หน้าแรก บทความสาระ
ราคาคุย โดย คุณนวพร เรืองสกุล
คุณนวพร เรืองสกุล
9 กรกฎาคม 2549 23:02 น.
 
เมกะโปรเจค (ในความหมายของรัฐบาล พ.ศ. 2548 หมายถึงโครงการที่ต้องการเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ) เป็นหัวข้อข่าวและหัวข้อสนทนาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกันพักใหญ่แล้ว
       พูดอะไรเป็นล้านล้านบาทนี่ คนพูดครึ้มดี และคนฟังก็ตื่นตาตื่นใจ รื่นเริงและฝันหวานด้วยกันทั้งสองฝ่าย
       บางคนคิดว่ารัฐบาลแค่ฝันดังๆ
       แต่ราษฎรส่วนมากคงไม่กล้าคิดว่ารัฐบาลฝันดังๆ แต่คิดและเชื่อถือว่ากำลังจะทำจริงๆ เพราะภาครัฐออกมาพูดอย่างเป็นทางการ
       แม้พวกที่คิดว่ารัฐบาลแค่ฝันดังๆ ก็ยังไม่กล้าวางใจกับความคิดตัวเอง ต้องเผื่อเอาไว้ว่า ถ้ามัวแต่คิดว่ารัฐบาลยังไม่เอาจริง จึงยังไม่ทักท้วงปล่อยให้ฝันไปก่อน เกิดรัฐบาลตีขลุมว่าเอาจริงตามที่พูด ก็จะพลาดท่าหมดโอกาสทักท้วง
       ดังนั้นเมื่อมีข่าวออกมา ต่างคนต่างก็ต้องเต้นไปตามเพลงของตัว
       
       โครงการขนาดยักษ์ที่พูดๆ กันในวงเงินลงทุนที่ประมาณไว้ว่า 1.7 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2548 – 2552 จำแนกออกได้เป็น 7 สาขา (จากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2548 เมื่อเดือนสิงหาคม เรื่อง “การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ: นัยต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”)
       25% ของเงินจะลงไปในโครงการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
       19 % ในโครงการพัฒนาระบบขนส่ง ซึ่งรวมการคมนาคม ท่าเรือ ฯลฯ (ส่วนขยายของสนามบินสุวรรณภูมิ ก็อยู่ในหมวดนี้)
       12% เป็นงบพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
       รวมสามรายการ เป็นงบที่ประมาณไว้กว่าครึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมดที่วาดฝันไว้ และทั้งสามหมวดนี้ล้วนเป็นงานด้านวิศวกรรม
       คนเดินดินในกรุงเทพฯ น่าจะดีใจที่ได้งบประมาณถึง 25% ของโครงการทั้งสิ้นสำหรับการขนส่งมวลชน ชวนให้รู้สึกว่ารัฐบาลเริ่มหันมาเหลียวแลมวลชน แทนการสร้างและขยายถนน สะพาน ฯลฯ เพื่อรถยนต์
       คนต่างจังหวัดอาจจะกังขา
       ถ้างบประมาณถึง 25% ลงไปในโครงการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ แล้วต่างจังหวัดล่ะ จะต้องพึ่งรถสองแถวเอกชน ที่แล่นไปแล่นมาตามสะดวกต่อไป และตลอดไปหรือ ไม่มีจังหวัดหรือท้องที่ไหนในประเทศไทยนอกจากกรุงเทพฯ ที่จะมีโอกาสได้ระบบขนส่งมวลชน แม้แต่แบบง่ายๆ ราคาถูกๆ บ้างเลยหรือไร
       รัฐบาลละเลยเรื่องการกระจายรายได้ แล้วยังจะละเลยการกระจายสาธารณูปโภคสำหรับคนเมือง (อื่น) อีกด้วย
       แล้วก็อดมีอีกคำถามตามมาไม่ได้
       คนต่างจังหวัดจะต้องช่วยจ่ายสำหรับการลงทุนในระบบขนส่งในกรุงเทพฯ ด้วยหรือ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ ทำไมไม่ให้คนกรุงเทพฯ จ่ายเอาเอง
       ถึงตอนนี้คนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ชอบใจนัก ต้องไปหาคำจำกัดความของคำว่าคนกรุงเทพฯ กันอีก จะนับคนกรุงเทพฯ จากสำมะโนครัว หรือนับจากจำนวนชั่วโมงทำงานที่ใช้ในกรุงเทพฯ
       คนที่มีสำมะโนครัวอยู่ในกรุงเทพฯ มีน้อยกว่าคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เดินทางเข้ามาแบบเช้าไปเย็นกลับบ้าง ใช้กรุงเทพฯ เป็นบ้านที่ 2 บ้าง (ยกตัวอย่างได้จากบรรดา ส.ส. ทั้งหลายยังไงล่ะ) และคนประเภทหลังนี่ต่างหากที่เข้ามาร่วมใช้รถใช้ถนน ในกรุงเทพฯ ทำให้การจราจรแออัด
       ถ้าได้งบประมาณเต็มตามที่พูดจริงๆ คนขี่รถยนต์ในกรุงเทพฯ เริ่มฝันร้ายถึงวันรถติด เพราะว่างบประมาณสำหรับเส้นทาง 7 เส้น หมายถึงว่ารถติดทั้งเมือง เพราะถนนสายหลักๆ จะถูกขุดพร้อมกัน
       คนมีอารมณ์ขันอาจจะนึกถึงโจทย์เลขที่เคยทำในวัยเด็กขึ้นมาได้ โจทย์มีอยู่ว่า เมื่อคน 10 คนสร้างบ้านหลังหนึ่งเสร็จใน 100 วัน ถามว่า ถ้าต้องการให้บ้านแบบเดียวกันนั้นเสร็จใน 1 วัน จะต้องใช้คนกี่คนสร้าง
       เป็นเด็กเป็นเล็กทำบัญญัติไตรยางค์ได้คำตอบออกมาว่า 1,000 คน คุณครูบอกว่าเลขถูก แต่เหตุผลผิด สร้างบ้านใน 1 วัน สร้างไม่ได้หรอก คน 1,000 คนเดินชนกันอยู่ในพื้นที่นิดเดียว และการสร้างบ้านมีขั้นตอน ไม่สามารถย่นเวลาการสร้างที่ต้องมีลำดับขั้นให้ลงมาอยู่ในกรอบของ 1 วันได้ เช่นต้องให้เวลาสำหรับให้ปูนแห้ง ซึ่งก็เป็นเวลาหลายวัน ดังนั้น ตอบอย่างเรียลลิสติก ต้องตอบว่า กี่คน ๆ ก็สร้างไม่เสร็จใน 1 วัน
       
