หน้าแรก บทความสาระ
ประเด็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งทั่วไปใหม่ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
---
30 เมษายน 2549 20:28 น.
 
ข้อเท็จจริง
       กกต. ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ แล้ว ต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๙ จำนวน ๔๐ เขต เป็นการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ จำนวน ๓๙ เขต และเป็นการเลือกตั้งใหม่เนื่องจากไม่สุจริตเที่ยงธรรมตามมาตรา ๘๕/๗ จำนวน ๑ เขต (เขต ๓ จังหวัดสมุทรสาคร) สำหรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ก็จัดให้มีการเลือกตั้งในเขต ๓ จังหวัดสมุทรสาครด้วย
       
       กกต. ได้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายและระเบียบ เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม จึงได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หลังจากได้รับผลการนับคะแนนของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามมาตรา ๗๒ โดย กกต. ได้ประกาศให้ผู้สมัครเป็นผู้สมัครได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จำนวน ๓๘๒ คน เหลือยังไม่ประกาศรับรองผลอีก ๔ เขต และต้องเลือกตั้งใหม่ กรณีที่เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนเดียวได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ๒๐% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก ๑๔ เขต ตามมาตรา ๗๔ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งฯ รวมเป็น ๑๘ เขต ซึ่ง กกต.ประกาศให้เลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ นี้ ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้น กกต.ได้ดำเนินการนับคะแนนและคำนวณหา ผู้ได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๗๖ ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ แล้วปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยมีสัดส่วนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๐๐ คน แต่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศว่าผู้สมัครแบบบัญชีผู้ใดได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       ดังนั้น จึงถือได้ว่า กกต.ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๔๔ , ๑๔๕ และ ๑๖๑ ของรัฐธรรมนูญจนครบถ้วนบางส่วน และต้องดำเนินการอีกต่อไปในการประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและการจัดเลือกตั้งใหม่ใน ๑๔ เขต ซึ่งจากผลการเลือกตั้งทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ๔๐๐ คน และสมาชิกแบบบัญชีรายชื่ออีก ๑๐๐ คน ถือว่า กกต.ได้ดำเนินการครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ทุกประการตามมาตรา ๑๔๔, ๑๔๕ และ ๑๖๑ ของรัฐธรรมนูญแล้ว และหากภายหลังการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบถ้วน จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการดำเนินการ และหากเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. ก็มีอำนาจเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา ๒๖๖ ของรัฐธรรมนูญ
       
       ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ
       
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       

       ๑. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการรับรองและได้รายงานตนต่อสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นต้นไป
       ๒. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้จนกว่าจะปฏิญาณตนตามมาตรา ๑๕๐ ของรัฐธรรมนูญ
       ๓. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
       
       สภาผู้แทนราษฎร
       ๑. กรณีที่ยังไม่เลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ ได้มีการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ๓๘๒ คน แต่ไม่ครบ ๕๐๐ คน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๐/๒๕๔๓ วินิจฉัยว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องมีจำนวนครบถ้วนจึงจะถือว่าเป็นองค์กร แต่ กกต. ยังคงมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบเช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปของวุฒิสภาในปี ๒๕๔๓ ตามมาตรา ๙๘, ๑๔๔, ๑๔๕ และ ๑๖๑ ของรัฐธรรมนูญ
       ๒. กรณีที่มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ แล้ว แต่ไม่สามารถรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบ ๕๐๐ คน กกต.ก็มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบ ยกเว้นในส่วนขององค์ประกอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้มีองค์ประกอบเท่าที่มีอยู่อันเป็นข้อยกเว้นในมาตรา ๑๐๑ ของรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๘, ๑๔๔, ๑๔๕ และ ๑๖๑ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดการเลือกตั้งดังกล่าว โมฆะหรือตกไปหรือใช้ไม่ได้หรือให้เลือกใหม่ทั้งหมดนอกจากเลือกตั้งให้ครบถ้วนเท่านั้น เทียบเคียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่๒๐/๒๕๔๓
       ๓. กรณีที่มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ แล้ว และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบองค์ประกอบ ๕๐๐ คน ยกเว้นในส่วนขององค์ประกอบแบบบัญชีรายชื่อ ต้องดำเนินการตาม มาตรา ๑๔๕ (๕) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๗๘ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งฯ คือ ประกาศผลการเลือกตั้ง แล้วให้รีบดำเนินการแจ้งผลการเลือกตั้งไปยังรัฐสภา และนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา โดยส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา ตามมาตรา ๑๕๙, ๑๖๑, ๑๖๔ และ ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญต่อไป
       
       ประเด็นที่ต้องพิจารณา
       ๑. การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       

       โดยที่การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๖ ที่บัญญัติว่า
       “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
       การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้ง
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”
       
จึงเห็นได้ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงผู้มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรและวิธีการในการยุบสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยกำหนดให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปภายในหกสิบวันมิได้มีการบัญญัติถึงเหตุที่จะตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย ซึ่งเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมักจะเกิดจากกรณีที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาการเมืองอันอาจนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ต่าง ๆ จนการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินไปได้โดยปกติและอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย เหตุแห่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงมีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง ที่มิได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ได้กระทำโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นแล้ว
       
       ๒. การกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       ตามมาตรา ๑๑๖ ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไปภายในหกสิบวัน และต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดให้ วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นเวลา ๓๗ วัน นับจากวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (คือวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙) อยู่ในกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับเหตุผลที่กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งปรากฏตามคำแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ว่า รัฐบาลได้หารือกับประธานกรรมการการเลือกตั้งแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน แต่ในความเป็นจริงคณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมที่จะดำเนินการเลือกตั้งตั้งแต่วันครบสามสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเร็ว นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังได้แจ้งถึงเหตุอื่นประกอบด้วย เช่น จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั่วไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและการเตรียมพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ด้วย ดังนั้น การกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
       
