หน้าแรก บทความสาระ
รัฐสภาอัจฉริยะ (Smart Parliament) กับการส่งเสริมหลักนิติธรรม: กรณีศึกษาของออสเตรเลียและข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับประเทศไทย
คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ส่วนวิเคราะห์และจัดเตรียมข้อมูล ฝ่ายอำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
8 กรกฎาคม 2561 20:54 น.
 
หลักนิติธรรม (The Rule of Law) เป็นหลักการสำคัญสำหรับควบคุมการใช้อำนาจของผู้ปกครอง สาระสำคัญของหลักนิติธรรม คือ การปกครองโดยยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่เหนืออำเภอใจของผู้มีอำนาจ[2]  เนื้อหาและขอบเขตของหลักนิติธรรมเป็นที่กล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลักการนี้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”[3] อย่างไรก็ตามความหมาย องค์ประกอบ และรายละเอียดการดำเนินการตามหลักนิติธรรมยังคงเป็นที่ถกเถียงและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
                   คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติและคณะอนุกรรมการบรรณาธิการหนังสือหลักนิติธรรม ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ ได้แบ่งหลักนิติธรรมออกเป็น  2 ประการ คือ หลักนิติธรรมโดยเคร่งครัดหรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างแคบ ซึ่งกฎหมายหรือการกระทำ ที่ละเมิดหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัดจะไม่มีผลใช้บังคับ และหลักนิติธรรมโดยทั่วไปหรือหลักนิติธรรมในความหมายอย่างกว้าง[4] ซึ่งผลของการฝ่าฝืนจะไม่ร้ายแรงเท่ากับการฝ่าฝืนหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด
                   ตัวอย่างองค์ประกอบของหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด เช่น หลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้พิพากษาและตุลาการ กฎหมายอาญาต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจ[5] เป็นต้น ส่วนตัวอย่างองค์ประกอบของหลักนิติธรรมโดยทั่วไป เช่น กฎหมายต้องชัดเจน มีเหตุผล และนำไปสู่ความเป็นธรรม และกระบวนการนิติบัญญัติต้องเป็นกระบวนการที่เปิดเผยโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น[6]
        
                   บทความนี้อธิบายการเสริมสร้างหลักนิติธรรมด้านความโปร่งใสและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศออสเตรเลียด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างรัฐสภาอัจฉริยะ (Smart Parliament) 3 มิติ คือ 1. การประมวลข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และการนำเสนออย่างเป็นระบบผ่านเว็บไซต์ 2. ระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนติดตามเฉพาะ  ร่างพระราชบัญญัติที่ตนเองสนใจ (Track) ผ่านการแจ้งเตือนรายบุคคลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) และ3. การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติผ่านช่องทางดิจิทัล และการเปิดเผยความคิดเห็นเหล่านั้นต่อสาธารณชนกลายเป็นคลังความรู้ด้านกฎหมายขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ
        
