คิดใหม่เรื่องไอทีวี โดย คุณนวพร เรืองสกุล |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
2537 รัฐบาลมีนโยบายให้ตั้งสถานีเพื่อเป็นทางเลือกในการได้รับข่าวของประชาชน และให้เป็นบริษัทมหาชน
ผู้เสนอให้เงินสัมปทานแก่รัฐ 25,000 ล้านบาทใน 30 ปีได้รับสัมปทานไป โดยมีเงื่อนไขตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่า ให้เสนอข่าว สารคดี และสารประโยชน์ 70% บันเทิง 30% สถานีดังกล่าวในปัจจุบันใช้ชื่อว่า ไอทีวี
2547 อนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานตลอดอายุสัญญาลงรวม 17,410 ล้านบาท และเปลี่ยนสัดส่วนรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ เหลือร้อยละ 50
2549 ศาลปกครองได้วินิจฉัยให้ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทาน
ระหว่างเวลาเหล่านั้น ผู้ถือหุ้นไอทีวีเปลี่ยนไปหลายครั้ง จนปัจจุบันนี้ (2549) หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือบริษัทชินคอร์ป ซึ่งมีบริษัทของกระทรวงการคลังสิงคโปร์ถือหุ้นข้างมาก และกำลังมีการคาดคะเนกันว่าโทรทัศน์ช่องนี้จะเป็นของนักลงทุนกลุ่มใดต่อไป บ้างก็ทวงความเป็นสื่อเสรีคืน แต่ไม่ได้ผ่านตาว่ามีข้อเสนอทางเลือกอย่างไรบ้างที่จะทำให้เจ้าของใหม่ หรือไอทีวีกลับเป็นสื่อเสรีได้ และทำอย่างไรจะสมานความต้องการกำไร กับการเป็นสถานีข่าวให้ได้
คราวนี้จึงใคร่ขอคิดนอกกรอบสักครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าหลายๆ คนอ่านไปเพียงสองสามย่อหน้าจะเริ่มร้องว่า เป็นไปไม่ได้ (ในสังคมไทย)
ดังนั้นจึงใคร่ขอร้องท่านผู้อ่านทุกท่านว่า
1. กรุณาอดทนอ่านให้จบก่อนจะร้องว่า เป็นไปไม่ได้
2. ก่อนจะร้องว่าเป็นไปไม่ได้ หรือหลังจากร้องว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว ก่อนที่จะผ่านเลยไป กรุณาคิดทางเลือกให้อีกสักทางว่า ถ้าข้อเสนอที่เพิ่งอ่านจบเป็นไปไม่ได้ หรือ ไม่เห็นด้วย แบบไหนจะพอเป็นไปได้ และน่าจะเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า
ก่อนจะเริ่มต้นคำถาม ขอเรียนว่าข้อเสนอนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ข้อ คือ
1. สถานีข่าวสถานีนี้จะไม่เป็นสถานีของรัฐ เพราะว่าสถานีของรัฐเคยมีมาก่อนหน้าแล้วและก็ค่อยๆ แปรเป็นเอกชนที่เน้นบันเทิง ล่าสุดคือช่อง 9 และที่กำลังมีอยู่ก็มีแล้ว คือช่อง 11 ซึ่งตั้งด้วยเงินจากต่างประเทศ ซึ่งก็คงจะอยู่ในอำนาจครอบงำของผู้กุมอำนาจรัฐจนสังคมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยการให้มีสถานีใหม่เป็นสถานีของมหาชน
2. แหล่งปลอดอำนาจการเมืองในเมืองไทยหายากมาก การเมืองสามารถแทรกแซงได้ทุกที่ มากหรือน้อยเท่านั้นเอง
3. ความสำเร็จและความล้มเหลวของกิจการใด รวมทั้งการยอมให้การเมืองแทรกแซงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรนั้นๆ และ
4. ความเป็นอิสระทางการเงิน มีส่วนช่วยสร้างความเป็นอิสระจากอำนาจการเมือง และความเป็นอิสระจากการมุ่งแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว
ขอเริ่มต้นด้วยคำถามหมื่นล้าน 2 ข้อ คือ
1. เรายอมรับได้ไหมว่า การผลิตรายการสารคดีดีๆ ใช้เงินลงทุนสูง
2. เรารับหรือไม่ว่าสถานีข่าวที่ดีในหลายประเทศได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล
ถ้ารับว่าสองข้อนี้เป็นความจริง พอจะสรุปได้ไหมว่า การให้จ่ายค่าสัมปทานเป็นกระบวนการคิดที่ล้มความคิดเรื่องสื่อเสรีในตัวของการคิดนั้นเอง เพราะการคิดค่าสัมปทานน่าจะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า สถานีจะได้กำไรเกินควร แม้กระทั่งจ่ายภาษีเงินได้ให้รัฐจากกำไรแล้ว ก็ยังถือว่ารัฐได้รายได้น้อยไป จึงให้จ่ายค่าสัมปทานเพิ่ม
การตัดสินด้วยค่าสัมปทานเป็นการตัดสินที่ง่าย (ใช้คำที่ไร้ความหมาย ณ เวลานี้ว่า โปร่งใส) เพราะว่าเห็นเป็นตัวเงินชัดๆ โดยคุณภาพที่มาพร้อมกับวินิจฉัยส่วนบุคคลไม่เกี่ยวเพราะหากนำมาเป็นข้อตัดสิน ผู้ตัดสินจะถูกครหาว่าลำเอียงหรือไม่เป็นธรรม และแม้ค่าสัมปทานที่เสนอให้จะดู เวอร์ ก็ไม่ควรนำมาคำนึงถึง เพราะจะมีข้อโต้เถียงได้ว่า รู้ได้อย่างไรว่า เวอร์ อนาคตเป็นสิ่งที่เดาได้ยาก และคนที่ไม่คิดว่ามีกำไรเขาจะเสนอให้สัมปทานทำไม
ดังนั้น ให้คนที่เสนอราคาสูงสุดปลอดภัยสำหรับผู้ตัดสินที่สุด เรื่องปัญหาที่น่าจะมีก็รอไว้แก้เมื่อเกิด ในขณะเดียวกันฝ่ายผู้เสนอให้สัมปทานก็อาจจะคิดคล้ายๆ กันคือ ให้ได้สถานีมาไว้ในครอบครองเสียก่อน เรื่องปัญหาไว้เจรจาทีหลัง
ถ้าไม่คิดค่าสัมปทาน จะให้เลือกอย่างไร
เราคิดกำหนดผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมจะดีกว่าหรือไม่ เช่น ให้องค์กรการศึกษา องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ หรือกองทุนต่างๆ ที่น่าจะใช้ประโยชน์จากสถานีนี้ได้ ร่วมกันมีส่วนเป็นผู้ถือหุ้น
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าองค์กรเหล่านี้จะทำสถานีที่มีคนดู
เราคิดกำหนดการยึดคืนสัมปทานการมีช่องโทรทัศน์จากปริมาณผู้ชมที่ไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ เพื่อบังคับให้สถานีต้องบริหารจัดการแบบแข่งขันได้ คือมีรายการข่าวที่ดี มีรายการสารคดีที่ดีเป็นที่นิยม และมีรายการบันเทิงที่ได้อันดับมีผู้นิยมชม ผู้ถือหุ้นที่ได้สัมปทานไปก็ต้องหาทางจัดจ้างบุคคลากรที่ทำงานเป็นเข้ามาบริหารจัดการให้ได้รายการที่ดีมีประโยชน์ และมีผู้ชม ถ้าเมื่อใดไม่มีคนดู ผู้ถือหุ้นก็ต้องแก้ไขด้วยการปรับปรุงการบริหาร ถ้าให้เวลาระยะหนึ่งแล้วทำไม่ได้อีก ก็ถึงเวลาที่ทางการจะต้องเอาสัมปทานคืนมาให้ผู้ถือหุ้นคนอื่น
รัฐจะได้ค่าสัมปทานจากไหน
ถ้ารับว่ารายการที่มีสาระดีๆ มีต้นทุนสูง สถานีอื่นอาจจะทำไม่ได้มากนัก รัฐก็ควรจะช่วยให้สถานีนี้ทำได้โดยช่วยให้ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน (เท่ากับว่ารัฐอุดหนุนทางอ้อม) แต่เมื่อมีกำไรก็ต้องจ่ายภาษีตามปกติ (หรือถ้าจะช่วยมากกว่านั้นก็คือให้ได้บัตรส่งเสริมการลงทุนเสียด้วยเลย ถ้ามีการกำหนดรายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตและการบริการของประเทศ ฯลฯ ตามแต่จะตั้งเงื่อนไข)
รัฐคิดค่าสัมปทานต่อเมื่อสถานีนำเวลาไปเป็นรายการบันเทิงเกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดจะดีกว่าหรือไม่ คือแทนที่จะเก็บสัมปทานแต่ต้น ก็เก็บเป็นค่าปรับหรือค่าชดเชยที่แปรเวลาสาระเป็นเวลาบันเทิง ถ้าทำบันเทิงเต็มเวลาเหมือนสถานีอื่นก็ปรับให้แรงจนกระทั่งไม่คุ้มที่จะทำ แต่ถ้าทำรายการในจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ และได้ปริมาณผู้ชมตามที่กำหนดก็ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน และไม่เสียสิทธิที่จะบริหารจัดการสถานี
ใครจะเป็นผู้ถือหุ้นได้บ้าง