       ๓. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       

       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๐๐ คนมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน ดังนั้น การเลือกตั้งจึงมี ๒ ประเภท คือ การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
       ๓.๑ การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน ๑๐๐ คน มีประเด็นพิจารณาว่า หากไม่ครบ๑๐๐ คน จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๗ กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ถ้าเห็นว่าถูกต้องให้ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น และห้ามมิให้มีการถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พรรคไทยรักไทยได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคจำนวน ๑๐๐ คน และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับบัญชีรายชื่อนั้นไว้และได้ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการสมัครคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว และได้ประกาศให้บัญชีรายชื่อนั้นเป็นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว การถอนสมัครรับเลือกตั้งย่อมกระทำไม่ได้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ประกอบกับก่อนวันเลือกตั้งก็ไม่ปรากฏว่าศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยได้คะแนนสูงสุด จึงถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อทั้ง ๑๐๐ คน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนี้จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า
       “ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้อายุระหว่างสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง ๑๐๐ คน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”
       
       
๓.๒ ประเด็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน ๔๐๐ คน หากได้จำนวนไม่ครบ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       กรณีเขตเลือกตั้งบางเขตที่มีผู้สมัครคนเดียวได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา ๗๔ กำหนดว่า “ในเขตเลือกตั้งใด หากมีผู้สมัครคนเดียวและได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ๒๐ % ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีบางเขตที่มีผู้สมัครคนเดียวและได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของจำนวน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นไปตามข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว
       
       ๓.๓ การจัดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนหันหน้าเข้าหลังคูหาการเลือกตั้งเพื่อลงคะแนน จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม บัญญัติให้การเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนมาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยตนเองตั้งแต่ขั้นตอนการแสดงหลักฐานเพื่อใช้สิทธิลงคะแนน จนถึงการนำบัตรเลือกตั้งใส่ลงในหีบบัตรด้วยตนเอง ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นกรณีการจัดให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับแล้วประกอบกับตามกฎหมายดังกล่าวก็มิได้มีบทบัญญัติถึงวิธีการจัดคูหาเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไว้แต่อย่างใด นอกจากนี้การที่จัดคูหาโดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนหันหน้าเข้าหลังคูหาการเลือกตั้ง ก็เป็นเพียงวิธีการในการตรวจสอบมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งเท่านั้น และการดำเนินการดังกล่าว แม้บุคคลอื่นที่อยู่ด้านหน้าคูหาเลือกตั้งจะมองเห็นตอนที่ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่ก็ไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนให้แก่ผู้ใด คงได้เพียงแต่การคาดคะเนเท่านั้น
       
       ๔. อำนาจศาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งในการวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาการเลือกตั้ง
       โดยที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจนแล้ว เช่น
       
       ๔.๑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมาตรา ๑๔๕ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายประการด้วยกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นอำนาจเด็ดขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
       
       ๔.๒ ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย
       สูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งองค์กรที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติของกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่งในการวินิจฉัยในเรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรที่จะนำเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย” นอกจากนี้ยังอาจเสนอผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับหรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา ๑๙๗(๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”
       
       ๔.๓ ศาลปกครอง รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๖ กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชนซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอำนาจของศาลปกครองประการหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ อำนาจในการวินิจฉัยการกระทำของกรรมการการเลือกตั้งที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด
       
       ๔.๔ ศาลยุติธรรม มีอำนาจวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในส่วนของการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น เมื่อกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรไว้อย่างชัดเจน การวินิจฉัยปัญหาในแต่ละปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้ง ก็ได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว
       
       ๕. กรณีที่จะขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งทั่วไปโมฆะหรือไม่ชอบหรือให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ ทำได้หรือไม่
       ๕.๑ การเลือกตั้งทั่วไปใหม่เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ
       (๑) มาตรา ๑๑๕ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
       (๒) มาตรา ๑๑๖ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยุบสภาโดยตราพระราชกฤษฎีกา
       
       ๕.๒ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นโมฆะ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ด้วยเหตุใด ๆ ไว้เลย บัญญัติไว้แต่เพียงให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
       
       ๕.๓ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้บุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นโมฆะหรือไม่ชอบหรือให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่
       
       ๕.๔ พระราชกฤษฎีกายุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่จะยกเลิกหรือจะเปลี่ยนแปลงใหม่ได้หรือไม่
       (๑) พระราชกฤษฎีกาโดยทั่วไปที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้
       (๒) พระราชกฤษฎีกายุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ตามมาตรา ๑๑๖ ของรัฐธรรมนูญเป็นพระราชกฤษฎีกาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะต่างจากพระราชกฤษฎีกาทั่วไป มีลักษณะดังนี้
       - เป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญของอำนาจอธิปไตยของชาติ คือ ให้องค์กรผู้ใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติสิ้นสุดลง
       - ให้มีการเลือกตั้งผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือ สภาผู้แทนราษฎรใหม่
       - ให้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
       - ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้ตัดสินปัญหาประเทศโดยการเลือกตั้ง
       - ต้องใช้บุคคลในการดำเนินการและงบประมาณจำนวนมาก
       (๓) ผลกระทบในทางกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินจะเกิดขึ้นมากมาย
       สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีที่สิ้นสุดลง ต้องกลับมาสถานะเช่นเดิม การกระทำที่ทำไปขณะยุบสภาถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น นับว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้
       
       การที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ทั้งเหตุผลและเงื่อนไข ตลอดจนผู้มีอำนาจสั่งให้ยกเลิกและให้ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ด้วย ประกอบกับไม่เคยมีประเพณีในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ การที่จะสั่งให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นโมฆะหรือไม่ชอบหรือมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จึงกระทำมิได้
       
       

       _____________


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544