หน้าแรก บทความสาระ
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลา โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 กันยายน 2549 21:43 น.
 

สาธารณรัฐเวเนซุเอลาตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ จรดทะเลแคริบเบียน มีประชากรราว 27 ล้านคน เดิมเคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศสเปนมาก่อนและได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1811 หลังจากได้รับเอกราช เวเนซุเอลาผ่านระบบการปกครองมาหลายแบบทั้งเผด็จการพลเรือน เผด็จการทหาร และประชาธิปไตย โดยในปี ค.ศ.1945 หลังจากโค่นล้มเผด็จการผู้ครองประเทศลง ก็มีการตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งพยายามทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้บังคับในปี ค.ศ.1947 เวเนซุเอลาเป็นประชาธิปไตยอยู่ได้ไม่กี่ปีก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกในปี ค.ศ.1953 จากนั้นในปีเดียวกันเวเนซุเอลาก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นมีความผันผวนและเกิดปัญหาในประเทศหลาย ๆ ด้านทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในปี ค.ศ.1992 มีความพยายามที่จะปฏิวัติถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1998 ภายหลังการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้ขอให้นาย Hugo Chavez นายทหารซึ่งเคยพยายามทำการปฏิวัติเพื่อล้มระบบเผด็จการในปี ค.ศ.1992 ให้เข้ามาร่วมดำเนินการทางการเมืองด้วย ในที่สุด นาย Chavez ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียง 56% และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วก็ได้ทำการปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้เวลาในการจัดทำประมาณ 3 เดือนและประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเมื่อ 15 ธันวาคม 1998
       
       รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ค.ศ.1998) มีความยาวถึง 350 มาตรา (ไม่รวมบทเฉพาะกาลอีก 18 มาตรา) เป็นรัฐธรรมนูญที่แม้จะให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างมากก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าเดิม
       

       รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลาฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1999 ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จำนวน350 มาตรา ส่วนที่สองเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ จำนวน 1 มาตรา ส่วนที่สามเป็นบทเฉพาะกาลที่มีขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการทำให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ จำนวน 18 มาตรา และส่วนที่สี่เป็นบทบัญญัติกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับทันทีในวันประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา ภายหลังจากที่ประชาชนได้ออกเสียงประชามติรับรองแล้ว
       
       ในบรรดาบทบัญญัติจำนวน 350 มาตรา ที่เป็นส่วนแรกของรัฐธรรมนูญนั้นแบ่งออกได้เป็น 9 หมวดด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบจึงขอทำการสรุปบทบัญญัติที่น่าสนใจในแต่ละหมวดมานำเสนอดังต่อไปนี้
       
       หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักพื้นฐานแห่งสาธารณรัฐ เป็นหมวดที่ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 9 มาตรา ที่กล่าวถึง รูปแบบของสาธารณรัฐ วัตถุประสงค์ของสาธารณรัฐ อำนาจอธิปไตย สัญลักษณ์ของประเทศ ภาษา โดยมีมาตราที่น่าสนใจคือ มาตรา 7 ที่ได้กล่าวถึง “สถานะ” ของรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสูงสุดและเป็นบทบัญญัติที่ใช้ก่อตั้งองค์กรตามกฎหมาย บุคคลทุกคนและองค์กรทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
       
