หน้าแรก บทความสาระ
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
นายปกรณ์ นิลประพันธ์
3 มกราคม 2548 17:27 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2

       
[๕๓]            ตัวอย่างที่ห้า สหกรณ์โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์
       พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยข้อ ๘ กำหนดว่าเหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์จะเก็บรักษาเงินสดของ
       สหกรณ์ได้ไม่เกินหนึ่งพันบาท เงินสดส่วนที่เกินให้นำส่งเข้าฝากในธนาคารที่สหกรณ์เปิดบัญชี
       เงินฝากไว้ ในกรณีจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันในเวลานั้น ๆ ให้ทำบันทึกเสนอประธาน
       กรรมการหรือรองประธานกรรมการทราบ และให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกที่เปิดทำการ เงินสดที่เก็บ
       รักษาไว้ดังกล่าวข้างต้นให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของสหกรณ์ ซึ่งจำเลยทราบระเบียบดังกล่าวดีอยู่แล้ว
       แต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโดยรักษาเงินสดของโจทก์ไว้เป็นจำนวนมากถึง ๔๓,๘๗๘.๒๒ บาท โดยละเลย
       ไม่นำส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทไปฝากธนาคาร ทั้งไม่ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการหรือรองประธาน
       กรรมการของโจทก์รับทราบ และเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยเก็บเงินไว้ในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ห่างจาก
       ตู้นิรภัยเพียง ๑ เมตร ง่ายต่อการที่คนร้ายจะค้นพบแล้วนำไปไขเปิดตู้นิรภัยนั้น พฤติการณ์ของจำเลย
       ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้ามางัดโต๊ะทำงานและ
       ค้นได้ลูกกุญแจนำไปไขตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวข้างต้นไป ความเสียหายย่อมเป็นผล
       โดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์17


       
       [๕๔]            ตัวอย่างที่หก เครื่องหมายจราจรเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้ขับรถได้ระมัดระวัง
       เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาท
       เลินเล่ออย่างร้ายแรง18


       
       [๕๕]            ตัวอย่างที่เจ็ด ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถมาตามถนนศรีนครินทร์ จากบางกะปิมุ่งหน้า
       มาทางจังหวัดสมุทรปราการ พอมาถึงสี่แยกเทพารักษ์ จำเลยเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปทางอำเภอบางพลี
       เพื่อจะกลับรถตรงบริเวณสิ้นสุดเกาะกลางถนน ครั้นมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบริเวณสุดเกาะกลางถนน
       จำเลยก็เลี้ยวขวากลับรถและเมื่อรถเลี้ยวเลยหัวเกาะกลางถนนไปแล้วมีโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ย้อน
       ช่องเดินรถมาชนรถยนต์จำเลยที่ประตูด้านขวา หากโจทก์ไม่ขับรถจักรยานยนต์ย้อนช่องเดินรถเข้าไป
       ชนรถยนต์จำเลยแล้ว รถทั้งสองคันก็ไม่อาจชนกันตรงบริเวณที่เกิดเหตุได้ และเมื่อพิจารณาสภาพรถ
       ทั้งสองคันหลังจากชนกันปรากฏว่ารถจักรยานยนต์โจทก์พังยับเยินส่วนรถยนต์จำเลยประดูบุบยุบเข้าไป
       ด้านใน กระจกหน้าแตกหมด แสดงว่าโจทก์ขับรถย้อนช่องเดินรถเข้าไปด้วยความเร็วสูงเพื่อจะให้
       รถจักรยานยนต์ของตนเข้าไปอยู่ในช่องเดินรถด้านซ้าย จึงเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันขึ้นและ
       เหตุดังกล่าวเกิดจากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ หาใช่เกิดจากความ
       ประมาทเลินเล่อของจำเลยไม่19


       
       [๕๖]            ตัวอย่างที่แปด จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงบนถนนที่ลื่นเพราะผิวจราจรเปียกและ
       มีเศษดินตกอยู่ทั่วไปแล้วแซงรถยนต์คันอื่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนชนรถที่แล่นสวนทางมา
       เป็นการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง20


