หน้าแรก บทความสาระ
ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส
คุณ ณัฐวุฒิ คล้ายขำ นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทยMaster 1 Droit Public (Action Publique), Université de Bordeaux, France ( ปัจจุบันMaster 2 Droit Public financier, Université Paris Ouest Nanterre, France ) ( ทุนรัฐบาลไทย ก.พ.)
15 ตุลาคม 2560 20:18 น.
 

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส นอกจากการแยกระบบตุลาการระหว่าง การพิจารณาคดีปกครอง (juridiction administrative) ออกจาก การพิจารณาคดีทั่วไปหรือระบบศาลยุติธรรม (juridiction judiciaire) แล้ว ภายในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองเองยังมีการแยก กระบวนการยุติธรรมทางปกครองทั่วไป ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครองทั้งสามชั้นศาล ออกจาก กระบวนการยุติธรรมทางการคลัง (juridiction administrative financière) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลตรวจเงินแผ่นดิน[1] (la Cour des comptes) และศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น (les Chambres régionales et territoriales des comptes)
       

 
       

เนื่องด้วยข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าฝึกงานที่ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นแห่งภาค Nouvelle-Aquitaine (la Chambre régionale des comptes Nouvelle-Aquitaine) ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ข้าพเจ้าได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบการตรวจเงินแผ่นดินของฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก กอรปกับ ณ เวลานี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบกฎหมายการเงินการคลังของแผ่นดิน จึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ตามเนื่องด้วย ภารกิจศาลตรวจเงินแผ่นดินแตกต่างจากศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น บทความนี้จะอธิบายเฉพาะภารกิจของศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น เท่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น และ ส่วนที่ 2 ภารกิจของศาล
       

 
       

 
       

ส่วนที่ 1 ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น
       

ในช่วงปี 1981 ประเทศฝรั่งเศสมีแนวคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางมาสู่ส่วนท้องถิ่น (décentralisation) กล่าวคือเป็นการโอนอำนาจและความเป็นอิสระในการบริหารแก่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น (collectivités territoriales) ได้แก่ ภาค จังหวัด อำเภอ ซึ่งแต่เดิมเป็นการตัดสินใจของรัฐการส่วนกลางกล่าวคือผู้ว่ารัฐการ ( préfet)  ในเมื่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารท้องถิ่นด้วยตนเอง จึงต้องสร้างองค์กรในการตรวจสอบด้วยเช่นกัน
       

 
       

รัฐบัญญัติ ลงวันที่ 2 มีนาคม 1982[2] ไม่แต่เพียงโอนอำนาจการบริหารจากส่วนกลางให้นักการเมืองท้องถิ่น และยกเลิกการควบคุมโดยผู้ว่ารัฐการ ( tutelle préfectorale)    แต่ยังจัดตั้งศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นอีกด้วย  โดยระบุให้มีศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นประจำทุกภาคของประเทศ[3] และตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการลดจำนวนภาค ลงวันที่ 16 มกราคม 2015 ได้ควบรวมภาคของประเทศขึ้นใหม่ ทำให้ ณ ปัจจุบันมีภาคทั้งหมด 13 ภาค ดังนั้นศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น จึงมีอยู่ 13 แห่งในแผ่นดินแม่ และ 4 แห่งในแผ่นดินโพ้นทะเล รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง
       

 
       

ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นประกอบด้วย ประธานศาลที่มียศผู้พิพากษาระดับ conseiller maître[4] หรือ conseiller référendaire จากศาลตรวจเงินแผ่นดิน และศาลใดที่มีองค์คณะตั้งแต่ 4 องค์คณะขึ้นไปอาจมีรองประธานศาลซึ่งต้องมียศ  conseiller référendaire ได้  ตามบทบัญญัติมาตรา L 212-3  ของ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจาณาคดีการคลัง
       

 
       

