หน้าแรก บทความสาระ
กระแสพระราชดำรัสบทสะท้อนในการปฏิรูปการเลือกตั้งไทยยุคปัจจุบัน โดย อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
14 พฤษภาคม 2549 23:54 น.
 
จากกระแสของประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการก็ดี หรือจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มอื่นๆ ก็ดี ที่ได้มีการกล่าวหาว่าการจัดการการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นไม่น่าจะโปร่งใสอันส่งผลให้พรรคไทยรักไทยได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับทั้งนักวิชาการเองและผู้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเอง คำถามต่างๆ จึงถูกหยิบยกขึ้นถามไถ่ว่า “เราจะสามารถตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้หรือไม่และอย่างไร?” ประกอบกับได้มีกระแสพระราชดำรัสของพระราชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ตุลาการและผู้พิพากษาอันเกี่ยวข้องกับปัญหาของการเลือกตั้งต่างๆ ณ ปัจจุบันเพื่อให้ตุลาการและผู้พิพากษาน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมเพื่อดำเนินการแก้ไขอีกด้วย ดังนั้น ตามเหตุการณ์ข้างต้นจึงเป็นแรงบันดาลใจอันส่งผลให้ผู้เขียนดำเนินการเขียนบทความฉบับนี้โดยหยิบยกเอาสภาพปัญหาบางประการอันเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและข้อเสนอแนะในฐานะของนักวิชาการคนหนึ่งถึงแม้ว่าอาจจะมิใช่ปัญหาที่พระองค์ท่านทรงกล่าวถึงโดยตรงก็ตามที
       ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันมีเจตจำนงค์เพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง (Political Reform) ของไทยจากแบบเดิมอันแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของสถาบันการเมือง ความไม่โปร่งใสต่างๆ รวมทั้งการขาดซึ่งการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น ส่งผลให้มีการกำหนดบทบัญญัติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเมืองที่ไม่มีความโปร่งใสเต็มไปด้วยการทุจริต ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้มีบัญญัติกำหนดให้มีการสถาปนาจัดตั้งองค์กรอิสระ (Independent Agencies) ขึ้นซึ่งเป็นองค์กรที่การดำเนินการนั้นหาได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐไม่ หากแต่แยกเป็นเอกเทศไม่ขึ้นอยู่กับองค์กรรัฐใดๆ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ได้โดยปราศจากการแทรกแซง (Interference) ของรัฐอันส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาเดิมๆ ให้ลดน้อยถอยลงไปได้ไม่มากก็น้อย และหนึ่งในองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินพันธกิจแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั่นก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้งนั่นเอง
       อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นถูกบัญญัติไว้ภายใต้กฎหมายฉบับต่างๆ อาทิเช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ ซึ่งสามารถสรุปได้โดยสังเขปว่าอำนาจหน้าที่โดยหลักของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นคือการดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส (Transparency) และบริสุทธิ์ยุติธรรม ดังนั้น กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ค่อนข้างมากพอสมควรเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการใดๆ ได้โดยเด็ดขาดเพื่อการเลือกตั้งที่ยุติธรรมในท้ายที่สุดนั่นเอง อันจะเห็นได้จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๘๕/๗ ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจในการงดประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หากปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือตามมาตรา ๘๕/๑ ที่บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้งหากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ รวมทั้งตามมาตรา ๘๕/๙ ที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหากปรากฎซึ่งหลักฐานอันเชื่อได้ว่าผู้สมัครนั้นกระทำการใดๆ อันไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง เป็นต้น
       อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นหรือที่เรารู้จักกันดีในวลีที่คุ้นเคยว่าคือการตัดสินให้ใบเหลือง ใบแดง หรือการดำเนินการเพื่อถอดถอนผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดให้ต้องออกจากตำแหน่งหากภายหลังพบว่าบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยวิธีการทุจริตนี้ถือเป็นอำนาจเสมือนหรือกึ่งตุลาการ (Quasi/Semi-Judicial Power) ที่กฎหมายได้มอบให้อย่างเต็มเปี่ยม กรณีจึงเป็นการน่าคิดว่าหากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตัดสินในการให้ใบเหลือง ใบแดง หรือแม้กระทั่งสอยผู้ใดออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ผู้เสียหายซึ่งก็คือ ตัวผู้สมัครที่ถูกดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวสามารถที่จะดำเนินการคัดค้านได้หรือไม่? มีตัวบทกฎหมายใดบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการเยียวยาปัญหาดังกล่าว?
