต้น รวมทั้งคดีอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลใด แต่ปัญหาที่เกิดจากการ
       มีสองระบบศาล โดยเฉพาะระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองก็คือ มีคดีบางคดีที่ไม่แน่ชัดว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด รัฐธรรมนูญจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการกำหนดให้มีกลไกและองค์กร
       เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลขึ้น ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อสร้างหลักเรื่องอำนาจศาลให้ชัดเจนขึ้น

                   
       ศาลยุติธรรมใช้วิธีพิจารณาในระบบกล่าวหาเป็นหลัก กล่าวคือ
       โจทก์และจำเลยจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลจะทำหน้าที่กำกับควบคุมโดยมีทนายความเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีแทนโจทก์และจำเลย
       ซึ่งแตกต่างไปจากศาลปกครองที่ใช้ระบบไต่สวนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมก็ได้วางหลักไว้เช่นเดียวกับศาลปกครองว่า กรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการแก้ไขเยียวยา
       ความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรตามประมวลกฎหมายรัษฎากรจะต้องดำเนินการอุทธรณ์ก่อน หากไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดย่อมหมดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล


                   
       (๓) ศาลปกครอง

                   
       ศาลปกครองมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดตั้งสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
       ของพระองค์ในด้านการร่างกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน และได้มีการยอมรับแนวคิดในการจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลอีกระบบหนึ่งคู่ขนานกับศาลยุติธรรมเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๘) และได้มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ระหว่างนั้นได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับปัจจุบัน) ซึ่งได้บัญญัติให้มีศาลปกครองในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๘) ต่อมาได้มีการตรากฎหมายจัดตั้งศาลปกครองขึ้นใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษา
       คดีปกครอง แบ่งออกเป็นสองชั้น คือ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด โดยมีสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยธุรการที่เป็นอิสระของศาลปกครอง ปัจจุบันศาลปกครองชั้นต้น
       เปิดทำการแล้ว ๗ ศาล คือ ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองสงขลา
       ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองระยอง และศาลปกครองนครศรีธรรมราช

                   
       ลักษณะคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ได้แก่ คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว อันได้แก่ การใช้อำนาจ
       ที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนยินยอมเสียก่อน คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของฝ่ายปกครองและคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

                   
       การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้น เป็นระบบไต่สวน โดยศาลจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณา ดังจะเห็นได้จากการกำหนดระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริง การจัดทำคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี การสั่งให้
       ฝ่ายปกครองส่วนพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ศาล หรือการซักถามคู่กรณีและพยาน เป็นต้น
       โดยตุลาการเจ้าของสำนวน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง แต่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงนั้นต่อตุลาการอื่นที่ประกอบเป็นองค์คณะ และต่อตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่ตุลาการในองค์คณะนั้นได้พิจารณาด้วย สำหรับในส่วนของการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ตุลาการผู้แถลงคดีจะเสนอคำแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย อันเปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการคนเดียวว่า หากตนมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด ซึ่งแม้ว่าคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่การให้มีระบบการเสนอคำแถลงการณ์ ของตุลาการ
       ผู้แถลงคดีต่อองค์คณะเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจตัดสินคดีขององค์คณะมีความรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ หากองค์คณะไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ โดยหลักก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะจะมีการเปรียบเทียบข้อวินิจฉัยและเหตุผลของตุลาการผู้แถลงคดีและขององค์คณะได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีควบคู่กันเสมอ


                   
       ๓. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่าย

                   
       การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนมีความสำคัญมาก เพราะไม่ว่า
       จะมีระบบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดีเพียงใด แต่หากโอกาสที่จะใช้สิทธิทางศาลของ
       ประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบากหรือต้องมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ก็เสมือนกับเป็นการปฏิเสธการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนนั่นเอง ปัจจุบันเราอาจแบ่งกระบวนการยุติธรรม
       ออกได้เป็น กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และกระบวนการ
       ยุติธรรมทางปกครอง โดยกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญานั้น ศาลยุติธรรมเป็นองค์กร
       ที่ใช้อำนาจตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีระหว่างเอกชนต่อเอกชนเป็นหลัก
       ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางปกครองนั้น ศาลปกครองเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชนและฝ่ายปกครองด้วยกันเป็นหลัก12