ขอเสนอตัวอย่างคำตอบโดยใช้แนวคิดกึ่งสหกรณ์ คือหาผู้ที่ต้องการเวลาออกอากาศสู่กลุ่มเป้าหมายมามีส่วนเป็นผู้ถือหุ้น
นึกถึงตลาดหลักทรัพย์ ที่กำลังทำ Money Channel อยู่ แต่ในเมื่อเป็นเคเบิลทีวี ก็ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่จำกัดเกินไป ทั้งๆ ที่คนทั่วประเทศควรจะได้รับรู้เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทองของตน รวมตลอดถึงผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะได้มีช่องทางสื่อสารถึงผู้ถือหุ้นและลูกค้าโดยตรงอีกช่องทางหนึ่ง
นึกถึงสภาหอการค้า ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ น่าจะมีช่องทางสื่อสารถึงสมาชิกให้รับทราบเนื้อหากิจกรรมวิชาการ และข้อมูลความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
นึกถึงสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีเงินพร้อมลงทุน และมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับสมาชิกเกือบ 10 ล้านคนทั่วประเทศ
นึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งมีสถานีวิทยุอยู่แล้ว จะมีสถานีโทรทัศน์ (เฉพาะช่วงเวลา) บ้างก็คงจะดี เพื่อเพิ่มรายการให้ความรู้ ตัดตอนการสัมมนา นิทรรศการ และการประชุมวิชาการมาย่นย่อออกโทรทัศน์ ให้ผู้ที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสเข้าประชุม ได้ความรู้ด้วย หรือบันทึกรายการบันเทิง หรือสาระบันเทิง ที่แสดงในหอประชุมมาออกอากาศในภายหลัง เพื่อไม่ให้รายการดีๆ ที่สร้างและนำออกแสดงอย่างแทบไม่ได้รายได้ ได้มีโอกาสเผยแพร่ได้กว้างขวางขึ้นสมเจตนาในการให้บริการต่อสาธารณชน
นึกถึงสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ที่ต้องการช่องทางเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ และการจัดการชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ และสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น
นึกถึงหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอาจจะเป็นผู้สนับสนุนด้านโครงข่ายข่าว และบทวิเคราะห์ข่าว
นอกจากนี้ย้งมีผู้ที่น่าจะเป็นลูกค้าต้องการเวลา ซึ่งอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่เป็นผู้ถือหุ้นก็ได้อีกจำนวนมาก เช่น นึกถึงกระทรวงศึกษาธิการ และนึกถึงได้อีกหลายองค์กรที่ต้องการช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งช้าๆ นานๆ ก็จะได้ยินแว่วมาเสียทีหนึ่งว่าอยากได้สถานีโทรทัศน์ของตนเอง ทำให้นึกว่าทำไมไม่รวมกันแล้วจัดสรรเวลาในสถานีโทรทัศน์สถานีเดียว
แนวคิดที่เสนอมานี้เป็นการพยายามตอบโจทย์สถานีข่าว และสารประโยชน์ที่มีความเสรีพอสมควร (จากโฆษณา และจากการแทรกแซงของผู้ถืออำนาจรัฐ) และอยู่ได้โดยสร้างรายได้เป็นกำไรให้กับผู้ลงทุนพอให้คุ้มกับเงินลงทุน
ถ้าท่านผู้อ่านเห็นว่าข้อเสนอข้างต้นพอมีเค้าว่าจะเป็นไปได้ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ขอให้ช่วยกันเสนอ และช่วยกันหาทางปรับปรุงข้อเสนอ และช่วยกันหาทางทำให้เกิดขึ้นให้ได้
ถ้าหากเราทุกคนคิดว่า ทางไหนๆ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลยสักทาง ก็แปลว่าเรามาถึงทางตันแล้ว และเรากำลังจะต้องยอมรับการกลับเข้าสถานการณ์เดิมคือไม่มีสื่อโทรทัศน์เสรี
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|