มีการแยกองค์คณะภายในศาล(section) แต่ละองค์คณะมีผู้พิพากษา 3 ท่าน และมีผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะ 1 ท่าน มีหน้าที่ในการบริหารภายในองค์คณะ ผู้พิพากษาประจำศาลมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี กล่าวคือเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และแม้กระทั่งผู้พิพากษาท่านอื่น การแบ่งองค์คณะสามารถแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น การแบ่งตามความเชี่ยวชาญ การแบ่งตามลักษณะภูมิศาสตร์ เป็นต้น และผู้พิพากษาแต่ละคนจะมีพนักงานคดี (vérificateur) ช่วยเหลือในงานคดี เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริง และการตรวจสอบที่อยู่ในอำนาจ ผู้พิพากษาและพนักงานคดี ถือว่าเป็นส่วนงานฝ่ายตรวจสอบของศาล (organe de contrôle)
       

 
       

ในศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น ยังประกอบด้วย อัยการทางการคลังแผ่นดิน ( procureur financier ) เป็นตัวแทนของรัฐที่เป็นอิสระจากศาล มีหน้าที่ตรวจสอบให้มีการพิจารณาคดีไปตามกฎหมาย และให้ความเห็นทางกฎหมาย แต่ไม่ถือว่าเป็นองค์คณะ และไม่มีอำนาจในการร่วมทำคำพิพากษา ในหลายกรณีอัยการทางการคลังแผ่นดินจะเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น ไปยังศาลตรวจเงินแผ่นดินซึ่งถือว่าเป็นศาลอุทธรณ์ในกระบวนการพิจารณาคดีทางการคลัง
       

 
       

ข้อสังเกตุ ตำแหน่งอัยการทางการคลังแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างมีความเฉพาะของประเทศฝรั่งเศส เพราะเเม้ว่า อัยการทางการคลังแผ่นดิน จะปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น แต่ไม่ถือว่าอยู่ในสายการบังคับบัญชาของศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น ดังนั้นประธานศาลไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ และไม่ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชา และในส่วนของการศึกษานั้นก็มิจำต้องสอบผ่านเนติบัณฑิตอีกด้วย
       

 
       

ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นยังประกอบด้วยฝ่ายสนับสนุน (organe administratif) ได้แก่ 1) เลขาธิการศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น (Secrétaire général) มีหน้าที่บริหารกิจการทั่วไปของศาล 2) เสมียนศาล (Greffe) มีหน้าที่บันทึกการพิจารณาคดีและช่วยเหลือองค์คณะ เสมียนศาลจัดว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อองค์กรเพราะเป็นหน่วยงานที่ประสานระหว่างส่วนงานฝ่ายตรวจสอบของศาลและหน่วยงานสนับสนุนให้ทำงานร่วมกันในการพิจารณาคดี  และ 3) เจ้าหน้าที่ฝ่ายเก็บสำนวนคดี (Archives) มีหน้าที่เก็บเอกสารเกี่ยวกับคดีทั้งหมด
       

 
       

ส่วนที่ 2 ภารกิจของศาล ( compétences )
       

จำต้องอธิบายในเบื้องต้นก่อนว่า การตรวจเงินแผ่นดินนั้น มิใช่กระบวนการพิจารณาเช่นคดีทั่วไป กล่าวคือ ในคดีทั่วไป ศาลจะมีอำนาจก็ต่อเมื่อมีกรณีพิพาทระหว่างคู่กรณีนำคดีมาสู่ศาล แต่ในกระบวนการยุติธรรมทางการคลังนั้นเกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายเงินทางภาครัฐ ซึ่งในแต่ละวันภาครัฐนั้นมีการสั่งจ่ายเงินตลอดเวลา สอดคล้องกับหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ ( continuité de service public) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีภารกิจตลอดเวลา ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจ่ายเงินเดือนข้าราชการ พนักงานของรัฐ จ่ายค่าจ้างก่อสร้างแก่ผู้รับสัมปทาน และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงมิอาจทราบได้ว่าการสั่งจ่ายครั้งใดที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นมีอำนาจในการตรวจสอบแบบอัตโนมัติ (auto-saisi) กล่าวคือ ศาลมีอำนาจเริ่มกระบวนพิจารณาได้ด้วยตนเอง ไม่จำต้องมีคู่กรณีในคดี
       