       กระบวนการนิติบัญญัติของออสเตรเลีย     
        
                   ก่อนที่จะอธิบายมิติทั้ง 3 ด้านของรัฐสภาอัจฉริยะที่ช่วยส่งเสริมหลักนิติธรรมด้านความโปร่งใสในกระบวนการนิติบัญญัติของออสเตรเลียนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจกระบวนการนิติบัญญัติของออสเตรเลีย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
                   ออสเตรเลียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร[7] รัฐสภาของ ออสเตรเลียเป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และวุฒิสภา (Senate) สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
                   สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คนจาก 150 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ทั้งนี้แต่ละมลรัฐ (State) และ เขตปกครอง (Territory) ของออสเตรเลียจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) มลรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales - NSW) ที่มีนครซิดนีย์ (Sydney) เป็นเมืองหลวง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 47 คน  ส่วนเขตปกครองทางตอนเหนือ (Northern Territory - NT) ที่มีนครดาร์วิน (Darwin) เป็นเมืองหลวง และ เขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลีย (Australian Capital Territory - ACT) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงแคนเบอร์รา (Canberra) เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลียนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรน้อยที่สุดเพียงเขตปกครองละ 2 คนเท่านั้น[8] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 150 คนนี้ คือ ผู้ตัดสินว่าพรรคการเมืองใดจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล        เพื่อปกครองประเทศและใครจะมีโอกาสดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   
                   นอกจากสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนแล้ว ออสเตรเลียยังมีวุฒิสภาที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมลรัฐ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 76 คน โดยมลรัฐทั้ง 6 แห่งของออสเตรเลียมีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาเท่ากันคือ มลรัฐละ 12 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ส่วนเขตปกครองทางตอนเหนือและเขตปกครองนครหลวงของออสเตรเลียมีสมาชิกวุฒิสภาเขตปกครองละ 2 คน มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาของออสเตรเลียสามารถสังกัดพรรคการเมืองได้ และสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ในกรณีที่พรรคการเมืองที่ตนสังกัดมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
                   ในกระบวนการนิติบัญญัติของออสเตรเลียนั้น คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ (Bill) ได้ทั้งสิ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกคนอื่นลงชื่อสนับสนุน ทั้งนี้ย่อมหมายความว่าร่างพระราชบัญญัติจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาก่อนก็ได้ ตัวอย่างของร่างพระราชบัญญัติที่ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา เช่น เมื่อปี ค.ศ. 2015  (พ.ศ. 2558) บิล ชอทเทน (Bill Shorten) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งมารีบีนอง (Maribyrnong) มลรัฐวิคตอเรีย (Victoria) ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเลเบอร์ (Australian Labor Party) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ Marriage Amendment (Marriage Equality) Bill 2015 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) รับรองสิทธิการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันในประเทศออสเตรเลีย[9] อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ปีเตอร์ วิช-วิลสัน (Peter Whish-Wilson) สมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐแทสเมเนีย (Tasmania) สังกัดพรรคกรีน (Australian Greens) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014 ต่อวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) มีสาระสำคัญบัญญัติห้ามรัฐบาลออสเตรเลียในอนาคตเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement - ISDS) ในข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศอย่างเด็ดขาด[10] แม้ว่าในท้ายที่สุดร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะไม่ผ่านการพิจารณาและไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงกระบวนการนิติบัญญัติที่เปิดกว้างของประเทศออสเตรเลีย
                   การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของออสเตรเลียแบ่งออกเป็น 3 วาระ (Reading) เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่วาระที่ 1 (First Reading) ของออสเตรเลียเป็นเพียงการอ่านชื่อร่างพระราชบัญญัติให้สมาชิกทุกคนได้รับทราบเท่านั้น ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นจากในสมัยโบราณมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ รวมทั้งการพิมพ์เอกสารแจกสมาชิกทุกคนยังไม่สามารถทำได้โดยสะดวก เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาจึงต้องอ่านออกเสียงให้สมาชิกทั้งหมดได้ยินพร้อมกัน[11]
                   วาระที่สำคัญที่สุดของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภาออสเตรเลียคือ วาระที่ 2 (Second Reading) เป็นวาระรับหลักการ ในการพิจารณาวาระที่ 2 นี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติได้แถลงหลักการและเหตุผลรวมทั้งโน้มน้าวสมาชิกของแต่ละสภาให้คล้อยตาม อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงมติรับหลักการสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาอาจมีมติส่งร่างพระราชบัญญัติไปให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาในรายละเอียดรวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน นักธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง และจัดทำรายงานเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ความเห็นของคณะกรรมาธิการเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น ไม่มีผลผูกมัดให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาต้องปฏิบัติตาม
                   ถ้าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 2 ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ การพิจารณาในรายละเอียดเรียงตามลำดับมาตรา ในรัฐสภาออสเตรเลียไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติ แต่ใช้ที่ประชุมใหญ่ของแต่ละสภาเป็นผู้พิจารณาแทน ขั้นตอนสุดท้าย คือ การลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับในวาระที่ 3 หลังจากนั้นก็จะส่งร่างพระราชบัญญัติไปยังสภาที่สอง และจะผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระเช่นเดียวกัน
                   ในกรณีที่สภาที่สองแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับจากสภาแรก จะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นกลับคืนให้สภาแรกเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาแรกแก้ไขเพิ่มเติมก็จะต้องส่งกลับไปให้สภาที่สองพิจารณา กระบวนการส่งร่างพระราชบัญญัติไปมาระหว่างสองสภาจะดำเนินไปจนกว่าทั้งสองสภาจะเห็นชอบตรงกันทุกถ้อยคำ ขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย (Governor-General of the Commonwealth of Australia - GG) ผู้ทำหน้าที่ประมุขของออสเตรเลียในทางปฏิบัติเพื่อลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป           
                   ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติของออสเตรเลีย คือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภามีอำนาจใกล้เคียงกัน กล่าวคือ สมาชิกวุฒิสภาสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภามีอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการงบประมาณหรือภาษีอากรได้[12] ในกรณีที่รัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ไม่สามารถเจรจาต่อรองกับสมาชิกวุฒิสภาให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ที่สำคัญของรัฐบาล รัฐบาลมีทางเลือกสุดท้าย คือ การยุบทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพร้อมกัน แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด เรียกว่า “Double Dissolution” การยุบ     สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพร้อมกันครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) และมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)[13]  
        