                   
        (๒) การกำหนดจำนวนความรับผิด


       
       [๕๗]            เมื่อหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิด
       ของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่และเจ้าหน้าที่กระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
       และเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดและถูกไล่เบี้ยหรือเรียกชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การกำหนดจำนวนเงิน
       หรือความรับผิดเป็นไปตามมาตรา ๘ วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สิทธิเรียกให้ชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใด ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและ
       ความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้ ถ้าการละเมิด
       เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ หรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมหรือหาก
       เห็นว่าความเสียหายดังกล่าวหน่วยงานของรัฐมีส่วนบกพร่องอยู่ด้วย ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าว
       ออกด้วย ในการกำหนดความเสียหายที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดจะต้องรับผิดนั้น หน่วยงานของรัฐ
       ที่เสียหายจะต้องกำหนดโดยคำนึงถึงความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐมาหักออกจากความรับผิดด้วย


       
       [๕๘]            ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ได้ขับรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อส่งผู้ป่วยให้ถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
       ได้ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ฝนตกหนักและรถเกิดพลิกคว่ำ แม้จะฟังได้ว่าเป็นการ
       กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐจะเรียกให้
       เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น ก็จะต้องพิจารณาระดับความร้ายแรงแห่ง
       การกระทำ เช่น สภาพถนนที่เกิดเหตุ ความเร็วที่ใช้สภาพการจราจร และความเป็นธรรมในกรณี
       ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น คนเจ็บมีอาการหนัก หากไม่รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วอาจเป็นอันตรายแก่
       ชีวิตได้ เป็นต้น


                   
        (๓) กรณีมูลละเมิดเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน


       
       [๕๙]            ในกรณีนี้ มาตรา ๘ วรรคสี่ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดความรับผิดไว้ว่า
       "ในกรณีการกระทำละเมิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่
       แต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนตน"


       
       [๖๐]            บทบัญญัติดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายกรณีนั้น
       เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน บางกรณีเจ้าหน้าที่เหล่านั้นร่วมกันกระทำละเมิด
       แต่บางกรณีเป็นการที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนต่างกระทำ แต่ก่อให้เกิดผลเป็นการละเมิดอันเดียวกัน
       ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าผู้กระทำละเมิดดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ในกรณีกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อาจก่อให้เกิดความ
       ไม่เป็นธรรมขึ้นได้ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่บางคนจะต้องรับผิดชอบสูงเกินส่วน
       ของการกระทำ และหากไม่สามารถเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งคนใดรับผิดได้ ภาระการชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนก็จะตกอยู่แก่เจ้าหน้าที่ที่เหลือซึ่งไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น พระราชบัญญัติ
       ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยกำหนดให้หน่วยงาน
       ของรัฐที่ได้รับความเสียหายพิจารณากำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่โดยแยกความรับผิดของ
       เจ้าหน้าที่แต่ละคนออกจากกัน
ว่าแต่ละคนควรต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินเท่าใด เจ้าหน้าที่คนใด
       ได้ชดใช้ส่วนของตนไปแล้วก็พ้นความรับผิดไป


       
       


       
       

ส่วนที่ ๔

       สิทธิของผู้เสียหายในการเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

       เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่


       
       [๖๑]            หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหาย
       แก่บุคคลอื่น ผู้เสียหายก็ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตน
       ซึ่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดวิธีการเยียวยาความ
       เสียหายไว้ ๒ แนวทาง


       
       [๖๒]            แนวทางที่หนึ่ง ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลซึ่งเป็นองค์กรตุลาการเป็น
       ผู้วินิจฉัยว่าหน่วยงานของรัฐฝ่ายบริหารต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายหรือไม่ จำนวนเท่าใด
        แนวทางที่สอง ผู้เสียหายสามารถร้องขอให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายบริหารชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนโดยตรง ซึ่งเป็นไปตามหลักการเยียวยาความเสียหายโดยฝ่ายปกครอง
        การดำเนินการแต่ละแนวทางต่างมีรายละเอียดในการดำเนินการแตกต่างกันไป ดังนี้