       ตามกรณีข้างต้น หากผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดไม่พอใจกับการตัดสินของคณะกรรมการการเลือกจะต้องดำเนินการอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อองค์กรใดนั้นไม่เป็นที่ปรากฎชัดนัก เนื่องจากกฎหมายหาได้มีการบัญญัติโดยประจักษ์ชัดไม่ว่าองค์กรใดจะเข้ามาเยียวยาปัญหาดังกล่าว มิหนำซ้ำแล้วยังเคยมีความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งถือเป็นเด็ดขาดไม่อาจฟ้องร้องยังศาลใดได้เสียอีก อย่างไรก็ตาม หากท่านผู้อ่านจำได้เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอันส่งผลให้ผู้สมัครผู้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนั้นได้ดำเนินการยื่นคัดค้านต่อองค์กรกล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพื่อการพิจารณาและวินิจฉัยต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยและคำสั่งตามลำดับอันถือเป็นบรรทัดฐานตั้งแต่ครานั้นในทำนองที่ว่ากรณีปัญหานี้มิได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง
       ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลข้างต้น แต่อย่างไรก็ดี จากอุทธาหรณ์นี้ก็มิได้ถือเสมือนเป็นทางตันหรือเป็นกรณีสูญญากาศสำหรับการดำเนินการคัดค้านเพื่อให้มีการตรวจสอบคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นคำสั่งซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล กล่าวคือ ผู้สมัครดังกล่าวสามารถดำเนินการอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลได้ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๘ วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ประกอบกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๑ อันมีใจความว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ดังนั้น จากตัวบทกฎหมายนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหากแม้ว่าทั้งสองศาลอันได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองจะไม่รับพิจารณาคดีว่าด้วยการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวก็ตามแต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นยังคงสามารถดำเนินการยื่นคัดค้านต่อศาลยุติธรรมได้ทั้งนี้โดยการกล่าวอ้างว่าตนเองนั้นถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าการนำข้อพิพาทประเภทนี้ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคดีการเลือกตั้งอันถือเป็นคดีที่โดยสภาพแล้วเป็นคดีอันเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนมาให้ศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการพิจารณาอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมนักหากเปรียบเทียบกับศาลอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองที่เป็นศาลอันประกอบไปด้วยตุลาการซึ่งน่าจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชนและมีความใกล้ชิดกับข้อพิพาทในทำนองดังกล่าวมากกว่าศาลยุติธรรมเนื่องด้วยระบบการคัดเลือกตุลาการของศาลและเรื่องของเขตอำนาจศาลเอง
       ดังนั้นจากการวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความชำนาญการของผู้วินิจฉัยตัดสินคดีเลือกตั้ง ผู้เขียนจึงขอใคร่เสนอแนะให้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองนั้นมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด กล่าวคือ ไม่ใช่แต่กรณีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้ใบเหลือง ใบแดง และการสอยออกจากตำแหน่ง หากแต่ครอบคลุมถึงการกระทำใดๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด อาทิ การมีคำสั่งหรือการดำเนินกิจการต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ยอมให้มีการตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวหรือระบบการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพแล้วอาจเป็นช่องทางในการดำเนินการทุจริตต่างๆ ได้ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระหาใช่หน่วยงานของรัฐอันจะสามารถถูกตรวจสอบได้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เคยวินิจฉัยไว้ในอดีตนั้นคงจะเป็นการไม่ถูกต้องและเหมาะสมนัก
       ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะไม่ขอเสนอแนะว่าจะให้คดีเลือกตั้งดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาล (Jurisdiction) ของศาลใดระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง หรือแม้แต่กระทั่งให้คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลเลือกตั้งที่อาจจะจัดตั้งขึ้น เนื่องจากว่ายังเป็นประเด็นถกเถียงในทางวิชาการกันอยู่พอสมควร หากแต่เพียงต้องการให้มีองค์กรใดๆ ในการถ่วงดุลตรวจสอบคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระได้เท่านั้น อีกทั้งจะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติหรือบรรทัดฐานต่อไปสำหรับการดำเนินการตรวจสอบซึ่งองค์กรอิสระอื่นๆ อาทิเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องมาจาก คำว่า “องค์กรอิสระ” หาได้มีความหมายว่าจะต้องอิสระอย่างแน่แท้จนกระทั่งไม่สามารถที่จะถูกตรวจสอบได้ไม่ เพราะในโลกนี้คงจะไม่มีองค์กรใดภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy) ที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้เลย หากองค์กรอิสระใดเป็นอิสระอย่างแน่แท้ก็คงมิได้ผิดแผกแตกต่างจากคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่กุมอำนาจไว้โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอันเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความเป็นเผด็จการ (Dictatorship) นั่นเอง
       ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความห่วงพระราชหฤทัยต่อการเมืองการปกครอง ณ ปัจจุบันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่พระองค์ทรงตรัสคือการเลือกตั้ง ผู้เขียนจึงใคร่ขออัญเชิญพระราชดำรัสบางส่วนที่พระองค์ทรงพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันมีใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งว่า “ในเวลานี้ เราให้พูดเรื่องการเลือกตั้ง ศาลเองมีสิทธิที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งคนเดียวซึ่งมีความสำคัญคือว่า ถ้าไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับพวกท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกันเพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ดำเนินการไม่ได้ แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณไว้เมื่อกี้นี้ก็เป็นหมัน ที่บอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ ถ้าท่านทำงานไม่ได้ ท่านก็อาจจะต้องลาออก ไม่มีทางแก้ ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ เขาก็จะบอกว่า ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ไม่ใช่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง ก็เลยขอร้องท่าน อย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้ อีกข้อหนึ่งคือ การที่จะบอกว่า จะมีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้อง ก็จะต้องแก้ไข แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้ง เป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งท่านจะมีสิทธิ ที่จะบอกว่า อะไรที่ควรหรือไม่ควร...”
       
นับเป็นช่วงเวลาอันควรยิ่งแล้ว ณ ปัจจุบัน สำหรับการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของประเทศไทยทั้งนี้เนื่องมาจากได้มีการกำหนดถึงมาตรการในการปฏิรูปการเมืองไทยไว้ในอนาคตอันใกล้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ จะได้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งล่าสุดได้มีการประชุมหารือกันของประมุขแห่งศาลทั้งสามอันได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองเพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของการเมืองในขณะนี้ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี นอกเหนือจากองค์กรในการตรวจสอบอื่นอาทิเช่นวุฒิสภาแล้ว ศาลนับเป็นองค์กรที่สำคัญมากอีกองค์กรหนึ่งในการดำเนินการตรวจสอบการกระทำหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เนื่องจากศาลถือเป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือต่อประชาชนมากที่สุดหากเปรียบเทียบกับองค์กรตรวจสอบอื่นๆ ดังนั้น ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอประเด็นดังกล่าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการพิจารณาและแก้ไขไปด้วยในคราวเดียวกันทั้งนี้เพื่อที่จะได้กล่าวได้ว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยเรานั้นเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมปราศจากการทุจริตใดๆ การตรวจสอบในวงการเมืองต่างๆ มีกลไกที่มีประสิทธิภาพไม่เป็นหมันรวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้ประเทศจำต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองการปกครองเยี่ยงปัจจุบันอีก สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการยกระดับการเมืองการปกครองของไทยภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขให้เทียบเท่ากับนานาอารยประเทศในท้ายที่สุด


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544