        
       รัฐสภาอัจฉริยะของประเทศออสเตรเลีย 
        
                   มิติที่หนึ่ง การประมวลข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และการนำเสนออย่างเป็นระบบผ่านเว็บไซต์
         
                   เว็บไซต์ของรัฐสภาออสเตรเลีย คือ http://www.aph.gov.au/ เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์นี้ ผู้สนใจสามารถค้นหาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ที่รายการ Parliamentary Business ทางด้านบนซ้าย จากนั้นเลือกรายการ Bills and Legislation และกรอกรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องการค้นหา   
         
                   เมื่อค้นหาร่างพระราชบัญญัติที่ต้องการพบแล้ว เว็บไซต์ของรัฐสภาออสเตรเลียจะประมวลและนำเสนอ   ข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ช่วยให้ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้โดยสะดวกในทีนี้ขอยกตัวอย่างร่างพระราชบัญญัติชื่อ Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012[14] มีสาระสำคัญ คือ การยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียประกอบด้วย ชาวอะบอริจินิส (Aborigines or Aboriginal People) และชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะบริเวณช่องแคบ ทอเรส (Torres Strait) ที่เรียกว่า Torres Strait Islanders[15] นั้น เป็นผู้ครอบครองแผ่นดินออสเตรเลียมาก่อนที่ สหราชอาณาจักรจะเข้ายึดครองออสเตรเลียเป็นอาณานิคมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18[16] นอกจากนี้  ยังกำหนดให้รัฐบาลออสเตรเลียต้องดำเนินการผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียอย่างจริงจังเพื่อรับรองสถานะของชนพื้นเมืองทั้งสองกลุ่มอย่างเป็นทางการในกฎหมายสูงสุดของประเทศ
                   ข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่เว็บไซต์ของรัฐสภาออสเตรเลียประมวลนำเสนอแบ่งออกเป็น 4 หมวดสำคัญดังต่อไปนี้
                   หมวดที่ 1 อยู่ด้านบนสุดของหน้าเว็บไซต์ เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วย 1. ชื่อร่างพระราชบัญญัติ ปรากฏเป็นตัวอักษรสีขาวขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ ชื่อร่าง พระราชบัญญัติ คือ Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012
                   2. Type คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของร่างพระราชบัญญัติแบ่งตามผู้เสนอ ในกรณีนี้ เนื่องจาก คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลของออสเตรเลียเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์จึงใช้คำว่า Government แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้เสนอ ข้อมูลจะระบุว่า Private
                   3. Portfolio คือ ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานหรือสมาชิกรัฐสภาที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ ในกรณีนี้ คือ Families, Housing, Community Services and Indigenous Affairs หรือกระทรวงกิจการครอบครัว การเคหะ การบริการชุมชน และกิจการชนพื้นเมือง [17] ร่วมกับ Attorney-General หรือกระทรวงยุติธรรม ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้เสนอ จะปรากฏชื่อของสมาชิกผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้น
                   4. Originating house คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาที่เริ่มต้นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเป็นสภาแรกในกรณีนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลที่ปรากฏจะใช้คำว่า House of Representatives นอกจากนี้ พื้นหลังของ ข้อมูลนี้จะปรากฏเป็นสีเขียวตามสีของห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติ ที่เริ่มต้นพิจารณาในวุฒิสภาก่อน พื้นหลังจะเป็นสีแดงตามสีของห้องประชุมวุฒิสภา ตัวอย่างร่างพระราชบัญญัติที่ เริ่มต้นพิจารณาในห้องประชุมวุฒิสภาก่อน เช่น Trade and Foreign Investment (Protecting the Public  Interest) Bill 2014 เป็นต้น
                   5. Status คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีนี้ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติ  Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012 ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะจึงปรากฏคำว่า Act ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับใดไม่ผ่านการพิจารณาหรือตกไปไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ข้อมูลที่ปรากฏจะใช้คำว่า Not Proceeding ส่วนร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อมูลที่ปรากฏจะใช้คำว่า Before Reps แล้วถ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาจะใช้คำว่า Before Senate  
                   6. Parliament no ชุดของรัฐสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นครั้งแรก ในกรณีนี้คือรัฐสภาชุดที่ 43 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)  