                   
       ๓.๑ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม

                   
       ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอาจแยกได้เป็น ๔ ส่วน คือ ประชาชน รัฐบาล รัฐสภา และศาล

                   
       (๑) ประชาชน ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิและในฐานะเป็นผู้ใช้สิทธิ
       มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมก็คือ ในฐานะผู้ฟ้องคดีด้วยการนำคดีมาฟ้องต่อศาล
       ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ วรรคสอง และ ๖๒ บัญญัติรับรองไว้ หรือในฐานะที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเนื่องจากใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินส่วนของตนเองจนไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

                   
       (๒) รัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหารและผู้เสนอกฎหมายต่อรัฐสภา
       เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้การบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดี รวมทั้งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

                   
       (๓) รัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและตรากฎหมายเพื่อให้ระบบและการบริหารกระบวนการยุติธรรมมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

                   
       (๔) ศาล ในฐานะเป็นฝ่ายตุลาการ เป็นองค์กรที่มีอำนาจชี้ขาด
       ข้อพิพาทต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และให้ความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่ประชาชน และแม้ว่าศาลจะมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร แต่ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับ
       การเสนองบประมาณนั้น หน่วยธุรการของศาลต้องเสนองบประมาณผ่านคณะรัฐมนตรี
       เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อรัฐสภา โดยไม่มีตัวแทนของตนเข้าไปมีส่วนร่วมการพิจารณา และที่สำคัญก็คือ การเสนอแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
       พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง จะต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปัญหาว่าหน่วยธุรการ
       ที่เป็นอิสระของศาลหรือองค์กรอื่น ๆ จะไม่มีเจ้าภาพในการดำเนินการที่กล่าวมาดังเช่นกระทรวงต่าง ๆ


                   
       ๓.๒ การฟ้องคดี


                   
       ๓.๒.๑ ศาลยุติธรรม

                   
       เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนในทางแพ่ง ได้แก่
       การโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง เช่น การฟ้องให้ผู้กู้ชำระเงินตามสัญญากู้หรือการฟ้องเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น หรือมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิ
       ทางศาล เช่น การขอเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์หรือจำเลยหรือผู้ยื่นคำขอซึ่งถือเป็นตัวความ
       จะดำเนินคดีด้วยตนเองหรือแต่งตั้งให้ทนายความกระทำการแทนได้ แต่เนื่องจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรมมีขั้นตอนซับซ้อน ในทางปฏิบัติจึงมักจะแต่งตั้งทนายความกระทำการแทน


                   
       ๓.๒.๒ ศาลปกครอง

                   
       เนื่องจากข้อพิพาททางปกครองส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ขั้นตอนและวิธีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจึงกำหนดให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน คือ ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องได้
       โดยตรงต่อศาลปกครองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นยื่นฟ้องแทน หรือหากไม่สะดวกก็สามารถ
       ส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณา คู่กรณีอาจจะดำเนินการด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและมีความรู้ความสามารถดำเนินคดีแทนก็ได้ คำฟ้องไม่มีแบบพิมพ์กำหนดไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจึงใช้
       วิธีเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและลงชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งชื่อผู้ถูกฟ้องคดี สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้ฟ้องคดีต้องบรรยายถึงพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลเข้าใจได้ โดยผู้ฟ้องคดีต้องระบุไว้ด้วยว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะให้ศาลแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีอย่างไร และถ้าหากพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดี
       ต้องระบุไว้ในคำร้องด้วยเพื่อที่ศาลจะได้เรียกมาเป็นพยานหลักฐานในคดีต่อไป และเนื่องจาก
       ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองที่ผู้ฟ้องคดี
       มีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลปกครองชั้นต้นนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากการยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมที่กำหนดให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือ
       ศาลที่มูลคดีเกิด


