หน้าแรก บทความสาระ
ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
1 ตุลาคม 2549 21:30 น.
 

ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ
       
       

ไม่ว่าเราจะเคยอยู่กลุ่มที่เอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณก็ตาม แต่การยึดอำนาจการปกครองเมื่อคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมาก็ได้แยกสลายความเป็นกลุ่มทั้งสองเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าได้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมาแทน คือ กลุ่มที่หนึ่ง ไม่เอาทักษิณแต่เอารัฐประหาร กลุ่มที่สอง ไม่เอาทักษิณและไม่เอารัฐประหาร กลุ่มที่สาม เอาทักษิณแต่ไม่เอารัฐประหาร และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่สี่ ที่เอาทั้งทักษิณและเอาทั้งรัฐประหาร ซึ่งไม่ว่าเราจะอยู่กลุ่มไหนก็แล้วแต่ เราก็คือประชาชนภายใต้รัฐไทยด้วยกันทุกคน เราจึงควรที่จะมาหาแนวทางร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาให้เร็วที่สุดและสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดตามแบบนานาอารยะประเทศทั้งหลายจะพึงมี
       ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือกบฏ เสียก่อนว่า แท้จริงแล้วคืออะ ไร
       

       การปฏิวัติ (revolution) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม
       การปฏิวัติเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้งนัก เพราะจะต้อง
       โค่นล้มลงทั้งระบบ ซึ่งหากสภาพสังคมไม่สุกงอมเต็มที่ หรือสภาพสังคมยังไม่พร้อมแล้วการปฏิวัติจะเป็นไปได้ยากมาก ตัวอย่างของการปฏิวัติที่ผ่านมาก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย การปฏิวัติจีน และการปฏิวัติเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ของไทยเราที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเต็มในการปกครองประเทศมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
       
       การรัฐประหาร (coup d’état) หมายถึง การใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้ปกครองประเทศ แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมา โดยที่รูปแบบการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด มีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป
       รัฐประหารจึงเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่มักเกิดขึ้นโดยกลุ่มทหาร เพราะทหารถูกฝึกมาอย่างมีระเบียบวินัย มีกำลังพลอาวุธในมือ จึงมีศักยภาพในการทำรัฐประหารในสถานการณ์ที่ปัจจัยภายนอกคือประเทศชาติประสบปัญหาความวุ่นวาย ประกอบรวมเข้ากับปัจจัยภายในกองทัพคือ การที่ทหารต้องสูญเสียผลประโยชน์หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองมากเกินไป และเมื่อปัจจัยทั้งสองอย่างประสานกันได้อย่างเหมาะสมแล้ว จึงเป็นที่มาของข้ออ้างในความชอบธรรมของการทำรัฐประหาร
       ประเทศที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น มักเป็นประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยชอบเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การหยุดชะงักทางการเมืองด้วยกระบวนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประชาชนเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองสม่ำเสมอโดยมิใช่เพียงแต่หย่อนบัตรในวันเลือกตั้งเท่านั้น(one day democracy) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คืออินเดียที่แม้ว่าจะยากจนและมีอัตราการรู้หนังสือต่ำกว่าเรา แต่ก็ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง
       การทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องเตรียมการอย่างปิดลับอย่างยิ่งยวดและใช้เวลารวดเร็วฉับพลันแล้ว ภายหลังจากการรัฐประหารจะต้องสร้างอุดมการณ์ของชาติขึ้นมาเสมอ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากประชาชนนั่นเอง
       ตัวอย่างของการรัฐประหารของไทยมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ายึดอำนาจโดยใช้ชื่อว่าคณะปฏิวัติฯ คณะปฏิรูปฯ คณะ รสช. ฯลฯ และล่าสุดก็คือคณะปฏิรูปฯ เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นการรัฐประหารด้วยกันทั้งสิ้น
       