                   หมวดที่ 2  Summary สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ  Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012 มีสาระสำคัญยอมรับสถานะของชนพื้นเมืองของออสเตรเลียในฐานะผู้ครอบครองดินแดนแห่งนี้อย่างเป็นทางการ รวมทั้งกำหนดให้รัฐบาลต้อง ดำเนินการผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง    
                   หมวดที่ 3 Progress ความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ ตั้งแต่พิจารณาในวาระที่ 1 ของ สภาแรกจนถึงการลงนามโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลียเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายจากตัวอย่าง ร่างพระราชบัญญัติ Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 เมื่อวันที่  28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012  (พ.ศ. 2555) สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)
                   วุฒิสภาเริ่มต้นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลียลงนามในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายและเปลี่ยนสถานะเป็น Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Act 2013 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)                  
                   การระบุความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติทุกขั้นตอนอย่างละเอียดช่วยให้ประชาชนสามารถค้นหารายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เกี่ยวข้องได้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถค้นหารายงานการประชุมของทั้งสองสภาตามวันที่ที่ระบุไว้ ที่ http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Hansard
                   หมวดที่ 4 Documents and Transcripts นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่คำอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาทุกคนในวาระที่ 2 ประกอบด้วย 7 หัวข้อ คือ
                   1. Text of bill (First reading) ร่างพระราชบัญญัติที่นำเสนอต่อสภาแรกในวาระที่ 1
                   2. Explanatory memoranda คำอธิบายเพิ่มเติมของร่างพระราชบัญญัติ
                   3. Transcript of speeches มี 2 หัวข้อย่อย คือ All second reading speeches เชื่อมโยงไปสู่คำอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนในการพิจารณาวาระที่ 2 อีกหัวข้อหนึ่งคือ Minister’s second reading speech เชื่อมโยงไปสู่คำอภิปรายของรัฐมนตรีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ หัวข้อนี้จะเปลี่ยนถ้อยคำเป็น Prive Member’s/ Senator’s introductory speech แล้วแต่กรณี
                   4. Proposed amendments เอกสารที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำของร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติ Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012 ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดเสนอคำแปรญัตติ ตัวอย่างร่างพระราชบัญญัติที่มีสมาชิกเสนอ คำแปรญัตติหลายคน เช่น Counter-Terrorism Legislation Amendment (Foreign Fighters) Bill 2014 ที่ เอกสารคำแปรญัตติในสภาผู้แทนราษฎร 2 ฉบับ และในวุฒิสภาอีก 7 ฉบับ ซึ่งประชาชนผู้สนใจสามารถอ่าน รายละเอียดได้ทั้งหมด[18]  
                   5. Schedules of amendments หัวข้อนี้มักไม่มีข้อมูลปรากฏ
                   6. Bills digest เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาออสเตรเลียจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้แก่สมาชิกรัฐสภา
                   7. Notes แสดงข้อมูลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและ วุฒิสภา โดยแสดงชื่อของคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ระบบของ รัฐสภาออสเตรเลียยังไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลไปยังรายงานของคณะกรรมาธิการ ประชาชนผู้สนใจต้องค้นหารายงานจากหน้าเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะเอง  
                   อนึ่ง ไฟล์ตามข้อ 1, 2 และ 4 มีไฟล์ 3 รูปแบบให้เลือก คือ Word (.docx), PDF และ HTML ส่วนไฟล์ตามข้อ 6 จะเหลือเพียง 2 รูปแบบ คือ PDF และ HTML เท่านั้น  
                   ร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีโครงสร้างข้อมูลทั้ง 4 หมวด เหมือนกัน อาจจะแตกต่างกันเฉพาะบางหัวข้อเท่านั้น การประมวลข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และการนำเสนออย่างเป็นระบบ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติได้ง่ายและสะดวกแล้ว ยังถือเป็นการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management - KM) เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย                          
        
                มิติที่สอง ระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนติดตามเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่ตนเองสนใจ (Track) ผ่านการแจ้งเตือนรายบุคคลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
        