       
       ๑. กรณีผู้เสียหายใช้สิทธิทางศาล


                   
        (๑) ฟ้องใคร


       
       [๖๓]            ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่และก่อให้เกิดความเสียหาย
       แก่บุคคลภายนอก ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องศาลเพื่อเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหม
       ทดแทนแก่ตน อย่างไรก็ดี มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติของความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
       พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ผู้เสียหายจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำ
       ละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นการเฉพาะ ดังนี้


       


       

                    มาตรา ๕ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่
       ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าว
       ได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

                   
        ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่า
       กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง
       


       [๖๔]            ดังนั้น หากผู้เสียหายต้องการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       ผู้เสียหายก็จะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ให้เป็นผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น แต่จะฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดไม่ได้ เช่น
       เจ้าหน้าที่ขับรถไปราชการในท้องที่ ระหว่างเดินทางได้ขับรถชน นาย ข. ได้รับบาดเจ็บสาหัส
       หากนาย ข.ต้องการค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น นาย ข. จะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ
       ที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นสังกัดอยู่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นโดยตรงมิได้ หรือกรณี
       เจ้าพนักงานเข้ารื้อถอนอาคารของเอกชนที่ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้อง แต่สำคัญผิดว่าส่วนที่กำลังรื้อถอน
       ก่อสร้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ส่วนดังกล่าวก่อสร้างถูกต้องตามแบบก่อสร้างแล้ว ถ้าผู้เสียหาย
       ต้องการ ค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายจะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
       เป็นจำเลยเพื่อเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จะฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ที่เข้าดำเนินการรื้อถอนไม่ได้


       
       [๖๕]            ในกรณีที่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่มี
       เหตุผลที่รัฐจะต้องเข้าไปแก้ต่างคดีแทนเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ในกรณีเช่นนี้ผู้เสียหายต้องฟ้องเจ้าหน้าที่
       ที่กระทำละเมิดโดยตรงเพื่อให้รับผิดเป็นการส่วนตัว
แต่จะฟ้องหน่วยงานให้รับผิดไม่ได้ ทั้งนี้ ตาม
       มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้


       


       

                   มาตรา ๖ ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
       เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้
       โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
       


       [๖๖]            ตัวอย่าง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อเหตุวิวาทกับผู้เสียหายและทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
       จนได้รับบาดเจ็บ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
       กำลังปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีหน้าที่
       ทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายประชาชน จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว
       เป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ หากแต่เป็นการกระทำส่วนตัว เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด
       ต้องรับผิดในมูลละเมิดนั้นเป็นการส่วนตัว ผู้เสียหายต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำร้ายร่างกายตน
       โดยตรง จะฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้


                   
        (๒) ฟ้องศาลใด


       
       [๖๗]            มาตรา ๕ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
       พ.ศ. ๒๕๓๙ รับรองสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ไว้ แต่มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่าให้ฟ้องต่อศาลใด กรณีจึง
       มีปัญหาว่าหากผู้เสียหายจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐจะต้องฟ้องศาลยุติธรรม
       หรือศาลปกครอง


       
       [๖๘]            คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วางหลักในเรื่องนี้ไว้ดังนี้


       


       

                   
       "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา
       หรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของ
       หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
       หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่
       กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร" อันเป็น
       การจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน
       ของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี
       พิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่
       หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำทาง
       กายภาพของเจ้าหน้าที่" 21


       
       [๖๙]            ดังนั้น กรณีผู้เสียหายฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
       เป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย และขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น
       จึงเข้าลักษณะเป็นการขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำทางกายภาพ
       ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจ
       พิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ผู้เสียหายจึงต้องฟ้องศาลยุติธรรม


                   
        (๓) อายุความฟ้องคดี


       
       [๗๐]            มีข้อสังเกตว่าพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้
       กำหนดว่าผู้เสียหายจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแก่มูลละเมิดภายใน
       กำหนดอายุความเท่าใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น อายุความฟ้องในกรณีดังกล่าว จึงต้องเป็นไปตาม
       อายุความในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดตามมาตรา ๔๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัว
       ผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้น ๑๐ ปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าการเรียกร้องค่าเสียหาย
       ในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้น
       ก็จะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความทางอาญา


       


       

                   มาตรา ๔๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความ
       เมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม
       ทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

                   
        แต่ถ้าการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะ
       อาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความ
       ที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
       


       
                   
        (๔) การเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นคู่ความในคดี


       
       [๗๑]            เมื่อผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดได้นำคดีฟ้องร้องต่อศาล ไม่ว่าจะฟ้องให้หน่วยงาน
       ของรัฐรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือฟ้องร้องเจ้าหน้าที่โดยตรงเนื่องจากเห็นว่าเป็นการ
       กระทำละเมิดในเรื่องส่วนตัว ในระหว่างการพิจารณา หากหน่วยงานของรัฐที่ถูกฟ้องหรือเจ้าหน้าที่ที่
       ถูกฟ้องเห็นว่าการกระทำละเมิดดังกล่าวหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่อาจจะต้องรับผิดด้วย หน่วยงาน
       ของรัฐที่ถูกฟ้องหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องอาจร้องขอต่อศาลให้เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่
       กรณี เข้าเป็นคู่ความในคดีได้ด้วย


       
       [๗๒]            อย่างไรก็ดี หากคดีเป็นที่ยุติโดยที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายฟ้องผิดตัว
       เช่น กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นโดยแทนที่จะฟ้อง
       หน่วยงานต้นสังกัด หรือเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดเป็นส่วนตัว แต่ผู้เสียหายฟ้องเรียกให้หน่วยงานของรัฐ
       รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีดังกล่าวใหม่ได้ภายใน ๖ เดือนนับแต่ศาล
       พิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
       พ.ศ. ๒๕๓๙


       


       

                   มาตรา ๗ ในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า
       เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่
       ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หน่วยงาน
       ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เรียกเจ้าหน้าที่หรือ
       หน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณีเข้ามาเป็นคู่ความในคดี

                   
        ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่
       ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่มิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไป
       ถึงหกเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด
       


       
       ๒. กรณีผู้เสียหายร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน


       
       [๗๓]            เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อ
       เยียวยาความเสียหาย ผู้เสียหายก็อาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน
       โดยตรงก็ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยาความเสียหายโดยฝ่ายบริหาร (Exhaustion of
       administrative remedy)


       
       [๗๔]            ในการนี้ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด
       ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดวิธีการในการที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิร้องขอให้หน่วยงานของรัฐ
       ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนโดยตรงไว้ ดังนี้


       


       

                   มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดตามมาตรา ๕
       ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับ
       ความเสียหายที่เกิดแก่ตนก็ได้ ในการนี้หน่วยงานของรัฐต้องออกใบรับคำขอให้ไว้เป็น
       หลักฐานและพิจารณาคำขอนั้นโดยไม่ชักช้า เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้ว
       หากผู้เสียหายยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ
       คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ภายใน
       เก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย

                   
        ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอที่ได้รับตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน
       หนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากเรื่องใดไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้นจะต้องรายงาน
       ปัญหาและอุปสรรคให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือกำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐ
       แห่งนั้นทราบและขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีดังกล่าวจะพิจารณา
       อนุมัติให้ขยายระยะเวลาให้อีกได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

                   
        ฯลฯ ฯลฯ

                   
        มาตรา ๑๔ เมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ
       วินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ ให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง


       


       
       [๗๕]            กล่าวโดยสรุป ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐที่ตนเห็นว่า
       ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตน ซึ่งผู้เสียหายจะต้องยื่นด้วยตนเองหรือ
       จะส่งโดยทางไปรษณีย์ก็ได้ และเมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับคำขอของผู้เสียหายแล้วจะต้องปฏิบัติตาม
       ขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้


                   
       (๑) ต้องออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ


       
       [๗๖]            เหตุที่ต้องออกใบรับคำขอให้แก่ผู้เสียหายก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้เสียหายได้ยื่นคำขอ
       เมื่อใด เนื่องจากกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำขอดังกล่าวไว้ ใบรับคำขอจึงเป็นสิ่งที่จะ
       แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่โดยล่าช้าหรือไม่