       คิดมาถึงตรงนี้ ใครที่ห่วงเรื่องเงินทองที่จะใช้ในโครงการยักษ์ ก็อาจจะสบายใจขึ้นว่าโครงการยักษ์ทั้งหลายนั่น คงไม่เสร็จใน 5 ปีอย่างที่ว่า ดังที่ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ กล่าวบนเวทีสัมมนาว่า นี่น่าจะเป็นราคาคุย
       แต่ก็กลับเพิ่มความเป็นห่วงในเรื่องอื่นขึ้นมาแทน ตามประสาคนชอบห่วง
       ถ้าโครงการยักษ์ไม่มีมากเท่าที่ประชาสัมพันธ์เอาไว้ เพราะเป็นไปไม่ได้ และผู้วางแผนยังอาจจะปรับความฝันให้ใกล้จริงยิ่งขึ้นตามกำลังทรัพย์ในกระเป๋า เหมือนบุคคลธรรมดาปรับความฝันของเราจากคฤหาสถ์เป็นบ้านหลังน้อย หรือรถเก๋งราคาแพงเหลือเพียงรถมือสอง และถ้าคนที่รับภาพหลงเชื่อตามที่ได้รับฟังมา ไม่ได้ต่อรองหรือปรับราคาคุยลงมาให้เหลือเป็นราคาจริง ก็แปลว่ามีภาพลวงตาเกิดขึ้นอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพที่ทำให้ตัวเลขที่คำนวณเพื่อประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไป
       แต่บางคนก็ยังกลัวไปอีกแบบ คือกลัวว่า พูดๆ เรื่องเงิน 1.7 ล้านล้านบ่อยๆ ครั้งเข้าจนราษฎรเริ่มชิน ต่อไปแม้ว่าจะไม่ได้สร้างโครงการยักษ์ตามที่ว่า เงินจะถูกบิดเบนไปจัดสรรให้กับโครงการอย่างอื่น เพราะว่าใจคนรับไปแล้วว่า จะใช้เงินแค่นี้ โดยลืมเรื่องโครงการไปเสียสนิท
       คนไทยลืมง่ายอยู่แล้ว ยิ่งไม่เคยได้ข้อมูลอย่างเป็นระบบและอย่างเข้าใจง่ายๆ จะลืมเร็ว และลืมดู
       