       การกบฏหรือขบถ (rebellion) นั้น หมายถึงการที่กลุ่มคนพยายามทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารแต่กระทำไปไม่สำเร็จ จึงได้ชื่อว่าเป็นกบฏนั่นเอง ตัวอย่างของไทยเราก็เช่น กบฏบวรเดช กบฏนายสิบ กบฏเสนาธิการหรือกบฏนายพล กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน กบฏ ๒๖ มีนาคม(พล.อ.ฉลาด) กบฏเมษาฮาวายหรือกบฏยังเติร์ก กบฏสองพี่น้อง ฯลฯ
       
       การเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ ถึงปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะเป็น
       การวนเวียนระหว่างการทำรัฐประหารนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วจึงนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วต่อมาก็จัดให้มีการเลือกตั้ง และย้อนกลับไปยังการทำรัฐประหารอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ครั้งล่าสุดที่ว่างเว้นจากครั้งที่แล้วมาถึง ๑๕ ปี โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้อีก
       อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา เราคงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปห้ามมิให้เกิดขึ้นได้ แต่ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็ในส่วนที่ไม่ดีนั้นแน่นอนว่ามีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของต่างประเทศหรือผลกระทบการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่ต้องสะดุดหยุดลง ฯลฯ
       ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดรวมทั้งการรัฐประหารก็คือปฏิกิริยาจากขั้วอำนาจเก่าที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การปะทะกันของความคิดเห็นสองฝ่ายที่ถือในค่านิยมที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยและเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างให้ได้ ที่ผ่านมาสังคมไทยเมื่อมีความขัดแย้งกันคราใด มักจะต้องพึ่งพาคนกลางอยู่เสมอ คำถามก็คือว่าแล้วเราจะทำแบบนี้ไปได้อีกนานสักเท่าไหร่ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้ได้โดยวิธีการที่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย
       สำหรับคำถามที่ว่าแล้วมีประเทศไหนขับไล่เผด็จการใส่สูทที่ฉ้อฉลยึดประเทศออกไปได้ด้วยวิถีทางทางรัฐสภาบ้าง คำตอบของผมก็คือ ยังไม่มี หรืออาจะมีแต่ผมไม่ทราบ แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าเผด็จการทรราชไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม จะไม่สามารถต้านพลังประชาชนบริสุทธิ์ที่ออกมาขับไล่ตามวิถีทางประชาธิปไตยได้
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผมจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านการรัฐประหารมาตลอดชีวิตและจะยังยืนยันความเห็นนี้อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นในเวทีใดก็ตาม แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็เห็นว่าการยึดอำนาจครั้งนี้หากจะพอมีส่วนดีอยู่บ้างก็คือการสอนบทเรียนที่สำคัญให้แก่นักการเมืองที่เหิมเกริมและลุแก่อำนาจทั้งหลายจะต้องพึงระลึกเสมอว่ายังมีผู้ที่สามารถล้มกระดานและกระชากลงจากบัลลังก์แห่งอำนาจได้ทุกเมื่อ
       จากอดีตที่ผ่านมา ในระยะเริ่มแรกของการรัฐประหาร สังคมไทยก็มักจะฝากความหวังไว้ว่าคณะรัฐประหารจะเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ไขความยุ่งยากที่มีอยู่ แต่ก็ไม่เคยเป็นไปตามความหวังที่วาดไว้ มีแต่จะเสพติดอำนาจและตามมาด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วจบลงด้วยความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนในที่สุด
       ฉะนั้น จึงเห็นว่าเราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงควรที่จะร่วมกันเรียกร้องและผลักดันอย่างจริงจังให้มีการเร่งรีบนำประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็วและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องประกอบไปด้วยหลักการที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ อาทิ หลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพในการเข้าถึงและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ และแน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการที่ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจจนต้องออกมาเดินขบวนขับไล่หรือทำรัฐประหารกันอีก
       หากว่าเราสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว กงล้อของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ วงจรอุบาทว์ก็คงถึงคราวที่จะต้องยุติลงเสียที
       
       

---------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544