ละเมิดอำนาจศาล : ถึงเวลาแก้กฎหมายแล้วหรือยัง โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในหลาย ๆ ครั้งที่เรามักจะถูกขู่หรือถูกปรามจากผู้หวังดีว่า การวิพากษ์วิจารณ์หรือการกระทำใดใดของเราว่าระวังจะเข้าข่าย ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งในความเป็นจริงหลาย ๆ ครั้งที่ว่านั้นมิได้เข้าข่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด
เหตุแห่งการบัญญัติให้มีบทลงโทษว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลก็เนื่องเพราะใน
การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลมีบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่ความ พยาน หรือแม้แต่บุคคลภายนอกที่ศาลเรียกเข้ามาหรือร้องสอดเข้ามาในคดีเองก็ตาม ฉะนั้น การที่บุคคลหลาย ๆ ฝ่ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมอบอำนาจให้ศาลตามสมควร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและดำเนินกระบวนการพิจารณาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้มีการบัญญัติมาตรา ๓๐ ถึงมาตรา ๓๓ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง
บทบัญญัติที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก ๆ ๓ ส่วน ซึ่งจะนำมาเสนอเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญโดยย่อ คือ
๑. การออกข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๓๐ ให้อำนาจแก่ศาลในการออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความ หรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาล ตลอดจนมีอำนาจสั่งห้ามคู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาในทางที่จะก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือในทางประวิงคดีให้ชักช้า หรือฟุ่มเฟือยจนเกินสมควร
อย่างไรก็ตามการออกข้อกำหนดต้องเป็นข้อกำหนดที่ชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถึงแม้จะกระทำไป ก็ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการ เว้นแต่จะเป็นคู่ความในคดีหรือถูกหมายเรียกมาเป็นพยาน ทั้งนี้ เนื่องมาจาก ท. ได้เรียกร้องเงินค่าเขียนคำร้องจากคู่ความเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ต่อมา ท. เข้ามาในบริเวณศาล ศาลชั้นต้นจึงลงโทษ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่ศาลจะออกข้อกำหนดใด ๆ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา ๓๐ ต้องเป็นไปเพื่อรักษา
ความสงบเรียบร้อยในศาล และเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดห้าม ท. เข้ามาในบริเวณศาลในวันเปิดทำการไม่ว่ากรณีใด แม้กระทั่ง ท. มีเหตุจำเป็น เป็นการเกินเลยบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ การที่ ท. เข้ามาในบริเวณศาลมิใช่เพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้แต่ประการใด การกระทำของ ท. ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗/๒๕๒๐)
๒. การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
มาตรา ๓๑ ได้กำหนดการกระทำต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล คือ
(ก) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตรา ๓๐ อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(ข) เมื่อได้มีคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้อง หรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้วปรากฏว่าได้นำคดีนั้นขึ้นสู่ศาล โดยตนรู้อยู่แล้วว่าไม่มีมูล หรือได้สาบานตัวให้ถ้อยคำตามมาตรา ๑๕๖ ว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระค่าฤชาธรรมเนียมได้ ซึ่งเป็นความเท็จ
(ค) หลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตนแล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(ง) ตรวจเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕๔
(จ) ขัดขืนไม่มาศาลเมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือมีหมายเรียกตามมาตรา ๒๗๗
๓. การละเมิดอำนาจศาลของผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน
มาตรา ๓๒ ได้กำหนดการกระทำที่ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือ
(ก) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด และไม่ว่าเวลาใด ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
(ข) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลหรือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น การนำคำพยานหรือข้อเท็จจริงบางตอนมาลงพิมพ์โฆษณา หรือวิพากษ์วิจารณ์คำพยาน หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลโดยไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้องต่อความเป็นจริง รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน ถึงแม้ว่าข้อความต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นความจริงก็ตาม
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การที่ศาลจะลงโทษผู้ใดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ต้องมีการกระทำที่เข้าข่ายดังที่กล่าวมาข้างต้นเสียก่อน
แต่อย่างไรก็ตามผมยังเห็นว่า การห้ามวิพากษ์วิจารณ์ในระหว่างที่คดีไม่ถึงที่สุด
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการชี้นำหรือเพื่อทำให้ผู้พิพากษาปราศจากอคตินั้นผมคิดว่าถ้า ผู้พิพากษาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถไตร่ตรองโดยปราศจากอคติแล้วไซร้การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมจะไม่มีผลอันใดไปชักจูงหรือโน้มน้าวต่อผลแห่งการพิจารณาคดี แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลหรือมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไป
การที่สถาบันตุลาการเปิดกว้างต่อการรับฟังความเห็นและถูกตรวจสอบโดย
การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเป็นเหตุที่ทำให้ศาลรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวและมุมมองของสังคม
และที่สำคัญที่สุดก็คือศาลเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกับองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอำนาจอธิปไตยที่ว่านี้เป็นของปวงชนชาวไทย
ทั้งมวล ประชาชนย่อมควรที่จะมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ อย่างน้อยก็โดยวิธีการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยผ่านสื่อสารมวลชนที่ถือได้ว่าเป็นปากเป็นเสียงของเขาเหล่านั้น นั่นเอง
---------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|