ติดตาม Public-law.net ผ่านทาง Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/Public-Law-Net-เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย
   
 
บทความเรื่อง "คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญชัย แสวงศักดิ์
 
 
บทความเรื่อง "ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง" โดย คุณณัฐวุฒิ สุขแสวง
 
 
บทความเรื่อง "รัฐสภาอัจฉริยะ (Smart Parliament) กับการส่งเสริมหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาของออสเตรเลียและข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับประเทศไทย" โดย คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์
 
 
บทความเรื่อง "หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในคำพิพากษาศาลอาญาในประเทศฝรั่งเศส" โดย คุณทีสิทธิ์ วงศาโรจน์
 
 
บทความเรื่อง “ศาลตรวจเงินแผ่นดินของประเทศฝรั่งเศส” โดยคุณณัฐวุฒิ คล้ายขำ
 
 
 
 
 
 
   
 
 
 
 
 
   
 
 
 
372
"รัฐบาลดิจิทัล"

        
        
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินคำว่า “รัฐบาลดิจิทัล” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย จากการตรวจสอบเอกสารของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว พบว่า มีการให้ความหมายของรัฐบาลดิจิทัลเอาไว้ว่า หมายถึง การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัย สร้างบริการที่ดีสู่ประชาชนด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบและร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงสร้างสรรสาระสำคัญที่จำเป็นและสำคัญต่อการให้บริการของภาครัฐ

        
มีเอกสารจำนวนมากที่กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลดิจิทัลและการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เข้าไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลซึ่งผมคงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ที่จะนำมาดูกันในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็คือ “ร่างกฏหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล”

        
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทาง มาตรการและมาตรฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงให้บริการด้านวิชาการและการบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีสาระสนเทศและการสื่อสารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเปลี่ยน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งยังเป็นองค์การมหาชนอยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการแก้ไขวัตถุประสงค์ของหน่วยงานให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกและให้บริการกับประชาชน

        
ในปี พ.ศ.2560 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเพื่อยกระดับการดำเนินงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่เป็นระบบ การทำงานและข้อมูลสามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพรวดเร็ว เปิดเผย โปร่งใส ประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

        
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 40 มาตรา แบ่งเป็น 6 หมวด หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หมวด 3 การจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล หมวด 4 การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ หมวด 5 การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล หมวด 6 คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล และท้ายสุดเป็นบทเฉพาะกาล

        
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคมากๆครับ ถ้าเราไปดูในคำนิยามของคำว่า ดิจิทัล ก็จะเริ่มงงแล้วครับ โดยมีการนิยามคำว่า ดิจิทัล ว่าหมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้วิธีการนำสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่นมาแทนค่าสิ่งทั้งปวงเพื่อใช้สร้างหรือก่อให้เกิดระบบต่างๆเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์

        
หัวใจสำคัญของร่างกฏหมายฉบับนี้อยู่ในมาตรา 5 ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของกฎหมายเอาไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้มีการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะโดยปรับปรุงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนและในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณชนและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

        
ในส่วนของภาครัฐนั้น เมื่อกฎหมายใช้บังคับ ภาระของหน่วยงานของรัฐก็จะมีอยู่มาก ตัวอย่างเช่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่า หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำและปรับปรุงกระบวนการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนตามภารกิจให้สอดคล้องกับวิธีการทางดิจิทัลและรองรับการบริหารงานภาครัฐตามมาตรฐานและแนวทางเชื่อมโยงโดยต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสำคัญ เป็นต้น

        
ในร่างกฎหมาย มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคือ คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ รวมทั้งการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจนสอดคล้องกันระหว่างทุกหน่วยงานของรัฐและมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศ คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีและข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆนั่งเป็นกรรมการอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินหกคนเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการก็จะมีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นหน้าที่หลัก โดยมีสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการให้กับคณะกรรมการชุดนี้