       หมวดที่ 2 ว่าด้วยอาณาเขตและการแบ่งเขตการปกครองประเทศ ในหมวดนี้ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 9 มาตรา ที่กล่าวถึงอาณาเขตของประเทศและการแบ่งเขตการปกครองประเทศ มีบทบัญญัติที่น่าสนใจหลายมาตรา โดยในส่วนของอาณาเขตนั้นมาตรา 12 บัญญัติว่า แร่ธาตุต่าง ๆ และน้ำมันที่เกิดจากธรรมชาติและอยู่ในอาณาเขตของประเทศ อยู่ใต้ทะเลอาณาเขต อยู่ในพื้นที่ชายทะเลและอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นของประเทศ ถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์หรือทำให้ตกอยู่ภายใต้ภาระผูกพันใด ๆ ได้ ส่วนในมาตรา 13 ก็ได้บัญญัติห้ามการมอบ โอน หรือให้เช่าดินแดนของประเทศไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรให้แก่รัฐอื่นหรือองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งยังได้กำหนดให้น่านฟ้าเวเนซุเอลาเป็นเขตสันติภาพ ห้ามต่างชาติเข้ามาจัดตั้งฐานทัพหรือกองกำลังทางทหาร รัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศมีสิทธิเพียงเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สำหรับใช้เป็นที่ทำการของคณะผู้แทนหรือคณะทูตภายในบริเวณที่กฎหมายกำหนด สำหรับในส่วนของการแบ่งเขตการปกครองประเทศนั้นได้มีการกล่าวถึงไว้ในมาตรา 16 ว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดโครงสร้างการบริหารงานของสาธารณรัฐให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อจัดแบ่งโครงสร้างของรัฐออกเป็นระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่น โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องมีบทบัญญัติที่เป็นการรับรองหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจการปกครองด้วย
       
       หมวดที่ 3 ว่าด้วย หน้าที่ สิทธิ และหลักประกัน เป็นหมวดที่ยาวหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญเพราะประกอบด้วยบทบัญญัติถึง 116 มาตราและแบ่งออกเป็น 10 ส่วน มีบทบัญญัติที่น่าสนใจจำนวนมากที่ผมขอยกมานำเสนอเพียง 4-5 มาตรา คือ มาตรา 25 บัญญัติว่า บรรดาคำสั่งที่ออกโดยการใช้อำนาจรัฐและฝ่าฝืนหรือทำให้หน้าที่ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรับรองไว้ลดลงไม่มีผลใช้บังคับ เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง แล้วแต่กรณี โดยไม่อาจอ้างได้ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนมาตรา 43 ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิในชีวิตว่าไม่สามารถล่วงละเมิดได้ และกฎหมายก็ไม่สามารถกำหนดโทษประหารชีวิตได้ สำหรับในมาตรา 71 ถึงมาตรา 73 ก็ได้กล่าวถึงสิทธิที่สำคัญมากของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองด้วยการออกเสียงประชามติไว้ในหลายกรณีด้วยกัน โดยในมาตรา 71 นั้นก็ได้กล่าวถึงกรณีปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาระหว่างประเทศสามารถนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนดำเนินการ (référendum consultatif) ได้โดยข้อเสนอขอให้มีการออกเสียงประชามติของประธานาธิบดีนั้นต้องทำขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือโดยข้อเสนอของเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ หรือโดยการเสนอของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เข้าชื่อกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ส่วนปัญหาสำคัญบางประการของมลรัฐและของท้องถิ่นก็สามารถนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้เช่นกันโดยการที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้นั้นจะต้องมีข้อเสนอจากสภาท้องถิ่นหรือสภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐจำนวน 2 ใน 3 หรือจากข้อเสนอของนายกเทศมนตรี หรือจากข้อเสนอของผู้ว่าการหรือจากข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ด้วยจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง บุคคลดังกล่าวสามารถร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติประเภทเดียวกันคือ การแสดงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนดำเนินการ (référendum consultatif) ได้ ส่วนในมาตรา 72 ก็ได้บัญญัติถึงเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อถอดถอนบุคคลบางประเภทให้พ้นจากตำแหน่งได้โดยบัญญัติไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและตุลาการที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้หลังจากที่ดำรงตำแหน่งไปแล้วเป็นเวลากึ่งหนึ่งของวาระดำรงตำแหน่งที่ตนมีโดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในพื้นที่ที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่สามารถร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้ ส่วนในกรณีถอดถอนบุคคลที่อยู่ในองค์คณะ (les membres du corps) ออกจากตำแหน่งต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดประกอบกัน อนึ่ง การยื่นถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งให้กระทำได้เพียงหนเดียวในรอบวาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น
       นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญยังบัญญัติถึงการออกเสียงประชามติอีกประเภทหนึ่งคือ การออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนร่างกฎหมายในมาตรา 73 โดยกำหนดว่าร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติอาจถูกนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้โดยสมาชิกสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อกันร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายนั้น หากผลของการออกเสียงประชามติปรากฏว่าร้อยละ 25 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ร่างกฎหมายนั้นก็จะมีผลเป็นกฎหมายทันที ส่วนสนธิสัญญาหรือบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่ออธิปไตยของรัฐหรือมีการถ่ายโอนอำนาจไปยังองค์กรที่อยู่ในระดับสูงกว่ารัฐ (supranationaux) ก็อาจถูกนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้เช่นกันโดยข้อเสนอของประธานาธิบดีที่ต้องทำขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือโดยมติของสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือโดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังมีการออกเสียงแสดงประชามติอีกประเภทหนึ่งคือการออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วซึ่งแยกออกได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีของกฎหมายธรรมดาที่มีผลใช้บังคับแล้วและกรณีของรัฐกฤษฎีกาที่ออกโดยประธานาธิบดีซึ่งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่สามารถนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยมาตรา 74 กำหนดไว้ว่า สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ประธานาธิบดีซึ่งข้อเสนอขอให้เพิกถอนกฎหมายต้องทำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นผู้เสนอขอให้มีการออกเสียงประชามติในกฎหมายนั้น ส่วนรัฐกฤษฎีกาที่มีผลบังคับเช่นกฎหมายและรัฐกฤษฎีกาที่ออกโดยประธานาธิบดีซึ่งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 สามารถเสนอขอให้นำรัฐกฤษฎีกาดังกล่าวมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้ ประชาชนต้องออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ให้เพิกถอนกฎหมายหรือรัฐกฤษฎีกาดังกล่าว จึงทำให้การเพิกถอนมีผล อนึ่ง มาตรา 74 ได้กำหนดห้ามนำเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนกฎหมายมาใช้กับกฎหมายสำคัญบางประเภทคือ กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม กฎหมายที่มีบทบัญญัติคุ้มครองหรือเป็นหลักประกันหรือพัฒนาสิทธิมนุษยชนและกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญา นอกจากนี้ การขอให้ทำประชามติเพิกถอนกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งทำได้เพียงครั้งเดียวต่ออายุของรัฐธรรมนูญ
       นอกจากเรื่องประชามติประเภทต่าง ๆ แล้ว ในหมวด 3 ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกหลายเรื่องบัญญัติไว้ เช่น มาตรา 80 ที่บัญญัติถึงการให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุโดยกำหนดให้บำเหน็จของผู้เกษียณอายุจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ มาตรา 127 ที่กำหนดให้การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิและเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน มาตรา 129 ที่บัญญัติให้การดำเนินการจัดทำโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย รวมไปถึงกำหนดมาตรการในการห้ามนำเข้ามาในประเทศซึ่งบรรดาขยะที่เป็นพิษและอันตราย รวมทั้งการผลิตและใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพต่าง ๆ โดยในมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดทำกฎหมายเพื่อวางกฎเกณฑ์ในการใช้ การบรรทุก และการเก็บสารเคมีที่เป็นพิษและเป็นอันตรายด้วย
       