                   
       ๓.๓ ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี


                   
       ๓.๓.๑ ศาลยุติธรรม13

                   
       ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งนั้น แยกได้เป็น

                   
       (๑) ค่าขึ้นศาลในคดีที่มีทุนทรัพย์ เช่น คดีที่มีคำขอเรียกร้องเงิน
       หรือทรัพย์สินจากผู้อื่นซึ่งยังมิได้เป็นของตนมาเป็นของตน โดยจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์
       ที่เรียกร้องนั้น ถือเป็นทุนทรัพย์จะต้องเสียในอัตราร้อยละสองจุดห้าศูนย์บาทของจำนวน
       ทุนทรัพย์ แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และคดีไม่มีทุนทรัพย์ เช่น ขอให้บังคับจำเลยให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของโจทก์โดยโจทก์มิได้อ้างหรือเรียกร้องเป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สิน จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ ๒๐๐ บาท สำหรับคำฟ้องที่ขอให้
       ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะคิดค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละหนึ่งบาท แต่ไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นการขอให้บังคับจำนองหรือบังคับเอาทรัพย์สินจำนองหลุดคิดค่าขึ้นศาลตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้องในอัตราร้อยละหนึ่งบาทแต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

                   
       (๒) ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น คำร้อง คำขอ และให้แต่งทนาย

                   
       (๓) ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าส่งหมาย ค่าทำแผนที่พิพาท ค่าป่วยการ
       และค่ายานพาหนะ ค่าตรวจเอกสารโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

                   
       กรณีที่โจทก์หรือจำเลยเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสีย
       ค่าธรรมเนียมศาล โจทก์หรือจำเลยอาจยื่นคำร้องขออนุญาตยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้
       ซึ่งเรียกว่าการฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา โดยยื่นคำร้องขอได้ทุกระดับชั้นศาล หากศาลอนุญาตให้ฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาทั้งหมด ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล


                   
       ๓.๓.๒ ศาลปกครอง

                   
       ค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีปกครองนั้น โดยหลักแล้วไม่ต้องเสีย
       ค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือ
       เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับ
       การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       และคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง14 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละสองจุดห้าแต่ไม่เกินสองแสนบาท เช่นเดียวกับการฟ้องคดีแพ่ง

                   
       ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ กรณีที่ประชาชนประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนที่เกิดจากการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่มีฐานะยากจนและไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมศาล กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลปกครองพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งในชั้นยกร่างกฎหมายดังกล่าวจนผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น คดีปกครองทุกประเภทไม่ต้องเสีย
       ค่าธรรมเนียมศาล แต่ในชั้นวุฒิสภาได้มีการแก้ไขให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในกรณีละเมิด
       ความรับผิดอย่างอื่นและสัญญาทางปกครอง แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ศาลพิจารณายกเว้นหรือ
       ลดหย่อนค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีฐานยากจนได้แต่อย่างใด ดังนั้น สำนักงานศาลปกครองจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. .... ต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมีสาระสำคัญ คือ แก้ไขให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจเพื่อยกเว้น
       ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลได้


                   
       บทสรุป

                   
       แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้ทรงสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของสิทธิและหน้าที่ตามที่
       รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากประชาชนเป็นปัจเจกชนจึงไม่มีพลังที่จะแก้ไขปัญหาให้กับตนเองหรือเพื่อเป็นพลังในการต่อรองกับรัฐ ในรัฐสมัยใหม่จึงเกิดการรวมตัวของประชาชนโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเป็นประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือ
       เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเป็นสมัชชาหรือเป็นองค์กร
       ความร่วมมือต่าง ๆ ประชาสังคมในยุคปัจจุบันจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยคุ้มครองสิทธิ
       และเสรีภาพให้กับประชาชนและมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ

                   
       การรวมกลุ่มเป็นประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มหรือของสังคมถือเป็น
       สิ่งดีที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ดังนั้น
       การบริหารประชาสังคมที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญและเป็นหัวใจของประชาสังคมเช่นเดียวกับ
       การบริหารกระบวนการยุติธรรม หากประชาสังคมใดมีกระบวนการบริหารจัดการที่ดี
       ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีการระดมความเห็นในประชาสังคมโดยยึด
       หลักประชาธิปไตยอย่างจริงจัง คือ รับฟังความเห็นของทุกคน และถือปฏิบัติตามความเห็นของ
       เสียงส่วนใหญ่ ไม่ยึดถือประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งแล้ว ก็น่าจะถือว่าเป็นประชาสังคมที่สมบูรณ์