 
       

โดยทั่วไป ประธานศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นจะเป็นคนวางแผนการตรวจสอบประจำปี (programmation) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทางการคลัง ( risque financier) ของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำนาจ โดยจะวางแผนการตรวจสอบเป็นกรอบเวลา 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น ศาลวางแผนประจำปี 2017 ว่าจะตรวจสอบการใช้จ่ายเงินระหว่างปี 2011-2016 ของ จังหวัด  A B C …. เป็นต้น การวางแผนการตรวจสอบถือว่าเป็นกระบวนที่สำคัญมาก เพราะหากไม่มีกระบวนการนี้ องค์คณะจะไม่มีอำนาจในการเข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริง กอรปกับศาลไม่อาจตรวจสอบได้ทุกองค์กร ดังนั้นกระบวนการนี้จึงเป็นการวัดความสามารถประธานศาลอย่างแท้จริงว่าจะสามารถวางกรอบการตรวจสอบได้รัดกุมหรือไม่
       

 
       

ภารกิจของศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น โดยทั่วไป เเบ่งได้เป็น 3 ภารกิจ ได้แก่ การตรวจสอบทางการบริหาร ( l'examen de la gestion) การตรวจสอบทางบัญชี ( le contrôle juridictionnel) และ การตรวจสอบทางการคลัง ( le contrôle budgétaire)
       

 
       

2.1 การตรวจสอบทางการบริหาร ( l'examen de la gestion) 
       

การตรวจสอบทางการบริหาร เป็นการตรวจสอบความปกติของการบริหาร ค่าใช้จ่ายของการบริหาร และ ผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตประกอบกับวัตถุประสงค์ของสภาท้องถิ่น ผู้ที่ถูกตรวจสอบคือผู้บริหารท้องถิ่น ( ordonnateur)  โดยศาลมีอำนาจพิจารณาความเสียหายทางบัญชี ดุลทางการคลัง ความปกติหรือผิดปกติทางเศรษฐกิจ ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นห้ามก้าวล่วงไปพิจารณาวัตถุประสงค์ของสภาท้องถิ่น เพราะเป็นประเด็นทางการเมือง ตามบทบัญญัติ มาตรา L 211-8 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจาณาคดีทางการคลัง ยกตัวอย่าง หากสภาท้องถิ่นอนุมัติให้มีการสร้างโรงเรียนใหม่ 1 แห่ง ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าควรสร้างโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ แต่มีอำนาจในการพิจารณาว่าควรสร้างโรงเรียนนั้นอย่างไร 
       

 
       

กระบวนการตรวจสอบทางบริหาร จะเริ่มต้นเมื่อประธานศาลได้วางแผนการตรวจสอบประจำปี องค์คณะจะออกเอกสารเปิดการตรวจสอบ (lettre d'ouverture du contrôle) ในเดือนมกราคม หลังจากเปิดการตรวจสอบ องค์คณะโดยตุลาการเจ้าของสำนวนและพนักงานคดี จะเป็นผู้ดำเนินการเเสวงหาข้อเท็จจริง ( instruction ) จากเอกสารและจากการลงพื้นที่จริง ( sur pièces et sur place) ตามบทบัญญัติ มาตรา R 141-2 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีทางการคลัง หลังจากเเสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสมบูรณ์ องค์คณะจะออกเอกสารปิดการเเสวงหาข้อเท็จจริง ( dépôt du rapport de gestion) หากองค์คณะไม่พบความผิดปกติสามารถยุติการตรวจสอบได้
       

 
       