       หมวดที่ 4 ว่าด้วยอำนาจรัฐ ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 49 มาตรา อำนาจรัฐถือเป็น “สิ่งสำคัญที่สุด” ในการปกครองประเทศและบริหารประเทศ จึงมีการกำหนดไว้อย่างละเอียดถึงโครงสร้างสำคัญ ๆ ของรัฐทั้งหมด โดยในมาตรา 136 บัญญัติว่าองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐมีอยู่ 3 องค์กรคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มลรัฐ และสาธารณรัฐ โดยอำนาจรัฐที่ว่านี้แยกออกได้เป็น 5 ประเภท คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ พลเมือง และการเลือกตั้ง แต่ละประเภทต่างก็มีหน้าที่ของตนเองแยกออกต่างหากจากกัน หากมีการก้าวก่ายการใช้อำนาจ มาตรา 138 ก็กำหนดว่าให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากดำเนินการใด ๆ ต่อไปก็จะเป็นโมฆะ ส่วนมาตรา 139 ก็บัญญัติว่าการใช้อำนาจรัฐอาจนำมาซึ่งความรับผิดเป็นการส่วนตัวได้หากผู้ใช้อำนาจรัฐทำการฝ่าฝืนหรือใช้อำนาจโดยมิชอบหรือกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากที่กล่าวไปแล้วยังมีมาตราอื่นที่น่าสนใจอีกหลายมาตรา เช่น มาตรา 141 บัญญัติว่าระบบบริหารงานของรัฐมีขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชน องค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นได้เฉพาะแต่โดยกฎหมายและจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐตามมาตรา 142 สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 143 ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมากอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐคือ ประเด็นที่อยู่ในมาตรา 150 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าการทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะระดับประเทศจะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่น ระดับมลรัฐหรือระดับประเทศกับรัฐต่างชาติ หรือกับเจ้าหน้าที่ต่างชาติ หรือกับบริษัทที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเวเนซุเอลา โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร
       นอกจากบทบัญญัติที่กล่าวไปแล้ว ในหมวด 4 นี้ก็ได้กำหนดถึง “ภารกิจ” ที่เป็นอำนาจรัฐในแต่ละระดับไว้อย่างชัดเจน เช่น มาตรา 156 กำหนดให้ภารกิจต่าง ๆ จำนวน 36 ภารกิจเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจรัฐระดับประเทศ อันได้แก่ นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ตำรวจ การจัดโครงสร้างทางการทหาร ฯลฯ ส่วนมาตรา 160 ก็กำหนดให้แต่ละมลรัฐมีผู้ว่าการ 1 คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในมลรัฐนั้น
       