       
       [๗๗]            ข้อพึงระวัง โดยที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำขอไว้ หากหน่วยงาน
       ของรัฐพิจารณาคำขอของผู้เสียหายล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะ
       ฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่โดยล่าช้าได้ตามนัยมาตรา ๙ (๒) แห่ง
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และหากหน่วยงานไม่ยอม
       ออกใบรับคำขอ ผู้เสียหายก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่
       กฎหมายกำหนดไว้ได้เช่นกันตามนัยมาตรา ๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธี
       พิจารณาคดีปกครองฯ


       
       


       

                   มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

                   
        (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือกระทำการอื่นใด
       เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
       หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสารสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับ
       การกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมี
       ลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร
       หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

                   
        (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกิน
       สมควร

                    ฯลฯ ฯลฯ
       


                   
        (๒) ต้องพิจารณาคำขอโดยเร็ว


       
       [๗๘]            หน่วยงานของรัฐจะต้องรีบดำเนินการพิจารณาคำขอของผู้เสียหายโดยเร็ว ซึ่งขั้นตอน
       และวิธีการพิจารณาคำขอของผู้เสียหายเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด ๒ ของระเบียบสำนักนายก
       รัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
       โดยตามมาตรา ๑๑ นั้น หน่วยงานทีรับผิดชอบจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่
       รับคำขอจากผู้เสียหาย แต่ถ้าไม่อาจพิจารณาให้เสร็จตามเวลาดังกล่าว หน่วยงานอาจขออนุญาต
       รัฐมนตรีที่ควบคุมกำกับหน่วยงานนั้นเพื่อขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปได้ แต่รัฐมนตรีจะอนุมัติ
       ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน ๑๘๐ วัน


                   
        (๓) ต้องออกคำสั่งแจ้งผลการพิจารณา


       
       [๗๙]            เมื่อพิจารณาคำขอของผู้เสียหายแล้ว หน่วยงานต้องทำคำสั่งเกี่ยวกับผลการพิจารณา
       และต้องแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้เสียหายที่มีคำขอทราบ ซึ่งการทำคำสั่งและการแจ้งคำสั่งดังกล่าวนั้น
       พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ
       จึงต้องปฏิบัติตามแบบการจัดทำคำสั่งในทางปกครองตามหมวด ๒ ส่วนที่ ๔ รูปแบบและผลของคำสั่ง
       ทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กล่าวคือ หน่วยงานอาจทำ
       คำสั่งเป็นหนังสือ หรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือ
       ความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ (มาตรา ๓๔)


       
       [๘๐]            ถ้าทำคำสั่งเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุวัน เดือน ปีที่ทำคำสั่ง ชื่อและตำแหน่งของ
       ผู้ทำคำสั่งและลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น (มาตรา ๓๖) โดยต้องระบุเหตุผลในการมีคำสั่งเช่นนั้น
       ไว้ด้วย ซึ่งเหตุผลในการมีคำสั่งดังกล่าวประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องนั้น
       ข้อกฎหมายที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาและวินิจฉัย ตลอดจนประเด็นการพิจารณาและข้อสนับสนุน
       การใช้ดุลพินิจ (มาตรา ๓๗) แต่ถ้าทำคำสั่งด้วยวาจา และผู้เสียหายร้องขอภายใน ๗ วันนับแต่วันที่
       มีคำสั่งและการร้องขอมีเหตุผลอันสมควร เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องยืนยันคำสั่งเป็นหนังสือโดยมีรายการ
       ดังระบุไว้ข้างต้นด้วย (มาตรา ๓๕)


       
       [๘๑]            ในกรณีที่หน่วยงานมีคำสั่งเกี่ยวกับผลการพิจารณาเป็นประการใด คำสั่งนั้นเข้าลักษณะ
       เป็นคำสั่งทางปกครอง หากผู้เสียหายไม่พอใจผลการพิจารณาของหน่วยงาน มาตรา ๑๑ ประกอบกับ
       มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงบัญญัติให้ผู้เสียหาย
       ฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้โดยตรง


       
       

ส่วนที่ ๕

       การเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน


       


