หน้าแรก บทความสาระ
ความสำคัญของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ในการปฏิรูปการเมือง โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
15 ตุลาคม 2549 23:10 น.
 

(แนวคิดของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์)
       
       

*********************************
       
       [หมายเหตุ :- แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะได้มีประกาศใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 แต่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาวิเคราะห์ในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่า การบันทึกความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” และวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ดังกล่าว ยังมีประโยชน์สำหรับการดำเนินการต่อไป
       ผู้เขียนเห็นว่า การปฏิรูปการเมือง (ได้แก่ การออกแบบ – design ระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยในอนาคต) จะสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการจัดรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะมีหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       การปฏิรูปการเมือง มิใช่ขึ้นอยู่กับการจะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญ เพราะอย่างไรเสีย ประเทศไทยก็คงต้องมี “รัฐธรรมนูญ” แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะตราขึ้นนั้น จะดีหรือไม่ดี คือจะทำให้การเมืองของประเทศไทยมีเสถียรภาพและมีการใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้หรือไม่ และข้อนี้ เป็นจุดหมายของ “การปฎิรูปการเมือง”
       
ในอดีตที่ผ่านมา องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญ – ส.ส.ร. พ.ศ.2539) ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) อย่างผิดพลาด ซึ่งได้ก่อให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนักธุรกิจนายทุน(ในระบบรัฐสภา – parliamentary system)” อันเป็นต้นกำเนิดของการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และคนไทยต้องรอถึง 10 ปี (พ.ศ.2549) จึงจะถึง“จุด”ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง
       ปัญหามีอยู่ว่า “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ในปี พ.ศ.2549 หลังการปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน 2549 ควรจะมีรูปแบบอย่างไร และในอนาคตอันใกล้นี้ (1-2 ปีนับจากนี้) องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 จะมี “ผลงาน”อย่างไร จะดีหรือไม่ดี และต่อไปในอนาคต จะมีเหตุการณ์ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด เหตุการณ์นั้นจึงจะเกิดขึ้นและ ณ “จุด”นั้นจะเกิดอะไรขึ้น
       ในที่นี้ ผู้เขียนจะยังไม่กล่าวถึง “ความคาดหมาย” ในผลงานที่อาจจะเกิดขึ้นจากรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 เพราะถึงอย่างไร รัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นใช้บังคับแล้ว แต่ผู้เขียนอยากจะบันทึก “แนวความคิด”เกี่ยวกับรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เขียนและนักวิชาการ 2 – 3 ท่าน ได้เคยเสนอไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบต่อไป
       
(ร่าง) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2549 ตามที่จะปรากฎต่อไปนี้ ผู้เขียนได้ลองเขียนขึ้นและได้มีผู้นำไปลงในสื่อมวลชนบางฉบับเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 (ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 จะได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา)
       (ร่าง) ธรรมนูญการปกครองฯ นี้ ผู้เขียนได้ปรับตัวบทโดยยึดตามแนวความคิดเดิมๆ ที่ผู้เขียน / ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ / รศ.บรรเจิด สิงคะเนติ ได้เคยเสนอไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 (ปรากฏในwww.pub-law.net) โดยมีความมุ่งหมายจะให้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) ให้มีการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 โดยมีการจัดตั้ง “องค์กรตาม รธน.”เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (เพิ่มหมวดใหม่ใน รธน.(พ.ศ.2540) เป็นหมวด 13 และเพิ่มบทมาตราตั้งแต่ 313/1 จนถึงมาตรา 313/21 รวม 21 มาตรา)
       “แนวความคิด” ดังกล่าว เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ – new paradigm ได้กำหนดขึ้นหลังจากศึกษาประสพการณ์ของต่างประเทศที่ประสพความสำเร็จในการปฏิรูปกาเรมืองมาแล้ว แนวความคิดนี้มี“หลักการสำคัญ” 3 ประการ คือ ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ / อัจฉริยะ และบารมีของ Statesman และประชาชนทั้งประเทศ (มิใช่ประชาชนในลักษณะที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์)
       (ร่าง) ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2549 ที่ผู้เขียนได้แก้ไขจาก(ร่าง) มาตรา 313 ของ รธน.ไทยฉบับเดิม (รธน.พ.ศ.2549) ยังคงเป็นไปตามหลักการที่เคยเสนอไว้เดิมทุกประการ เพียงแต่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถาบันการเมือง(สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี) ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ที่เพิ่งตราขึ้นเท่านั้น
       
       

 
       
       

(ร่าง)
       
       

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๙
       
       

.................................
       