                   นอกจากระบบการประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับที่เป็นระบบชัดเจน แล้ว รัฐสภาออสเตรเลียยังอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพิ่มเติมด้วยการสร้างระบบแจ้งเตือนเมื่อสถานะของ ร่างพระราชบัญญัติเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ผ่านวาระที่ 1 ไปสู่วาระที่ 2 เป็นต้น โดยประชาชนต้องลงทะเบียน ใช้งาน My Parliament ด้วยการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ข้อมูลสำคัญที่ต้องกรอกคือ บัญชีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail address) จากนั้นลงชื่อเข้าใช้งาน (Log in) เมื่อต้องการติดตามสถานะของร่างพระราชบัญญัติฉบับใด สามารถกดติดตามได้ที่ปุ่ม Track ซึ่งอยู่ถัดจากข้อมูล Parliament no เลือกช่อง Add email alert หลังจากนั้นเมื่อสถานะของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เปลี่ยนแปลงไป ระบบจะส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปแจ้งเตือนตามรายละเอียดที่ได้กรอกไว้ 
                   นอกจากจะสามารถกด Track เพื่อติดตามสถานะของร่างพระราชบัญญัติได้แล้ว ในกรณีที่ร่าง พระราชบัญญัติฉบับใดถูกส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียดและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ประชาชนยังสามารถติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการได้ โดยไปที่หน้าเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการ จากนั้นเลือกปุ่ม Track Inquiry ใต้ชื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับที่สนใจ หลังจากนั้นจะได้รับข้อมูลข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของคณะกรรมาธิการอย่างสม่ำเสมอทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระบบแจ้งเตือนนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดตามความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติที่ตนเองสนใจได้สะดวก
        
       
                   มิติที่สาม การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติผ่านช่องทางดิจิทัล และการเปิดเผยความคิดเห็นเหล่านั้นต่อสาธารณชน      
        
                   นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติอย่างเป็นระบบ ครบถ้วน และชัดเจน รวมทั้งการมีระบบแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงสถานะของร่างพระราชบัญญัติให้แก่ประชาชนเป็นรายบุคคลดังที่ได้อธิบายไปแล้ว คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของออสเตรเลียทุกคณะยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับต่าง ๆ ได้สะดวกผ่านช่องทางดิจิทัล
                   ประชาชนที่สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า ขณะนี้มีคณะกรรมาธิการคณะใดต้องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติใดได้ที่โดยรัฐสภาของออสเตรเลียได้รวบรวมข้อมูลไว้ที่ http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Committees จากนั้นเลือกรายการ Open public submissions ระบบจะประมวลรายชื่อของคณะกรรมาธิการและร่างพระราชบัญญัติที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) มีประเด็นที่คณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 15 ประเด็น แบ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ และประเด็นอื่น ๆ อีก 12 ประเด็น
                   สำหรับช่องทางการส่งความคิดเห็นนั้น ประชาชนอาจส่งผ่านช่องทางดิจิทัลของรัฐสภาออสเตรเลีย หรือ  ส่งเป็นเอกสารแนบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไปยังฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ หรืออาจส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ก็ได้
                   ความคิดเห็นของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่นำเสนออย่างเป็นระบบชัดเจนจะถูกนำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ ประชาชนชาวออสเตรเลียรวมทั้งชาวต่างประเทศที่สนใจสามารถเข้าถึงความคิดเห็นเหล่านี้ได้โดยสะดวก เช่น เมื่อวุฒิสภามีมติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติชื่อ Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014 ไปให้คณะกรรมาธิการสามัญด้านการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ และการค้าของวุฒิสภา (Senate Standing Committees on Foreign Affairs Defence and Trade) เพื่อพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพิ่มเติมนั้น มีความคิดเห็นของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการคณะนี้จำนวนทั้งสิ้น 142 รายการ[19] ในบรรดาความคิดเห็นทั้ง 142 รายการ มีความคิดเห็นของนักวิชาการหรืออาจารย์ที่สอนในระดับมหาวิทยาลัยหลายรายการ เช่น ความคิดเห็นรายการที่ 86 เป็นของ ดร. คีลา เทียนฮารา (Kyla Tienhaara) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University - ANU)ดร. คีลา เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ความคิดเห็นของท่านยาวกว่า 30 หน้า อธิบายรายละเอียดของกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างละเอียดรวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กลไกนี้ในหลายแง่มุมได้อย่างน่าสนใจ[20] ความคิดเห็นอีกรายการหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ลำดับที่ 104 เป็นของดร. แมททิว  ริมเมอร์ (Matthew Rimmer)  ความยาวกว่า 200 หน้า[21]ดร. แมททิวเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งควีนส์แลนด์ (Queensland University of Technology - QUT)  
                   ระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ และการเปิดเผยความคิดเห็นเหล่านั้นผ่านช่องทางดิจิทัลช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติธรรม โดยประชาชนทุกคนและองค์กรทุกแห่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ผ่านงานเขียน การมีส่วนร่วมด้วยวิธีนี้ช่วยแก้ไขข้อจำกัดด้านเวลาในการอภิปราย ที่มักประสบอยู่เสมอในการจัดประชุมเพื่อรับความคิดเห็นแบบเดิม นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างคลังข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติและประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้คนรุ่นหลังสามารถย้อนกลับมาศึกษาได้ง่ายในอนาคต
        