       
       [๘๒]            ในกรณีที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
       อย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐจะต้องเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       ที่หน่วยงานของรัฐได้จ่ายแก่ผู้เสียหายไปแล้ว (กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น)
       หรือเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หน่วยงานของรัฐ (กรณีเจ้าหน้าที่
       ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ) ได้ ๒ วิธี คือ การใช้มาตรการบังคับทางปกครองและ
       การฟ้องคดีต่อศาล


       
       ๑. การใช้มาตรการบังคับทางปกครอง


       
       [๘๓]            ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐและหรือกระทรวงการคลัง (แล้วแต่กรณี) เห็นว่า
       เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดโดย
       จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐอาจมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
       ชำระเงินแก่ทางราชการเพื่อชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็น "คำสั่งทางปกครอง
       ที่กำหนดให้มีการชำระเงิน" ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น หากถึงกำหนดชำระเงินแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะต้อง
       มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๗ วัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติ
       ตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่
       ผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน ส่วนวิธีการยึด การอายัดและการขายทอดตลาด
       ทรัพย์สินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนผู้มีอำนาจสั่งยึด อายัดหรือ
       ขายทอดตลาดนั้นได้แก่ผู้ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ออกตามความใน
       พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙


       


       

                   มาตรา ๕๗ คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มี
       การชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลา
       ที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้
       มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อ
       ชำระเงินให้ครบถ้วน

                   
        วิธีการยึด การอายัดและการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวล
       กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ส่วนผู้มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดหรือขายทอดตลาด
       ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
       


       
       [๘๔]            อนึ่ง แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวได้ตามมาตรา
       ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่การอุทธรณ์ก็ไม่เป็นเหตุ
       ให้มีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่ผู้ทำคำสั่งให้ยึดอายัดหรือขายทอดตลาด ผู้มี
       อำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องทำคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
       จะสั่งให้มีการทุเลาการบังคับไว้ก่อนตามนัยมาตรา ๔๔ ประกอบกับมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติ
       วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น หากผู้มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทาง
       ปกครองไม่ได้สั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้นแล้ว ก็จะต้องมีการยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สิน
       ของผู้ที่ต้องรับผิดในการละเมิดนั้นต่อไป แม้จะมีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้วก็ตาม


       
       


       

                   มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๘ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออก
       โดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ
       ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน
       สิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

                   
        คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่
       อ้างอิงประกอบด้วย

                   
        การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่ง
       ให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง

                   
        ฯลฯ ฯลฯ

                   
        มาตรา ๕๖ เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับ
       ทางปกครอง เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เว้นแต่จะมีการสั่งให้
       ทุเลาการบังคับไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มี
       อำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว

                   
        ฯลฯ ฯลฯ
       


       ๒. การฟ้องคดีต่อศาล


       
       [๘๕]            ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเรียกให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่
       ทางราชการแล้ว แต่เจ้าหน้าที่นั้นไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ และหน่วยงาน
       ของรัฐไม่ประสงค์ที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองดังกล่าวข้างต้น หน่วยงานของรัฐก็อาจฟ้อง
       เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต่อศาลเพื่อไล่เบี้ยหรือเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ แต่การ
       ฟ้องคดีต่อศาลดังกล่าวจะต้องกระทำภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่ง
       พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งอายุความในการฟ้องคดีต่อศาล
       ดังกล่าวแยกออกเป็น ๒ กรณี คือ (๑) อายุความกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
       และ (๒) อายุความกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ


                   
        ๒.๑ อายุความกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก


       
       [๘๖]            เมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งหน่วยงานของรัฐ
       จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       แก่ผู้เสียหายไปแล้วก็อาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือที่ในทางกฎหมายเรียกว่า "ใช้สิทธิไล่เบี้ย" ให้เจ้าหน้าที่
       ผู้กระทำละเมิดด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงาน
       ของรัฐได้จ่ายให้แก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วก็ได้ และอาจมีบางกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
       แก่ผู้เสียหายไปก่อนโดยที่ยังไม่รู้ว่าตนต้องรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าวหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเห็นว่า
       ตนไม่ต้องรับผิด เพราะมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า
       เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนที่ตนจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย
       ไปแล้วคืนจากหน่วยงานของรัฐได้


