หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 133
30 เมษายน 2549 20:39 น.
ครั้งที่ 133
       สำหรับวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2549
       
       "รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลา (1)"
       
       เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศของความสับสนวุ่นวายในการ “หาทางออกทางการเมือง” ด้วยวิธีต่าง ๆ หลาย ๆ คนคงรู้สึก “สบายใจ” ขึ้นหลังจากได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีกับประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกาเมื่อเย็นวันอังคารที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีขึ้นเพื่อเตือนสติคนไทย และเพื่อให้คนไทยช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหาที่ยังค้างคาอยู่และเป็น “วิกฤติ” ของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้ว ทางออกของปัญหาการเมืองในบ้านเราจะเป็นอย่างไร
       ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้เมื่อตอนเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน ขณะเขียนบทบรรณาธิการก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเพราะศาลทั้ง 3 นัดประชุมร่วมกันในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ผู้ที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายรัฐบาล และผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายต่างก็ออกมาให้ความเห็นกันมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการ “แปลความ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในทิศทางที่เข้าข้างตัวเองหรือเพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ
       ในส่วนตัวของผมนั้น ผมมองว่าพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็น “แนวทาง” ที่เป็นกลางมาก เพราะมีนัยสำคัญอยู่ที่ “ความต่อเนื่องของรัฐ” เป็นหลัก ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำให้ประเทศประสบปัญหาหลายประการและนอกจากนี้ก็ยังทำให้กลไกและกระบวนการสำคัญในการบริหารประเทศ “ติดขัด” และก่อให้เกิดปัญหาที่ “ไม่มีทางออก” จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและในด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานของ “รัฐ” มีความต่อเนื่องและเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จึงเป็นหน้าที่ของ “ผู้เกี่ยวข้อง” ที่จะร่วมกันหาทางออก ไม่ใช่ “ผลักภาระ” ในการหาทางออกให้กับพระมหากษัตริย์
       ผมเข้าใจต่อไปอีกว่า การให้ “ฝ่ายตุลาการ” เป็นผู้หาทางออกก็เพราะในเวลานี้ เราไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารก็ยัง “รักษาการ” กันอยู่ และนอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเองก็เป็น “ผู้เกี่ยวข้อง” กับปัญหาที่เกิดขึ้นและในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็ได้ลองหาทางออกกันดูหลายทางแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จและไม่ได้รับการยอมรับจาก ทุก ๆ ฝ่ายซึ่งจุดสำคัญของการไม่ได้รับการยอมรับก็คือ การขาดความไว้วางใจในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ดังนั้น ฝ่ายตุลาการจึงมีความเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาเป็นแกนในการหาทางแก้ปัญหา และนอกจากนี้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็น “ปัญหากฎหมาย” ที่หมายรวมถึงปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมายและปัญหาที่เกิดจากการตีความกฎหมาย “ผิด ๆ” จึงมีความเหมาะสมที่สุดที่จะให้ฝ่ายตุลาการซึ่งล้วนเป็นนักกฎหมายเข้ามาแก้ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น
       ในช่วงวันเศษ ๆ ที่ผ่านมาหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส มีผู้ออกมาให้ความเห็นและมีข้อสังเกตกันหลากหลาย บางรายก็เป็นนักกฎหมาย บางรายก็เป็นนักกฎหมายมหาชน คนเหล่านั้นจำนวนหนึ่งเห็นว่า การที่ฝ่ายตุลาการจะเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศได้ก็จะต้องมีการ “ฟ้องคดี” หรือ “เร่ง” พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอยู่ในการพิจารณาของศาล แถมยังมีคนจากศาลยุติธรรมที่ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้คนมาฟ้องคดีอีกต่างหาก!!! ซึ่งในประเด็นนี้ ผมมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความเห็นข้างต้น หากเราพิจารณาอย่าง “รอบคอบ” และ “กว้าง” มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็อาจเข้าใจได้ว่าเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝากศาลทั้ง 3 ศาลให้ช่วยหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะต้องการให้ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็น “นักกฎหมาย” ที่เป็นกลาง เป็นนักกฎหมายระดับสูงที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่อยู่ภายใต้อาณัติใด ๆ ทั้งสิ้นเข้ามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหามากกว่าครับ ส่วนการที่ทรงให้ศาลยุติธรรมเป็น “แกน” ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ก็น่าจะมาจากการที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหมดเป็น “นักกฎหมาย” ซึ่งแตกต่างจากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการบางส่วนไม่ได้เป็นนักกฎหมาย โดยในการแก้ปัญหาของฝ่ายตุลาการนี้ ผมเข้าใจต่อไปอีกว่าไม่น่าจะจำกัดอยู่เฉพาะการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ทั้งนี้ เนื่องมาจากหากพิจารณาถึงหน้าที่ของศาลทั้ง 3 แล้วจะเห็นว่าศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการพิจารณาข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ ศาลปกครองเองก็เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่มีอำนาจในการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญยิ่งแล้วใหญ่เพราะหากพิจารณาดูเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วไม่พบช่องทางใดเลยที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ ดังนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง “ฝาก” ศาลทั้ง 3 ให้ช่วยกันหาช่องทางในการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศจึงไม่น่าจะเป็นเพียงการให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจตุลาการ(ที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี)เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่คงเป็นเพราะฝ่ายตุลาการที่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นเป็นนักกฎหมายระดับสูงที่มีความเป็นอิสระและไม่อยู่ภายใต้อาณัติใด ๆ ทั้งสิ้น ฝ่ายตุลาการในฐานะที่เป็นนักกฎหมายนี้เอง จึงสามารถเสนอแนวทางที่ดีที่สุดได้ครับ ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดอาจ “มีผล” เป็นการ “แนะนำ” ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการได้โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้ายคือหาทางออกให้กับวิกฤติครั้งใหญ่ของประเทศตามแนวทางของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
โดยมารยาท ขณะนี้ปัญหาข้อขัดแย้งอยู่ใน “มือ” ของฝ่ายตุลาการแล้ว ผมคิดว่าทุกฝ่ายคงต้อง “หยุด” การดำเนินการ “ทั้งหลาย” หรือหยุดการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเอาไว้ก่อนจนกว่าฝ่ายตุลาการจะหาทางออกได้สำเร็จ
       บทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมาเรื่อง “จะปฏิรูปการเมืองกันอย่างไร” ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนค่อนข้างมาก สังเกตจากมีหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์หลายฉบับรวมทั้งรายการวิทยุการเมืองบางรายการนำไปอ้างอิงว่าเป็นการตั้งประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมที่สุดนับแต่มีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา
       ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 20 – วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549 แล้วได้พบบทความน่าสนใจในหน้า 2 คือ บทความเรื่อง “วาระการปฏิรูปการเมือง” ที่เขียนโดยผู้ใช้ชื่อว่า กมล กมลตระกูล บทความดังกล่าวผู้เขียนได้นำเอารัฐธรรมนูญของประเทศเวเนซุเอลาบางมาตรามานำเสนอ ซึ่งผมอ่านบทความดังกล่าวแล้วรู้สึกชอบใจ จึงได้ไปค้นคว้าต่อ ในที่สุด ก็ได้รัฐธรรมนูญของประเทศเวเนซุเอลามาอ่านครับ บทบรรณาธิการคราวนี้ผมเลยขอนำรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง แต่เนื่องจากผมพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากจนผมไม่สามารถเล่าจบได้ในครั้งนี้ จึงขอนำเสนอเท่าที่พื้นที่จะอำนวย ส่วนที่เหลือก็ยกยอดไปนำเสนอในคราวหน้าครับ
       สาธารณรัฐเวเนซุเอลาตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตอนเหนือของอเมริกาใต้ จรดทะเลแคริบเบียน มีประชากรราว 27 ล้านคน เดิมเคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศสเปนมาก่อนและได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1811 หลังจากได้รับเอกราช เวเนซุเอลาผ่านระบบการปกครองมาหลายแบบทั้งเผด็จการพลเรือน เผด็จการทหาร และประชาธิปไตย โดยในปี ค.ศ.1945 หลังจากโค่นล้มเผด็จการผู้ครองประเทศลง ก็มีการตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งพยายามทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้บังคับในปี ค.ศ.1947 เวเนซุเอลาเป็นประชาธิปไตยอยู่ได้ไม่กี่ปีก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกในปี ค.ศ.1953 จากนั้นในปีเดียวกันเวเนซุเอลาก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นมีความผันผวนและเกิดปัญหาในประเทศหลาย ๆ ด้านทั้งปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในปี ค.ศ.1992 มีความพยายามที่จะปฏิวัติถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1998 ภายหลังการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้ขอให้นาย Hugo Chavez นายทหารซึ่งเคยพยายามทำการปฏิวัติเพื่อล้มระบบเผด็จการในปี ค.ศ.1992 ให้เข้ามาร่วมดำเนินการทางการเมืองด้วย ในที่สุด นาย Chavez ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียง 56% และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วก็ได้ทำการปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้เวลาในการจัดทำประมาณ 3 เดือนและประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเมื่อ 15 ธันวาคม 1998
       รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความยาวถึง 350 มาตรา (กับบทเฉพาะกาลอีก 18 มาตรา) เป็นรัฐธรรมนูญที่แม้จะให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างมากก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าเดิม
       
ผมได้อ่านบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลาอย่างกว้าง ๆ แล้วพบว่ามีหลาย ๆ ส่วนที่น่าสนใจและมีบางเรื่องที่อาจนำมาใช้ประกอบ “แนวคิด” ในการเพิ่มกระบวนการหรือมาตรการต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยได้ จึงขอนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ โดยผมเลือกที่จะใช้วิธีนำเสนอสาระสำคัญที่ปรากฏในแต่ละหมวดเพื่อความสะดวกของผู้ที่สนใจจะไปค้นคว้าต่อครับ
       รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลาฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1999 ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จำนวน350 มาตรา ส่วนที่สองเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ จำนวน 1 มาตรา ส่วนที่สามเป็นบทเฉพาะกาลที่มีขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญในการทำให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ จำนวน 18 มาตรา และส่วนที่สี่เป็นบทบัญญัติกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับทันทีในวันประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา ภายหลังจากที่ประชาชนได้ออกเสียงประชามติรับรองแล้ว
       ในบรรดาบทบัญญัติจำนวน 350 มาตรา ที่เป็นส่วนแรกของรัฐธรรมนูญนั้นแบ่งออกได้เป็น 9 หมวดด้วยกัน ซึ่งผมจะขอนำเสนอบทบัญญัติที่น่าสนใจบางมาตราในแต่ละหมวดดังนี้
       หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักพื้นฐานแห่งสาธารณรัฐ เป็นหมวดที่ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 9 มาตรา ที่กล่าวถึง รูปแบบของสาธารณรัฐ วัตถุประสงค์ของสาธารณรัฐ อำนาจอธิปไตย สัญลักษณ์ของประเทศ ภาษา โดยมีมาตราที่น่าสนใจคือ มาตรา7 ที่ได้กล่าวถึง “สถานะ” ของรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสูงสุดและเป็นบทบัญญัติที่ใช้ก่อตั้งองค์กรตามกฎหมาย บุคคลทุกคนและองค์กรทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
       หมวดที่ 2 ว่าด้วยอาณาเขตและการแบ่งเขตการปกครองประเทศ ในหมวดนี้ประกอบด้วยบทบัญญัติจำนวน 9 มาตรา ที่กล่าวถึงอาณาเขตของประเทศและการแบ่งเขตการปกครองประเทศ มีบทบัญญัติที่น่าสนใจหลายมาตรา โดยในส่วนของอาณาเขตนั้นมาตรา 12 บัญญัติว่า แร่ธาตุต่าง ๆ และน้ำมันที่เกิดจากธรรมชาติและอยู่ในอาณาเขตของประเทศ อยู่ใต้ทะเลอาณาเขต อยู่ในพื้นที่ชายทะเลและอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นของประเทศ ถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์หรือทำให้ตกอยู่ภายใต้ภาระผูกพันใด ๆ ได้ ส่วนในมาตรา 13 ก็ได้บัญญัติห้ามการมอบ โอน หรือให้เช่าดินแดนของประเทศไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรให้แก่รัฐอื่นหรือองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งยังได้กำหนดให้น่านฟ้าเวเนซุเอลาเป็นเขตสันติภาพ ห้ามต่างชาติเข้ามาจัดตั้งฐานทัพหรือกองกำลังทางทหาร รัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศมีสิทธิเพียงเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สำหรับใช้เป็นที่ทำการของคณะผู้แทนหรือคณะทูตภายในบริเวณที่กฎหมายกำหนด สำหรับในส่วนของการแบ่งเขตการปกครองประเทศนั้นได้มีการกล่าวถึงไว้ในมาตรา 16 ว่า เพื่อประโยชน์ในการจัดโครงสร้างการบริหารงานของสาธารณรัฐให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อจัดแบ่งโครงสร้างของรัฐออกเป็นระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่น โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องมีบทบัญญัติที่เป็นการรับรองหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจการปกครองด้วย
       หมวดที่ 3 ว่าด้วย หน้าที่ สิทธิ และหลักประกัน
เป็นหมวดที่ยาวหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญเพราะประกอบด้วยบทบัญญัติถึง 116 มาตราและแบ่งออกเป็น 10 ส่วน มีบทบัญญัติที่น่าสนใจจำนวนมากที่ผมขอยกมานำเสนอเพียง 4-5 มาตรา คือ มาตรา 25 บัญญัติว่า บรรดาคำสั่งที่ออกโดยการใช้อำนาจรัฐและฝ่าฝืนหรือทำให้หน้าที่ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรับรองไว้ลดลงไม่มีผลใช้บังคับ เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง แล้วแต่กรณี โดยไม่อาจอ้างได้ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนมาตรา 43 ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิในชีวิตว่าไม่สามารถล่วงละเมิดได้ และกฎหมายก็ไม่สามารถกำหนดโทษประหารชีวิตได้ สำหรับในมาตรา 71 ถึงมาตรา 73 