                   ในประเทศไทย นอกเหนือจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.mratchakitcha.soc.go.th/ ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของกฎหมายทุกฉบับในประเทศไทยแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปัจจุบันได้ริเริ่มพัฒนา “ระบบประมวลผลข้อมูลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เพื่อรายงานสถานะของร่างพระราชบัญญัติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านทางเว็บไซต์ในรูปแบบตาราง ข้อมูลที่แสดงประกอบด้วย ชื่อร่างพระราชบัญญัติ ผู้เสนอ สถานะปัจจุบัน ร่างวาระหนึ่ง ผลการพิจารณาในวาระที่หนึ่ง รายงานกรรมาธิการ ร่างที่เห็นชอบ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ผลการดำเนินการตามข้อสังเกต และราชกิจจานุเบกษา โดยแต่ละขั้นตอนจะมีไฟล์ PDF ที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ ระบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการติดตามสถานะของร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทย ข้อเสนอเบื้องต้น คือ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนรายบุคคลเมื่อร่างพระราชบัญญัติเกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะเช่นเดียวกับรัฐสภาของออสเตรเลียจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าเว็บไซต์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกวันเพื่อติดตามความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติ
         
        
       บทสรุป 
        
                   รัฐสภาของออสเตรเลียได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างรัฐสภาอัจฉริยะใน 3 มิติ คือ 1. การประมวลข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแต่ละฉบับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และการนำเสนออย่างเป็น  ระบบผ่านเว็บไซต์ 2. ระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนติดตามเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่ตนเองสนใจ (Track) ผ่านการแจ้งเตือนรายบุคคลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) และ 3. การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติผ่านช่องทางดิจิทัล และการเปิดเผยความคิดเห็นเหล่านั้นต่อสาธารณชน  
                   รัฐสภาอัจฉริยะของออสเตรเลียทั้ง 3 มิติล้วนช่วยส่งเสริมหลักนิติธรรมด้านการสร้างความโปร่งใสและ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศ นอกจากนี้เว็บไซต์ของรัฐสภาออสเตรเลียยังเป็นคลังข้อมูลและความรู้ขนาดใหญ่เกี่ยวกับกฎหมายและประเด็นด้านนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ประชาชนชาวออสเตรเลียทุกคนรวมทั้งชาวต่างประเทศที่เข้าใจภาษาอังกฤษสามารถเข้าถึงเพื่อศึกษาข้อมูลความรู้เหล่านี้ได้อย่างสะดวกอีกด้วย ข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับประเทศไทย คือ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนรายบุคคลเมื่อร่างพระราชบัญญัติเกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะเช่นเดียวกับรัฐสภาของออสเตรเลียจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น
        
       คำสำคัญ:  หลักนิติธรรม รัฐสภาอัจฉริยะ ออสเตรเลีย กระบวนการนิติบัญญัติ
       

       
       

       
       

                   [1] เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ https://www.ega.or.th/th/content/890/11939/ ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

       
       

                   [2] วิษณุ เครืองาม “ปาฐกถา เรื่อง “หลักนิติธรรมของการบริหารบ้านเมืองกับการลดความขัดแย้งทางอุดมการณ์” วันที่ 5 เมษายน 2558,  [https://www.youtube.com/watch?v=rX4dAVsiMOI], 9 มิถุนายน 2560

       
       

                   [3] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47ก 24 สิงหาคม 2550, หน้า 3

