ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 โดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ร่าง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)
พุทธศักราช...
...............................
.....................................................
................................
...................
..............................................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
..............................................................................................................................................................
มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่
) พุทธศักราช
มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๓ การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง มาตรา ๓๑๓/๑ ถึงมาตรา ๓๑๓/๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
"หมวด ๑๓
การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง
มาตรา ๓๑๓/๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกชื่อว่า คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน 7 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวนห้าคน ได้แก่
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี สองคน
(2) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา หนึ่งคน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายชื่อสองคน โดยคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และอีกคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
(ก) ประเภทที่สอง ได้แก่ กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีจากผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวนสองคน
ให้มีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติหนึ่งคนและรองประธาน
หนึ่งคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยการถวายชื่อโดยประธานองคมนตรีตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี
การถวายรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยผ่านประธานองคมนตรี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ใช้บังคับ
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการการแต่งตั้งประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ตามวรรคหนึ่ง (ก) (3) หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น และ พรรคการเมืองฝ่ายค้าน หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมิใช่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล
มาตรา ๓๑๓/๒ บุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
และภายในสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ห้าม มิให้บุคคลดังกล่าวสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมือง
มาตรา ๓๑๓/๓ คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการออกเสียงเป็นประชามติ ตามมาตรา ๓๑๓/๑๒ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
การยกร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ กระทำโดยมีเจตจำนงที่จะปฏิรูปการเมือง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีระบบสถาบันการเมืองซึ่งมีประสิทธิภาพและใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ ที่มีการจัดรูปแบบองค์กร ระบบความรับผิดชอบ และมีวิธีพิจารณาหรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้
มาตรา ๓๑๓/๔ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมตลอดถึงให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา และหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว
มาตรา ๓๑๓/๕ ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองเลขานุการของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๑๓/๖ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระแรก พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญโดยสังเขป โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องชี้แจงอธิบายโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ และอธิบายให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่างๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ และสาระสำคัญอย่างอื่น ที่จำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนควรจะได้รับรู้
มาตรา ๓๑๓/๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๖ และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้
สภาทั้งสองพิจารณาและให้ความเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๓/๘
(2) จัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและ
จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
มาตรา ๓๑๓/๘ ในการพิจารณาและให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในร่างรัฐธรรม
นูญ ให้จัดทำเป็นบันทึกที่มีการกำหนดประเด็นและความเห็นที่ชัดเจน ประกอบด้วยการให้เหตุผลในทางวิชาการและในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งระบุอุปสรรคและเหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นหากมีหรือคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้
ในการให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดทำเป็นบันทึกโดยแยกความเห็นและข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และอีกฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
ในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคก่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมให้ความเห็นโดยอิสระตามมโนธรรมของตน โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติและมติของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ดำเนินการให้แล้วเสร็จและจัดส่งบันทึกดังกล่าวให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการ
มาตรา ๓๑๓/๙ ให้คณะกรรมการการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๖ เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ และบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามมาตรา ๓๑๓/๘ ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนความเห็นและข้อเสนอของสมาชิกของสภาทั้งสอง และให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไปในลักษณะของการจัดทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นสาธารณะ
มาตรา ๓๑๓/๑๐ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๓๑๓/๘ และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา ๓๑๓/๙ แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทำการยกร่างรัฐธรรมนูญสำหรับการลงประชามติตามมาตรา ๓๑๓/๑๒ พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๑๓/๖ วรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติระบุด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีกฎหมายสำคัญซึ่งกำหนดให้ตราเป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องใดบ้าง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดจะมีหลักการและสาระสำคัญอย่างใด และให้ระบุด้วยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดมีความจำเป็นหรือเหมาะสม จะต้องตราขึ้นตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๓/๑๖ ถึงมาตรา ๓๑๓/๑๘ เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๑๓/๑๑ ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเห็นว่า หลักการสำคัญตามร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น อาจมีทางเลือกที่เหมาะสมได้หลายทาง คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อการรับฟังความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
ในการจัดทำประชามติเพื่อการรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีการกำหนดประเด็นที่คณะกรรมการเสนอขอความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ชัดเจน และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจในประเด็นที่ขอความเห็นตามความเหมาะสม
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๓/๑๒ วรรคสองมาใช้บังคับ และให้เผยแพร่เอกสารตามวรรคสองเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงลงประชามติ
มาตรา ๓๑๓/๑๒ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้จัดทำขึ้น ภายในกำหนดอย่างช้าไม่เกินสิบแปดเดือน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ใช้บังคับ
การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการจัดทำประชามติ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงประชามติ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๑๓/๑๙
ให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงประชามติ
มาตรา ๓๑๓/๑๓ ในการออกเสียงลงประชามติ หากเสียงข้างมากของการลงประชามติไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้เป็นอันสิ้นสุดลง
ในกรณีที่มีผู้ออกเสียงประชามติมีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของประเทศ ให้การออกเสียงประชามตินั้นไม่มีผล และให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน
มาตรา ๓๑๓/๑๔ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการร่วมกัน และประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
มาตรา ๓๑๓/๑๕ เพื่อประโยชน์ในการให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ มีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบังคับใช้ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด (หนึ่งร้อยแปดสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(๒) ให้สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาตามที่มีอยู่ในขณะนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนด(เก้าสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๑๓/๑๖ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นหรือเหมาะสมจะต้องตราขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำประชามติ ให้เสร็จสิ้นโดยมิชักช้า และต้องไม่ช้ากว่า(หกสิบวัน) นับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ และในการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ถือตามแนวของหลักการและสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ
ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการ
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๓/๘ วรรคหนึ่งถึงวรรคสามมาใช้บังคับ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา จัดส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการภายในกำหนด (หกสิบวัน) นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายจากคณะกรรมการ
พร้อมกันนี้ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดพิมพ์เผยแพร่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
มาตรา ๓๑๓/๑๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา ๓๑๓/๑๖ แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดทำร่างกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปประกาศให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายพร้อมกับรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔
มาตรา ๓๑๓/๑๘ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นตามมาตราก่อน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๑๓/๑๙ และให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔
มาตรา ๓๑๓/๑๙ พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามความในหมวดนี้ ให้ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๓๑๓/๒๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
มาตรา ๓๑๓/๒๑ เมื่อรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ย่อมสิ้นสุดลง"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
.............................................
นายกรัฐมนตรี
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|