ก็ได้กล่าวถึงสิทธิที่สำคัญมากของประชาชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองด้วยการออกเสียงประชามติไว้ในหลายกรณีด้วยกัน โดยในมาตรา 71 นั้นก็ได้กล่าวถึงกรณีปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาระหว่างประเทศสามารถนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนดำเนินการ (référendum consultatif) ได้โดยข้อเสนอขอให้มีการออกเสียงประชามติของประธานาธิบดีนั้นต้องทำขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือโดยข้อเสนอของเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ หรือโดยการเสนอของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เข้าชื่อกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ส่วนปัญหาสำคัญบางประการของมลรัฐและของท้องถิ่นก็สามารถนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้เช่นกันโดยการที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้นั้นจะต้องมีข้อเสนอจากสภาท้องถิ่นหรือสภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐจำนวน 2 ใน 3 หรือจากข้อเสนอของนายกเทศมนตรี หรือจากข้อเสนอของผู้ว่าการหรือจากข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ด้วยจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง บุคคลดังกล่าวสามารถร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติประเภทเดียวกันคือ การแสดงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อนดำเนินการ (référendum consultatif) ได้ ส่วนในมาตรา 72 ก็ได้บัญญัติถึงเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อถอดถอนบุคคลบางประเภทให้พ้นจากตำแหน่งได้โดยบัญญัติไว้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและตุลาการที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้หลังจากที่ดำรงตำแหน่งไปแล้วเป็นเวลากึ่งหนึ่งของวาระดำรงตำแหน่งที่ตนมีโดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในพื้นที่ที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่สามารถร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้ ส่วนในกรณีถอดถอนบุคคลที่อยู่ในองค์คณะ (les membres du corps) ออกจากตำแหน่งต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดประกอบกัน อนึ่ง การยื่นถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งให้กระทำได้เพียงหนเดียวในรอบวาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น
       นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญยังบัญญัติถึงการออกเสียงประชามติอีกประเภทหนึ่งคือ การออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนร่างกฎหมายในมาตรา 73 โดยกำหนดว่าร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติอาจถูกนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้โดยสมาชิกสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อกันร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติในร่างกฎหมายนั้น หากผลของการออกเสียงประชามติปรากฏว่าร้อยละ 25 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ร่างกฎหมายนั้นก็จะมีผลเป็นกฎหมายทันที ส่วนสนธิสัญญาหรือบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่ออธิปไตยของรัฐหรือมีการถ่ายโอนอำนาจไปยังองค์กรที่อยู่ในระดับสูงกว่ารัฐ (supranationaux) ก็อาจถูกนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้เช่นกันโดยข้อเสนอของประธานาธิบดีที่ต้องทำขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือโดยมติของสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือโดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังมีการออกเสียงแสดงประชามติอีกประเภทหนึ่งคือการออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วซึ่งแยกออกได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีของกฎหมายธรรมดาที่มีผลใช้บังคับแล้วและกรณีของรัฐกฤษฎีกาที่ออกโดยประธานาธิบดีซึ่งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่สามารถนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยมาตรา 74 กำหนดไว้ว่า สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ประธานาธิบดีซึ่งข้อเสนอขอให้เพิกถอนกฎหมายต้องทำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นผู้เสนอขอให้มีการออกเสียงประชามติในกฎหมายนั้น ส่วนรัฐกฤษฎีกาที่มีผลบังคับเช่นกฎหมายและรัฐกฤษฎีกาที่ออกโดยประธานาธิบดีซึ่งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 สามารถเสนอขอให้นำรัฐกฤษฎีกาดังกล่าวมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้ ประชาชนต้องออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ให้เพิกถอนกฎหมายหรือรัฐกฤษฎีกาดังกล่าว จึงทำให้การเพิกถอนมีผล อนึ่ง มาตรา 74 ได้กำหนดห้ามนำเรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อเพิกถอนกฎหมายมาใช้กับกฎหมายสำคัญบางประเภทคือ กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม กฎหมายที่มีบทบัญญัติคุ้มครองหรือเป็นหลักประกันหรือพัฒนาสิทธิมนุษยชนและกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญา นอกจากนี้ การขอให้ทำประชามติเพิกถอนกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งทำได้เพียงครั้งเดียวต่ออายุของรัฐธรรมนูญ