       
       

                    [4] คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบรรณาธิการหนังสือหลักนิติธรรม ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ, หลักนิติธรรม The Rule of Law: ความหมาย สาระสำคัญ และผลของการฝ่าฝืนหลักนิติธรรม (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ, สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกระทรวงยุติธรรม, 2557), 1

       
       

                     [5] เรื่องเดียวกัน, 2

       
       

                    [6] เรื่องเดียวกัน, 8-9

       
       

                    [7] สหราชอาณาจักรประกอบด้วย 4 แคว้น คือ อังกฤษ (England) เวลส์ (Wales) สก๊อตแลนด์ (Scotland) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) แต่เนื่องจากอังกฤษเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางการปกครอง ดังนั้น คนทั่วไปจึงมักเรียกสหราชอาณาจักรว่า “อังกฤษ”

       
       

                   [8] Australian Electoral Commission, “House of Representatives - final results”, [http://results.aec.gov.au/20499/Website/HouseDefault-20499.htm], 6 มิถุนายน 2560

       
       

                     [9] Parliament of Australia, “Marriage Amendment (Marriage Equality) Bill 2015”, [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Bills_Legislation/Bills_Search_Results/Result?bId=r5470], 6 มิถุนายน 2560

       
       

                   [10] Parliament of Australia, “Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014” [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Bills_LEGislation/Bills_Search_Results/Result?bId=s951],  6 มิถุนายน 2560

       
       

                   [11] Parliament of Australia, “Infosheet 7 - Making Laws”, [http://www.aph.gov.au/About_Parliament/House_of_Representatives/Powers_practice_and_procedure/00_-_Infosheets/Infosheet_7_-_Making_laws], 6 มิถุนายน 2560

       
       

                   [12] เรื่องเดียวกัน

       
       

                   [13] Governor-General of the Commonwealth of Australia, “Documents relating to calling of the double dissolution election.pdf”, [https://www.gg.gov.au/sites/default/files/files/IPS/Documents%20relating%20to%20calling%20of%20the%20double%20dissolution%20election.pdf], 6 มิถุนายน 2560

       
       

                     [14] Parliament of Australia, “Aboriginal and Torres Strait Islander Peoples Recognition Bill 2012”, [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Bills_Legislation/Bills_Search_Results/Result?bId=r4943],  8 มิถุนายน 2560

       
       

                   [15] ช่องแคบทอเรสเป็นช่องแคบที่กั้นระหว่างออสเตรเลียกับเกาะนิวกินี

       
       

                   [16] สหราชอาณาจักรยึดครองออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1788 (พ.ศ. 2331) ภายหลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทยเพียง 6 ปีเท่านั้น

       
       

                   [17] กระทรวงนี้ถูกยุบเลิกและภารกิจถูกถ่ายโอนไปยังกระทรวงอื่น ๆ เมื่อปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556)

       
       

                         [18] Parliament of Australia, “Counter-Terrorism Legislation Amendment (Foreign Fighters) Bill 2014”, [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Bills_LEGislation/Bills_Search_Results/Result?bId=s976], 8 มิถุนายน 2560

       
       

                   [19] Parliament of Australia, “Submissions” [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Committees/Senate/Foreign_Affairs_Defence_and_Trade/Trad e_and_Foreign_Investment_Protecting_the_Public_Interest_Bill_2014/Submissions], 9 มิถุนายน 2560
       
       

       
       

                   [20] Kyla Tienhaara, “Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014 Submission 86”, [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Committees/Senate/Foreign_Affairs_Defence_and_Trade/Trad e_and_Foreign_Investment_Protecting_the_Public_Interest_Bill_2014/Submissions], 9 มิถุนายน 2560

       
       

       
                   [21] Matthew Rimmer, “Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014 Submission 104”, [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Committees/Senate/Foreign_Affairs_Defence_and_Trade/Trad e_and_Foreign_Investment_Protecting_the_Public_Interest_Bill_2014/Submissions], 9 มิถุนายน 2560 และ Matthew Rimmer, “Trade and Foreign Investment (Protecting the Public Interest) Bill 2014 Submission 104 -Supplementary Mission 104”,    [http://www.aph.gov.au/Parliamentary_Business/Committees/Senate/Foreign_Affairs_Defence_and_Trade/Trad e_and_Foreign_Investment_Protecting_the_Public_Interest_Bill_2014/Submissions], 9 มิถุนายน 2560                                                         
       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544