แต่ถ้าหากองค์คณะพบความผิดปกติในการบริหาร จะมีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก (1er délibéré collégial) โดยศาลจะออกเอกสารที่ชื่อว่ารายงานการตรวจสอบขั้นต้น[5] (Rapport d'observations provisoires) แก่ผู้บริหารท้องถิ่น รายงานในขั้นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เนื่องด้วยในรายงานจะประกอบไปด้วยข้อสังเกตุ และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของท้องถิ่น โดยผู้บริหารท้องถิ่นมีระยะเวลา 2 เดือนเพื่อตอบรายงานดังกล่าว หากผู้บริหารท้องถิ่นยอมแก้ไขตามที่ศาลเสนอหรือมีข้อมูลใหม่มาทักท้วงต่อศาล องค์คณะสามารถยุติการตรวจสอบได้เช่นกัน
       

 
       

ภายหลังได้รับรายงานการตรวจสอบขั้นต้น หากผู้บริหารท้องถิ่นมิเห็นด้วย หรือมิได้ตอบศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด องค์คณะจะมีการนัดพิจารณาคดีครั้งที่สอง ( 2éme délibéré collégial) โดยศาลจะออกเอกสารรายงานการตรวจสอบครั้งสุดท้าย (Rapport d'observations définitives)  แก่ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริการท้องถิ่นมีระยะเวลา 1 เดือนเพื่อตอบรายงานดังกล่าว เมื่อองค์คณะได้รับคำตอบหรือไม่มีการตอบภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลจะออกรายงานการตรวจสอบครั้งสุดท้ายแก่สาธารณะ (Rapport d'observations définitives publiques) โดยส่งไปยังองค์กรนิติบัญญัติของท้องถิ่น หน่วยงานรัฐการที่เกี่ยวข้อง สำนักข่าวท้องถิ่น และ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต
       

 
       

ข้อสังเกตุ รายงานการตรวจสอบครั้งสุดท้ายแก่สาธารณะ มิใช่คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถอุทธรณ์รายงานดังกล่าวได้ และ แม้รายงานการตรวจสอบครั้งสุดท้ายแก่สาธารณะจะมิใช่คำพิพากษาเเต่มีผลอย่างมากต่อการเมืองและต่อประชาธิปไตยของท้องถิ่น เพราะประชาชนสามารถทราบการบริหารของผู้บริหารท้องถิ่นของตน ซึ่งย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า อีกทั้งหากศาลตรวจเงินแผ่นดินพบว่ามีการทุจริตสามารถส่งรายงานไปยังศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง (la Cour de discipline budgétaire et financière) ให้พิจารณาคดีทางวินัยต่อผู้บริหารท้องถิ่นนั้นได้อีกด้วย ตามบทบัญญัติ มาตรา L 314-1 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจาณาคดีทางการคลัง
       

 
       

2.2 การตรวจสอบทางบัญชี ( contrôle juridictionnel)
       

ภารกิจที่สองนี้ถือว่าเป็นภารกิจที่เป็นรากฐานของศาลตรวจเงินแผ่นดิน เพราะระบบการคลังของฝรั่งเศสมีหลักการการแบ่งแยกหน้าที่ของ “ผู้สั่งจ่าย” และ “ผู้จ่ายเงิน” (séparation de l'ordonnateur et le comptable publique[6]) ออกจากกัน การตรวจสอบในกรณีนี้ คือการตรวจสอบการจ่ายเงินของผู้มีอำนาจ "จ่าย" กล่าวคือ พนักงานบัญชีของรัฐ ( comptable publique) โดยทั่วไปศาลจะตรวจสอบการจ่ายเงินของพนักงานบัญชีว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากจะอธิบายอย่างง่าย อาจกล่าวได้ว่า การตรวจสอบทางบัญชี คือการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานบัญชีของรัฐนั้นเอง
       

 
       

ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นตัดสินคดีเกี่ยวกับบัญชีของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ภาค (région) จังหวัด (département) อำเภอ (commune) และนิติบุคคลท้องถิ่นอื่น เช่น กลุ่มของเมืองขนาดใหญ่ (métropole[7]) ในฐานะศาลชั้นต้น และหากได้รับมอบอำนาจจากศาลตรวจเงินแผ่นดิน ศาลมีอำนาจในการตัดสินคดีเกี่ยวกับบัญชีของหน่วยงานปกครองส่วนกลางบางแห่ง เช่น โรงพยาบาล อีกด้วย โดยศาลมีหน้าที่ตรวจสอบความปกติของบัญชีและความถูกต้องในการปฏิบัติงานของพนักงานบัญชี หากพบการกระทำความผิดศาลอาจลงโทษพนักงานบัญชีให้รับผิดทางส่วนตัวและทางการคลังได้ (responsabilité personnelle et pécuniaire)
       

 
       

กระบวนการตรวจสอบทางบัญชีจะเริ่มภายหลังจากประธานศาลได้วางแผนการตรวจสอบประจำปี องค์คณะจะออกเอกสารเปิดการตรวจสอบ (lettre d'ouverture du contrôle) ในเดือนมกราคม หลังจากเปิดการตรวจสอบองค์คณะโดยตุลาการเจ้าของสำนวนและพนักงานคดี จะเป็นผู้ดำเนินการเเสวงหาข้อเท็จจริง ( instruction ) จากเอกสารและจากการลงพื้นที่จริง ( sur pièces et sur place) เช่นเดียวกับการตรวจสอบทางบริหาร ( l'examen de la gestion) หลังจากเเสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสมบูรณ์ องค์คณะจะออกเอกสารปิดการเเสวงหาข้อเท็จจริง ( dépôt du rapport de jugement)
       

 
       

หลังจากนั้นจะมีการส่งรายงานการเเสวงหาข้อเท็จจริง ไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน บุคคลแรกได้แก่ พนักงานอัยการทางการคลังแผ่นดิน เพื่อทำความเห็น (réquisitoire) บุคคลที่สองได้แก่ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งเป็นตุลาการที่เป็นอิสระจากองค์คณะ เพื่อทำความเห็นเช่นเดียวกัน และบุคคลที่สาม ได้แก่ พนักงานบัญชีของรัฐในคดีเพื่อแจ้งวันพิจาณาคดีครั้งแรก (audience publique) และศาลจะทำคำพิพากษา (jugement) ให้พนักงานบัญชีของรัฐชดใช้เงินที่ขาดหายไปจากบัญชี หรือให้เสียค่าปรับ (la somme non rémissible)ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่รอบคอบ
       

 
       

ข้อสังเกตุ ในกรณีนี้ศาลตัดสินเป็นรูปแบบคำพิพากษา (jugement) ดังนั้นพนักงานบัญชีของรัฐที่ไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวไปยังศาลตรวจเงินแผ่นดินได้
       

 
       

2.3 การตรวจสอบทางการคลัง (contrôle budgétaire)
       

โดยการยื่นคำร้องของผู้แทนของรัฐ (représentant de l’État ) หรือผู้มีส่วนได้เสีย ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นมีอำนาจในการตรวจสอบทางการคลัง 4 กรณี[8] ดังต่อไปนี้
       

 
       

2.3.1 งบประมาณท้องถิ่นไม่ได้รับการอนุมัติภายในเวลาที่กำหนด (Vote du budget hors délais)
       

เป็นกรณีที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีการอนุมัติงบประมาณท้องถิ่นประจำปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม  ผู้แทนของรัฐ กล่าวคือผู้ว่ารัฐการ (préfet) ต้องยื่นคำร้องต่อศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น เพื่อขอความเห็น ศาลจะให้ความเห็นสู่สาธารณะ (avis public ) เกี่ยวกับงบประมาณภาคบังคับ (budget minimum) เช่นเงินเดือนข้ารัฐการ เป็นต้น หลังจากได้รับความเห็นของศาล ผู้ว่ารัฐการจะออกคำสั่ง (arrêté) เพื่ออนุมัติงบประมาณแทนสภาท้องถิ่น ตามบทบัญญัติ มาตรา  L 1612-2 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
       