       เรื่องเกี่ยวกับโครงการยักษ์กระตุ้นให้ได้คิดเกี่ยวกับสไตล์การบริหารงานแผ่นดินของรัฐบาลบางประการ
       ขอยกบางด้าน มาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
       
       ประเด็นที่ 1 วิกฤติใดๆ ในประเทศ เปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะทำโครงการใหม่ๆ ใช้เงินมากๆ เพื่อแก้ปัญหา
       นี่เป็นสไตล์ที่ก่อเกิดข้อเสนอเป็นโครงการขนาดหลายร้อยถึงหลายพันล้านอย่างรวดเร็ว จนเกือบจะเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติว่า ปัญหาแก้ได้ด้วยเงิน
       
       ประเด็นที่ 2 โครงการใช้เงินมักหมายถึงการสร้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วิศวกรรม (Engineering) กลายเป็นวิธีการที่แก้ได้สารพัดปัญหา
       คนขี้สงสัยมักจะระแวงว่า งานก่อสร้างเป็นงานที่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างมาก อุดมไปด้วยช่องทางรั่วไหลรูโตๆ
       คนที่เข้าใจระบบการวัดผลจะชี้ประเด็นด้วยความเห็นใจว่า การก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นงานที่มองเห็นชัด วัดผลง่าย ยิ่งระบบประเมินผลย้ำการวัดผลเป็นตัวเลขโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งที่วัดนั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพหรือนโยบายที่พึงประสงค์หรือไม่ การก่อสร้างยิ่งได้รับความสนใจยิ่งขึ้นจนเกินพอดี
       
       ประเด็นที่ 3 บทกลับของข้อความย่อหน้าที่ผ่านมาก็คือ Social Engineering อันเป็นเรื่องท้าทายสังคมที่รู้คิดทุกสังคม แทบไม่ได้รับการเหลียวแลให้เป็นทางแก้ปัญหา เพราะว่าวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางสังคม หรือการพัฒนาคนและพัฒนาระบบ เห็นผลช้า และวัดผลแบบดุ่ยๆ และง่ายๆ ไม่ได้
       
       ประเด็นที่ 4 คณะรัฐมนตรีซึ่งควรจะวางนโยบาย กลับไปวางโครงการเสมือนหนึ่งว่าโครงการเป็นนโยบาย ทำให้การแก้ปัญหาซับซ้อน และสิ้นเปลือง และปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างครบถ้วน
       ในด้านการทำงาน โครงการเป็นงานระดับมาตรการซึ่งต้องการความรู้ทางวิชาการมาประกอบเพื่อทำให้นโยบายสัมฤทธิ์ผล ดังนั้นบางโครงการอาจจะไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดสำหรับนโยบายก็ได้
       ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ยกตัวอย่างเรื่อง การส่งน้ำตามท่อ ซึ่งอันที่จริงน่าจะเป็นโครงการ(หรือมาตรการ)หนึ่ง ในนโยบายการจัดสรรน้ำหรือจัดหาน้ำให้ราษฎรตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ในการทำมาหากิน แต่ถ้าสับสนกับสองเรื่องนี้ แล้วยกมาตรการไปเป็นนโยบาย เช่น กำหนดนโยบายว่าให้มีการวางท่อส่งน้ำทั่วประเทศ มาตรการที่เหมาะสมในบางพื้นที่กลับจะเป็นนโยบายที่ใช้ไม่ได้ในระดับประเทศ เพราะว่าบางพื้นที่และบางวัตถุประสงค์การใช้น้ำ ควรจะส่งน้ำด้วยวิธีอื่นๆ จะเหมาะสมกว่า ดังนี้เป็นต้น
       
       ประเด็นที่ 5 หลายโครงการที่เสนอ หรือได้รับความเห็นชอบแบบลัดขั้นตอน อาจจะได้รับหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ผู้ให้ข่าวต้องกังวล
       มองจากแง่การตลาด ในยุคสังคมข่าวสารที่เน้นการตลาด ผู้เป็นบุคคลสาธารณะต่างคนต่างต้องแย่งพี้นที่ในสื่อเป็นของตน การเอ่ยมาตรการแปลกใหม่ ท้าทาย และใหญ่โต (แม้ว่าจะยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง) จนได้เป็นข่าวหน้า 1 ผู้พูดได้หน้าได้ตา ได้คะแนนความพอใจไปแล้วตอนหนึ่ง นับว่าสำเร็จความประสงค์ด้านการประชาสัมพันธ์แล้ว
       ส่วนโครงการจะเกิดหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป
       ราคาคุย ใครว่าไม่สำคัญ


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544