       หมวดที่ 5 การจัดโครงสร้างของอำนาจรัฐระดับประเทศ ประกอบด้วยบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 112 มาตรา โดยในมาตราแรกของหมวดนี่คือมาตรา 186 ได้กล่าวถึงที่มาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนในมาตรา 187 ก็ได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ 24 ประการ โดยมีอำนาจหน้าที่อื่นที่น่าสนใจและไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติหลายประการ เช่น การให้อภัยโทษ การเสนอขอแก้ไขหรือขอปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การอนุมัติให้ฝ่ายบริหารลงนามในสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะระดับประเทศตามที่กฎหมายกำหนด การอนุมัติทำสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่น ระดับมลรัฐหรือระดับประเทศกับรัฐต่างชาติหรือกับเจ้าหน้าที่ต่างชาติหรือกับบริษัทที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเวเนซุเอลา เป็นต้น มาตรา 192 กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 5 ปีและสามารถเป็นได้ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย นอกเหนือจากเรื่องสภาผู้แทนราษฎรแล้วในหมวด 5 ยังบัญญัติถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจบริหารระดับประเทศซึ่งได้แก่ ประธานาธิบดี เอาไว้โดยในมาตรา 236 บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีไว้ 24 ประการ ส่วนรองประธานาธิบดีก็มีการบัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ไว้ 9 ประการในมาตรา 239 เช่นเดียวกับรัฐมนตรี อัยการ สภาแห่งรัฐ ระบบศาลยุติธรรมก็ได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้เช่นกัน โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจในมาตรา 264 คือ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดและสามารถดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวคือ 12 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุดก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 266 คือ ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินความผิดของประธานาธิบดีและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเช่น รองประธานาธิบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี อัยการ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการมลรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทในการบริหารงานระหว่างสาธารณรัฐกับมลรัฐ เทศบาล องค์กรอื่นของรัฐ ประกาศให้กฎหรือคำสั่งบางประเภทที่มีผลเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะตัวของฝ่ายบริหารระดับประเทศเป็นโมฆะ รวมไปถึงการตีความกฎหมาย การชี้ขาดเขตอำนาจศาลและการเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด (ศาลฎีกา) ด้วย
       นอกจากบทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีการกล่าวถึงอำนาจรัฐที่ใช้โดยองค์กรต่าง ๆ เช่น โดยองค์กรภาคประชาชน โดยอัยการ โดยผู้ตรวจเงินแผ่นดิน โดยอำนาจเลือกตั้งซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติขึ้นมาในมาตรา 292 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง
       
