คำอภิปรายของ รศ.สมยศ เชื้อไทย ในการเสวนาเรื่อง ผ่าทางตันวิกฤตรัฐธรรมนูญ |
|
|
|
รศ.สมยศ เชื้อไทย นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
คำอภิปรายของ รศ.สมยศ เชื้อไทย
นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในการเสวนาเรื่อง ผ่าทางตันวิกฤตรัฐธรรมนูญ
รายการสโมสร ส.น.ธ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2549
ความเป็นมาของวิกฤตในทางการเมืองขณะนี้เป็นผลมาจากการเรียกร้องให้นายกทักษิณลาออกเนื่องจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปที่สะท้อนให้เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในกรณีนี้ส.ว.แก้วสรรกับพวกพยายามใช้วิธีการตรวจสอบตามกติกาของรัฐธรรมนูญโดยการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ปิดประตูไม่ยอมรับเรื่องไว้วินิจฉัย ในขณะเดียวกันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็พยายามเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาตรวจสอบ แต่ในที่สุดก็ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรใช้อำนาจยุบสภาหนีการตรวจสอบ ซึ่งรวมทั้งการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คน เพื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวน อันจะนำไปสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง
มีปัญหาว่าการยุบสภาครั้งนี้ถูกต้องตามหลักการของระบบรัฐสภาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร
การยุบสภาว่าโดยหลักการของระบบรัฐสภาเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เพื่อแก้ปัญหาในกรณีขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา หรือปัญหาของสภาผู้แทนราษฎร เพราะการยุบสภานั้นมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งทั้งหมดก่อนครบกำหนดอายุของสภา และต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่
แต่ปรากฏว่าการเลือกตั้งใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดมากทำให้เกิดข้อสงสัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจยุบสภาเพื่อใช้การเลือกตั้งฟอกตัวเองให้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
จึงเห็นได้ว่าการยุบสภาเป็นเกมส์การเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ต้องการหนีการตรวจสอบว่ามีการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ และทำให้ประชาชนหลงประเด็น เพราะประเด็นมิใช่การกล่าวหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโกงการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้แต่ไม่มีหลักฐาน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ หรือมีการใช้อำนาจโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ซึ่งการแก้ปัญหาในประเด็นนี้ต้องใช้กระบวนการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเห็นอยู่แล้วว่าถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตนจะชนะการเลือกตั้งเพราะประชาชนจำนวนมากเสพติดนโยบายประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องดำเนินการต่อไป แต่เกิดอุบัติเหตุระหว่างทางเพราะเกิดการประท้วงของอดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้พรรคไทยรักไทยต้องแก้เกมส์โดยให้พรรคการเมืองเล็กๆอื่นส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้ เพราะมองเห็นอยู่แล้วหากพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครส.ส.เพียงพรรคเดียว การเลือกที่เกิดขึ้นจะไม่ชอบธรรม เพราะไม่มีผู้เข้าแข่งขัน ไม่เป็นการเลือกตั้งที่แท้จริง แต่โดยข้อเท็จจริงพรรคเล็กๆอื่นไม่อยู่ในสภาพที่จะลงแข่งขันได้ เพราะปกติพรรคเล็กๆเหล่านั้นก็แทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นพรรคไทยรักไทยจึงต้องพยายามสนับสนุนให้พรรคเหล่านั้นส่งผู้สมัครลงแข่งขันให้ได้ ซึ่งปรากฏว่ามีปัญหาหลายกรณีสะท้อนให้เห็นความพยายามดังกล่าว และเป็นที่ประจักษ์ว่าในเขตเลือกตั้งจำนวนมากที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวพรรคเดียว สภาพการณ์ดังกล่าวได้ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 กลายเป็นการรับรองตัวบุคคลที่เรียกว่า Plebisite แม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็กล่าวย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการรับรองตัวเขาให้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งจึงจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำอย่างชัดเจนว่ามีเจตนาในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการรับรองพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ จึงไม่ใช่การเลือกตั้ง เพราะไม่มีการเลือกระหว่างคนหลายคนหรือหลายพรรคหรือหลายนโยบาย การรับรองตัวบุคคลหรือ Plebisite นั้นนิยมใช้อยู่ในประเทศเผด็จการพลเรือนโดยผู้นำเผด็จการเหล่านั้น เมื่ออยู่ครบวาระก็จะกำหนดให้ประชาชนลงคะแนนรับรองว่าเขาควรจะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ โดยไม่มีคู่แข่งขัน ประชาชนจึงไม่มีโอกาสเลือกทั้งตัวบุคคลและนโยบาย
นอกจากนั้นยังเห็นได้ว่าหากการเลือกตั้งดำเนินต่อไปก็จะเป็นปัญหาให้ต้องเลือกตั้งใหม่หลายๆครั้งก็ได้ เพราะผู้สมัครได้คะแนนไม่ถึง20% ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมิใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง และมีอุปสรรคกระทบต่อการดำเนินการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จ คือบรรลุวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งได้