 
       

การที่กฎหมายบังคับให้ผู้ว่ารัฐการออกคำสั่งดังกล่าว แม้จะก่อให้เกิดคำถามว่าขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (séparation des pouvoirs)  คำสั่งดังกล่าวก็มีความจำเป็นต่อสถานการณ์เพราะโดยปราศจากงบประมาณ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานได้
       

 
       

ข้อสังเกตุ ในปี 2016 ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น มีการทำความเห็นในประเด็นนี้ถึง 10 คดีด้วยกัน
       

 
       

2.3.2 การอนุมัติงบประมาณท้องถิ่นที่ขาดดุล  ( budget non voté en équilibre réel )
       

เป็นกรณีที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นออกรัฐบัญญัติงบประมาณท้องถิ่นประจำปีที่ขาดดุล
       

ผู้ว่ารัฐการต้องยื่นคำร้องต่อศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นภายใน 1 เดือนนับแต่การออกรัฐบัญญัติงบประมาณนั้น ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นมีเวลา 1 เดือนในการทำความเห็นพร้อมทั้งเสนอหนทางแก้ไขปัญหา (les mesures nécessaires au rétablissement de l'équilibre )ไปยังสภาท้องถิ่น หากสภาท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับศาล ให้ศาลทำความเห็นครั้งที่ 2 ส่งไปยังผู้ว่ารัฐการเพื่อออกคำสั่งอนุมัติงบประมาณแทนสภาท้องถิ่น ตามบทบัญญัติ มาตรา  L 1612-5 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
       

 
       

ข้อสังเกตุ ในระดับชาตินั้นศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des comptes) ไม่มีการตรวจสอบการอนุมัติงบประมาณที่ขาดดุล เพราะงบประมาณระดับชาติสามารถขาดดุลได้ ตามสนธิสัญญาว่าด้วยความมั่นคง ความร่วมมือ และการบริหารทางเศรฐษกิจของยุโรป (Le traité sur la stabilité, la coordination et la gouvernance หรือ TSCG)
       

 
       

2.3.3 รายจ่ายท้องถิ่นขาดทุนอย่างรุนแรง ( déficit « excessif » du compte administratif) 
       

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ หากพบว่าหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นขาดทุนอย่างรุนแรง[9] ผู้ว่ารัฐการต้องยื่นคำร้องต่อศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นภายใน 1 เดือนเพื่อเสนอความเห็นพร้อมทั้งเสนอหนทางแก้ไขปัญหา ไปยังสภาท้องถิ่น หากสภาท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับศาล ให้ผู้ว่ารัฐการออกคำสั่งไปตามที่ศาลเสนอ ตามบทบัญญัติ มาตรา  L 1612-14 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
       

 
       

2.3.4 ไม่ระบุรายจ่ายภาคบังคับในงบประมาณ (Défaut d'inscription d'une dépense obligatoire)
       

กรณีนี้เป็นกรณีที่มีการอนุมัติงบประมาณ แต่ขาดการระบุรายจ่ายภาคบังคับ ผู้ว่ารัฐการ พนักงานบัญชี หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหนี้ของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถยื่นคำร้องต่อศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่น เมื่อได้รับคำร้องศาลมีเวลา 1 เดือนในการพิจารณาความผิดพลาดนั้นและเสนอความเห็นไปยังหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น
       

 
       

ภายใน 1 เดือน หากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามความเห็นของศาล ให้ศาลเสนอแนวทางการเพิ่มรายได้และหนทางเพื่อลดรายจ่ายไปยังผู้ว่ารัฐการ ผู้ว่ารัฐการจะเป็นผู้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม ( budget rectifié )ไปตามที่ศาลเสนอ ตามบทบัญญัติ มาตรา  L 1612-15 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
       

 
       

 
       