       หมวดที่ 6 ว่าด้วยระบบสังคมและเศรษฐกิจ
ประกอบด้วยบทบัญญัติ 22 มาตรา ซึ่งพูดถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจกับบทบาทของรัฐทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งระบบภาษีและเงินตราด้วย โดยมีมาตราที่น่าสนใจอยู่หลายมาตรา ในมาตรา 301 ได้บัญญัติไว้ว่ารัฐสงวนสิทธิในการใช้นโยบายด้านการค้าเพื่อปกป้องการดำเนินการทางเศรษฐกิจของกิจการของรัฐและกิจการของเอกชน และไม่สามารถให้ผลประโยชน์แก่กิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบของต่างชาติมากกว่าที่ให้กับกิจการ องค์กร บุคคล หรือระบบที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่วนการลงทุนของคนต่างชาติก็ต้องเป็นไปในเกณฑ์เดียวกันกับการลงทุนของคนในชาติ มาตรา 303 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในด้านอธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาติ รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือรัฐอาจตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจดังกล่าวร่วมกันได้ ส่วนในมาตรา 304 ก็ได้บัญญัติให้น้ำเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะต้องมีกฏหมายกำหนดมาตรการในการคุ้มครองและปรับปรุงให้ดี สำหรับมาตรา 305 ก็ได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตร และในมาตรา 307 ก็ได้บัญญัติว่าการถือครองที่ดินจำนวนมากเป็นการกระทำที่ขัดต่อประโยชน์ของสังคม และต้องมีกฎหมายกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อไม่ให้เกิดการถือครองที่ดินจำนวนมาก
       
       หมวดที่ 7 ว่าด้วยความมั่นคงของชาติ
ประกอบด้วยบทบัญญัติ 19 มาตราซึ่งมีมาตราที่น่าสนใจคือมาตรา 324 ที่กำหนดให้รัฐแต่เพียงผู้เดียวที่สามารถเป็นเจ้าของและใช้อาวุธสงครามได้ หากผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้ามาในประเทศซึ่งอาวุธสงครามก็ให้ตกเป็นของรัฐทันทีโดยไม่สามารถเรียกค่าทดแทนได้
       
       หมวดที่ 8 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 11 มาตราและแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญธรรมดานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราโดยไม่กระทบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นจะต้องเริ่มต้นมาจากการทำข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร้อยละ 30 หรือโดยประธานาธิบดีซึ่งข้อเสนอของประธานาธิบดีนั้นจะต้องทำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องนำข้อเสนอที่ได้รับมาไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อเสนอ ส่วนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้นหมายความถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วนซึ่งข้อเสนอในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญจะต้องทำโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรหรือโดยประธานาธิบดีซึ่งข้อเสนอของประธานาธิบดีนั้นจะต้องทำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือโดยประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 กระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้นจะแตกต่างจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่จะต้องมีการเสนอร่างปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้วก็จะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แบบแล้วในหมวดที่ 8 นี้ยังได้กล่าวถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วยในมาตรา 347 ถึง 350 แต่มิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ คงระบุแต่เพียงวัตถุประสงค์ของการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญคือเพื่อเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ เพื่อจัดตั้งระบบศาลขึ้นมาใหม่หรือเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
การนำเสนอบทสรุปของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลาในที่นี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือ นำสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ด้านรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในประเทศที่เราไม่คุ้นเคยมาเผยแพร่โดยบทบัญญัติเหล่านั้นบางบทบัญญัติก็เป็นสิ่งที่ดีและสามารถนำมา “วิเคราะห์” เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราในวันข้างหน้าได้และนอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือ ให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงมาตรการในการปกป้องประโยชน์ของรัฐที่ “เข้ม” กว่าที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยที่นักวิชาการทั้งหลายควรนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงผลดีหรือผลเสียของมาตรการดังกล่าวที่มีต่อประเทศ ซึ่งหากเป็นผลดีต่อประเทศก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการในลักษณะดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญไทยต่อไป


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544