ปลดล็อกการสรรหา ป.ป.ช.โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง |
|
|
|
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
19 กุมภาพันธ์ 2549 23:47 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
จากกรณีที่วุฒิสภาได้มีมติเสียงข้างมากคัดเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จำนวน 9 คน แต่ต้องเกิดการสะดุดขึ้นเพราะได้มีหนังสือของสำนักราชเลขาธิการ ลับมาก ที่ รล 0009.2/1752 ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2549 มีใจความสรุปได้ว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อทรงพิจารณาและขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธย นั้น สำนักราชเลขาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า วุฒิสภาสมควรพิจารณาทบทวนแก้ไขเรื่องการสรรหาป.ป.ช.ให้ถูกต้องต่อไปและสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลทรงกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว และในที่สุดก็มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะในวันที่ 9-10 ก.พ.นั้น
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็มีว่า
1. อะไรคือประเด็นที่เป็นปัญหาจนราชเลขาธิการต้องส่งคืนร่างประกาศกลับคืนวุฒิสภา
2. ราชเลขาธิการสามารถส่งคืนร่างประกาศฯนั้นได้หรือไม่
3. ทางออกสำหรับปัญหาปัญหานี้จะต้องทำอย่างไร
ก่อนที่จะตอบปัญหาทั้ง 3 ข้อนั้น เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามคำแนะนำของวุฒิสภาตามมาตรา 297 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
การแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจำนวนเก้าคนตามมาตรา 297 นั้น มีหลายขั้นตอน ซึ่งต้องดำเนินการ โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯจัดทำบัญชีผู้ทรงคุณวุฒิเสนอต่อวุฒิสภาจำนวน 18 คนเพื่อให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือเก้าคน ต่อจากนั้นให้ผู้ได้รับเลือกเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ เสร็จแล้วประธานวุฒิสภานำรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งโดยประธานวุฒิสภาเป้นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ฉะนั้น ตามประเด็นปัญหาแรก ก็มีเพียงประเด็นเดียว คือประเด็นการสรรหาให้ครบจำนวน 18 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะจากเหตุที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ.ได้ ขอถอนตัวออกไปก่อนที่วุฒิสภาจะนำเข้าที่ประชุมฯ จึงทำให้เหลือเพียง 17 คน ในขณะที่วุฒิสภาดำเนินการคัดเลือก ป.ป.ช.ดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ว่าราชเลขาธิการมีอำนาจในการส่งคืนเรื่องกลับไปยังวุฒิสภาได้หรือไม่ นั้น ขอให้สังเกตถ้อยคำในตอนท้ายของหนังสือสำนักราชเลขาธิการฉบับดังกล่าวที่ว่าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ย่อมแสดงนัยให้เห็นว่านั่นคือ ไม่มีการโปรดเกล้าฯ และให้ส่งคืนกลับไปนั่นเอง
ที่สำคัญในกรณีนี้แตกต่างไปจากหลักการที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วพระราชทานคืนมา หรือมิได้พระราชพระราชทานคืนมาเมื่อพ้นเก้าสิบวันตามมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติไว้ว่า "ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดพระมหากษัตรย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
บทบัญญัติในมาตรา 94 นี้เป็นหลักการของกระบวนการตราพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า จะทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าทรงเห็นชอบด้วยก็จะทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป แต่ถ้าไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่
พูดง่ายๆก็คือว่าสำหรับประเด็นการแต่งตั้ง ป.ป.ช.นี้ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยแท้ที่จะโปรดเกล้าฯแต่งตั้งหรือไม่ และตราบใดที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ก็ย่อมที่จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และวุฒิสภาก็ไม่สามารถที่จะลงมติยืนยันกลับไปเหมือนกรณีของร่าง พรบ.ตาม ม.94 แห่งรัฐธรรมนูญฯที่ยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้น
สำหรับประเด็นสุดท้ายคือประเด็นเกี่ยวกับทางออกของการแก้ปัญหานี้ ซึ่งมีประเด็น ข้อถกเถียงกันอย่างมากมายในบรรดาแวดวงของนักกฎหมายทั้งหลาย บ้างก็บอกให้กลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น คือการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาใหม่ บ้างก็บอกว่าใช้คณะกรรมการสรรหาชุดเดิมนั้นแหละ แล้วเลือกเอาผู้สมัครเดิมเข้ามาอีก 1 คน ให้ครบ 18 คน แล้วให้วุฒิสภาคัดเลือกกันใหม่ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 9 คนเดิมที่ทูลเกล้าฯไปก็ได้ แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือให้เสนอชื่อเพิ่มมาอีก 1 คนให้ครบ 18 คน แล้วเลือกคนเดิม 9 คนนั้นแหละเพราถือว่าวุฒิสภาได้เลือกแล้วหรือบางคนก็เสนอให้ตีความว่าตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า นั้น แค่ไหนเพียงไรเพราะยังข้องใจว่าหลายๆคนใน ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่ใช่ผู้ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าอธิบดี
แต่ก่อนที่จะเสนอทางออกสำหรับปัญหานี้ ผมอยากจะยกตัวอย่างเล่นๆว่า หากเกิดกรณีที่ผ่านการสรรหามาครบ 18 คนแล้ว และเสนอชื่อไปยังวุฒิสภาแล้ว แต่มาเสียชีวิตไม่ว่าคนเดียวหรือหลายคนไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตามก่อนที่วุฒิสภาจะประชุมเพื่อคัดเลือกดังเช่นกรณีนี้แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
ซึ่งปัญหาทั้ง 2 ปัญหานี้ผมเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายเป็นประเด็นปัญหาเดียวกัน และการแก้ปัญหาก็คงต้องแก้ในทำนองเดียวกัน ซึ่งอยากจะย้ำอีกครั้งว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้คือปัญหาข้อกฎหมายและการตีความกฎหมายต้องตีความให้สามารถปฏิบัติได้ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิใช่ ตีความแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้หรือเสียประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ฉะนั้น ทางออกของปัญหานี้ก็คือ ให้กรรมการสรรหาชุดเดิมทำหน้าที่อีกเพราะถือว่าไม่เสร็จสิ้นกระบวนการเพราะยังไม่ได้ ป.ป.ช.ครบตามจำนวน โดยสรรหามาอีกให้ครบ 18 คนแล้วให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลือ 9 คน ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนเดิมก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่า หากตอนนั้นมีครบ 18 คนแล้ว 9 คนที่ถูกเลือกนี้อาจจะไม่ใช่ชุดนี้ก็ได้ เพราะด้วยเหตุที่ว่าชุดนี้เลือกมาจาก 17 คนแทนที่จะเป็น 18 คน เต็มตามจำนวนสองเท่าของจำนวนที่ต้องคัดเลือก
ก็น่าจะได้เป็นทางออกที่ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้ หากไม่ตะแบงเอาแพ้เอาชนะกันจนเกินไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวบทกฎหมายแต่อยู่ที่คนใช้หรือตีความกฎหมายโดยใช้เสียงข้างมากลากไปต่างหาก
-----------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|