                   
       แต่ถ้ามีการรวมกลุ่มกันเพื่อมุ่งผลประโยชน์ของตน โดยไม่คำนึงถึง
       ผลประโยชน์ของส่วนรวม มีการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือขัดต่อศีลธรรม
       อันดีของประชาชน หรือมีการกระทำไปในลักษณะที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย
       แต่มุ่งประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นให้กับสังคม อย่างไรก็ตาม
       แม้ว่านิติรัฐจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยระบบกฎหมายสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม การแก้ไขปัญหานั้นก็อาจเกิดผลกระทบต่อสังคม และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
       หากมีการขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างขึ้นโดยอาศัยเหตุจากความเชื่อที่แตกต่างกัน
       หรือความแตกต่างจากพื้นฐานความรู้ อายุ และประสบการณ์ ก็อาจทำให้การแก้ไขปัญหา
       โดยระบบกฎหมายนั้นทำได้ยากลำบาก จะเห็นได้ว่าในกรณีที่รัฐแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองด้วยวิธีการทางกฎหมาย ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน หรืออาจเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน คนอีกบางกลุ่มอาจรู้สึกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาโดยกฎหมายนั้นมีขั้นตอนและวิธีการที่ล่าช้าไม่ทันใจ
       และอาจเห็นด้วยกับการใช้กำลัง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในวิถีทางกฎหมาย เกิดการตอบโต้และใช้อารมณ์ต่อกัน ซึ่งจะเป็นการทำลายความเข้มแข็งของระบบนิติรัฐ
       ในทางตรงข้าม หากการรวมกลุ่มเป็นประชาสังคมทั้งหลายมีกระบวนการบริหารประชาสังคม
       ที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเข้าแก้ไขปัญหา จะทำให้นิติรัฐ
       มีความเข้มแข็งและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในรัฐอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน

                   
       เมื่อหลักประกันสิทธิและเสรีภาพที่รัฐมีให้แก่ประชาชน กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรของรัฐและศาลมีความเข้มแข็ง หากผนวกเข้ากับการบริหาร
       ประชาสังคมที่ดีแล้ว ดุลยภาพระหว่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นนิติรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในประเทศไทย


       



       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       11. อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยสรุป มี ๑๖ เรื่อง คือ

                   
        ๑) พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัด หรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ (มาตรา ๔๗ วรรคสาม)

                   
        ๒) พิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๖๓)

                   
        ๓) พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๑๘ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) หรือ (๑๒) หรือมาตรา ๑๓๓ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๙) หรือ (๑๐) (มาตรา ๙๖)

                   
        ๔) พิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกพรรคการเมืองที่ร้องขอให้วินิจฉัยเพราะเหตุว่าพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกนั้น มีมติให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ (มาตรา ๑๑๘ (๘))

                   
        ๕) พิจารณาวินิจฉัยว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๗ หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๓๙ หรือไม่ (มาตรา ๑๔๒)

                   
        ๖) พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอใหม่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ (มาตรา ๑๗๗)

                   
        ๗) พิจารณาวินิจฉัยว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎรหรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ (มาตรา ๑๘๐)

                   
        ๘) พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๙๗ (๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๑๙๘)

                   
        ๙) พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๖ (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) หรือไม่ (มาตรา ๒๑๖ ประกอบมาตรา ๙๖)

                   
        ๑๐) พิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ไม่เป็นไปตามมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่ (มาตรา ๒๑๙)

                   
        ๑๑) พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธยมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๖๒)

                   
        ๑๒) พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๒๖๓)

                   
        ๑๓) พิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งจะใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (มาตรา ๒๖๔)

                   
        ๑๔) พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๖๖)

                   
        ๑๕) พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือไม่ (มาตรา ๒๙๕)

                   
        ๑๖) อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เช่น การพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น

                   
       อ้างใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, “ข้อควรรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ” , ๒๕๔๓ หน้า ๗-๑๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       12. สำหรับในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญและศาลทหารนั้น เป็นศาลที่มีลักษณะเฉพาะทั้งในด้านอำนาจศาลและวิธีพิจารณา ในที่นี้ จึงมิได้จัดไว้ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมในบทความนี้
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       13. สำนักงานศาลยุติธรรม “ความรู้และแนวปฏิบัติในการติดต่อราชการศาลยุติธรรม” พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       14. โปรดดูพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) มาตรา ๔๕ วรรคสี่ และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓)
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544