        
ร่างกฎหมายแม้จะไม่ยาวมากนักแต่ก็มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะครับ ใครสนใจลองไปหาอ่านดูได้นะครับ แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ซับซ้อนและยากมากที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยให้ได้ผลโดยเร็ว จริงๆแล้วเรามีกฎหมายอยู่ค่อนข้างมากที่มีบทบัญญัติที่กฎหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลจะไปกระทบ เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยในร่างกฏหมายว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล มาตรา 21 กำหนดเอาไว้ว่ากรณีหน่วยงานของรัฐได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลหรือมีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในความครอบครอง ให้หน่วยงานของรัฐอื่นสามารถขอเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์หรือประมวลผลเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่ห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชนและต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลในเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว ส่วนมาตรา 22 ก็บัญญัติเอาไว้ว่า การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลใดที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 21 หากเป็นการเปิดเผยโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติและเป็นการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นที่หน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่งต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่และภารกิจของหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลไม่ต้องรับผิดตามกฏหมายนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 23 ที่บัญญัติเอาไว้น่ากลัวพอสมควรว่า กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม และจำเป็นต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ตามกฏหมายระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในกรณีนี้ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจกระทบหรือขัดต่อหลักการของมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติเอาไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

        
บทบัญญัติ 3 มาตราที่กล่าวข้างต้นเป็น 3 มาตราที่สำคัญที่จะเข้าไปมีผลกระทบต่อข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ในปัจจุบัน นอกจากจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังอาจกระทบต่อกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลข่าวสารและความเป็นส่วนตัวของประชาชน และต่อบทบัญญัติที่อยู่ในร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งให้ความเห็นชอบไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมานี่เองครับ

        
        
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 1 บทความคือลทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 

        
        
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

        
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์

        
        


   
     
 
 
 
 
   
 
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
บทความสาระ แม้ว่าเราจะมีการเลือกตั้งก็มิได้หมายความว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่หากประเทศจะเป็นประชาธิปไตยจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (representative democracy) ซึ่งเป็นกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลที่จะไปทำหน้าที่แทนบุคคลทั่วประเทศในสถาบันนิติบัญญัติ และบริหารรวมถึงตุลาการด้วยในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในหนังสือ “รัฐศาสตร์” ของอาจารย์ณัชชาภัทร์ อมรกุล ซึ่งผมได้ใช้เขียนบทความและสอนในชั้นเรียนมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานได้ระบุไว้ว่าการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 9 พ.ศ.2560) มาตรา 42 วรรคแรก กำหนดว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
การฟ้องคดีหน่วยงานทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง
รัฐสภาอัจฉริยะ (Smart Parliament) กับการส่งเสริมหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาของออสเตรเลียและข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับประเทศไทย
คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติและคณะอนุกรรมการบรรณาธิการหนังสือหลักนิติธรรม ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ ได้แบ่งหลักนิติธรรมออกเป็น 2 ประการ คือ หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัดหรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างแคบ ซึ่งกฎหมายหรือการกระทำ ที่ละเมิดหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัดจะไม่มีผลใช้บังคับ และหลักนิติธรรมโดยทั่วไปหรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างกว้าง ซึ่งผลของการฝ่าฝืนจะไม่ร้ายแรงเท่ากับการฝ่าฝืนหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด
หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในคำพิพากษาศาลอาญาในประเทศฝรั่งเศส
หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้นั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะในสาขากฎหมายเอกชน (le droit privé) และในสาขากฎหมายมหาชน (le droit public) หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในแนวคิดทางกฎหมายมหาชนนั้นเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยว่าประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองประชาธิปไตยสามารถที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยสามารถตรวจสอบการกระทำการของรัฐได้
ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส
ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส นอกจากการแยกระบบตุลาการระหว่าง การพิจารณาคดีปกครอง (juridiction administrative) ออกจาก การพิจารณาคดีทั่วไปหรือระบบศาลยุติธรรม (juridiction judiciaire) แล้ว ภายในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองเองยังมีการแยก กระบวนการยุติธรรมทางปกครองทั่วไป ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครองทั้งสามชั้นศาล ออกจาก กระบวนการยุติธรรมทางการคลัง (juridiction administrative financière)
Les associations humanitaires sont-elles des institutions?
Quel intét peut-on avoir, lorsque l'on étudie les associations humanitaires issues principalement de la vague des « French doctors », à se rérer à une théorie d'un auteur de la fin du XIXème et du début du XXème siècle, en l'occurrence Maurice Hauriou ?

PUBLIC-LAW.NET RSS URL


 
     
 

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544