หน้าแรก บทความสาระ
หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในคำพิพากษาศาลอาญาในประเทศฝรั่งเศส
คุณทีสิทธิ์ วงศาโรจน์ นบ. เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาฯ, นบท., D.S.U. droit administratif (mention assez bien) Université Panthéon- Assas (Paris 2), Master 2 Droit de l’environnement Université de Panthéon - Sorbonne (Paris 1) และ Université de Panthéon - Assas (Paris 2) (ทุน Franco-Thai), Master 2 Droit public comparé (mention assez bien) Université Panthéon- Assas (Paris 2)
1 เมษายน 2561 18:09 น.
 

หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้นั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะในสาขากฎหมายเอกชน (le droit privé) และในสาขากฎหมายมหาชน (le droit public) หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในแนวคิดทางกฎหมายมหาชนนั้นเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยว่าประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองประชาธิปไตยสามารถที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยสามารถตรวจสอบการกระทำการของรัฐได้ ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นหลักความโปร่งใสได้ทั่วไปในทุกสาขาของกฎหมายมหาชนในรูปแบบต่างๆ หลากหลายออกไปตัวอย่างเช่น ในรูปแบบของการเปิดเผยต่อสาธารณะ การประกาศ หรือในรูปแบบของการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครอง[1]
       

            เมื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดแต่เพียงความหมายของการปกครองโดยเสียงข้างมากเท่านั้น แต่ระบอบประชาธิปไตยยังหมายถึงระบอบที่มุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังนั้นหลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของประชาชนในการป้องกันและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ (l’arbitaire) หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้จึงมีความสำคัญกับประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก รัฐบาลหรือผู้ที่ใช้อำนาจบริหาร (le pouvoir exécutif) ในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินการ และต้องเปิดเผยโดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ตกอยู่ใต้ภายใต้การตรวจสอบได้ของประชาชน แต่รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ในรูปแบบของการถ่ายทอดการอภิปรายในรัฐสภาเพื่อให้ประชาชนได้เห็นและทราบถึงการทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชนที่ตนเลือกและเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับผู้แทนประชาชนในการกำหนดนโยบายทางการเมืองซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมของรัฐสภาในประเทศเยอรมัน (le Bundestag) โดยกำหนดให้มีกระจกบนเพดานสูงตรงกลางของรัฐสภาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าการดำเนินการของรัฐสภาเยอรมันตกอยู่ภายใต้หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้จากภายนอกหรือจากประชาชนเยอรมันนั้นเอง[2]
       

            เมื่อพิจารณาจากการตกอยู่ภายใต้หลักความโปร่งใสของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแล้วจึงเป็นที่แน่นอนว่าฝ่ายศาลหรือผู้ใช้อำนาจตุลาการ (le pouvoir judiciaire) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินการเช่นเดียวกัน ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าศาลจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักดังกล่าวหรือไม่ แต่ปัญหาที่ควรแก่การพิจารณาคือจะทำอย่างไรให้การดำเนินการของศาลอาญาฝรั่งเศสมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เหมือนดังเช่นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
       

            เนื่องจากฝ่ายศาลที่ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีโดยเป็นคุณหรือโทษแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลักความโปร่งใสในการดำเนินการของศาลจึงมีความจำเป็น ไม่เพียงแต่ในรูปแบบของกระบวนพิจารณาและการอ่านคำพิพากษาของศาลโดยเปิดเผยเท่านั้น แต่รวมถึงการอธิบายและให้เหตุผลในคำพิพากษาอีกด้วย[3] ดังนั้นหลักความโปร่งใสในรูปแบบของฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของคู่ความที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (le procès équitable) เพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลนั้นเอง[4]
       

            แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของฝ่ายศาลในด้านคดีอาญาของประเทศฝรั่งเศสดูเหมือนว่าจะมีข้อจำกัดในการปฎิบัติให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวในอดีตที่ผ่านมา จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับให้ศาลอาญา (cour d’assises) ต้องระบุเหตุผลประกอบการพิพากษาลงโทษ (ส่วนที่หนึ่ง) แต่การบังคับดังกล่าวไม่ได้หมายความรวมถึงการบังคับให้ศาลต้องระบุเหตุผลของศาลในการกำหนดโทษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2018 ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้รับรองสิทธิในการได้ทราบการให้เหตุผลในการกำหนดโทษของศาลให้เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ[5] (ส่วนที่สอง)
       

 
       

ส่วนที่หนึ่งการให้เหตุผลของศาลในการพิพากษาลงโทษ 
       

            การให้เหตุผลในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาที่มีอำนาจพิจารณาในคดีอาญาประเภทที่ไม่รุนแรงจะต้องระบุถึงเหตุผลในการตัดสินทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ในอดีตหลักการดังกล่าวกลับไม่นำมาใช้กับศาลอาญาบางประเภทคือ ศาล cour d’assises ซึ่งเป็นศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาประเภทคดีอุกฉกรรจ์ (un crime) ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งศาลดังกล่าวจะประกอบด้วยคณะผู้พิพากษาและคณะลูกขุน โดยในการประชุมปรึกษากันเพื่อทำคำพิพากษานั้น ไม่มีการบังคับว่าผู้พิพากษาหรือลูกขุนจะต้องแสดงเหตุผลประกอบการตัดสินใจของตน เพียงแต่จะตอบลงคะแนนลับได้แค่ว่า ใช่หรือไม่ใช่ ได้เท่านั้นในแต่ละคำถามหรือประเด็นที่สำคัญลงในใบคะแนนออกเสียงซึ่งในกรณีที่ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้นต้องประกอบด้วยเสียงผู้พิพากษาและลูกขุนจำนวน 8 เสียงที่ลงความเห็น ใช่ จากจำนวนทั้งหมด 12 เสียง (มาตรา 356 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หรือ ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งต้องประกอบด้วยเสียงผู้พิพากษาและลูกขุนจำนวน 10 เสียงที่ลงความเห็น ใช่ จากจำนวนทั้งหมด 15 เสียง (มาตรา 359 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)
       

            แม้ว่าคำพิพากษาของศาลอาญา (cour d’assises) ในอดีตจะไม่มีการให้ความเห็นในการตัดสิน แต่ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็ให้การรับรองว่าคำพิพากษาของศาลอาญาดังกล่าวก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 19 มกราคม 2011[6] ซึ่งวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดให้ผู้พิพากษาและลูกขุนลงลงคะแนนลับว่า ใช่หรือไม่ใช่ โดยไม่จำต้องให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว โดยยืนยันว่าฝ่ายนิติบัญญัติได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้พิพากษาและลูกขุนต้องวินิจฉัยคดีโดยยึดหลักความเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยไว้แล้ว และหลักการดังกล่าวเป็นหลักประกันที่เพียงพอต่อการป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาล
       

            จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2011 เนื่องจากอิทธิพลของคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในเรื่องสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (le procès équitable)[7] ฝ่ายนิติบัญญติได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรากฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมประชาชนในการดำเนินการทางกระบวนยุติธรรมทางอาญา[8] ซึ่งกำหนดเพิ่มข้อความไว้ในมาตรา 365-1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษ ให้ศาลต้องจัดทำเอกสารแสดงเหตุผล (la feuille de motivation) แนบท้ายกับคำพิพากษาของศาล เพื่อระบุองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงแต่ละข้อที่เกี่ยวกับกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าเป็นความผิดโดยองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านั้นทำให้ศาลเชื่อและพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งในเอกสารแสดงเหตุผลศาลจะอธิบายและยกข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยเป็นข้อๆ รวมทั้งระบุถึงการรับฟังพยานหลักฐานชิ้นใดในคดีที่ทำให้ศาลเชื่อในข้อเท็จจริงนั้นอย่างชัดเจน แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ศาลต้องจัดทำเอกสารแสดงเหตุผลทันทีหลังจากพิจารณาและพิพากษาคดีเพราะในคดีอาญาบางคดีมีความยุ่งยากซับซ้อน บทบัญญัติดังกล่าวจึงอนุญาตให้ศาลสามารถจัดทำและแนบกับคำพิพากษาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา และถ้าหากศาลไม่จัดทำเอกสารแสดงเหตุผล หรือจัดทำเอกสารแสดงเหตุผลแต่ไม่ได้ระบุในข้อเท็จจริงข้อใดข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับความผิดที่ศาลได้พิพากษาลงโทษ เช่น ในคดีที่ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานข่มขืนและพยายามฆ่า แต่กลับอธิบายในเอกสารแสดงเหตุผลเฉพาะข้อเท็จจริงที่เกียวกับพยายามฆ่าข้อหาเดียวโดยไม่ได้ระบุถึงข้อเท็จริงในความผิดฐานข่มขืน คำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย และศาลฎีกาสามารถเพิกถอนได้[9]
       

            การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยกำหนดให้ศาลอาญาฝรั่งเศส (cour d’assises) ต้องจัดทำเอกสารแสดงเหตุผลแนบมากับคำพิพากษานี้จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของหลักความโปร่งใสในการใช้อำนาจตุลาการของศาลซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้ประเทศฝรั่งเศสรอดพ้นจากการฟ้องร้องเรื่องสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปซึ่งในปี ค.ศ. 2015 โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเพียงพอแล้วที่จะเข้าใจคำพิพากษาได้ดี[10]
       

 
       

ส่วนที่สองการให้เหตุผลของศาลในการกำหนดโทษ
       

            หลักของกฎหมายอาญาว่าด้วยการกำหนดโทษทางอาญาของประเทศฝรั่งเศสนั้นเปิดโอกาศให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษได้แต่ผู้พิพากษาจะต้องพิจารณาถึงตัวผู้กระทำความผิดและสภาพแวดล้อมของผู้กระทำความผิดในแต่ละคน (le principe de l’individualisation des peines) เช่น อายุ สภาพแวดล้อมทางสังคม ดังนั้นผู้พิพากษาศาลอาญาของประเทศฝรั่งเศสมีอิสระในการเลือกที่จะกำหนดโทษตามตัวเลือกโทษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทษปรับหรือโทษจำคุกที่กฎหมายบัญญัติไว้ ( le choix de la peine) และกำหนดระยะเวลาในการลงโทษตามช่วงระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ (le quantum de la peine)
       

            ในคดีอาญาของประเภทฝรั่งเศสสามารถแบ่งออกเป็นความผิดได้สามระดับตามความร้ายแรงของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ซึ่งในคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปถึงสิบปี (un délit) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 132-1 ได้กำหนดให้ในกรณีที่ศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดที่มีอัตราโทษปานกลาง (le tribunal correctionnel) จะพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงโทษได้นั้นจะต้องปรากฎเหตุผลในการเลือกกำหนดโทษด้วย
       

            แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้สำหรับคดีอาญาประเภทคดีอุฉกรรจ์ (un crime) ที่ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิตนั้นเป็นอัตราโทษที่รุนแรงที่สุดของกฎหมายอาญาฝรั่งเศสเนื่องจากประเทศฝรั่งเศสได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ซึ่งศาลอาญาที่มีเขตอำนาจเหนือคดีอาญาประเภทคดีอุฉกรรจ์นี้มีดุลพินิจในการกำหนดโทษและกำหนดระยะเวลาในการลงโทษโดยไม่ต้องระบุถึงเหตุผลในการกำหนดโทษดังกล่าวและถึงขนาดเป็นข้อห้ามของศาลที่จะอธิบายเหตุผลในการกำหนดโทษ เนื่องจากในปี ค.ศ. 2017 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของประเทศฝรั่งเศสได้ห้ามศาลอาญาฝรั่งเศสที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีอาญาประเภทคดีอุฉกรรจ์ (un crime) ในการเผยแพร่เหตุผลในการใข้ดุลพินิจกำหนดโทษและระยะเวลาในการลงโทษโดยตีความอย่างเคร่งครัดว่าไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญากำหนดให้ศาลอาญาที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีอาญาประเภทรุนแรงต้องระบุเหตุผลในการกำหนดโทษ[11]
       

            จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2018[12] ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้มีโอกาสวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวภายหลังจากที่คู่ความขอศาลฎีกาให้ส่งประเด็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเพื่อวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งกับสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ (la question prioritaire de constitutionnalité : QPC) โดยคู่ความในคดีดังกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 365-1 ว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษ ให้ศาลต้องจัดทำเอกสารแสดงเหตุผล (la feuille de motivation) แนบท้ายกับคำพิพากษาของศาล เพื่อระบุองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงแต่ะข้อที่เกี่ยวกับกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการแสดงเหตุผลของศาลในการเลือกกำหนดโทษ หรือกำหนดระยะเวลาในการลงโทษนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ในประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (la Déclaration des droits de l'homme et du citoyen de 1789)
       

            ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องดังกล่าวไว้สองประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสนั้นบังคับให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะกำหนดหลักการของกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาคดีอาญาเพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายในการหาตัวผู้กระทำความผิด การพิพากษาคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด และการลงโทษผู้กระทำความผิด และข้อสังเกตประการที่สองคือ หลักที่ว่าด้วยการพิจารณาถึงตัวผู้กระทำความผิดและสภาพแวดล้อมของผู้กระทำความผิดในแต่ละคน (le principe de l’individualisation des peines) ซึ่งบังคับให้ผู้พิพากษาต้องพิจารณาถึงสภาพของตัวผู้กระทำความผิดก่อนที่จะใช้ดุลพินิจของตนในการกำหนดโทษนั้น ทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นความต้องการของรัฐธรรมนูญที่ต้องการการให้เหตุผลในคำพิพากษาทั้งในเรื่องของการพิพากษาลงโทษและการเลือกกำหนดโทษด้วย ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้กำหนดให้ผู้พิพากษาต้องระบุเหตุผลในการกำหนดโทษนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะตามมา ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงยังไม่ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวทันที แต่ให้เวลาแก่ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้ถูกต้องภายในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2019 โดยในระหว่างรอการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้พิพากษาในศาลอาญาที่มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีประเภทอุฉกรรจ์ต้องระบุถึงเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ศาลเลือกกำหนดโทษดังกล่าวในเอกสารแสดงเหตุผล (la feuille de motivation) ด้วย
       


       
       

       

       

[1] Zoller E., Guglielmi G.J., (dir.), Transparence, démocratie et gouvernance citoyenne, Paris, Editions Panthéon-Assas,  2014, 262 p.          
       


       

       

[2] นอกจากนี้แล้วยังมีเหตุผลเรื่องการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานอีกด้วย Deutscher Bundestag, Service des relations publique, Berlin, Le Bundestag dans les faits : Le parlement allemand en un coup d’œil, Berlin, 2014.
       


       

       

[3] Affergan F., Besnier C., Jolivet A., La construction de la motivation des décisions criminelles à l’audience : France, Belgique, Suisse. [Rapport de recherche] Mission de Recherche Droit et Justice. 2016, p. 24-34.
       


       

       

[4] CC, commentaire sur cc, décision n° 2017-694 QPC du 2 mars 2018, Question prioritaire de constitutionnalité portant sur les articles 362 et 365-1 du code de procédure pénale, p. 4-8.
       


       

       

[5] CC, décision n° 2017-694 QPC du 2 mars 2018.
       


       

       

[6] CC, décision n° 2011-113/115 QPC du 1 avril 2011.
       


       

       

[7] CEDH, G.C. 16 novembre 2010, Taxquet c. Belgique.
       


       

       

[8] Loi du 10 août 2011 sur la participation des citoyens au fonctionnement de la justice pénale et le jugement des mineurs.
       


       

       

[9] Cass., chambre criminelle, 16 novembre 2016, 15-86.106.
       


       

       

[10] CEDH, 29 octobre 2015, Matis c/France.
       


       

       

[11] Cass., chambre criminelle, 8 février 2017, n° 15-86914.
       


       

       

[12] CC, décision n° 2017-694 QPC du 2 mars 2018.
       


       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544