หน้าแรก บทความสาระ
พรรคไหนจะถูกยุบกันแน่? โดย อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
11 มิถุนายน 2549 21:36 น.
 
ท่ามกลางกระแสข่าวการกดดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙ ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน ที่ผ่านมานั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังคงมีภาระกิจในการดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ตามกฎหมายจากข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคเล็กพรรคน้อยถูกว่าจ้างให้เข้าร่วมสมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในครั้งนั้นหรือที่เรารู้จักกันดีในคำว่า “นอมินี” (Nominee) สำหรับการเลือกตั้ง ด้วยทั้งนี้ก็เพื่อส่งผลดีต่อการเลือกตั้งของพรรคใหญ่โดยความผิดตามข้อกล่าวหาข้างต้นคือการยุบพรรคนั่นเอง
       
       จากเหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นจึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้เขียนได้ดำเนินการเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่ออธิบายถึงกฎเกณฑ์และขั้นตอนหลักตามลำดับที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับประเด็นการเสนอให้มีการยุบพรรคภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการสำหรับประเด็นในทางการเมือง ณ ปัจจุบันอีกด้วย
       
       โดยปกติแล้วการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลอันมีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันสามารถดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้เพราะถือเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา ๔๗ แต่ทั้งนี้การดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคจำต้องอยู่บนวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนในละเอียดที่ว่าระบบการจัดการภายใน นโยบายพรรค ฯลฯ ของพรรคการเมืองนั้นๆ ที่จะดำเนินกิจการทางการเมืองต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เช่น
       
       “มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง และมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง
       ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลนอก เพื่อการนี้หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหารคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
”
       
       “มาตรา ๓๑ คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองประกอบด้วยประธานสาขาพรรคการเมือง รองประธานสาขาพรรคการเมือง เลขานุการสาขาพรรคการเมือง รองเลขานุการสาขาพรรคการเมือง เหรัญญิกสาขาพรรคการเมือง โฆษกสาขาพรรคการเมือง และกรรมการอื่นของสาขาพรรคการเมือง”
       
       ดังนั้น การที่จะดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ นั้นจำต้องดำเนินการไปภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเคร่งครัดมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุหรือปัจจัยให้พรรคดังกล่าวถูกยุบได้ โดยเหตุแห่งการนำไปสู่การถูกยุบพรรคนั้นถูกบัญญัติไว้โดยประจักษ์ชัดภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ อันสามารถจำแนกแจกแจงเหตุหลักได้ดังนี้
       
       (๑) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
       (๒) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงสิบห้าคน
       (๓) มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น
       (๔) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง
       
(๕) ไม่ดำเนินการให้เป็นไปนโยบายหรือข้อบังคับของพรรคก็ดี ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองดังกล่าวมิอาจดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไปได้ก็ดี ไม่ดำเนินการจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ดี ไม่ปฏิบัตตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินกล่าวคือ ใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและ/หรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
       
       หากปรากฏเหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดให้ดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน ทั้งนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาและวินิจฉัยต่อไปหากกรณีศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ศาลรัฐธรรมนูญก็จะสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นทั้งนี้นายทะเบียนจะดำเนินการประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษาในขั้นตอนสุดท้ายนั่นเอง
       
       สืบเนื่องมาจากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการออกมาแถลงข่าวกล่าวหาว่ามีบุคคลในพรรคไทยรักไทยนั้นได้ว่าจ้างให้บุคคลต่างๆ เข้าร่วมลงสมัครในเขตต่างๆ ตามที่ตนเองประสงค์ในนามของผู้สมัครพรรคเล็กพรรคน้อย โดยนายสุเทพ ได้บอกกล่าวให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อดำเนินการให้ยุบพรรคไทยรักไทยต่อไปทั้งนี้ตนเองมีพยานหลักฐานสำหรับการกล่าวอ้างตามข้างต้น ในขณะเดียวกันพรรคไทยรักไทยโดย ก็ได้มีการออกมาแถลงข่าวโต้กลับโดยทั้งนี้มีการกล่าวหากลับไปในข้อกล่าวหาเดียวกันอีกด้วย
       
       ในประเด็นดังกล่าวจำต้องมีการตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงในพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญเองกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นและต้องการ ซึ่งกรณีนี้หากในท้ายที่สุดแล้วฟังได้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลความจริงอันเป็นไปตามมาตรา ๖๖ (๓) กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองนั้นๆ กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จะส่งผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำความผิดนั้นๆ ได้อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องการปฏิรูปการเมือง (Political Reform) ให้มีความโปร่งใสนั่นเอง
       
       อนึ่ง คำว่า “ขัดต่อกฎหมาย” ตามมาตรา ๖๖ (๓) ข้างต้นนั้น ณ ที่นี้หมายถึงการที่พรรคการเมืองดังกล่าวกระทำการอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยตัวบทมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดังกล่าวคือ มาตรา ๔๔ อันมีใจความดังนี้
       “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังนี้
       
       (๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอัน อาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
       
(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษาสถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
       (๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
       (๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
       (๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนน นิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด”
       
       สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาตามข้อกล่าวหาข้างต้นคร่าวๆ นั้นคือ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๖๖ (๒) ข้างต้น นายทะเบียนจะดำเนินการแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากอัยการสูงสุดเห็นสมควรกับความเห็นของนายทะเบียนและพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว อัยการสูงสุดก็จะทำความเห็นต่อนายทะเบียนให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว แต่ถ้าอัยการสูงสุดไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายทะเบียนกล่าวคือ อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะที่นายทะเบียนมีความเห็นให้ยื่นคำร้อง นายทะเบียนจำต้องดำเนินการตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป หากในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเองทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
       
       ทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกบัญญัติไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ผู้เขียนพยายามหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ผู้ติดตามข่าวสารได้ทราบถึงหลักการอย่างชัดเจนและถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วกระบวนการต่างๆ รวมทั้งผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราคงต้องคอยติดตามข่าวสารบ้านเมือง ณ ปัจจุบัน ซึ่งดุเดือดและเข้มข้นกันต่อไปว่าระหว่างพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์พรรคไหนจะถูกยุบกันแน่?
       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544