ท้ากสิน....ออกไปกับท้ากสิน.....สู้ สู้ ;มิติใหม่ของวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์แก่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรฯที่เรียกร้องนายกฯพระราชทาน ฝ่ายทักษิณที่ยืนยันในความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือฝ่ายที่ทั้งไม่เอาทักษิณและก็ไม่เอานายกฯพระราชทาน ที่ต่างก็มีความวิตกกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมาไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม
แต่ผมกลับมองโลกในอีกด้านหนึ่งว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเลวร้ายกำลังเกิดขึ้นนี้กลับเกิดโอกาสในวิกฤติคือสิ่งที่เรียกว่าความเจริญงอกงามในด้านแวดวงวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายต่างพลิกตำราอธิบายลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนการเสนอความเห็นต่อสาธารณะกันแทบไม่ทัน บางรายถึงกับฉีกตำราเก่าทิ้งไปเลยก็มี เพราะไม่คาดคิดว่ารัฐบาลที่มีเสียงในสภาถึง 374 เสียง จะยุบสภาทิ้งเสียดื้อๆทั้งๆที่บอกว่าไม่ยุบๆ หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ยุบ ยุบเมื่อใดจะบอกก่อน ฯลฯ
พอยุบสภาแล้วก็นึกว่าหัวหน้าพรรครัฐบาลจะรับข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการลงสัตยาบันเพื่อหาทางออกให้ฝ่ายค้านมาลงเลือกตั้งแล้วปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรฯเหี่ยวแห้งตายไปกลับไม่ทำ จนเป็นเหตุให้ฝ่ายค้านต้องประท้วงด้วยการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งก็นอกเหนือจากการวิเคราห์หรือการคาดเดาของนักรัฐศาสตร์อีกนั่นแหละ และก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีผู้สมัครพรรคเดียวในแต่ละเขตถึง 271 เขตจากทั้งหมด400เขต และบางเขตไม่มีผู้สมัครเลยเพราะถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งคราวที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อได้ว่าสภาผู้แทนฯที่จะได้มาหลังจากการเลือกตั้ง 2 เม.ย. นี้คงเป็นสภาโจ๊กยิ่งกว่าที่กำลังโด่งดังในทีวีอย่างแน่นอน
ความตื่นตัวในด้านวิชาการรัฐศาสตร์เกี่ยวกับกรณีศึกษาของประเทศไทยในเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ มิได้มีเฉพาะในแวดวงการศึกษารัฐศาสตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังกระจายออกไปในวงกว้างเพราะไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายครองเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภาอย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งมีทุนหนุนหลังอยู่อย่างมหาศาลแต่กลับไม่สามารถปกครองประเทศได้ มิหนำซ้ำยังถูกเดินขบวนขับไล่เสียอีก
ก่อนที่จะกล่าวว่าเหตุใดกรณีนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เราต้องมาทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่ารัฐศาสตร์เสียก่อน จริงๆ แล้วคำว่ารัฐศาสตร์มาจากคำว่า Political Science ซึ่งคำว่า science แปลว่าศาสตร์หรือวิชาการ ส่วน politics หมายถึง การเมืองซึ่ง สืบเนื่องมาจากภาษากรีกว่า polis ที่แปลว่าเมืองนั่นเอง ฉะนั้น รัฐศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์ของการเมือง (Science of Politics) นั่นเอง
การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การศึกษาระบบการเมือง หรือกระบวนการทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการบริหารงานภาครัฐ มากกว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในอย่างที่เน้นไปในแง่ขององค์การต่าง ๆ เช่น รัฐบาล รัฐธรรมนูญ ฯลฯ เหมือนในอดีต ที่ผ่านมา ดังนั้น นักรัฐศาสตร์ในปัจจุบันจึงมักศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่ม องค์กร และสถาบันต่างๆที่พยายามแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลในการใช้อำนาจของรัฐ
อย่างไรก็ตามในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะเน้นหนักในการให้ความสำคัญของรัฐ แตกต่างกันไป ในสมัยกรีกให้ความสำคัญกับศีลธรรมจรรยา ในขณะที่สมัยโรมันพูดถึงรัฐในความหมายของการรวมกันของสังคมที่ยอมรับในสิทธิซึ่งกันและกัน นักบุญออกัสตินพูดถึงรัฐในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ อาณาจักรของพระเจ้า ส่วนนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่มองอำนาจในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐ เพราะการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจเพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร ตามที่ ลาสเวลล์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้ว่าไว้
วกกลับมาถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษารัฐศาสตร์ อาทิ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการก่อกำเนิดของรัฐก็อธิบายได้หลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Divine Theory) ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract Theory) ทฤษฎีพลกำลัง (Force Theory) ทฤษฎีธรรมชาติ (Natural Theory) ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) ฯลฯ และทฤษฎีอื่น ๆ อีกมากมายที่นำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง
แต่ทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์การเมืองการปกครองของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกก็คือ ทฤษฎีวงจรอุบาทว์ของชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่พูดถึงการปฏิวัติรัฐประหารแล้วตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแล้วก็วกไปที่การปฏิวัติรัฐประหารอีกไม่รู้จบ ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเรียกว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่อธิบายการเมืองการปกครองไทยว่า คนชนบทเป็นผู้ตั้งรัฐบาลแต่คนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 นั่นเอง
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถนำทฤษฎีทั้งสองนี้ และทฤษฎีอื่น ๆ ที่เคยมี (หรืออาจจะมีแต่ผู้เขียนศึกษาไปไม่ถึง) มาอธิบายได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ได้คะแนนเสียงจาก การเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พร้อมทั้งมีนายทุนหนุนหลังอย่างมหาศาลจึงไม่สามารถปกครองประเทศได้ และแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลที่เป็นสัญญลักษณ์ของศูนย์อำนาจของรัฐไทยได้จนต้องเป็นสัมภเวสี เร่ร่อนไปมาอยู่ระยะหนึ่ง
ความคิดเห็นของประชาชนแตกเป็นเสี่ยง ๆ ไม่จำเพาะว่าจะเป็นชาวชนบทหรือชนชั้นกลาง เพราะแม้แต่นักวิชาการเองก็ตามก็ยังแบ่งแยกขั้วแนวความคิด แม้กระทั่งการที่จะถอยหลังไปขอพระราชทานรัฐบาลโดยการอ้างมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีนักวิชาการจากหลายแขนงออกมา คัดค้านเพราะเป็นเสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญโดยยกตัวอย่างที่เห็นๆก็คือการยึดอำนาจคืนกลับไปเป็นของกษัตริย์เนปาล ที่ผลตามมาก็คือความวุ่นวายเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงเพราะมีแต่กบฏเต็มบ้านเต็มเมืองจึงทำเอานักรัฐศาสตร์ต่างด้าวมึนงงกันเป็นแถวในปรากฏการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีนักรัฐศาสตร์ไทยบางคนออกมาเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานกับเขาเสียด้วย
ผมเชื่อว่าไม่ว่าเหตุการณ์จะจบลงเช่นไร กรณีนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดียิ่งของแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ที่จะต้องนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยอาจจะเรียกว่า ไทยโมเดล (Thai Model) หรืออาจจะเป็น บางกอกโมเดล (Bangkok Model) ก็เป็นได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลของปรากฏการณ์ครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่นำไปสู่วิวัฒนาการทาง การเมืองที่ไม่เคยปรากฏในประเทศอื่น
----------------------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|