บทสรุป
       

ศาลตรวจเงินแผ่นดินท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศส เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดการกระจายอำนาจ มีอำนาจประการแรก ตรวจสอบการบริหารของผู้บริหารท้องถิ่นโดยทำการพิจารณาเป็นรูปแบบ "รายงาน"  ประการที่สอง ตรวจสอบบัญชีท้องถิ่นของพนักงานบัญชีของรัฐ โดยทำการพิจารณาเป็นรูปแบบ "คำพิพากษา" และ ประการที่สาม ตรวจสอบการอนุมัติงบประมาณของท้องถิ่นโดยทำการพิจารณาเป็นรูปแบบ "ความเห็น" เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะการให้อำนาจปกครองตัวเองแก่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต้องควบคู่ไปกับการตรวจสอบ การวางโครงสร้างเช่นนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นมีความเป็นตัวของตนเองสูงขึ้น และยังส่งเสริมประชาธิปไตยให้ลงไปสู่ระดับท้องถิ่นอีกด้วย
       

 
       

บรรณานุกรม 
       

- Rapport d'activité 2016, la Chambre régionale des comptes Nouvelle-Aquitaine
       

- Michel BOUVIER, les finances locales,16e édition, LGDJ lextenso édition, 2015
       

- Code des justices financières
       

- Code général des collectivités territoriales
       

 
       

กิติกรรมประกาศ
       

- Monsieur François NASS, premier conseiller de la Chambre régionale des comptes Nouvelle-Aquitaine
       

 
       

 
       

 
       


       
       

       

       

[1]นักวิชาการบางท่านได้แปลองค์กรนี้ว่า ศาลบัญชีเพราะคำว่า Cour แปลว่า ศาล ส่วนคำว่า comptesแปลว่าบัญชี
       


       

       

[2]กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการกระจายอำนาจของฝรั่งเศส เป็นกฎหมายฉบับแรกของ ของแผนขั้นแรกแห่งการกระจายอำนาจ ( l'Acte 1 de la décentralisation 1982-2003)      
       


       

       

[3]มาตรา L.210-1 ของ ประมวลกฎหมายการพิจาณาคดีการคลัง ( code des juridictions financières )
       


       

       

[4]ยศของผู้พิพากษานั้น มี 4 อันดับ เรียงลำดับตั้งแต่ 1) auditeur  2) conseiller maître 3) conseiller référendaire  จนถึง  4) Président de chambre
       


       

       

[5]รายงานในขั้นนี้ยังเก็บเป็นความลับ (confidentiel) ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้
       


       

       

[6] หลักการการแบ่งแยกหน้าที่ของผู้สั่งจ่าย และ ผู้จ่ายเงิน คือ หลักการทางกฎหมายปกครองของฝรั่งเศส ที่แบ่งแยกระหว่าง “การสั่งจ่ายเงิน” ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น ออกจาก “การจ่ายเงิน” ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานบัญชีของรัฐ อย่างชัดเจน โดยในอดีต ศาลที่ตรวจสอบ  “การสั่งจ่ายเงิน” คือ ศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง (la Cour de discipline budgétaire et financière) ส่วน ศาลที่ตรวจสอบ “การจ่ายเงิน” คือ ศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des comptes)
       


       

       

[7] กลุ่มของเมืองขนาดใหญ่  คือ การรวมกลุ่มของอำเภอหลายๆอำเภอเข้าด้วยกัน แต่ขนาดไม่ใหญ่เท่าจังหวัด มีภารกิจในการจัดการบริการสาธารณะบางอย่างแทนอำเภอสมาชิก ตามบทบัญญัติ มาตรา  L 5217-2 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น
       


       

       

[8]Michel BOUVIER, les finances locales, LGDJ, lextenso édition, 16éme édition, p.256
       


       

       

[9]ขาดทุนเกินร้อยละ 10 สำหรับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 20,000 คน และ ขาดทุนเกินร้อยละ 5 สำหรับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
       


       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544