       นอกจากเรื่องประชามติประเภทต่าง ๆ แล้ว ในหมวด 3 ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกหลายเรื่องบัญญัติไว้ เช่น มาตรา 80 ที่บัญญัติถึงการให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุโดยกำหนดให้บำเหน็จของผู้เกษียณอายุจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ มาตรา 127 ที่กำหนดให้การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิและเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน มาตรา 129 ที่บัญญัติให้การดำเนินการจัดทำโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย รวมไปถึงกำหนดมาตรการในการห้ามนำเข้ามาในประเทศซึ่งบรรดาขยะที่เป็นพิษและอันตราย รวมทั้งการผลิตและใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพต่าง ๆ โดยในมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดทำกฎหมายเพื่อวางกฎเกณฑ์ในการใช้ การบรรทุก และการเก็บสารเคมีที่เป็นพิษและเป็นอันตรายด้วย
       ผมคงขอนำเสนอรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลาไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับเพราะไม่เช่นนั้นบทบรรณาธิการนี้ก็จะ “ยาว” และ “หนัก” เกินไป ต้องขอบอกไว้ด้วยว่า ผมแปลด้วยความรีบเร่ง หากผู้ใช้บริการต้องการนำไปใช้อ้างอิง ก็ต้องตรวจสอบจากต้นฉบับจริงก่อนนะครับ เมื่อผมได้อ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเวเนซูเอลาส่วนที่นำมาเสนอข้างต้นนั้นก็พบว่ามีอะไร “ดี ๆ” ที่น่าคิดและอาจนำมาประกอบข้อเสนอของภาคประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นได้ เช่น บทบัญญัติมาตรา 12 และมาตรา 13 ที่มีขึ้นเพื่อ “ปกป้องประโยชน์ของประเทศ” อย่างเต็มที่ซึ่งก็จะมีผลให้ต่างชาติเข้ามา “ฮุบ” สมบัติของประเทศได้ยากขึ้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่เปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกันด้วยจำนวนที่ไม่มากนักเพื่อขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องสำคัญ ๆ ที่กระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติและของชุมชนของตนได้ หรือเพื่อขอให้ออกเสียงประชามติเพื่อถอดถอนตุลาการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ บทบัญญัตินี้ถ้าเมื่อไหร่มีในรัฐธรรมนูญของเราคงได้ใช้กันหลายรอบกับหลายๆ คนนะครับ เพราะเรามีพวก “สีเทา” หรือพวก “ไม่มีความสามารถ” ในองค์กรบางองค์กรที่สมควรจะต้องถูกถอดถอนอยู่มากเหลือเกินครับ!!!
       ในคราวหน้า ผมจะนำเสนอสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาในส่วนที่เหลือต่อไปนะครับ
       เรามีเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอสองเรื่องด้วยกัน ในเรื่องแรกนั้น เนื่องจากผมได้รับเอกสารชิ้นหนึ่งผ่านทาง webmaster@pub-law.net ที่ไม่ระบุชื่อผู้เขียน ผมอ่านดูแล้วเห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยนำเอามาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เป็นเอกสารชื่อ “ประเด็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งทั่วไปใหม่ วันที่ 2 เมษายน 2549 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นอกจากเอกสารนี้แล้ว ผมก็ได้นำเอกสารเรื่อง “หลักการของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 313” ที่จัดทำโดยฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทยมาลงเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับ “ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2” ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์นำไปใช้ในการชูธงปฏิรูปการเมืองอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้แล้ว ผมได้แนะนำหนังสือดี ๆ ด้านกฎหมายมหาชนจำนวน 4 เล่ม ลองเข้าไปดูได้ใน “หนังสือตำรา” ครับ
       เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมได้รวบรวมบทบรรณาธิการที่ผมได้เขียนขึ้นตั้งแต่เริ่มทำ website แห่งนี้จนกระทั่งเปิดดำเนินการครบ 5 ปีไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มาจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยได้รับความอนุเคราะห์การจัดพิมพ์โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครับ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในจำนวนที่ไม่มากนัก แล้วถึงตอนนี้ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าจะแจกอย่างไรดี เอาเป็นว่าใครผ่านมาแถว ๆ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วอยากได้หนังสือ “รวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” ก็แวะมาขอรับได้ที่ผมครับ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศถ้าสนใจกรุณาแจ้งชื่อเพื่อขอจองหนังสือเอาไว้ก่อนโดยแจ้งผ่านทาง webmaster@pub-law.net ครับ



พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544