เมื่อการเลือกตั้งไม่ครบองค์ประกอบแล้ว หากขืนให้มีการเลือกตั้งต่อไปก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ สูญเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการที่คาดเห็นชัดเจนและไม่อาจแก้ปัญหาที่มีเหตุมาจากเหตุส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ แต่จะกลายเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นวิกฤติระบอบการปกครองประเทศทั้งระบบ ซึ่งจะกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐหรือนัยหนึ่งเป็นความมั่นคงของรัฐ กรณีนี้จึงเป็นปัญหาที่เลยพ้นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว การใช้อำนาจแก้ไขปัญหานี้ในทางหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประมุขของรัฐทุกรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้นจะมีรูปแบบการปกครองแบบใดก็ตาม จึงไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา7 ซึ่งเป็นกรณีอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและโดยหลักการต้องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป
โดยสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริงเป็นวิธีการรับรองตัวบุคคล หากคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการต่อไปจะกลายเป็นวิกฤติของระบอบการปกครองประเทศ
กรณีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจตามมาตรา144ประกอบมาตรา145ที่จะพิจารณาว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกได้ เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่ครบองค์ประกอบเป็นการเลือกตั้งที่แท้จริง
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เห็นได้ชัดเจนว่าการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะการปฏิรูปการเมืองนั้นจะเกิดขึ้นโดยองค์กรที่เป็นกลางและจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งองค์กรดังกล่าว ดังนั้นการมีสภาผู้แทนราษฎรโดยการเลือกตั้งที่เป็นปัญหาและมีสมาชิกมาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะชนะการเลือกตั้ง เพราะไม่มีคู่แข่งขันกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งๆที่ยังไม่อาจแก้ข้อกล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจบิดเบือนรัฐธรรมนูญ มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดทำให้กลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญพิการ ซึ่งเป็นที่มาของข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองมาตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้ว
จึงเห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปการเมืองที่ทุกฝ่ายหวังจะให้เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่ได้ ทำให้วิกฤติของระบบการเมืองยังดำรงอยู่ต่อมีผลกระทบต่อสังคมเกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมจนประชาชนแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การประกอบธุรกิจด้านต่างๆหยุดชะงักงัน ในทางการเมืองรัฐบาลไม่อาจใช้อำนาจบริหารราชการตามปกติได้ เพราะมีการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวางเป็นลำดับและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยไม่มีใครมองเห็นทางแก้ไข นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินทั้งระบบ เป็นภาวะที่คุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐหรือความมั่นคงภายในของประเทศ เพราะกลไกการบริหารทั้งระบบดำเนินไปไม่ได้ นี่คือ วิกฤติที่แท้จริง
ดังนั้นวิกฤติในครั้งนี้จะพิจารณาเทียบเคียงจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2516 หรือเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนถูกมีดบาดเป็นแผลฉกรรจ์ แต่ในกรณีนี้ที่เป็นวิกฤติที่มีช่วงเวลาและค่อยๆพัฒนาไปจนคาดเห็นได้ว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเปรียบเสมือนคนถูกยาพิษ ซึ่งอาการจะไม่เห็นชัดเจนในตอนแรกแต่ค่อยๆสำแดงอาการจนเห็นได้ว่าจะถึงแก่ความตายได้ จึงเป็นวิกฤติที่ใกล้จะถึงซึ่งสามารถคาดเห็นได้ไม่ต้องรอจนเกิดความรุนแรงหรือความตาย กรณีวิกฤติครั้งนี้จึงเลยพ้นจากมาตรา7 และเลยพ้นจากปัญหาการเมือง เพราะมิใช่การขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง แต่เป็นการขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในชาติซึ่งอาจกลายเป็นสงครามการเมืองได้หรือภาวะการจราจลไร้ระเบียบ จึงไม่อาจใช้กฎเกณฑ์กติกาตามรัฐธรรมนูญมาแก้ไขได้ แต่เป็นกรณีต้องใช้หลักรัฐธรรมนูญทั่วไปหรือหลักกฎหมายทั่วไปทางกฎหมายมหาชนที่เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อรักษาการดำรงอยู่ของรัฐหรือ Act of State จึงเป็นกรณีที่องค์พระประมุขจะทรงวินิจฉัยได้เองว่าจะทรงใช้อำนาจพิเศษนี้เมื่อใด
กล่าวโดยสรุป การผ่าทางตันของวิกฤติครั้งนี้ต้องใช้อำนาจพิเศษของประมุขแห่งรัฐ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายธรรมดาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติซึ่งกลไกตามรัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่เป็นสถานการณ์พิเศษที่เป็นวิกฤติของชาติจนไม่อาจใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญตามปกติมาแก้ไขได้
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|