       

.................................
       
       

.................................
       
       

...................................................................................................................................................................................................................................................................................................................\
       
       

การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง
       
       

มาตรา (๑) การจัดทำรัฐธรรมนูญตามความในมาตราต่อไปนี้ มีความมุ่งหมายจะปฏิรูปการเมืองให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีระบบสถาบันการเมือง ที่มีประสิทธิภาพและมีการใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับการมีศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ ที่มีการจัดรูปแบบ วิธีพิจารณา และระบบความรับผิดชอบที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้
       
       มาตรา (๒) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน ๑๒ คน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
       ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวนสิบคน ได้แก่
       (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่นายกรัฐมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี สองคน
       (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายชื่อตามคำแนะนำของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สองคน
       (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่นายกรัฐมนตรีถวายชื่อจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้มาจากการสรรหาตามวรรคสุดท้าย จำนวนหกคน
       ประเภทที่สอง ได้แก่ กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีจากผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวนสองคน
       ให้มีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติหนึ่งคนและรองประธานหนึ่งคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยการถวายชื่อโดยประธานองคมนตรีตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี
       การถวายรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยผ่านประธานองคมนตรี ภายใน(.............)วันนับแต่วันที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับ
       ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการการแต่งตั้งประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามวรรคหนึ่ง(3) ที่ดีและเหมาะสม ให้วิธีการสรรหา คุณสมบัติของอาจารย์ที่มีสิทธิได้รับการคัดเลือก ตลอดจนผู้มีสิทธิออกเสียงคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
       
       มาตรา (๓) บุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ต้องไม่เป็นรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในช่วงเวลาหกเดือนก่อนวันที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       ภายในสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมือง
       
       มาตรา (๔) คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการออกเสียงเป็นประชามติ ตามมาตรา (๑๔) และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้
       
       มาตรา (๕) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมตลอดถึงให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา และหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว
       
       มาตรา (๖) ให้สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
       ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเลขานุการของคณะกรรมการคนหนึ่ง และรองเลขานุการของคณะกรรมการสองคน จากข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
       
       มาตรา (๗) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระแรก พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”
ตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญโดยสังเขป โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องชี้แจงอธิบายโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ และอธิบายให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่างๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญและสาระสำคัญอย่างอื่นที่จำเป็น ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนควรจะได้รับรู้ ตลอดจนความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ
       
       มาตรา (๘) เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญในวาระแรกตามมาตรา (๗) และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
       
(๑) ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา (๙)
       (๒) จัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและ
       จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นการทั่วไป
       “ประชาชน” มีความหมายรวมถึงองค์กรอาชีพหรือวิชาชีพ สมาคมธุรกิจ และกลุ่มมวลชนต่าง ๆ
       
       มาตรา (๙) ในการพิจารณาและให้ความเห็นของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเป็นบันทึกที่มีการกำหนดประเด็นและความเห็นที่ชัดเจน ประกอบด้วยการให้เหตุผลในทางวิชาการและในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งระบุอุปสรรคและเหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นหากมีหรือคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้
       ในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง สมาชิกย่อมให้ความเห็นโดยอิสระตามมโนธรรมของตน
       ให้นายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการให้แล้วเสร็จและจัดส่งบันทึกดังกล่าวให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการ
       
       มาตรา (๑๐) ให้คณะกรรมการการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญวาระแรกตามมาตรา (๗) และ เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา (๙) ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนความเห็นและข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไป ทั้งในลักษณะของการจัดทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นสาธารณะ
       