       
       [๘๗]            ในการนี้ มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.
       ๒๕๓๙ กำหนดอายุความในการใช้สิทธิไล่เบี้ยกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกไว้ดังนี้


       


       

                   มาตรา ๙ ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
       สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปี
       นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย
       


       
       [๘๘]            ดังนั้น อายุความในการใช้สิทธิไล่เบี้ยจึงแยกออกได้เป็น ๒ กรณี ดังนี้


                   
        (๑) กรณีเจ้าหน้าที่ใช้สิทธิไล่เบี้ย


       
       [๘๙]            ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่แต่การกระทำละเมิดดังกล่าว
       มิได้เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เจ้าหน้าที่
       ที่กระทำละเมิดได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ชอบที่จะได้รับ
       เงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวคืนจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งกรณีนี้เจ้าหน้าที่ต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยเพื่อขอ
       คืนเงินที่ตนได้จ่ายแก่ผู้เสียหายไปแล้วคืนจากหน่วยงานของรัฐภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ตนได้ชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย


                   
        (๒) กรณีหน่วยงานของรัฐใช้สิทธิไล่เบี้ย


       
       [๙๐]            ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของ
       เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้ว และผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า
       การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
       เมื่อได้กำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะต้องรับผิดตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความ
       รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว หน่วยงานจะต้องเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินจำนวน
       ดังกล่าว หากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นยังไม่ชดใช้ หน่วยงานของรัฐจะต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๑ ปี นับแต่
       หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย


                   
        ๒.๒ อายุความกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ


       
       [๙๑]            มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
       กำหนดอายุความกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล เพื่อเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิด
       ต่อหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำ
       ละเมิดดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำละเมิดนั้นจะเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกกการปฏิบัติ
       หน้าที่ก็ตามไว้ดังนี้


       


       

                   มาตรา ๑๐ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
       ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติ
       หน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗ มาใช้บังคับ
       โดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวล
       กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง
       ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่
       ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้น
       ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้อง
       ค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตาม
       ความเห็นของกระทรวงการคลัง
       


       
       [๙๒]            ดังนั้น อายุความกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐจึงแยกออกเป็น
       ๒ กรณี คือ กรณีอายุความ ๒ ปี และกรณีอายุความ ๑ ปี


                   
        (๑) อายุความ ๒ ปี


       [๙๓]            กรณีที่หน่วยงานของรัฐตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหัวหน้าหน่วยงาน
       มีคำวินิจฉัยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งหรือหลายรายจะต้องรับผิดในความเสียหาย
       ที่เกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐจะต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน
       ๒ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยวันที่รู้ถึง
       การละเมิดนั้นได้แก่วันที่หน่วยงานได้รับแจ้งว่ามีเหตุละเมิดเกิดขึ้น ส่วนวันที่รู้ตัวผู้พึงจะต้องชดใช้
       ค่าสินไหมทดแทนได้แก่วันที่หัวหน้าหน่วยงานมีคำสั่งว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหม
       ทดแทนในกรณีดังกล่าว สาเหตุที่กฎหมายกำหนดอายุความเช่นนี้ เพราะหลังจากหน่วยงานฯมี
       คำวินิจฉัยแล้ว จะต้องรายงานในกระทรวงการคลังตรวจพิจารณาและมีความเห็นก่อน จะเรียกให้
       เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ทันทีไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องกำหนดอายุความให้ยาวกว่า
       อายุความละเมิดทั่วไป


       
                   
        (๒) อายุความ ๑ ปี


       
       [๙๔]            แต่ถ้ากรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาและวินิจฉัยว่าการกระทำละเมิดของ
       เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากไม่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
       แต่เมื่อรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจพิจารณา กระทรวงการคลังกลับเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น อายุความที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าวจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีกำหนดอายุความ ๑ ปี ซึ่งอายุความจะเริ่มนับเมื่อหน่วยงานฯ มีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       17. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๕๘/๒๕๓๑
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       18. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๑๑/๒๕๓๕
       
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       19. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๗๐/๒๕๓๙
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       20. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๙๖/๒๕๔๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       21. คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๕
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2546


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544