หน้าแรก บทความสาระ
การแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางของปรีดี พนมยงค์ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
9 กรกฎาคม 2549 23:02 น.
 
ปัญหาภาคใต้ที่กำลังลุกลามและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบันนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนผู้รักสันติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พร่ำบอกตลอดเวลาว่า “มาถูกทางแล้ว” ก็ไม่บังเกิดผล มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าเห็นใจต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่พยายามหาวิธีดับไฟแห่งความรุนแรงนี้ลงให้ได้ ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวความคิดที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหานี้โดยนำเสนอแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า
       “ประชาธิปไตย” หมายถึง ความเป็นใหญ่ของประชาชนและปวงชนต้องมีสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน
       “สามัญชน” หมายถึง ชนจำนวนส่วนมากที่สุดของประชาชน
       “อภิสิทธิ์ชน” หมายถึง ชนจำนวนส่วนข้างที่สุดของปวงชน ได้แก่นายทุน ที่มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ รวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้
       “รัฐธรรมนูญ” หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ
       ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใด ให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชน และจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย
       ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี ๒๕๑๔ เกี่ยวกับ “เอกภาพของชาติกับประชาชาติไทย” ซึ่งประเสริฐ ชัยพิดุสิต เรียบเรียงไว้ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
       ๑) การรักปิตุภูมิยังมิได้หมดไป ยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกัน หรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกัน กับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง
       ๒) ริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือท้องที่โดยเฉพาะยังมีอยู่ ดังเช่น ท้องที่ของประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้น ๆ พูดไทยไม่ได้ หรือพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยาก คนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องถิ่นหรือสำเนียงตามท้องถิ่นของตน
       ๓) บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะ เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย ประมาณ ๖ ปี ภายหลังอภิวัฒน์ (พ.ศ. ๒๔๗๕) เจ้าผู้ครองนครลำพูน ถึงแก่พิราลัย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่ง และพระยาภูผาราชา แห่งระแงะสิ้นชีพราว ๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือภายหลังนั้นไม่นาน
       ๔) กลุ่มต่าง ๆ ภายในชาติหนึ่ง ๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาแตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมากในประเทศไทย ภายหลังรัฐประหาร (๘ พ.ย. ๒๔๙๐) รัฐบาลได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอิสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน ในสมัยรัชการที่ ๕ มีกรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ถูกกักตัวที่พิษณุโลก เมื่อกลับไปปัตตานี ก็คิดแยกดินแดนอีก
       เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้อง ป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไป เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติไว้
       ก) วิธีการของอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลของชนส่วนมากในชาตินั้น ๆ คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่
       ข) วิธีการเผด็จการ เช่นฮิตเลอร์ หรือ มุสโสสินี ใช้วิธีบังคับแต่ไม่สามารถทำลายจิตใจรักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่าง ๆ ในเขตนั้นได้
       ค) วิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ พลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน แยกออกเป็นแขวง ๆ แต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐมีรัฐบาลกลางเดียวกัน ไม่ปรากฏว่า มีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
       ง) วิธีประชาธิปไตย ประธานาธิบดีลินคอล์นให้ไว้คือ การปกครองโดย “รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น “เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร” เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ
       จ) มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยการดำรงชีพอยู่นั้น ย่อมมีจิตใจในทางด้านค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน หากเขาไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว ก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่ดีกว่าก็เป็นไป
       จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นความเห็นที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ แต่ก็ยังไม่ล้าสมัยแต่
       อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สวีเดน เนเธอแลนด์ หรือแม้กระทั่งวิธีประชาธิไตยของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่ามีชนหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง
       นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสามัญชนที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็น
       ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ในส่วนของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ความสำคัญของท่านอยู่ในระดับเดียวกับ เมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม หรือเนห์รูของอินเดีย แต่น่าอนาถที่ท่านต้องจบชีวิตในต่างแดนดั่งผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษ ๓ ท่านนั้นได้รับการปลงศพอย่างยิ่งใหญ่ในนามของรัฐ แต่ของไทยเราไม่มีการจัดงานศพให้สมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่ผู้นำรัฐบาลไทยไปในงานศพของท่าน
       
       ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำก็คือการนำเอาแนวความคิดของท่านมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เสีย เพื่อที่จะได้เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและเป็นการสนองคุณต่อผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ดังเช่น มหาบุรุษที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เคยกระทำไว้แก่แผ่นดินไทยในอดีต
       ---------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544