       มาตรา (๑๑) เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา (๙) และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา (๑๐) แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระที่สองสำหรับการลงประชามติตามมาตรา (๑๔) พร้อมทั้งจัดทำเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา (๗) วรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติระบุด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีกฎหมายสำคัญซึ่งกำหนดให้ตราเป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” ในเรื่องใดบ้าง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดจะมีหลักการและสาระสำคัญอย่างใด และให้ระบุด้วยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดมีความจำเป็นหรือเหมาะสม จะต้องตราขึ้นตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา (๑๗) ถึงมาตรา (๒๐) เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ
       

       มาตรา (๑๒) ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเห็นว่า หลักการสำคัญตามร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น อาจมีทางเลือกที่เหมาะสมได้หลายทาง คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อการรับฟังความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
       ในการจัดทำประชามติเพื่อการรับฟังความเห็นตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีการกำหนดประเด็นที่คณะกรรมการเสนอขอความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ชัดเจน และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจในประเด็นที่ขอความเห็นตามความเหมาะสม และให้นำบทบัญญัติมาตรา (๑๔) วรรคสองมาใช้บังคับ และให้เผยแพร่เอกสารประกอบการจัดทำประชามติเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงลงประชามติ
       
       มาตรา (๑๓) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สองไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวทูลเกล้าถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระบรมราชานุญาตนำร่างรัฐธรรมนูญไปดำเนินการออกเสียงประชามติตามมาตรา (๑๔)
       ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจขอให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สองก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายตามความในวรรคหนึ่งได้ ตามที่เห็นสมควร
       
       มาตรา (๑๔) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้จัดทำขึ้น ภายในกำหนดอย่างช้าไม่เกินสิบแปดเดือน นับแต่วันที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับ
       การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการจัดทำประชามติ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงประชามติ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา (๒๑) และ ให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงประชามติ
       
       มาตรา (๑๕) ในการออกเสียงลงประชามติ หากเสียงข้างมากของการลงประชามติไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้เป็นอันสิ้นสุดลง และให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาใช้บังคับ
       ให้มีการเลือกตั้งภายใน ๙๐ วันนับจากวันที่มีการลงประชามติไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้สิ้นสุดลงนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
       ในกรณีที่มีผู้ออกเสียงประชามติจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของประเทศ ให้การออกเสียงประชามตินั้นไม่มีผล และให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน
       
       มาตรา (๑๖) ในกรณีที่เสียงข้างมากของการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้ประธานองคมนตรี และประธานสภา
       นิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
       ให้ประธานองคมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการร่วมกัน และประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
       
       มาตรา (๑๗) เพื่อประโยชน์ในการให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา (๑๖) และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ มีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบังคับใช้ ดังต่อไปนี้
       (๑) ให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด (หนึ่งร้อยแปดสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       (๒) ให้สมาชิกภาพของสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติตามที่มีอยู่ในขณะนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนด(เก้าสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
       

       มาตรา (๑๘) เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา (๑๖) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นหรือเหมาะสมจะต้องตราขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำประชามติ ให้เสร็จสิ้นโดยมิชักช้า และต้องไม่ช้ากว่า (หกสิบวัน) นับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ และในการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ถือตามแนวของหลักการและสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ
       ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการ
       ให้นำบทบัญญัติมาตรา (๙) มาใช้บังคับ และให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการภายในกำหนด (หกสิบวัน) นับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายจากคณะกรรมการ
       พร้อมกันนี้ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดพิมพ์เผยแพร่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นการทั่วไป
       

       มาตรา (๑๙) เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา (๑๘) แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดทำร่างกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปประกาศให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายพร้อมกับรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา (๑๖)
       
       มาตรา (๒๐) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นตามมาตรา (๑๙) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา (๒๑) และให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา (๑๖)
       

       มาตรา (๒๑) พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามความในส่วนนี้ ให้ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       มาตรา (๒๒) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
       
       มาตรา (๒๓) เมื่อรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา (๑๖) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ย่อมสิ้นสุดลง"
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       .............................................
       นายกรัฐมนตรี
       
       

 
       

หมายเหตุ : ร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2549


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544